ซือเป็นแฟนคอลัมน์ Along the Railroad ของ แฮม-วันวิสข์ เนียมปาน เพราะแฮมเล่าเรื่องรถไฟสนุกดี จำได้ว่าแฮมเคยเขียนถึงข้าวราดแกงใส่กระทงใบตอง เล่าเรื่องอาหารการกินของชุมทางรถไฟแบบไทย ๆ

อ่านแล้วคิดถึงสมัยเด็ก ๆ ที่นั่งรถไฟลงใต้ ยังจำภาพพ่อค้าแม่ค้าขายของกินได้ติดตา ทั้งผ่านหน้าต่างและขึ้นมาขายบนรถไฟ กินเมนูอะไรจำไม่ได้ แต่ไม่ลืมบรรยากาศที่ได้นั่งกินพร้อมชมวิวสองข้างทางไปด้วย ก็สนุกและอร่อยไปตามประสาเด็กค่ะ

คอลัมน์ ‘อ่านอร่อย’ ประจำเดือนนี้จึงอยากเขียนเรื่องอาหารการกินบนรถไฟของวัฒนธรรมอื่น ๆ บ้าง ขอเริ่มด้วยประเทศยอดนิยมของคนไทยอย่างญี่ปุ่นก่อนนะคะ 

ตามประวัติศาสตร์ ผู้โดยสารรถไฟในญี่ปุ่นมีวิธีแก้หิวหลัก ๆ 2 วิธี (หากไม่ได้พกข้าวกล่องมาจากบ้าน) นั่นคือ ซื้อข้าวกล่องรถไฟหรือ Ekiben หรือใช้บริการตู้เสบียงค่ะ

การเดินทางกว่าร้อยปีของ Ekiben (ข้าวกล่องรถไฟ) และอาหารฝรั่งในตู้เสบียงรถไฟญี่ปุ่น
พ่อค้าเร่ขายข้าวกล่อง ปี 1972
ภาพ : katachiware.com.au

ข้าวกล่องรถไฟ หรือ Ekiben

‘Ekiben’ มาจากคำว่า Eki (สถานีรถไฟ) และ Bentō (ข้าวกล่อง) มีปริมาณสำหรับ 1 คนกิน และออกแบบให้เหมาะสำหรับกินในรถไฟที่กำลังแล่น และไม่ได้เป็นอาหารที่ร้อนจัดเหมือนเพิ่งยกลงจากเตา แต่จะกินที่อุณหภูมิห้อง (บางคนเรียกว่าเย็นชืด!) แต่เป็นความตั้งใจดีของผู้ผลิตข้าวกล่อง เพราะถ้าอาหารยังร้อน ๆ อยู่แต่เก็บรักษาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม อาหารอาจบูดได้ คนปรุงข้าวกล่องรถไฟจึงต้องพักอาหารทุกอย่างให้เย็นสนิทเสียก่อนค่ะ

อย่างไรก็ดี มีข้าวกล่องรถไฟบางเมนูในปัจจุบันที่มาพร้อมอุปกรณ์ทำความร้อน แต่ส่วนใหญ่ก็จะเสิร์ฟที่อุณหภูมิห้องและมาพร้อมอุปกรณ์ในการกิน เช่น ตะเกียบ ซองซีอิ๊วหรือวาซาบิ ซองสาหร่าย ผ้าเย็น ทุกอย่างห่อมาสวยงามในกระดาษที่เรียกว่า Kakegami ซึ่งกลายเป็นของสะสมแสนสวย

Ekiben แต่ละสถานีมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป โดยมักเลือกใช้วัตถุดิบที่มีชื่อเสียงประจำท้องถิ่น เช่น Ekiben ของเมือง Nagasaki ซึ่งเป็นเมืองท่าที่ติดต่อกับต่างชาติตั้งแต่ครั้งอดีต อาจจะมีชีส (ตัวแทนชาวดัตช์) รวมอยู่กับเทมปุระ (ตัวแทนชาวโปรตุเกส) และขนมจีบ (ตัวแทนชาวจีน) เรียงรายเคียงข้างอาหารญี่ปุ่นรายการอื่น ๆ Ekiben ของภูมิภาค Tohoku มักมีเนื้อวัวอร่อย ๆ เป็นส่วนประกอบ ส่วนอาหารทะเลสด ๆ ก็ใช้กันมากใน Ekiben ของแถบฮอกไกโด

การเดินทางกว่าร้อยปีของ Ekiben (ข้าวกล่องรถไฟ) และอาหารฝรั่งในตู้เสบียงรถไฟญี่ปุ่น
ภาพคุณลุงขายข้าวกล่องรถไฟ อายุ 75 ปี ไม่ทราบปีที่ถ่าย 
ภาพ : katachiware.com.au

รถไฟในญี่ปุ่นออกวิ่งเป็นครั้งแรกในปี 1872 ในเส้นทาง Shimbashi และ Yokohama สำหรับ Shimbashi ปัจจุบันคือย่านกินซ่าในโตเกียว แต่ในสมัยนั้นก็เป็นแหล่งของวัฒนธรรม ‘ตะวันตก’ เช่นร้านขายของแห้งบางอย่าง คาเฟ่ และร้านอาหาร ที่นำประสบการณ์การกินแบบใหม่มาให้ชาวเมืองโตเกียว (สมัยนั้น ชาวบ้านนอกโตเกียวยังไม่ค่อยมีโอกาสกินอาหารตามร้านมากนัก) นอกจากนั้น รถไฟยังนำข่าวสารใหม่ ๆ มาให้ชาวเมืองผ่านทางหนังสือพิมพ์และนิตยสารด้วยค่ะ เป็นที่มาของข้อมูลแฟชั่นใหม่ล่าสุดและความเจริญอื่น ๆ เช่น ผมบ๊อบ ชุดกระโปรงแบบฝรั่ง โต๊ะกินข้าว ไฟฟ้า จักรยาน และการเดินทางด้วยรถไฟ

อย่างไรก็ตาม ในยุคแรก ผู้โดยสารรถไฟยังไม่มีอะไรกินขณะเดินทาง เพราะเครื่องจักรไอน้ำทำให้มีคราบเขม่าติดในห้องโดยสาร แค่จะนั่งหลบควันดำยังลำบาก จึงยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องกิน หากจำเป็นต้องกิน ก็จะพกของกินจากบ้านมาเอง

แต่ในปี 1885 เป็นยุคแรกที่เริ่มมีการคิดนำอาหารว่างอย่าง Onigiri (ข้าวปั้นสามเหลี่ยม) ไว้สำหรับกินแก้หิวในรถไฟ และเชื่อกันว่าข้าวกล่องรถไฟกล่องแรกเริ่มมีในปี 1883 หรือ 1884 ขายที่สถานี Utsunomiya และแพร่หลายไปทั่วประเทศ

การเดินทางกว่าร้อยปีของ Ekiben (ข้าวกล่องรถไฟ) และอาหารฝรั่งในตู้เสบียงรถไฟญี่ปุ่น
สถานีรถไฟ Utsunomiya
ภาพ : katachiware.com.au
การเดินทางกว่าร้อยปีของ Ekiben (ข้าวกล่องรถไฟ) และอาหารฝรั่งในตู้เสบียงรถไฟญี่ปุ่น
ภาพถ่ายจากปี 1902 ผู้โดยสารเลือกซื้อข้าวกล่องที่นำมาขายถึงข้างตู้โดยสาร
ภาพ : www.us.emb-japan.go.jp

ในปี 1888 ข้าวกล่องรถไฟแบบ ‘เต็มยศ’ เริ่มวางจำหน่ายที่สถานี Himeji เป็นครั้งแรก ประกอบด้วย ข้าว ปลาย่าง เนื้อไก่ Kamaboko (เนื้อปลาบด) ไข่หวาน มันฝรั่งหวาน และผักดอง และเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว มีการคิดทำข้าวกล่องทั้งเมนูญี่ปุ่นและตะวันตก เมนูตะวันตกคือแซนด์วิชที่ทำกล่องเป็น 2 ชั้น ชั้นแรกใส่ขนมปังและเนย ชั้นสองใส่แฮม เนื้อย่าง และไข่ หรือบางทีไส้ในก็จะเป็นหมูชุบแป้งทอด ให้คนซื้อประกอบร่างกันเองเมื่อจะกิน ช่วงปลายทศวรรษ 1880 จนถึงปี 1900 ถือเป็นยุคเริ่มแรกที่รุ่งเรืองของวงการข้าวกล่องรถไฟ การแข่งขันระหว่างผู้ผลิตข้าวกล่องเป็นไปอย่างคึกคัก จนทางการต้องออกกฎในปี 1894 เพื่อควบคุมคุณภาพและกำหนดมาตรฐานทางสุขอนามัยของการผลิตข้าวกล่องค่ะ

ยุคทศวรรษ 1920 และ 1930 ที่ญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมในเมืองใหญ่ ๆ ทำให้ความต้องการแรงงานจากชนบทเพิ่มขึ้น แรงงานเหล่านี้จะนั่งรถไฟกลับบ้านเกิดในวันหยุด จึงทำให้ธุรกิจข้าวกล่องรถไฟเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้ผลิตเริ่มพยายามทำข้าวกล่องของตนให้โดดเด่นด้วยการใช้ของดีประจำถิ่นตามฤดูกาล เช่น ใช้เห็ดมัตสึทาเกะในข้าวกล่องฤดูใบไม้ร่วง ในฤดูใบไม้ผลิอาจมีดอกซากุระที่นำมาดองเค็มอยู่เป็นส่วนประกอบแสนอร่อยในข้าวกล่อง ไปนาโกย่า ต้องซื้อข้าวกล่องที่เด่นเรื่องผักดอง Morizuke

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ลากมาจนถึงยุคหลังสงคราม ยอดขายข้าวกล่องรถไฟตกลงเพราะคนไม่ค่อยเดินทาง แต่กลับมากระเตื้องขึ้นบ้างในปี 1952 แต่ยังเห็นร่องรอยจากสงครามอยู่ เช่น มีขนมปังมาแทนข้าว เพราะสหรัฐอเมริกาส่งข้าวสาลีมาญี่ปุ่นเยอะมาก (เพื่อเป็นการพยุงชีวิตฟาร์มข้าวสาลีในสหรัฐฯ) แต่หลังจากนั้นเพียงปีเดียวคือ 1953 ข้าวก็กลับมาได้รับความนิยมมากกว่าขนมปัง

ธรรมเนียมของชาวญี่ปุ่น คือแม้จะกินกันโต้ง ๆ ให้ผู้โดยสารที่นั่งตรงข้ามเห็น แต่คนญี่ปุ่นจะ ‘ทำเป็นไม่เห็น’ ต่างคนต่างกินกันไป ไม่มีการบอกว่าไก่ทอดคุณน่าอร่อยจัง และเมื่อกินเสร็จ คนญี่ปุ่นที่มีวัฒนธรรมอันดีก็จะพับกล่องและเก็บตะเกียบ เก็บซองซอสต่าง ๆ ใส่กล่องอย่างเรียบร้อย เตรียมนำไปทิ้งในถังขยะ

การเดินทางกว่าร้อยปีของ Ekiben (ข้าวกล่องรถไฟ) และอาหารฝรั่งในตู้เสบียงรถไฟญี่ปุ่น
ผู้โดยสารซื้อข้าวกล่อง ช่วงทศวรรษ 1960
การเดินทางกว่าร้อยปีของ Ekiben (ข้าวกล่องรถไฟ) และอาหารฝรั่งในตู้เสบียงรถไฟญี่ปุ่น
การขายข้าวกล่องที่สถานี Toyama ไม่ทราบปีที่ถ่าย 
ภาพ : katachiware.com.au

ตู้เสบียง

รถไฟญี่ปุ่นเริ่มให้บริการมาตั้งแต่ปี 1872 แต่ช่วงกลางคืนยังวิ่งกันมืด ๆ ต้องรอจนถึงปี 1897 โน่นแหนะค่ะถึงมีการจุดไฟส่องสว่างภายในตู้โดยสาร

สมัยนั้น พนักงานจุดไฟจะขึ้นรถไฟจากสถานีที่กำหนด และตั้งโคมไว้ในแต่ละตู้ พอรถไฟแล่นไปถึงสถานีใหม่ในตอนเช้า จะมีพนักงานมาเก็บโคมไป ในยุคแรก โคมได้พลังงานจากเครื่องปั่นไฟ ต่อมาจึงใช้เป็นแบตเตอรี่ค่ะ

พอมีแสงสว่างภายในตู้โดยสารแล้ว การทำอาหาร เสิร์ฟอาหาร จึงพอเป็นไปได้ ประวัติศาสตร์ของตู้เสบียงในรถไฟญี่ปุ่นจึงเริ่มขึ้นในปี 1899 บนเส้นทาง Kyoto-Mitajiri (สถานี Mitajiri ปัจจุบันคือสถานี Hofu) เฉพาะผู้โดยสารชั้น 1 กับชั้น 2 เท่านั้นจึงจะใช้บริการตู้เสบียงได้ โดย Merry White นักประวัติศาสตร์อาหารญี่ปุ่นระบุว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนยุคก่อนคิดกันว่า กิริยามารยาทที่ไม่สู้งามของผู้โดยสารชั้น 3 อาจสร้างความรำคาญใจให้แก่ผู้โดยสารชั้น 1 และ 2

ในยุคแรกของการดำเนินกิจการตู้เสบียง มีเพียงอาหารแบบตะวันตกให้บริการ เพราะจัดเก็บและจัดทำง่ายกว่าอาหารญี่ปุ่นที่รายละเอียดเยอะกว่า โดยเสิร์ฟบนโต๊ะตัวยาว มีเก้าอี้ซ้ายขวาฝั่งละ 5 ตัว แต่ในปี 1901 (อีกแหล่งข้อมูลระบุว่าปี 1906) ผู้โดยสารชั้น 3 จึงมีโอกาสใช้บริการตู้เสบียงเป็นครั้งแรก และมีอาหารแบบญี่ปุ่นเสิร์ฟด้วย ที่นั่งออกแบบให้เป็นเคาน์เตอร์ยาวที่หันหน้าออกสู่หน้าต่าง กินไปชมวิวไปสบายใจ

การเดินทางกว่าร้อยปีของ Ekiben (ข้าวกล่องรถไฟ) และอาหารฝรั่งในตู้เสบียงรถไฟญี่ปุ่น
บรรยากาศตู้เสบียงในปี 1905 
ภาพ : www.ejrcf.or.jp

บริษัทที่ให้บริการอาหารในตู้เสบียงรถไฟคือ Nippon Shokudo ที่เกิดจากการรวมตัวของบริษัทเล็ก ๆ 6 บริษัท ในปี 1938

คุณ Terunobu Utsunomiya อดีตพ่อครัวตู้เสบียง เล่าถึงบรรยากาศการทำงานของพนักงานตู้เสบียงไว้ในนิตยสาร Japan Railway & Transport Review (ตีพิมพ์เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2012) ว่า เขาทำงานเป็นพ่อครัวตู้เสบียงตั้งแต่อายุ 19 ทำอยู่นานถึง 35 ปี และแต่งงานกับเพื่อนร่วมงานสาวสวยที่พบกันบนรถไฟขบวนด่วนพิเศษ เขาใช้เวลาอยู่บนรถไฟมากกว่าบ้าน ปัจจุบันนี้เขาเปลี่ยนบทบาทไปทำงานที่ Kyushu Railway History Museum มีหน้าที่ดูแลขบวนรถไฟที่เป็นความทรงจำแสนดีของชีวิต และเล่าเรื่องราวในอดีตให้ผู้เยี่ยมชมฟังค่ะ

คุณ Utsunomiya เล่าเกร็ดน่าสนใจไว้ว่า อาหารที่นำขึ้นรถไฟมาจะถูกปรุงมาแล้วในระดับหนึ่งจากครัวกลาง ไม่ได้มาปรุงใหม่ทั้งหมดบนรถไฟ กระทะทอดที่ใช้ในตู้เสบียงจะงุ้มตรงขอบ เพื่อเวลาเขย่ากระทะ น้ำมันจะได้ไม่กระเด็น กระทะและหม้อที่ใช้ก็จะมีปากแคบกว่าที่ใช้กันอยู่ตามบ้าน เพื่อกันไม่ให้อาหารหก ส่วนตู้เก็บข้าวของก็จะมีราวกั้นเพื่อไม่ให้ของหล่นลงมาขณะรถไฟวิ่ง เวลาต้มเส้นพาสต้า พนักงานจะปิดหม้อไว้ด้วยจานใบใหญ่เพื่อไม่ให้น้ำเดือดล้นออกมา

การเดินทางกว่าร้อยปีของ Ekiben (ข้าวกล่องรถไฟ) และอาหารฝรั่งในตู้เสบียงรถไฟญี่ปุ่น
คุณ Teranobu Utsunomiya ในเครื่องแบบพ่อครัวตู้เสบียง
ภาพ : Japan Railway & Transport Review

บางครั้งน้ำมันกระเด็นจนติดไฟ บนตู้เสบียงจึงมีทั้งอุปกรณ์ดับเพลิงและทราย เขาเล่าว่าครั้งหนึ่งเกิดไฟไหม้ ต้องช่วยกันโยนกระสอบทรายเพื่อดับไฟ รุ่นพี่ในครัวจะสอนรุ่นน้องต่อ ๆ กันไป เพราะครัวตู้เสบียงนั้นแตกต่างจากครัวร้านอาหารทั่วไปตรงที่เล็กกว่ามาก จึงมีเคล็ดไม่ลับหลายอย่างเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและปลอดภัย

เขายังเล่าถึงชีวิตประจำวันในช่วงแรกไว้ว่า หน้าที่แรกคือเป็นพ่อครัวตู้เสบียงของรถไฟสาย Unzen Express วิ่งระหว่างเมือง Nagasaki และ Kyoto โดยเริ่มงานเวลา 08.00 น. ที่ครัวกลาง เขาจะเช็กความเรียบร้อยของมีดประจำตัว และเตรียมเครื่องปรุงต่าง ๆ เช่น แกงกะหรี่ ซอส Demi-glace สำหรับขนขึ้นรถไฟ เช็กเครื่องปรุง เช่น ซีอิ๊ว พริกไทย ผักสลัด ผักต้ม พาสต้า เนื้อสัตว์ต่าง ๆ รวมถึงอุปกรณ์อย่างตะเกียบ ผ้าเช็ดปาก ผ้าปูโต๊ะ นอกจากนี้ยังต้องล้างผัก ซาวข้าวเตรียมไว้ให้ทันเวลารถไฟมา พอขึ้นรถไฟปุ๊บก็หุงข้าว 2 หม้อสำหรับเสิร์ฟประมาณ 30 ที่ ตามด้วยเตรียมอุ่นซุปและซอส ต้มผักต่าง ๆ หั่นแฮมและขนมปังสำหรับทำแซนด์วิช ส่วนกาแฟนั้นก็ต้มกันในรถเสบียง ไม่ได้ต้มมาจากครัวกลาง

พอผู้โดยสารขึ้นรถไฟเรียบร้อย ได้เวลารถไฟจะต้องออกจากสถานี นายสถานีจะเป่านกหวีดเป็นสัญญาณ เหล่าพนักงานรถไฟซึ่งมีทั้งคนขับ พนักงานตู้เสบียง วิศวกร จะออกมายืนเรียงแถวเพื่อโค้งให้พนักงานประจำสถานี ก่อนรีบกลับไปทำงานต่อ

คุณ Utsunomiya กล่าวว่า นี่คือได้เวลาที่ตู้เสบียงจะ ‘เปิดร้าน’ หลังจากพนักงานประกาศสถานีที่รถไฟจะวิ่งผ่าน ก็เป็นเวลาที่พนักงานตู้เสบียงจะประกาศบ้าง โดยจะระบุเมนูประจำวันที่มี ลูกค้าก็จะเริ่มทยอยกันมา อาหารเซตมักจะเป็นชุดสเต๊ก ชุดอาหารกลางวัน A และ B และมีเมนูตามสั่งให้เลือก เช่น สปาเกตตี ข้าวแกงกะหรี่ และแซนด์วิช มีชุดอาหารญี่ปุ่นประจำวันและอาหารยอดนิยมอย่างข้าวหน้าปลาไหลย่าง กุ้งชุบแป้งทอด และแฮมเบอร์เกอร์ โดยเป็นอาหารที่ทำร้อน ๆ ตามสั่ง (ไม่เหมือนข้าวกล่องรถไฟที่จะไม่ร้อน)

สิ่งที่อ่านเรื่องเล่าของคุณ Utsunomiya แล้วอยากเห็นภาพ คือเขาบอกว่าเครื่องปรุงและวัตถุดิบต่าง ๆ มีจำกัด วันไหนลูกค้าเยอะ ของก็จะหมด แต่แทบเติมของระหว่างทางไม่ได้เลย วิธีแก้ปัญหา คือพ่อครัวตู้เสบียงจะเขียนโน้ตมัดไว้กับแคร์รอต มันฝรั่ง หรืออะไรก็ตามที่หาได้ (โดยอาจเป็นข้อความว่า ‘กะหล่ำปลี 2 กิโล’ หรือ ‘แกงกะหรี่ 20 ที่’) แล้วโยนให้พนักงานสถานีถัดไปเมื่อรถไฟใกล้ถึงสถานี พนักงานสถานีจะเข้าใจและรีบติดต่อครัวกลางของ Nippon Shokudo เพื่อให้รีบส่งของมาให้ทันรถไฟไปถึงสถานีถัดไป

การเดินทางกว่าร้อยปีของ Ekiben (ข้าวกล่องรถไฟ) และอาหารฝรั่งในตู้เสบียงรถไฟญี่ปุ่น
เหล่าพนักงานตู้เสบียง ขบวนรถด่วน Kirishima Limited Express ปี 1972
ภาพ : Japan Railway & Transport Review

ตู้เสบียงจะปิดบริการเวลา 23.00 น. แต่ลูกค้าที่ชอบนั่งดื่มอาจอ้อยอิ่งอยู่จน 23.30 น. หลังจากนั้นพนักงานจะเคลียร์โต๊ะ และเริ่มเตรียม ‘อาหารเย็น’ ให้พนักงานรถไฟทุกคน กว่าจะกินข้าวและเก็บล้างกันหมดเรียบร้อยก็ปาเข้าไป 01.30 น. หลังจากนั้นเหล่าคนตู้เสบียงจะงีบเอาแรง โดยจัดเก้าอี้เรียงติดกัน 6 ตัวเพื่อเป็นเตียงนอนของพนักงาน 2 คน

ได้นอนราว 2 ชั่วโมงก็ต้องตื่น เพราะตี 3 ครึ่ง รถไฟมาถึง Hiroshima ได้เวลาเติมน้ำและข้าวของต่าง ๆ บรรดาพ่อครัวก็ต้องเริ่มเตรียมอาหารเช้า ต้มกาแฟ ทำแซนด์วิช หุงข้าว ต้มซุปมิโสะไว้เสิร์ฟพร้อมอาหารเช้าแบบญี่ปุ่น (มักเป็นข้าวกับปลาแซลมอนย่าง) ที่ต้องทำเตรียมไว้อย่างน้อย 60 ที่ เมื่อขายไปได้สัก 40 ที่ จึงจะเริ่มทำเติมใหม่

สำหรับอาหารเช้าแบบตะวันตก เขาต้องเตรียมสไลซ์หมูแฮม เตรียมไข่และขนมปังปิ้ง เสิร์ฟกับน้ำส้มหรือน้ำมะเขือเทศ และชาหรือกาแฟ

สมัยทำงานในตู้เสบียง พอว่างจากงาน เขาจะฝึกเขย่าอาหารในกระทะ โดยใช้ข้าวสารกับไม้ขีดไฟเพื่อซ้อมมือ หากมีเวลาว่างก็จะหัดทำเครื่องปรุงต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐานของการทำงานในครัว เช่น ทำซอสขาว ทำแกงกะหรี่ ทำมายองเนส แฮมเบอร์เกอร์ เพราะเป็นเมนูยอดนิยมของตู้เสบียงด้วย

ประวัติศาสตร์กว่าร้อยปีของ Ekiben (ข้าวกล่องรถไฟ) และตู้เสบียงในรถไฟญี่ปุ่นที่ยุคแรกมีแต่อาหารตะวันตกเท่านั้น
เซตอาหาร Hikari B ซึ่งเป็นหมูชุบแป้งทอดราดซอส Béarnaise เสิร์ฟกับขนมปัง ซุป สลัด และชาหรือกาแฟ 
ภาพ : Japan Railway & Transport Review

ในช่วงสงครามโลกครั้ง 2 ที่ญี่ปุ่นต้องปันส่วนอาหารตามนโยบายรัฐบาล ขนมปังของตู้เสบียงทำจากแป้งสาลีผสมกับวัตถุดิบอื่น ๆ เช่น ผักตากแห้ง ใบหม่อนตากแห้ง อาหารปลา เปลือกส้ม ใบพลับ ส่วนข้าวที่เป็นอาหารหลักก็หนีไม่พ้น ต้องผสมวัตถุดิบอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

ประวัติศาสตร์กว่าร้อยปีของ Ekiben (ข้าวกล่องรถไฟ) และตู้เสบียงในรถไฟญี่ปุ่นที่ยุคแรกมีแต่อาหารตะวันตกเท่านั้น
คุณ Utsunomiya ในเครื่องแบบพ่อครัวตู้เสบียง ถ่ายกับรถไฟขบวน Hakucho ในปี 1972
ภาพ : Japan Railway & Transport Review
ประวัติศาสตร์กว่าร้อยปีของ Ekiben (ข้าวกล่องรถไฟ) และตู้เสบียงในรถไฟญี่ปุ่นที่ยุคแรกมีแต่อาหารตะวันตกเท่านั้น
Freddie Mercury นักร้องชื่อดังวง Queen กินข้าวกล่องรถไฟเมื่อวง Queen มาทัวร์คอนเสิร์ตที่ญี่ปุ่น ปี 1982
ภาพ : reddit.com

Ekiben หรือข้าวกล่องรถไฟ แม้จะมีช่วงขึ้น ๆ ลง ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่เมื่อเทียบกับบริการตู้เสบียงที่ล้มหายตายจากไปแล้ว จะเห็นว่าข้าวกล่องรถไฟยังคงได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลายในปัจจุบัน กลายร่างจากของกินแก้หิวสำหรับคนเดินทาง มาเป็น Dining Experience ประสบการณ์กินข้าวบนรถไฟที่ใคร ๆ ก็หลงรัก เพียงเลือกซื้อข้าวกล่องที่ชอบก่อนขึ้นรถไฟ เปิดกินไปชมวิวไประหว่างทาง ?

อีกทั้งยังมีความจริงข้อที่ว่า ตู้เสบียงบนรถไฟทำเมนูได้จำกัดมาก ๆ ย่อมเทียบไม่ได้กับการผลิตข้าวกล่องจากนอกรถไฟที่ทำได้เป็นร้อยเป็นพันแบบ แล้ววางขายให้คนเลือกซื้อก่อนขึ้นรถไฟ ที่สถานีโตเกียวถึงกับมีร้านขาย Ekiben ชื่อ ‘Ekibenya Matsuri’ เปิดเป็นการถาวร รวบรวมข้าวกล่องสุดพิเศษจากท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วญี่ปุ่นมาให้เลือกสรร

มีคำกล่าวว่า Ekiben กลายเป็น Portable Destination หรือจุดหมายที่พกพาไปด้วยได้ เพราะของอร่อยต่าง ๆ ในอาหารกล่องนั้นล้วนเป็นตัวแทนที่บอกเล่าเรื่องราวอันโดดเด่นของท้องถิ่น และเป็นไฮไลต์หนึ่งของการเดินทางท่องเที่ยวหรือเดินทางไปทำงานด้วยรถไฟในญี่ปุ่นนั่นเองค่ะ

ประวัติศาสตร์กว่าร้อยปีของ Ekiben (ข้าวกล่องรถไฟ) และตู้เสบียงในรถไฟญี่ปุ่นที่ยุคแรกมีแต่อาหารตะวันตกเท่านั้น
ภาพ : blog.japanwondertravel.com

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม