เรื่องราวของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ สิงคโปร์ น่าสนใจมาก

สถานเอกอัครราชทูตแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 11 ไร่ กลางย่านช้อปปิ้งอย่างถนนออร์ชาร์ด (Orchard) ใจกลางเมืองสิงคโปร์

บนถนนสายธุรกิจสายนี้มีพื้นที่ 2 แห่งเท่านั้นที่ไม่ได้ใช้เพื่อการพาณิชย์และมีลักษณะเป็นสวน ที่แรกคือ Istana ปัจจุบันเป็นทำเนียบประธานาธิบดีสิงคโปร์ (บ้านพักของประธานาธิบดี) อีกที่คือสถานเอกอัครราชทูตไทยซึ่งเป็นสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศเพียงแห่งเดียวที่ครอบครองที่ดินบนถนนหลักสายนี้

รัชกาลที่ 5

ฉายพระรูปที่ร้านโรเบิร์ต เลนซ์ เมืองสิงคโปร์ พ.ศ. 2439

ที่ดินผืนนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้เมื่อกว่าร้อยปีก่อน ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการเปลี่ยนแปลงมากมาย เคยเกือบถูกปล่อยเช่า เกือบถูกแลกกับที่แปลงอื่น และเคยเกือบถูกขาย ด้วยตัวเลขที่สูงถึง 23,000 ล้านบาท

แต่สุดท้ายพื้นที่สีเขียวกลางเมืองสิงคโปร์ผืนนี้ก็ยังเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ สิงคโปร์

น่าเสียดาย เราเดินทางสวนกับท่านเอกอัครราชทูต ธงชัย ชาสวัสดิ์ เลยไม่มีโอกาสได้พูดคุยเรื่องงานด้านการทูตในปัจจุบัน

ได้แต่เอาเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของสถานเอกอัครราชทูตแห่งนี้มาฝากกัน

เริ่มต้นความสัมพันธ์ไทย-สิงคโปร์ สมัยรัชกาลที่ 4

ประเทศไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2508 แต่มิตรภาพระหว่างสองประเทศมีมากว่า 150 ปี ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการติดต่อกับต่างประเทศ สิงคโปร์ในยุคนั้นมีบทบาทสำคัญเพราะเป็นศูนย์กลางการปกครอง เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ของจักวรรดิอังกฤษในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายตัน กิม เจ็ง (Tan Kim Ching) ชาวจีนที่เกิดในเมืองมะละกา และเป็นคนในบังคับอังกฤษ ให้เป็นกงสุลประจำสิงคโปร์ เป็นพระพิเทศพานิช สยามพิชิตศึก

นอกจากนี้ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาทนิภาธร เดินทางไปยังสิงคโปร์ใน พ.ศ. 2404 เพื่อศึกษาแนวทางที่อังกฤษใช้ปกครองสิงคโปร์ และนำแบบอย่างการทำนุบำรุงบ้านเมืองของอังกฤษ เช่น การสร้างถนน การสร้างสะพาน มาประยุกต์ใช้ในราชอาณาจักร

รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์เป็นประเทศแรก ในฐานะกษัตริย์แห่งสยาม

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 บ้านเมืองได้รับผลกระทบจากการแสวงหาอาณานิคมของชาวตะวันตก จึงทรงมีพระราชประสงค์จะปรับปรุงสยาม และเกิดการเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์ด้วยพระองค์เอง เพื่อทรงศึกษาวิธีการปกครอง และความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม สำหรับนำมาใช้พัฒนาประเทศ การเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวาอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นใน พ.ศ.2414 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 38 วัน นับเป็นการเสด็จฯ ไปต่างประเทศเป็นครั้งแรกในฐานะกษัตริย์แห่งสยาม

สถานทูตไทยในสิงคโปร์

ภาพ : National Archives of Singapore

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

ในการเสด็จฯ ครั้งนั้น พระองค์พระราชทานช้างสำริดแก่สิงคโปร์เพื่อเป็นที่ระลึกด้วยความรู้สึกขอบคุณที่ทรงได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีขณะประทับอยู่ที่สิงคโปร์เป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ บริเวณฐานมีข้อความ 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และตัวอักษรจาวี

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

เดิมตั้งอยู่ที่หน้าอาคาร Singapore Art Museum แต่ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ The Arts House (อาคารรัฐสภาเก่า)

ในหลวงรัชกาลที่ 5 ยังเสด็จฯ ไปสิงคโปร์อีกหลายครั้ง เช่น ใน พ.ศ. 2433 เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ด้วยเรือพระที่นั่งอุบลบุรพทิศ และประทับที่สยามเฮ้าส์ ซึ่งเป็นบ้านของนายตัน กิม เจ็ง

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อบ้านที่สิงคโปร์

ที่ดินบนถนนออร์ชาร์ดซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตไทยในปัจจุบัน เดิมเป็นสวนชานเมืองสิงคโปร์ เริ่มพัฒนามาเป็นย่านบ้านพักอาศัยของคหบดีในช่วงรัชกาลที่ 4 เป็นคฤหาสน์แบบบังกะโลตั้งกระจายกัน หลังหนึ่งเป็นบ้านของนายพลเรือพระยาวิสูตรสาครดิฐ หรือ กัปตันบุช (John Bush) นักเดินเรือชาวอังกฤษผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าท่าคนแรกของไทย ตรอกบริเวณบ้านพักของเขาในย่านสี่พระยา ถูกเรียกว่า ตรอกกัปตันบุช

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

Hurricane House

บ้านของกัปตันบุชในสิงคโปร์มีชื่อว่า บ้านเฮอริคัน (Hurricane House) ในปี พ.ศ. 2439 เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เยือนสิงคโปร์ด้วยเรือพระที่นั่งมหาจักรี นายจอห์น แอนเดอร์สัน (John Anderson) กงสุลเยอเนอราลสยามประจำสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบุตรเขยของพระยาวิสูตรสาครดิฐ ได้จัดบ้านเฮอริคันถวายเป็นที่ประทับ 9 วัน

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

พระรูปหมู่ฉายที่ Hurricane House พ.ศ.2439

รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานงานเลี้ยง ทรงฉายพระรูป และทรงปลูกต้นโพธิ์เป็นที่ระลึก เมื่อเสด็จนิวัตพระนครแล้ว พระยาวิสูตรสาครดิฐได้ขายบ้านเฮอริคันพร้อมเครื่องเรือน รวมเป็นเงิน 50,000 เหรียญฯ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ซื้อไว้โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน เพื่อใช้เป็นที่ประทับเมื่อเสด็จฯ ไปเมืองสิงคโปร์ในอนาคต โดยใช้ชื่อพระพิเทศพานิช (จอห์น แอนเดอร์สัน) กลสุลสยาม เป็นเจ้าของ ตามข้อจำกัดทางกฎหมายสิงคโปร์ในขณะนั้น

กษัตริย์ไทยเสด็จประพาสสิงคโปร์อย่างต่อเนื่อง

รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์ใน พ.ศ. 2444 ทรงขึ้นรถไฟสายปากน้ำมาลงที่สมุทรปราการแล้วเสด็จฯ ด้วยเรือพระที่นั่งสุริยมณฑล มาต่อเรือพระที่นั่งมหาจักรีจากสมุทรปราการไปสิงคโปร์

ผลจากการเสด็จฯ เยือนสิงคโปร์นำไปสู่การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เช่น ด้านคมนาคม การปกครอง สถาปัตยกรรม การศึกษา และการสร้างสัมพันธไมตรีที่ส่งผลถึงการเปิดตลาดการค้าการลงทุนจากพ่อค้าชาวอังกฤษและชาวจีนในสิงคโปร์

การเสด็จฯ แต่ละครั้งได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ ใน พ.ศ. 2439 เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ถึงท่าเรือเมืองสิงคโปร์ เรือรบอังกฤษและเรือรบฮอลันดายิงสลุตถวาย ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำเมืองสิงคโปร์ก็มาเฝ้าฯ รับเสด็จ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งข้าราชการไทยเป็นกงสุลสยามประจำสิงคโปร์แทนชาวต่างชาติ ผู้ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่คนแรกคือ พระประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) ในยุคนั้นได้เช่าอาคารหลังหนึ่งเป็นที่ทำการ ไม่ได้ใช้บ้านเฮอริคัน ซึ่งน่าจะรื้อลงราว พ.ศ. 2465 หรือหลังจากนั้น

