เชื่อไหมว่า ไต้หวันเคยได้รับชื่อเล่นแนวล้อเลียนว่า ‘เกาะแห่งขยะ’ (Garbage Island) 

ย้อนกลับไปเมื่อราว 25 ปีก่อน ประเทศเกาะขนาดเล็กที่มีหน้าตาเหมือนเมล็ดข้าวนี้มีอัตราการจัดเก็บขยะครัวเรือนเพียงแค่ 70 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณขยะทั้งหมด แต่ในวันนี้ ไต้หวันกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพด้านการจัดการขยะดีที่สุดในเอเชีย นอกจากอัตราการการจัดเก็บขยะจะขยับขึ้นมาเป็น 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ยังมีอัตราการรีไซเคิล 55 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสวยหรู (สหรัฐฯ มีอัตรารีไซเคิลแค่ 34 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเองนะ!) ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนอยู่ชัดในทุกพื้นที่ ใครที่ได้ไปเยือนไต้หวันในช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี้แทบไม่เจอขยะอยู่ตามพื้นถนนแล้ว

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงใหญ่โตขนาดนี้ในชั่วระยะ 3 ทศวรรษไม่ได้เกิดจากแค่รัฐบาลไต้หวันออกคำสั่งให้เปลี่ยน ภาคเอกชนและประชาชนเองก็ลงแรงแข็งขัน เห็นได้จากการกำเนิดของกิจการรีไซเคิลมากกว่า 1,600 แห่งทั่วประเทศ แถมวันนี้รัฐบาลไต้หวันยังล้ำไปไกลกว่าแค่การจัดการขยะหรือการรีไซเคิล แต่มีการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม

เกริ่นกันมายาวเพราะอยากให้เห็นว่าผู้ประกอบการที่มาพูดคุยกับเราวันนี้ทำงานอยู่ในบริบทแบบไหน ไม่ต้องบอกก็เดาได้ว่าต้องเป็นธุรกิจจากไต้หวันและเกี่ยวข้องกับการจัดการขยะ เราได้รู้จัก ECOCO ผ่านงาน GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together งานประชุมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จัดโดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บนเวทีนั้นเองที่เราได้ฟังเรื่องราวของบริการรับคืนขวดพลาสติกจากเมืองไถหนาน (Tainan) ที่มีทั้งจุดเริ่มต้น วิธีการ และเป้าหมายที่น่ารักจนเราอยากเอามาเล่าต่อให้คุณฟัง

ECOCO ตู้รับคืนขวดสัญชาติไต้หวันที่เริ่มจากอยากให้ลูกภูมิใจและสร้างสิ่งดีๆ ไว้ให้บ้านเกิด

Made for Young Generation

ก่อนกระโดดมาเริ่มจับงานด้านขยะ แอนดรูว์ ลี (Andrew Lee) ผู้ก่อตั้ง ECOCO ทำงานด้านการเงินอยู่ในประเทศจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ให้เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจและวิธีการสร้างรายได้หลากหลายรูปแบบ รวมถึงความเป็นไปในด้านต่างๆ ของโลก แน่นอนว่าเขาสังเกตเห็นกระแสความเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นคลื่นที่ยากจะต้านทานได้จากทั่วโลก

“ผมทำงานที่จีน ได้ศึกษาโมเดลธุรกิจและความเป็นไปได้ต่างๆ มากมายจากเนื้องานที่ทำ ขณะเดียวกันก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในนโยบายสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น สหภาพยุโรปเริ่มกำหนดให้ธุรกิจต้องใช้วัสดุที่รีไซเคิลแล้วมาเป็นส่วนผสมในการผลิต นั่นทำให้ผมเริ่มหันมาสนใจเรื่องธุรกิจรีไซเคิลเป็นครั้งแรก”

แอนดรูว์เล่าให้เราฟังว่า ไต้หวันในเวลานั้นเป็นประเทศที่มีระบบการจัดเก็บและรีไซเคิลดีมากอยู่แล้ว ในวันที่เขาเริ่มศึกษาตลาด ก็พบว่ามีผู้เล่นจำนวนหนึ่งกำลังพัฒนาบริการแบบเดียวกับที่เขาสนใจ นั่นคือการใช้ตู้อัตโนมัติ (Vending Machine) มาเป็นกลไกในการจัดเก็บหรือรับคืนขยะ

ECOCO ตู้รับคืนขวดสัญชาติไต้หวันที่เริ่มจากอยากให้ลูกภูมิใจและสร้างสิ่งดีๆ ไว้ให้บ้านเกิด
ECOCO ตู้รับคืนขวดสัญชาติไต้หวันที่เริ่มจากอยากให้ลูกภูมิใจและสร้างสิ่งดีๆ ไว้ให้บ้านเกิด

“อันที่จริงแนวคิด RVM (Reverse Vending Machine) เริ่มต้นกันมาหลายปีแล้วเหมือนกัน” แอนดรูว์เล่า “ในช่วงเริ่มต้น ผมเห็นมีหลายเจ้าคิดจะทำ RVM เหมือนกัน แต่สิ่งที่พวกเขายังไม่มีก็คือโมเดลในการทำเงิน และยังเน้นการพึ่งพาการสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐอยู่ แต่จากประสบการณ์ของผมที่เป็นนักการเงิน ผมมองว่ามันมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจอยู่ในไอเดียนี้”

แม้มีไอเดียธุรกิจอัดแน่นอยู่ในใจ แต่สิ่งที่ผลักดันให้แอนดรูว์ลงมือปลุกปั้น ECOCO ให้เกิดขึ้นจริงไม่ใช่แรงขับเคลื่อนทางการเงินหรือโอกาสที่อยู่ตรงหน้า แต่กลับเป็นวันที่ลูกสาวของเขาลืมตาดูโลก

“ผมตัดสินใจกลับไต้หวันหลังจากที่ภรรยาผมให้กำเนิดลูกสาว ช่วงเวลานั้นทำให้ผมรู้สึกว่า อยากทำอะไรบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนในบ้านเกิดเมืองนอนและต่อโลกใบนี้ นั่นเป็นสิ่งที่ลูกสาวผมเห็นแล้วรู้สึกภาคภูมิใจว่าพ่อของเขาได้ทำอะไรดีๆ เพื่อบ้านเมือง”

ฟังแล้วรู้สึกว่า ถ้าหากสรุปว่า ECOCO คือธุรกิจที่สร้างขึ้นมาเพื่อส่งต่อโลกที่อยู่อาศัยได้ให้กับคนรุ่นต่อไปก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะลูกสาวตัวน้อยของแอนดรูว์ คือผู้จุดประกายให้พ่อของเธอลงมือทำนั่นเอง

ECOCO ตู้รับคืนขวดสัญชาติไต้หวันที่เริ่มจากอยากให้ลูกภูมิใจและสร้างสิ่งดีๆ ไว้ให้บ้านเกิด

Made in Tainan

เจ้า ECOCO ได้ถือเกิดขึ้นที่เมืองบ้านเกิดของแอนดรูว์ตามที่เขาตั้งใจไว้ เมืองไถหนานเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 4 ของไต้หวัน และเป็นความภาคภูมิใจของแอนดรูว์ถึงขั้นเอามาใส่ไว้ใน Tagline ของแบรนด์ว่า Made in Tainan ซึ่งเขาอธิบายว่า

“นึกภาพนักบาส NBA หรือนักเบสบอล MLB ดูสิครับ” แอนดรููว์ชวนให้เราจินตนาการ “ผมว่านักกีฬาในลีกกีฬาดังๆ ของโลกที่ได้เล่นให้ทีมบ้านเกิด เหมือนเขาได้สร้างอะไรบางอย่างให้เมืองของเขา ผมชอบความรู้สึกนั้นมาก เหมือนเราได้ทำอะไรดีๆ ด้วยกันให้บ้านของเรา”

บริการของ ECOCO เรียบง่าย และออกแบบมาอย่างเข้าอกเข้าใจพฤติกรรมคนไต้หวัน 

ECOCO ตู้รับคืนขวดสัญชาติไต้หวันที่เริ่มจากอยากให้ลูกภูมิใจและสร้างสิ่งดีๆ ไว้ให้บ้านเกิด
ECOCO ตู้รับคืนขวดสัญชาติไต้หวันที่เริ่มจากอยากให้ลูกภูมิใจและสร้างสิ่งดีๆ ไว้ให้บ้านเกิด

“คนไต้หวันชอบชานมครับ” เราพยักหน้าเห็นด้วยกับซีอีโอชาวไต้หวัน พลางคิดว่าคนไทยก็ชอบเหมือนกัน “แต่นั่นก็ทำให้มีแก้วและขวดพลาสติกมากมายที่ถูกทิ้งในแต่ละวัน เราจำเป็นต้องนำพลาสติกเหล่านั้นกลับมาจัดการอย่างถูกต้อง ECOCO ทำหน้าที่เป็นจุดรับคืนพลาสติกใช้แล้วพวกนั้น โดยผู้ใช้จะหย่อนขยะใส่ในตู้อัตโนมัติและได้รับคะแนนสะสม เพื่อไปแลกรับส่วนลดจากร้านค้าหรือคาเฟ่ที่พวกเขาใช้บริการเป็นประจำเป็นการตอบแทน

“แบรนด์พาร์ตเนอร์ที่เราทำงานด้วยเป็นแบรนด์ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของชาวไต้หวันอยู่แล้ว การสะสมแต้มก็ทำผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนที่ใช้กันเป็นประจำ นั่นทำให้บริการของ ECOCO เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในทุกวันของทุกคนได้”

ECOCO ตู้รับคืนขวดสัญชาติไต้หวันที่เริ่มจากอยากให้ลูกภูมิใจและสร้างสิ่งดีๆ ไว้ให้บ้านเกิด

วิธีการสื่อสารของ ECOCO กับผู้ใช้ที่ดูเป็นมิตรก็เป็นหนึ่งในจุดเด่นของแบรนด์เช่นกัน ไม่ว่าจะหน้าตาของตู้ที่ดูเหมือนชวนมาเล่นเกม และภาพการ์ตูนที่ใช้สื่อสารทั้งกับผู้ใหญ่และเด็กได้ดี น่าจะเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจให้แบรนด์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้ใช้เช่นเดียวกัน 

นั่นคงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เจ้าตู้คืนสุข ECOCO ที่รับคืนทั้งขยะพลาสติกและคืนความสุขให้ในรูปแบบของแต้มแลกรางวัลกำลังขยายออกไปไกลจากไถหนานซึ่งเป็นบ้านเกิดแล้ว

“ECOCO ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เราเลยยิ่งต้องทำงานหนักกับการสื่อสารบนโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้ใช้ และเพื่อทำให้กลุ่มผู้ใช้เติบโตมากขึ้น ตอนนี้ ECOCO มีให้บริการในสามเมืองของไต้หวันแล้ว และกำลังจะขยับไปที่เมืองที่สี่เร็วๆ นี้”

นี่อาจจะเป็นความรู้สึกเดียวกันกับนักกีฬาที่แข่งลีกประจำเมืองแล้วได้ข้ามไปแข่งในสนามระดับประเทศหรือเปล่านะ เราได้แต่จินตนาการตามอย่างตื่นเต้น

ECOCO ตู้รับคืนขวดสัญชาติไต้หวันที่เริ่มจากอยากให้ลูกภูมิใจและสร้างสิ่งดีๆ ไว้ให้บ้านเกิด

Made for Fun and Participation

แม้ว่าสิ่งที่ ECOCO ทำอาจดูเล็กและเรียบง่าย แต่เราอยากไฮไลต์ให้คุณฟังตรงนี้ว่า สิ่งเล็กๆ นี้เป็นจุดเริ่มต้นของหลายสิ่งที่สำคัญ

กระบวนการการเก็บคืนขยะพลาสติกเพื่อไปเข้ากระบวนการจัดการที่เหมาะสม เป็นหนึ่งในข้อต่อสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้เกิดขึ้น นำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดอัตราการนำวัตถุดิบใหม่ (Virgin Material) มาใช้งาน และช่วยชะลดหรือลดอัตราการทำลายสิ่งแวดล้อมลง

“คำว่า Circular Economy เป็นคำที่ใหญ่มากครับ” แอนดรูว์ให้ความเห็นกับเราเมื่อถูกถามว่า เขามอง ECOCO เป็นผู้เล่นแบบไหนในภาพฝันนี้ “ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการผลักดันแนวคิด Circular Economy ในตอนนี้ คือการพยายามทำให้มันเข้าไปเชื่อมโยงกับประชาชนคนเดินดินให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งส่วนที่ ECOCO กำลังทำ คือเพิ่มอัตราการรีไซเคิลโดยให้คนทั่วไปได้มีส่วนร่วม ผ่านบริการที่สนุก

“เมื่อกลไกลของเราสนุก คนได้ประโยชน์จากการนำขวดมาคืนแล้วสะสมแต้มหรือส่วนลด พวกเขาก็จะมีส่วนร่วมกับการสร้าง Circular Economy ในชีวิตประจำวัน งานของ ECOCO คือการทำให้สิทธิประโยชน์เหล่านั้นเห็นเป็นรูปธรรม”

ECOCO ตู้รับคืนขวดสัญชาติไต้หวันที่เริ่มจากอยากให้ลูกภูมิใจและสร้างสิ่งดีๆ ไว้ให้บ้านเกิด

คำอธิบายของแอนดรูว์ตอบเราได้อย่างชัดเจน ว่าทำไมบริษัทของเขาจึงมีชื่อว่า Fun Lead Change ซึ่งนั่นไม่ได้เป็นเพียงชื่อ แต่เป็นการนำคุณค่าหลักของบริการออกมาเล่าอย่างตรงไปตรงมา

“สิ่งที่ผมอยากสร้างคือธุรกิจที่ทุกคนชนะไปพร้อมกัน” นักลงมือทำชาวไต้หวันกล่าวอย่างมีความฝัน “ทั้งเมืองที่ผมอยู่ ลูกสาวของผมที่จะเติบโตมา พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ ไปจนถึงรัฐบาล ที่ตอนนี้เขาเริ่มเห็นความสำคัญของสิ่งที่เราทำอยู่ และเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนมากขึ้น

“ผมมองว่า ECOCO เป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้เราใช้ทรัพยากรกันได้อย่างยั่งยืนขึ้น ดังนั้น เราไม่ได้จะหยุดแค่ที่พลาสติก เรามองไปถึงขยะชนิดอื่นอย่างแบตเตอรี่ ที่ตอนนี้มีอัตราการรีไซเคิลแค่สี่สิบเก้าเปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างกับมันครับ” แอนดรูว์แบ่งปันก้าวต่อไปของ ECOCO กับเราเป็นการตบท้าย

ECOCO ตู้รับคืนขวดสัญชาติไต้หวันที่เริ่มจากอยากให้ลูกภูมิใจและสร้างสิ่งดีๆ ไว้ให้บ้านเกิด
ECOCO ตู้รับคืนขวดสัญชาติไต้หวันที่เริ่มจากอยากให้ลูกภูมิใจและสร้างสิ่งดีๆ ไว้ให้บ้านเกิด

ภาพ : ECOCO 


ข้อมูลอ้างอิง 

GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together งานประชุมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จัดโดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก National Geographic และเครือข่ายพันธมิตรที่รวบรวมกว่า 40 ผู้นำความคิด นวัตกร และนักธุรกิจจากทั่วโลก มาร่วมแบ่งปันความคิดและประสบการณ์เกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อขับเคลื่อนโลกสู่ความยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม การสร้าง Business Model เพื่อก่อให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem)

งานนี้มุ่งหวังการแลกเปลี่ยนมุมมองและส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องราวที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในรูปแบบ Circular in Action รวมพลังปฏิวัติการใช้ทรัพยากรโลก เพื่อสร้างสมดุลเพื่อความยั่งยืน โดยถอดบทเรียนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน วิถีการพึ่งพาตนเอง…ใช้สิ่งที่มีให้คุ้มค่า เปลี่ยนแนวความคิดสู่การปฏิบัติที่พร้อมขยายผล ถ่ายทอดจากประสบการณ์ตรงที่เข้าใจง่ายและเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เป็นประโยชน์ทั้งในชีวิตประจำวัน SMEs องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนสังคม เพื่อเป็นแรงกระเพื่อมให้การนำแนวคิด Circular Economy ขยายผลออกไปให้มากที่สุด เพื่อจะสร้าง ‘วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า’ ร่วมกัน (Tomorrow Together)

เข้าชมทุก Speaker ทุก Session ย้อนหลังได้ที่นี่

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง