“ช้าง ช้าง ช้าง น้องเคยเห็นช้างรึเปล่า”

ถ้าเพลงนี้อยู่ใน Spotify เราว่าน่าจะต้องติดอันดับเพลงฮิตติดชาร์ตตลอดกาลของประเทศไทยแน่ๆ เพลง ช้าง เป็นเพลงที่คนไทยร้อยละ 90 คงจะคุ้นหูเป็นอย่างดี เพราะถูกถ่ายทอดปากต่อปากจากรุ่นสู่รุ่น เป็นเพลงที่เราได้ฟังตั้งแต่ตอนอยู่อนุบาล ขึ้นชั้นประถม สอบเข้ามัธยมปลาย จนเรียนต่อมหาวิทยาลัย และก็ยังได้ยินคุณครูอนุบาลสอนเด็กร้องเพลงช้างอยู่ (แต่ปัจจุบันมี Baby Shark ด้วย) 

ถ้าจะถามว่าเพลง ช้าง นั้นโด่งดังขนาดไหน ก็คงต้องตอบว่าดังจนถึงขนาดที่เมื่อปีสองปีก่อน มีรายการวิทยุหยิบเพลงนี้ขึ้นมาถกเถียงกันเรื่องเนื้อร้อง จนเป็นประเด็นในสังคมว่าสรุปตอนขึ้นต้น เพลง ช้าง จะต้องมีช้างทั้งหมดกี่ตัว

แค่การนำเพลง ช้าง มาเป็นเพลงประกอบส่วนหนึ่งของช่วงชีวิต ก็ทำให้เห็นได้เลยว่าในชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่มักผูกพันกับเพื่อนตัวโตตัวนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจจะเป็นตอนเด็กๆ ที่เคยไปให้อาหารช้าง หรือไปดูโชว์ช้างที่สวนสัตว์ แต่พอลองคิดทบทวนกันจริงๆ แล้ว ในฐานะคนที่อยู่ในประเทศที่มีช้างเป็นสัตว์ประจำชาติ พวกเรารู้จักเพื่อนร่วมโลกตัวนี้กันดีแค่ไหนเชียว

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน เราได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมที่ปางช้างชื่อว่า Elephant Green Hill ซึ่งเป็นปางช้างที่ช่วยเหลือและฟื้นฟูสมรรถภาพของเหล่าช้างที่เคยมีอดีตที่โหดร้าย เช่น ถูกบังคับให้ใช้แรงงานทำกิจกรรม บังคับให้ไปเดินตามถนนคอนกรีตร้อนๆ ในเมืองจนเท้าพอง หรือบาดเจ็บจากการโดนของมีคมเกี่ยวตามตัวเพราะโดนบังคับให้คนขึ้นขี่ 

ไปใช้ชีวิตกับช้าง ใน Elephant Green Hill ปางช้างที่มีรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ให้คนก็แฮปปี้ ช้างก็แฮปปี้

แต่ก็นับว่าเป็นโชคดีของช้าง เพราะพอยุคสมัยผ่านไป นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเริ่มจุดกระแสเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่รณรงค์และตระหนักรู้โดยไม่ทารุณสัตว์มากขึ้น เช่น ไม่ถ่ายรูปคู่กับสัตว์ป่าในกรง หรืองดขึ้นขี่บนหลังสัตว์ จึงเป็นโอกาสดีที่ปางช้างหลายที่เริ่มหันมาศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของเจ้าตัวโตพวกนี้ พลางปรับสภาพแวดล้อมและรูปแบบการท่องเที่ยวปางช้างไปในตัว ทำให้เหล่าช้างในปางหลายแห่งในปัจจุบันใช้ชีวิตแฮปปี้กันอย่างออกนอกหน้า เพราะนอกจากจะมีคนมาใส่ใจเรื่องสุขภาพกายโดยการพาไปเดินเล่น นำกล้วยและอ้อยมาให้ตรงหน้าแล้ว ยังมีคนคอยมาเช็กสภาพจิตใจและเอาใจใส่ทุกวี่ทุกวันอีกด้วย

เราเดินทางมายังอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และนั่งรถไปยังปางช้างด้วยรถตู้ที่ 3 ใน 4 ของคันรถเป็นคนฝรั่งเศส เส้นทางการเข้าถึงปางช้างค่อนข้างขรุขระและห่างไกลจากตัวเมืองระดับหนึ่ง จากที่วิวสองข้างทางมีบ้านคน มีเสาไฟฟ้า ตอนนี้เรากลับเจอแต่ทุ่งหญ้า ภูเขา และต้นไม้

ไปใช้ชีวิตกับช้าง ในปางช้างที่มีรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ให้คนก็แฮปปี้ ช้างก็แฮปปี้

ไกด์ที่นี่กำชับวิธีที่เราควรปฏิบัติกับช้างอีกรอบ ก่อนพาเราไปเตรียมตัวทำกิจกรรม เราเองตื่นเต้นมากที่จะได้ทำกิจกรรมร่วมกับเจ้าช้างเหล่านี้ ในหัวเอาแต่ท่องว่า “อย่าเดินไปข้างหลังช้าง อย่าเดินตัดหน้าช้าง อย่าจับหูช้าง” วนไปวนมาไม่หยุด เพราะกลัวว่าตัวเองจะเผลอฝ่าฝืนกฎและทำให้เจ้าเพื่อนตัวโตไม่พอใจเข้า ไกด์เล่าว่า ช้างเป็นสัตว์ที่สายตาไม่ค่อยดี ถ้าเราทำแบบนั้น ช้างจะมองไม่เห็น และอาจเผลอเหยียบเราแบนติดดินได้ 

แต่จากประสบการณ์ เราขอให้ทุกคนไฮไลต์ไว้เลยว่าการไม่เดินไปข้างหลังช้างนี่สำคัญที่สุด เพราะนอกจากเป็นจุดอับสายตาแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะโดนช้างตดใส่อีกด้วย และขอเตือนในฐานะคนที่มีประสบการณ์มาก่อนว่า ตดของเจ้าพวกนี้นี่ทรงพลังมากมายเหลือเกินจริงๆ…

ที่ปางช้างแห่งนี้มีช้างอยู่ประมาณ 3 เชือก เจ้าตัวใหญ่ 2 เชือก ชื่อแม่น้อยกับแม่ตะ แม่น้อยเป็นหม่ามี้วัยสี่สิบกว่าปีตัวสูงใหญ่ ส่วนแม่ตะก็เป็นลูกสาวคนเดียววัย 28 ปีของแม่น้อย ช้างแม่ลูกคู่นี้ชอบเดินไปไหนมาไหนด้วยกัน เรียกได้ว่าถ้ามีแม่น้อยที่ไหน แม่ตะก็จะอยู่ไม่ไกลออกไปจากตรงนั้น 

และด้วยความที่ทั้งสองหน้าตาคล้ายกันมาก คนส่วนใหญ่เลยแยกแม่น้อยกับแม่ตะไม่ค่อยออก แต่ทางไกด์และควาญช้างก็ให้ทริกมาว่า แม่น้อยตัวสูงกว่าแม่ตะนิดหน่อยและมีออร่าที่สงบเสงี่ยมกว่า ส่วนแม่ตะนั้นด้วยความที่ยังเป็นสาวอยู่เลยจะดูเชิดและหยิ่งกับคนกว่าแม่น้อย 

โดยเฉพาะเวลาที่ไม่มีอาหาร แม่ตะจะเดินออกห่างผู้คนและไม่สนใจใครราวกับไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ต่างจากแม่น้อยที่ยังพอรักษามารยาทไว้บ้าง ยอม Meet and Greet กับเหล่าแฟนคลับอยู่พักหนึ่ง และพอเช็กจนมั่นใจแล้วว่าไม่มีใครมีอาหารให้จึงค่อยเดินหนีไป

ไปใช้ชีวิตกับช้าง ใน  Elephant Green Hill ปางช้างที่มีรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ให้คนก็แฮปปี้ ช้างก็แฮปปี้
ซ้ายคือก้นแม่ตะ ขวาคือก้นแม่น้อย

อีกหนึ่งไฮไลต์ที่ปางนี้ คือเบบี้บอยวัย 3 ขวบจอมขี้เล่นที่ชื่อว่า ซันเดย์

ซันเดย์เป็นลูกช้างที่ย้ายมาจากอีกปางหนึ่งด้วยเหตุผลบางอย่าง และด้วยความที่ยังเป็นเบบี้อยู่ เจ้าซันเดย์ก็เลยทั้งซนและกินเก่งมาก เผลอเป็นไม่ได้ เจ้าซันเดย์จะชอบเดินเข้าไปซนในซุ้มเตรียมอาหาร เอางวงขโมยกล้วยจากกระเป๋านักท่องเที่ยวแถวนั้นมากินเองทุกที แต่ถึงจะเรียกว่าเบบี้บอย เจ้าซันเดย์นี้ก็มีความสูงไม่ต่างกับมนุษย์วัยยี่สิบกว่าๆ เท่าไหร่จากที่เราฟังไกด์อธิบายมา อายุของช้างจะใกล้เคียงกับอายุของมนุษย์ ซึ่งก็หมายความว่าซันเดย์เป็นช้างเด็กวัย 3 ขวบที่สูงพอๆ กับมนุษย์วัยยี่สิบกว่าปีนี่เอง

ไปใช้ชีวิตกับช้าง ใน  Elephant Green Hill ปางช้างที่มีรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ให้คนก็แฮปปี้ ช้างก็แฮปปี้
ซันเดย์ที่ลงไปเล่นน้ำและมีความสุขตาเหลือก

ตามโปรแกรมของปางช้าง กิจกรรมแรกที่เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเพื่อนตัวโตพวกนี้ คืออาหารของเจ้าช้าง ไกด์เล่าให้ฟังว่าช้างเป็นสัตว์ที่กินดุมาก วันหนึ่งกินไปเรื่อยๆ ได้ถึง 18 ชั่วโมง ซึ่งข้อมูลเรื่องการกินของช้างก็ได้รับพิสูจน์ให้เห็นทันทีว่าถูกต้อง เพราะในระหว่างที่ไกด์กำลังอธิบายวิธีตัดอ้อยและวิธีเอากล้วยให้ช้างกับผู้ร่วมกิจกรรมทั้งหมดอยู่นั้น แก๊งตัวโตทั้งสามที่กำลังรออาหารเช้ามื้อใหญ่ก็กระจายกำลังไปกินใบไม้แถวนั้นเป็นออร์เดิฟอยู่

แต่ถึงกินเยอะก็ไม่ใช่ว่าจะกินทุกอย่าง เจ้าพวกนี้ก็ยังเบ้ปากให้กับบอระเพ็ด เพราะถึงแม้จะมีสรรพคุณช่วยทำให้มีร่างกายแข็งแรงและเจริญอาหาร แต่การจะทำให้เจ้าพวกดื้อนี้ยอมกินอะไรขมๆ นั้นมันก็ยากมาก เช่นเดียวกับเวลาที่เราพยายามให้น้องหมาน้องแมวกินยานี่แหละ พวกทาสช้างทั้งหลายเลยต้องหาทริกมาทำยาสมุนไพรปั้นเป็นก้อนๆ ผสมข้าว กล้วย บอระเพ็ด มะขาม และอื่นๆ เอามาบดผ่านครกตำข้าวสมัยโบราณ ทำเป็นของว่างอีกมื้อหนึ่งเพื่อล่อให้ช้างกิน

ไปใช้ชีวิตกับช้าง ใน  Elephant Green Hill ปางช้างที่มีรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ให้คนก็แฮปปี้ ช้างก็แฮปปี้

หลังจากที่สวาปามอ้อยและกล้วยหมดไปสิบกว่าตะกร้า ก็ถึงเวลาที่ต้องออกกำลังกายกันสักหน่อย กิจกรรมต่อไป คือการเดินขึ้นเขา พวกเราต้องเดินขึ้นเขาไปกับช้างเพื่อพาเจ้าพวกนี้ไปพักผ่อนตามสภาพแวดล้อมธรรมชาติของพวกเขา ความยากของการเดินเขาไม่ใช่แค่ความชันอย่างเดียว แต่เราต้องเดินเขาไปล่อเจ้าซันเดย์ให้เดินไปด้วย ตามประสาเบบี้บอย ซันเดย์ที่ยังอยากสนุกอยู่ข้างล่างก็เกิดอาการขี้เกียจจนแอบเอางวงไปเกยโขดหิน อ้อนไกด์และควาญช้างจนโดนบ่น จนสุดท้ายแทนที่จะได้ออกกำลังกาย พี่ควาญช้างต้องให้เราเอากล้วยไปล่อซันเดย์ให้เดินและคอยเรียกชื่อตลอดเวลาที่เดินขึ้นเขาไปแทน

ไปใช้ชีวิตกับช้าง ใน  Elephant Green Hill ปางช้างที่มีรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ให้คนก็แฮปปี้ ช้างก็แฮปปี้

ผ่านมาเกือบครึ่งวันแล้ว มีสิ่งหนึ่งที่ไกด์และควาญช้างคอยปรึกษากันอยู่เรื่อยๆ คือพวกเขารู้สึกว่ายังทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติพวกนี้เลิกกลัวช้างจริงๆ ไม่ได้เสียที เพราะถึงแม้จะกล้ายื่นอาหารให้ช้าง แต่พอช้างเข้าไปใกล้ พวกเขาก็ยังรู้สึกไม่ปลอดภัยอยู่ นั่นเลยเป็นความท้าทายที่ทั้งไกด์และควาญช้างพยายามสร้างวิธีผูกมิตรให้กับนักท่องเที่ยว ด้วยการพาไปสังเกตพฤติกรรมของช้างอย่างใกล้ชิดและเรียนรู้เรื่องราวของเจ้าพวกนี้ 

ไกด์บอกว่า ช้างบางเชือกของที่นี่จะอ่อนไหวกับใบหูของพวกมันมาก เพราะเมื่อก่อนพวกมันมักโดนควาญช้างเอาตะขอเกี่ยวหูเพื่อบังคับให้ไปในทิศทางต่างๆ เลยเป็นเหมือนปมที่ทำให้เวลาที่มนุษย์เผลอไปจับหูช้าง เจ้าช้างพวกนี้จะรู้สึกแย่ เพราะมันไปกระตุ้นเรื่องในอดีตที่เคยโดนทำร้าย และถ้าเราเดินเข้าไปใกล้ๆ ช้าง เราจะได้เห็นแผลเป็นตามตัว ทั้งรอยเหมือนโดนแทง โดนเกี่ยว ที่เป็นหลักฐานชิ้นดีเลยว่า เรื่องราวโหดร้ายที่ประทับบนตัวสัตว์โลกพวกนี้เคยเกิดขึ้นจริงจากน้ำมือมนุษย์ 

มีครั้งหนึ่ง เราเคยเห็นปางช้างแห่งหนึ่งในประเทศไทยมีบริการให้นักท่องเที่ยวขี่ช้างรอบๆ เมือง ตอนนั้นเราเห็นควาญช้างตะโกนและเงื้อมือจะเอาเคียวไปเกี่ยวตัวช้างที่ไม่ยอมทำตามคำสั่ง ช้างเชือกนั้นดูกลัวมาก มันหลับตาปี๋ก่อนรีบย่อตัวลงให้ควาญช้างคนนั้นลงจากหลังมันได้ ด้านหลังช้างเชือกนั้นเป็นลูกช้างตัวเล็กที่มีขนาดไม่น่าจะสูงเกินตัวเราด้วยซ้ำ มีโซ่ล่ามขาติดกับแม่ของมัน เพื่อที่จะได้เดินฝ่าถนนคอนกรีตร้อนๆ ในสภาพอากาศสามสิบกว่าองศาไปกับแม่ และให้นักท่องเที่ยวขึ้นนั่งพร้อมกับถ่ายรูป มันเป็นภาพที่ติดตาเรามาจนถึงทุกวันนี้ ทุกครั้งที่นึกถึง เราอดคิดไม่ได้ว่าทำไมการมาท่องเที่ยวหาความสุขของมนุษย์ถึงต้องทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นมีความทุกข์ด้วย

แต่สำหรับปางช้างแห่งนี้ โล่งใจได้เลย

ตอนนี้เจ้าช้างพวกนี้ได้หลุดพ้นจากสถานการณ์แบบนั้น มีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นผ่านการช่วยเหลือจากมนุษย์ที่มีความรู้และความเข้าใจช้างเป็นอย่างดี ไกด์และควาญช้างพาแต่ละครอบครัวเข้าไปใกล้ตัวช้างให้มากขึ้น เขาลองให้แต่ละคนสัมผัสผิวหนังหยาบๆ ของช้างอย่างอ่อนโยน ถ่ายรูปกับช้างได้ พลางอธิบายว่า แต่ละตัวมีความชอบและไม่ชอบอะไรบ้าง การทำแบบนี้ก็เหมือนจะทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มคลายความระแวงไปได้เปราะหนึ่ง เพราะพวกเขาเริ่มรู้จักช้างผ่านเรื่องราวของพวกมันมากขึ้น

ไปใช้ชีวิตกับช้าง ใน  Elephant Green Hill ปางช้างที่มีรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ให้คนก็แฮปปี้ ช้างก็แฮปปี้

หลังจากที่เดินขึ้นเขากันจนเหนื่อยหอบ (ที่จริงมีแต่มนุษย์แหละที่เหนื่อยหอบ) พวกเราจัดแจงเปลี่ยนเป็นชุดชาวบ้านที่ทางปางช้างเตรียมไว้ให้ สถานีต่อไป คือการพาแม่น้อยและแม่ตะไปเล่นโคลนและอาบน้ำ แต่ยังไม่ทันได้ทำอะไรเลย แค่แม่น้อยกับแม่ตะเห็นบ่อโคลนตรงหน้าก็กึ่งวิ่งกึ่งเดินหย่อนตัวลงไปนอน พลางเชื้อชวนให้คนเอาโคลนมาทาตัวทันที 

นักท่องเที่ยวฝรั่งต่างตื่นเต้นดีใจกันใหญ่ พอเห็นว่าเจ้าช้างเอางวงแกว่งไปมาอย่างสบายอารมณ์ พวกเขาก็วิ่งเข้าไปทำสปาโคลนพอกหลังเจ้าช้างกัน แต่ไปๆ มาๆ ไม่รู้ทำอีท่าไหน จากสปาโคลนก็กลายเป็นสงครามของทีมนักเดินทางและควาญช้างแทน ทำให้เราที่ตอนแรกคิดว่าไม่อยากเลอะเท่าไหร่ต้องโดนลูกหลงจากก้อนโคลนทั้งสองฝ่ายละเลง จนเหมือนตัวเองกลายเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ขยับได้ไปซะเฉยๆ

อีกสิ่งหนึ่งที่คนหลายคนอาจเข้าใจผิดมาตลอด คือเรื่องผิวหนังของช้าง ที่จริงแล้วช้างเป็นสัตว์ที่ขี้ร้อน ผิวหนังของช้างดูเหมือนหนาและทนทาน แต่ตรงกันข้ามเลย ผิวหนังของช้างไม่ได้สร้างมาเพื่อให้ทนความร้อนสักเท่าไหร่ แถมด้วยความที่ผิวหนังมีสีเข้มจึงทำให้ดูดแสงอาทิตย์ได้ง่ายขึ้นด้วย การมาแช่โคลนและเล่นน้ำจึงเหมือนเป็นสวรรค์ของช้าง เพื่อที่จะคูลดาวน์ความร้อนที่สะสมมาทั้งวันลง 

ไปใช้ชีวิตกับช้าง ใน  Elephant Green Hill ปางช้างที่มีรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ให้คนก็แฮปปี้ ช้างก็แฮปปี้

ความน่าประทับใจอีกอย่างหนึ่งของปางช้าง คือการไม่ได้เรียนรู้แค่เรื่องช้าง แต่ยังเรียนรู้ไปถึงวัฒนธรรมต่างๆของไทยด้วย ในช่วงพักกลางวัน ไกด์มีการแนะนำอาหารไทยในปางช้างและสอนทำส้มตำแบบง่ายๆ ให้นักท่องเที่ยว นับเป็นกิจกรรมที่ถูกอกถูกใจแม่บ้านฝรั่งเศสแก๊งนี้มาก เพราะพอทำเสร็จคุณแม่บ้านแต่ละคนก็ยกไปให้สามีและลูกๆ ของตัวเองลองชิมรสชาติฝีมือแม่ครัวสมัครเล่นกัน 

หรือในช่วงตอนเย็นก็มีการทำขนมไทยง่ายๆ เช่น ขนมครกและกล้วยปิ้ง เสิร์ฟพร้อมน้ำอัญชัญ ใครอยากลองทำก็ไปทำได้ ทำให้รู้สึกว่านอกจากได้มาเปิดประสบการณ์เรื่องช้างแล้ว การได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทยที่สอดแทรกไปเล็กๆ คงเป็นเหมือนโบนัสแถมไปสำหรับนักท่องเที่ยวไม่ใช่น้อย

ไปใช้ชีวิตกับช้าง ในปางช้างที่มีรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ให้คนก็แฮปปี้ ช้างก็แฮปปี้

การได้มาเห็นช้างในปางช้างที่ได้รับการดูแลอย่างดีแบบนี้ทำให้เรารู้สึกชื้นใจมากๆ ยิ่งพอได้เห็นช้างเดินกินอาหารอย่างมีความสุข เดินขึ้นเขาอย่างสบายใจ และได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับช้างมากขึ้น ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าอยากให้มนุษย์ช่วยกันดูแลช้างแบบนี้ต่อไป คงจะดีไม่ใช่น้อยถ้าในอนาคตมีคนไทยมาทำความรู้จักกับเจ้าช้างมากขึ้น จนต่อจากนี้ไปช้างจะไม่ได้เป็นเพียงสัตว์ประจำชาติเฉยๆ แต่กลายเป็นเพื่อนที่เกิดความผูกพันจริงๆ

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมของ Elephant Green Hill ได้ที่ www.elephantnaturepark.org/

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

วิศัลลยา เกื้อกูลความสุข

นักเรียนไทยในต่างแดน มีความฝันว่าอยากทำงานด้านท่องเที่ยวและเล่นดนตรีไปรอบโลก