The Cloud x การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
เคยได้ยินไหมว่าแม้จะออกกำลังกายดีแค่ไหน แต่ถ้ากินไม่ดี ยังทานอาหารที่เต็มไปด้วยสารพิษ คำว่า ‘แข็งแรง’ อาจไม่เกิดขึ้นจริง จะเด็กหรือผู้ใหญ่ จะมีโรคหรือไม่ การ ‘กินดี’ จึงเป็นหัวใจสำคัญของคนทุกรุ่น ทุกวัย
เราจึงรวบรวมสารพัด 14 กิจการทั่วไทยที่เชื่อเรื่องอาหารเป็นยา และเชื่อว่าการกินดีคือทางออกของทุกปัญหา ทั้งร้านสมุนไพรโบราณเก่าแก่ประจำเมือง ร้านอาหารปลูกผักปลอดสาร ไอศกรีมจากพืชผักอินทรีย์ของเกษตรกรไทย ไหนจะเครื่องดื่มมากสรรพคุณจากข้าวท้องถิ่น ไม่ว่าจะปักหมุดแวะเวียนไปร้านไหน ก็ได้ ‘กินดี’ ทั้งสิ้น
ความพิเศษคือร้านเหล่านี้ไม่ได้ดีต่อท้องไส้และร่างกายของเราเท่านั้น แต่ยังเรียกว่าดีแบบ 4 in 1
เพราะนอกจากสุขภาพจะดีแล้ว สิ่งแวดล้อมก็ดีตาม แถมเกษตรกรไทยยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งกายและใจ เพราะร้านส่วนใหญ่ตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่สีเขียว เราจึงได้นั่งรับลมชมบรรยากาศดี ๆ ตามไปด้วย
01
เครื่อมดื่มซูเปอร์ฟู้ดแบบญี่ปุ่นจากข้าวท้องถิ่นไทย
YoRice

เราต่างรู้กันดีว่าในบรรดาสายพันธุ์ข้าวทั่วโลก ‘ข้าวไทย’ มีชื่อเสียงไม่แพ้ข้าวเมืองใด แต่ไฉนความเป็นอยู่ของชาวนาไทยกลับยากลำบาก และคนไทยกลับรู้จักข้าวไทยอยู่เพียงไม่กี่สายพันธุ์
ด้วยคำถามเดียวกันนี้เอง ปอ-ภราดล พรอำนวย จึงหันกลับมามองข้าวไทยเพื่อนำมาต่อยอดให้มีคุณค่า โดยได้รับคำแนะนำจากคุณหมอที่เชื่อเรื่องการทานอาหารให้เป็นยา และทำงานวิจัยเรื่องข้าวอย่าง นพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ ว่าหากอยากสร้างความยั่งยืนให้พี่น้องเกษตรกรไทยจริง ๆ เราต้องเพิ่มคุณค่าให้เมล็ดข้าวที่คนอาจไม่เห็นค่า

“คุณหมอเสนอไอเดียกับเราว่า ญี่ปุ่นมีอาหารชนิดหนึ่งเป็น Super Food ของเขา นั่นคือ อามาซาเกะ (Amazake) หรือสาเกหวานไม่มีแอลกอฮอล์ เกิดจากการหมักข้าวให้เกิดคุณค่าทางอาหารมากขึ้นด้วยโคจิ (Koji) เราเกิดไอเดียลองรับซื้อข้าวไทยพันธุ์ต่างๆ ที่ได้จากพี่น้องเกษตรอินทรีย์ รวมถึงผู้คนในค่ายอพยพ ไม่ว่าจะสวยหรือหัก มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มอามาซาเกะจากข้าวไทยภายใต้แบรนด์ ‘YoRice’ ออกมา” ปอเล่าความตั้งใจ
ฟังดูเหมือนจะง่าย แต่กว่าจะได้ YoRice ขวดแรกออกมา เขาและเหล่าเพื่อนต้องเสียเวลาและน้ำตาไปเกือบ 1 ปี เริ่มตั้งแต่ลองปลูกข้าวด้วยตนเอง เพื่อให้เข้าใจความยากลำบากของเกษตรอินทรีย์ ศึกษาการเลี้ยงโคจิ ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่ต้องใช้เวลากว่า 70 ชั่วโมงถึงจะนำมาหมักข้าวต่ออีก 14 ชั่วโมง จนได้เป็นอามาซาเกะจากข้าวไทยรสชาติต่างๆ แม้จะปราศจากการเติมน้ำตาล แต่ได้รสชาติหอมอร่อยที่คนแพ้แลคโตสทานได้ คนทานมังสวิรัติทานดี
มีทั้งรสออริจินัลจากข้าวญี่ปุ่นและข้าวหอมมะลิ และรสข้าวหอมมะลินิลสุรินทร์จากจังหวัดสุรินทร์

YoRice จึงเป็นเครื่องดื่ม 4 in 1 ที่ช่วยสร้างสิ่งดีๆ ถึง 4 ด้าน นั่นคือ หนึ่ง ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ได้ทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะอามาซาเกะอุดมด้วยแบคทีเรียดี ใยอาหาร วิตามินบี แร่ธาตุ และกรดอะมิโนที่ดีต่อร่างกาย สอง เกษตรกรอินทรีย์ทั่วประเทศมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สาม ผู้อพยพไร้รัฐมีโภชนาการอาหารที่ยั่งยืนกว่าเก่า และสี่ สนับสนุนพันธุ์ข้าวไทยพื้นเมืองที่กำลังจะหายไป ให้กลับมามีชีวิตในสายตาคนไทยอีกครั้ง
ที่ตั้ง : 18 ซอย 8 (ถนนสุขเกษม) ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
วัน-เวลาทำการ : ติดต่อนัดหมายล่วงหน้า
โทรศัพท์ : 09 5595 5244
Facebook : Yorice Amazake เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
02
คาเฟ่และซูเปอร์มาร์เก็ตที่อยากให้ลูกค้ากินดีและเกษตรกรมีชีวิตดีขึ้น
แสนสุขโฮมคาเฟ่


แสนสุขโฮมคาเฟ่ คือร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตของ เจ-วิภาดา จาฏุพจน์ ที่สนใจอาหารออร์แกนิกเมื่อ 8 ปีก่อน จึงชักชวนคนที่ทำงานในโรงสีของครอบครัว ซึ่งมีที่นาเป็นของตัวเองให้หันมาทำนาออร์แกนิก แต่ช่วงแรกคนยังไม่เข้าใจ จึงเป็นหน้าที่ของเจที่ต้องแชร์มุมมองเรื่องอาหารปลอดภัยให้ทั้งเกษตรกรและลูกค้า
“คนชอบมองว่าทำไมผักผลไม้ออร์แกนิกไม่ใช้ปุ๋ยเคมีแต่ราคาแพง ยกตัวอย่างแบบนี้ สมมติเราทำนาหนึ่งแปลง ใช้คนหนึ่งคนกับยาฆ่าหญ้าก็พ่นได้หมดแล้ว คนเดียวอยู่ แต่พอเป็นออร์แกนิก หญ้าต้องถูกถอนด้วยมือ หนึ่งคนไม่จบในหนึ่งวัน เราพยายามทำให้ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าใจเรื่องนี้มาตลอด และหวังว่ามันจะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น”
เจเริ่มจากรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรมาบริหารจัดการใหม่ ส่วนหนึ่งนำมาวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตที่เธอเปิดขึ้นเพื่อกระจายผัก อาหารแปรรูป และเมล็ดพันธุ์จากเกษตรกร และในพื้นที่สีเขียวลมโกรกแห่งนี้ เจยังเปิดแสนสุขโฮมคาเฟ่ นำผลผลิตอีกส่วนหนึ่งมาปรุงเป็นอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อส่งต่อสิ่งดี ๆ ตั้งแต่คนต้นน้ำจนถึงคนปลายน้ำ

เพราะการเลือกใช้วัตถุดิบอินทรีย์ คือหัวใจสำคัญของแสนสุขโฮมคาเฟ่ เมนูในร้านจะสับเปลี่ยนไปตามผลไม้ที่ออกในฤดูกาลนั้น ๆ นอกจากปราศจากสารเคมี ยังมีรสชาติดีกว่าผลไม้นอกฤดูกาล ส่วนเมนูแนะนำที่ใครมาก็ควรลองนั้นมีนามว่า แสนสุขโรล ภายนอกคล้ายเมี่ยงสด แต่ภายในสอดไส้ของขึ้นชื่อเมืองอุบลฯ อย่างหมูยอ นอกจากนั้นยังมีข้าวยำแสนสุข เจคัดสรรสมุรไพรที่ปลูกเองในสวน มาปรุงเป็นน้ำราดสูตรพิเศษแทนน้ำบูดูของภาคใต้
นอกจากได้ทานอาหารดี ๆ ในสวนสวย หากอยากสนับสนุนเกษตรกรอินทรีย์ของไทย ก็เลือกซื้อสรรพสินค้าที่เจเลือกสรรไว้แล้วกลับไปทานที่บ้านได้ เรียกว่าได้กินดีทั้งนอกบ้าน แถมยังได้ต่อยอดการกินดีที่บ้านอีกด้วย
ที่ตั้ง : 215 ถนนสถลมารค ตำบลแสนสุข อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี (แผนที่)
วัน-เวลาทำการ : เปิดทุกวัน (ปิดวันจันทร์) 09.00 – 17.00 น.
โทรศัพท์ : 08 2686 4909
Facebook : แสนสุขโฮมคาเฟ่
03
ขนมปังไร้แป้ง ไร้น้ำตาล จากวัตถุดิบอินทรีย์ ดีต่อสุขภาพ
Dancing With A Baker


เชื่อว่าคนรักขนมปังอย่างเราคงรู้สึกเศร้าทุกครั้งที่พบร้านขนมปังแสนอร่อยในดวงใจ แต่กลับกินตามใจปากไม่ได้มากเพราะรู้ดีว่าหากทานเกินปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ น้ำหนักจะขึ้นและตัวจะบวมทันที
ก็แหงล่ะ เพราะขนมปังอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตมากมี ด้วยปัญหาเดียวกันนี้ ‘Dancing with A Baker’ แบรนด์ขนมปังไร้แป้งและน้ำตาลของคู่รักอย่าง ตรัย สัสตวัฒนา และ พีรดา ศุภรพันธ์ จึงเกิดขึ้น
“ทำไมเธอไม่ทำขนมปังที่กินแล้วไม่อ้วนล่ะ” พีรดาเสนอไอเดียให้ตรัย แฟนหนุ่มผู้เติบโตมากับร้านเบเกอรี่ของคุณแม่ และคุ้นชินกับการการนวดแป้ง-อบขนมมาตลอด จากข้อเสนอนั้น ตรัยเริ่มศึกษางานวิชาการและทดลองสูตรขนมปังแบบเฉพาะตัวจนหมดวัตถุดิบไปหลายร้อยกิโลกรัม เพื่อให้ได้ขนมปังทรงสี่เหลี่ยมและทรงกลมที่มีคาร์โบไฮเดรตเพียง 4 กรัม
“ในเมื่อคาร์โบไฮเดรตเยอะไม่ดี ก็อยากลองตัดแป้งออกไป แล้วหาสิ่งอื่นมาทดแทน โดยที่ยังทำให้ผิวสัมผัสเวลากินกรอบหนุบหนับเหมือนขนมปังทั่วไป มีโปรตีนสูง ไฟเบอร์และไขมันในปริมาณพอเหมาะ” ตรัยอธิบาย

ถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่า ขนมปังรสอร่อยแถมยังกินดีของตรัยทำขึ้นจากอะไร คำตอบนี้ปรากฏบนบรรจุภัณฑ์ของ Dancing with A Baker อย่างโปร่งใสว่า ขนมปัง 1 ชิ้นของทั้งคู่เสกสรรค์ขึ้นจากเนยฝรั่งเศส วีตโปรตีน ไข่สดใหม่ส่งตรงจากฟาร์มที่มีอายุไม่เกิน 3 วัน เมล็ดแฟล็กออร์แกนิกที่อุดมด้วยความหอมและน้ำมันช่วยเพิ่มความอร่อย อัลมอนด์ผงกลิ่นหอมจากสหรัฐอเมริกา น้ำมันมะกอกจากผลที่เก็บเกี่ยวเร็ว และแป้งมะพร้าวออร์แกนิกที่ตรัยการันตีว่าอร่อยที่สุดในไทย
นอกจากความพิเศษของส่วนผสมทั้งหมดนี้ ทั้งคู่ยังตั้งใจให้ขนมปังถึงมือผู้รับอย่างร้านค้าและผู้บริโภคภายใน 18 ชั่วโมง หลังขนมปังกลิ่นหอมกรุ่นออกจากเตา เพื่อให้เราได้ทานขนมปังอร่อยและดีต่อสุขภาพแบบวันต่อวัน
ที่ตั้ง : 7, 5-6 ถนนประดิพัทธ์ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร (แผนที่)
โทรศัพท์ : 06 4961 7895
Facebook : Dancing With A Baker
04
ร้านผลไม้ครบวงจรที่อยากพัฒนาสวนผลไม้เมืองจันท์
Generation Fruit


“เราทำล้ง อยู่กับเกษตรกร เรารู้ว่าเขาเหนื่อยจริงๆ ทำมาทั้งปี ขายผลผลิตก็แล้ว ยังไม่พอจ่ายหนี้ค่าปุ๋ยตลอดทั้งปีเลย มันมีแต่ทุกข์ ไม่มีแสงสว่าง แล้วอนาคตเขาก็ต้องเจอคนจีนที่พยายามจะครองตลาดอีก”
นี่คือคำพูดจากปากของ วัฒน์-ศุภกฤษฏิ์ เย็นฉ่ำ ผู้คลุกคลีกับกิจการล้งเมืองจันท์มาเกือบ 20 ปี
20 ปี คือระยะเวลายาวนานพอให้วัฒน์ตระหนักว่า หากไม่ทำอะไรสักอย่าง ชาวสวนผลไม้และลูกหลานเมืองจันท์ต้องย่ำแย่แน่ ๆ หลังได้แรงบันดาลใจจากรายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่น ที่นำเสนอร้านค้ากระจายผลผลิตทางการเกษตรอย่างเป็นระบบ เช่น มีบาร์โค้ดให้ลูกค้าตรวจสอบว่า ซื้อผลไม้จากที่ไหน ข้อมูลการปลูกเป็นอย่างไร และคนปลูกเป็นใคร วัฒน์จึงบ่มเพาะโมเดลนี้อยู่กว่า 6 ปี จนเกิด ‘Generation Fruit’ แล็บน้ำผลไม้สกัดเย็นและมินิสโตร์ขายผลไม้
หากผลักประตูเข้ามาในร้าน เราจะพบคาเฟ่ผลไม้ที่ยึดหลัก ‘กินเป็นยา’ มาออกแบบบริการต่าง ๆ

ทั้งผลไม้สดคัดสรรจากสวนชาวจันท์ และผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ 30 – 40 ชนิด ทั้งยังมีผลไม้ตัดแต่งที่ผ่านการล้างทำความสะอาดด้วยระบบโอโซน เพื่อฆ่าเชื้อรา แบคทีเรีย และลดสารตกค้างเรียบร้อย นอกจากนั้น ยังมีผลไม้แปรรูปอย่างเจลลี่ผลไม้ลูกกลมและแยม ซึ่งทำขึ้นจากผลไม้ในร้านที่อาจไม่งามเท่าเก่า แถมยังมีโซนบริการจัดกระเช้าผลไม้ให้ลูกค้าโดยนักโภชนาการ เพื่อให้ได้ผลไม้ที่มีสรรพคุณแตกต่างตามความต้องการของลูกค้าแต่ละคน
นอกจากบริการทั้งหมดที่ว่ามาแล้ว ความกิ๊บเก๋ที่ต้องบอกต่อคือ Generation Fruit มีบริการน้ำผลไม้สกัดเย็นที่แบ่งออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ Balance Beauty และ Detox เช่น เมนู Multiple Vitamin ที่สกัดน้ำจากแครอท มะเขือเทศ เซเลอรี และบีทรูท ช่วยดูแลผิวพรรณให้สดใสเปล่งปลั่ง และฟื้นฟูความเหนื่อยล้าจากภาระงานทั้งปวง
ซึ่งสูตรน้ำผลไม้สกัดเย็นทั้งหมด คิดค้นโดยพนักงานรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร ถ้าใครอยากเสกสูตรเครื่องดื่มของตนเอง ก็หยิบผลไม้ในร้านมาให้นักทดลอง Generation Fruit รังสรรค์ได้ทันที
ที่ตั้ง : 95/9-10 หมู่ 7 ตำบลจันทนิมิต อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี (แผนที่)
วัน-เวลาทำการ : เปิดทุกวัน เวลา 07.00 – 20.00 น.
โทรศัพท์ : 09 3329 0970
Facebook : Generation Fruit น้ำผักผลไม้สกัดเย็น ผลไม้สดนำเข้า
05
ร้าน Chef’s Table ที่ออกแบบมื้ออาหารจากการตอบแบบสอบถามสุขภาพ
บ้านสุขภาพพุทธิญา

“กินที่กาย ตื่นรู้ที่ใจ ให้อาหารเป็นยา”
นี่คือหัวใจสำคัญของบ้านสุขภาพพุทธิญา ร้านอาหารแบบ Chef’s Table ที่ให้ลูกค้าตอบแบบสุขภาพล่วงหน้าเพื่อให้ เชฟฮ้ง-พุฒิพงศ์ เตชมานะชัย อดีตวิศวกรผู้รักการทำอาหารยิ่งชีพ และ จิ๊บ-สุกัญญา บุญเลิศรพ นักบำบัดจิตและนักโภชนาบำบัด จัดสรรเมนูและลำดับการทาน ให้การกินอาหารทุกเมนูช่วยฟื้นฟูสุขภาพกายใจ
แรกเริ่มเดิมทีจิ๊บเป็นนักบำบัดด้วยธรรมชาติ ซึ่งใส่ใจเรื่องการบำบัดจิตอยู่แล้ว แต่เธอไม่ได้ใส่ใจเรื่องการทานอาหารเพื่อสร้างสุขภาพกายที่ดีมากนัก กระทั่งได้เรียนรู้เรื่องธรรมชาติบำบัดด้วยอาหารและการทานอาหารให้เป็นยา ตลอดจนเธอมีโอกาสได้ตรวจสุขภาพโดยใช้คลื่นความถี่ จิ๊บจึงพบว่าร่างกายของเธอไม่ค่อยแข็งแรงนัก และตื่นรู้ว่าหากกายของเธอนั้นไม่สมบูรณ์ การพัฒนาจิตด้วยวิธีต่าง ๆ ที่ได้ร่ำเรียนมาก็ไม่เกิดประโยชน์

จากที่ทานอาหารโดยไม่สนใจที่มาและกรรมวิธีการปรุงเท่าไหร่ เธอจึงเริ่มใส่ใจมากขึ้น ประกอบกับได้รู้จักกับฮ้ง ซึ่งมาฟังการบรรยายเรื่องจิต เมื่อแนวทางความคิดสอดคล้องกัน ทั้งคู่จึงตัดสินใจเปิดร้านอาหารสุขภาพพุทธิญา โดยปิ๊งชื่อนี้ขึ้นจากการนั่งสมาธิ มีจิ๊บผู้เป็นนักโภชนบำบัดมาจัดการหน้าร้านและดูแลเมนูร่วมกับฮ้งผู้ทำหน้าที่ในครัว
รูปแบบการทานอาหารที่บ้านสุขภาพพุทธิญา จึงเป็นการสั่งจองล่วงหน้าและตอบแบบสอบถามสุขภาพทั่วไป 10 ข้อ เช่น อายุ น้ำหนัก ปัญหาสุขภาพร่างกายที่ประสบอยู่ พื้นฐานอาหารที่เสิร์ฟคืออาหารบริสุทธิ์ ปราศจากน้ำตาล ไขมัน และสารเคมีตกค้าง เน้นอาหารที่ผ่านความร้อนต่ำหรือไม่ผ่านความร้อน เพื่อให้เอนไซม์ยังคงอยู่
แต่ถ้าแขกผู้มารับประทานอาหารเป็นโรคเฉพาะทางที่ควรงดวัตถุดิบบางอย่าง จิ๊บจะจัดให้เฉพาะ เช่น หากเป็นไทรอยด์ห้ามทานกะหล่ำ หรือหากเป็นโรคลำไส้แปรปรวนควรงดอาหารรสเผ็ดและเปรี้ยว ส่วนเมนูซิกเนเจอร์ที่ทั้งคู่จะเสิร์ฟประจำ คือ ยำอ่อมแซบเห็ดแครง ผัดกะทิสมุนไพรตะไคร้หอม ช่วยปรับสมดุลและล้างพิษในร่างกาย

เมื่อมาถึงร้าน ทั้งคู่จะเสิร์ฟอาหารตามลำดับที่ร่างกายจะย่อยได้ เริ่มจากเสิร์ฟน้ำผลไม้ ผลไม้ ผัก ตามด้วยโปรตีน แป้ง ตบท้ายด้วยธัญพืช ก่อนทานอาหาร จิ๊บจะอธิบายที่มาของการเลือกวัตถุดิบแต่ละอย่างว่าเลือกเพราะวัตถุดิบนั้น ๆ มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร ระหว่างทาน จิ๊บจะแนะนำให้เคี้ยวช้า ๆ เพื่อให้กระเพาะและลำไส้ไม่ทำงานหนักจนเกินไป ทั้งแนะนำให้งดการดื่มน้ำระหว่างทาน และให้ดื่มน้ำอุณหภูมิห้อง เพื่อไม่ให้ร่างกายต้องทำงานหนักจนเลือกเป็นกรด
นอกจากจะได้ทานอาหารรสอร่อย การกินอาหารที่บ้านสุขภาพพุทธิญายังทำให้คนทานตื่นรู้ด้านอาหารทางใจและเปลี่ยนวิถีการกินใหม่เมื่อกลับบ้านด้วย
ที่ตั้ง : ซอยเกษมสันต์ 2 ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร (แผนที่)
โทรศัพท์ : 063 195 9782 (ติดต่อนัดหมายทางโทรศัพท์ล่วงหน้า)
Facebook : บ้านสุขภาพพุทธิญา : ดูแลสุขภาพด้วยวิธีธรรมชาติบำบัด
06
คาเฟ่ที่เสิร์ฟกาแฟส้มซ่าและเอสเพรสโซ่คอนปันน่าจากน้ำตาลโตนด
แต้ม คาเฟ่ T’aime Cafe

แม้อาคารอันเป็นที่ตั้งของ ‘แต้ม คาเฟ่ T’aime Cafe’ จะดูใหม่เพราะการตกแต่ง แต่ประสบการณ์การทำกาแฟของ ตั้ม-มนัส สมสวัสดิ์ นั้นมีมากว่า 10 ปี จากคนที่ไม่ชอบทานกาแฟแม้แต่น้อย บัดนี้กาแฟคือส่วนหนึ่งในชีวิตเขา
“ในภาษาไทย ชื่อร้านจะอ่านว่า แต้ม เพราะเป็นชื่อของหมาที่ผมรักมาก ๆ แต่เสียไปแล้ว ส่วนในภาษาฝรั่งเศส มันคือ T’aim ที่แปลว่า ความรัก เพราะผมทำร้านนี้ขึ้นมาด้วยแพสชันและความรักในกาแฟ” ตั้มยืนยันอย่างนั้น
ความรักและแพสชันในการทำร้านกาแฟของตั้มนั้นมีหลายความหมาย ความหมายที่หนึ่งคือตั้มจะคัดเลือกวัตถุดิบทุกอย่างด้วยตนเองทั้งหมด ตั้งแต่เมล็ดกาแฟของไทยและต่างชาติ ที่ต้องคั่วอ่อนถึงปานกลางเท่านั้น เพราะดึงรสชาติกาแฟออกมาได้ดีที่สุด ส่วนวัตถุดิบอื่น ๆ ที่นำมาเสิร์ฟในร้าน ก็ต้องดีต่อสุขภาพและโลกใบนี้


นอกจากเมนูเอสเปรสโซ่ คาปูชิโน ลาเต้ และกาแฟดริปที่เขาหลงใหลเป็นพิเศษ ตั้มยังมีเมนูกาแฟแบบที่หาทานไม่ได้ที่ไหน เพราะเขาคัดสรรวัตถุดิบพื้นถิ่นมาผสมผสานให้เกิดรสชาติใหม่ นอกจากน่าสนใจแล้วยังดีต่อสุขภาพ อย่างเมนูเอสเปรสโซ่ คอนปันน่า ชงขึ้นจากการนำวิปครีมอย่างดีมาตีด้วยมือ ผสมผสานกับน้ำตาลโตนดแท้ ๆ จากเพชรบุรีที่นำมาเคี่ยวจนงวดและแห้ง ซึ่งดีต่อสุขภาพกว่าน้ำตาลทรายทั่วไป นอกจากนั้นยังมีเมนูพิเศษเฉพาะช่วงปลายปีอย่างกาแฟส้มซ่า ที่ตั้มนึกสนุกหยิบผลไม้โบราณที่คนไม่สนใจมาคั้นสด เพิ่มความหอมและความสดชื่นขึ้นอีก
นอกจากจะใส่ใจสุขภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ตั้มยังบอกว่าอีกสิ่งที่เขาจริงจังไม่แพ้กัน คือร้านของเขาต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเน้นให้คนทานกาแฟที่ร้านมากกว่าซื้อกลับบ้าน แต่ถ้าต้องซื้อกลับจริง ๆ ตั้มจะเลือกใช้แก้วกระดาษและหลอดข้าวสาลี นอกจากนั้น เขายังแยกขยะรีไซเคิลออกจากขยะอาหารแล้วนำไปทำความสะอาด ก่อนส่งต่อให้คนงานประจำหมู่บ้านนำไปขายเพิ่มรายได้
เพราะตั้มยินดีอธิบายความเป็นมาของกาแฟแต่ละเมนูอย่างลงลึก และเต็มใจเปิดเผยที่มาของวัตถุดิบที่นำมารังสรรค์ ร้านกาแฟแห่งนี้จึงเหมาะยิ่งนักกับคอกาแฟและคนใส่ใจสุขภาพ จะมานั่งทานกาแฟอย่างเดียวก็ได้ หรือทานขนมโฮมเมดที่คนรักของเขาตั้งใจทำขึ้นด้วยสองมือจากแป้งญี่ปุ่น เนยชั้นดี และวัตถุดิบชั้นเลิศที่ไม่ทำร้ายร่างกายก็เข้าที
ที่ตั้ง : 123/10 หมู่ 5 หมู่บ้านน้ำเพชร 5 อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี (แผนที่)
วัน-เวลาทำการ : วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.00 – 18.00 น.
โทรศัพท์ : 06 2165 5644
Facebook : แต้ม คาเฟ่ T’aime Cafe
07
ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่อยากสร้างความยั่งยืนทางสุขภาพให้ครอบครัว
ตงศิริฟาร์ม


ฟาร์มเกษตรผสมผสานที่มีทุ่งนา สวนผัก และเล้าไก่ คือฟาร์มเกษตรอินทรีย์ของอดีตนายหน้าค้าทองในตลาดหลักทรัพย์อย่าง นัท-อุกฤษณ์ อภิวัฒนานนท์ ที่ต้องการสร้างความยั่งยืนในชีวิตและอยากให้คนในครอบครัวได้ทานอาหารปลอดสารพิษ จึงเริ่มต้นเรียนรู้จากศูนย์ เพื่อพลิกฟื้นผืนดินเคมีตรงหน้าให้เต็มด้วยพืชผลปลอดสารพิษ
แรกเริ่มเดิมที นัทหรือ ‘ตง’ ที่คนเรียกกัน เริ่มต้นเกษตรอินทรีย์โดยการซื้อที่ผืนหนึ่ง ณ สุพรรณบุรี มาปลูกข้าวปลอดเคมีอย่างไรซ์เบอร์รี่ อันอุดมด้วยสารแอนโทไซยานิน และยังมีค่าน้ำตาลต่ำกว่าข้าวทั่วไป แต่เมื่อประสบภัยแล้งและถูกหักรายได้จากพ่อค้าคนกลางไปมาก เขาจึงหันมาทำเกษตรผสมผสาน พร้อมสร้างแบรนด์ของตนเองขึ้นว่า ‘ตงศิริฟาร์ม’ และใช้การตลาดแบบปากต่อปากเพื่อสร้างตลาดค้าปลีกของตนเอง

นัทเริ่มจากทำสวนผักปลอดสารที่มีพืชผักสวนครัวนานาพรรณ เพื่อสร้างระบบนิเวศตามธรรมชาติที่ไม่เป็นมิตรกับแมลง แต่เป็นมิตรกับมนุษย์ ทั้งแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเลี้ยงไก่ ห่าน และเป็ดแบบปล่อยอิสระ แถมยังผสมอาหารให้ทานสด ๆ ของดีของเด็ดที่ต้องซื้อให้ได้จากตงศิริฟาร์มคือไข่ไก่ เพราะนัทการันตีว่าไข่แดงนั้นแดงสวยธรรมชาติจริง ๆ ทั้งยังอุดมด้วยสารอาหารสูงกว่าไข่ทั่วไป ทั้งหมดนี้นัทบริการขนส่งจากฟาร์มสุพรรณบุรีถึงครัวในกรุงเทพฯ ด้วยตัวเอง เพื่อตัดต้นทุนพ่อค้าคนกลางออกไป
เพราะเข้าใจดีว่าเกษตรที่ยั่งยืนจะต้องไม่ยืนหนึ่งเพียงของสดเท่านั้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าที่มีอยู่และไม่ให้วัตถุดิบดี ๆ ต้องถูกทิ้งไปอย่างไร้ประโยชน์ เขาจึงหันมาทำเกษตรแบบครบวงจร โดยนำสารพันสิ่งของในฟาร์มมาแปรรูปเป็นน้ำผัก น้ำสต็อกไก่ น้ำเต้าหู้ออร์แกนิก ฯลฯ ภายในปลายปีนี้ นัทยังเปิด Tiddin café & farmcation คาเฟ่สุดอบอุ่นที่รายล้อมด้วยฟาร์มเกษตรอินทรีย์ เสิร์ฟเมนูเด็ด ๆ อย่างครัวซองต์ไข่อารมณ์ดี ข้าวไก่ทอดซอสโคชูจังที่หุงด้วยข้าวปลอดเคมี ทานคู่กับกระเจี๊ยบเขียวปลอดสารที่นำมาย่างหอม ๆ ให้ทาน ท่ามกลางบรรยากาศฟาร์มอินทรีย์ที่เขาตั้งใจ
ที่ตั้ง : 79 หมู่ 3 ตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี (แผนที่)
โทรศัพท์ : 09 4168 4944
Facebook : ตงศิริฟาร์ม TongSiri Farm
08
ร้านแยมโฮมเมด 350 ชนิดจากพืชผักท้องถิ่นในฟาร์มอินทรีย์
Tasty Herb


สารภาพตามตรงว่าเกิดมาก็รู้จักแยมทาขนมปังเพียงไม่กี่ชนิด แต่ละชนิดล้วนทำขึ้นจากผลไม้เมืองนอกที่อ่านชื่อยาก ๆ ทั้งนั้น เมื่อได้รู้ว่ากลางเมืองเชียงใหม่มีร้านขายแยมโฮมเมดนาม ‘Tasty Herb’ ของ วี-วีรยุทธ บุญมา ผู้รังสรรค์แยมกว่า 350 ชนิด โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นไทยออร์แกนิก เราก็รู้สึกตื่นเต้นไม่น้อย
จุดเริ่มต้นของ Tasty Herb นั้นเรียบง่ายแต่งดงาม นั่นคือเมื่อกว่าสิบปีก่อน วีเคยทำงานในแผนกเบเกอรี่ โรงแรมเครือแมนดาริน โอเรียนเต็ล ที่เชียงใหม่ ที่นี่สอนให้เขารู้จักวิธีการทำแยมสารพัด แต่ทุกอย่างล้วนทำขึ้นจากผลไม้นำเข้า วีจึงเกิดคำถามว่า เหตุใดเมืองเกษตรกรรมอย่างไทยถึงไม่มีใครคิดนำผลไม้ไทยมาทำเป็นแยมบ้าง
เขาจึงหยิบผลไม้ท้องถิ่นล้านนา ผลไม้ที่เห็นได้ทั่วไปแต่คนทิ้งขว้าง และสารพัดผลไม้ไทยตามท้องตลาด มาทดลองทำแยมแบบฉบับตนเอง เริ่มจากแยมรสสตรอว์เบอร์รี ซึ่งได้จากสวนสตรอว์เบอร์รีในเชียงใหม่ แยมมะเกี๋ยง แยมทุเรียนเทศ แยมตะขบ และแยมลูกหม่อนจากต้นหม่อนที่หาได้ทั่วไป แถมมีแยมจากสมุนไพร เช่น แยมงาขี้ม้อนและแยมมะตูม วัตถุดิบส่วนใหญ่มาจาก ‘วสุ ออร์แกนิคฟาร์ม’ ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านการรับรอง IFOAM EU และ COR ของวีเอง

จากนั้นวีจึงขยายวงการแยมให้มีรสชาติซับซ้อนขึ้น เช่น แยมลิ้นจี่กุหลาบ จากกุหลาบอินทรีย์ที่เขาปลูกเอง ซึ่งเก็บเฉพาะช่วงเช้า เพราะจะได้กลิ่นกุหลาบชัดเจน และแยมข้าวเหนียวมะม่วง จากมะม่วงของเกษตรท้องถิ่นและข้าวเหนียวปลูกเองในพื้นที่ฟาร์ม ซึ่งหากใครอยากไม่ทานน้ำตาลปกติทั่วไป วีก็มีแยมชนิดที่ใช้หญ้าหวานด้วย
นอกจากใส่ใจสุขภาพอย่างการเลือกสรรวัตถุดิบออร์แกนิกมาทำแยมแล้ว เขายังเลือกใช้เพียงสารเพกตินที่สกัดจากพืช แต่ไม่ใช้เจลาตินและสารคงตัวอื่น ๆ แยมของวีจึงจะไม่เป็นก้อนอย่างแยมทั่วไปตามซูเปอร์มาร์เก็ต แต่จะเหลวเล็กน้อย รับรองว่าตักไปตรงไหนก็เจอวัตุดิบเป็นชิ้น ๆ และนำไปชงเป็นเครื่องดื่มได้อีกด้วย
ไม่พอ เขายังไม่ใช้สารกันบูดในแยมทุกชนิด แต่เลือกใช้วิธีการสเตอริไลซ์ฆ่าเชื้อโรค หากยังไม่เปิดทาน แยมของเขาเก็บได้ 1 ปี แต่หากเปิดทานแล้วอยู่ได้นาน 3 เดือนในตู้เย็น และเน้นว่าลูกค้าต้องใช้ช้อนสะอาดตักเสมอ
Tasty Herb จึงไม่เพียงเป็นแยมที่สนับสนุนเกษตรกรไทยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่เพียงทำให้คนไทยเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของวัตถุดิบท้องถิ่น แต่ยังดีต่อสุขภาพคนกิน คนทำ และเกษตรกรด้วย
ที่ตั้ง : ถนนนิมมานเหมินทร์ ซอย 7 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น.
โทรศัพท์ : 083 072 7051
Facebook : Tasty Herb
09
วิสาหกิจชุมชนที่รวมอาหารทะเลจากประมงพื้นบ้านมาเสิร์ฟกลางกรุง
ปลาออร์แกนิก


ร้าน ‘ปลาออร์แกนิก’ แถววิภาวดี 22 แห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นโดย พี่นุช หรือ ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ นักวิชาการด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ผู้เห็นว่าทรัพยากรทางทะเลไทยนั้นอุดมสมบูรณ์ แต่ขาดการบริหารจัดการที่ดี ทรัพยากรเหล่านี้จึงไม่ได้คุณภาพ แถมเกษตรกรยังมีรายได้ต่ำ พี่นุชจึงจัดตั้งโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ขึ้น เพื่อขอทุนวิจัยจากสหภาพยุโรปมาช่วยพัฒนา
“ประมงพื้นบ้านกลุ่มนี้ คอยดูแลไม่ให้มีการจับสัตว์น้ำที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในน่านน้ำของเขา มีการเพาะปูนอกกระดอง และไม่ใช้สารและเครื่องมืออันตรายในการจับสัตว์ทะเล แต่ทำไมถึงไม่มีพื้นที่ให้เขาเลย อย่างเวลาไปซื้อข้าว เรารู้ว่าข้าวนี้มาจากเกษตรกรคนไหน จังหวัดอะไร แต่เวลาไปซื้ออาหารทะเลที่ตลาด เรารู้แค่ว่าปลานี้มาจากมหาชัย”

แรกเริ่ม พี่นุชเข้าไปช่วยพัฒนาวิธีการจับสัตว์น้ำที่เป็นมิตรต่อโลกให้ชาวประมง แถมยังสอนวิธีทำให้สัตว์ทะเลที่จับขึ้นมายังสดใหม่ ทั้งเข้าไปช่วยชาวบ้านพัฒนาอาหารทะเลแปรรูปให้มีมาตรฐาน จนได้เป็นสินค้าที่มีเท่าไหร่ก็ขายหมด เช่น กะปิ กุ้งแห้ง จากนั้นเข้าไปขายสินค้าในตลาดสีเขียวต่างๆ และเมื่อเห็นว่ามีลูกค้าต้องการอาหารทะเลคุณภาพจำนวนมาก จึงเปิดร้านปลาออร์แกนิกใจกลางกรุง เพื่อรับพรีออเดอร์และส่งต่อวัตถุดิบดี ๆ ให้ผู้บริโภคในราคาเหมาะสม
อาหารทะเลของที่นี่จึงเป็นอาหารทะเลจากประมงพื้นบ้าน 7 จังหวัด รับประกันว่าเป็นมิตรกับคนและสิ่งแวดล้อม แถมยังทำให้ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะชุมชนชาวประมงจะได้ส่วนแบ่ง 70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่เปราะบาง เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ทำงานที่ปลอดภัยและได้ค่าแรงเป็นธรรมด้วย
ด้วยเครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเลนั้นอยู่ภายใต้มูลนิธิสายใยชุมชน นอกจากจะมีสารพัดอาหารทะเลดี ๆ ส่งตรงจากน่านน้ำอ่าวไทยและอันดามันแล้ว ยังมีสารพันวัตถุดิบออร์แกนิกจากพันธมิตรเกษตรอินทรีย์มาให้เลือกสรร
ที่ตั้ง : 8, 27 ซอยวิภาวดีรังสิต 22 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร (แผนที่)
วัน-เวลาทำการ : เปิดบริการวันอังคาร-เสาร์ เวลา 10.00 – 17.00 น.
โทรศัพท์ : 09 0004 2401
Facebook : เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล
10
ไอศกรีมโฮมเมดที่ใช้วัตถุดิบอินทรีย์จากเกษตรกรไทย
Jinta Homemade Icecream


ขนมครก มะม่วงน้ำปลาหวาน และปลาแห้งแตงโม เหล่านี้หาใช่ขนมและของหวานทั่วไป แต่คือไอศกรีมรสชาติแปลกของ ‘Jinta Hommade Icecream’ ร้านที่รังสรรค์ไอศกรีมจากวัตถุดิบของเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ เพราะผู้เป็นเจ้าของอย่าง หนุ่ม-เมธวัจน์ เกียรติกีรติสกุล อยากให้วัตถุดิบไทย ๆ ที่ดีอยู่แล้วได้รับความสนใจมากกว่านี้
เรื่องราวย้อนกลับไปเมื่อเกือบสิบปีก่อน หลังรู้ว่ากำลังจะกลายเป็นคุณพ่อของลูกสาว หนุ่มคิดอยากหารายได้เสริมเพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้ครอบครัว เขาจึงไปเรียนทำไอศกรีมและกลับมาเปิดร้านไอศกรีมชื่อว่า ‘จินตา’ ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับลูก เพื่อเตือนให้เขาตั้งใจทำไอศกรีมที่มีคุณภาพ จะได้ไม่มีใครว่าลูกสาวของเขาได้
ช่วงแรก ๆ ไอศกรีมของหนุ่มเหมือนไอศกรีมทั่วไป คือใช้สารคงตัวจำนวนมากกว่าปัจจุบัน ใช้วัตถุดิบแต่งเติมกลิ่นสี และสารพันวัตถุดิบจากต่างประเทศ แต่เมื่อได้ไปออกตลาดสีเขียวและได้รู้จักกับเกษตรกรไทย เขาจึงเริ่มเข้าใจว่าวัตถุดิบไทย ๆ จากเกษตรที่ตั้งใจนั้นมีคุณค่าขนาดไหน ได้เข้าใจว่าไอศกรีมที่ดีหาใช่ไอศกรีมกลิ่นชัดๆ ใช้ของแพง ๆ รสจัด ๆ จนได้รับคำแนะนำจากพี่น้องเกษตรกร ว่าทำไมจึงไม่เอาผักผลไม้ไทยไปทำไอศกรีมบ้าง

จากจุดนั้น หนุ่มปิ๊งไอเดียทำไอศกรีมเสาวรส มะม่วง ก่อนจะหยิบผักมาลองทำเป็นรสชาติต่าง ๆ เช่น รสผักโขมฟักทอง รสคะน้าสะระแหน่ ซึ่งทลายกำแพงการทำไอศกรีมรสชาติแตกต่างให้กว้างขึ้น หนุ่มคิดค้นไอศกรีมรสชาติที่คนกินอย่างเรา ๆ คิดไม่ถึงอีกมาก ทั้งรสขนมครกที่ใช้ต้นหอมปั่นผสมกะทิเคี่ยวหอมกลิ่นไหม้ ได้แรงบันดาลใจจากร้านขนมครกที่เห็น หรืออย่างไอศกรีมมะระที่ได้รสมันๆ จากครีมชีส ได้ความเปรี้ยวจากโยเกิร์ต และปิดท้ายด้วยรสขมนิด ๆ จากมะระ ก็ปิ๊งไอเดียจากการดูรายการ MasterChef Thailand
ความน่าสนใจคือตั้งแต่หนุ่มเข้าใจเรื่องการกินอาหารที่ดี ไอศกรีมของเขาก็เปลี่ยนไปจากช่วงแรกมาก เขาไม่แต่งเติมกลิ่นและสี ทั้งยังใช้สารคงตัวให้น้อยที่สุด เนื้อสัมผัสของไอศกรีม Jinta จึงจะไม่เหนียว ๆ ยืด ๆ เท่าไอศกรีมร้านทั่วไป แต่ยังคงความเป็นไอศกรีมได้ดีอยู่ ด้วยเหตุนี้ Jinta Hommade Icecream จึงเป็นไอศกรีมที่ทั้งดีต่อสุขภาพคนทาน ดีต่อเกษตรกรพื้นบ้าน และยังแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ซึ่งคนรักสุขภาพทานดี ส่วนคนทั่วไปก็ทานได้ เพราะไอศกรีมของเขามีเรื่องราว แปลกแตกต่าง และถึงเครื่องจริง ๆ
ที่ตั้ง : ชั้น 1 อาคาร A Design Village ห้างสรรพสินค้าบุญถาวร เกษตร-นวมินทร์ แขวง นวลจันทร์ เขต บึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร (แผนที่)
วัน-เวลาทำการ : เปิดบริการทุกวัน เวลา 10.00 – 19.00 น.
โทรศัพท์ : 08 7318 0057
Facebook : Jinta Homemade Icecream
11
ร้านรีฟิลและคาเฟ่รักษ์โลกหนึ่งเดียวในขอนแก่น
.limited


บ้านไม้เก่าแก่กว่า 70 ปีหลังตรงหน้า หาใช่ร้านขายยาจีนหรือร้านขายของเก่าแต่อย่างใด นี่คือ ‘.limited’ ร้านชำและร้านรีฟิลที่รวมสารพัดของที่ดีต่อโลก และคาเฟ่เล็กๆ เสิร์ฟแต่ของดีต่อเรา ก่อตั้งขึ้นโดยพาร์ตเนอร์ผู้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม 4 คน อย่าง กิ๊ฟ-วรรณภรณ์ สงวนตระกูล, ดุษ-ดุษฎี สุ่มมาตย์, กอล์ฟ-ณรงค์วิทย์ อารีมิตร และ อุ้ม-จริงใจ อารีมิตร
ชื่อ .limited จึงหาใช่ชื่อเก๋ ๆ ที่ตั้งขึ้นโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย แต่เกิดจากคอนเซ็ปต์ว่า ทรัพยากรบนโลกนี้มีอยู่อย่างจำกัด เราควรรู้จักใช้ทรัพยากรอันมีคุณค่าเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การรีโนเวตอาคาร กระทั่งการเลือกสรรสินค้ามาเรียงขายในร้าน เริ่มจากกอล์ฟและดุษผู้เป็นสถาปนิกจากสตูดิโอสถาปนิก 49 มองว่า อาคารไม้เก่าอายุกว่า 70 ปีหลังนี้ควรค่าแก่การรักษา การรีโนเวตบ้านไม้เป็นร้านชำจึงไม่ใช่การรีโนเวตเพื่อความสวยงามโมเดิร์น แต่เน้นซ่อมแซมและคงความเป็นไม้ให้มากที่สุด
ภายในร้านแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือพื้นที่ด้านซ้ายสำหรับจัดวางสินค้าออร์แกนิกที่ดีต่อโลกและยังดีต่อเรา ซึ่งพาร์ตเนอร์ทั้งสี่คัดสรรกันเอง เช่น ข้าวพื้นถิ่นที่ให้คุณค่าทางสารอาหารมากกว่าข้าวหอมมะลิทั่วไป กาแฟอาข่าอ่ามา กล้วยตากสะอาดปลอดภัยจากกล้วยปลูกเองในสวนของกอล์ฟ ทั้งยังมีสารพัดผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวกายปลอดสารอันตราย ที่อุ้มผู้เป็นเภสัชกรคิดค้นขึ้นเอง
ส่วนกลางร้านคือบริเวณที่ตั้งของกระจุกกระจิกน่ารักอย่างต้นไม้ต้นเล็ก ๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในร้านและในบ้านลูกค้า งานไม้จากเศษไม้เหลือทิ้งที่ลูกชายของอุ้มและกอล์ฟตั้งใจทำขึ้น รวมถึงมีเสื้อผ้าพิมพ์ลายทำมือโดยฝีมือน้องสาวของกอล์ฟ ทั้งยังมีกระเป๋าผ้าจากผ้าเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ผู้ก่อตั้งทั้งสี่ทำร่วมกับ mooreloop ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2.15 กิโลกรัม เทียบเท่ากับการขับรถยนต์ 18.05 กิโลเมตร

ความพิเศษอยู่ที่ด้านขวาสุดของร้าน นั่นคือโซนเวิร์กชอปที่ในสถานการณ์ปกติ ทั้งสี่จะเชิญวิทยากรมารังสรรค์งานทำมือขึ้นเอง เช่น งานไม้ งานผ้า เพราะทั้งสี่มองว่ามากกว่าการขาย คือการส่งต่อองค์ความรู้ด้านการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ เพื่อสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคมได้มากทีุ่สด
นอกจากเป็นร้านรวมสารพัดของรักษ์โลกหนึ่งเดียวในขอนแก่นแล้ว ที่นี่ยังเป็นคาเฟ่ขนาดย่อม เสิร์ฟอาหารดีๆ จากธรรมชาติอีกด้วย สินค้าซิกเนเจอร์ประจำร้านที่มาแล้วไม่ลองไม่ได้ คือเมนูน้ำปั่นจากผักผลไม้ออร์แกนิกที่ทั้งสี่คิดค้นสูตรขึ้นเอง เช่น Taro Milkshake ที่ร้านทั่วไปมักใช้ผงเผือกหอม แต่ .limited ใช้เผือกหอมแท้ ๆ แถมยังมีตะลิงปลิงปั่นจากตะลิงปลิงท้องถิ่นที่เปรี้ยวจี๊ด ดื่มแล้วชุ่มชื่นหัวใจ แต่ถ้าใครอยากอิ่มท้องกว่านั้น ที่นี่ก็มีสลัดผักรสชาติดีจากผักปลอดสารที่ปลูกกันเอง ซึ่งให้ไฟเบอร์มากแต่แคลอรี่กำลังดี
ที่ตั้ง : 2 ถนนชีท่าขอน 7 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น (แผนที่)
วัน-เวลาทำการ : เปิดบริการทุกวัน เวลา 10.00 – 19.00 น.
โทรศัพท์ : 08 1984 8700
Facebook : Dotlimited
12
ร้านสมุนไพรไทยโบราณในลำปาง ที่เปิดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
รัตนโอสถ


หากพูดถึง ‘รัตนโอสถ’ ร้านขายสมุนไพรไทยกลางเมืองลำปาง ชาวลำปางจะต้องรู้จักแน่แท้ เพราะเปิดมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่ ลุงตี๋-วิรัตน์ วิทยานุการุณ ทายาทรุ่นสองของร้านซึ่งมีอายุ 70 กว่าปีจะเกิดเสียอีก
ลุงตี๋ย้อนเล่าให้ฟังว่า เตี่ยของคุณลุงเป็นคนจีนแต้จิ๋วจากเมืองซัวเถา มณฑลกว้างตุ้ง อพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่จังหวัดลำปาง ก่อนจะพบรักกับคุณแม่ของลุง และใช้ความรู้ด้านแพทย์แผนจีนที่พกมาจากบ้านเกิดเปิดร้านขายยาจีน โดยสั่งซื้อยาจีนจากฮ่องกง เพราะขณะนั้นจีนปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ไทยซึ่งกำลังหวั่นกลัวคอมมิวนิสต์จึงขาดการติดต่อซื้อขายกับจีน ยาจีนที่ขายในช่วงนั้นจึงมีราคาสูงกว่ายาทั่วไป
ด้วยเตี่ยนั้นมีลูกชายคนจีนที่เดินทางมาด้วยกันซึ่งรู้ภาษาอังกฤษอยู่แล้ว ช่วงแรก ๆ จึงเปิดขายยาฝรั่งควบคู่กัน และไม่นานก็เปิดแผนกขายสมุนไพรไทยควบด้วย ร้านรัตนโอสถแต่เดิมชื่อ ‘ตั้งจี้เคี้ยวตึ๊ง’ หรือ ‘กะจ่างโอสถ’ จึงเป็นร้านขายยาประเภท ก. นั่นคือมา 1 ร้านแต่ขายยาครบ 3 แผน

ด้วยการขายยาจีนนั้นต้องอาศัยความรู้ด้านยาและภาษาจีนสูง ลูกทั้ง 3 คนของเตี่ยรวมถึงลุงวิรัตน์ที่ไม่รู้ภาษาจีนเลยจึงสานต่อกิจการร้านยาจีนไม่ได้ เมื่อเตี่ยเสียชีวิตเมื่อกว่า 30 ปีก่อน คุณลุงผู้กำลังทำงานเป็นพนักงานธนาคารอยู่จึงกลับมารับช่วงต่อ และเปลี่ยนมาขายสมุนไพรไทยแทน ทั้งส้มป่อย หญ้าหนวดแมว เหงือกปลาหมอ เก๊กฮวย สเลดพังพอน มะตูมแห้ง พิกุล กวาวเครือ กานพลู และอีกสารพัดชนิดที่ช่วยรักษาสมดุลร่างกายได้ดี และปัจจุบันทายาทรุ่นสามอย่าง เก่ง-อธิวัฒน์ วิทยานุการุณ ก็มารับช่วงต่อร้านสมุนไพรโบราณต่อจากผู้เป็นพ่ออีกที
รัตนโอสถจึงไม่ใช่เพียงร้านขายสมุนไพรไทยคุณภาพที่ช่วยบำบัดร่างกายได้ แต่ยังเป็นประวัติศาสตร์ร้านขายยาโบราณหน้าหนึ่งของจังหวัดลำปาง
ที่ตั้ง : 162 ถนนทิพย์ช้าง ตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง (แผนที่)
วัน-เวลาทำการ : เปิดบริการวันจันทร์-เสาร์ (ปิดวันอาทิตย์) เวลา 08.00 – 18.00 น.
โทรศัพท์ : 0 5422 1162
Facebook : ร้านรัตนโอสถ ลำปาง
13
ร้านอาหารกลางป่าที่รังสรรค์อาหารอร่อยจากวัตถุดิบปลอดภัย
Pathum organic products


ไม่ใกล้ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ หากจอดรถแวะพักริมทางถนนใหญ่ จะเจอกับ ‘Pathum organic products’ คาเฟ่และร้านอาหารของคู่รักผู้รับเหมาก่อสร้างที่ตกหลุมรักผืนดินแห่งนี้ จนออกแบบและก่อสร้างเองกว่า 3 ปี เพื่อเสิร์ฟอาหาร เครื่องดื่มและขนมรสดีจากวัตถุดิบปลอดภัย
แรกเริ่มเดิมที ดร๊าฟ-สารินทร์ ศิริอัธการ ต้องการเปลี่ยนผืนดินตรงนี้เป็นเป็นคาเฟ่ขนาดย่อมเท่านั้น แต่เพราะคนรักอย่าง ตุ้ย-กฤษณ์ หอมรื่น มีปัญหาเรื่องสุขภาพ และเลือกทานอาหารจากวัตถุดิบออร์แกนิกอยู่แล้ว ไอเดียแรกเริ่มจึงขยับขยายมาเป็นคาเฟ่และร้านอาหารกลางป่า ที่มีดร๊าฟเป็นคนทำเครื่องดื่มและขนม ส่วนตุ้ยเป็นเชฟกระทะเหล็กในครัว ตั้งใจเสิร์ฟอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้ลูกค้า

เมนูแนะนำที่พลาดไม่ได้คือข้าวกล้องราดกะเพราหมูคั่วแห้ง ตุ้ยคั่วกะเพราปลูกเองกับสารพัดสมุนไพรโดยไม่ใช้น้ำมัน นอกจากนั้นยังมีสารพันขนมอบของดร๊าฟต์ ซึ่งนอกจากใช้วัตถุดิบออร์แกนิก เธอยังใช้น้ำตาลดอกมะพร้าวแทนสารให้ความหวานอื่น ๆ และเลือกใช้ไข่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงเองด้วย
ถ้าใครเป็นคอกาแฟ ที่นี่ยังมีกาแฟชงสดจากโมค่าพอต และกาแฟดริปที่ใช้เมล็ดกาแฟออร์แกนิกจากชาวเขาที่เชียงราย ส่วนใครอยากทดลองกาแฟสูตรเฉพาะของดร๊าฟ ที่นี่ก็มีเมนูกาแฟฮันนี่เลม่อน ด้านล่างเป็นฮันนี่เลม่อนทำเอง ท็อปด้วยกาแฟดำด้านบน
การมาทานอาหารรสอร่อยใส่ใจตั้งแต่วัตถุดิบที่นี่ ต้องเดินผ่านป่าขนาดย่อมและคลองขนาดเล็ก จึงถือเป็นการบำบัดกายและใจด้วยธรรมชาติอย่างแท้จริง
ที่ตั้ง : 4/6 หมู่ 18 ตำบลบึงคำพร้อย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี (แผนที่)
วัน-เวลาทำการ : เปิดบริการทุกวัน (ปิดวันอังคาร) เวลา 08.30 – 20.00 น.
โทรศัพท์ : 08 8253 5515
Facebook : Pathum organic products ปทุม ออแกนิค โปรดักส์
14
ร้านอาหารที่หยิบผักอินทรีย์ปลูกเองมาปรุงด้วยรสมือแม่
สุขกินได้


อาคารไม้ที่รายล้อมด้วยโรงเรือนปลูกผักอินทรีย์และต้นไม้นานาพรรณนาม ‘สุขกินได้’ ณ นครปฐมแห่งนี้ คือคาเฟ่ที่รังสรรค์อาหารจากวัตถุดิบอินทรีย์ โดยสองมือและหนึ่งใจของ คุณแม่ส้มฉุน-ธนภรณ์ ทำสวน
ลูกชายอย่าง นนท์-กฤษดา ทำสวน พาเราย้อนกลับไปก่อนที่สุขกินได้จะเปิด แต่เดิมคุณแม่ปลูกกล้วยไม้ส่งขายต่างประเทศ ซึ่งต้องคลุกคลีกับการใช้สารเคมีทุกเช้าค่ำ กระทั่งอนามัยชุมชนสุ่มตรวจค่าสารพิษที่ตกค้างในร่างกายเกษตรกร จึงพบว่าสารพิษในร่างกายคุณแม่นั้นสูงถึง 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินค่ามาตรฐานไปมาก ครอบครัวทำสวนจึงคิดหาหนทางหารายได้ใหม่
ด้วยคุณตาของนนท์เคยปลูกผักสวนครัวมาตั้งแต่คุณแม่ยังเด็ก คุณแม่จึงย้อนคิดถึงวันวาน และตัดสินใจกลับมาปลูกผักด้วยตนเองอีกครั้ง เริ่มจากปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากโรงแรมห้าดาว แต่ต้องใช้แรงงานคนล้างทำความสะอาดถาดเพาะจำนวนมาก คุณแม่จึงหันมาปลูกผักอินทรีย์และเปิดร้านอาหารควบคู่

ร้านสุขกินได้แห่งนี้จึงเสิร์ฟอาหารจากผักในสวน และวัตถุดิบจากเกษตรกรไทยที่เข้าร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ที่สนับสนุนเกษตรอินทรีย์อย่างศาลานา เช่น พาสต้าซอสเพสโตจากอิตาเลียนเบซิลที่ปลูกเอง ทานพร้อมน้ำผักเคลสกัดเย็นจากเคลที่เก็บสดๆ ในสวน แถมยังมีซูเฟลชีสเค้กราดซอสเสาวรสโฮมเมด ทั้งหมดนี้คือเมนูจากปลายจวักคุณแม่ทั้งนั้น
นอกจากคุณแม่และนนท์จะใส่ใจเรื่องอาหารการกินมากๆ อีกสิ่งที่ทั้งคู่ให้ความสำคัญ คือการสร้างระบบจัดสรรอาหารและขยะภายในร้านให้หมุนเวียนเป็นวัฏจักร นั่นคือกากใยเหลือทิ้งที่ได้จากการสกัดน้ำผัก จะถูกนำไปผสมเป็นดินปลูก ส่วนเศษอาหารเหลือภายในร้าน ทั้งคู่จะนำไปหมักเป็นปุ๋ยเพื่อเติมสารอาหารให้เหล่าผักน้อย ๆ
เรียกว่าไป 1 ร้าน ได้ครบทั้งความอร่อยหลากหลาย สุขภาพดี ๆ และช่วยให้โลกน่าอยู่ขึ้นอีกมากโข
ที่ตั้ง : 1/6 หมู่ 5 ตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม (แผนที่)
วัน-เวลาทำการ : เปิดบริการทุกวัน (ปิดวันอังคาร) เวลา 10.00 – 20.00 น.
โทรศัพท์ : 06 2323 9619
Facebook : สุขกินได้
