The Cloud x ไทยประกันชีวิต

แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

เกือบสองปีที่ผ่านมา ชื่อของ ‘เอี่ยมดี รีไซเคิล’ และ โดม-สัมพันธ์ เณรรอด กลายเป็นชื่อธุรกิจเพื่อสังคมและผู้ก่อตั้งบริการจัดการขยะเดลิเวอรี่ในจังหวัดเชียงใหม่ที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด ภาพรถเก็บขยะสีเหลืองที่วนเวียนอยู่ในแถบจังหวัดเชียงใหม่ กลายเป็นภาพจำอย่างหนึ่งของเมืองนครพิงค์ที่ชัดเจนถึงความพยายาม ‘ช่วยโลก’ ให้ดีขึ้นท่ามกลางกระแสรักษ์โลกที่ดูฉาบฉวย

โดม-สัมพันธ์ เณรรอด, เอี่ยมดี รีไซเคิล บริการจัดการขยะรีไซเคิล ที่ทำให้การจัดการขยะในท้องถิ่นเป็นเรื่องง่ายและยั่งยืน

อย่างที่เราพอรู้กันบ้างว่าโดมคืออดีตโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์มือฉมัง เขาไต่เต้าจนขึ้นไปอยู่บนจุดสูงสุดของอาชีพ ตัดสินใจลาออกจากงานที่ใครหลายคนใฝ่หา เขาเลือกทิ้งรายได้หลักแสน รวมทั้งความก้าวหน้าและความท้าทายในอาชีพเพื่อเปลี่ยนเส้นทางอาชีพของตน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฮือฮาในพื้นที่สื่ออย่างมาก

หลายคนอาจพอเดาตอนจบได้ว่าเรื่องนี้คงเป็นแค่กระแสฉาบฉวยตามการหมุนของโลกโลกาภิวัฒน์ แล้วเขาก็คงล้มเลิกความตั้งใจในที่สุด แต่เราเสียใจด้วยที่เอี่ยมดี รีไซเคิล ไม่ได้มีบทสรุปแบบนั้น 

โดมใช้เวลาเรือนปีในการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจของเขา จากซาเล้งจัดการขยะที่ต้องรับซื้อขยะด้วยเงินส่วนตัวเพียงอย่างเดียว วันนี้เอี่ยมดีต่อยอดธุรกิจไปถึงศูนย์รวมหนังสือและร้านจำหน่ายของใช้มือสองอย่าง ‘เอี่ยม Book’ และ ‘เอี่ยมอิ่มใจ’ ซึ่งสิ่งของและสินค้าทั้งหมดในร้านได้รับบริจาคเข้ามาต่อเนื่อง เพื่อนำไปวางขายเป็นของมือสองที่หน้าร้านของเขา และนำไปบริจาคให้กับน้องๆ ที่ต้องการหนังสือคุณภาพดีและสิ่งของที่ช่วยเติมเต็มความสุขให้กับคนเหล่านั้น

ฉัน-พลเมืองเชียงใหม่โดยกำเนิด ยืนอยู่หน้าบ้านเอี่ยมดีในอำเภอหางดง อันเป็นฐานบัญชาการหลักของโดม บ้านชั้นเดียวของเขายังมีรถสีเหลืองคันเดิมที่เราเคยเห็นในหน้าโซเชียลหรือไวรัลวิดีโอตามเพจต่างๆ จอดอยู่หน้าบ้าน เพิ่มเติมด้วยของมือสอง ตั้งแต่หนังสือ เสื้อผ้า ตุ๊กตา เฟอร์นิเจอร์ และของบริจาคจำนวนมากเรียงรายอยู่หน้าบ้านและในตัวบ้านชั้นเดียวของเขา

เอี่ยมดี รีไซเคิล บริการจัดการขยะรีไซเคิล ที่ทำให้การจัดการขยะในท้องถิ่นเป็นเรื่องง่ายและยั่งยืน
เอี่ยมดี รีไซเคิล บริการจัดการขยะรีไซเคิล ที่ทำให้การจัดการขยะในท้องถิ่นเป็นเรื่องง่ายและยั่งยืน

“ทุกวันนี้บ้านผมแทบไม่มีที่นอนอยู่แล้ว” โดมพูดติดตลกกับฉัน

การทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมทำเงินเป็นเรื่องยากมากจนแทบเป็นไปไม่ได้ เรื่องนี้คงไม่มีใครปฏิเสธ และประโยคดังกล่าวก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นสำหรับโดมและเอี่ยมดี รีไซเคิล แต่กว่าที่ชายคนหนึ่งเลือกจะเปลี่ยนโลกด้วยการจัดการขยะ จนค้นพบคำตอบที่เป็นผลบวกทั้งในทางธุรกิจและความสุขทางใจยังไม่จบแค่นี้

เพราะโดมบอกฉันตลอดบทสนทนานี้ว่า เอี่ยมดี รีไซเคิล มีเรื่องให้เรียนรู้ระหว่างทางอีกมาก

01 

มองเห็นโอกาส จากการขาดโอกาส

“ผมเป็นลูกชาวนา” โดมเริ่มบทสนทนาด้วยการเล่าปูมหลังในชีวิตของเขา

การเป็นลูกชาวนาของโดมทำให้เขาต้องทำงานหนักแต่เด็ก ต้องรับจ้างเกี่ยวข้าว ทำนา หรือทำงานเสริมอื่นๆ อีกสารพัด ชีวิตในวัยเด็กของโดมทำให้เขาเข้าใจถึงความลำบากของชนชั้นกรรมาชีพที่ต้องลงแรงหนัก เพื่อหาเงินอันน้อยนิดมาประทังชีวิต 

โดยหนึ่งในอาชีพเหล่านั้น คือคนขับรถซาเล้งหรือคนเก็บขยะ

“ภาพจำของคนเก็บขยะในความคิดของคุณเป็นยังไง” ฉันถามชายหนุ่มในเสื้อแจ็กเก็ตเหลืองตรงหน้า

“ผมคิดว่าพวกเขาทำอาชีพที่ช่วยเหลือเมือง ช่วยเหลือชุมชนและพื้นที่ต่างๆ ถึงแม้ว่าภาพลักษณ์ของอาชีพมันไม่น่าทำ มันดูสกปรก แล้วเขาไม่รู้ด้วยว่าจะได้เงินได้ทองมากน้อยยังไง แถมยังอันตรายเพราะต้องเอามือไปอยู่กับขยะ 

แต่ผมคิดอีกมุมหนึ่งว่า ก่อนหน้านี้ที่เรายังไม่มีกระแสเรื่องรีไซเคิลหรือการจัดการขยะกันอย่างจริงจัง เขาไม่มีสวัสดิการอาชีพอย่างพวกเรา เขาไม่มีเงินเดือน ทำมากได้มาก ทำน้อยก็แทบไม่ได้อะไรเลย ผมเลยรู้สึกว่ามันเป็นอาชีพที่เขาอยู่ในฐานะคนที่ช่วยเหลือคนอื่นอยู่ เราก็ไม่น่าจะละเลยเขา” 

ในช่วงที่โดมอยู่ในวัยนักศึกษา โดมในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นนักกิจกรรมตัวยงที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในห้องสโมสรนักศึกษาถึงดึกดื่น มีบางครั้งที่เขานอนค้างในห้องชมรมมหาวิทยาลัย ทำให้เขาเห็นเจ้าหน้าที่เก็บขยะหรือกวาดถนนในมหาวิทยาลัยที่ต้องทำงานตั้งแต่เช้ามืดและได้พูดคุยกับคนเหล่านั้น บทสนทนาเหล่านั้นทำให้ความคิดของโดมถูกต้องในความรู้สึกมากเข้าไปอีก

“ผมรู้สึกว่าคนพวกนี้โคตรเสียสละเลย เขายิ่งกว่าแม่บ้านอีกนะ เพราะบางทีแม่บ้านอาจทำงานในที่ร่ม แต่คนเหล่านี้ทำงานตากแดดตากฝน ทำให้ผมรู้สึกว่า ถ้ามีอะไรที่ผมช่วยได้ ผมก็อยากช่วย” โดมทบทวนความทรงจำเหล่านั้นให้ฉันฟัง

โดม-สัมพันธ์ เณรรอด

02

ความเข้าใจระหว่างทาง

หลายปีให้หลัง โดมตัดสินใจขึ้นสู่พื้นที่สูงของประเทศเพื่อเป็นครูในโรงเรียนชาวเขาแห่งหนึ่ง ก่อนกลับสู่มหานครเพื่อเข้าสู่วงการสื่อสารมวลชน ด้วยการเป็นครีเอทีฟในบริษัทโปรดักชันเฮาส์ใหญ่ชื่อดังระดับประเทศ ช่วงชีวิตที่โลดแล่นในเส้นทางการผลิตสารคดีโทรทัศน์ที่เล่าเรื่องผู้คนและกระบวนการสร้างงานต่างๆ ทำให้โดมเริ่มสังเกตชีวิตของคนเก็บขยะมากขึ้น ทั้งในเชิงวิถีชีวิต รายละเอียด และกระบวนการเก็บขยะในแต่ละวัน โดมสังเกตรายละเอียดเหล่านั้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มเข้าใจในวิธีการจัดการขยะของพื้นที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

“ยกตัวอย่างตอนที่ผมเคยไปถ่ายงานที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย จริงๆ ตอนนั้นผมไปทำสารคดีเรื่องเมืองจักรยาน แทนที่จะถ่ายงานเพื่อเอางานกลับมาอย่างเดียว ผมสังเกตผู้คนในเมืองว่ากำจัดขยะยังไง เขาทิ้งขยะที่ไหน หรือจัดการขยะในครอบครัวกันยังไง เหมือนเราซ้อนวิธีการเหล่านั้นเข้าไป แล้วเอาเจตนาของเราทาบลงไป พอเราทำแบบนี้ปุ๊บ มันทำให้ทุกที่ที่เราไป เรารู้เรื่องการจัดการขยะทันทีเลย เราไปพื้นที่หนึ่ง เราจะรู้วิธีการแบบหนึ่ง พอไปอีกพื้นที่หนึ่ง มันก็จะกลายเป็นคนละวิธีการ คนละหลักคิดกันเลย” 

โดมเล่าถึงการเรียนรู้วิธีจัดการขยะผ่านสายตาคนสารคดีโทรทัศน์ให้ฉันฟัง เขาสนใจเรื่องนี้มากถึงขั้นใช้เวลาสุดสัปดาห์ลงไปศึกษาวิธีการจัดการและคัดแยกขยะกับคนเก็บขยะและร้านรับซื้อของเก่าโดยตรง จนทำความเข้าใจกับมันโดยลึกซึ้ง

เอี่ยมดี รีไซเคิล บริการจัดการขยะรีไซเคิล ที่ทำให้การจัดการขยะในท้องถิ่นเป็นเรื่องง่ายและยั่งยืน
เอี่ยมดี รีไซเคิล บริการจัดการขยะรีไซเคิล ที่ทำให้การจัดการขยะในท้องถิ่นเป็นเรื่องง่ายและยั่งยืน

แต่ห้วงความคิดนั้นเกิดขึ้นเมื่อโดมอายุ 35 ปี

คนวัยทำงานอย่างโดมที่มีความมุ่งมาดปรารถนาอยากทำงานกับขยะอย่างลึกซึ้ง กำลังเดินทางอยู่บนเส้นทางที่โรยไปด้วยกลีบกุหลาบในวงการโปรดักชัน ถึงขนาดที่โดมบอกฉันว่า เขาอยู่ในจุดสูงสุดของอาชีพแล้ว แต่อย่าลืม ยิ่งสูง ยิ่งหนาว 

นั่นคือการตัดสินใจที่เขาคิดอยู่นานกว่า 4 ปี ก่อนจะลาออกจากงานประจำเพื่อเปลี่ยนเส้นทางเดินที่ฉีกออกไปจากสิ่งที่เขาเป็นโดยสิ้นเชิง

“เป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดในช่วงวัยสามสิบห้าปีครับ ประกอบกับช่วงนั้นผมสร้างบ้านพักที่ต้องดูแลเด็กกำพร้าปีละกว่าสิบคน ดูแลผู้ป่วยและผู้พิการ ถ้าไปทำงานที่ไม่ได้รายได้สูงเท่าที่เคย มันจะอยู่ไม่ได้ เลยเป็นการสำรวจตัวเองที่ค่อนข้างหนักหน่วงว่า ถ้าได้เงินอย่างเดียวแต่ไม่ได้ช่วยคนอื่นด้วย เราจะไม่ทำ

“อีกเหตุผลหนึ่ง คือผมเลือกทำเรื่องการจัดการขยะเพราะเห็นโอกาสทั้งการสร้างรายได้ และได้ช่วยเหลือผู้อื่น เพราะมันต้องเป็นจริงทั้งเชิงสังคมและธุรกิจ ถ้าผมกลับไปทำโปรดักชันอีก ผมคิดว่าก็คงต้องอยู่ในพื้นที่เดิมๆ ต่อให้มันเปลี่ยนแปลงยังไง มันก็ยังอยู่ในสไตล์แบบเดิม แน่นอนว่ามันไม่ง่าย เพราะมีทั้งเสียงคัดค้านจากคนอื่นและเสียงค้านจากตัวเอง” โดมอธิบาย

โดม-สัมพันธ์ เณรรอด

03

ความเสี่ยงกับกองขยะ

โดมย้ำคำเดิมกับฉันว่า การทำงานเกี่ยวกับการจัดการขยะเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากทั้งในแง่สุขภาพและรายได้ที่มั่นคง เพราะเพื่อนพ้องน้องพี่และผู้ใหญ่ในวงการที่โดมเคารพต่างเป็นห่วงถึงการเปลี่ยนงานที่ฉีกไปจากงานเดิมที่เขาทำได้ดีมากๆ อยู่แล้ว แต่เขาก็ไม่ได้ตัดสินใจที่จะลาออกทันที เพราะเขาทดลองทำก่อนจนเห็นความเป็นไปได้ว่า การสร้างธุรกิจนี้ทำได้จริง

“ผมใช้มอเตอร์ไซค์เก่าๆ คันหนึ่งติดพ่วงข้างออกไปรับขยะ เพื่อให้รู้ว่ามันมีกี่ประเภท ต้องแยกยังไง ต้องจัดการยังไง ผมใช้เวลาทดลองทำมาสองปี ในขณะที่ผมก็ยังทำงานอยู่ คือทำงานวันธรรมดา ส่วนเสาร์-อาทิตย์ ไปเก็บขยะ แล้วก็เรียนรู้วิธีการและองค์ความรู้จากคนที่อยู่ในอาชีพนี้ แล้วมันก็หมุนมาเรื่องคนเก็บขยะ เรื่องการจัดการของงานรับซื้อของเก่า เพื่อที่จะให้มองให้เห็นโอกาส มองเข้าไปในปัญหาว่าเราเห็นโอกาสอะไรอยู่บ้างและไปให้ถึงจุดนั้น 

“ถ้าจะไปทำแบบซาเล้งเหมือนเก่าก็จะขาดเรื่องภาพลักษณ์ เรื่องแบรนด์ ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ มันก็เลยเป็นจุดที่ผมเรียนรู้ว่า น่าจะเป็นรถบริการกำจัดขยะ ถึงแม้สิ่งที่แม้คนจะทัดทานยังไง เราก็ใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนามองมัน แล้วก็ทดลองกับมันก่อน เพื่อให้เห็นโอกาสตรงนั้น ปัญหาก็เห็นตรงนั้น โอกาสก็เห็นตรงนั้นแหละ”

“แล้วทำไมต้องเป็นเชียงใหม่” ฉันถามด้วยความสงสัยในฐานะเจ้าถิ่น

โดม-สัมพันธ์ เณรรอด

“ก่อนหน้าสักสิบปี ผมได้มาทำงานอยู่ในเชียงใหม่ มันเป็นเมืองใหญ่ เลยมีอีเวนต์ มีห้างร้านเยอะแยะไปหมด ในความเป็นเมืองทำให้มีขยะเยอะ แต่ผู้เล่นทางธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการขยะก็น้อย ผมเลยคิดว่านอกจากบ้านเกิดเราที่อุตรดิตถ์ เราควรจะมาเริ่มต้นธุรกิจนี้ในพื้นที่ที่เรารู้จักดีที่สุด พอเริ่มแล้วทุกอย่างมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ 

“จริงๆ แล้วธุรกิจเรายังต้องไปผูกโยงกับปริมาณขยะของเมืองหรือจิตใจของผู้คนเยอะมาก เรื่องของเอี่ยมดีจึงเป็นธุรกิจที่ต้องเริ่มจากเมืองที่มีความพร้อม ความพร้อมในที่นี้หมายถึงว่ามีขยะเยอะ กิจกรรมของเมืองเยอะ และผู้คนที่ใจดีเยอะๆ”

เมื่อตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะลาออกจากงานและย้ายรกรากมาที่เมืองเชียงใหม่ โดมจึงเริ่มขับรถเก็บขยะสีเหลืองซึ่งกลายเป็นภาพจำของเอี่ยมดี รีไซเคิล ตระเวนไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วจังหวัด ปัญหาที่โดมเจออีกเรื่องคือเรื่องรายรับ เพราะการขายขยะให้กับร้านรับซื้อของเก่าหรือซาเล้งนั้น เมื่อนำมาคำนวณราคาขายต่อปริมาณเป็นกิโลกรัมจะอยู่ในราคาที่ถูกมาก เช่น พลาสติกบางชนิดรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 2 – 3 บาทเท่านั้น ทำให้ผลตอบแทนที่เป็นกำไรน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย

เอี่ยมดี รีไซเคิล บริการจัดการขยะรีไซเคิล ที่ทำให้การจัดการขยะในท้องถิ่นเป็นเรื่องง่ายและยั่งยืน

โดมจึงแก้ปัญหาด้วยการลงไปเก็บขยะตามพื้นที่ต่างๆ พร้อมกับแบ่งปันอุดมการณ์อันแน่วแน่ด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งกลายเป็นกระบวนการหลักของเอี่ยมดี รีไซเคิลที่เข้าไปจัดการขยะให้กับลูกค้าถึงที่หมายทั้งบ้านพัก โรงแรม สถานประกอบการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแม้แต่บาทเดียว อีกทั้งต้องให้บริการแบบมืออาชีพ คือจัดการขยะได้อย่างรวดเร็วไม่เกิน 15 นาที ตรงเวลา ไม่โกงตาชั่ง และรับซื้อขยะในราคายุติธรรม ทำให้ผู้คนเริ่มเชื่อมั่นในตัวของเขา และเริ่มให้โอกาสโดมแวะมาเก็บขยะที่บ้าน หรือห้างร้านต่างๆ ได้ทุกสัปดาห์

ปัจจุบัน เอี่ยมดี รีไซเคิล ให้บริการจัดการขยะ 6 วันต่อสัปดาห์โดยมีพนักงานประจำที่หมุนเวียนกันทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง เพียงแค่คุณโทรติดต่อหาเอี่ยมดี รีไซเคิล ก็มีพนักงานขับรถจัดการขยะตรงไปถึงที่หมาย และให้บริการด้วยความรวดเร็วและยุติธรรม ซึ่งโดมบอกฉันว่า เดือนๆ หนึ่ง เอี่ยมดี รีไซเคิล ให้บริการลูกค้ากว่า 120 – 150 รายต่อเดือน มีขยะหมุนเวียนในปริมาณมากและช่องทางรายรับที่มีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง

นั่นเป็นสัญญาณที่ดีในการประกอบธุรกิจเพื่อสังคม แต่ยิ่งนานเข้า ยิ่งมีสิ่งของมากกว่าขยะรีไซเคิลที่โดมได้รับจากการรับซื้อและบริจาค จึงเป็นโจทย์ใหม่ที่โดมมองเห็นช่องทางการต่อยอดธุรกิจของเขา

04

หนังสือเป็นเรื่องหลัก การส่งความสุขเป็นเรื่องสำคัญ

“เชื่อไหมว่าเจ็ดสิบถึงแปดสิบเปอร์เซนต์ของสิ่งของที่เราได้รับบริจาคต่อสัปดาห์คือหนังสือ” โดมชวนฉันมองไปรอบๆ บ้านเอี่ยมดีตอนนี้ที่มีกองหนังสืออยู่เป็นส่วนมาก

นอกจากของมือสองจำนวนมากที่โดมได้รับแล้ว ปัจจุบันราคารับซื้อขยะในท้องตลาดลงต่ำกว่าเดิมมากเป็นเท่าตัว เนื่องจากมีการนำเข้าขยะมาจากต่างประเทศ ทำให้โดมปรับรูปแบบของเอี่ยมดี รีไซเคิล สู่รูปแบบของการจำหน่ายหนังสือและสินค้ามือสองที่ได้รับบริจาคจากการกำจัดขยะ และเปิดรับบริจาคที่หน้าบ้านเอี่ยมดีของเขา

เอี่ยมดี รีไซเคิล บริการจัดการขยะรีไซเคิล ที่ทำให้การจัดการขยะในท้องถิ่นเป็นเรื่องง่ายและยั่งยืน

“ผมยังมองว่าหนังสือเป็นเรื่องสำคัญ เราอยากทำพื้นที่ให้กับชุมชนตรงนี้ให้ใครก็ได้ที่สนใจเรื่องการอ่าน มาหาหนังสือดีๆ ไปอ่าน เรามีทั้งหนังสือจำหน่ายและให้ฟรี แต่ส่วนใหญ่ให้ฟรีอยู่แล้ว เราเลยทำเป็นห้องสมุดเล็กๆ ขึ้นมาในโรงรถ แล้วก็หาหนังสือดีๆ มาให้คนที่เขาอยากได้ ให้เขามาซื้อได้ที่นี่ หรือว่ามาเอาที่นี่มายืมอ่านก็ได้”

การรับหนังสือของเอี่ยม Book คล้ายคลึงกับระบบรับซื้อขยะของเอี่ยมดี รีไซเคิล คือโดมจะเข้าไปหาผู้ที่ติดต่อให้ไปรับหนังสือที่หน่วยงานหรือบ้านพัก จึงนำหนังสือมาซ่อมแซม ทำความสะอาด และคัดแยกตามความเหมาะสมว่า หนังสือเล่มไหนควรบริจาคให้แก่วัด โรงเรียน หรือพื้นที่ใด หรือหนังสือที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็จะนำไปวางไว้ในห้องสมุดและหน้าร้านของเอี่ยม Book แต่สำหรับหนังสือแบบฝึกหัดที่มีการขีดเขียนด้วยลายมือของเด็กตัวเล็กๆ ต้องเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลของเอี่ยมดี รีไซเคิล ตามปกติ

เอี่ยมดี รีไซเคิล บริการจัดการขยะรีไซเคิล ที่ทำให้การจัดการขยะในท้องถิ่นเป็นเรื่องง่ายและยั่งยืน
เอี่ยมดี รีไซเคิล บริการจัดการขยะรีไซเคิล ที่ทำให้การจัดการขยะในท้องถิ่นเป็นเรื่องง่ายและยั่งยืน

“เราโตมาจากการอ่าน” โดมบอกฉัน 

ส่วนเอี่ยมอิ่มใจก็เป็นการต่อยอดที่คล้ายคลึงกันกับเอี่ยม Book เพราะโดมจะได้รับบริจาคสินค้ามือสองที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า ของใช้เบ็ดเตล็ดจำนวนมาก ซึ่งนอกจากโดมจะคัดเอาสินค้าส่วนหนึ่งเพื่อนำไปขายในร้านเอี่ยมอิ่มใจแล้ว โดมยังนำของมือสองเหล่านี้ไปบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการจริงๆ เช่น อุปกรณ์สำหรับดูแลผู้ป่วยต่างๆ ทั้งรถวีลแชร์ เตียงคนไข้ ที่นอนลม ไม้พยุง ก็จะนำไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลหรือผู้มีความต้องการใช้งานเป็นพิเศษ

โดมบอกฉันว่า ในอนาคตจะมีหน้าร้านเอี่ยมอิ่มใจใกล้ๆ ถนนสันกำแพงสายใหม่ บริเวณห้างพรอมเมนาดา จังหวัดเชียงใหม่เปิดให้บริการอีกด้วย

05

ทำเรื่องฉาบฉวยให้ยั่งยืน

โดมที่อยู่กับเรื่องราวของการจัดการขยะให้เป็นระบบเพื่อจุดประสงค์ทั้งสองประการ คือเพื่อสร้างรายได้แก่เพื่อนร่วมอาชีพ และช่วยให้กระบวนการจัดการขยะในประเทศไทยเกิดขึ้นได้อย่างสัมฤทธิ์ผลและยั่งยืน ยังมองเห็นถึงการที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งเล็กใหญ่หรือจากภาคส่วนใดๆ ยังไม่ให้ความสำคัญกับกระบวนการที่เป็นกุญแจสำคัญที่จะปลดล็อกปัญหามลพิษ สิ่งแวดล้อม และสภาพอากาศที่ประเทศไทยกำลังประสบนี้ได้อย่างอยู่หมัด

“เรายังขาดการให้ความสำคัญในเรื่องจัดการขยะทั้งในระดับครัวเรือนชุมชน หรือในระดับเมือง เพราะว่าในการจัดการขยะในระบบเมืองที่เราเจออยู่ทุกวันนี้ มันมีต้นเหตุไม่กี่ทางหนึ่งคือ หนึ่ง จัดการแล้วไว้ในหลุมฝังกลบ ซึ่งก็จะไปเกิดปัญหาใหม่อีกคือ สอง การปลูกฝังพฤติกรรมหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับตัวเราเองและครอบครัว ผมเลยมองว่าในสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราพูดถึงเรื่องการจัดการขยะขึ้นมาแต่ประเทศเรายังทำได้ไม่ดี ถ้าเราจะมองในหลายๆ มุมถือว่ายังสอบไม่ผ่าน”

โดม-สัมพันธ์ เณรรอด

เมื่อมองย้อนกลับไป ก็จริงอย่างที่โดมตอบคำถามของฉัน กระแสการต่อต้านขยะพลาสติกและรณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญของการแยกขยะเพิ่งจะถูกพูดถึงและมีนโยบายรองรับจากหลายภาคส่วนอย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้ 

ฉันเลยสงสัยต่อไปอีกว่า แล้วความตระหนักรู้ที่ถูกสร้างขึ้นผ่านสื่อทั้งเก่าและใหม่ มันกำลังจะเป็นกระแสอย่างยั่งยืน หรือเป็นแค่พลุที่จุดแล้วมีแสงแค่ชั่วคราว แล้วก็ดับไปในที่สุด ซึ่งโดมมองว่ามันเป็นเรื่องดีที่มีคนลุกขึ้นมาสร้างความตระหนักรู้เหล่านี้ แต่กลับกลายเป็นเหมือนการบังคับทางอ้อมที่ไม่ได้สร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับผู้คนจริงๆ 

“จากประสบการณ์ของผมที่เข้าไปทำการกำจัดขยะตามบ้าน ผมเห็นว่าคนที่ไม่จัดการขยะยังมีมากว่าคนจัดการขยะแน่นอน เป็นสัดส่วนของคนที่ไม่จัดการขยะถึงเจ็ดสิบเปอร์เซนต์ด้วยซ้ำ ส่วนสามสิบเปอร์เซนต์ที่เหลือ จะจัดการได้ดีมั้ยก็ต้องมาทำความเข้าใจกันอีก

“ผมเชื่อว่ายังไงก็ต้องเห็นความสำคัญของมันนะครับ ไม่ใช่เห็นกระแส แต่ต้องเห็นความสำคัญว่าเราทำสิ่งนี้ไปเพื่อสิ่งใด ไม่เช่นนั้นมันจะเป็นเรื่องชั่วคราวหมดเลย กระแสมีมามีไป แต่ถ้าทำให้เป็นสำนึกเราได้ เราก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ต่อเนื่องได้ สิ่งนี้มันจะดีกับเรา ต่อให้มันจะเป็นกระแสแบบไหน มันไม่ได้มีผลกับเราแล้ว เพราะเราทำมันเป็นประจำ จนทำให้มันเกิดเป็นพฤติกรรม มันก็จะต่อเนื่องได้” 

เอี่ยมดี รีไซเคิล บริการจัดการขยะรีไซเคิล ที่ทำให้การจัดการขยะในท้องถิ่นเป็นเรื่องง่ายและยั่งยืน

ปัจจุบัน เอี่ยมดี รีไซเคิล ไม่ใช่ธุรกิจเพื่อสังคมที่รับหน้าที่จัดการขยะแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีมิติของการสร้างความสุขด้วยการส่งต่อสิ่งของเหลือใช้ทั้งในรูปแบบของการขาย และการนำไปบริจาคเพื่อผู้ด้อยโอกาสในบางมุม

แล้วมันจะยั่งยืนอย่างไร นี่คือสิ่งที่ฉันถามเป็นอย่างสุดท้ายกับโดม

“ผมคิดว่ามันมีส่วนที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนแต่ยังไม่ทั้งหมด เพราะว่ามันเกิดสังคมของการแบ่งปันได้จริง แล้วคนพร้อมที่จะเป็นผู้ให้ เพียงแต่ว่าเขาควรจะได้รับรู้ว่าของที่เขาให้มันส่งไปที่ใน ให้ประโยชน์ได้อย่างไร แต่ที่มันไม่ยั่งยืนทั้งหมด เพราะถ้ามองในเรื่องธุรกิจ ผมยังประสบปัญหาเรื่องของการขาดทุน เพราะมันแทบจะไม่ได้เงินที่เป็นรูปเป็นร่างออกมา ในแง่ของสังคมตอบโจทย์แล้ว แต่ในแง่ของธุรกิจ ผมพยายามจะประคับประคองให้เราสามารถเป็นจริงในด้านธุรกิจ ซึ่งก็ยังปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังติดตัวแดงอยู่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามทำให้เห็นว่าธุรกิจเพื่อสังคมแบบนี้ควรจะมีอยู่ในเมืองต่างๆ ควรจะมีอยู่ในชุมชนต่างๆ เพียงแต่ว่าเราต้องจัดการให้มันเป็นจริงในแง่ของธุรกิจด้วยแค่นั้นเอง”

เอี่ยมดี รีไซเคิล บริการจัดการขยะรีไซเคิล ที่ทำให้การจัดการขยะในท้องถิ่นเป็นเรื่องง่ายและยั่งยืน
เอี่ยมดี รีไซเคิล บริการจัดการขยะรีไซเคิล ที่ทำให้การจัดการขยะในท้องถิ่นเป็นเรื่องง่ายและยั่งยืน

โดมบอกฉันอีกว่า เขาคาดหวังให้เอี่ยมดี รีไซเคิล และโมเดลธุรกิจอื่นๆ ที่เขาต่อยอดได้ขยายผลไปทำในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ไม่ใช่เพื่อสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ แต่เพื่อให้ตระหนักถึงการคัดแยกและจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราจะไม่ได้แค่สังคมที่น่าอยู่ แต่โลกจะค่อยๆ ดีขึ้น เพราะเรารู้วิธีจัดการขยะที่ได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดีในทุกมิติ 

โดมกระซิบบอกฉันอีกนิดหนึ่งว่า เอี่ยมดี รีไซเคิล ยังเปิดบ้านต้อนรับอาสาสมัครที่ต้องการทำงานจิตอาสาคัดแยกขยะและของบริจาคจำนวนมาก เพื่อนำไปจัดสรรในส่วนต่างๆ อีกด้วย ใครที่สนใจลองแวะเวียนมาทักทายโดมที่บ้านเอี่ยมดี อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ หรือลองติดตามรายละเอียดที่ Facebook : เอี่ยมดี รีไซเคิล ได้เลยนะ

เอี่ยมดี รีไซเคิล บริการจัดการขยะรีไซเคิล ที่ทำให้การจัดการขยะในท้องถิ่นเป็นเรื่องง่ายและยั่งยืน

เอี่ยมดีชวนชาวเชียงใหม่และพี่น้องชาวไทยร่วมส่งกำลังใจและสิ่งของบริจาคเพื่อเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ชาวบ้านผู้กำลังดับไฟป่าอยู่ตามผืนป่าต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อลดการสูญเสียพื้นที่ป่าและปัญหาหมอกควันที่วิกฤตอยู่เวลานี้

เอี่ยมดีร่วมรับบริจาคสิ่งของจำเป็นต่อการดับไฟป่า อาทิ อุปกรณ์ดับไฟป่า หน้ากากป้องกันฝุ่นควัน น้ำดื่ม อาหารแห้ง เวชภัณฑ์ ฯลฯ พร้อมบริการรับสิ่งของบริจาคถึงที่ในเมืองเชียงใหม่-ลำพูน และต่างจังหวัดสามารถจัดส่งมาที่ ศูนย์รับบริจาคของเหลือใช้ เอี่ยมดี รีไซเคิล 135/79 หมู่ 12 ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50100 โทร. 09 3132 9168 ตลอดเดือนมีนาคม-เมษายน

Writer

Avatar

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

เขียนหนังสือบนก้อนเมฆในวันหนึ่งตรงหางแถว และทำเว็บไซต์เล็กๆ ชื่อ ARTSvisual.co

Photographer

Avatar

สโรชา อินอิ่ม

Freelance photographer ชอบความอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย