11 กุมภาพันธ์ 2019
105 K

ตรัง เมืองนี้ไม่มีอดตาย คงจะเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงนัก

หากลองย้อนดูอดีตแล้ว ตรังเคยเป็นเมืองท่าที่มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอันดับต้นของประเทศ ความหลากหลายทางเชื้อชาติจึงมีมากขึ้นตาม วัฒนธรรมที่หลอมรวมกันนี่เองที่ทำให้ตรังกลายเป็นจังหวัดมีชื่อเรื่องอาหารการกินมากที่สุดในประเทศไทย

ไม่ว่าจะเป็นหมูย่างร้อนๆ ของดีของเมืองตรังที่ทุกคนต่างรู้จักกันดี ติ่มซำกับซอสกำเจือง น้ำจิ้มที่มีเฉพาะแค่ในจังหวัดตรัง ม่อหลาว ขนมโบราณที่ต้องอาศัยลมฟ้าอากาศช่วยในการทำ

ไหนจะคำบอกเล่าที่บอกต่อๆ กันมาว่า คนเมืองตรังกินอาหารถึง 9 มื้อ!

เมื่อรู้ว่าทาง The Cloud จัดกิจกรรม ‘อิ่มทริป 01 : กินตรัง’ ทริปตะลอนกินอาหารขึ้นชื่อ ของหวานโบราณพื้นบ้านที่ยังไม่ถูกลืม เรารีบยกมือขันอาสาตามชาวคณะไปพิสูจน์กันถึงถิ่น ว่าเราจะกิน 9 มื้อแบบคนตรังได้หรือไม่ พร้อมแลกเปลี่ยนเกร็ดเกี่ยวกับอาหาร และที่มาของแต่ละจาน แบบจานต่อจาน กับเชฟอุ้ม-คณพร จันทร์เจิดศักดิ์ เชฟผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารเปอรานากัน เจ้าของร้าน ตรัง โคอิ, อาจารย์เอ-จุฑามาศ เชาว์พิพัฒนะ อาจารย์ประจำสาขาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ พี่บี พรหมพร ประภากรสกุล นักวิชาการอิสระ

เตรียมแผนที่เมืองตรัง ปากกาและกระดาษ ให้พร้อม เพราะไม่อยากให้คุณพลาดจานเด็ดแม้เพียงจานเดียว เราขอเสนอ 10 ร้านต้องกิน! และ 8 แหล่งห้ามพลาด! จากอิ่มทริปกินตรัง

ถ้าพร้อมแล้ว ขอเชิญคุณตีตั๋วไปตรังด้วยกันตอนนี้เลยครับ

10 ร้านต้องกิน!

ร้านเด็ด 10 ร้านที่เราคัดสรรมาแล้วว่ายังไงก็ควรไป มีทั้งร้านอาหาร ร้านของหวาน และร้านขายของฝาก ปักหมุดบนแผนที่เมืองตรังไว้ เยือนตรังเมื่อไร อย่างน้อยที่สุด รายชื่อเหล่านี้จะทำให้คุณอุ่นใจและสบายท้องไปได้หลายวัน

ครัวท่องนาท่าม

ตรัง

เราประเดิมร้านแรกกันด้วยการนั่งรถตุ๊กตุ๊กหัวกบ รถสามล้อสุดคลาสสิกประจำจังหวัดตรัง นั่งออกจากเทศบาลนครตรังประมาณ 10 กว่านาที ก็มาถึงร้านที่เราจะฝากปากฝากท้องเป็นมื้อแรก นั่นก็คือ ครัวท่องนาท่าม ร้านอาหารพื้นบ้านท่ามกลางบรรยากาศกลางทุ่งที่เน้นของบ้านๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ไก่บ้าน ปลาบ้าน ผักพื้นบ้าน หรือเครื่องปรุงต่างๆ ก็ทำเองทั้งหมด ในส่วนของรสชาตินั้น ร้านอาหารในจังหวัดตรังส่วนใหญ่จะเน้นรสหวาน มัน จืด แต่ที่นี่จะเน้นรสชาติที่ต่างออกไป ก็คือเค็ม เผ็ด และเปรี้ยว

ตรัง
ตรัง

มื้อแรกของเราประกอบด้วยอาหาร 8 จาน คือ แกงไตปลา สามชั้นผัดสะตอ น้ำชุบระกำ(น้ำพริก) แกงคั่วปลาดุกนา ไข่มดแดงต้มกะทิ ไก่บ้านต้มขมิ้น แกงส้มปลากดมันขี้หมู และปลาทรายทอดขมิ้น บอกเลยว่าจัดหนักจัดเต็ม

พิกัด ถนนบายพาสเลี่ยงเมืองตรัง ตำบลนาท่ามใต้ อำเภอเมืองตรัง
เวลาทำการ 10.00 – 21.00 น.

ทับเที่ยง โอลด์ทาวน์ คาเฟ่

ตรัง
ตรัง

สำหรับคอกาแฟ หากคุณกำลังมองหาร้านกาแฟสไตล์วินเทจกรุ่นกลิ่นความหลัง สัมผัสวิถีชีวิตชาวตรังผ่านของเก่าและแกลเลอรี่ขนาดย่อม เราขอแนะนำร้านทับเที่ยง โอลด์ทาวน์ คาเฟ่  ซึ่งคุณกอล์ฟ เจ้าของร้าน เล่าที่มาที่ไปของร้านว่า จากความชอบไปเที่ยวร้านกาแฟ ทำให้เห็นขนมเค้กและเบเกอรี่สมัยใหม่ จึงเกิดความสงสัยว่าขนมแบบของอาม่าจะอยู่ในร้านกาแฟร่วมสมัยได้ไหม จนกระทั่งได้เจอรุ่นน้องที่ทำขนมแบบนี้ได้ จึงตัดสินใจกลับมาเปิดร้านที่บ้านเกิดพร้อมๆ กับรับซื้อขนมโบราณไว้เสิร์ฟคู่กัน

ตรัง
ตรัง

“ขนมที่มีวันนี้คือเปี๊ยะเล็ก งาพอง (ม่อหลาว) พายสับปะรด ขนมจีบหวาน และลูกเต๋า ซึ่งขนมพวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นขนมของคนไหหลำ” คุณกอล์ฟบอกกับพวกเรา

ขอแอบกระซิบบอกเมนูลับที่ต้องลอง คือโอ้เอ๋วน้ำผึ้งมะนาวฝีมือเชฟอุ้ม ที่ทำมาจากลูกฟิกหรือมะเดื่อเทศ กินตอนอากาศร้อนๆ นี่สดชื่นอย่าบอกใคร!

พิกัด 7,9 ซอยห้วยยอด 2 ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง
เวลาทำการ 10.00 – 22.00 น.

โกช้อย

ตรัง

ร้านอาหารตามสั่งไทย-จีนที่เปิดมาเกือบครึ่งศตวรรษ มีทีเด็ดที่เมนูขาหมูร้อนและขาหมูเย็น ซึ่งร้านคิดสูตรขึ้นจากความชอบของตัวเองและการตระเวนชิมร้านต่างๆ

ตรัง
ตรัง

ความพิเศษของขาหมูร้อนที่นี่ หน้าตาภายนอกอาจเหมือนขาหมูทั่วไปที่เราเคยรับประทาน แต่เนื่องจากใช้วัตถุดิบเป็นขาหน้าของหมู ทำให้เนื้อนุ่ม สวย รสสัมผัสคล้ายสตูมากกว่าพะโล้ ซึ่งใช้เวลาทำกว่า 5 ชั่วโมงเลยทีเดียว เช่นเดียวกับขาหมูเย็น ทำจากขาหมูขาหน้าเช่นเดียวกัน แต่จะมีวิธีการทำที่ต่างออกไป คือไม่ต้องเผา แต่ใช้มีดโกนโกนขนหมูแทน จากนั้นใส่ไข่เค็มเพื่อเพิ่มรสชาติเป็นเมนูที่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังกินเยลลี่อีกด้วย

พิกัด ถนนรักษ์จันทน์ ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง
เวลาทำการ 11.00 – 21.00 น.

จีบขาว

ตรัง
ตรัง

เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม มาตรังทั้งทีต้องกินติ่มซำเป็นอาหารเช้าแบบชาวตรังแท้ๆ อีกร้านที่พลาดไม่ได้คือ จีบขาว ร้านติ่มซำเก่าแก่เปิดขายมานานเกือบ 80 ปี มีเมนูอาหารหลากหลาย ทั้งจีบขาว จีบเหลือง เปาะเปี๊ยะทอด เต้าหู้ยัดไส้หมู หรือที่ดูหนักขึ้นมาก็มีโจ๊ก กระเพาะปลา และบรรดาก๋วยเตี๋ยวต่างๆ ซึ่งพี่อุ้มก็ได้ให้เกร็ดความรู้ว่า “ปาท่องโก๋มันแปลว่า ขนมน้ำตาลสีขาว แล้วก็อิ่วจาก้วยก็แปลตรงตัวเหมือนกัน อิ่ว ก็คือน้ำมัน จา คือทอด ส่วน ก้วย คือแป้ง เป็นแป้งทอดน้ำมัน” นอกจากนี้ยังนิยมจิ้มกับซอสกำเจือง (ค้อมเจือง) เป็นน้ำจิ้มประจำจังหวัด มักใช้ทานคู่กับของคาว

ตรัง
พิกัด ถนนเก่า ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง
เวลาทำการ
05.00 – 11.30 น.

หัวหมูปากหม้อ เจ๊กี่

ตรัง
ตรัง

หรือถ้ากินติ่มซำไม่อิ่ม ลองเดินไปที่ตลาดเทศบาลแวะกินอาหารเช้าต่อได้ที่ร้านเจ๊กี่ เป็นร้านเล็กๆ ร้านเดียวในตลาดเช้าที่ขายปากหม้อ ความพิเศษของร้านนี้อยู่ตรงที่ ปากหม้อนี้จะใส่น้ำกะทิและราดด้วยน้ำกำเจือง ทำให้มีรสชาติเข้มข้นและหวานมัน จะอร่อยครบถ้วนไปเลยถ้าสั่งรวมกับหัวหมูของดีของร้าน และถึงแม้ร้านจะบอกว่าเปิดถึง 11 โมง แต่เราก็แนะนำให้ไปก่อนเวลานะเพราะของอาจจะหมดก่อน

พิกัด ถนนเก่า ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง
เวลาทำการ 05.00 – 11.00 น.

ซินจิว

ตรัง

ร้านอาหารโบราณอายุ 50 กว่าปี มีเอกลักษณ์คือ จะเปิด 3 รอบ เช้า เที่ยง และเย็น แต่ละรอบจะขายอาหารไม่เหมือนกัน ซึ่งรอบที่เราไปคือรอบเช้า จึงสั่งโกปี๊ที่คนตรังนิยมกินกับหมูย่าง พูดให้เข้าใจง่ายๆ โกปี๊ก็คือกาแฟโบราณที่ใส่นมข้นหวานไว้ก้นถ้วย อยากกินหวานแค่ไหน ก็คนนมข้นขึ้นมาเท่าที่เราต้องการ แล้วยังมีโกปี๊ออที่เป็นโกปี๊ไม่ใส่นมข้นหวาน และโกปี๊ช้ำก็คือโกปี๊ผสมชาและใส่นมข้นหวาน เรียกได้ว่ามีทุกแบบที่อยากได้

ตรัง

ถ้าใครช่างสังเกตหน่อยจะพบว่าร้านซินจิวไม่มีทิชชูตั้งบนโต๊ะให้ เช่นเดียวกับร้านอาหารเก่าแก่ส่วนใหญ่ในตรัง เรื่องนี้มีที่มา ในอดีต ชาวสวนยางพารามักจะรอฟังประกาศราคายางทางวิทยุ ซึ่งส่วนมากก็จะอยู่ตามร้านรับซื้อยางพารา ในช่วงที่ราคายังไม่ประกาศก็จะกินกาแฟรอ ทำให้ร้านมักจะตั้งกระดาษที่เรียกว่า กระดาษห่อหมูย่าง แทนที่จะเป็นทิชชู เพราะมันสามารถจดราคายางพาราได้นั่นเอง ซึ่งวัฒนธรรมนี้ก็ยังสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

พิกัด หัวมุมถนนกันตรัง ใกล้สี่แยกถนนกันตัง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง
เวลาทำการ 05.00 – 21.00 น.

ร้านอาหารไม่มีชื่อ (ร้านคุณยายเจียม/โกหลาย)

ตรัง
ตรัง

ถึงแม้จะไม่มีป้ายหน้าร้าน แต่ร้านข้าวราดแกงร้านนี้ถูกรู้จักกันในนาม ร้านคุณยายเจียม ซึ่งเปิดมากว่า 40 ปี แต่ละวันจะมีเมนูกับข้าวหลากหลาย ถึงวันละ 25 – 30 เมนู ไม่ว่าจะเป็นผัดมะเขือยาว ยำมะม่วงเบา เคยฉลู

ตรัง
ตรัง

จานเด็ดของที่นี่ถ้าไม่ได้กินถือว่ามาไม่ถึงก็คือ หมูฮ้อง ที่ทำมาจากหมูสามชั้น เวลาทานจะมีกลิ่นหอมของซีอิ๊ว เป็นเมนูอาหารของชาวจีนฮกเกี้ยนที่นำเข้ามา จานอาหารที่ทางร้านยกมาวาง มีมากจนถึงขนาดที่เราต้องยืนขึ้นไปบนเก้าอี้ ถึงจะเก็บรูปอาหารได้ทั้งหมด และถ้าไม่มั่นใจว่าจะไปตามรอยถูกไหม ลองสอบถามทางจากคนในพื้นที่ได้เลยทุกคน

พิกัด ถนนกันตรัง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง
เวลาทำการ 10.00 – 13.00 น.

ล่อคุ้ง

ตรัง
ตรัง

ความอร่อยไม่ได้มีอยู่แค่ในอำเภอเมืองฯ เท่านั้น ในเขตกันตังก็มีร้านที่เราอยากแนะนำ เป็นร้านราดหน้าชื่อดังประจำอำเภอ เปิดมาร่วม 50 กว่าปี เป็นหลักฐานยืนยันความอร่อยได้เป็นอย่างดี ภายในร้านมีครัวอยู่ด้านหน้า ทำให้สามารถเห็นตอนปรุงอาหารได้อย่างชัดเจน ส่วนเมนูที่ไม่ว่าใครมาก็ต้องสั่งคือ ราดหน้าจานเปล โปะด้วยกุ้งตัวโต สดๆ จากทะเล รสชาติกลมกล่อม รับประกันความคุ้มค่า เหมาะสำหรับมากันหลายๆ คน

พิกัด ถนนรัษฎา ตำบลกันตัง อำเภอกันตัง
เวลาทำการ 10.00 – 15.00 น. และ 17.00 – 20.00 น.

ขนมหวานเฉลิมตรัง

ตรัง
ตรัง

ร้านขายของหวานเก่าแก่ที่หลบซ่อนตัวอยู่ในซอยข้างร้านซินจิว เมนูยอดนิยมคือ ซาหริ่มน้ำแข็งไสกับทับทิมกรอบ รสชาติหวานพอดี หอมกลิ่นกะทิ เราเลยจัดไปคนละหนึ่งถ้วย ส่วนเมนูอื่นๆ ก็มีทั้งกล้วยน้ำว้าเชื่อม ไอศครีมทรงเครื่อง น้ำผลไม้ปั่นและน้ำผลไม้คั้นสด ในราคาย่อมเยา ดังนั้น ใครที่ไปร้านซินจิวแล้ว ก็อย่าลืมแวะมาลองชิมลองทานของหวานที่ร้านนี้กันล่ะ

พิกัด ถนนกันตรัง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง
เวลาทำการ 09.00 – 17.00 น.

เจี่ยหลงติ่น

ตรัง
ตรัง
ตรัง

ร้านขายขนมไทย จีน ขนมโบราณที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ควรค่าแก่การซื้อเป็นของฝาก เนื่องจากเราไปในช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีน จึงเห็นทางร้านวุ่นอยู่กับการห่อขนมใส่ถุงเพื่อเตรียมขาย เราจึงถือโอกาสเรียนรู้เรื่องราวของขนมพอสังเขป อย่างขนมพริกไทย รสชาติเผ็ดๆ ร้อนๆ เป็นขนมของคนท้อง เรียกอีกชื่อว่า ขนมมารดา เพราะช่วยขับน้ำนม หรือขนมที่มีที่มาจากความเชื่ออย่างขนมเต่าสีแดง นิยมกินในเทศกาลมงคล เพราะชาวจีนเชื่อว่าเต่าเป็นสัตว์ที่อายุยืน จึงสื่อความหมายโดยนัยว่าคนที่กินก็จะมีอายุยืนเช่นเดียวกับเต่า ถ้าใครมาเที่ยวตรังแล้วไม่รู้จะซื้ออะไรไปฝากเพื่อน เราขอแนะนำร้านนี้เลย!

ตรัง
พิกัด ถนนกันตรัง ข้างร้านซินจิว ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง
เวลาทำการ 07.00 – 19.00 น.

8 แหล่งห้ามพลาด!

นอกจากบรรดาร้านอาหารชวนน้ำลายสอแล้ว ยังมีแหล่งผลิตอาหาร สถานที่ที่น่าสนใจ และงานเทศกาลที่เหมาะกับคนช่างกิน ซึ่งพวกเราชาว The Cloud ได้ไปมา เลยอยากเล่าและแนะนำให้ไปตาม เพราะ ถ้าคุณโชคดี ก็อาจจะได้กินของสุดยอด ที่ไม่สามารถหากินได้จากที่ไหน!

ชุมชนย่านซื่อ

ตรัง
ตรัง
ตรัง

น้ำผึ้งจาก ถามว่ามาจากไหน ก็ต้องบอกว่ามาจากการเคี่ยวน้ำตาลจากกับน้ำผึ้ง เป็นหนึ่งในสิ่งที่หากินได้ยากในปัจจุบัน ซึ่งพวกเราบุกไปถึงแหล่งผลิต ณ ชุมชนย่านซื่อ ชุมชนป่าจากที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ซึ่งรู้จักกันอีกชื่อว่า ชุมชนปากกัดตีนถีบ เนื่องจากขั้นตอนการลอกใบจากจำเป็นต้องใช้เท้าช่วยเกี่ยวใบ บางครั้งก็ต้องใช้ปากเข้าร่วมด้วย จึงเป็นที่มาของประโยคว่า ปากกัดตีนถีบ ซึ่งนอกจากน้ำผึ้งจากและน้ำตาลจากแล้ว ในชุมชนยังมีการทำติหมา (ที่ตักน้ำ) ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวใต้อีกด้วย

พิกัด ตำบลย่านซื่อ อำเภอกันตัง
เวลาทำการ ไม่มีมีเวลาเปิดปิดที่แน่นอน เนื่องจากเป็นบ้านในชุมชน

หลุมหมูย่างเมืองตรัง

ตรัง
ตรัง

พูดถึงหมูย่าง ของดีขึ้นชื่อของเมืองตรัง พวกเราโชคดีมากที่มีโอกาสได้ดูกรรมวิธีการทำหมูย่างของร้านโกจิ้ว ที่เปิดขายมากว่า 30 ปี โดยปกติแล้วร้านย่างหมูเมืองตรังจะไม่เปิดให้ดูวิธีการทำกันง่ายๆ เพราะต้องผ่านขั้นตอนที่อาศัยเทคนิคและความชำนาญมากมาย อย่างหลุมที่ใช้ย่างก็ต้องสั่งทำเฉพาะเพื่อให้ใส่หมูลงไปได้ทั้งตัว แต่ยังคงให้ไฟได้อย่างทั่วถึง หรือการสักหนัง เพื่อให้หนังเป็นรู ความร้อนจะได้เข้าไปในหนังตอนที่ลงไปย่างอีกรอบ หนังจะได้พองกรอบ เป็นต้น

พิกัด ตำบลบางรัก อำเภอเมืองตรัง
เวลาทำการ สถานที่ส่วนบุคคล ไม่เปิดให้คนภายนอกเข้า

ยิ้นจี้ถ่อง

ตรัง
ตรัง

การทำหมูย่างเมืองตรัง สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ ผงหมักหมูย่าง ซึ่งประกอบด้วยเครื่องเทศกว่า 10 ชนิด บดผสมรวมกันเป็นผง โดยดัดแปลงจากเครื่องพะโล้ ร้านยิ้นจี้ถ่องถือเป็นร้านเก่าแก่ที่คิดค้นผงหมูย่างขึ้นมาได้เป็นเจ้าแรกของเมือง มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นร้านขายยาสมุนไพรจีน ด้วยความที่อยู่ใกล้ตลาดสด จึงทำผงเครื่องเทศสำหรับประกอบอาหารขายควบคู่กัน และพัฒนาจนกลายเป็นผงหมักหมูย่างในท้ายที่สุด ซึ่งสิ่งที่เราประทับใจนอกจากผงหมูย่างคือตาชั่งเครื่องเทศแบบโบราณ หลักการคือ ถ่วงทั้งสองฝั่งให้เท่ากัน โดย 1 บาท จะเท่ากับ 15 กรัม เช่นเดียวกับการชั่งทอง

ตรัง
ตรัง

สิ่งที่เราพบอีกอย่างเกี่ยวกับคนในเมืองนี้คือ คนตรังเป็นคนใจดี ชอบเลี้ยงแขกด้วยอาหาร ขนาดในร้านผงหมูย่าง เรายังถูกต้อนรับด้วยขนมเข่งกับบ๊ะจ่างเลย แล้วอย่างนี้จะไม่ให้อ้วนได้ยังไง

พิกัด ถนนราชดำเนิน ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง
เวลาทำการ จันทร์-เสาร์ 08.00 – 18.00 น. อาทิตย์ 08.00 – 12.00 น.

ศาลเจ้าฮกเกี้ยน

ตรัง
ตรัง

อาคารไม้ขนาด 2 ชั้นหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) อดีตเจ้าเมืองตรัง ตัวอาคารมีอายุเก่าแก่ร่วมศตวรรษ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่เดินทางมาค้าขายได้มีที่พักค้างคืน และเนื่องจากในสมัยนั้นต้องใช้เรือสำเภาในการค้าขาย พ่อค้าชาวจีนจึงได้นำองค์ม่าจ้อโป๋ (เจ้าแม่แห่งทะเล) มาประดิษฐานไว้ที่ศาลเจ้าฮกเกี้ยน เพื่อจะได้สักการะบูชารวมไปถึงประกอบกิจกรรมทางศาสนาที่ศาลเจ้าแห่งนี้ หลังจากไหว้องค์ม่าจ้อโป๋ ชิมชาดาวเรืองและทานของว่างโบราณ ได้แก่ โอวต้าว ที่ทำจากแป้งและเผือกทอด และแบบประยุกต์ ซึ่งใช้เผือกนึ่งแทนเผือกทอด เวลาเคี้ยวจะให้ความรู้สึกที่นิ่มกว่า น่าจะเป็นเพราะใส่เครื่องเป็นถั่วลิสงกับกุ้งแห้ง ขนมนี้จะทำขึ้นเฉพาะช่วงพิธีการเท่านั้น หากใครมีเวลาว่างก็ควรหาโอกาสไปลองชิม

พิกัด ถนนรัษฎา ตำบลกันตัง อำเภอกันตัง
เวลาทำการ 08.00 – 18.00 น.

ศาลเจ้าไหหลำ(เก่งจิวโฮยก้วน)

ตรัง
ตรัง

อีกหนึ่งศาลเจ้าที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลกันคือ ศาลเจ้าไหหลำ ศาลเจ้าแม่ทับทิมเก่าแก่ ศูนย์รวมใจของชาวจีนไหหลำ โดยมีความเชื่อว่าเจ้าแม่ทับทิมจะช่วยปกป้องพวกเขาจากภัยพิบัติทางน้ำ อิ่มใจแล้วก็มาอิ่มท้องกันต่อด้วยโกปังเกตซึ่งเป็นขนมมงคล รสชาติคล้ายขนมผิง แต่กลิ่นหอมกว่า ตามด้วยบ๊ะจ่างขาหมูที่ใช้วิธีการห่อที่ไม่เหมือนใคร แต่พวกเราขอยอมพ่ายแพ้ต่อด่านนี้ จึงหอบหิ้วกันไปคนละถุงสองถุงแทน

พิกัด ถนนรัษฎา ตำบลกันตัง อำเภอกันตัง
เวลาทำการ 08.00 – 18.00 น.

บ้านขนมม่อหลาว (ขนมงาพอง)

ตรัง
ตรัง

บ้านหลังเล็กในตำบลบางรักแห่งนี้เป็นสถานที่ผลิตขนมม่อหลาวแห่งเดียวในตรัง ยิ่งได้ชมวิธีการทำม่อหลาว ขนมโบราณที่ต้องอาศัยสภาพภูมิอากาศในกระบวนการทำ ตั้งแต่อาศัยแดดแทนการอบเพื่อทำให้แป้งแห้ง เพราะถ้าใช้การอบแป้งจะไม่พองตัว ดังนั้น ในช่วงที่ฝนตกหรืออากาศชื้นจะไม่สามารถทำขนมม่อหลาวได้เลย รวมถึงต้องอาศัยเทคนิคพิเศษมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำมันสองกระทะ สำหรับการทอด 2 ครั้ง เป็นต้น ดังนั้น จึงถือเป็นขนมที่ทำได้ยากพอๆ กับหากินได้ยาก

ตรัง
ตรัง
พิกัด ตำบลบางรัก อำเภอเมืองตรัง
เวลาทำการ สถานที่ส่วนบุคคล ไม่เปิดให้คนภายนอกเข้า

มัสยิดมะดีนะตุลอิสลาม

ตรัง

ศาลเจ้าก็ไปมาแล้ว คราวนี้เราเลยพามาที่มัสยิดบ้าง เพราะเราอยากให้เห็นถึงความหลากหลายเชื้อชาติที่อยู่ในตรัง ซึ่งไม่ได้มีแค่เชื้อชาติไทยหรือจีน แต่ยังมีชาติพันธุ์และศาสนาอื่นรวมอยู่ด้วย โดยตัวมัสยิดสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2536 จากการร่วมแรงร่วมใจของชาวมุสลิมที่อยู่ในทับเที่ยง ภายในมีร้านอามีเดียคาเฟ่ที่ขายชาและโรตี โดยโรตีจะขายเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น ใครสนใจก็ไปลองกันได้ ส่วนอาหารที่พวกเรากินคือแป้งโรตี แกงปลา แกงถั่ว แกงเนื้อ และชาเชนไน

ตรัง
ตรัง

มาถึงมัสยิดทั้งทีเราต้องลองกินอาหารด้วยมือ ตามแบบฉบับชาวมุสลิม สำหรับพวกเขาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารหรูหรือคนมียศถาบรรดาศักดิ์ก็จะใช้มือ ไม่ต่างอะไรกับที่เราใช้ช้อนส้อม นี่เลยเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ลองใช้มือกิน มันอาจจะดูมูมมามหน่อย แต่มันสนุกและอร่อยกว่าจริงๆ นะ ใครมีโอกาสต้องลองสักครั้ง

พิกัด ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง
เวลาทำการ 05.00 – 22.00 น.

งานเทศกาล Wonder Fat

ตรัง
ตรัง

มาถึงทีเด็ดของเรา นั่นคืองานเทศกาล Wonder Fat เทศกาลของคนตุ้ยนุ้ย! (พิธีกรเขาว่าไว้อย่างนั้น) ภายในงานประกอบไปด้วยร้านอาหารและร้านคาเฟ่แนวๆ รวมกันทั้งหมด 20 ร้าน ถึงแม้อาจจะดูไม่เยอะ แต่คุณภาพนั้นคับแก้ว  

อีกเหตุผลที่เรามางานนี้ก็คือ เราจะมาฝากท้องกับเมนู Chef’s Table ซึ่งถ้าจะให้พูดถึงอาหารแต่ละจานก็เกรงว่าพื้นที่หน้ากระดาษจะไม่พอ จึงขอยกตัวอย่างเมนูที่เราชอบอย่าง ‘ศรีตรัง’ เป็นค็อกเทลที่มีลูกเล่น อยู่ที่การบีบส้มเพื่อให้สีของค็อกเทลเปลี่ยน โดยที่มาของชื่อศรีตรัง มาจากกับคำว่า สี นั่นเอง อีกเมนูคือ ‘หอยเชลล์ย่างซอสไตปลา’ เป็นเมนูที่ได้แรงบันดาลใจจากขนมจีนที่มีผักเคียงเยอะๆ ส่วนแกงไตปลาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ เมื่อรวมกับหอยเชลล์ตัวใหญ่ ซึ่งมีวิธีการกินคือค่อยๆ ตัดกินทีละนิด เลือกผักทีละอย่างสองอย่างกินกับซอสไตปลา ให้ผักแต่ละชนิดเป็นตัวชูรสชาติหอยเชลล์ ยิ่งกินคู่กันกับไวน์ขาวยิ่งสมบูรณ์แบบ

ตรัง
ตรัง

นอกจากเมนูเกือบทั้งหมดจะทำมาจากวัตถุดิบที่หาได้ในจังหวัดตรัง สะอาด และปลอดสารพิษ ทุกจานยังเต็มไปด้วยไอเดียและคอนเซปต์ที่คิดมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ต่อให้ไปถึงหน้าร้าน เราก็ไม่รับประกันว่าจะได้กินเมนูแบบเดียวกันนี้หรือเปล่า ดังนั้น ใครที่สนใจจริงๆ เราขอแนะนำให้ติดต่อกับทางร้านเป็นการส่วนตัว หรือรอติดตามงานเทศกาลในครั้งถัดไป

รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.facebook.com/Wonderfat-324507334825682/

ตรัง
 

เกร็ด

  • บางสถานที่ไม่ใช่ร้านอาหาร จึงอาจไม่มีอาหารตลอดทั้งปี หากสนใจไปศาลเจ้าหรือมัสยิด โปรดแต่งกายสุภาพ และเคารพสถานที่
  • เปอรานากัน คือคำที่ใช้เรียกลูกครึ่งจีน-มลายู มีความหมายว่า เกิดที่นี่
  • ตรัง 9 มื้อ ไม่ได้หมายความว่าคนตรังจะกินข้าว 9 มื้อ แต่เนื่องจากคนสามกลุ่มใหญ่ คือคนธรรมดา พ่อค้าแม่ค้า และคนกรีดยาง เวลากินข้าวไม่ตรงกัน จึงถูกเรียกว่า ตรัง 9 มื้อ ซึ่งหมายถึงจังหวัดที่มีของกินตลอดเวลา

Writer

Avatar

วัชรพล ประกายวิเชียร

ลูกครึ่งจีนที่พูดจีนไม่ได้ คลั่งไคล้ญี่ปุ่นแต่ไม่เคยไป เรียนการตลาดแต่สนใจการเป็นนักเขียน โอเลี้ยงขมๆ ไม่ต้องใส่นม คือ สิ่งที่โปรดปราน

Photographer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2