The Cloud x GC Circular Living

เราและช่างภาพนั่งลงที่โต๊ะเดียวกับ ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และ นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา เราทั้งสี่คนต่างพกกระบอกน้ำสแตนเลสติดตัวมา และนี่ไม่ใช่ภาพที่จะหาดูได้ง่ายๆ เมื่อ 5 ปีก่อน

ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และ นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา

ในช่วงสองสามปีมานี้ กระแสสิ่งแวดล้อมมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างช่วยกันผลักดันนโยบาย กิจกรรม ตลอดจนมีการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายเชิงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

น่าชื่นใจขึ้นไปอีก เมื่อลองมองให้ละเอียดถึงระดับบุคคล เราพบว่ามีคนใกล้ตัวพกกระบอกน้ำเกินกว่าครึ่ง หลายคนมีถุงผ้าพับเก็บได้ซ้อนไว้ในกระเป๋าถือเสมอ และแม้แต่ตัวเราเองก็เลิกรับหลอดจากร้านสะดวกซื้อทุกครั้งที่ซื้อน้ำดื่ม

การสื่อสารดูเหมือนจะเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งท็อปและนุ่นมองตัวเองเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ช่วยส่งต่อสารไปสู่คนอื่นๆ ผ่านการทำธุรกิจเพื่อสังคมหลายรูปแบบ และเมื่อหนึ่งเดือนก่อน เพิ่งมีการเปิดตัว ECOLIFE แอปพลิเคชันที่เชิญชวนให้คนลดการใช้พลาสติก ผ่านช่องทางที่เข้ากับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่มากที่สุด ที่ทั้งท็อปและนุ่นหวังว่าในอนาคตจะไม่มีผู้ใช้เลยสักคน

ทุกสิ่งที่ท็อปและนุ่นต้องการจะบอกเหมือนกับบทสนทนา ที่เราเคยคุยกับคนทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมคนหนึ่ง เขาบอกว่า เราไม่มีทางรู้หรอกว่าเรื่องเล็กๆ ที่เราทำในวันนี้ มันจะช่วยรักษาโลกไว้ได้หรือเปล่า แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยสักอย่าง แปลว่าเราสูญเสียโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว

ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และ นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ECOLIFE แอปฯ

01

ฟางเส้นแรก

“ผมไม่มีฟางเส้นสุดท้าย แต่มีฟางเส้นแรก”

ฟางเส้นแรกที่ทำให้ท็อปตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังคือ An Inconvenience Truth (2006) ภาพยนตร์อเมริกันที่พูดถึงผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ ในฐานะนักศึกษาสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ เขาตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวโน้มพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่มีต่อเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในยุคที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงปัญหา และคำว่า Eco Product ยังทำให้นึกถึงสินค้าที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติอย่างงานแกะสลักหรืองานสานอยู่

จากคำถามในใจสู่งานวิจัยวิชาวิทยานิพนธ์ที่ทำให้รู้ว่าพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคมี 3 ขั้น ความรู้สึกดี ความรู้สึกชอบ และการซื้อ เปรียบง่ายๆ เหมือนเวลาเราเลือกคู่ บางคนที่เราชอบ อาจจะไม่เหมาะกับเรา หรือบางคนดีเหลือเกิน แต่เราก็ไม่ชอบเขา

“สินค้า Eco ใครๆ ก็รู้สึกดี รู้สึกชอบมันอยู่แล้ว มีทั้งดีไซน์ มีทั้งเรื่องเล่า แต่คนส่วนใหญ่ลังเลที่จะซื้อเพราะราคาสูง ซึ่งราคาที่สูงขึ้นหมายถึงจำนวนขั้นตอนการทำที่มากขึ้นด้วย สมมติว่าเราทำเสื้อยืดจากขวดพลาสติก กระบวนการที่เพิ่มขึ้นคือ  ต้องหาคนไปเก็บขยะพลาสติก พอเอาขยะมาแล้วก็ต้องทำความสะอาด จากนั้นต้องนำมาผ่านกระบวนการให้เป็นเส้นใย พอเพิ่มต้นทุนตรงนี้เข้ามามันเลยทำให้สินค้าราคาสูงขึ้น”

ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคือ จะทำอย่างไรให้ต้นทุนในการทำตรงนี้ลดลงเพื่อที่ผู้คนจะได้เข้าถึงสินค้า Eco มากขึ้น หรือมีวิธีอื่นที่เราจะช่วยสิ่งแวดล้อมได้ง่ายกว่านี้หรือไม่

ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และ นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ECOLIFE แอปฯ

02

จากวิทยานิพนธ์นิสิตปริญญาตรีสู่ธุรกิจเพื่อสังคม

ก่อนจะมาเป็น ECOLIFE หลายปีก่อน ท็อปและนุ่นเปิด ECOSHOP ร้านที่รวมสินค้าออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเอาไว้ด้วยกัน ต่อมาทั้งคู่ได้จัดตั้ง ‘บริษัท คิดคิด จำกัด’ ให้บริการปรึกษาด้านพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้กับองค์กรต่างๆ เพราะไม่ใช่ทุกองค์กรที่เหมาะกับการปลูกต้นไม้ คิดคิดเกิดขึ้นเพื่อช่วยให้องค์กรได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ การดำเนินงาน และนโยบายที่แตกต่างกันไป

ทั้ง ECOSHOP และคิดคิดพบปัญหาเดียวกันคือ ความเข้าใจของคนต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม นุ่นเคยใช้เวลาเป็นชั่วโมงเพื่อขายสมุด Eco 1 เล่ม อธิบายให้ลูกค้าเข้าใจถึงข้อดีของสมุดเล่มนั้นว่าทำมาจากอะไร จะช่วยใครได้บ้าง และหลายองค์กรมีความตั้งใจที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหนดี

มันจึงไม่ใช่แค่การตลาดหรือการประชาสัมพันธ์ให้คนซื้อของหรือมารับคำปรึกษาแล้วก็จบ แต่เป็นการเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อจุดมุ่งหมายที่ยั่งยืนกว่านั้น

“เราไม่อยากแก่ตัวไปแล้วอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่บรรลัยไปแล้ว แต่พอมองไกลขนาดนั้น ทุกคนไม่ได้เห็นภาพเดียวกับเรา เราเลยเปลี่ยนจากคำว่า ฝันให้ไกลไปให้ถึง เป็นฝันให้ใกล้แล้วไปให้ถึงก่อน คือเอาตรงนี้ เอาใกล้ๆ ก่อน ถ้าจะทำอะไรให้มองถึงผลกระทบที่มีต่อตัวเอง สมมติอยากทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อม ก็ย้อนมาดูตัวเองก่อนว่าข้อดีของคุณคืออะไร เอาที่แบบใกล้ตัวและไม่ได้ขัดกับตัวตนมาก

ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และ นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา

“ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างพลาสติก ที่ตอนนี้ใช้กันเยอะมากจนจะล้นโลก สิ่งที่เราสองคนทำวันนี้คือ พยายามลดปริมาณของ Single-used Plastic ทำสองอย่าง อย่างแรกคือ ทำในชีวิตประจำวัน อย่างที่สองคือ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของสังคม ในชีวิตประจำวันเราก็พกกระบอกน้ำ พกเป้ พกถุงผ้า เพื่อลดปริมาณพลาสติกจากขวดน้ำดื่มหรือถุงก็อบแก็บที่ได้รับเวลาไปซื้อของ ข้อดีเลยเวลาเราพกกระบอกน้ำไปกินข้าว เราไม่ต้องจ่ายค่าน้ำเปล่า ถ้าไปร้านถูกหน่อย ลดไปได้ 20 บาท ถ้าไปโรงแรมน้ำอาจประหยัดได้ถึง 60 บาท ค่าใช้จ่ายเราก็ลดลง ลดได้เลย เห็นผลเลย หรือการพกถุงผ้า พกเป้ มันก็ช่วยให้ของไม่หาย ช่วยถนอมของในนั้นด้วย”

อย่างที่สองที่ท็อปและนุ่นทำคือ การทำให้สังคมมีส่วนร่วมในการช่วยลดปริมาณการใช้ Single-used Plastic โดยนำเทคโนโลยีผนวกกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่มาพัฒนาเป็น ECOLIFE แอปพลิเคชันที่ชวนให้คนเลิกรับถุงหรือหลอดพลาสติก

ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และ นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา

03

เรา/เลิก/กัน/เถอะ

 ในช่วงเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเคยผ่านตาวีดีโอโปรโมตแอปพลิเคชัน ECOLIFE ของท็อปและนุ่นมาบ้าง และคงคุ้นหูกับประโยค ‘เราเลิกกันเถอะ’ ที่พูดซ้ำไปมาในคลิปนั้น

ECOLIFE application #เราเลิกกันเถอะ

จริงๆ แล้วพลาสติกทั้งหลายไม่ใช่ตัวร้าย แต่น่าจะใช้ให้คุ้มค่ามากกว่านี้ ท็อป-นุ่นก็เลยอยากชวนทุกคนลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) ผ่านโปรเจกต์ 'เราเลิกกันเถอะ!!' สนุก! เพราะงานนี้ทั้งคู่ชวนป๋อมแป๋ม โอปอล์ และกรรณ มาร่วมด้วย มาดูกันว่าพวกเขาจะช่วยกันลดใช้พลาสติกด้วยวิธีไหนใครที่ดูจบและตามไปโหลด ECOLIFE App มาแล้ว แสดงตัวหน่อย!#readthecloud #TheCloud #ECOLIFEapp #SingleUsePlastic #เราเลิกกันเถอะ

The Cloud 发布于 2019年6月21日周五

ECOLIFE เกิดขึ้นมาเพื่อจูงใจให้คน ‘เลิก’ รับหลอดและถุงพลาสติกจากร้านค้าที่เข้าร่วม โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนที่ใช้ชีวิตแบบ Urban Lifestyle ในวันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิต การรณรงค์แบบเมื่อก่อนคงไม่ได้ผลอีกต่อไป ECOLIFE เลยออกมาในรูปแบบของแอปพลิเคชัน เทคโนโลยีเพื่อดึงการมีส่วนร่วมของคนจากความสนใจของเขา

โจทย์ข้อใหญ่ที่จะทำให้คนมาใช้แอปต้องง่ายและสนุก ง่ายในที่นี่คือต้องไม่ทำให้เขารู้สึกยุ่งยาก ไม่ต้องกรอกข้อมูลให้เสียเวลา และไม่ได้ห้ามรับพลาสติกอย่างเด็ดขาด แต่ให้ดูความจำเป็นแต่ละโอกาส

“เราไม่ได้มองว่าพลาสติกเป็นผู้ร้าย แต่เราใช้มันไม่สมศักดิ์ศรี เราได้พลาสติกจากร้านขายของ เดินออกไปหน้าร้านก็ทิ้งแล้ว ร้านให้หลอดพลาสติกมา เราก็รับเพราะมันฟรี อย่างน้ำขวดนี่มาทั้งแก้ว ขวด ฝาปิด หลอด กระดาษหุ้ม แล้วยังถุงพลาสติกใส่มาอีก ดื่มห้านาทีทิ้งหมด เรารู้สึกว่าพลาสติกแบบ Single-used สามารถลดได้ตั้งแต่ต้นทางโดยการปฏิเสธที่จะรับบ้าง แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ไม่ฝืน เราเคยทดลองกันเองสองคน ลองกินชานมไข่มุกแบบไม่ใช้หลอด กินได้แต่น้ำ แล้วไข่มุกอยู่ใต้น้ำแข็งอีก ลิ้นลงไปไม่ถึง (หัวเราะ)”

ECOLIFE แอปฯ

ส่วนความสนุกอยู่ที่รูปแบบเกมภายในแอปทุกคนจะมีตัวการ์ตูนและพื้นที่ให้สะสม ยิ่งเราสแกน QR code ว่าไม่รับพลาสติกมากเท่าไหร่ พื้นที่หรือตัวการ์ตูนที่เรามีก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ทั้งยังได้รับ Eco Point เพื่อนำไปแลกสิทธิประโยชน์ต่างๆ ต่อไปได้อีก ที่สำคัญ ECOLIFE สามารถบอกผลลัพธ์เรียลไทม์ว่าร้านค้าแต่ละร้านลดการใช้พลาสติกไปได้เท่าไหร่ ถ้าเป็นในมหาวิทยาลัย ก็สามารถแยกได้เลยว่านิสิตนักศึกษาแต่ละคณะช่วยกันลดพลาสติกไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว

“เราเริ่มต้นทดลองระบบปลายปีที่แล้วกับมหาวิทยาลัย 30 กว่าแห่ง สถานที่เป็นย่านสยามทั้งหมด ตั้งแต่สยามสแควร์ไปถึงสามย่าน ฟังดูเหมือนเยอะใช่ไหม แต่ถ้าลองเปิดแผนที่ตอนนี้มันก็ยังเป็นแค่จุดเดียว เราสองคนคาดหวังว่าเราทำแอปนี้เพื่อให้จุดนี้ขยายออกไป อยากให้มีร้านค้าเข้ามาร่วมกันเยอะๆ พอร้านเพิ่มมากขึ้น User ก็สามารถใช้แอปได้ในหลากหลายพื้นที่ จำนวนพลาสติกที่เราลดได้ก็จะเพิ่มมากขึ้น”

นอกจากจะทำให้แอปง่ายและสนุกสำหรับผู้ใช้แล้ว อีกโจทย์หนึ่งที่ทั้งสองให้ความสำคัญมากคือ จะทำยังไงให้ธุรกิจนี้ win-win กับทุกฝ่าย ทั้งผู้ใช้งาน บริษัทของเรา ร้านค้า ศูนย์การค้า รัฐบาล หนึ่งคือ บริษัทตัวเอง ในฐานะที่เป็นธุรกิจเพื่อสังคม จะต้องทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น สองคือ ร้านค้าที่เข้าร่วม เมื่อลูกค้ารับพลาสติกน้อยลง เขาก็สามารถลดต้นทุนในการซื้อพลาสติกได้ สาม ศูนย์การค้าหรือตลาดจะได้ลดต้นทุนในการจัดการขยะที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับภาครัฐที่สามารถลดงบประมาณในการจัดการขยะลง ทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นจนส่งผลต่อธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไปโดยอัตโนมัติ

ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และ นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา

04

จำนวนผู้ใช้งาน = 0

ณ วันที่เราคุยกับเขาทั้งสอง มีผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน ECOLIFE กว่า 30,000 คน และสามารถลดการใช้พลาสติกไปแล้ว 300,000 ชิ้น แต่เป้าหมายของทั้งคู่ทะเยอทะยานไปกว่าจำนวนผู้ใช้เลข 4 หรือ 5 หลัก พวกเขาต้องการให้เหลือเป็น 0

“เราออกแบบแอปวันนี้เพื่อให้คนเลิกใช้ในอนาคต ถ้าจำนวนของคนใช้และจำนวนพลาสติกที่ลดได้มีมากพอ ร้านค้าก็จะมั่นใจว่าเขาไม่ต้องแจกถุงพลาสติกแล้ว ภาครัฐก็จะมั่นใจว่าสามารถออกกฎหมายได้ เหมือนอย่างก่อนหน้านี้ที่คนฮิตปั่นจักรยานกัน จนภาครัฐต้องทำเลนจักรยานเพื่อรองรับปริมาณคนขี่ที่เราเห็นกันชัดๆ อยู่แล้วว่ามีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”

เพราะสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำคนเดียวได้ เขาทั้งคู่ก็ไม่กล้ารับปากว่าโลกจะดีขึ้นในเร็ววัน แต่การปรับเปลี่ยนตัวเองในวันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่อย่างน้อยก็น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในระยะยาวได้

“เรารู้แหละว่าเรื่องใหญ่ๆ อย่างสิ่งแวดล้อมนั้นเปลี่ยนแปลงยาก ไม่ใช่เรื่องที่พูดปุ๊ป คนจะปิ๊งเลย แต่เราทำมันไปเรื่อยๆ เถอะ สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง โดนด่าบ้าง โดนดูถูกบ้าง ก็ไม่เป็นไร ทำไปเรื่อยๆ อาจจะยังไม่ต้องเปลี่ยนทั้งหมดในวันนี้ แต่ค่อยๆ ปรับตัวเอง วันนี้เราทำแอป เดี๋ยวก็มีคนอื่นเข้ามาทำเรื่องอื่นๆ อีก เป็นตัวเลือกให้คุณได้เลือกทำในสิ่งที่ถูกจริตของตัวเอง แต่มันจะไม่เกิดประโยชน์และไม่ได้ผล ถ้าคุณนั่งอยู่เฉยๆ โดยที่ไม่เลือกทำอะไรเลย”

หลายคนอาจจะเคยได้ยินทฤษฎี 21 วันมาบ้าง งานวิจัยบอกว่าถ้าเราลองเปลี่ยนนิสัยหรือพฤติกรรมสักอย่าง และลองทำต่อเนื่องไป 21 วัน พอขึ้นวันที่ 22 มันจะกลายมาเป็นนิสัย เป็นกิจวัตรประจำวันของเรา 

แอปพลิเคชัน ECOLIFE เปรียบเหมือนกับยาเคลือบน้ำหวาน ชักชวนคนให้มาใช้แอปลดการใช้พลาสติก เพื่อความสนุกและสิทธิพิเศษต่างๆ  แต่ทั้งท็อปและนุ่นเชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้ว ทฤษฎี 21 วันนี้จะต้องเกิดขึ้นกับใครบ้าง เขาจะใช้พลาสติกน้อยลงจนเป็นนิสัย ต่อให้ในวันนั้นจะยังมี ECOLIFE หรือไม่มีก็ตาม

ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และ นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล