พอต้องเปลี่ยนมา Work from Home ผมก็ได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น ได้กินข้าวด้วยกันทั้งครอบครัวในหลายๆ มื้อ และสำหรับบ้านผม การกินอาหารเป็นหนึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่ของชีวิตแต่ละวัน 

เลยพบว่าอาหารในบ้านนั้นมีความหลากหลายมาก ผมมีหลานอายุ 1 ปี มีพ่อแม่ที่เลยวัยเกษียณมาหลายปีแล้ว รวมถึงตัวผมและน้องๆ ที่อยู่ในวัยทำงาน ทุกคนมีพฤติกรรมการกินไม่เหมือนกัน

อีกสิ่งที่หนึ่งสังเกตเห็นในช่วงที่ผ่านมาคือ ทุกวันนี้เรามีอาหารให้เลือกมากมาย เปิดเข้าไปในแอปพลิเคชันก็เจอเมนูให้เลือกจนตาลาย แต่พบว่าการแบ่งประเภทของอาหารยังเป็นหมวดหมู่ของประเภทอาหารทั้งสิ้น 

อาหารคนแก่ : อาหารแบบตามใจคนแก่ยุคสังคมสูงวัย โอกาสใหม่ที่ยังไม่มีใครเป็นเจ้าตลาด

ลำพังแค่ผมเองที่กินได้ทุกอย่าง คงไม่มีปัญหา แค่ดูว่าอันไหนไม่อยากกินก็เลื่อนผ่าน อันไหนอยากกินก็กดสั่ง บางครั้งเพราะอยากกินเลยเปิดหา แต่ก็มีบ้างที่ถูกยั่วยวนโดยความดูน่ากินของอาหาร ความเยอะ ความล้นทะลักของวัตถุดิบ ถึงผมไม่ใช่วัยรุ่น ต้องเริ่มระวังกับการกินอาหารมากแล้ว แต่เมื่อทนต่อความน่ากินไม่ไหว ก็เสียทีสั่งมากินจนได้ แล้วค่อยไปหาทางออกกำลังกายเอา

ส่วนหลาน 1 ขวบของผมก็มีปัญหาบ้างตามประสาเด็กแรกเกิด ยังกินนั่นกินนี่ไม่ได้หลายอย่าง แต่พ่อแม่ของเขาก็ทำอาหารแบบเด็กอ่อนให้กินเองอย่างระมัดระวัง และมีข้อมูลหมดว่าเจ้าตัวเล็กกินอะไรได้บ้างหรือต้องกินแบบไหน มีถึงขั้นกำหนดตารางการกินล่วงหน้าตลอดสัปดาห์ สลับกับดื่มนมแม่ 

เลยเห็นภาพชัดว่า กลุ่มคนที่ถูกสร้างความตระหนักเรื่องการให้ความสำคัญเรื่องอาหารการกินคือกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน มากเป็นพิเศษ เพราะคนที่ต้องคิดถึงเรื่องอาหารของเด็กอ่อน ก็เป็นคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ของเด็กอยู่ดี

ปัญหานี้เลยชัดเจนที่คนรุ่นพ่อแม่ของผม คนสูงวัยโดยเฉพาะคนที่ยังกินอาหารเองได้ เลยมีความสุ่มเสี่ยงเรื่องสุขภาพมากที่สุด เนื่องจากเขายังต้องกินอาหารในแบบที่มีอยู่ในตลาดทั่วๆ ไป ซึ่งส่วนใหญ่ทั้งขนาด ปริมาณ และโภชนาการนั้น ไม่ได้เหมาะสมกับวัยสักเท่าไหร่เลย

อาหารคนแก่ : อาหารแบบตามใจคนแก่ยุคสังคมสูงวัย โอกาสใหม่ที่ยังไม่มีใครเป็นเจ้าตลาด

สังเกตจากพ่อและแม่ของผมเองที่ยังอยากกินนั่นกินนี่เหมือนที่เคยกินมาทั้งชีวิต แต่ก็พบว่าบางอย่างไม่ได้กินง่ายๆ เหมือนเดิมแล้ว ของชอบของพ่อ เช่น เนื้อวัวหรือเนื้อที่ย่างไม่สุก มีปัญหาการเคี้ยวและมีผลต่อการย่อยมากขึ้น สุดท้ายเลยต้องค่อยๆ ปรับการกินเป็นเนื้อที่สุกมากขึ้น ไม่ติดมันได้ก็ดี เพราะมีผลต่อไขมันและโรคประจำตัวอีก กินน้อยลง แต่บ่อยมื้อขึ้น ไปจนถึงลดปริมาณของมื้อเย็นก่อนเข้านอนไว 

บางวันแม่ก็บ่นไม่อยากอาหาร หรือกินดึกเกินเดี๋ยวนอนไม่ได้ แล้วก็เปิดตู้เย็นคว้าไอศกรีมของผมกับหลานตักกินแทนก็มี

สรุปได้ง่ายๆ เลยว่าอาหารที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัยก็คืออาหารอร่อย 

และอุปสรรคใหญ่คือ ผู้ใหญ่นั้นผ่านประสบการณ์อาหารอร่อยมานักต่อนักแล้ว การห้ามใจจึงเป็นเรื่องยาก

เมื่อถึงวัยก็รู้ว่าเราต้องเริ่มที่จะเลือกกินมากขึ้น แต่จู่ๆ วันหนึ่งจะให้กินอาหารอ่อน หรือปรุงน้อยๆ ลดเค็ม ลดมันในทันที ก็ดูไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาในระยะยาวที่มีความสุขสักเท่าไหร่ และผมมองก็รู้ว่าความสุขในการกินของพ่อแม่หายไปทันที

มีงานวิจัยมากมายที่บอกว่า แล้วอาหารที่เหมาะกับคนแก่ควรเป็นอย่างไรล่ะ

สิ่งแรกคืออาหารต้องง่ายต่อการเคี้ยวและกลืน เนื่องจากคนแก่จะสูญเสียความสามารถทั้งสองด้านนี้ไปตามวัย ฟันที่เริ่มหายไป และการผลิตน้ำลายที่ไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม ทำให้การกลืนเป็นเรื่องยากมากขึ้น และเกิดปัญหาการสำลักได้ง่าย ไซส์ ความอ่อนนุ่ม ชุ่มชื้น และไม่เหนียวหนืดของอาหาร จึงมีความสำคัญมาก 

อาหารคนแก่ : อาหารแบบตามใจคนแก่ยุคสังคมสูงวัย โอกาสใหม่ที่ยังไม่มีใครเป็นเจ้าตลาด
การเพิ่มทางเลือกของอาหารเพื่อผู้สูงวัยที่มีข้อจำกัดในการกิน แต่ต้องการความอร่อยเหมือนเดิมในยุคสังคมสูงวัย

สิ่งที่พูดตรงกันคือ เรื่องโภชนาการสำหรับคนแก่โดยเฉพาะ เพราะคนแก่เป็นวัยที่ต้องควบคุมเรื่องอาหาร เรียกว่าเคร่งครัดพอๆ กับเด็ก การรับสารอาหารบางชนิดที่มากเกินไปอาจจะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย 

เนื่องจากปุ่มรับรสของลิ้นในผู้สูงอายุจะน้อยลง รับรสขม รสหวาน และรสเค็ม ได้น้อยลงไปด้วย และการกินให้ได้รสเท่าเดิมแปลว่าอาจจะได้รับโซเดียมกับน้ำตาลมากเกินปกติ ถ้าบ้านไหนที่พ่อแม่เป็นคนทำอาหารเอง อาจจะเคยเจอว่าอาหารมีรสเค็มจัด หวานจัด มากกว่าที่เคยกินสมัยก่อน แบบที่เขาเองก็ไม่รู้ตัว

วิธีแก้ไขให้ใช้สารทดแทนน้ำตาล สารปรุงแต่งรสจากธรรมชาติ หรือสมุนไพรบางชนิดในการเพิ่มรสชาติ กลิ่น รสแบบที่ไม่เพิ่มปริมาณไขมัน โซเดียม และน้ำตาล ไปด้วย และต้องง่ายต่อการย่อย พูดง่ายๆ ก็คือทำเลียนแบบหน้าตาอาหารแบบเดิม รสชาติเดิม แต่ใช้ของที่ปลอดภัยกว่า

เราก็เห็นความพยายามที่มีผู้ผลิตอาหารเริ่มสร้างอาหารสังเคราะห์ให้มีทั้งกลิ่น สี รส และสัมผัส ให้ใกล้เคียงอาหารปกติ แต่ดีต่อผู้สูงวัย หรืออาหาร Plant-based ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ทำให้คนกินได้ความรู้สึกเหมือนกินเนื้อสัตว์แต่ย่อยได้ง่ายกว่า เพียงแต่ยังราคาสูง และบางชนิดยังมีโซเดียมที่มากเกินไป อาจจะยังไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้ แต่ก็ดูเป็นความพยายามที่มีความหวัง 

การเพิ่มทางเลือกของอาหารเพื่อผู้สูงวัยที่มีข้อจำกัดในการกิน แต่ต้องการความอร่อยเหมือนเดิมในยุคสังคมสูงวัย

หรืออาจไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีขนาดนั้น การปรุงเองที่บ้านหรือด้วยฝีมือเชฟของร้านด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ว่ามา ก็น่าจะสร้างอาหารอร่อยที่เป็นทางเลือกให้ผู้สูงอายุได้เหมือนกัน แต่คนที่ควรจะสนใจและเห็นโอกาสจากสิ่งนี้ น่าจะเป็นผู้ผลิตและผู้ประกอบการอาหารมากกว่า

ตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์แล้ว เรามีสัดส่วนของผู้มีอายุ 60 – 65 ปี คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ อีก 10 ปีข้างหน้าเราจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged Society) คือมีคนแก่เกิน 60 ปีมากกว่าร้อยละ 20 ของประเทศ

จะเห็นว่าตลาดของอาหารสำหรับผู้สูงอายุเติบโตขึ้นมาก และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มผู้สูงวัยเป็นกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่มีกำลังจ่าย อยากได้อาหารที่อร่อยและเข้าใจข้อจำกัดของตัวเขา 

ผู้ผลิตอาหารที่เห็นโอกาสจากตลาดกลุ่มนี้ได้ก่อนใครคงกลายเป็นเจ้าตลาดได้ไม่ยาก ที่ผ่านมาภาพในร้านอาหารสำหรับครอบครัวก็ไม่ใช่แค่สำหรับพ่อแม่ลูกเท่านั้นอยู่แล้ว เราเห็นภาพการพาปู่ ย่า ตา ยาย ไปด้วยเช่นกัน ร้านอาหารต่างๆ น่าจะลองคิดเมนูสำหรับคนแก่ใส่เข้าไปเพิ่มเป็นทางเลือก เหมือนชุดเมนูคุณหนูที่มีเป็นปกติแล้วบ้างนะครับ ยิ่งถ้าเป็นยุคเดลิเวอรี่ จะลองเพิ่มหมวดหมู่อาหารสำหรับผู้สูงอายุเข้าไปในแอปพลิเคชันสั่งอาหารดูก็ได้ 

ที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครกล้าเพิ่มทางเลือกนี้เข้าไป ผมคิดว่าไม่น่ากังวลหรือกลัวว่าจะไม่มีคนซื้อ 

และคิดว่ายุคนี้พ่อแม่หลายๆ คน เตรียมเปิดมือถือกดสั่ง พร้อมโอนกันแล้วล่ะครับ

Writer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล