เมื่อพูดถึงของกินหาดใหญ่ ทั้งภาพและกลิ่นที่นึกออกอย่างแรกเลยคือไก่ทอดหาดใหญ่ หนังกรอบๆ ร้อนๆ มีหอมเจียวกินคู่กัน แต่พอพูดถึงสงขลากลับนึกยากกว่า พอลงไปสำรวจดูจริงๆ สงขลามีอาหารที่น่าสนใจ มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ในอดีตสงขลาเป็นเมืองที่เจริญอันดับต้นๆ ของบ้านเรา เรียกว่ามีอะไรใหม่ทันสมัยที่บางกอกก็ต้องมีที่สงขลา บางอย่างมาจากเมืองฝรั่งอย่างสิงคโปร์โดยตรง และสืบทอดกันมาเป็นร้อยปี เหลือให้เห็นกันถึงปัจจุบัน เราเลยปักหมุดที่จะลงไปค้นหาว่า สงขลารวมถึงหาดใหญ่มีอาหารอะไรที่จะเล่าทั้งเรื่องคน เรื่องเมือง และเรื่องวัฒนธรรมให้เราเรียนรู้ได้บ้าง เป็นที่มาของทริป อิ่มทริป 02 : กินนอนนครใน

ทริปที่ไม่มีกิจกรรมอะไรเลยนอกจากกิน กิน และกิน ตลอด 3 วัน 2 คืน กับผู้ร่วมกิน 18 คน 9 มื้อ แบบไม่รวมมื้อย่อยๆ หรือมื้อแถม

เมื่อรวบรวมเพื่อนกินต่างเพศต่างวัยที่ต่างคนต่างมาได้ครบก็ขึ้นรถตู้มุ่งหน้าเข้าสู่หาดใหญ่เริ่มหาอะไรกินทันที

ร้านที่เลือกไปกินอาจจะไม่ใช่ร้านอร่อยที่สุดในเมือง แต่เลือกเพราะร้านนั้นสามารถเล่าเรื่องเมืองในมิติใดมิติหนึ่งได้ เพราะจุดประสงค์ที่เรามาตระเวนกินกันขนาดนี้ เพื่อที่เราจะเรียนรู้เมืองเมืองหนึ่งผ่านอาหาร

ตลอดทริปนี้ กินๆ นอนๆ เรียนเรื่องนครสงขลากันอย่างอิ่มหนำ ได้ความรู้เรื่องอาหารจากวิทยากร 2 ท่านคือ เชฟอุ้ม-คณพร จันทร์เจิดศักดิ์ เชฟผู้เชี่ยวชาญอาหารแบบเพอรานากัน และเป็นผู้มีความรู้เรื่องอาหารแบบวัฒนธรรมผสมผสาน และ อาจารย์ปุ๊-มงคล ชนินทรสงขลา อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผังเมืองและประวัติศาสตร์สงขลามานำเที่ยว นำกิน และคอยให้ความรู้

กินอะไรไปบ้าง ขอเชิญอ่านกันได้ หากอดใจไม่ไหวกดจองตั๋วรถไฟ เครื่องบินกันได้ตามสะดวก

กินนอนนครในมื้อที่ 1

โกตี๋โอชา

ล่องลง สงขลา เมืองสองทะเล ไปกินอาหารวัฒนธรรมผสมผสานไทย จีน มุสลิม

เปิดมื้อแรกด้วยความหิวโหยจากการเดินทาง เราแวะกินมื้อเช้าที่หาดใหญ่ ก่อนจะมุ่งหน้าสู่อำเภอเมืองสงขลา ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าอาการหิวนั้นจะเป็นความหิวครั้งเดียวในทริป

อาหารเช้าของหาดใหญ่จะมีอะไรดีไปกว่าข้าวมันไก่และบักกุดเต๋ร้อนๆ เราเลือกโกตี๋โอชา หนึ่งในร้านบักกุดเต๋ที่มีมากมายในเมือง แต่ร้านนี้มีความแตกต่างโดดเด่นเป็นของตัวเอง

ล่องลง สงขลา เมืองสองทะเล ไปกินอาหารวัฒนธรรมผสมผสานไทย จีน มุสลิม

เมื่อก่อนอะไรทันสมัยจากสิงคโปร์ก็จะมีที่สงขลา หาดใหญ่ก่อนใครเขา ทำให้เห็นว่าเมืองนี้ทันสมัยแค่ไหน ติดต่อค้าขายและรับเอาวัฒนธรรมการกินจากที่ต่างๆ มาปรับเป็นของตัวเองได้อย่างดี    

ล่องลง สงขลา เมืองสองทะเล ไปกินอาหารวัฒนธรรมผสมผสานไทย จีน มุสลิม

บักกุดเต๋ที่นี่ก็ได้สูตรมาจากสิงคโปร์ แต่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ทำให้เหมือน บักกุดเต๋ร้านโกตี๋มีน้ำซุปที่เข้มข้น เต็มไปด้วยยาจีนต่างไปจากสูตรน้ำใสอย่างสิงคโปร์ เครื่องเคราครบครัน ไม่ว่าจะเป็นซี่โครงหมู ตับ ไส้ หรือแม้แต่สมองหมู สามารถเลือกได้ว่าจะเอาหรือไม่เอาอะไรบ้าง

ล่องลง สงขลา เมืองสองทะเล ไปกินอาหารวัฒนธรรมผสมผสานไทย จีน มุสลิม

โกหว่า เจ้าของสูตรกว่าครึ่งทศวรรษบอกว่า ลองแบบหม้อไฟดู มันจะเข้มข้นกว่าสั่งเป็นถ้วย เพราะน้ำซุปที่เยอะกว่า และค่อยๆ งวดหลังจากได้รับความร้อน ทำให้รสยาจีนรวมถึงโสมชัดเจนขึ้น บางคนซดแล้วจะร้อนจนเหงื่อออกจากท้ายทอยก็มี

ล่องลง สงขลา เมืองสองทะเล ไปกินอาหารวัฒนธรรมผสมผสานไทย จีน มุสลิม

ข้าวมันไก่ที่นี่ก็เด็ด ไก่ตอนเนื้อฉ่ำอวบ ราดน้ำราดแบบเค็มกลิ่นหอมสูตรเบตงนี่กินกับบักกุดเต๋ร้อนๆ ดีเชียว

โกตี๋โอชา

หาดใหญ่

เปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 04.30 – 14.00 น.

โทร 0818961564


กินนอนนครในมื้อที่ 2

เถ้าคั่วป้าจวบ

มื้อแรกในนครสงขลาประเดิมด้วยร้านป้าจวบ ขายอาหารที่เขาเรียกกันว่าสลัดทะเลสาบ หรือ ‘เถ้าคั่ว’ หรือ ‘เต้าคั่ว’ ถ้าไม่รู้ภาษาจีนเลยก็คงยังพอเดาได้ว่า ‘เต้า’ น่าจะเป็นเต้าหู้ ส่วน ‘คั่ว’ ก็คือการทำให้สุกด้วยความร้อน ซึ่งก็ไม่ผิด พระเอกของจานนี้คือเต้าหู้ทอด

เต้าคั่วคืออาหารทานเล่น แต่ก็เล่นเอาอิ่มอยู่เหมือนกัน ประกอบไปด้วยเส้นหมี่ขาว ผักบุ้ง กุ้งชุบแป้งทอด หัวหมู และเต้าหู้ทอด ราดน้ำที่เคี่ยวจากน้ำตาลโตนด ได้รสหวาน คลุกเคล้าแล้วกิน

ภาคใต้มีอาหารลักษณะคล้ายกันแบบนี้อยู่ตามถิ่น ต่างวัตถุดิบ ต่างชื่อเรียกกันไป หัวหมูผักบุ้งบ้าง ผักบุ้งไต่ราวบ้าง หรือแม้แต่อาหารมุสลิมอย่างสลัดแขกที่เราคุ้นเคยก็เป็นอาหารที่มีความคล้ายคลึงกัน

เต้าคั่วป้าจวบจานเดียวจะเห็นส่วนผสมที่น่าสนใจ การกินแบบแขก แต่ใส่หัวหมู หูหมู เต้าหู้ ผักบุ้งแบบจีน และมีกุ้งจากทะเลสาบสงขลา น้ำตาลโตนด ใช้น้ำส้มโตนดเพิ่มรสเปรี้ยวแบบที่หากินได้ง่ายแถวนครศรีธรรมราช สงขลา บอกใบ้ว่าเมืองนี้มีวัฒนธรรมการกินที่ผสมผสานกันไม่ต่างจากคนในเมืองนี้แน่นอน

อ.ปุ๊เสริมว่า สงขลาเป็นเมืองที่อาศัยอยู่รอบๆ ทะเลสาบมาตั้งแต่แรก มีการเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่อยู่ไม่กี่ครั้ง เหตุผลก็เพราะเรื่องชัยภูมิสงครามและการขยายของตัวเมือง แต่สงขลาก็มีการอยู่ร่วมกันของคนไทยพุทธ ชาวมุสลิม และชาติอื่นมาตลอดเวลา จึงไม่น่าแปลกใจที่อาหารของสงขลาส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นวัฒนธรรมผสม และใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น โดยเฉพาะจากทะเลสาบสงขลา

เถ้าคั่วป้าจวบ

ถนนยะหริ่ง

เปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 10.00 – 16.00 น.

มื้อแถม

ขนมบ้าบิ่นแม่เล็ก

เชฟอุ้มแนะนำร้านบ้าบิ่นมะพร้าวอ่อนที่อยู่บนถนนยะหริ่ง เยื้องๆ กันกับร้านเต้าคั่วป้าจวบ บ้าบิ่นที่ใช้วิธีการอบแบบไฟบนให้หน้ากรอบ ในสมัยก่อนใช้ถ่านในการอบ ข้างในยังนุ่มและไส้มะพร้าวอ่อนแน่นมาก เป็นบ้าบิ่นที่เนื้อต่างจากบ้าบิ่นที่จี่กระทะทั่วไปแบบปัจจุบัน

ขนมบ้าบิ่นแม่เล็ก

ถนนยะหริ่ง สงขลา

เปิด-ปิด : ทุกวัน (หยุดวันจันทร์)

โทร 0846338486


กินนอนนครในมื้อที่ 3

ข้าวมันแกงไก่ บ้านกัปตัน

เมืองเก่าสงขลามีถนนหลักๆ 4 สายขนานกับทะเลสาบสงขลา ใกล้ทะเลสาบที่สุดเรียกว่าถนนนครนอก ถัดไปอีกเรียกว่าถนนนครใน ถัดมาเป็นถนนนางงาม และถนนไทรบุรี ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าและที่อยู่อาศัยของชาวไทยเชื้อสายจีน แต่ปลายถนนทั้งสี่สายจะมีชุมชนมุสลิมที่เรียกกันว่า ‘บ้านบน’ อยู่ ตอนกลางคืนพอร้านรวงอื่นๆ ในเมืองเริ่มปิด แต่บ้านบนกลับคึกคักไปด้วยของกิน โดยเฉพาะโรตี น้ำชา ข้าวยำ และข้าวมันแกงไก่ อาหารมุสลิมขึ้นชื่อของชุมชนบ้านบน

ข้าวมันในกระทงใบตองกลัดมุมให้เป็นภาชนะ ตักเครื่องนานาชนิดอย่างแกงไก่ แกงออดิบใส่ไข่ ราดน้ำพอขลุกขลิก น้ำพริก น้ำพริกมะขาม กุ้งหวาน และปลากรอบ เคล้าให้ส่วนผสมเข้ากัน รสเผ็ด หวาน เค็ม มันเข้ากันดีเชียวล่ะ สูตรนี้สืบทอดกันมาเป็นร้อยปีแล้ว

ร้านบ้านกัปตันไม่มีโต๊ะให้นั่งกินที่ร้าน ซื้อแล้วเดินถือกลับบ้าน หรือซื้อแล้วแวะนั่งกินที่ร้านโรตีน้ำชา สั่งน้ำสั่งขนมมานั่งกินไปสนทนากันไปก็ได้บรรยากาศดี

ข้าวมันแกงไก่ บ้านกัปตัน

ชุมชนบ้านบน

เปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 16.00 – 22.00 น.

มื้อแถม

ผีตายหวาก

เชฟอุ้มเข้าครัวลงมือทำขนมชื่อแปลกอย่าง ‘ผีตายหวาก’ หรือบางที่เรียก ‘บี้ถ่ายบาก’ เป็นแป้งเส้นบีบจากพิมพ์แบบขนมจีน แต่กินกับน้ำเชื่อมหรือน้ำตาลโตนด ใส่เม็ดแมงลัก ลอยน้ำแข็งเย็นๆ กินเป็นของทานเล่น ขนมแบบนี้อาจจะยังมีขายอยู่ แต่หาได้ยากเต็มที เชฟอุ้มร่ำเรียนการทำขนมแบบนี้มาจากคนเฒ่าคนแก่ในสงขลามาทำให้เรากิน ก่อนที่มันจะสูญหายไป


กินนอนนครในมื้อที่ 4

ข้าวดอกราย

มื้อนี้ต้องถือว่าเป็นอาหารมื้อสุดพิเศษที่ไม่ได้มีโอกาสกินได้บ่อยๆ เราตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อเดินทางไปบ้านสะกอม เขตติดต่อระหว่างอำเภอจะนะและอำเภอเทพา บ้านสะกอมเป็นหมู่บ้านมุสลิมที่ทำอาชีพประมงพื้นบ้าน ชาวบ้านที่นี่รวมกลุ่มกันทำประมงชายฝั่งแบบที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และชาวบ้านร่วมกับกลุ่มอาหารปันรักนำโดย พี่แก้ส-ศุภวรรณ ชนะสงคราม ร่วมกันทำธนาคารปูเพื่อรักษาปูไข่นอกกระดองที่จับมาได้ให้มันออกไข่และนำกลับคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งชาวอิ่มทริปจะลงเรือไปปล่อยปูคืนสู่ธรรมชาติด้วยเช่นกัน

ก่อนออกเรือช่วงสาย จะพลาดมื้อเช้าสุดพิเศษไปไม่ได้ ชาวบ้านเตรียมทำอาหารสุดพิเศษที่เรียกว่า ‘ข้าวดอกราย’ ให้พวกเราได้กิน

ข้าวดอกรายเป็นอาหารที่จะหากินได้แค่บ้านสะกอมเท่านั้น เป็นข้าวคลุกกับน้ำพริกตำสด อาหารที่ทำกินกันในบ้าน ส่วนผสมก็เป็นของง่ายๆ หาได้ในครัว เช่น พริก หอมแดง ตะไคร้ มะขาม และกะปิที่ชาวบ้านสะกอมหมักกันเอง เป็นกะปิสะกอมที่ขึ้นชื่อ ส่วนผสมสำคัญคือปลาที่จับมาสดๆ นำมาย่างจนสุก แกะเนื้อเตรียมไว้

น้ำพริกที่จะทำข้าวดอกรายจะต้องตำในครกไม้ที่ใช้สำหรับตำข้าวดอกรายโดยเฉพาะ เป็นไม้ท่อนใหญ่ท่อนเดียว ขุดเป็นหลุม ที่ปากหลุมมีปีกที่กว้างออกไปพอที่จะใช้พื้นที่หั่น ซอย สับเครื่องน้ำพริกต่างๆ แทนเขียง แล้วปาดทุกอย่างลงไปในหลุมแล้วตำให้เข้ากัน

นำข้าวที่ควรจะเป็นข้าวเย็น เพราะคลุกกับน้ำพริกแล้วเป็นเม็ดสวยอยู่ และยังเป็นกุศโลบายให้ใช้ของที่เหลืออย่างมีประโยชน์ คลุกเคล้าขยำข้าวจนเข้ากัน คลุกปลาย่างผสมลงไปด้วย คล้ายๆ ข้าวคลุกน้ำพริกมะขามหรือข้าวคลุกกะปิ

รสชาติจะเปรี้ยวนำ เค็มและเผ็ดตามมา มีความนัวจากกะปิหมักเองและเนื้อปลาที่อร่อยเพราะความสดใหม่ เป็นอาหารเฉพาะถิ่นที่ถ้าโชคดีขอให้ได้ลองชิมสักที


กินนอนนครในมื้อที่ 5

อาหารทะเลจากประมงพื้นบ้าน

บังโซะเป็นผู้ขับเรือพาเรานั่งเรือประมงขนาดกลางออกจากปากน้ำสู่ทะเลกว้าง ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงจากฝั่ง เรานั่งเรือออกมาครั้งนี้เพื่อปล่อยปูไข่ที่อยู่ในโครงการธนาคารปูของชาวบ้านและกลุ่มอาหารปันรัก

บังโซะเปรยว่า ทะเลเป็นเหมือนธนาคารของทุกคน เพียงแต่ว่ามีแต่คนถอน แต่ไม่มีใครฝาก ปัญหาสัตว์น้ำลดน้อยลงจากการทำประมงแบบไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โกยเอาไปปริมาณมากโดยไม่เลือกของการทำประมงแบบอุตสาหกรรม ส่งผลถึงสิ่งแวดล้อมโดยตรง ชาวบ้านเลยตั้งธนาคารปูกันเอง เพื่อเก็บปูไข่ที่จับติดมาให้ปูเขี่ยไข่แล้วออกเป็นลูกปู นำลูกปูเหล่านั้นกลับไปปล่อยคืนสู่ทะเลอีกครั้ง

เหตุผลที่เราต้องนั่งเรือออกมาไกล ไม่ใช่เพราะว่าจะหย่อนปูลงตรงไหนของทะเลก็ได้ ถ้าปล่อยแบบไม่ดูตาม้าตาเรือลูกปูก็อาจจะเป็นเหยื่อของสัตว์ใหญ่กว่าได้ง่ายๆ เลยต้องหาจุดปล่อยที่มีโขดหินหรือปะการังพอจะให้ลูกปูเติบโตขึ้นได้

เราเรียกกิจกรรมนี้อย่างไม่เป็นทางการว่า กินหนึ่งตัว ปล่อยหมื่นตัว คือการกินแบบพอดี และมีส่วนร่วมในการสร้างสภาพแวดล้อมให้กลับมาสมดุลอีกครั้ง

หลังจากขึ้นฝั่งแล้ว เรามีอาหารกลางวันรออยู่ เป็นอาหารทะเลปิ้งย่าง ทั้งปู ปลา กุ้ง ปลาหมึกสดๆ ที่จับโดยชาวบ้าน สดกันระดับที่ว่าเพิ่งลงจากเรือมาไม่เกิน 5 ชั่วโมงก็อยู่บนเตาถ่านแล้ว นั่งกินกันริมทะเลให้รู้กันไปเลยว่าสดจริง


กินนอนนครในมื้อที่ 6

แต้เฮียงอิ้ว

ร้านอาหารจีนที่มีชื่อเสียงมากในถนนนางงาม กลางเมืองสงขลา ใครไปมาก็ต้องแวะเวียนมาชิมอาหารจีนร้านนี้ ช่วงเที่ยง ช่วงเย็น คนจะแน่นขนัดเต็มร้าน

ร้านแต้เฮียงอิ้วเป็นอาหารไทย-จีน ตามแบบฉบับจีนแต้จิ๋ว ฝีมือการจัดการอาหารทะเลต้องบอกว่าหายห่วง ไร้กลิ่นคาว ดังนั้นอาหารขึ้นชื่อของสงขลาจึงเป็นอาหารประเภทปลา

ปลาที่เป็นปลาท้องถิ่นอาศัยอยู่ในอ่าวไทยและบริเวณทะเลสาบสงขลา ลักษณะของสงขลาที่มีทั้งทะเลและทะเลสาบ ทำให้ปลามีลักษณะเนื้อที่ดีจากการที่ต้องว่ายน้ำเค็มน้ำจืดไปมา ปลาธรรมชาติที่หาได้ง่าย ทำให้แทบไม่ต้องใช้ปลาเลี้ยงให้มีกลิ่นโคลน

ปลากะพงและปลากระบอกเป็นเมนูเด็ดที่หากใครมาร้านแต้ไม่ควรพลาด แกงส้มปลากะพง และปลากระบอกไข่ทอดกระเทียมรสชาติดี แต่ที่ใครมาก็ต้องสั่งไปพร้อมๆ กับเมนูปลาก็คือยำมะม่วงทรงเครื่อง ใช้มะม่วงเบา มะม่วงประจำถิ่นที่มีมากในแถบนี้ ยำมะม่วงซอยเส้นเล็ก ใส่หอมแดง ปรุงรส และโรยด้วยกุ้งแห้งป่น กินเรียกน้ำลายได้ดีเชียว

ร้านแต้เฮียงอิ้วตั้งมั่นว่าจะใช้แต่ของที่หาได้จากสงขลาเท่านั้นมาทำเป็นอาหาร อย่างยำเต้าหู้ยี้ หรือไก่ผัดเต้าหู้ยี้ ที่ใช้เต้าหู้ยี้ในชุมชนมาปรุงเป็นอาหารเช่นกัน สามารถบอกได้อย่างเต็มปากเลยว่านี่คือรสชาติของสงขลาจริงๆ

ร้านแต้เฮี้ยงอิ้ว

ถนนนางงาม

เปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 11.30 – 14.00 น., 17.00 – 20.00 น.

โทร 074311505

มื้อแถม

ไอศครีมยิว

ไอศครีมวานิลลา เทไข่แดงมันวาว และโรยด้วยผงไมโล ไม่ได้เกี่ยวกับคนยิว แต่ยิวมาจากชื่อ นายยิว แซ่เอ่า ผู้คิดสูตรไอศครีมนี้ สมัยก่อนการมีไอศครีมขายในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเริ่มต้นที่สิงคโปร์ การมีไอศครีมแบบฝรั่งขายในสงขลา จึงพอมองออกว่าสงขลานั้นเป็นเมืองทันสมัยแค่ไหน และถ้ามองเผินๆ ไอศครีมไข่แข็งโรยผงไมโลคงมีให้กินได้ไม่ยากในปัจจุบัน แต่ถ้าย้อนกลับไป นม เนย ผงโกโก้ คงไม่ใช่ของราคาถูกที่ใครก็จะซื้อกินกันได้ ไอศครีมยิวจึงเล่าให้เห็นถึงความมีเงินมีทองของชาวสงขลาได้อย่างดี

ไอศครีมยิว

ถนนนางงาม

เปิด-ปิด : ทุกวัน วันธรรมดา 12.30 – 20.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ 11.30 – 20.00 น.


กินนอนนครในมื้อที่ 7

ฮับเซ่ง

ถ้าพูดถึงมื้อเช้าอันเรียบง่ายของชาวสงขลา หนึ่งในนั้นจะต้องมีฮับเซ่ง ร้านโกปี๊สุดคลาสสิกรวมอยู่ด้วย

แสงแรกยังไม่ทันพ้นขอบฟ้า กลิ่นโกปี๊หอมๆ ก็ลอยมาเตะจมูกแล้ว ฮับเซ่งเป็นสภากาแฟประจำเมืองเก่าสงขลา ยังไม่ทันเคารพธงชาติ โต๊ะขาประจำสภาก็นั่งคุยกันออกรสเต็มร้านแล้ว

ล่องลง สงขลา เมืองสองทะเล ไปกินอาหารวัฒนธรรมผสมผสานไทย จีน มุสลิม
ล่องลง สงขลา เมืองสองทะเล ไปกินอาหารวัฒนธรรมผสมผสานไทย จีน มุสลิม

ของดีของฮับเซ่งคือสังขยาตำรับไหหลำ เราจะเห็นสังขยาแบบข้นๆ ไม่เหลว และจับตัวกันจนเกือบเป็นเนื้อครีมอยู่แล้ว ลักษณะนี้เป็นเอกลักษณ์ของสังขยาแบบไหหลำ จังหวัดใกล้เคียงเช่นตรังก็มีอยู่หลายเจ้า

ส่วนผสมง่ายๆ แค่ไข่ น้ำตาล และกะทิ ผสมกันตามสูตรของใครของมัน เคี่ยวไปเรื่อยๆ จนงวด สีส้มอ่อนเกิดจากการเอาน้ำตาลไปทำคาราเมลจนได้น้ำตาลไหม้ ผสมลงในสังขยาที่กวนจนเกิดสีนวลสวย ทาขนมปังร้อนๆ หอมกรุ่น กินกับโกปี๊ขมๆ เข้ากันดี

ฮับเซ่ง

ถนนนางงาม

เปิด-ปิด : ทุกวันเวลา 05.30 – 12.00 น.


กินนอนนครในมื้อที่ 8

สตูเกียดฟั่ง

ล่องลง สงขลา เมืองสองทะเล ไปกินอาหารวัฒนธรรมผสมผสานไทย จีน มุสลิม

สตูว์ร้อนๆ น้ำกึ่งข้นกึ่งใส รสมัน หอมยาจีน ใส่หมูและเครื่องใน ทานกับข้าวสวย มีน้ำจิ้มพริกรสเปรี้ยวนำ เป็นอาหารยอดนิยมอีกจานหนึ่งที่ใครมาสงขลาก็ต้องแวะมากิน

เมนูแบบนี้แทบจะไม่เห็นจากที่ไหนนอกจากสงขลา อาจเพราะตามเรื่องเล่าบอกว่ามันกำเนิดที่นี่ จากกุ๊กชาวจีนที่ทำงานบนเรือฝรั่ง ถ่ายทอดสูตรการทำสตูว์แบบอังกฤษ แต่ในยุคที่ข้าวยากหมากแพง นมเนยมีราคา เลยต้องใช้กะทิของที่หาง่ายกว่าในภูมิภาคนี้แทน เครื่องเทศก็เช่นกัน ส่วนผสมที่เป็นสูตรตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้เลยได้สตูว์อร่อยๆ รสแบบฝรั่งปนจีน เหมือนกับอีกหลายๆ เมนูที่รับเอาของดีๆ มาปรับเป็นสิ่งที่เข้ากับตัวเอง เห็นถึงความทันสมัยของสงขลาในยุคก่อนๆ

ล่องลง สงขลา เมืองสองทะเล ไปกินอาหารวัฒนธรรมผสมผสานไทย จีน มุสลิม

สิ่งที่ขาดไม่ได้คือหมูกรอบ สั่งไว้กินคู่กับสตูว์ หรือใครจะใส่ลงไปในถ้วยเลยก็ไม่ผิด สายหน่อยจะมีซาลาเปาลูกใหญ่ที่นึ่งเสร็จพอดี คนมาจับจองกันแบบไม่นานก็หมด บางวันก่อนเที่ยงก็อาจจะหมดทั้งซาลาเปา ทั้งสตูและหมูกรอบเลยด้วยซ้ำ อาจจะต้องรีบกันหน่อย

ข้าวสตูเกียดฟั่ง

ถนนนางงาม

เปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 07.00 – 13.00 น.

โทร 074311998


กินนอนนครในมื้อที่ 9

ไก่ทอดซอย 10

ล่องลง สงขลา เมืองสองทะเล ไปกินอาหารวัฒนธรรมผสมผสานไทย จีน มุสลิม

มื้อปิดทริป ก่อนที่ชาวทริปจะแยกย้ายเดินทางกลับ เราออกจากสงขลาไปหาดใหญ่ ศูนย์กลางการคมนาคมในปัจจุบันอีกครั้ง มากินถึงหาดใหญ่จะพลาดไก่ทอดหาดใหญ่ก็จะรู้สึกว่าขาดอะไรไปสักอย่าง

ร้านไก่ทอดหาดใหญ่มีไม่รู้กี่ร้าน ร้านใหญ่ดังๆ เปิดหลายสาขาก็มี ร้านรถเข็นก็มีให้เลือกมากมาย เราเลือกร้านไก่ทอดซอย 10 เพราะร้านนี้แป้งกรอบ หอม เนื้อฉ่ำ และคนมาต่อแถวซื้อกันไม่ขาดช่วง ทำให้ไก่นั้นทอดสดใหม่อยู่ตลอดเวลา และส่วนที่สำคัญที่สุดที่ต้องกินกับไก่ทอดนั้นคือหอมเจียว ถ้าเลือกร้านไก่ทอดหาดใหญ่ให้เลือกร้านที่เจียวหอมเอง เพื่อความกรอบ และมีกลิ่นหอมไม่เหม็นหืนเหมือนหอมเจียวสำเร็จรูป

ล่องลง สงขลา เมืองสองทะเล ไปกินอาหารวัฒนธรรมผสมผสานไทย จีน มุสลิม
ล่องลง สงขลา เมืองสองทะเล ไปกินอาหารวัฒนธรรมผสมผสานไทย จีน มุสลิม

ไก่ทอดซอย 10 เริ่มทอดตั้งแต่ช่วงบ่ายแก่ๆ ราวๆ 4 โมงเย็น มีไก่แทบทุกส่วน น่อง สะโพก สะโพกติดน่อง อก ตีนไก่ และเครื่องในทอด กินกับข้าวเหนียวร้อนๆ หรือเลือกเป็นข้าวหมก ข้าวมันก็ได้ เพราะช่วงกลางวันที่นี่เปิดเป็นร้านข้าวหมกไก่

ฉีกหนังไก่กรอบ ข้างในยังนุ่มฉ่ำ ควันฉุยออกมา ปั้นข้าวเหนียวกับหอมเจียวกรอบ เข้าปากเคี้ยว จะจิ้มน้ำจิ้มหรือไม่ก็แล้วแต่ชอบ ปิดท้ายทริปที่ไม่เคยหิวอีกเลยตั้งแต่มาถึงได้อย่างสวยงาม

ไก่ทอดซอย 10

เพชรเกษม ซอย 10 หาดใหญ่ จ. สงขลา

เปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 11.00 – 14.30 น. (อาหารตามสั่ง) 15.30 – 21.30 น. (ไก่ทอดและอาหารตามสั่ง)

โทร 0896533954

Writer & Photographer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2