The Cloud x Thailand Coffee Fest 2020

“เอโกะ” ฉันเรียกชายวัยกลางคนที่ยืนห่างไปไม่ไกล

“แป๊บหนึ่งนะ” เขายกมือขึ้นนัยว่าขอเวลา สายตาไม่ละจากสิ่งที่จดจ่อเบื้องล่าง

ฉันมองตาม 

เขากำลังยืนนิ่งให้กิ้งกือสีดำมะเมื่อม เทศบาลธรรมชาติที่คอยกัดกินซากพืชแล้วถ่ายมูลเป็นปุ๋ยชั้นดี ไต่บนเท้าเพื่อไปสู่จุดหมายของมัน ฉันอดยิ้มไม่ได้ และปฏิเสธคำขอนั้นไม่ได้เช่นกัน

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

เอโกะ ปูร์โนโมวีดี (Eko Purnomowidi) หรือ ปาเอโกะ (Pa Eko) มิสเตอร์เอโกะในภาษาบาฮาซา-ชื่อของเขาที่หลายคนในวงการกาแฟทั่วโลกรู้จัก มักแนะนำตัวเองว่าเป็นเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟชาวอินโดนีเซีย

ภายใต้เสียงหัวเราะและรอยยิ้มกว้างจนตาหยีที่ทุกครั้งสร้างรอยยับย่นปลายหางตา เขาคือผู้ร่วมก่อตั้ง Klasik Beans Cooperative หนึ่งในบริษัทจำหน่ายเมล็ดกาแฟที่เฟื่องฟูที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่มาเกือบ 10 ปี 

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

ไม่เพียงเป็นนักธุรกิจ… เขายังเป็นคนอินโดนีเซีย

รับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรรายย่อยมากกว่า 2,000 รายทั่วประเทศ ส่งออกเมล็ดกาแฟจากหลายชนเผ่าไปไกลข้ามซีกโลก ผลักดันให้เกษตรกรหันมาทำกาแฟพิเศษ หรือ Specialty Coffee ที่มีคุณภาพในทุกกระบวนการผลิต จนถึงถูกการันตีโดย Cupper ด้วยคะแนน 80 คะแนนขึ้นไป และสร้างรสชาติของท้องถิ่น ด้วยเป้าหมายว่า Klasik Beans Cooperative จะไร้ตัวตน เมื่อจิบคุ้นลิ้น ผู้คนต้องจดจำรสชาติกาแฟเฉพาะตัวของชนเผ่าได้ขึ้นใจ 

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

ไม่เพียงขายเมล็ดกาแฟ… เขาออกเดินทางไปทั่วประเทศอินโดนีเซีย 

อาศัยในหมู่บ้านแล้วหมู่บ้านเล่า เผ่าแล้วเผ่าเล่า เปลี่ยนเรื่องเล่ากสิกรรมธรรมชาติแต่เก่าก่อนจากผู้เฒ่าผู้แก่เป็นตัวหนังสือและภาพสเกตช์ลงในสมุดเล่มเล็กที่พกติดตัวเสมอ รื้อฟื้นวิถีเกษตรกรรมประจำถิ่นในความทรงจำคนรุ่นปู่ย่าตายาย ให้เกิดเป็นรูปธรรมในสวนกาแฟที่ลูกหลานสืบทอด เพื่อพลิกวิถีการเพาะปลูกกาแฟยุคปฏิวัติเขียวเมื่อโลกการเกษตรได้รู้จักสารเคมี สู่สวนกาแฟที่ใช้ระบบธรรมชาติดูแลธรรมชาติ

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

ปรัชญาของคนที่หลายคนในวงการนับถือเป็นปราชญ์แห่งกาแฟคนนี้คืออะไร ให้เวลาคุณสักครู่ชงกาแฟสักแก้ว แล้วมาจิบกาแฟยามเช้าพร้อมอ่านเรื่องราวแต่ละบรรทัดของเขาไปด้วยกัน

Sharing is Caring

เอโกะเกิดที่ชวา ดินแดนผืนแรกซึ่งกาแฟงอกงาม หลังชาวดัตช์เหยียบย่างเข้ามาที่อินโดนีเซียพร้อมกาแฟในปลายศตวรรษที่ 17 ต้นศตวรรษที่ 18 ประเทศอินโดนีเซียก็กลายเป็นที่แรกนอกดินแดนอาหรับและประเทศเอธิโอเปียที่กาแฟถูกเพาะปลูกอย่างแพร่หลาย และเมื่อเอโกะจำความได้ปู่กับย่าของเขาก็เป็นเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟแล้ว

“ตอนเด็กผมเห็นปู่กับย่าปลูกกาแฟหลังบ้าน ผมวิ่งเล่นอยู่แถวนั้นและได้เห็นพวกเขาเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟ เตรียมดินเพาะปลูก ผมว่าสิ่งเหล่านั้นนั้นบันทึกอยู่ในความทรงจำ เหมือนปู่สอนผมตรงๆ ปู่ทำ ผมดู แค่ไม่ใช่โดยคำพูด แต่เป็นการกระทำ”

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

เอโกะในวัยเด็กชายซึมซับวิถีการเพาะปลูกของปู่ย่าด้วยความทรงจำ เติบโตขึ้นมาก็ลองหยิบจับหัดทำงานในสวนกับปู่ แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเอโกะกลับไม่เคยดื่มกาแฟแม้เพียงอึก เขาปราศจากประสบการณ์เกี่ยวกับกาแฟสำเร็จรูป ตอนที่อินโดนีเซียเริ่มผลิตกาแฟสำเร็จรูป เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารสชาติของกาแฟสำเร็จรูปเป็นยังไง

หลานชายของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจากชวาเลือกทางเดินสายที่ไกลจากกาแฟโดยสิ้นเชิง เอโกะเป็นอดีตนักเรียนรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่แล้วชีวิตก็พาเขากลับมาสู่จุดเริ่มต้น ที่ไกลจากสิ่งที่เรียนโดยสิ้นเชิง

เอโกะในวัย 31 ตกหลุมรักกาแฟ สิ่งที่เขาเห็นมาตั้งแต่เด็ก เพราะเขาตระหนักว่ากาแฟไม่ใช่แค่กาแฟ แต่กาแฟคือวงจรชีวิต เมื่อผลิตกาแฟก็ต้องอนุรักษ์หลายสิ่ง ต้องรักษาน้ำ รักษาดิน รักษาธรรมชาติ เขาจึงเลือกเป็นเกษตรกรสวนกาแฟเหมือนอย่างปู่ย่า   

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

ในยุคที่อินโดนีเซียยังไม่มีแล็บ ไม่มีการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดกาแฟ ขณะที่เกษตรกรทั่วประเทศต่างก้มหน้าก้มตาปลูกกาแฟอย่างขะมักเขม้น ก่อนมือจะเปื้อนดิน เกษตรกรชื่อเอโกะกลับมีหมุดหมายแรกในสายอาชีพเป็นการนำกาแฟเข้าทดสอบในห้องแล็บ เพื่อเริ่มเรียนรู้เรื่องคุณภาพของเมล็ดกาแฟให้ถ่องแท้เสียก่อน 

“ตอนนั้นเกษตรกรไม่เข้าใจเรื่องคุณภาพกาแฟ มันจึงยากมากสำหรับเราที่จะค้นหาว่าอะไรขาดหายไป เราต้องเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่ A-Z ผมเชื่อจนถึงวันนี้ว่าเรายังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับกาแฟอีกมาก” ชายคนแรกผู้ริเริ่มผลิตกาแฟพิเศษของอินโดนีเซียส่งออกบอกเรา 

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

คำตอบเรื่องคุณภาพของกาแฟในห้องแล็บยังไม่เพียงพอ เอโกะออกตามหากาแฟในที่ห่างไกลอย่างสุมาตราเหนือ ณ เมืองเล็กๆ ชื่อลินตงนีฮุตา (Lintong Nihuta) ด้วยความเชื่อว่าที่ห่างไกลที่ถูกมองข้ามมักมีเพชรงามซ่อนอยู่

“ผมเริ่มหาวัฒนธรรมที่แตกต่าง รสชาติที่แตกต่าง เพราะเชื่อว่ารสชาตินั้นคู่กับวัฒนธรรรม วัฒนธรรมอยู่คู่กับผู้คน ก่อนผมจะไปที่นั่น ผมศึกษามานุษยวิทยาของหมู่บ้าน ความสัมพันธ์ทางสังคม ประวัติศาสตร์ และการศึกษา การศึกษาที่ว่านี้ไม่ใช่การศึกษาในระบบแบบนั้น แต่เป็นความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ของชุมชน ยิ่งมีคนอยากเรียนรู้มาก ก็ยิ่งเกิดการแบ่งปัน การแลกเปลี่ยนความเห็น และเราก็จะค้นพบทางออกของทุกปัญหา”

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

เอโกะเดินทางไปๆ กลับๆ ลินตงนีฮุตา แต่ละครั้งอาศัยนาน 1 สัปดาห์ ทำอย่างนี้อยู่ 2 ปีเพื่อเรียนรู้เรื่องการเกษตรกับผู้เฒ่าในหมู่บ้าน จดบันทึก และแบ่งปันความรู้ที่ว่าแก่คนหนุ่มสาวทายาทรุ่นสอง

การเดินทางแต่ละครั้งเอโกะไม่ได้ไปมือเปล่า เขานำหลักเกษตรกรรมของปู่ย่ามานั่งจับเข่าคุยกับเกษตรกร แบ่งปันความรู้เชิงเกษตรของท้องถิ่นซึ่งกันและกัน จนตกตะกอนเป็นวิถีการเพาะปลูกกาแฟที่ดีที่สุดสำหรับชุมชน

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

“เกษตรกรจะอธิบายวิถีเกษตรกรรมท้องถิ่นให้ผมฟัง แล้วผมก็แชร์เทคนิคของปู่ให้พวกเขา จากนั้นเราค่อยคิดหาวิธีจนได้ข้อสรุป แล้วลงมือทำด้วยกัน ผมทำ เขาดู เหมือนที่ปู่เคยทำกับผม พิสูจน์ไปด้วยกัน ผมเคยให้เขาลองแบ่งแปลงปลูกเป็นสองแปลงเลย แปลงหนึ่งปลูกแบบตะวันตก แปลงหนึ่งปลูกแบบดั้งเดิม แล้วคั่วเมล็ดให้ Cupper มาชิม สุดท้ายก็เห็นผลว่าวิธีปลูกแบบดั้งเดิมให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

“แล้วในลินตงเราต้องขุดหลุมปลูกต้นกาแฟลึกแปดสิบเซนติเมตรถึงหนึ่งเมตร แต่บางที่ในชวาขุดลึกแค่หกสิบเซนติเมตร เพราะดินต่างกัน ที่ต่างกัน ข้อปฏิบัติจึงต่างกัน ที่ลินตงแดดน้อย จึงปลูกแค่ Shade Tree (ต้นไม้ให้ร่มเงา) ตรงกลางสวนแค่ต้นเดียวและต้องมี Border Tree (แนวต้นไม้กันลม) แต่สวนกาแฟที่ชวาอยู่บนภูเขาเหมือนประเทศไทย แดดแรง เกษตรกรจึงต้องปลูก Shade Tree ระหว่างต้นกาแฟทุกต้น แต่ลินตงมีพื้นราบ ไม่สูงชัน ลมแรง สิ่งที่เกษตรกรต้องการจึงมีแค่ต้นไม้กันลม” เอโกะอธิบาย

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

“เมื่อคุณแบ่งปัน มอบสิ่งที่ดีคือความรู้ให้พวกเขา นั่นมีพลังที่สุด เพราะคุณไม่ได้ให้วัตถุ แต่เป็นความรู้ที่จะทำให้พวกเขามีชีวิตต่อไปได้ พลังของความรู้นั้นสำคัญมาก และมันจะเริ่มขึ้นก็ต่อเมื่อคุณคิดอยากแบ่งปัน ถ้าคุณไม่แบ่งปันเรื่องราวมันก็หยุดอยู่แค่นั้น อีกอย่าง เราเลือกลงมือทำและอยู่กับพวกเขา ถ้าไม่มาอยู่กับพวกเขา พวกเขาก็คงไม่ฟังเรา และมองว่าเราเป็นแค่ผู้มาเยือน ผมจึงต้องทำให้เขาไว้วางใจจนหันมาทำงานร่วมกัน

“ผมไม่รู้ว่าชาวบ้านมองว่าผมเป็นใคร เพราะไม่เคยถาม แต่ในมุมของผม พวกเขาเป็นครอบครัว และพวกเขาก็ดูแลผมเหมือนสมาชิกในครอบครัวจริงๆ อย่างเมื่อปี 2012 ผมมาเรียนรู้เรื่องกาแฟและสอนภาษาอังกฤษให้เด็กๆ ที่นี่ฟรี ครอบครัวฮูตาซอยต์ (Hutasoit) ชนเผ่าบาตัก จึงรับผมเป็นลูกบุญธรรม ตอนนี้ผมกลายเป็นคนเผ่าบาตักและยังคงกลับไปที่ลินตง และยังได้แบ่งปันประสบการณ์ในวงการกาแฟแก่เกษตรกรด้วย”

เราไม่แปลกใจที่คนที่นี่มองเขาเหมือนคนในครอบครัว ทุกหลังคาเรือนที่เอโกะพาเราไปคือบ้านที่เขาเคยไปแบ่งปันความรู้ด้วย ไม่มีเจ้าบ้านคนไหนเจอเอโกะแล้วไม่เข้ามากอดและชวนคุยหัวเราะกันใหญ่โต ถึงเอโกะจะจากลินตงนีฮุตากลับไปอยู่ชวาหลายปีแล้ว คนเผ่าบาตักที่ลินตงนีฮุตาก็ยังคงจำเขาได้แม่น แต่เอโกะบอกว่าเขาแปลกใจ เขาว่า เวลาเราแบ่งปันอะไรให้ใคร เราไม่ได้คาดหวังอะไรหรอก

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

“คนอินโดนีเซียปลูกกาแฟมาเป็นร้อยๆ ปี และเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ทำสวนกาแฟ พวกเขาจึงรู้จักกาแฟและรู้วิธีการปลูกกาแฟตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ คุณแชร์อะไรให้พวกเขาที่รู้ดีเรื่องกาแฟอยู่แล้ว” เราถามคำถามที่คาใจ

“นี่แหละความท้าทาย พวกเราผ่านสงครามโลกครั้งที่สองและเผชิญกับยุคปฏิวัติเขียวที่ทำให้เริ่มรู้จักยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี ฯลฯ เกษตรกรกาแฟและเกษตรกรอื่นๆ จึงคิดว่าปุ๋ยเคมีนั้นดีกว่า เกษตรเคมีจึงกลายเป็นหนทางใหม่ของเกษตรกรรม พอปู่ย่าตายายตายไป คนรุ่นใหม่ก็เปลี่ยนแปลงวิถีเดิม ตอนนี้เราก็เผชิญกับมันอยู่ในหลายๆ ที่ทั่วอินโดนีเซีย”

ในเมื่อกาแฟพิเศษเท่ากับกาแฟที่มีคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นับตั้งแต่การเพาะปลูก การแปรรูป การคั่ว จนกระทั่งคุณภาพนั้นถูกรับรองโดยนักชิมกาแฟ ฉันว่าเกษตรดั้งเดิมที่พึ่งพาสารอาหารจากธรรมชาติ ไม่ใช่สารเคมี อย่างชายคนนี้เชื่ออาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกทางของ Specialty Coffee

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ
Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

“ในยุคปู่ย่าตายายไม่มีสารเคมี ผมจึงแบ่งปันวิถีเกษตรกรรมดั้งเดิม ผมไม่ได้ทำสิ่งใหม่ แค่ทำให้พวกเขานึกถึงสิ่งเดิมๆ ที่ปู่ย่าตายายเคยทำมา ทำปุ๋ยหมักจากเปลือกกาแฟ เพราะเปลือกกาแฟเป็นส่วนหนึ่งของเมล็ดกาแฟ เติบโตมากับต้นกาแฟ เต็มไปด้วยสารอาหารเดียวกัน จึงเป็นสิ่งที่ต้นกาแฟต้องการที่สุด

“หรือการทำสวนกาแฟด้วยศาสตร์ของเผ่าบาตักที่จะปลูกพริก ต้นหอม เคียงกับต้นกาแฟ เพื่อช่วยไล่ไม่ให้แมลงมากัดแทะเมล็ดจนเกิด Defect หรือปล่อยให้ต้นหญ้าโตในสวนเพื่อให้น้ำหวานดอกหญ้าช่วยเบี่ยงความสนใจของแมลง ส่วนที่ชวาก็จะปลูกขิง ขมิ้น

“การรวบรวมข้อมูลเพื่อเข้าใจวิถีของหมู่บ้านจึงสำคัญมาก เวลาผมไปที่หมู่บ้านหนึ่งและอยู่ที่นั่น ผมจะเริ่มด้วยการบันทึกเรื่องเก่าๆ ของหมู่บ้านนั้นผ่านการสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ว่าพวกเขาทำปุ๋ยกันยังไง เตรียมดินกันยังไง ฯลฯ จากนั้นก็บอกต่อสู่เด็กๆ รุ่นใหม่ในหมู่บ้านและทำงานกับพวกเขา บอกพวกเขาว่าควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร เพราะความรู้เหล่านั้นเป็นของพวกเขามาแต่เดิม”

“มีบทพิสูจน์จากการทำสิ่งเหล่านี้หรือยัง” เราถาม

“ที่ลินตงไง คุณตาซิมอนปลูกกาแฟมานานกว่าผม และเขาก็ยังปลูกต่อไป ลูกชายเขาก็ยังปลูกกาแฟ และอีกหลายคนก็ยังคงปลูกกาแฟตามอย่างบรรพบุรุษ ถ้าพวกเขาไม่เชื่อผมก็คงไม่ปลูกกาแฟต่อไปหรอก

“จากเด็กที่ตอนนั้นยังไม่เริ่มปลูกกาแฟ ตอนนี้พวกเขากลายเป็นเกษตรกรที่ทำสวนกาแฟตามรอยพ่อแม่ เขายังอยู่ที่นี่และพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาสร้างรายได้ด้วยกาแฟได้ หลายๆ หมู่บ้านที่นี่เปลี่ยนวิถีเกษตรกรรมชุมชนไปเลยเมื่อราคาพืชตก จากหมู่บ้านที่ปลูกข้าวโพดก็หันไปปลูกส้ม พืชที่พวกเขาไม่คุ้นเคยแทน ถ้าพวกเขาเข้าใจวิถีชุมชนเขาจะไม่เปลี่ยน” เอโกะคลายความสงสัย   

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

Sustainable Living

เหมือนว่าบทสนทนานี้จะทำให้ชายวัย 51 ปีตรงหน้าได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปถึงช่วงชีวิตหลายปีก่อน หลายครั้งที่บางคำถามทำให้เกิดคำตอบที่เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะลั่นจากเขา ดึกแล้ว นอกจากเสียงแมลงที่ร้องอยู่ด้านนอกหลังฝนลงเม็ด ก็มีเสียงของเอโกะนี่แหละที่ดังฟังชัด

เหตุผลเดียวที่ทำให้เอโกะออกเดินทาง คือเพื่อสร้างความยั่งยืนด้วยกาแฟ นอกจากลินตงนีฮุตา เขายังไปมาแล้วทั้งซุนดา บาหลี ฟลอเรส สุลาเวสี ฯลฯ แม้กระทั่งประเทศไทย ก่อนมาพบเรา เขาก็เพิ่งเดินทางมาจากฟลอเรส 

“เราไม่ได้ทำให้มันยั่งยืนเพราะมันต้องยั่งยืน แต่ผมว่ามนุษย์ไม่ได้มีตัวเลือก ยกตัวอย่างว่ามีกาแฟ มีสิ่งแวดล้อม มีมนุษย์ คนซื้อกาแฟมีกาแฟ กาแฟมีสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมหรือป่ามีมนุษย์ จริงๆ แล้วความยั่งยืนมีอยู่ก็เพื่อช่วยเรา เป็นวัฏจักร เพราะมนุษย์สูญพันธุ์ง่ายมาก

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

“ว่ากันถึงวิกฤตสภาพอากาศ ถ้าออกซิเจนลดลงจนเหลือน้อยกว่าสิบหกเปอร์เซ็นต์ก็จะจุดไฟไม่ติด นี่เป็นสิ่งที่บางทีเราก็ลืมไป ถ้าเรายังปล่อยให้วิกฤตสภาพอากาศเป็นไปแบบนี้ ถ้าเรายังสร้างมลพิษต่อไป แค่จุดไฟไม่ติด เราก็ทำกับข้าวไม่ได้แล้ว เป็นเรื่องพื้นฐานมาก จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องตระหนักรู้ ความยั่งยืนจึงเป็นวิธีที่ผมใช้กับกาแฟ เราจึงออกแบบการปลูกกาแฟของเราให้เป็นป่า ผมไม่ได้ปลูกกาแฟเพื่อผลิตกาแฟ แต่ปลูกกาแฟเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

“กาแฟนั้นมาจากธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ถ้าเราอยากผลิตกาแฟคุณภาพ เราก็ต้องอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นบ้านของกาแฟ หากเราไม่ปกป้องหรือดูแล ก็เป็นไปไม่ได้หรอกที่เราจะได้กาแฟคุณภาพดี

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

“มนุษย์เป็นแค่หน่วยเล็กๆ ในธรรมชาติ แต่แผ่นดินนั้นยิ่งใหญ่ ดิน น้ำ ภูเขา ทุกสิ่งมีอายุมากกว่าเราไม่รู้กี่ปี เราจึงต้องรักษา ไม่ใช่ทำลาย เพราะคนรุ่นถัดไปก็ยังต้องดื่มน้ำเดียวกับที่เราดื่ม ถ้าน้ำหมดไป แล้วคนรุ่นหลังจะดื่มอะไร ถ้าเราทำลายสิ่งแวดล้อม ก็เท่ากับเราทำลายอารยธรรมมนุษย์”

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

“แต่บางคนก็คิดว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างนะ” เราบอก

“มนุษย์สร้างอะไรบ้าง สร้างเก้าอี้ที่เรานั่งนี้ได้ แต่สร้างน้ำไม่ได้นะ สร้างมลพิษในอากาศได้ แต่สร้างอากาศไม่ได้ แล้วก็สร้างดินไม่ได้ ก่อนมาทำเรื่องกาแฟผมอยู่ที่กาลีมันตัน เกาะบอร์เนียว ผมเรียนรู้จากเผ่าดายักตอนพวกเขาชวนผมไปล่ากวางซัมบาร์ หัวหน้าเผ่าจะตะโกนว่า ฮู! ลูกเผ่าจะตะโกนตอบว่า ฮา! สลับกันไปอย่างนี้และตีวงล้อม กวางซัมบาร์ก็จะออกมา

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

“เผ่าดายักจะมีข้อห้ามว่า ห้ามจับกวางตัวเมียหรือลูกกวาง เพราะลูกกวางตัวเล็กเกินกว่าจะแบ่งกันกินให้อิ่ม ส่วนตัวเมียก็ต้องปล่อยให้สืบพันธุ์ต่อไป หัวหน้าเผ่าบอกผมว่า จับแค่ตัวผู้ และจับแค่สองตัวให้พอกินสามเดือนก็พอ ตอนนั้นแหละที่ผมได้เรียนรู้เรื่องความยั่งยืน ฉะนั้น ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องใหม่ มันมีอยู่ในทุกชนเผ่า ผมเชื่อว่าชนเผ่าในไทยก็เหมือนกัน และเราสร้างความยั่งยืนคนเดียวไม่ได้หรอก ต้องบอกเล่าให้คนช่วยกัน”

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

เราถามเอโกะว่า ทุกวันนี้เขาทำอะไร เขาตอบว่า “ผมแค่ขายเมล็ดกาแฟ และเดินทางไปเรื่อยๆ”

การเดินทางของเอโกะ นักธุรกิจลูกครึ่งเกษตรกร คือการเดินทางเพื่อไปรับผิดชอบผู้บริโภคด้วยการแบ่งปันความรู้ทางการเกษตรโดยตรงกับผู้ผลิต เปลี่ยนความคิดเกษตรกรให้หันมาทำกาแฟพิเศษอย่างยั่งยืน และสนับสนุนให้พวกเขาปลูกกาแฟสายพันธุ์ท้องถิ่น

“ผมเชื่อในท้องถิ่นและของแท้ดั้งเดิม ผมไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย มันเป็นคาแรกเตอร์ของพวกเขาทั้งหมด ในเมื่อของมันดีอยู่แล้ว เราแค่ต้องรักษามันไว้ มันจะได้อยู่ต่อไปอีกร้อยปี ตอนนี้เกษตรกรกำลังสับสน ผสมกาแฟข้ามสายพันธุ์ ซึ่งนั่นไม่ใช่ความรู้ท้องถิ่นเลย

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

“กาแฟสายพันธุ์ท้องถิ่นถูกพิสูจน์แล้วว่ามันปลูกได้ดีที่นี่ แล้วจะเปลี่ยนทำไม ถ้าคุณไม่รักษากาแฟ กาแฟก็ตาย คุณก็ไม่มีรายได้ มันง่ายอย่างนั้นแหละ เกษตรกรไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ นั่นไม่ใช่งานของพวกเรา งานของเราคือดูแลผู้บริโภคด้วยผลผลิต เพราะการเพาะปลูกคือต้นทางของการรักษา”

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

และบทสรุปของการเดินทางครั้งนี้คือเส้นทางสายใหม่ที่ทอดให้กาแฟชวาไปอยู่บนเมนู Stumptown Coffee Roasters ร้านกาแฟเชนดังของสหรัฐอเมริกา และเอโกะบอกโลกเสมอว่าเมล็ดกาแฟนั้นมาจากใคร ไม่ใช่จาก Klasik Beans Cooperative

“เราเล่าเรื่องราววัฒนธรรมของพวกเขาแก่ลูกค้าทุกคน ลูกค้าจะคอยถามว่ากาแฟนี้มาจากใคร เราจึงมีโอกาสได้เล่าเกี่ยวกับชนเผ่านั้นๆ ที่เป็นต้นทางกาแฟ คนดื่มก็จะได้จินตนาการถึงจุดเริ่มต้นของกาแฟแก้วนั้น มันจึงเป็นการเชื่อมคนปลูกกับคนดื่ม ถ้าไม่ใช่เพราะกาแฟพิเศษ คนคงไม่ได้คอนเนกต์กันแบบนี้ ถ้ายังมีแค่กาแฟสำเร็จรูป ผู้คนก็คงไม่ได้รู้จักกัน และคงเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะได้มาเจอผม หรือผมได้ไปประเทศไทย ถ้าไม่ใช่เพราะกาแฟพิเศษ”

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

นอกจากนั้น ที่ชวา ถิ่นเกิด เอโกะและหนึ่งในผู้ช่วย เดเดน รีซัล ปาเลวี (Deden Rizal Pahlevi) ยังเดินทางไปเพื่อยกระดับชีวิตของเกษตรกรและลูกหลานเกษตรกร พวกเขาสร้างห้องสมุดกาแฟเล็กๆ ใกล้สวนกาแฟ ให้พ่อแม่เกษตรกรได้อุ่นใจที่จะปล่อยให้ลูกๆ มาใช้เวลาที่นี่หลังเลิกเรียน เด็กๆ จึงค่อยๆ ซึมซับการอ่านหนังสือภาษาอังกฤษในห้องสมุดข้างสวนกาแฟช้าๆ จนตอนนี้บางคนโตมาเป็นบาริสต้าด้วยซ้ำ 

“คุณไม่ได้สร้างแค่กาแฟพิเศษ แต่คุณสร้างคนด้วย” เรายิ้มให้เอโกะ

“เพราะการสร้างคนรุ่นถัดไปก็คือการรักษายังไงล่ะ” เขายิ้มและตอบ

Friend of Nature

ก่อนเดินทางมาสุมาตราเหนือเพื่อพบเอโกะ เรารู้ตัวว่าจะต้องบุกป่าฝ่าดงกาแฟ จึงเตรียมตัวและอุปกรณ์มาอย่างดีตั้งแต่หัวจรดเท้า เพียงเพื่อมาพบว่าปราชญ์กาแฟคนนี้ถลกขากางเกงหิ้วอีแตะและเดินเท้าเปล่าเข้าสวนกาแฟเท่านั้น เราถามเขาซื่อๆ เลยว่า ไม่กลัวถูกอะไรบาดเอาเหรอ

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

“ยิ่งเราเหยียบไปบนรองเท้าเท่าไหร่ พื้นรองเท้ายิ่งบางลงเท่านั้น แต่ยิ่งเราเดินด้วยเท้าเปล่าเท่าไหร่ ฝ่าเท้าเรายิ่งหนาขึ้นเท่านั้น ผมเรียนรู้การเดินเท้าเปล่านี้จากการเดินขึ้นภูเขา ถ้าเราใช้รองเท้า มันไม่ธรรมชาติ เมื่อเราสร้างรอยรองเท้าบนพื้นดิน สัตว์ป่าเห็นรอยนี้เข้าก็จะรู้เลยว่านี่คือสิ่งแปลกปลอม มันมีอาณาเขตของมัน ถ้าเราบุกเข้าไป มันจะหนีและต้องทิ้งบ้านของมัน แต่รอยเท้า แค่ฝนตกลงมาก็ชะหายไปแล้ว เมื่อสัตว์ป่าผ่านมามันก็จะไม่ตกใจกลัว 

“เวลาคุณสวมรองเท้าคุณจะทะนงตัวและย่างก้าวอย่างไร้ความระมัดระวัง แต่เมื่อคุณเดินเท้าเปล่า คุณจะถ่อมตัวลง นั่นจะเปลี่ยนบุคลิกคุณด้วย ผมรู้สึกได้ว่าผมเคารพผู้อื่นมากขึ้นเมื่อเดินเท้าเปล่า ผมสวมรองเท้าเดินในสวนกาแฟมาก่อนนะ แต่ตอนหลังผมเปลี่ยนความคิด อีกอย่างคือคุณจะได้สัมผัสดินว่าดินสุขภาพดีมั้ย แน่นมั้ย ร้อนหรือเย็น”

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

จากหลายบรรทัดที่ผ่านมาคงทำให้รู้แล้วว่าเอโกะเป็นนักธุรกิจที่รู้จักธรรมชาติอย่างดียิ่ง ในขณะเดียวกันเขาก็เป็นเกษตรกรผู้เข้าใจโลกธุรกิจ

“ปราศจากการขาย ปราศจากการตลาด เราทำอะไรไม่ได้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่บนโลกที่เงินตราสำคัญ แต่เราประนีประนอม ให้ธุรกิจนี้ไม่ทำให้เราละโมบ เราหาหนทางในการสร้างความยั่งยืนด้วยการเพาะปลูก ไม่ทำลายธรรมชาติเพื่อเงิน และไม่ใช่ทำเพื่อตัวเองคนเดียว แต่ต้องแบ่งปันกับคนอื่น และรู้คุณของสิ่งที่เราได้มา

“ตลาดสำคัญมากนะ ถ้าปลูกกาแฟแล้วไม่มีคนดื่ม เราจะปลูกกันไปทำไม เรายังต้องการให้คนดื่มกาแฟ เราจึงยังต้องขาย และต้องมั่นใจด้วยว่าทุกคนในห่วงโซ่เข้าใจร่วมกันว่าเราไม่ได้หาเงินเพียงอย่างเดียว แต่เราจะได้รับผลตอบแทนหากเราทำงานหนักและช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และเงินเป็นเพียงรางวัลให้เราดำรงชีวิตต่อไป

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

“และสิ่งสำคัญในการทำกาแฟคือ เราต้องมองว่ากาแฟก็เหมือนมนุษย์เรา เหมือนสัตว์ เป็นสิ่งมีชีวิต เราต้องสืบทอดดีเอ็นเอ สร้างรุ่นถัดไป มนุษย์แต่งงานกันเพื่อสร้างคนรุ่นถัดไป ผลไม้ก็สร้างผลรุ่นถัดไปเหมือนกัน เมื่อกาแฟออกผล ถ้าคุณจะเก็บเกี่ยวไป คุณต้องเข้าใจก่อนว่าต้นกาแฟนั้นกำลังคลอดลูก คุณต้องมองว่าต้นกาแฟเหมือนแม่คน หลังจากคลอดลูก ต้องฟื้นฟูร่างกายรวมถึงดูแลลูก

“จากปรัชญาข้อนี้ทำให้เราเริ่มเพาะกล้ากาแฟ ถ้าเปรียบตัวผมเป็นต้นกาแฟ เมื่อผมออกผลแล้วเกษตรกรมาเก็บเกี่ยว แม้ไม่หมดต้น แค่เพียงปีละสิบเปอร์เซ็นต์เพื่อนำไปเพาะต้นกล้า ผมก็จะมีลูกชายลูกสาวของผม วันหนึ่งเมื่อผมตาย ผมก็ดีใจที่ยังมีผมรุ่นถัดไปอยู่”

To be Continued

จุดหมายปลายทางของคุณคืออะไร-เราถาม

“ตอนเราก่อตั้ง Klasik Beans Cooperative จุดประสงค์หลักของเราคือการรักษาป่าที่ราบสูงให้อยู่ไปอีกพันปี เราสอนคนหลายคนให้ช่วยบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ ให้คนรุ่นถัดไปช่วยรักษาป่าให้อยู่ต่อไปอีก” เอโกะตอบทันที

หลังจากที่วันหนึ่งเขาเคยเป็นผู้ฟัง ฟังผู้เฒ่าผู้แก่เล่าเรื่องในอดีต มาวันนี้ เอโกะ ปูร์โนโมวีดี กำลังครองบทบาทผู้เล่า เขาเดินทางไปเล่าเรื่องการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืนให้คนฟังทั่วโลก จัดทริปศึกษากาแฟในสวนกาแฟท้องถิ่น หรือจัดเวิร์กช็อปเรื่องกาแฟ ซึ่งคนในวงการกาแฟต่างยินดีที่จะเป็นผู้ฟัง ฟังปรัชญาการผลิตกาแฟเช่นชาว Klasik Beans Cooperative ที่ว่า ‘Nature produces coffee. Let’s keep nature natural.’

ผ่านมา 20 ปี หลังการเดินทางครั้งแรกของเอโกะ หลายหมู่บ้านหลายชนเผ่าในอินโดนีเซียที่เอโกะเดินทางไปถึงหันมาทำกาแฟพิเศษ ทำสวนผสม ปลูกกาแฟเพื่อรักษาดูแลธรรมชาติอย่างยั่งยืน บ้างก็ปลูกต้นไม้ปลูกกาแฟเพื่อเยียวยาผืนดินหลังไฟป่า เพื่อเป็นชีวิต เป็นลมหายใจ ให้ลูกหลานในวันข้างหน้า รวมถึงเป็นความสุขของคนปลายทางทุกคน และเอโกะก็ยังคงไม่หยุดเดินทาง…

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

นอกจากการทำงานหนักของเอโกะจะตอบแทนเขาด้วยมิตรภาพและรอยยิ้มของเพื่อนเกษตรกร ในปีนี้ การทำงานหนักเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของชาว Klasik Beans Cooperative ยังถูกตอบแทนด้วยรางวัล 2019 Rainforest Alliance Community Leadership Award เพื่อตอกย้ำจุดมุ่งหมายของพวกเขา

สำหรับเกษตรกรกาแฟ เรื่องราวที่เอโกะเล่าอาจทำให้คุณหันมาช่วยดูแลโลกด้วยการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน แต่สำหรับคอกาแฟ แค่อ่านเรื่องราวของเอโกะแล้วเข้าใจกาแฟตั้งแต่ต้นจนจิบและช่วยบอกเล่าต่อไป ชายคนนี้ก็คงยิ้มกว้างให้กับการแบ่งปันนี้แล้ว

Eko Purnomowidi ผู้ออกเดินทางไปรื้อศาสตร์เกษตรโบราณทั่วอินโดฯ เปลี่ยนสวนกาแฟเคมีเป็นป่ากาแฟ

“สำหรับผม ถ้าเราได้เจอกันแล้ว ผมเชื่อว่าคุณจะช่วยสานต่ออะไรอีกหลายอย่าง หลายปีก่อนผมไปประเทศญี่ปุ่น แล้วเพื่อนพาไปพบหมอดูทำนายชื่อในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ท่านให้ผมออกเสียงชื่อผมให้ฟัง แล้วจึงเขียนชื่อเอโกะเป็นตัวอักษรญี่ปุ่นและบอกว่า การพบเจอทุกครั้งในชีวิตของผมเป็นพร ไม่ใช่ผมอวยพรคนเหล่านั้น แต่คนที่มาเจอผมคือพร ตอนนั้นผมยังไม่เข้าใจ แต่ยิ่งผมทำงานในวงการกาแฟมากเข้า แบ่งปันความรู้กับเกษตรกรมากเข้า ผมจึงเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่่ท่านบอกผมคืออะไร ผมได้เรียนรู้จากคุณ คุณได้เรียนรู้จากผม นี่แหละที่เป็นพร”

The Cloud กำลังจะพาทุกท่านเดินทางไปเรียนรู้เรื่องการปลูกกาแฟเพื่อความยั่งยืนกับเอโกะ ปูร์โนโมวีดี และชาวเผ่าบาตัก ตัวต่อตัวที่ลินตง สุมาตราเหนือ ประเทศอินโดนีเซีย กับ The Cloud Journey 09 : Tribal Wisdom รับปี 2563 รับจำนวนจำกัดเพียง 8 คนเท่านั้น กรอกใบสมัครที่นี่ได้เลย

Writer

Avatar

ศกุนตลา แย้มปิ๋ว

นักเรียนวรรณคดีที่มักเรื่องอาหาร ท้องถิ่น วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การเดินทาง และเด็กจิ๋ว มีความฝันสามัญว่าอยากมีเวลาทำอาหารรสที่ชอบด้วยตัวเอง ตัวอยู่กรุงเทพฯ อัมพวา หรือเมืองกาญจน์ แต่ใจและภาพอินสตาแกรมอยู่ทุกที่ที่ไปเที่ยว

Photographer

Avatar

กิตติคุณ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

เติบโตที่เชียงใหม่ ชอบถ่ายภาพฟิล์ม รักงานภาพเคลื่อนไหว ดูหนังเป็นชีวิตจิตใจพอๆกับฟังเพลง และชอบตัวเองตอนออกเดินทางมากๆ