15 กุมภาพันธ์ 2019
67 K

“อย่างฮา ขายของสนั่นมาก”

นี่เป็นแคปชันบนโพสเฟซบุ๊กของเพื่อนเราคนหนึ่งผู้ซึ่งไม่ค่อยจะยอมแชร์อะไรเท่าไหร่ การแชร์ครั้งนี้เลยพิเศษจนเราต้องขอเข้าไปชม

พาไปดูโรงแรมคืนละ 30,000 ที่ฮ่องกง

พาไปดูโรงแรมคืนละ 30,000 ที่ฮ่องกง !!!แต่ถ้าอยากให้ราคาลดลงแอพนี้ช่วยได้>> https://bit.ly/2p8fjti

Posted by พี่เอ็ด7วิ on Selasa, 18 September 2018

คลิปรีวิวโรงแรมในฮ่องกงที่อธิบายทุกสิ่งทุกอย่างผ่านการแรป ทำให้เราตั้งใจดูตั้งแต่จนจบ แม้จะถึงช่วงขายของเราก็ยังคงดูต่อไปอย่างว่าง่าย เพราะว่ามันสนุกจนอยากจะลุกขึ้นมาร้องแรปตาม สารภาพ หลังจากดูจบเราก็หยุดตามไปดูโพสต์อื่นไม่ได้ จนอยากให้มีป้ายเขียนเตือนไว้ว่า ‘เพจนี้ เข้ามาแล้ว…ออกยาก’

พี่เอ็ด7วิ อาจจะเป็นเพจที่ได้ยินแค่ชื่อก็รู้สึกตลกแบบไม่มีเหตุผล แต่รู้ไหมว่า พี่เอ็ด7วิ กำลังเป็นเพจที่เนื้อหอมสุดๆ เต็มไปด้วยสปอนเซอร์เจ้าต่างๆ แต่จะว่าไปทั้งเพจก็ไม่มีคอนเทนต์อื่นใดนอกจากสปอนเซอร์ แถมยอดวิวยอดแชร์แต่ละคลิป ถล่มทลาย

นี่มันเพจอะไรกันเนี่ย!

ในยุคสมัยที่ผู้คนเลือกรับบริโภคสื่อและข่าวสารตามอัธยาศัย หนึ่งในอาชีพที่งานสนุกแต่ยากลำบากขึ้นคือ คนทำโฆษณา เพราะขณะที่ต้องคิดกลยุทธ์ล้านแปดเพื่อส่งสารไปถึงผู้รับอย่างแนบเนียนที่สุด ทุกคนก็พร้อมจะใช้ปลายนิ้วเลื่อนไถหนีหรือกดข้ามทันที

และการมาของเพจพี่เอ็ด7วิก็ล้มทุกทฤษฎีที่เคยมีมาด้วยการขายของแบบโต้งๆ แถมยังได้จำนวนไลก์และแชร์ถล่มทลายเข้าข่ายการเป็นไวรัลไปได้อีก

ที่น่าสนใจคือ ไม่เพียงตั้งใจดู แต่ยังดูซ้ำ และอยากชวนให้เพื่อนดูต่อ

The Cloud จึงขอนัดหมายพิเศษ ชวน พี่เอ็ดดี้-จุมพฏ จรรยหาญ เจ้าของเพจ ‘พี่เอ็ด7วิ’ และสมาชิกทีมเสือร้องไห้ YouTuber ผู้ผลิตคลิปออนไลน์ที่ทั้งตลก เจ็บแสบ และโด่งดัง มีผู้ติดตามเป็นล้าน พูดคุยถึงความมุ่งมั่นขายของบนคลิปโดยที่ยังมีคนตามดูมากมาย การขายสปอนเซอร์รัวๆ และการทำให้คลิปวิดีโอทุกตัวดูสนุกและมียอดแชร์เยอะขนาดนี้

พี่เอ็ด7วิ, เอ็ดดี้ จุมพฏ จรรยหาญ

พี่เขาทำได้ยังไงเนี่ย!

“เพจผมคือร้านโชว์ห่วยครับ เปิดแผงขายของ ใครอยากขายอะไรก็เอามาให้ขายได้” พี่เอ็ดไม่ได้ยื่นนามบัตรให้เรา แต่ที่เขาพูดมาคือการแนะนำตัวที่เห็นภาพ ชัดเจน

เพจ ‘พี่เอ็ด7วิ’ มีจุดกำเนิดมาจากกลุ่ม ‘เสือร้องไห้’ ที่อยากให้สมาชิกแต่ละคนมีโอกาสทำคอนเทนต์แบบที่ตัวเองชอบ พี่เอ็ดจึงเริ่มทำจากสิ่งที่ตัวเองถนัด นั่นคือภาพประกอบกับเพลงเนื้อหาตลกๆ และด้วยความเก๋าเกมจากเสือร้องไห้ พี่เอ็ดพบความจริงข้อหนึ่งเกี่ยวกับการหารายได้มาหล่อเลี้ยงเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งก็คือการขายของ ดังนั้น ต้องทำให้คนอยากดู พี่เอ็ดย้ำว่า เรื่องมันก็เรียบง่ายและเป๊ะปังประมาณนี้

แต่เพื่อให้ชัดเจนขึ้นไปอีก

(เพื่ออรรถรส โปรดอ่านท่อนต่อไปนี้ในจังหวะเพลงแรป)

เราเลยอยากชวนทุกคนมาฟังเรื่องเด็ด 7 เรื่อง จากพี่เอ็ด 7 วิ ล้อมวงกันเข้ามาสิ มาฟังเรื่องเด็ด 7 วิกัน

พี่เอ็ด7วิ, เอ็ดดี้ จุมพฏ จรรยหาญ

1

ขายยังไงให้บันเทิง

เมื่อก่อนเรามี TV Direct อย่างไร ทุกวันนี้พี่เอ็ดก็ให้ความบันเทิงเราอย่างนั้น

พี่เอ็ดทำเพจด้วยความคิดที่อยากแก้ไขเรื่องคับข้องใจของตัวเองว่า เวลาเพจจะขายของทำไมต้องทำปิดบัง ทำไมต้องทำอ้อมๆ “ขายเลยดีไหม ขายมา ยกทรงตัวนี้ใส่แล้วไม่อึดอัด เพราะยางยืดมันเป็นอย่างงี้ มันมีที่ระบายอากาศตรงนี้ คนก็จะ อ๋อ-เข้าใจ-จบ” เขาบอกเราแบบนี้ และเราก็เชื่อว่าหลายคนก็คงจะชอบอะไรแบบนี้เหมือนกัน

แต่ด้วยความเก๋าเกมในวงการโฆษณาและการเป็นอินฟลูเอนเซอร์จากการทำรายการเสือร้องไห้ ทำให้เขารู้ว่า ขายตรงๆ ก็อาจจะเป็นการให้ยาขมมากไป กินบ่อยๆ คนคงระอา ทางที่ดีคือต้องเคลือบน้ำตาลเข้าไปเล็กน้อย พอให้กินง่ายๆ แถมได้ประโยชน์

เหมือนที่ TV Direct มีซาร่ากับจอร์จ พี่เอ็ดก็มีภาพกับเพลงเข้ามาช่วยตบมุกไปมา เป็นน้ำตาลเคลือบให้การขายของไหลลื่น ชวนดู ชวนลุ้น ไปจนจบด้วยเหมือนกัน

แถมตลอดทางพี่เอ็ดก็ยังเอาความตรง ความจริงใจในการขาย มาเป็นเสน่ห์ให้คนรักและติดตาม เรื่องนี้พี่เอ็ดเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า เวลาเราเจอคนมาพูดดีๆ ด้วย แล้วค่อยตบท้ายด้วยการขายของ เราก็คงไม่รู้สึกว่าเขาจริงใจและน่าคบหามากเท่าคนที่ก็บอกมาเลยตรงๆ ว่ามีของมาขายนะ และยิ่งถ้าเขามาดี มาให้แต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ เราก็คงรู้สึกว่าคนคนนี้น่าคบ

พี่เอ็ด7วิ, เอ็ดดี้ จุมพฏ จรรยหาญ

2

โฆษณาแบบ Low Cost

พอขึ้นชื่อว่าเป็นโฆษณาค่าผลิตมันก็มักจะแพงหูฉีี่ เพราะเราก็มักจะยึดติดกับความเนี้ยบเป๊ะของการผลิต ตั้งแต่การขายสตอรี่บอร์ด ขายสคริปต์ให้เข้าใจตรงกันว่าแต่ละฉากเราจะเห็นอะไรบ้าง และการเตรียมการผลิตที่ละเอียดไปถึงขั้นสีเสื้อของตัวประกอบ

แต่เมื่อโลกเปลี่ยนมาเป็นยุคสื่อออนไลน์ครองโลก ทุกอย่างมาเร็วไปเร็ว จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่าคลิปไวรัลขึ้นมา

ความหมายที่แท้จริงของคลิปไวรัลก็คือ คลิปวิดีโอที่คนดูแล้วชอบจนส่งต่อกันไปเป็นวงกว้าง แต่ความหมายข้างเคียงที่มาพร้อมกันก็คือ การทำวิดีโอราคาถูกที่ทำได้ง่ายๆ เร็วๆ และไม่ได้มีพิธีรีตองในการเตรียมผลิตมากนัก

ความดีงามในแง่ธุรกิจของคลิปราคาถูกทำให้เจ้าของสินค้าสองจิตสองใจ นั่นคือ อยากได้ความชัดเจนในราคาถูก

“สิ่งที่เราทำไม่ใช่คลิปไวรัลนะ แต่เป็นโฆษณาโลว์คอสต์” พี่เอ็ดรีบบอก

พระเจ้าจอร์จ ไอเดียพี่มันยอดมากเลย! (ซาร่ารำพึงรำพัน)

ความโลว์คอสต์เป็นยังไงคงไม่ต้องบรรยายมาก ทุกคนที่เคยใช้บริการสายการบินราคาประหยัดก็จะคุ้นเคยดีว่ามันเป็นการตัดทุกอย่างที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อให้ราคาต่ำที่สุด

ส่วนโฆษณากับคลิปไวรัลต่างกันยังไงนั้นขอให้ทุกคนนึกถึงคลิปล่าสุดที่ดูแล้วอยากแชร์ นั่นคือคลิปไวรัลและคลิปล่าสุดที่ดูแล้วลุกออกไปซื้อทันทีนั่นแหละ คือโฆษณา

การทำโฆษณาแบบโลว์คอสต์ของพี่เอ็ดคือการคงไว้เฉพาะสิ่งที่จำเป็นจริงๆ สำหรับการให้คนอยากจะไปซื้อสินค้า ซึ่งก็คือเนื้อหาที่สนุกและการขายของที่ได้ผล

ไม่มีการขายสตอรี่บอร์ด ไม่มีการประชุมเตรียมการผลิต และไม่มีการมาวุ่นวายที่หน้ามอนิเตอร์ ทุกอย่างจบกันที่การคุยคอนเซปต์กว้างๆ เรื่องของสินค้าที่อยากจะขาย และทีมโปรดักชันก็ประกอบไปด้วยพี่เอ็ดและทีมงานอีกเพียง 1 – 2 คนเท่านั้น แต่ถ้ายังไม่สบายใจ พี่เอ็ดก็มีบริการเป็นออปชันเสริมให้เลือกกดเลือกซื้อเพิ่มได้ตลอดเวลา

พี่เอ็ด7วิ, เอ็ดดี้ จุมพฏ จรรยหาญ

3

เงินมาผ้าหลุด

“อยากได้สตอรี่บอร์ดหรือครับ ได้, อยากให้ทำภาพให้สวยงามกว่านี้นะครับ ได้, อยากจะเข้ามาดูตัดต่อด้วยหรอครับ ได้ครับ แต่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม” ทั้งหมดทั้งมวลนี้พี่เอ็ดทำเพื่อรักษาอุดมการณ์เริ่มแรกของการทำเพจเอาไว้ นั่นก็คือการ

ทำ เพื่อ เงิน

“จริงๆ เพจนี้มีมาหลายปีแล้ว แต่มาเริ่มทำจริงจังก็ตอนภรรยามาบอกว่าท้องลูกคนที่ 2 ต้องการเงินครับ คือมันก็ไม่ได้แย่นะ ถ้าจะบอกว่าเราทำเพื่อเงิน ผมบอกทุกคนเลยว่าที่ทำเนี่ยทำเพื่อเงิน (หัวเราะ)” พี่เอ็ดบอกเราอย่างจริงใจ เหมือนกับที่จอร์จกับซาร่ามาช่วยกันขายเครื่องออกกำลังกายยังไงอย่างงั้น

เพราะงบน้อย พี่เอ็ดจึงแทบจะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่ คิดเอง เล่นเอง บางทีก็ถ่ายเอง และตัดต่อเอง ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ดีเพราะตัวเองเองนี่แหละที่จะรู้ว่าความสนุกของเรื่องราวอยู่ตรงไหน

“หลักการทำงานคือ ก็ตัดไปจนกว่ามันจะสนุก” พี่เอ็ดเล่า

พี่เอ็ด7วิ, เอ็ดดี้ จุมพฏ จรรยหาญ

4

ต้นทุนที่มองไม่เห็น

ในการทำงาน แม้เจ้าของสินค้าจะได้รับบริการระดับโลว์คอสต์ แต่ยอดผู้ชมและยอดแชร์กลับเป็นระดับพรีเมียม เพราะพี่เอ็ดใช้ต้นทุนส่วนใหญ่ไปใช้เป็นค่าความคิด แทนที่จะเป็นค่าบริการหรือค่าผลิต

ฟังดูไปได้สวย แต่เรื่องเศร้ามันอยู่ตรงนี้

“พอเราขายความคิดเป็นหลัก มันจับต้องไม่ได้ บางคนคิดว่ามันไม่ใช้ต้นทุนแล้วก็มองมันไร้ค่า” พี่เอ็ดบอกว่า เขาเคยท้อใจที่ลูกค้าไม่เชื่อและโดนแก้งานอย่างถล่มทลายจนสคริปต์ไม่เหลือความสนุก เขาจึงไปถามคนนั้นคนนี้ขอคำแนะนำ

สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำนั้นง่ายมาก นั่นคือ การขอแยกทาง

หลายคนเรียกพฤติกรรมนี้ว่า ติสท์ พี่เอ็ดจึงยอมรับว่า “เออ กูติสท์”

พี่เอ็ดเชื่อว่าการรักษามาตรฐานที่เป็นประหนึ่งแบรนดิ้งของเพจและตัวตนของเขานั้นสำคัญมาก จะนับว่าเป็นอีกหนึ่งต้นทุนหลักเลยก็ได้ เพราะลูกค้าจะเชื่อและยอมจ่ายค่าความคิดก็เมื่อเห็นผลงานที่ผ่านมาของเราแล้วเขาเชื่อใจ

การยอมรับงานที่ไม่สามารถทำได้เท่ามาตรฐานของเพจนั้น สำหรับคนทำเพจแล้ว มันแทบจะเรียกว่าเป็นการทุบหม้อข้าวกันเลยทีเดียว

สำหรับใครที่กำลังคิดว่าความติสท์นี้เท่ อยากมีคนเอาเงินมาให้เราทำอะไรที่เราอยากทำไปได้เรื่อยๆ ใช่! เราก็อยาก จึงรีบถามเคล็ดลับจากเจ้าตัว

“เรียนจบมาก็ติสท์ได้เลยนะ ถ้าบ้านรวย มีกินมีใช้ ไม่จำเป็นต้องหาเงิน แต่ถ้าต้องทำมาหากินผมแนะนำให้ขยัน ไม่เลือกงาน และฝึกให้เยอะจนเก่งก่อน แล้วค่อยมาติสท์”

พี่เอ็ด7วิ, เอ็ดดี้ จุมพฏ จรรยหาญ

5

วิชาที่ไม่มีสอน

พี่เอ็ดบอกเราว่า เขาก็ไม่แน่ใจว่าความสามารถในการคิดอะไรตลกๆ ที่เราเห็นในคลิปต่างๆ นี่มันมาจากไหน ทั้งนี้เขายืนยันว่าเขาก็ไม่ใช่คนตลก แต่เรื่องหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้ คงเป็นเพราะความที่ไม่ได้มีทุกอย่างมาตั้งแต่เด็กๆ ทำให้เขาต้องคิดค้นวิธีเล่นสนุกแบบไม่มีเครื่องเกม คิดประดิษฐ์ของเล่นเองเพราะพ่อแม่ไม่ซื้อให้ เสริมสร้างให้เขาช่างคิด ช่างสังเกต แล้วก็ช่างจินตนาการ

พี่เอ็ดเห็นความคิดสร้างสรรค์เป็นอาวุธสำคัญสำหรับชีวิต จนถึงกับวางแผนว่า

“ผมว่าผมจะให้ลูกผมอดๆ อยากๆ ถ้าอยากได้ดินสอสีก็จะให้แค่สี่สีให้ลูกไปผสมสีดูเอาเอง”

ติสท์อีกแล้ว

พี่เอ็ด7วิ, เอ็ดดี้ จุมพฏ จรรยหาญ

6

โลกออนไลน์สมัยนี้…อยู่ยาก

เมื่อการทำโฆษณายากขึ้น อินฟลูเอนเซอร์ก็เลยผุดเป็นดอกเห็ด

พี่เอ็ดให้สูตรเด็ดการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ประสบความสำเร็จว่า เราจำเป็นต้องรู้ว่าเราเก่งอะไร

“อย่างการที่ผมเชื่อแนวทางการทำคอนเทนต์แบบนี้ ก็เป็นเพราะว่าผมก็ทำเป็นแต่แบบนี้ ผมไม่คิดว่าผมเป็นคนทำโฆษณาที่เก่งเพราะผมก็ทำได้อยู่แบบเดียว คือการทำภาพกับเพลง แล้วก็ตลก”

โชคดี ที่ความตลกเป็นสิ่งที่สังคมกำลังต้องการในเวลาที่รอบด้านมีแต่เรื่องไม่ตลก

ในระยะ 4 – 5 ปีที่ผ่านมา การโฆษณาทางออนไลน์ท้าทายขึ้นมาก แม้คนดูจะไม่เปลี่ยน แต่สิ่งที่เปลี่ยนมากๆ คือ แพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีจำนวนมาก และมีข้อบังคับอะไรหลายอย่างที่ทำให้เข้าถึงคนได้ยากขึ้น เรื่องนี้พี่เอ็ดบอกเราว่า “เราก็ต้องคิดงานให้ละเอียดขึ้น ให้คนอยากแชร์ อยากคอมเมนต์”

แม้คลิปของพี่เอ็ดจะดูเหมือนทำง่ายๆ แต่จากสิ่งที่เขาเล่าทำให้เรารู้ว่าพี่เอ็ดทำการบ้านเรื่องเนื้อหาดีมากๆ

“เวลาทำคลิปออกไปแต่ละคลิปผมก็จะมานั่งวิเคราะห์ว่าทำไมอันนี้คนแชร์เยอะ เออ มันน่าจะมีอะไรดี ทำไมอันนี้วิวน้อยกว่าที่คาด เพื่อเอาไว้พัฒนาคลิปต่อไป” พี่เอ็ดเล่า

7

ความลำบากสร้างคน  

ก่อนจาก พี่เอ็ดทิ้งท้ายอย่างไม่ทิ้งแบรนดิ้งว่า

“ทั้งหมดทั้งมวลเนี่ย ก่อนหน้านี้ไม่เคยทำนะ เพิ่งจะมาทำก็ตอนอยากได้เงินนี่แหละ”

พี่เอ็ด7วิ, เอ็ดดี้ จุมพฏ จรรยหาญ

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