พ.ศ. 2467 พระองค์เสด็จประพาสสิงคโปร์ด้วยรถไฟพระที่นั่งพิเศษจากสถานีรถไฟบางกอกน้อย ถึงสถานี Newton (นิวตัน) สิงคโปร์ เพื่อทอดพระเนตรกิจการทหาร การประปา และศิลปวัฒนธรรม

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี พ.ศ. 2472 รัฐบาลสิงคโปร์ถวายการต้อนรับด้วยการยิงสลุตถวาย ณ ป้อม Canning ซึ่งตอนนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ทางการสิงคโปร์ต้อนรับอย่างสมพระเกียรติถึงขนาดให้ห้างร้านและธนาคารปิดทำการ 1 วันเพื่อเฉลิมพระเกียรติ

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

ภาพ : National Archives of Singapore
นาย Yusof Bin Ishak ประมุขแห่งสิงคโปร์ และภริยา ถวายการต้อนรับในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ สนามบิน Paya Lebar พ.ศ. 2505

ส่วนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนสิงคโปร์อย่างเป็นการทาง 3 ครั้ง ใน พ.ศ. 2493, 2494 และ 2505

เมื่อสาธารณรัฐสิงคโปร์ประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากสหพันธรัฐมาเลเซียเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ประเทศไทยกับสิงคโปร์ก็สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการต่อกัน ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2508

จุดเร่ิมต้นของการสร้างสถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์

ราวปี พ.ศ. 2496 ขณะที่หลวงศรีสารสมบัติ (วงศ์ ศรีไชยยันต์) ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้อนุมัติงบประมาณ 5 ล้านบาท เพื่อสร้างสถานกงสุลใหญ่และสำนักงานข้าหลวงพาณิชย์ประจำสิงคโปร์ ณ ที่ดินที่เคยเป็นที่ตั้งของบ้านเฮอริคัน โดยสร้างเสร็จใน พ.ศ. 2503

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

อาคารสถานกงสุลใหญ่และสำนักงานข้าหลวงพาณิชย์ประจำสิงคโปร์ ออกแบบโดยสถาปนิกของกรมโยธาธิการ ประกอบด้วยอาคารสำนักงานทางด้านหน้า และอาคารทำเนียบ (บ้านพัก) ทางด้านหลัง อาคารสำนักงานเป็นอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กสูงสองชั้น มีผังแบบสมมาตรเป็นรูปตัวที (T) ด้านหลังมีห้องแสดงสินค้าเป็นโถงสูง รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architect) แบบเรียบ และไม่มีลายตกแต่ง

เมื่อประเทศไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับสิงคโปร์ใน พ.ศ. 2508 นายนิพนธ์ วิไลรัตน์ ก็ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นคนแรก ใน พ.ศ. 2510 จากนั้นอาคารเลขที่ 370 ถนนออร์ชาร์ด ก็เป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์

มีโครงการจะรื้ออาคารสถานเอกอัครราชทูต

นายเจตน์ สุจริตกุล เอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ ช่วง พ.ศ. 2519 –  2523 เล่าว่า สมัยนั้นเศรษฐกิจของสิงคโปร์ยังไม่เจริญก้าวหน้ามาก อาคารบ้านเรือนยังเป็นตึกและห้องแถวคล้ายย่านบ้านหม้อ เวิ้งนาครเกษม หรือถนนเจริญกรุง มีตึกสูงหรืออาคารบ้านเรือนที่ทันสมัยคล้ายย่านทองหล่อบ้าง

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

บรรยากาศของถนนออร์ชาร์ดหน้าสถานเอกอัคราชทูต (ด้านขวาของภาพ)

ช่วง พ.ศ. 2518 ในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีการเสนอให้รื้ออาคารของสถานเอกอัครราชทูตซึ่งเสื่อมโทรมและมีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอ เพื่อสร้างอาคารใหม่สูงราว 10 ชั้น อาคารดังกล่าวจะใช้เป็นทำเนียบเอกอัครราชทูต และแบ่งพื้นที่ให้เช่า โดยบริษัท ฟาร์อีส บิลดิ้ง ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามสถานเอกอัครราชทูต เป็นผู้เข้ามาเสนอแผนการพัฒนาที่ดิน และมีการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างตึกฟาร์อีสข้ามถนนออร์ชาร์ดมายังสถานเอกอัครราชทูต และเริ่มมีการปรับปรุงสถานเอกอัครราชทูตด้วย

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

อาคารสำนักงานของสถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยือนสิงคโปร์ และพูดถึงสถานเอกอัครราชทูตว่า “เป็นแผ่นดินทอง ที่ดินผืนนี้มีค่ามากเหลือเกิน ควรใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติมากกว่า”

สุดท้ายแล้วโครงการพัฒนาสถานเอกอัครราชทูตในเชิงพาณิชย์ก็ไม่เกิดขึ้น และสะพานข้ามถนนก็รื้อออกในภายหลัง

มีเอกชนขอแลกพื้นที่

นายสนั่น ปลั่งประยูร เอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ ช่วง พ.ศ.2523 – 2526 เล่าว่า มีบริษัทเอกชนของอินโดนีเซียเข้ามาเสนอขอแลกกรรมสิทธิ์ที่ดินของสถานเอกอัครราชทูต โดยเสนอว่าจะหาสถานที่ตั้งสถานเอกอัครราชทูตให้ใหม่ และยินดีสร้างทำเนียบทูตให้ ที่ดินผืนใหม่อยู่ในย่านสถานเอกอัครราชทูตซึ่งพื้นที่รอบข้างเป็นสถานเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ เป็นสถานที่ที่ค่อนข้างเงียบสงบ นายสนั่นเห็นว่าเหมาะกว่าย่านออร์ชาร์ด ซึ่งเป็นย่านการค้าที่อึกทึก และรัฐบาลสิงคโปร์พัฒนาที่ดินอยู่เป็นประจำ เช่น เวนคืนที่ดินเพื่อขยายถนน จึงยื่นหนังสือนำเสนอโครงการดังกล่าวให้กระทรวงการต่างประเทศ แต่เรื่องนี้ได้รับการคัดค้าน เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้ เรื่องนี้จึงจบไป

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

ป้ายหน้าสถานเอกอัครราชทูตยุคเก่า

รัฐบาลให้ศึกษาเรื่องการพัฒนาที่ดิน

อาคารสถานเอกอัครราชทูตในช่วงนั้นทรุดโทรมมาก รั้วด้านนอกก็ขาดหายไปบางส่วน แม้แต่ในห้องนอนของเอกอัครราชทูตผนังห้องยังแตกร้าวเป็นรูกว้างขนาดมองเห็นภายนอกได้ เพราะแผ่นดินยุบตัวจากการก่อสร้างตึกสูงโดยรอบ ด้วยการพัฒนาที่รวดเร็วของสิงคโปร์ทำให้สถานเอกอัครราชทูตกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมท่ามกลางศูนย์การค้าและตึกสูงที่ทันสมัย

นายสาโรจน์ ชวนะวิรัช เอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ ช่วง พ.ศ.2526 – 2529 เล่าว่า กระทรวงการต่างประเทศมอบหมายให้เขาว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาการพัฒนาที่ดินและทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยว่า ทางเลือกที่ดีที่สุดในการพัฒนาที่ดินผืนนี้ควรจะเป็นอย่างไร บริษัทได้เสนอว่า ให้เอกชนเข้ามาปลูกสร้างศูนย์การค้าบริเวณส่วนหน้าของที่ดิน และเก็บเงินรายได้ส่วนนี้เข้ารัฐบาลไทย ส่วนตัวสถานเอกอัครราชทูตและทำเนียบให้สร้างบริเวณส่วนหลัง

รัฐบาลไทยไม่รับข้อเสนอนี้ และให้ทำการศึกษาต่อไป

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

เกือบเปิดประมูล

นายอัษฎา ชัยนาม เอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ ช่วง พ.ศ.2530 – 2533 เล่าว่า พื้นที่ของสถานเอกอัครราชทูตมีสถานะทางกฎหมายเป็น Free Hold คือ มีอายุถาวร ไม่เหมือนพื้นที่ของบางสถานทูตซึ่งมีสถานะเป็น Lease Hold คือมีอายุจำกัด ต้องคืนให้รัฐบาลสิงคโปร์เมื่อถึงเวลาที่กำหนด (เช่นสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียที่ปัจจุบันคือที่ตั้งของห้างอิเซตัน) ดังนั้นจึงมีคนต้องการให้ขายหรือเช่าระยะยาว ซึ่งมีการถกเถียงกันมาก คนส่วนหนึ่งเห็นว่าไม่ควรขาย เพราะรัชกาลที่ 5 พระราชทานไว้ให้ อีกส่วนมองว่าถ้าให้เช่าน่าจะทำได้ จึงมีการตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้หลายครั้ง ฝ่ายผู้เช่าส่วนใหญ่ต้องการเช่า 90 ปี ตามกฎหมายสิงคโปร์ แต่กฎหมายไทยให้เช่าได้ครั้งละ 30 ปี แล้วต่อสัญญาได้ ก่อนที่นายอัษฎาจะพ้นจากหน้าที่ไม่กี่สัปดาห์ มีการจัดทำเอกสารชี้แจงเรื่องการประมูล แต่ผู้ร่วมประมูลไม่เข้าใจในหลายประเด็น สุดท้ายก็เปลี่ยนรัฐบาล จึงไม่มีการประมูลเกิดขึ้น

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

ห้องรับแขก

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

 แก้วน้ำบนโต๊ะเลี้ยงรับรอง

ยังคงดำเนินโครงการปรับปรุงสถานเอกอัครราชทูต

ยังคงมีการตั้งคณะกรรมการดูแลการปรับปรุงสถานเอกอัครราชทูตต่อไป รวมถึงทำแบบจำลองสถานเอกอัครราชทูตหลังใหม่ขึ้นหลายรูปแบบเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณา เหตุผลหนึ่งก็เพราะสถานเอกอัครราชทูตทรุดโทรมลงเรื่อยๆ ดร.วิกรม คุ้มไพโรจน์ เอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ ช่วง พ.ศ.2534 – 2538 เล่าว่า พื้นที่ของสถานเอกอัครราชทูตอยู่ต่ำกว่าถนนออร์ชาร์ดด้านหน้า จึงเกิดน้ำท่วมขัง ประกอบกับมีต้นไม้ค่อนข้างเยอะ จึงมีงูหลามจากท่อระบายน้ำมาเยือนเป็นประจำ และมียุงชุกชุม การของบประมาณมาปรับปรุงรั้วและถมพื้นที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับการอนุมัติ สถานเอกอัครราชทูตไทยจึงเป็นพื้นที่ผืนเดียวบนถนนออร์ชาร์ดที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้ทันสมัย ทางการสิงคโปร์จึงไม่ค่อยชอบนัก และขอให้สถานเอกอัครราชทูตดูแลพื้นที่ให้ดี เช่น ขอให้ตรวจดูจานรองกระถางต้นไม้ เพราะอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ถ้าปล่อยให้มีลูกน้ำอยู่ในจานรองต้นไม้หรือบริเวณที่แฉะ สถานเอกอัครราชทูตอาจถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสิงคโปร์แจ้งเตือนมาได้ ดร.วิกรมปิดท้ายว่า ถ้าไม่ใช่สถานทูตก็อาจโดนปรับไปแล้ว

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

เปิดประกวดแบบ

กระทรวงการต่างประเทศเปิดให้ประกวดแบบสถานเอกอัครราชทูตใน พ.ศ.2539 บริษัทที่ชนะคือ บริษัท นนท์-ตรึงใจ สถาปนิกและนักวางผัง จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์ออกแบบสถานเอกอัครราชทูตหลายแห่ง แบบที่ชนะนั้นแตกต่างจากปัจจุบัน คือพื้นที่ด้านหน้าเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ และจำลองพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ ตามแบบพระราชวังบางปะอินไว้กลางสระเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย แต่ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดกับประเทศไทยทำให้โครงการนี้ถูกเลื่อนออกไปก่อน

นายอดิศักด์ ภาณุพงศ์ เอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ พ.ศ. 2539 – 2544 เล่าว่า ในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจกับประเทศไทย มีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 4 บริษัท พยายามยื่นข้อเสนอขอซื้อหรือเช่าที่ดินของสถานเอกอัครราชทูต ราคาที่สูงสุดที่มีผู้เสนอซื้อคือ 10,000 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (23,000 ล้านบาท) แต่เนื่องจากรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์ให้ใช้พื้นที่นี้เป็นสถานที่ราชการ หากจะนำไปดำเนินธุรกรรมเชิงพาณิชย์ใดๆ ต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนมากมาย และต้องมีคำตอบกับสาธารณชนอย่างชัดเจนและโปร่งใสว่า ทำไมต้องขาย ทำไมต้องให้เช่า ทำไมไม่รักษาไว้ สุดท้ายจึงไม่มีการขาย

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์ สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์ สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

วิกฤตต้มยำกุ้งผ่านไป

เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งผ่านพ้นไป ในยุคของนายเฉลิมพล ทันจิตต์ เอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ (ช่วง พ.ศ. 2548 – 2550) มีการนำแบบที่ชนะการประกวดกลับมาพิจารณาอีกครั้ง นายเฉลิมพลพยายามเสนอให้สร้างที่พักอาศัยในรูปแบบแฟลตหรืออพาร์ตเมนต์ ให้อยู่ด้านหลังทำเนียบทูต แต่หลายคนเกรงว่าจะเกิดปัญหาตามมา แต่เขาคิดว่าต้องทำให้ดูดี และเป็นพื้นที่แยกเป็นส่วนตัว ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลที่ต้องจ่ายให้เจ้าหน้าที่ในการเช่าที่พักอาศัยได้ถึงปีละ 25 ล้านบาท แต่ก็มีเสียงคัดค้าน

เริ่มสร้างแล้ว

นายนพปฎล คุณวิบูลย์ เอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ ช่วง พ.ศ.2550 – 2554 เล่าว่า ในช่วงที่ได้รับตำแหน่งได้รับงบประมาณและเริ่มการก่อสร้างพอดี เนื่องด้วยเป็นแบบที่ออกแบบไว้เมื่อ 10 ปีก่อน หลายส่วนจึงไม่สอดคล้องกับงานปัจจุบัน แต่ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณทำให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อยภายในรูปแบบเดิม และในการก่อสร้างทำให้ต้องตัดต้นไม้ออกบางส่วน แต่ก็พยายามรักษาไว้ให้ได้มากที่สุด

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ สิงคโปร์ ยุคปัจจุบัน

จะเก็บตึกเก่าไว้ไหม

นายมารุต จิตรปฏิมา เอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ ในช่วงปี 2555 เล่าว่า ช่วงที่เข้ามาเป็นช่วงที่อยู่ในระหว่างการตกแต่ง ตามแผนเดิมเมื่อสร้างอาคารใหม่เสร็จแล้วใน พ.ศ. 2556 จะทุบอาคารเก่าเพื่อปรับพื้นที่ด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูต แต่ก่อนทุบไม่กี่วัน ทางกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งให้ชะลอการทุบออกไปก่อน เพราะนายสุรพงษ์ โตวิจักษณชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ได้มาเยี่ยมชมแล้วเห็นว่าควรเก็บอาคารไว้เพื่อเล่าเรื่องประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสถานเอกอัครราชทูตแห่งนี้ และความสัมพันธ์ไทย-สิงคโปร์ รวมถึงใช้เป็นที่จัดกิจกรรม ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของชาวสิงคโปร์ซึ่งอยากให้เก็บอาคารหลังนี้ไว้ เนื่องจากเป็นความทรงจำหนึ่งบนถนนออร์ชาร์ดมาตลอด 50 ปี

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

แต่การเก็บอาคารหลังนี้ไว้ต้องซ่อมแซมและปรับปรุงสภาพให้พร้อมใช้งาน และสวยงามสอดคล้องกับอาคารใหม่ทั้งห้าหลัง ทางสถานเอกอัครราชทูตจึงต้องทำเรื่องของบประมาณจากกระทรวงการต่างประเทศ

ในการประเมินคุณค่าของสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐสิงคโปร์ ตามเกณฑ์การประเมินคุณค่าโบราณสถานของกรมศิลปากร สรุปได้ว่า

พื้นที่สถานเอกอัครราชทูตฯ มีคุณค่าในฐานะพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สะท้อนถึงพัฒนาการเมืองสิงคโปร์ ตลอดจนความสัมพันธ์ทางการทูต การค้า และวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและสิงคโปร์ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จวบจนรัชกาลปัจจุบัน

สำหรับตัวอาคาร แม้จะมีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมอยู่บ้างในฐานะอาคารราชการในช่วง พ.ศ. 2500 แต่มิได้มีคุณค่าทางสุนทรียภาพ ประวัติศาสตร์โบราณคดี วิทยาการและการศึกษา หรือทางสังคมเป็นพิเศษแต่อย่างใด โดยในประเทศไทยและสาธารณรัฐสิงคโปร์ยังมีตัวอย่างอาคารในยุคดังกล่าวหลงเหลือให้ศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก

สุดท้ายอาคารหลังเก่าหลังนี้ก็ถูกทุบไป

สถานเอกอัครราชทูตใหม่

อาคารหลังนี้ออกแบบโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ตรึงใจ บูรณสมภพ โจทย์ที่ได้รับใน พ.ศ. 2539 คือ ให้เว้นพื้นที่ด้านหน้าเอาไว้ เผื่อจะนำที่ดินไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ในอนาคต ดร.ตรึงใจออกแบบอาคารหลังนี้ด้วยแนวคิดโดดเด่นแต่ถ่อมตน และคงความสง่างามของสถานเอกอัครราชทูต โดยเน้นเรื่องการประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะการใช้แสงธรรมชาติ

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

อาคารสำนักงาน

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

ทำเนียบเอกอัครราชทูต

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

ศาลาไทย

สิ่งที่ปรับจากแบบแรกก็คือ แยกแผนกวีซ่าออกมาไว้นอกอาคารเพื่อความปลอดภัย และเพิ่มบ้านพักที่ปรึกษาทูตพาณิชย์และผู้ช่วยเข้าไปด้วย

การสร้างสถานเอกอัครราชทูตหลังใหม่ นอกจากจะเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์เพิ่มความสวยงามให้แก่ถนนออชาร์ดซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจและการค้าของสิงคโปร์แล้ว สถานเอกอัครราชทูตยังได้ใช้อาคารใหม่เพื่อคุ้มครองดูแลผลประโยชน์ประชาชนคนไทยให้ดียิ่งขึ้นด้วย

สำหรับคนที่สงสัยว่า แล้วเราได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการใช้พื้นที่กลางเมืองผืนใหญ่ขนาดนี้เพื่อทำสถานเอกอัครราชทูต ก็ต้องบอกว่า ท่านเอกอัครราชทูตพยายามบริหารจัดการจุดเด่นของพื้นที่แห่งนี้ ไม่ว่าจะทำเล และส่วนต่างๆ ของพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น สวน อาคาร ลานพื้น ซึ่งเป็นถาวรวัตถุ ให้ช่วยสถานเอกอัครราชทูตปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในปี พ.ศ. 2560 มีชาวสิงคโปร์เข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่สถานเอกอัครราชทูตจัดขึ้นไม่น้อยกว่า 350,000 คน เช่น งานดนตรีในสวน (มีนาคม) งานเทศกาลไทย (พฤษภาคม) งาน The Finest Thai (กันยายน) และกิจกรรมอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

กิจกรรมเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจการค้าของผู้ประกอบการไทย ในปี 2560 กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นภายในพื้นที่ของสถานเอกอัครราชทูตสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการไทยกว่า 200 ราย เป็นจำนวนกว่าหลายสิบล้านบาท รวมทั้งยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวทำให้ชาวสิงคโปร์ไปท่องเที่ยวไทยเกือบ 1 ล้านคนต่อปี หรือ 28 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งประเทศ

นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นสถานเอกอัครราชทูตเพียงไม่กี่แห่งในสิงคโปร์ที่เปิดกว้างให้คนทั่วไปเข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆ สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์จึงเปรียบเสมือนเป็นสะพานเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสิงคโปร์ในทุกมิติอย่างดีเยี่ยม

และนี่ก็คือวิธีการบริหารจัดการพื้นที่แห่งนี้ เพื่อช่วยส่งเสริมงานด้านการทูตอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย

สถานเอกอัครราชทูตไทยบนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อไว้กลางเมืองสิงคโปร์

ข้อมูล : หนังสือเรื่อง From Hurricane House to Royal Thai Embassy Singapore
ภาพ : สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์, วันเฉลิม หวังปัญญา 
www.thaiembassy.sg
Facebook : Royal Thai Embassy, Singapore – สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์

Save

Save

Save

Save

Save

Save

Save

Save

Writer & Photographer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป