สิงคโปร์มีความหนาแน่นของประชากรสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ด้วยตัวเลข 8,000 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร สูงกว่าสหรัฐอเมริกา 200 เท่า และสูงกว่าออสเตรเลียถึง 2,000 เท่า

สิงคโปร์มีพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ และต้องพึ่งพาอาหารจากต่างประเทศสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ โดยนำเข้าผักและผลไม้มากถึง 631 รายการ ในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 แค่มาเลเซียประกาศ Shut Down เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตในสิงคโปร์ก็แทบจะเกลี้ยงชั้นวางในเวลาอันรวดเร็ว เพราะประชาชนกลัวว่าการนำเข้าอาหารจากมาเลเซียจะหยุดชะงักไปด้วย

Edible Garden City การกอบกู้ความมั่นคงของประเทศสิงคโปร์ในรูปแบบ ‘แปลงผัก’
Edible Garden City การกอบกู้ความมั่นคงของประเทศสิงคโปร์ในรูปแบบ ‘แปลงผัก’
ชั้นวางอาหารในซูปเปอร์มาร์เก็ตที่สิงคโปร์ วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2563 เมื่อมาเลเซียประกาศ Shut Down ภาพ : Amanda Suwanagool

บิยอร์น โลว์ (Bjorn Low) และผองเพื่อน เห็นถึงปัญหานี้มาเนิ่นนาน พวกเขาจึงพยายามกอบกู้ความมั่นคงทางอาหารของสิงคโปร์กลับคืนมาด้วยแนวคิดที่ง่ายมาก 

ถ้าเราผลิตอาหารได้เองน้อยมาก เราก็มาผลิตอาหารเพิ่มกัน (เอง) สิ

กิจการเพื่อสังคมที่ชื่อ Edible Garden City (EGC) จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2012 เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้ประเทศสิงคโปร์ผ่านการแปลงพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่บนดิน อยู่ข้างทาง อยู่บนระเบียง หรือบนดาดฟ้า ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวที่ไม่ได้เขียวเฉยๆ แต่ยังกินได้อีกด้วย!

อะไรทำให้ EGC กลายเป็นโครงการปลูกผักในเมืองที่ประสบความสำเร็จที่สุดแห่งหนึ่งของโลก บิยอร์น โลว์ ยินดีเล่าให้ The Cloud ฟังแบบข้ามประเทศ 

Edible Garden City การกอบกู้ความมั่นคงของประเทศสิงคโปร์ในรูปแบบ ‘แปลงผัก’
บิยอร์น โลว์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Edible Garden City

วันนั้น

ในอดีต บิยอร์น โลว์ คือชายหนุ่มผู้มีชีวิตที่ดีและราบรื่น เขาได้รับการศึกษาที่ดีในประเทศออสเตรเลีย ก่อนบินลัดฟ้าไปทำงานด้าน Digital Marketing ที่ลอนดอนกับแฟนสาว (ปัจจุบันกลายเป็นภรรยา และมีลูกน้อยที่แสนน่ารักด้วยกัน 2 คน) ทำอยู่ 7 ปี พวกเขาก็เริ่มตั้งคำถามว่า จะทำงานนี้ต่อไปอีกนานแค่ไหน ถึงแม้รายได้จะดีมาก ความเป็นอยู่ก็แสนสบาย แต่โลกน่าจะกว้างกว่านี้

ทั้งสองจึงชวนกันไปเปิดประสบการณ์ด้วยการใช้ชีวิตในฟาร์มออร์แกนิกทั้งในยุโรปและเอเชีย เช่น สเปน และญี่ปุ่น เมื่อได้สัมผัสวิถีชีวิตอีกแบบที่อยู่กับธรรมชาติ ได้ผลิตอาหารเอง ทั้งคู่ก็ตระหนักว่า เราใช้ชีวิตที่ไม่ต้องการอะไรมากได้จริงๆ และน่าจะเป็นทางออกที่ยั่งยืนให้กับชีวิต

แล้วถ้าทั้งประเทศสิงคโปร์ซึ่งไม่เคยผลิตอาหารได้เอง หันมาพึ่งตัวเองได้อย่างที่เขาทำ จะดีขนาดไหน

บิยอร์นแก้ปัญหาเรื่องข้อจำกัดด้านพื้นที่เพาะปลูกซึ่งทั้งมีน้อยและราคาแพงด้วยวิธีคิดง่ายๆ คือ ใช้พื้นที่ผืนเล็กผืนน้อยตามส่วนต่างๆ ของเมืองแล้วกัน 

Edible Garden City การกอบกู้ความมั่นคงของประเทศสิงคโปร์ในรูปแบบ ‘แปลงผัก’

บิยอร์นมีวิสัยทัศน์ที่เรียบง่ายทว่าเป็นระบบอย่างมาก นั่นคือ ‘มีฟาร์มผักอยู่ในทุกเมือง มีสวนผักอยู่ในทุกบ้าน และมีคนปลูกผักเป็นอยู่ในทุกครอบครัว’ เพียงเท่านี้ก็น่าจะช่วยลดการพึ่งพาอาหารจากคนอื่นได้มาก 

อธิบายง่ายๆ ก็คือ บิยอร์นตั้งใจย้ายฐานการผลิตผักจากเจ้าของสวนผักขนาดใหญ่มาสู่ผู้บริโภค เพื่อไม่ให้พึ่งพาอาหารจากระบบอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว และบิยอร์นก็ตระหนักถึงปัจจัยสำคัญอย่าง ’รายได้’ ของอาชีพเกษตรกร หากรายได้มาจากการขายผลิตผลอย่างเดียวคงชักหน้าไม่ถึงหลัง EGC จึงมีโมเดลการหารายได้จาก 3 ทาง คือ BUILD-GROW-TEACH ซึ่งหัวใจสำคัญของแต่ละทาง คือ พื้นที่เพาะปลูก-พันธุ์พืช-คนปลูก

BUILD

สินค้าหลักที่สร้างชื่อให้ EGC อย่างมาก คือการให้คำปรึกษาและออกแบบสวนผักในเมือง ซึ่งพวกเขาออกแบบสวนเล็กใหญ่ไปแล้วถึง 200 แห่ง ให้แก่พื้นที่หลากหลายรูปแบบและเงื่อนไข ทั้งโรงเรียน ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงานต่างๆ ไปจนถึงที่อยู่อาศัยส่วนบุคคล 

นอกจากออกแบบแล้ว ยังสอนการดูแลเพื่อสวนผักจะได้อยู่ได้อย่างยั่งยืน (ไม่ใช่สวยเฉพาะวันแรกที่ EGC มาออกแบบไว้ให้ คล้ายๆ เวลาพวกเราซื้อต้นไม้แล้ววันที่ต้นไม้สวยที่สุดคือวันที่ซื้อ) และอาจยังรวมไปถึงให้คำปรึกษาเรื่องการสร้างรายได้จากสวนผักแสนสวยนี้ 

แล้วบิยอร์นทำอย่างไรจึงทำให้มีคนใช้บริการออกแบบสวนผักในเมืองจาก EGC จนเกลื่อนเมืองถึง 200 แห่งบนพื้นที่แค่ครึ่งเดียวของกรุงเทพฯ 

Edible Garden City การกอบกู้ความมั่นคงของประเทศสิงคโปร์ในรูปแบบ ‘แปลงผัก’
สวนผักบนนดาดฟ้าห้างสรรพสินค้า Downtown Gallery

บิยอร์นเล่าให้เราฟังว่า ความท้าทายที่ทำให้อาคารหลายแห่งไม่ค่อยเปิดใจยอมรับสวนผักให้ขึ้นไปอยู่บนอาคาร มาจากภาพจำการเพาะปลูกผักแบบที่เรามักเห็นตามสื่อต่างๆ ซึ่งเป็นแปลงปลูกผักแนวยาว ปลูกผักหน้าตาเดียวกันหมด เมื่อผักโตแล้วก็ดูสวยดี แต่หลังเก็บเกี่ยวจะกลายเป็นคันดินโล่งๆ ซึ่งไม่ค่อยน่าดูและไม่เข้ากับภาพลักษณ์อาคารสวยๆ ของสิงคโปร์เอาซะเลย

แท้จริงแล้ว สวนผักตามธรรมชาติไม่ควรมีหน้าตาแบบนั้น เพราะในธรรมชาติ พืชพันธุ์แต่ละชนิดอยู่อย่างอิงอาศัยและมีวัฏจักรของมัน จึงเป็นเรื่องดีที่เจ้าของพื้นที่เองก็ต้องการได้ภาพสวนสวยๆ ที่มีการผสมผสานอย่างกลมกลืน ไม่ใช่สวนผักแบบอุตสาหกรรม

บิยอร์นจึงค่อยๆ ทำความเข้าใจพื้นที่รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลุมปลูกที่อยู่กับดิน หรือกระบะที่สร้างสูงขึ้น รวมไปถึงสวนแนวตั้งตามแนวผนัง เพื่อเลือกพืชผักที่มีทั้งขนาด รูปร่าง สีสัน รวมถึงระยะเวลาการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวต่างๆ กันไปมาผสมผสานไว้ในสวนเดียวกัน นอกจากจะทำให้เจ้าของสวนมีผักหลากชนิดกินผลัดเปลี่ยนกันแล้ว หน้าตาของสวนผักก็ดูกลมกลืนเข้ากับอาคารและรสนิยมคนเมืองด้วย

Edible Garden City การกอบกู้ความมั่นคงของประเทศสิงคโปร์ในรูปแบบ ‘แปลงผัก’
สวนผักในเมืองที่ Edible Garden City ออกแบบ

GROW

รายได้ของการทำสวนผัก ย่อมมาจากผลิตผลที่เพาะปลูก ฟาร์มของ EGC ปัจจุบันตั้งอยู่ย่าน Queenstown กว่าจะมีฟาร์มสวยๆ บนพื้นที่ขนาด 8,000 ตารางเมตร ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านการสื่อสารพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน รวมทั้งทำการศึกษาถึงประโยชน์และเหตุผลที่สิงคโปร์ควรนำพื้นที่อันแสนจะมีค่ามาทำฟาร์มมากกว่านำไปทำอย่างอื่น

Edible Garden City การกอบกู้ความมั่นคงของประเทศสิงคโปร์ในรูปแบบ ‘แปลงผัก’
ด้านหน้าของ Citizen Farm

ฟาร์มหลักของ EGC มีชื่อว่า Citizen Farm นอกจากปลูกผักทั่วๆ ไปที่คนเมืองคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นผักสลัด ผักโขม เคล โหระพา มินต์ ตะไคร้ ผักชี ไปจนถึงเห็ดแล้ว EGC ยังปลูกดอกไม้กินได้แสนสวย รวมทั้งผักและสมุนไพรท้องถิ่นของสิงคโปร์ที่เคยหายไป ให้กลับมามีชีวิตบนจานอาหารของคนสิงคโปร์อีกครั้ง 

Edible Garden City การกอบกู้ความมั่นคงของประเทศสิงคโปร์ในรูปแบบ ‘แปลงผัก’
Edible Garden City การกอบกู้ความมั่นคงของประเทศสิงคโปร์ในรูปแบบ ‘แปลงผัก’

ผลผลิตในแต่ละเดือนจะนำมาขายให้ร้านอาหารชั้นนำต่างๆ โรงแรมหรู ซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงแบรนด์เครื่องสำอาง รวมทั้งหมดแล้วกว่า 60 แห่ง และยังเปิดขายให้กับผู้บริโภคทั่วไปในรูปแบบ Citizen Box ที่อัดแน่นไปด้วยผักสดนานาชนิด ด้วยโมเดลสมัครสมาชิกระยะเวลา 12 สัปดาห์ โดยมี 2 ราคาให้เลือกคือ 30 และ 40 เหรียญสิงคโปร์ต่อสัปดาห์

Edible Garden City การกอบกู้ความมั่นคงของประเทศสิงคโปร์ในรูปแบบ ‘แปลงผัก’
Citizen Box

ส่วนสวนผักที่เจ้าของพื้นที่ดูแลเอง บิยอร์นพบว่า คนมักจะปลูกผักที่ชอบกิน ซึ่งมักเป็นผักจีนที่จะปลูกในอากาศที่เย็นกว่าสิงคโปร์ การแนะนำพืชที่ปลูกง่าย ได้กินไว จะช่วยไม่ให้ผู้ปลูกเสียกำลังใจ จึงเกิดงานหาพันธุ์พืชที่เหมาะกับอากาศสิงคโปร์ โดยบิยอร์นทำ 3 อย่างหลักๆ คือ

หาพืชทดแทน – บิยอร์นทำงานร่วมกับเชฟ เพื่อหาว่าผักที่นิยมใช้บนจานอาหารที่ต้องนำเข้ามีอะไรบ้าง เขาจะช่วยหาพืชผักใกล้เคียงที่ทดแทนกันได้และปลูกในสิงคโปร์ได้ อย่างเช่น จากที่ต้องใช้อิตาเลียนพาร์สลีย์ ก็ใช้เป็นพาร์สลีย์ของญี่ปุ่นแทน

เสาะหาผักประจำถิ่น – เนื่องจากสิงคโปร์ไม่ได้เพาะปลูกเองมากนัก ความหลากหลายของพันธุ์พืชที่ปลูกในปัจจุบันจึงไม่มากเท่าประเทศอื่นๆ บิยอร์นเลยเดินทางไปเรียนรู้แลกเปลี่ยนกับประเทศใกล้เคียง เช่น ประเทศมาเลเซีย หรือประเทศไทย เพื่อนำผักในพื้นถิ่นซึ่งโตได้ดีในแถบนี้ไปปลูก

แนะนำการกิน – เมื่อปลูกพืชพื้นถิ่นแล้ว ปัญหาต่อมาก็คือคนสิงคโปร์กินไม่เป็น จึงเป็นหน้าที่ของเชฟของร้านอาหารในเครือข่ายที่ต้องรังสรรค์เมนูจากพืชพื้นถิ่นต่างๆ และแนะนำให้คนสิงคโปร์รู้จักทั้งการปรุงและรสชาติ

Edible Garden City การกอบกู้ความมั่นคงของประเทศสิงคโปร์ในรูปแบบ ‘แปลงผัก’
อาหารจากสวนผักในเมืองฝีมือ Edible Garden City

TEACH

เมื่อมีทั้งที่ดินและพันธุ์พืชที่เหมาะสมแล้ว จิ๊กซอว์ส่วนสุดท้ายที่ท้าทายมากสุดก็คือ ‘คนปลูก’ จากกลุ่มคนเล็กๆ เพียง 4 – 5 คนในวันที่เริ่มต้น มาจนถึงวันนี้ EGC กลายเป็นครอบครัวใหญ่ขนาด 40 คน แต่ก็คงยังห่างไกล ถ้าฝันปลายทางคือความมั่นคงทางอาหารของสิงคโปร์

EGC เปิดให้มีการเยี่ยมชมสวนผัก รวมทั้งจัดเวิร์กช็อปต่างๆ เพื่อให้ความรู้การทำสวนผักแก่หน่วยงาน สถาบันการศึกษา และบุคคลทั่วไป ถึงแม้รายได้ส่วนนี้จะไม่มากนัก แต่ถ้าพูดกันถึงผลลัพธ์ปลายทางแล้ว ‘คน’ คือปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้สิงคโปร์เดินไปถึงเป้าหมายความมั่นคงทางอาหารได้สำเร็จ

Edible Garden City การกอบกู้ความมั่นคงของประเทศสิงคโปร์ในรูปแบบ ‘แปลงผัก’

ที่มากไปกว่านั้น หลังจากทำ EGC ได้ 4 ปีด้วยแนวคิดพลิกฟื้นพื้นที่ที่ถูกทิ้งให้เปล่าประโยชน์ (Under-utilized Land) ให้กลายเป็นสวนผัก ECG ก็ก้าวขึ้นมาอีกขั้น ด้วยการใช้ศักยภาพของประชากรบางกลุ่มที่ยังไม่ถูกนำมาใช้เต็มศักยภาพ (Under-utilized Human) จึงเกิดความร่วมมือกับหลายที่ในการใช้ศักยภาพของกลุ่มคนพิเศษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนออทิสติก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วย ให้มีทักษะการปลูกผัก ซึ่งไม่เพียงทำให้สวนผักมีผู้ดูแลเท่านั้น แต่ยังสร้างความสุขให้กับคนกลุ่มนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

Edible Garden City การกอบกู้ความมั่นคงของประเทศสิงคโปร์ในรูปแบบ ‘แปลงผัก’
ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วมในการดูแลสวนผัก

วันนี้

ตลอดเกือบ 8 ปีที่ผ่านมา EGC นับเป็นหนึ่งในกิจการเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นที่ยอมรับ เมื่อถามถึงผลกระทบทางสังคม (Social Impact) ที่ EGC ได้ส่งมอบให้สังคมว่ามีอะไรบ้าง บิยอร์นตอบอย่างน่ารักน่าชังว่า

“สิ่งแรกเลย ตอนนี้พวกเรามีความมั่นคงทางอาหารของเราเอง เราผลิตผักเพียงพอต่อการกินของพวกเราเอง ” ซึ่งเราขอเติมด้วยว่า สวนผักต่างๆ ทั่วเกาะสิงคโปร์ที่เป็นผลงานของ EGC คงเป็นที่พึ่งทางอาหารให้กับคนส่วนหนึ่งได้ไม่มากก็น้อยในยามยากเช่นนี้

Edible Garden City การกอบกู้ความมั่นคงของประเทศสิงคโปร์ในรูปแบบ ‘แปลงผัก’
ส่วนหนึ่งของทีม Edible Garden City ปัจจุบัน

แต่ถ้าพูดถึงผลกระทบที่มีผลในวงกว้างกว่านั้น บิยอร์นไม่ได้กล่าวถึงรายได้ของ EGC เลยตลอดการสนทนา และไม่ได้อ้างถึงจำนวนตัวเลขสวนผัก 200 แห่งที่ EGC ได้ออกแบบอยู่ทั่วเกาะสิงคโปร์ แต่บิยอร์นพูดถึงตัวปลดล็อกที่สำคัญ นั่นคือการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายเรื่องการใช้ที่ดินในสิงคโปร์ได้สำเร็จ 

พวกเขาค่อยๆ ได้รับอนุญาตจากรัฐให้ใช้พื้นที่ต่างๆ เพื่อการเพาะปลูกได้ ซึ่งกว่าจะเกิดขึ้นก็ไม่ง่าย ต้องอาศัยการยืนระยะและการยืนหยัดในความเชื่อ รวมถึงผลที่ออกมาดีในทุกโครงการที่ทำ ทำให้ภาครัฐเริ่มมีมุมมองที่ดีต่อสวนผักในเมือง ที่ดินอื่นๆ ที่บิยอร์นอยากนำมาใช้ประโยชน์ในอนาคต อย่างเช่น พื้นที่ชั้นใต้ดิน พื้นที่ใต้สะพาน พื้นที่ลาดจอดรถ หรือถ้าเป็นพื้นที่ใหญ่ๆ ในที่ทำการของรัฐหรือในโรงพยาบาล ก็จะเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกให้กับสิงคโปร์ได้มาก

บิยอร์นยังตบท้ายอย่างถ่อมตัวว่า ที่ EGC มาได้ไกลขนาดนี้นั้นเป็นเรื่องของการอยู่ถูกที่ ถูกเวลา และถูกบริบท มากกว่าความสามารถส่วนตัวของ EGC เพียงอย่างเดียว 

วันหน้า

ผลจากการพยายามขับเคลื่อนประเด็นความมั่นคงทางอาหารของทุกภาคส่วน ทำให้เมื่อปีที่แล้ว สิงคโปร์ได้ประกาศเป้าหมายของประเทศที่มีชื่อว่า 30 by 30นั่นคือเป้าหมายที่จะผลิตอาหารได้เองจาก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็น 30 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 หรือในระยะเวลา 10 ปีต่อจากนี้ ดูจะเป็นเป้าหมายที่ต้องใช้ความพยายามจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง และบิยอร์นคงดีใจไม่น้อยกว่าใครหากวันนั้นของสิงคโปร์มาถึง 

แต่บิยอร์นบอกกับเราว่า ไม่สำคัญหรอกว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าสิงคโปร์จะผลิตอาหารได้เท่าไหร่ เป้าหมายสำหรับเขาในตอนนี้ ขอเพียงคนสิงคโปร์หันมาสนับสนุนผลิตผลในประเทศก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากแล้ว เนื่องจากผลิตผลที่ผลิตในสิงคโปร์มีราคาแพงว่าผลิตผลนำเข้า จากต้นทุนที่สูงกว่าในทุกๆ ด้าน 

Edible Garden City การกอบกู้ความมั่นคงของประเทศสิงคโปร์ในรูปแบบ ‘แปลงผัก’

เป้าหมายที่ EGC จะพยายามทำให้มากขึ้นหลังจากนี้ คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและนำเทคโนโลยีทางการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ การได้ทำงานร่วมกับพื้นที่และกลุ่มคนหลายๆ แบบ ทำให้ EGC มาไกลจากความตั้งใจแรกมากทีเดียว 

Edible Garden City การกอบกู้ความมั่นคงของประเทศสิงคโปร์ในรูปแบบ ‘แปลงผัก’
เวิร์กช็อปที่ตั้งใจให้คนใกล้ชิดผักมากขึ้นและเป็นจุดสร้างความเชื่อมโยงของคนในชุมชน

จากที่ต้องการให้สิงคโปร์ใช้พื้นที่ว่างให้กลายเป็นที่เพาะปลูก ผลพลอยได้คือสร้างอาหารที่ปลอดภัยให้ผู้บริโภค สุขภาพที่ดีก็ตามมา ผู้บริโภคเองก็เริ่มเห็นคุณค่าของพืชผักจากการได้เป็นคนดูแลเอง และทำให้บริโภคอย่างรับผิดชอบมากขึ้น การพยายามออกแบบสวนที่มีผักที่โตได้จริงในสภาพอากาศเมืองร้อน นำมาซึ่งการคืนชีพของผักพื้นบ้านต่างๆ ของสิงคโปร์ให้กลับมามีชีวิตบนจานอาหารอีกครั้ง ได้ทำให้เชฟขยายศักยภาพใช้ผักชนิดใหม่ๆ บนจานอาหาร รวมไปถึงการสร้างทักษะการเพาะปลูกให้กับเด็กๆ ไปจนถึงผู้สูงอายุ (เขาเล่าด้วยว่า ตอนนี้โรงเรียนบางแห่งเริ่มใส่กิจกรรมปลูกผักเข้าไปในหลักสูตรแล้ว) 

เมื่อขอให้ช่วยแนะนำอะไรให้กับคนไทยเรื่องการทำสวนผักในเมือง เป็นอีกครั้งที่บิยอร์นตอบแบบไม่อวดตัวว่า ประเทศไทยมีต้นทุนที่ดีกว่าสิงคโปร์มาก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่เหลือเฟือกว่ามาก รวมทั้งความรุ่มรวยของชนิดพืชผักที่มีความหลากหลายตามความหลายหลากของภูมิประเทศบ้านเรา แต่ที่ดูจะเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุด ก็คือองค์ความรู้และภูมิปัญญาด้านเกษตรกรรมที่สั่งสม สืบทอด และต่อยอดกันมาหลายรุ่น ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่สิงคโปร์… ไม่มี

หากสมการความสำเร็จสวนผักในเมืองตามสูตรของ EGC มีแค่ 3 ตัวแปรง่ายๆ คือ ดิน ผัก และคน บิยอร์นเริ่มต้นจากประเด็นความไม่มั่นคงทางอาหารที่เกิดจากการขาดแคลนพื้นที่ เมื่อได้ที่มาแล้ว จึงต้องออกตามหาและรวบรวมพันธุ์พืช เมื่อได้พืชที่เหมาะสม ก็ต้องสร้างมุมมองและทักษะการปลูกพืชให้กับคน เป็นงาน 3 ลำดับที่กว่าจะสร้างได้ครบต้องใช้เวลาและความพยายามไม่น้อย

Edible Garden City การกอบกู้ความมั่นคงของประเทศสิงคโปร์ในรูปแบบ ‘แปลงผัก’
เด็กสิงคโปร์รุ่นปัจจุบันที่ได้รับการสอนทักษะการปลูกผัก

ประเทศไทยดูจะมีแต้มต่อถึงสองแต้ม นั่นคือเรามีทั้งดินและชนิดของผักที่ออกจะรุ่มรวยไม่แพ้ชาติใดในโลก ขาดก็แต่ตัวแปรสุดท้ายนั่นคือ ‘คน’ ที่มีใจและทักษะในการปลูกผักที่จะช่วยแปรสินทรัพย์ที่มีเป็นความมั่นคงทางอาหาร ที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น (อย่างเช่นในช่วงนี้) เราก็อุ่นใจได้ว่าจะมีอาหารสำรับน้อยๆ ที่พอจะเก็บเกี่ยวได้ในบ้านเราเอง คงน่าเบื่อแย่ถ้าจะทานแต่ถั่วงอกที่คุณครูสอนปลูกเมื่อชั้นประถม

รู้หรือไม่

ประเทศสิงคโปร์ที่ผลิตอาหารเองแทบไม่ได้เลยนั้น มีปริมาณการบริโภคผักผลไม้ของประชากรต่อหัวอยู่ที่ 96 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (2018) ในขณะที่คนไทยบริโภคผักผลไม้อยู่ที่ประมาณ 40 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (2017)

ภาพ : Edible Garden City


อ้างอิง

www.ediblegardencity.com/

ourworldindata.org/most-densely-populated-countries

ourworldindata.org/grapher/vegetable-consumption

www.sfa.gov.sg/

www.aseantoday.com/2019/03/30-by-30-boosting-food-security-in-land-scarce-singapore/

journals.openedition.org/factsreports

www.statista.com/statistics/1038310/per-capita-leafy-vegetable-consumption-singapore/

Writer

Avatar

สุธาสินา เชาวน์เลิศเสรี

นักกลยุทธ์การตลาดที่มีความสนใจเรื่อง Healthcare ผู้ไม่ถนัดขายของ แต่ถนัดชวนมองว่าสังคมแบบไหนที่เราจะสร้างขึ้นจากสินค้าและบริการของเรา