ผมชอบสถานทูต

เท่าที่มีโอกาสได้สัมผัสสถานทูตไทยในต่างชาติ และสถานทูตต่างชาติในไทย ผมยังไม่เคยเจอสถานทูตแห่งไหนที่ไม่น่าสนใจ

สถานทูตมักเต็มไปด้วยเรื่องราวในเชิงประวัติศาสตร์ ความงามทางสถาปัตยกรรม ความแตกต่างทางวัฒนธรรม และความสัมพันธ์อันงดงามระหว่าง 2 ชาติ

ถ้าว่ากันตามความหมายที่สั้นที่สุดซึ่งกินความกว้างที่สุด งานของสถานทูตคือการส่งเสริมความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ การเปิดสถานทูตในประเทศไหน หมายถึงเราให้ความสำคัญกับประเทศนั้น

ภารกิจของสถานทูตไทยในต่างแดนประกอบด้วย งานด้านกงสุล (ออกวีซ่าและคุ้มครองคนไทยที่ประสบปัญหาต่างๆ) งานด้านการเมือง (หาพันธมิตรช่วยสนับสนุนประเทศไทยในเวทีต่างๆ)​ งานด้านเศรษฐกิจ (ส่งเสริมการค้าและการลงทุน) และงานด้านวัฒนธรรม (รวมถึงการท่องเที่ยว) โดยเนื้องานจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้เปิดสถานทูตไทยในต่างแดนบ่อยนัก เพราะต้องประเมินแล้วว่าจะเอื้อประโยชน์ให้ประเทศคุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงไป หลังจากที่เราเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน เมื่อปี 2555 ก็ว่างเว้นการเปิดสถานทูตใหม่มานาน อาจจะมีเปิดสถานกงสุลบ้าง เช่น ที่เมืองชิงต่าว ในประเทศจีน

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก คือสถานทูตแห่งล่าสุดของไทย ที่เปิดเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 เป็นสถานทูตขนาดเล็กที่มีทีมงานชาวไทยเพียงแค่ 4 คน คือ รัศม์ ชาลีจันทร์ เอกอัครราชทูตผู้ที่เล่นดนตรีเก่งมาก, อาทิตย์ ประสาทกุล ที่ปรึกษา นักเขียนผู้มีพ็อตเก็ตบุ๊กมาแล้วหลายเล่ม, ชินวุฒิ เศรษฐวัฒน์ เลขานุการโทผู้ชอบถ่ายรูป และ ไชยา ชาญภิสิทธิ์ เลขานุการโท นักฟุตบอลระดับทีมกระทรวง

เมื่อเหล่านักการทูตหัวใจศิลปินมารวมตัวกันเปิดสถานทูตแห่งใหม่ ที่นี่ก็เลยเป็นสถานทูตที่เต็มไปด้วยเรื่องสนุกๆ

ไปทำอะไรที่มาปูโต

ถ้าไม่ได้มีเพื่อนสนิทเป็นแผนที่ ก็คงยากจะรู้ว่าเมืองมาปูโตอยู่ตรงไหนในโลก

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ทวีปแอฟริกาเป็นดินแดนที่น่าสนใจมาก เพราะมีกว่า 50 ประเทศ ขนาดก็ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากเอเชีย แล้วก็ยังเป็นภูมิภาคที่ยังเติบโตต่อได้อีกมาก และไม่แข่งขันสูงเหมือนเอเชีย

ไทยเราเข้ามาลงทุนในแอฟริกาไม่ใช่น้อยๆ ประเทศที่มีมูลค่าในการลงทุนสูงที่สุดคือ โมซัมบิก เพราะมีทั้งธุรกิจขนาดใหญ่อย่างการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติของ ปตท.สผ. การสร้างท่าเรือน้ำลึกและทางรถไฟของกลุ่มอิตาเลียนไทย และการลงทุนทำโรงแรมของเครือไมเนอร์

รวมถึงกลุ่มพ่อค้าพลอย อัญมณีเป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงติด 1 ใน 5 ของไทยมาโดยตลอด สิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบก็คือ เราได้พลอยจำนวนมหาศาลมาจากโมซัมบิก

ปี 2556 นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางไปเยือนโมซัมบิก เพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน รวมถึงเรื่องการตั้งสถานทูตที่เมืองมาปูโต เมืองหลวงของประเทศโมซัมบิก

3 ปีให้หลัง สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาปูโต ก็เปิดดำเนินงาน

นอกจากสถานทูตไทย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เมืองมาปูโตก็ยังได้ต้อนรับสถานทูตแห่งใหม่อีกมากมาย ราวกับถนนทางการทูตทุกสายในแอฟริกามุ่งหน้าสู่เมืองมาปูโต

สถานทูตที่เป็นมิตร

สถานทูตหลายแห่งอยู่ในตึกเก่า จึงมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ พอมีโอกาสสร้างสถานทูตใหม่ ท่านทูตรัศม์จึงอยากให้สถานทูตแห่งนี้ตอบสนองการใช้งานครบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะงานด้านกงสุล ประชุม รับแขก ต้อนรับคนไทย และช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ (ที่นี่เลยมีห้องพักสำหรับคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากด้วย)

แล้วก็ยังอยากให้ที่นี่ดูเป็นมิตร ซึ่งฟังดูตรงข้ามกับความรู้สึกของคนทั่วไป เพราะเมื่อพูดถึงสถานทูตเรามักจะนึกถึงอาคารรั้วสูงที่มีการรักษาความปลอดภัยแน่นหนา จนไม่อยากเข้าใกล้

คณะสำรวจของกระทรวงการต่างประเทศ ตัดสินใจเช่าบ้านหลังใหญ่ที่เพิ่งสร้างเสร็จมาดัดแปลงเป็นสถานทูต ปรับเปลี่ยนการตกแต่งภายในทั้งหมดเพื่อเปลี่ยนความรู้สึกจากบ้านให้กลายเป็นที่ทำงาน

ส่วนความเป็นมิตรนั้น สถานทูตแห่งนี้สร้างกันตั้งแต่หน้าประตู

ศิลปะแห่งการทูต

พอได้ฟังสิ่งที่สถานทูตแห่งนี้กำลังพยายามทำ ผมนึกถึงคำว่า ศิลปะแห่งการทูต มันเป็นศิลปะที่เป็นศิลปะจริงๆ

ท่านทูตรัศม์บอกว่า หน้าที่หนึ่งของสถานทูตคือการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ เครื่องมือที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ งานด้านวัฒนธรรม ที่นี่จึงส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะศิลปะ เช่น จัดนิทรรศการ ‘โมซัมบิกเขียนด้วยไม้’ ของศิลปินโมซัมบิกในประเทศไทย

ไม่ใช่แค่นั้น ยังมีอะไรสนุกกว่านั้นอีกเยอะ

ศิลปินชาวโมซัมบิกหลายคนโด่งดังระดับโลก ชาวสถานทูตผู้สนใจศิลปะกันอยู่แล้วจึงหาทางทำงานร่วมกับศิลปินเหล่านี้

“เริ่มจากป้ายหน้าสถานทูตก่อนเลย ปกติสถานทูตต้องมีป้าย Royal Thai Embassy ส่วนใหญ่เป็นป้ายทองเหลืองมาตรฐาน ผมเห็นศิลปินที่นี่ทำงานโมเสกกันเยอะ เลยคิดว่าแทนที่จะทำป้ายทองเหลืองก็เอาศิลปินมาทำงานศิลปะให้เป็นป้ายหน้าสถานทูตดีกว่า คุยไปคุยมาก็กลายเป็นงานเต็มทั้งสองกำแพงเลย” ท่านทูตรัศม์เล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

ที่พิเศษกว่านั้นสถานทูตยังไม่ต้องจ่ายเงินค่าผลงานนี้เลยสักบาท เพราะตอนติดต่อเช่าบ้านทีมงานเจรจาขอให้เจ้าของบ้านเป็นผู้ออกค่าทำป้ายสถานทูต และงานศิลปะชิ้นนี้ก็คือป้ายนั้น

เจ้าของผลงานชิ้นนี้คือ ทีมงานของศิลปินมือหนึ่งเจ้าของผลงานศิลปะโมเสกริมถนนยาวหลายร้อยเมตร สถานทูตให้โจทย์ว่า อยากให้ภาพแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโมซัมบิก เราเลยได้เห็นองค์ประกอบสนุกๆ มากมายในภาพนี้ อย่างเช่นอาคารสำคัญๆ ในเมืองมาปูโต ช้างลากรถมายเลิฟ หรือรถขนส่งสาธารณะคล้ายรถกระบะ ที่ผู้โดยสารทุกคนขึ้นไปแล้วต้องกอดกันจะได้ไม่ตกจากรถ

เวลามีแขกมาเยี่ยมเยียน ชาวสถานทูตจึงมักจะพามาชมงานศิลปะชิ้นนี้เพื่อแนะนำให้รู้จักกับมาปูโต

ส่วนคนโมซัมบิก พวกเขาก็จะรู้จักพระสงฆ์ งานสงกรานต์ ยักษ์ รถตุ๊กๆ จากงานชิ้นนี้เช่นกัน

สถานทูตที่อยู่เคียงข้างชุมชน

ด้านหลังของสถานทูตแห่งนี้อยู่ติดกับชุมชนขนาดใหญ่ สำหรับสถานทูตอื่นอาจใช้คำว่า ‘อยู่ข้าง’ แต่ที่นี่ต้องใช้คำว่า ‘อยู่เคียงข้าง’ เพราะสถานทูตพยายามทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ถ้าต้องการช่างไม่ว่าจะมาทำอะไร ก็จะนึกถึงคนในชุมชนเป็นลำดับแรก จนทีมสถานทูตแซวกันว่า ถ้าอยากได้ช่างอะไรก็เดินขึ้นไปที่ดาดฟ้าชั้นสองของสถานทูต แล้วตะโกนถามไปที่ชุมชนว่า มีช่างไม้ไหม มีช่างประปาไหม

แน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้ตะโกนจริง แต่พวกเขาใช้ช่างจากชุมชนจริงๆ

ช่วงที่กำลังทำงานศิลปะชิ้นนี้ คนที่เดินผ่านไปผ่านมาก็แวะทักทายถามไถ่ว่าทำอะไรกัน พอภาพเสร็จเขาก็มายืนดู ยืนหัวเราะกับภาพรถมายเลิฟ เพราะเขาไม่คิดว่าเรื่องตลกใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขาจะกลายเป็นภาพบนกำแพงสถานทูต ถนนหน้าสถานทูตเป็นเส้นทางหลักที่ผู้คนที่จะเดินทางเข้าไปทำงานในเมืองราว 30 เปอร์เซ็นต์ต้องผ่าน มันจึงเป็นเหมือนป้ายโฆษณาชั้นดี ที่ทำให้ทุกคนจดจำสถานทูตไทยได้แม่นยำ

นอกจากนี้ สถานทูตยังใช้งบประมาณที่เหลือจากการปรับปรุงสถานทูตนำไปทำทางเข้าชุมชน จากดินที่เละเป็นโคลนกลายเป็นถนนอิฐตัวหนอน สถานทูตเลยได้พื้นที่จอดรถสำหรับผู้มาติดต่อเพิ่ม และได้ใจชาวชุมชนไปแบบเต็มๆ

เมื่อต้นไม้บนทางหลวงหน้าสถานทูตตายเพราะไม่มีคนดูแล สถานทูตก็ปลูกให้ใหม่และให้คนงานช่วยกันรดน้ำ

การวางตัวเช่นนี้ ทำให้ทุกคนบนถนนเส้นนี้รู้จักสถานทูตไทย เคยมีนักท่องเที่ยวไทยเดินมาตามหาสถานทูต ปรากฏว่า ชาวบ้านรู้จักทั้งถนน

“ถ้าชาวโมซัมบิกรู้สึกดีกับสถานทูต ก็เหมือนเราได้สร้างแบรนด์ที่ดีให้กับประเทศไทย ทำให้เขารู้สึกเป็นมิตรกับประเทศไทย ข้าวที่ในขายตลาดตอนนี้ 30 – 40 เปอร์เซ็นต์เป็นข้าวจากประเทศไทย ถ้าคนโมซัมบิกรู้สึกดีกับประเทศไทย ก็อาจจะทำให้เขาตัดสินใจเลือกซื้อข้าวของไทย ก่อนข้าวเวียดนามหรือข้าวอินเดีย” อาทิตย์เล่าถึงเป้าหมายลึกๆ ของสิ่งที่พวกเขาพยายามทำ

จัดสวนอย่างมีศิลปะ

เดิมทีบ้านหลังนี้มีสระน้ำอยู่ด้วย แต่ถ้าเก็บไว้คงไม่ได้ใช้งาน แล้วยังต้องจ่ายค่าบำรุงรักษา ทางสถานทูตจึงขอให้เจ้าของบ้านถมแล้วปรับให้เป็นพื้นโล่งซึ่งใช้จัดงานได้ รับแขกได้ จึงต้องมีการทำสวน อาทิตย์นักการทูตผู้สนใจเรืื่องต้นไม้ คิดว่าควรทำสวนที่มีการจัดการง่ายที่สุด เลยกลับมาทำความเข้าใจในบริบทของท้องถิ่น เขาพบว่า ในแอฟริกาตอนใต้มีไม้อวบน้ำซึ่งต้องการน้ำน้อยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงออกแบบสวนในสถานทูตให้มีเฉพาะพันธุ์ไม้ที่พบในแอฟริกาตอนใต้ ซึ่งดูแลง่ายมาก รดน้ำแค่สัปดาห์ละครั้ง ถ้าฝนตกก็ไม่ต้องรดน้ำ โรคและแมลงก็ไม่มีเพราะเป็นพันธุ์ท้องถิ่น การตัดแต่งก็แทบจะไม่ต้องทำ และด้วยทรงที่ไม่รกครื้ม จึงทำให้ไม่มียุงและแมลงรบกวน แถมยังใช้งบประมาณน้อยมาก

งานสั้น ศิลปะยืนยาว

ถึงแม้ว่างานศิลปะที่กำแพงหน้าสถานทูตจะเสร็จลงแล้ว ชาวสถานทูตก็ยังไม่อยากให้ศิลปินกลุ่มนี้แยกย้าย เลยชวนให้พวกเขาทำงานโมเสกเพิ่มเติมภายในสถานทูต เพราะสถานทูตยังต้องการการตกแต่งเพิ่ม งบประมาณก็ยังพอมี ค่าแรงของพวกเขาก็อยู่ในงบประมาณ แล้วก็ยังได้ช่วยจ้างงานคนในชุมชนต่อ

ท่านทูตรัศม์เสนอให้เขาลองทำโมเสกให้เป็นชิ้นงานศิลปะขนาดราว 1×1 เมตร งานชิ้นแรกๆ ของพวกเขาดูเกร็งและไม่น่าสนใจ สถานทูตเลยใช้เวลาช่วงกลางวันที่ไม่มีใครใช้รถตู้ ให้คนขับรถพานักทำโมเสกเหล่านี้ไปดูงานศิลปะของศิลปินชั้นยอด และดูความสวยงามของอาคารบ้านเมืองในเมืองมาปูโต เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงาน งานของพวกเขาก็เลยดีขึ้นทันตา จนถึงขนาดที่ท่านทูตเปรยว่า ทำเสร็จทั้งหมดเมื่อไหร่ ต้องจัดนิทรรศการให้

งานศิลปะในสถานทูต

ในประเทศเยอรมนีมีกฎหมายว่า สถานที่ราชการต้องใช้งบประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ในการสร้างอาคาร นำไปซื้องานศิลปะ กฎหมายนี้อาจดูเป็นเรื่องไกลตัวคนไทย แต่ก็ถือว่าไม่ไกลมาก เพราะสถานที่ราชการหลายแห่งก็มีการจัดซื้อผลงานศิลปะอยู่แล้ว เพียงแต่จะซื้องานศิลปะแบบใดเท่านั้นเอง

งานศิลปะของ  Gonçalo Mabunda ศิลปินผู้สร้างงานจากอาวุธที่ได้จากการปลดอาวุธหลังสงครามกลางเมือง

“เราใช้เงินภาษีมาซื้อ เราจึงไม่ควรเลือกงานที่เราชอบ แต่ต้องเลือกงานที่เหมาะกับคนไทยที่มา และคนที่จะมาอยู่ต่อ แล้วก็ควรต้องเป็นงานของศิลปินที่มีแนวทางของตัวเอง มีทั้งคุณค่าและมูลค่า เป็นงานที่เวลาผ่านไปแล้วมูลค่าจะไม่ลดลง” อาทิตย์เล่าแนวทางในการเลือกผลงานศิลปะเข้าสถานทูตไว้แบบนั้น

งานศิลปะของ   Noel Langa ศิลปินอาวุโสที่ผสมงานสไตล์ Cubist กับเรื่องราวของโมซัมบิก โดยเฉพาะนกกับเม็ดมะม่วงหิมพานต์

งานศิลปะของ Butcheka ศิลปินแนวกึ่ง Modern กึ่ง  Abstract

นักการทูตผู้รักศิลปะเล่าเพิ่มเติมว่า สถานทูตไทยส่วนใหญ่มักเน้นงานศิลปะที่เน้นความเป็นไทย แต่เขาคิดว่าควรจะมีทั้งสองประเภท คืองานที่แสดงความเป็นไทย และงานที่แสดงถึงความเป็นท้องถิ่น ตอนนี้สถานทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ก็เลยเริ่มเก็บงานของศิลปินรุ่นใหญ่ของโมซัมบิก

ภายในสถานทูต

การตกแต่งภายในสถานทูตเป็นไปตามแนวทางการออกแบบสำนักงานยุคใหม่ คือให้แสงเข้ามากๆ มีพื้นที่เขียวในอาคาร ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่เรียบแต่ดูดี และประหยัดพลังงาน หลอดไฟทั้งหมดในสถานทูตจึงเป็นหลอด LED ที่นอกจากจะช่วยลดการใช้พลังงานแล้ว ยังไม่มีปัญหาเวลาไฟตกด้วย แล้วก็มีห้องเก็บแฟ้มเป็นสัดเป็นส่วน เพื่อให้โต๊ะทำงานมีเอกสารน้อยที่สุด

ไม่มีรถเก๋ง

สิ่งหนึ่งที่ท่านทูตรัศม์มั่นใจว่าสถานทูตแห่งนี้แตกต่างจากที่อื่นแน่นอนก็คือ ที่นี่เป็นสถานทูตไทยเพียงแห่งเดียวที่ไม่มีรถเก๋ง มีแต่รถตู้กับรถโฟร์วีล เพราะพื้นที่ทำงานพัฒนาชุมชนส่วนใหญ่สมบุกสมบันเกินกว่าจะขับรถเก๋งเข้าไปได้ การมีรถเก๋งเลยอาจจะไม่มีประโยชน์เท่ารถขับเคลื่อนสี่ล้อ

ส่งเสริมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านปลานิล

ประเทศไทยอาจจะอยู่ในฐานะของผู้รับความช่วยเหลือจากต่างชาติมาเนิ่นนาน แต่ตอนนี้กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency หรือ TICA) ได้เริ่มให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ อย่างที่โมซัมบิก สถานทูตไทยได้ช่วยแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้านด้วยการแนะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงปลานิล

ปลานิลมีต้นกำเนิดอยู่ที่แม่น้ำไนล์ แล้วก็แพร่กระจายไปทั่วโลก เพราะเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายโตเร็ว เมื่อเดินทางไปถึงที่ญี่ปุ่น จักรพรรดิญี่ปุ่นก็พระราชทานต่อมาให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ปรับปรุงสายพันธ์ุจนได้พันธุ์จิตรลดาซึ่งโตเร็ว เนื้อเยอะ หัวเล็ก ปลานิลพันธุ์ไทยจึงได้รับการยกย่องในระดับโลก เมื่อพูดถึงปลานิลคนในวงการปลาจะนึกถึงเมืองไทย แบบเดียวกับเวลาที่พูดถึงข้าวแล้วจะนึกถึงไทย

สถานทูตจึงนำปลานิลพันธุ์ไทยกลับไปส่งเสริมให้ชาวโมซัมบิกเลี้ยง และเพื่อให้ชาวโมซัมบิกเอร็ดอร่อยกับปลานิลที่สุด สถานทูตจึงเชิญ เชฟดอล์ฟ-สหัส จันทกานนท์ เดินทางไปสอนชาวโมซัมบิกทำอาหารจากปลานิลด้วย

รอชมวิดีโอสารคดีเรื่องนี้ใน The Cloud ได้เร็วๆ นี้

ศิลปิน

นอกจากสถานทูตจะเชิญเชฟดอล์ฟไปมาทำอาหารไทยจากปลานิลแล้ว สถานทูตยังเชิญอาจารย์ อ.ภาธร ศรีกรานนท์ ศิลปินแจ๊ซชื่อดังของเมืองไทย มาแสดงคอนเสิร์ตในงานของสถานทูตด้วย ในวันที่ว่างเว้นจากงาน ทีมงานจากชาวไทยมีโอกาสได้ไปเยือนบ้านของศิลปินหลายท่าน เมื่อมาถึงบ้านของกอนซาโล มาบุนด้า ศิลปินอันดับหนึ่งของโมซัมบิกในขณะนี้ มาบุนด้าก็ชวนสถานทูตไทยมาจัดงานพิเศษที่บ้านของเขา เป็นงานที่มีแขกเป็นศิลปินชื่อดังของโมซัมบิก มีอาหารไทยฝีมือเชฟดอล์ฟเสิร์ฟ และมีดนตรีสดจากอาจารย์ภาธร ที่พิเศษยิ่งกว่านั้นก็คือ คือการที่ท่านทูตรัศม์ขึ้นเวทีมาร่วมแจมกีตาร์ด้วย เรียกเสียงกรี๊ดได้สนั่นงาน เพราะเหล่าศิลปินทั้งหลายถึงกับงงว่า ทำไมท่านทูตไทยถึงเล่นกีตาร์เก่งขนาดนี้

ท่านทูตบอกว่า นี่คือการดำเนินงานทางการทูตด้วยกิจกรรมทางวัฒนธรรม

ซึ่งผมรู้สึกว่ามันช่างเต็มไปด้วยศิลปะ

เป็นศิลปะแห่งการทูตอย่างแท้จริง

ภาพ : ชินวุฒิ เศรษฐวัฒน์
www.thaiembassy.org/maputo
Facebook | โฮโยๆ โมซัมบิก

Save

Save

Save

Save

Save

Save

Save

Save

Save

Writer & Photographer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป