29 มกราคม 2018
456 K

ณ ซอยเล็กๆ อันเงียบสงบในย่านเมงุโระอันเรียบเก๋

สถานทูตไทยประจำโตเกียวมูลค่ามากกว่า 100 ล้านเยน ที่รัฐบาลไทยซื้อมาในราคา 1 ล้านเยน
สถานทูตไทยประจำโตเกียวมูลค่ามากกว่า 100 ล้านเยน ที่รัฐบาลไทยซื้อมาในราคา 1 ล้านเยน

สถาปัตยกรรมสไตล์โกธิคตั้งเด่นอยู่อย่างสง่างาม ท่ามกลางอาคารซึ่งดูเป็นย่านที่อยู่อาศัยสไตล์ญี่ปุ่น กำแพงหิน ประตู กรอบหน้าต่างและกระจกสีต่างๆ ทำให้ดูละม้ายคล้ายปราสาทในยุโรป แม้ตัวบ้านจะสะท้อนให้เห็นค่านิยมทางความงามแบบตะวันตกเต็มรูปแบบ แต่ผู้อยู่อาศัยสามารถแสวงหาความรื่นรมย์แบบญี่ปุ่นแท้ๆ ได้ตลอดปี เพราะที่นี่มีความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติให้ตั้งตารอคอยทุกฤดู ต้นซากุระที่หน้าบ้านช่วยเติมความอ่อนหวานให้กับบ้านที่ดูเข้มแข็ง ส่วนต้นเมเปิ้ลที่ค่อยๆ เปลี่ยนสีตามอากาศที่เย็นขึ้นทีละนิดช่วยเตือนให้เรารู้การไหลผ่านของเวลาที่จวนจะครบปีแล้วอีกครั้ง นอกจากนี้ แม้หินอ่อนภายในบ้านจะมาจากอิตาลี แต่หินในสวนและกำแพงบ้านเป็นของ Made in Japan ส่งตรงมาจากภูเขาไฟฟูจิในสมัยที่ยังทำสัมปทานหินได้อยู่

ตัวบ้านและบรรยากาศแบบ East meets West ที่กลมกลืนกันอย่างกลมกล่อมนี้อาจจะจืดจางไปทันที เมื่อได้พบกับงานศิลปะเลอค่าที่ประเมินราคาไม่ได้จากยุโรป จีน ญี่ปุ่น และไทย หลายสิบชิ้นภายในบ้านสองชั้นอายุ 85 ปีและพื้นที่ประมาณ 5 ไร่นี้ งานชิ้นเดียวภายในบ้านที่เคยมีคนประเมินราคาคือ รูปภาพลมพายุในท้องทะเลชิบะ ผลงานชื่อดังของศิลปินชาวญี่ปุ่น ซึ่งภาพนี้มีมูลค่าถึง 100 ล้านเยน โดยที่รัฐบาลไทยซื้อบ้านหลังนี้มาในราคาเพียง 1 ล้านเยนเท่านั้นแบบ fully furnished

รูปภาพลมพายุในท้องทะเลชิบะ
สถานทูตไทยประจำโตเกียว
สถานทูตไทยประจำโตเกียว

อีกทั้งยังมีความบังเอิญที่น่าประทับใจ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสัญชาติไทย บ้านหลังนี้เคยทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับจีนมาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เราได้เห็นรูปปั้นสิงโตหมอบในสวนญี่ปุ่นและลายดอกซากุระในเครื่องชามจีน

สถานทูตไทยประจำโตเกียวมูลค่ามากกว่า 100 ล้านเยน ที่รัฐบาลไทยซื้อมาในราคา 1 ล้านเยน
สถานทูตไทยประจำโตเกียว

เกริ่นได้เพียงเท่านี้ ใครจะเล่าเรื่องราวความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของทำเนียบท่านทูตไทยได้ดีไปกว่าผู้ที่อยู่อาศัยจริง

ยามบ่ายแก่ๆ ของวันที่ฟ้าใสและใบโมมิจิกำลังขับสีส้มสลับเหลืองต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองอย่างสดสวย ประตูบานใหญ่อันแน่นหนาถูกเปิดออกโชว์ความโอ่อ่าของสถานที่ รอยยิ้มอันอบอุ่่นและการต้อนรับอย่างเป็นกันเองของท่านเอกอัครราชทูต บรรสาน บุนนาค และ คุณยุพดี บุนนาค ภริยา ช่วยลดทอนความเกร็งของเราที่กำลังจะก้าวเข้าไปอยู่ท่ามกลางงานศิลปะชิ้นน้อยใหญ่อายุนับร้อยปีที่วางอยู่ในทุกมุมบ้าน

เรื่องราวในบ้าน

พื้นที่ชั้นหนึ่ง เราเปิดต้อนรับแขกเต็มที่ ทักทายกันที่ห้องนี้ก่อน แล้วค่อยย้ายไปคุยกันอีกห้อง” ท่านทูตเริ่มอธิบาย

จุดที่ท่านทูตกล่าวถึงคือ ห้อง Grand Room ซึ่งอยู่ถัดมาจากประตูทางเข้า ตกแต่งสไตล์ฝรั่งเศส มีโซฟาชวนนั่งและแกรนด์เปียโนตั้งสง่ารับกับภาพวาดชื่อดัง เปียโนอาจจะไม่เลิศหรูนัก แต่ถือเป็นของพิเศษในยุคนั้น คนที่รู้เรื่องเปียโนเชื่อว่า เจ้าของบ้านมีเปียโนอยู่ก่อนแล้ว และตั้งใจสร้างแชมเบอร์ตรงนี้ขึ้นมาทำเป็นเวทีการแสดงโดยเฉพาะ โดยคำนวนแล้วว่าความสูงจากพื้นถึงเพดาน 9 เมตร จะทำให้เสียง octave ขึ้นไปถึงเพดานแล้วลงมาถึงผู้ฟังพอดี

ห้องต่างๆ ของชั้นหนึ่ง ส่วนมากทำหน้าที่รับแขกเป็นหลัก แต่มีธีมในการตกแต่งแตกต่างกันไป บางห้องเหมาะสำหรับนั่งคุยงาน บางห้องเหมาะสำหรับการนั่งจิบชารับแขกเบาๆ ยามบ่าย เพราะเห็นวิวสวนสวยด้านหลัง

สถานทูตไทยประจำโตเกียว

“ทำเนียบเป็นเครื่องมือทางการทูตชั้นดีในการแสดงความเป็นไทยและความภาคภูมิใจ ใครเข้ามาจะรู้สึกเลยว่าประเทศไทยเราไม่กระจอก เพราะมีความสง่างามของชาติไทย เป็นสิ่งที่ทำให้เราประกาศศักยภาพของเราได้อย่างเต็มที่

criteria ในการเลือกบ้านเป็นทำเนียบคือ ถ้าสร้างเองได้ต้องสร้างเอง ใส่ความเป็นไทย แต่ถ้าไม่สะดวกจริงๆ ก็ต้องเลือกซื้อที่ที่สง่าเหมาะสมฐานะ จุดประสงค์หลักของบ้านคือ ความรู้สึกน่าเกรงขามเมื่อเข้าสู่ประเทศไทย อย่างบ้านหลังนี้ก็ซื้อมาตั้งแต่สมัยสงครามโลก ปี 1943 โดยท่านทูตดิเรก ชัยนาม” ท่านทูตอธิบายความเป็นมา

สถานทูตไทยประจำโตเกียว
สถานทูตไทยประจำโตเกียว
สถานทูตไทยประจำโตเกียว

ส่วนเจ้าของดั้งเดิมผู้สั่งสร้างบ้านหลังนี้คือ คิชิเอะมง ฮะมะงุชิ ซึ่งตระกูลฮะมะงุชิแห่งจังหวัดวะคะยะมะนับเป็นตระกูลเศรษฐีเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นครอบครัวหนึ่ง เขาเป็นที่รู้จักในฐานะฮะมะงุชิรุ่นที่ 10 ผู้สืบทอดธุรกิจโชยุของครอบครัว และโด่งดังในฐานะนักสะสมงานศิลปะตัวยงในยุคนั้น แม้บ้านจะมีความยุโรปในทุกตารางเมตร แต่สถาปนิกผู้ออกแบบคือ จุงเคน วะดะ สถาปนิกชาวญี่ปุ่นแท้ๆ บริษัทที่ีรับก่อสร้างและตกแต่งภายในคือ ชิมิซึ ซึ่งเป็นบริษัทเก่าแก่ของญี่ปุ่นเช่นกัน

“เมื่อเราดูรายละเอียด จะเห็นความตั้งใจของคนสร้างมากๆ” มาดามอธิบายพลางชี้ให้ชมจุดที่น่าสนใจต่างๆ อย่างกระจกสี ซุ้มโค้งไม้แกะสลัก ที่อวดความวิจิตรอยู่เงียบๆ ด้านบน

สถานทูตไทยประจำโตเกียว
สถานทูตไทยประจำโตเกียว

ตอนพี่ย้ายเข้ามาอยู่ พี่รู้สึกได้ถึงความอบอุ่น ทำให้เราอยากปรับปรุงสถานที่ให้ดีสมฐานะประเทศไทยและความตั้งใจของเจ้าของเดิมที่เขาปลูกไว้ดีมาก มองไปทางไหนก็สวย ซึ่งเป็นหน้าที่ของทูตทุกคนที่ต้องดูแลสถานที่ให้ดี ให้สง่างามที่สุด ใครเข้ามาก็รู้สึกถึงความเป็นไทย” ท่านทูตเสริม

ความเป็นไทยในที่นี้ไม่ต้องสื่อผ่านศิลปะแบบไทยๆ อย่างเดียวก็ได้ แต่ใช้ความหลากหลายของงานศิลป์ที่ปะปนกันอยู่ในบ้านหลังนี้ แต่แน่นอนว่าหัวโขน ชฎา รูปไทยๆ ก็มีครบหมดนะ ลองดูดีๆ (หัวเราะ)

โดยหลักการ เราพยายามจะอนุรักษ์ของเดิมคงไว้ให้มากที่สุด แต่ถ้ามันไม่ดีแล้ว ก็ต้องปรับปรุง เช่น ตอนประจำอยู่โปแลนด์ ทำเนียบเป็นบ้านที่เช่าตั้งแต่สมัยคอมมิวนิสต์ซึ่งถือว่าดีที่สุดในยุคนั้น พอเราไปอยู่ทีหลัง เจอที่ดีกว่า สะดวกกว่า เราก็ย้าย ส่วนบ้านหลังนี้คือ ถ้าทำให้ดีกว่านี้ไม่ได้ก็อย่าทำ (หัวเราะ) พี่ว่าที่นี่เป็นสถานทูตที่สวยที่สุดในโลกแห่งหนึ่งเลยล่ะ”

เรื่องเล่านอกบ้าน

ก่อนแดดจะหมด เจ้าบ้านทั้งสองท่านชวนเราออกไปชมสวนพร้อมชี้มุมถ่ายรูปสวยๆ ให้ทีมงานอย่างเชี่ยวชาญ

ระเบียงบ้านยื่นออกไปสู่สวนญี่ปุ่นซึ่งได้รับการยอมรับว่าสวยที่สุดแห่งหนึ่งในโตเกียว

ท่านทูตบอกว่าคงรูปแบบดั้งเดิมของสวนนี้เอาไว้ทั้งหมด เพราะเขาคิดมาดีแล้วทั้งในแง่สีสันและพันธุ์ไม้ รวมไปถึงเสียงน้ำไหลที่กระทบเกาะแก่งต่างๆ เมื่อเรามาอยู่ จึงมีหน้าที่ทำให้สมบูรณ์ขึ้น ประจวบเหมาะกับที่มาดามเป็นคนใส่ใจรายละเอียด ชอบดูแลบ้านอยู่แล้ว จึงเข้ามาช่วยดูเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้ ปรับระบบหมุนเวียนน้ำของน้ำพุ และการเดินสายไฟใต้ดินเพื่อการเปิดไฟตกแต่งสวนเวลามีงานเลี้ยงยามค่ำคืน โดยลงรายละเอียดไปถึงทิศทางของไฟ

สถานทูตไทยประจำโตเกียว
สถานทูตไทยประจำโตเกียว
ใบไม้เปลี่ยนสี

จุดที่เราประทับใจเป็นพิเศษยิ่งกว่าสีแดงของใบไม้ที่ย้อมสวนไปกว่าครึ่ง คือก้อนหินที่ดูธรรมดาๆ บนพื้นหญ้าซึ่งที่จริงแล้วเป็นหินที่มีชาติกำเนิดไฮโซจากภูเขาไฟฟูจิและการชมเต่าซึ่งไม่ใช่เต่าต้วมเตี้ยมทั่วไป

คนญี่ปุ่นเชื่อกันว่าถ้าในสวนมีเต่าพ่อแม่ลูก 3 ตัวจะโชคดี เป็นมงคลแก่บ้าน ซึ่งพระราชเลขาธิการเคยเล่าและชี้ให้พี่ดูในสวนพระราชวังอิมพีเรียล เต่าในที่นี้คือพุ่มไม้รูปทรงคล้ายเต่า พี่ก็มาค้นพบเต่าในสวนพี่เองด้วย ถือเป็นเรื่องน่ายินดี” ท่านทูตชี้ให้เราดูเต่าด้วยความใจดี

ใบไม้เปลี่ยนสี

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่คิดมาแล้วเหล่านี้ สมเป็นการชมสวนสไตล์ญี่ปุ่นจริงๆ

อาร์ตมิวเซียมในบ้าน

บอกเลยงานแต่ละชิ้นในบ้านหลังนี้ไม่ธรรมดาทั้งนั้น ทางพิพิธภัณฑ์มักติดต่อขอหยิบยืมชิ้นงานไปจัดแสดงอยู่เรื่อยๆ มาดามบอกว่า แม้จะอยู่ในสภาพดีมากจนไม่น่าเชื่อว่าเป็นของเก่าอายุเกือบร้อยปี แต่ของพวกนี้น่าจะเป็นของชุดเดิมตั้งแต่สมัยเจ้าหญิงยังอาศัยอยู่ เพราะมีหลักฐานคือเฟอร์นิเจอร์และของประดับต่างๆ เหมือนในรูปถ่ายเก่าๆ เป๊ะ

เจ้าชายผู่เจีย พระอนุชาจักรพรรดิผู่อี๋ จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน
สถานทูตไทยประจำโตเกียว

งานศิลปะในบ้านนี้แบ่งคร่าวๆ เป็น 3 ประเภท คืองานยุโรป งานจีน งานญีี่ปุ่น

เริ่มต้นที่งานยุโรป

ห้อง Louis Dynasty Room หนึ่งในห้องรับแขกชั้นหนึ่งที่โด่งดังและโดดเด่นด้วยการตกแต่งสไตล์หลุยส์ เพดานแกะสลักลวดลายเป็นรูปเทพธิดาอย่างวิจิตรรับกับแชนเดอเลียร์อันอ่อนช้อย ชุดเฟอร์นิเจอร์สีอ่อนตัดกับสีทองที่แสดงถึงความหรูหราแบบไม่ประเจิดประเจ้อ ส่วนห้อง dining ที่อยู่ติดกัน มีเตาผิงที่ทำจากหินอ่อนสีแดงจากอิตาลีซึ่งมีอยู่แค่ 2 ที่ในญี่ปุ่นเท่านั้น คือที่นี่และพระราชวังอะคะสะกะ ภาพวาดเหนือเตาผิงก็เป็นผลงานชื่อดังเช่นกัน

สถานทูตไทยประจำโตเกียว
สถานทูตไทยประจำโตเกียว
สถานทูตไทยประจำโตเกียว
สถานทูตไทยประจำโตเกียว

แต่ภาพวาดที่โดดเด่นที่สุดต้องยกให้รูปกลุ่มชายขี้เมากำลังแบกไหเหล้าที่ชั้นสอง ซึ่งคุณฮะมะงุชิรุ่นที่ 10 ไปเจอที่ห้องใต้ดินท่านทูตอิตาลีในสมัยนั้นและถูกใจจนขอซื้อต่อมาประดับบ้าน ความสนุกของผลงานชิ้นนี้อยู่ที่ความขี้เล่นของศิลปิน ปลายเท้าของคนเมาจะหันตามมาที่เราเสมอไม่ว่าจะเดินไปทางไหน

รูปวาด

นอกจากนี้ยังมีเสาบรอนซ์แกะสลักที่เชิงบันไดในห้อง Grand Room ซึ่งเป็นผลงานของทะเคะโอะ อุนโนะ ช่างแกะสลักที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นสมัยนั้น และงานประติมากรรมอื่นๆ ตามราวบันได เช่น รูปปั้นนกอินทรีที่คาดว่าเคยถูกนำไปจัดแสดงในงาน Expo ที่อเมริกาด้วย

สถานทูตไทยประจำโตเกียว
สถานทูตไทยประจำโตเกียว

ต่อกันด้วยงานจีน

สาเหตุที่บ้านหลังนี้มีงานศิลปะจากจีนเยอะเป็นพิเศษ ทั้งชุดรับแขกประดับมุกเก่าแก่ ไหจีน ปีเซียะหรือสิงโตหมอบบริเวณระเบียงสวนที่ทำจากเซรามิกซึ่งใช้ดินจากเทือกเขาแมนจูในกรุงปักกิ่ง เป็นเพราะว่าเจ้าหญิงฮิโระ หลานสาวของคุณฮะมะงุชิรุุ่นที่ 10 แต่งงานกับเจ้าชายผู่เจีย พระอนุชาจักรพรรดิผู่อี๋ จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน ด้วยเหตุผลทางการเมือง การดูตัวและงานหมั้นถูกจัดขึ้นที่นี่ ของหมั้นต่างๆ จึงถูกเก็บรักษาไว้ในสภาพที่สมบูรณ์

เจ้าหญิงฮิโระ เจ้าชายผู่เจีย พระอนุชาจักรพรรดิผู่อี๋ จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน
สถานทูตไทยประจำโตเกียวมูลค่ามากกว่า 100 ล้านเยน ที่รัฐบาลไทยซื้อมาในราคา 1 ล้านเยน

สำหรับพระเอกของงานญี่ปุ่นต้องยกให้ภาพวาดสีน้ำมันรูปลมพายุในท้องทะเลชิบะ ผลงานของคันจิ มะเอะดะ ซึ่งประดับอยู่ด้านหลังเปียโนในห้องโถง คันจิเป็นจิตรกรเอกคนหนึ่งของญี่ปุ่น ผลงานส่วนใหญ่ของเขาเป็นภาพพอร์เทรต และเพิ่งเริ่มวาดรูปวิวทิวทัศน์ในช่วงหลัง หลังจากภาพนี้ชนะเลิศการประกวดประจำปีของญี่ปุ่นในปี 1929 เขาก็เสียชีวิตลงในปีถัดไป ทำให้ภาพนี้ยิ่งมีมูลค่ามากขึ้นไปอีก

สถานทูตไทยประจำโตเกียวมูลค่ามากกว่า 100 ล้านเยน ที่รัฐบาลไทยซื้อมาในราคา 1 ล้านเยน

นอกจากนี้ ในบ้านยังเต็มไปด้วยหนังสือเกี่ยวกับงานศิลปะภายในบ้าน หรือภาพรวมผลงานของศิลปินท่านนั้นๆ บางเล่มหาซื้อไม่ได้แล้ว ถือเป็นบ้านที่เก็บรักษาความรู้ควบคู่กันไปด้วย

แม้จะเปลี่ยนผู้อยู่อาศัยเป็นระยะ แต่สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสมบัติที่ต้องผลัดกันดูแล

ความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน

สิ่งที่มาพร้อมกับความตื่นเต้นที่ได้เข้ามาเยี่ยมชมอาร์ตมิวเซียมย่อมๆ คือความสงสัยว่า ทำไมท่านฮะมะงุชิรุ่นที่ 10 ถึงตัดสินใจขายบ้าน ทั้งๆ ที่เป็นมหาเศรษฐีมีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะดูแลบ้านและงานศิลปะต่างๆ ได้เองอยู่แล้ว แถมยังขายให้ชาวต่างชาติด้วย

“พี่เชื่อว่าที่เจ้าของบ้านตัดสินใจขายบ้านหลังนี้ให้เรา เพราะเขารักบ้านเขามาก” ท่านทูตเริ่มอธิบาย

สถานทูตไทยประจำโตเกียวมูลค่ามากกว่า 100 ล้านเยน ที่รัฐบาลไทยซื้อมาในราคา 1 ล้านเยน

“นี่เป็นข้อสันนิษฐานนะ เพราะไม่ได้มีเอกสารบันทึกเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ช่วงนั้นเป็นช่วงสงคราม เขามั่นใจว่าญี่ปุ่นจะมาเวนคืนของในบ้านเพื่อเอาไปทำอาวุธ เพราะบ้านนี้มีเหล็ก ทองแดง ต่างๆ เยอะแยะที่จะนำไปหลอมเป็นอาวุธ กระสุน เรือรบ รถถัง ได้หมด เขาก็คงคิดว่าขายให้รัฐบาลต่างประเทศ ให้ประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน น่าจะช่วยรักษาบ้านเขาได้ดี สมัยนั้นมีคอนเนกชันและอยู่ในวงสังคมเดียวกันอยู่แล้ว ทางเขาก็อาจจะได้ยินว่าไทยกำลังมองหาสถานทูต ประจวบเหมาะกับความต้องการขายพอดี หลังจากขายบ้านได้ไม่นาน เจ้าของบ้านก็เสียชีวิต คงเริ่มป่วยมาสักระยะแล้ว ดูแลบ้านไม่ไหวด้วย เลยตัดใจขายดีกว่า”

แม้กรรมสิทธิ์ในตัวบ้านจะขายขาดให้ประเทศไทยมานานแล้ว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างท่านทูตไทยและตระกูลฮะมะงุชิรุ่นต่อๆ มายังแน่นแฟ้นเหมือนอดีต ลูกหลานในตระกูลยังแวะเวียนมาเยี่ยมบ้านเสมอ ท่านทูตและมาดามเล่าให้ฟังว่า อย่างน้อยๆ จะได้มานั่งทานข้าวด้วยกันปีละครั้ง พูดคุยเกี่ยวกับความเป็นมา เรื่องราว ภายในบ้าน

สถานทูตไทยประจำโตเกียวมูลค่ามากกว่า 100 ล้านเยน ที่รัฐบาลไทยซื้อมาในราคา 1 ล้านเยน

พี่รู้สึกว่าเราดูแลบ้านเขาดี ลูกหลานเค้าก็ appreciate จริงๆ แล้วมันเป็นสมบัติร่วมกันของไทยกับญี่ปุ่น ถึงจะเป็นของประเทศไทยแต่ก็อยู่ในญี่ปุ่น ครอบครัวเขาก็มีความผูกพันกับบ้านจึงมาเยี่ยมบ้านเป็นระยะและขอบคุณที่เราดูแลไว้ให้ คนญี่ปุ่นเองยังบอกว่า ถ้าไม่ใช่ประเทศไทยดูแล น่าจะรักษาสภาพไว้ไม่ได้ครบขนาดนี้ เพราะค่าใช้จ่ายและภาษี” มาดามเล่า

พี่ก็เก็บเกี่ยวเกร็ดต่างๆ จากตรงนี้แหละ (หัวเราะ)” ท่านทูตเสริม

ดูจากความแม่นยำเรื่องข้อมูลที่เจ้าบ้านทั้งสองเล่าให้เราฟัง คาดว่าคงเคยเล่าเรื่องเหล่านี้ซ้ำๆ มาหลายครั้งแล้วแน่ๆ

มันก็ไม่เบื่อนะ เพราะเรื่องพวกนี้เป็น story to tell มันเป็นบทสนทนาที่ดี เพราะเป็นความภาคภูมิใจระหว่างคนญี่ปุ่นกับเราด้วย เป็นเหมือนสมบัติร่วมกันของมนุษยชาติ เพราะทุกคนใส่ใจดูแลรักษาอย่างดี”

งานบ้าน

แน่นอนว่า ไม่ได้หมายถึงงานปัดกวาดเช็ดถูทั่วไป

หน้าที่หลักของนักการทูตคือการสร้างและรักษาสายสัมพันธ์ ภายในทำเนียบจึงมีการจัดงานหลากหลายรูปแบบเชิญผู้คนมาใช้เวลาร่วมกัน นอกจากการเลี้ยงข้าว ยังมีงาน exhibition ต่างๆ เช่น งานจัดแสดงรูปภาพ งานจิบน้ำชา งานฉลองเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา รวมไปถึงงานพิธี เช่น การรับเครื่องราชย์ ด้วย

“อาจจะดูเหมือนเราปาร์ตี้เรื่อยๆ แต่จริงๆ แล้วงานเลี้ยงเป็นสิ่งที่ทำให้คนเจอกัน ได้มาพูดคุย ใช้เวลาร่วมกัน เหมือนกับการที่ต้องเล่นกอล์ฟ ออกรอบครั้งหนึ่งใช้เวลา 4 – 5 ชั่วโมง ได้สร้างสัมพันธ์” ท่านทูตอธิบายที่มาที่ไป

มาดามเองก็พยายามไปงานต่างๆ ที่ภริยาท่านทูตประเทศอื่นจัดเช่นกัน

“อย่างวันนี้พี่ไปงานของประเทศเบลเยียม เลยได้เจอคนจากทางยุโรปหลายคน อะไรที่ไปได้เราก็ไป เห็นหน้ากันสักครั้งสองครั้งก็นับเราเป็นเพื่อนแล้ว ถ้าคบกันแต่ในอาเซียน วงสังคมก็จะแคบ มันเป็นหน้าที่ของเราด้วย

“งานของพี่อาจจะเป็นแทร็กหนึ่ง ส่วนมาดามเป็นแทร็กสองที่ช่วยเสริมให้ความสัมพันธ์ลึกซึ้ง บางทีเราไปทางตรงไม่ได้ ก็ต้องอ้อมๆ ไปทางภรรยาหรือครอบครัวเขา” ท่านทูตเสริม ก่อนจะอธิบายต่อว่า

“ตัวอย่างตอนพี่ประจำอยู่พม่า เราจะเอาศิลปะไทยไปแสดง ทางพม่าบอกว่าเขาไม่มีอะไรจะมาประกบเราให้เท่าเทียม แต่พอเราคุยกับทางมาดาม ได้ไฟเขียว เราถึงได้โอกาสให้กรมศิลปากรนำทีมไปจัด

“เรียกว่าเป็นการจัดการอย่างละมุนละม่อม เป็นเทคนิค (หัวเราะ)” มาดามกล่าวสรุปให้อย่างอารมณ์ดี

มาดามบอกว่า หน้าที่สำคัญอีกอย่างของนักการทูตคือ การโปรโมตประเทศไทย

บ้านถือเป็นเครื่องมือทางการทูตอย่างยิ่ง ทั้งอาหารอร่อยและการจัดงานอย่างประณีต ไม่ว่าจะอยู่ที่ประเทศไหนก็ต้องจัดงาน เพราะทั้งอาหาร รูปวาด ดอกไม้ คือการเผยแพร่ความเป็นไทยทั้งนั้น เราจัดงานเรื่อยๆ เรียกว่าใช้บ้านคุ้มมาก (หัวเราะ)”

ยกตัวอย่างงานดนตรีที่กำลังจะจัดเร็วๆ นี้ เป็นการเล่นดนตรีไทยเดิมโดยใช้เปียโนในห้อง Grand Room และจะเน้นเชิญคนญี่ปุ่นที่เคยอยู่ประเทศไทย เชิญชวนให้เขาใส่ผ้าไทย

“ท่านทูตมักพูดคำว่า ‘จับมือให้อุ่น’ ดังนั้น เราจะคีพคอนเนกชันกับคนกลุ่มนี้เอาไว้ เพราะเขาช่วยเราโปรโมตประเทศได้อย่างดี เขารักเมืองไทยอยู่แล้ว เวลาเราเชิญมาร่วมงาน ทุกคนก็จะแต่งชุดไทยด้วยความภูมิใจ ใส่ผ้าไทย ถือกระเป๋าผ้าไหมกันมา”

เราขอให้ท่านทูตช่วยขยายความเรื่องการจับมือให้อุ่น

มันไม่ใช่แค่หน้าที่ของนักการทูตนะ แต่เป็นหลักในการดำรงชีวิตด้วย ถ้าเราจะคบหาใคร ให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน พ่อสอนไว้ว่าเรามีปลากินทั้งปี มีปลาตัวหนึ่งต้องแบ่งเพื่อนบ้าน เพื่อนบ้านก็เอาของมาแบ่งเรา การจับมือให้อุ่น คือทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายธุรกิจ ฝ่ายเอกชน ทุกมิติของสังคมเป็นหน้าที่ของทูตไทยที่จะต้อง reach out ไปถึงเขา”

พอจับมือจนอุ่น จิตใจก็อิ่มเอมด้วยมิตรไมตรีที่มีให้กัน

บ้านในบ้าน

คุยมาถึงตอนนี้ เราเริ่มรู้สึกว่าที่นี่เป็นที่ทำงานพอๆ กับความเป็นมิวเซียม ซึ่งมากกว่าความเป็นบ้าน

“เวลาที่ไม่ต้องรับแขกพวกพี่จะอยู่ชั้นสองกัน มันเป็นเหมือนอพาร์ตเมนต์ มีห้องนั่งเล่น ห้องทานข้าว ห้องพระ จบในชั้นเดียว ข้างล่างเอาไว้เอนเตอร์เทน” มาดามไขข้อข้องใจ

สถานทูตไทยประจำโตเกียวมูลค่ามากกว่า 100 ล้านเยน ที่รัฐบาลไทยซื้อมาในราคา 1 ล้านเยน
สถานทูตไทยประจำโตเกียวมูลค่ามากกว่า 100 ล้านเยน ที่รัฐบาลไทยซื้อมาในราคา 1 ล้านเยน

ท่านทูตเสริมต่อว่า “สรุปคือเหลืออยู่จริงๆ ไม่กี่ตารางเมตร (หัวเราะ) เวลาน้องๆ มาให้เซ็นแฟ้ม ก็จะใช้ห้องหนังสือชั้นหนึ่งรับน้องๆ แบบโก้ๆ หน่อย (หัวเราะ)”

ถึงงานศิลปะต่างๆ สวยก็จริง แต่ในพิพิธภันฑ์ศิลปะแห่งนี้ ความเป็นตัวเราอยู่ที่ไหนได้บ้าง

สถานทูตไทยประจำโตเกียว

“จะว่าไปแล้ว มันก็มีความเป็นตัวพี่กับมาดามอยู่นะ เช่น มีของประดับบ้านที่เอามาจากโปแลนด์ ของในตู้ก็เป็นของที่เราสะสมมา ถือว่ามีความเป็นเราผสมอยู่ด้วย เมื่อพี่ย้ายออกไปแล้ว คนใหม่มา อาจจะมีภาคบังคับของบ้านอยู่ ปรับได้นิดหน่อย แต่โดยหลักการ มันต้องเป็นทำเนียบทูตไทยที่สง่างาม

อย่างรูปครอบครัว จะทำให้บ้านกลายเป็นบ้านได้ทันที” มาดามทิ้งท้ายด้วยเคล็ดลับ

สถานทูตไทยประจำโตเกียว
 

Writer

Avatar

ณิชมน หิรัญพฤกษ์

นักศึกษาเอกภาษาญี่ปุ่นที่คิดเลขไม่ได้ อ่านแผนที่ไม่ออก แต่รักการเดินทาง / ผู้ประสานงานใน a day และ HUMAN RIDE ฉบับญี่ปุ่น / เจ้าของคอลัมน์ made in japan และหนังสือ 'ซะกะ กัมบัตเตะ!' ปัจจุบันใช้เวลาว่างจากการหาร้านคาเฟ่กรุบกริบไปนั่งเรียนปริญญาโทที่โตเกียว และโดนยัดเยียดความเป็นไกด์เถื่อนให้อยู่เป็นระยะ

Photographer

Avatar

สุธิศา ปิตตะรงค์

นักเรียนปีสุดท้ายในประเทศญี่ปุ่น ชื่นชอบการถ่ายรูป และการเล่าเรื่องทุกรูปแบบ กำลังฝึกฝนการใช้ชีวิตด้วยตัวเองให้มีความสุข และมีประสิทธิภาพ และใฝ่ฝันอยากมีนิทรรศการเป็นของตัวเองสักครั้ง