ธุรกิจ : บริษัท ​โรงงานแก้วบูรพา จำกัด

ประเภทธุรกิจ : ผลิตเครื่องแก้วทำมือ

ปีก่อตั้ง : พ.ศ. 2498

อายุ : 66 ปี

ผู้ก่อตั้ง : จิตติ จงอัศญากุล

ทายาทรุ่นสอง : ประศาสน์​ จงอัศญากุล, จันทร์​ฉาย จงอัศญากุล, ประสงค์​ จงอัศญากุล

ทายาทรุ่นสาม : พีรัท จงอัศญากุล, รชฎ จงอัศญากุล​ ธุรกิจ Eastern Glass

ในวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ หลายธุรกิจได้รับผลกระทบโดยตรงจนต้องปิดตัวลง บางธุรกิจปรับการดำเนินงานปกติให้เข้ากับสถานการณ์และความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น เช่นเดียวกับโรงงานแก้วบูรพา หนึ่งในโรงงานแก้วทำมือที่เก่าแก่สุดในประเทศ ก็ต้องปรับตัวเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่สร้างธุรกิจเมื่อ 66 ปี

ปีเตอร์-พีรัท จงอัศญากุล หนึ่งในทายาทรุ่นสาม คือผู้เข้ามารับช่วงต่อก่อนการระบาดของโรค COVID-19 ได้ไม่นาน ความท้าทายแรกของเขาคือ ลูกค้าประจำที่เคยรับจ้างผลิตให้ต้องหยุดกิจการชั่วคราว ยอดคำสั่งซื้อลดลงเรื่อยๆ จนเท่ากับศูนย์ ในขณะที่ต้นทุนค่าแรงและเชื้อเพลิงสำหรับโรงเป่าแก้วยังเท่าเดิม

ทายาทรุ่น 3 Eastern Glass ฝ่าโควิดเปลี่ยนโรงงานแก้ว 66 ปีเป็นร้านขายแก้วหมื่นแบบและคาเฟ่

เขาได้ชื่อว่าเป็นทายาทรุ่นแรกที่เข้ามาปิดเตาเผาที่ลุกโชนมากว่า 60 ปี และปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ จากเดิมเคยรับจ้างผลิตแบบ B2B (Business-to-Business) มาเป็นขายปลีก B2C (Business-to-Consumer) อย่างเต็มตัว ด้วยเหตุผลเดียวคือ ต้องการให้ธุรกิจของครอบครัวอยู่รอดต่อไปได้

โรงงานแก้วบูรพาในวันนี้จึงไม่เหมือนเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน โรงงานย่านบางแคที่เคยใช้เป่าแก้วตามคำสั่งผลิต ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นโกดังขายสินค้าขนาดใหญ่ ออฟฟิศอายุหลายสิบปีที่ใช้ทำงานหลังบ้าน ก็รีโนเวตเป็นคาเฟ่หน้าตาทันสมัย เหมือนหลุดออกมาจากจากนิตยสารดีไซน์ ส่วนช่างเป่าแก้วเก่าแก่กลายเป็นพนักงานขายหน้าร้านและคนดูแลสต็อกสินค้า

โรงงานแก้วบูรพาในวันนั้นแปลงโฉมเป็น Eastern Glass ศูนย์รวมแก้วทำมือและคาเฟ่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ เคล้ากลิ่นอายของธุรกิจครอบครัวที่ส่งต่อกันมาถึง 3 รุ่น และตั้งใจจะอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน

ทายาทรุ่น 3 Eastern Glass ฝ่าโควิดเปลี่ยนโรงงานแก้ว 66 ปีเป็นร้านขายแก้วหมื่นแบบและคาเฟ่

โรงงานเดียวที่ผลิตโป๊ะแก้วในประเทศ

โรงงานแก้วบูรพาก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2498 โดย อากงจิตติ จงอัศญากุล 

อากงไม่ได้เป็นช่างเป่าแก้ว แต่มีเพื่อนชาวจีนที่เชี่ยวชาญด้านนี้ จึงจับพลัดจับผลูทำโรงงานรับผลิตแก้วขึ้นมา

ทายาทรุ่น 3 Eastern Glass ฝ่าโควิดเปลี่ยนโรงงานแก้ว 66 ปีเป็นร้านขายแก้วหมื่นแบบและคาเฟ่
ทายาทรุ่น 3 Eastern Glass ฝ่าโควิดเปลี่ยนโรงงานแก้ว 66 ปีเป็นร้านขายแก้วหมื่นแบบและคาเฟ่

แรกเริ่มเดิมทีโรงงานอยู่ย่านสำเหร่ (ปัจจุบันเรียกว่า ซอยโรงแก้ว) สินค้าส่วนใหญ่เป็นแค่โคมไฟและโป๊ะไฟ ด้วยความที่เป็นโรงงานเดียวที่ผลิตโป๊ะไฟได้ในตอนนั้น ใน พ.ศ. 2500 จึงได้รับเลือกจากรัฐบาลให้ผลิตพระบูชาพระแก้วมรกตเนื่องในวาระกึ่งพุทธกาล

ธุรกิจในยุคอากงเป็นการรับจ้างผลิต หรือ OEM (Original Equipment Manufacturer) ทั้งหมด เริ่มจากผลิตโคมไฟเพื่อส่งให้ร้านไฟ ร้านไฟก็จะไปหาเสามาต่อกับโคมไฟให้เป็นสินค้านำไปวางขาย

จนวันหนึ่ง โรงงานเก่าถูกไฟไหม้ อากงจึงย้ายฐานการผลิตมาที่ปัจจุบัน

ทายาทรุ่น 3 Eastern Glass ฝ่าโควิดเปลี่ยนโรงงานแก้ว 66 ปีเป็นร้านขายแก้วหมื่นแบบและคาเฟ่

คุณพ่อประศาสน์​ คุณแม่จันทร์​ฉาย และ คุณอาประสงค์​ เข้ามารับช่วงต่อเป็นทายาทรุ่นสองในยุค 1980 เป็นยุคที่โรงงานแก้วแฮนด์เมดในประเทศญี่ปุ่นได้รับความนิยมมาก จากเคยผลิตแค่โคมไฟ โป๊ะไฟ และพระบูชาพระแก้วมรกต ก็หันมาผลิตแก้วน้ำ จาน ชาม และแจกัน มากขึ้น นับเป็นโรงงานแก้วเจ้าแรกที่ผันตัวมาทำของตกแต่งบ้านอย่างเต็มตัว

โรงงานแก้วแห่งแรกที่หันมาผลิตสินค้า Decor

คุณพ่อและคุณอารับหน้าที่ดูแลฝ่ายผลิต ส่วนคุณแม่ดูการตลาดและบัญชี

สมัยนั้นทั้งในไทยและต่างประเทศไม่ค่อยมีโรงงานผลิตแก้วแฮนด์เมด ชาวต่างชาติต้องการแหล่งผลิตที่ต้นทุนถูกกว่าในบ้าน เขาจึงต้องหาโรงงานนอกประเทศ

“แล้วคุณแม่เป็นคนขายเก่ง” ปีเตอร์ว่าแบบนั้น 

คุณแม่จันทร์​ฉายเรียนจบสาขาบัญชี แต่มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นคนทันต่อยุคสมัยและอัปเดตเทรนด์ใหม่ๆ ตลอดเวลา จึงรับหน้าที่เป็นหัวเรือในการออกแบบแก้วให้กับโรงงานแก้วบูรพา 

ทายาทรุ่น 3 Eastern Glass ฝ่าโควิดเปลี่ยนโรงงานแก้ว 66 ปีเป็นร้านขายแก้วหมื่นแบบและคาเฟ่

เพราะไม่มีอินเทอร์เน็ตให้ค้นหาข้อมูลเหมือนทุกวันนี้ คุณแม่จึงใช้วิธีการสั่งซื้อหนังสือตกแต่งบ้านจากเมืองนอกทุกหัว ตั้งแต่นิตยสาร Architectural Digest ถึง House & Garden แล้ววาดตามเก็บไว้เป็นหมื่นๆ แบบ เพื่อนำไปเสนอบริษัทต่างชาติ 

ขณะที่คุณพ่อกับคุณอาพยายามหาเทคนิคใหม่ๆ ที่รองรับดีไซน์ของคุณแม่ได้

“ตอนนั้นเป็นยุคแอนะล็อก คุณพ่อเลยพาช่างที่มีฝีมืออีกสามคนบินไปญี่ปุ่นด้วยกัน สมัยนั้นญี่ปุ่นถือว่าเป็นสุดยอดเรื่องนี้ เขาไปซุ่มดูการผลิตในโรงงานที่ญี่ปุ่นอยู่เป็นอาทิตย์แล้วจำกลับมาทำ เครื่องแบบนี้มันทุ่นแรงได้นะ เทคนิคการเป่ามีแบบไหนบ้าง

“พอกลับมา เขาก็ลองเอาเหล็กมาประกอบให้เหมือนเครื่องที่ไปเห็นมาที่ญี่ปุ่น ลองผิดลองถูกกัน หลายเครื่องก็ไม่ได้ใช้งาน”

ทายาทรุ่น 3 Eastern Glass ฝ่าโควิดเปลี่ยนโรงงานแก้ว 66 ปีเป็นร้านขายแก้วหมื่นแบบและคาเฟ่

ผู้ผลิตสินค้าให้แบรนด์ดังระดับโลก

เพราะต้องอาศัย Know-how เฉพาะทาง จำนวนโรงงานเป่าแก้วในประเทศไทยจึงนับนิ้วได้ มาจนถึงวันนี้ก็ยังมีไม่ถึง 10 แห่ง ไม่เหมือนโรงงานเซรามิกหรือโรงงานพลาสติกที่แตะหลักพัน 

หลังจากรับจ้างผลิตส่งออกให้ญี่ปุ่นสักพัก คุณแม่จันทร์ฉายเข้าเจาะตลาดยุโรปในช่วง 1990 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่คนยุโรปเริ่มสนใจการตกแต่งบ้านมากขึ้น ด้วยการเดินทางไปออกงานแฟร์ดังๆ อย่าง Fiera Milano ในอิตาลี Maison & Objet ที่ฝรั่งเศส Ambiete ของเยอรมนี และ Birmingham Fair ที่อังกฤษ

โรงงานแก้วบูรพาในมือทายาทรุ่นสองถือว่ารุ่งเรืองมาก มีโรงงานทั้งหมด 5 โรง ช่างทำงาน 2 กะตลอด 24 ชั่วโมง ผลิตแก้วได้วันละหลักหมื่นใบ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นห้างสรรพสินค้า โรงแรม และแบรนด์ของตกแต่งบ้านในต่างประเทศ ที่ให้คุณค่ากับสินค้าแฮนด์เมด ปีเตอร์ไล่เรียงชื่อให้เราฟังตั้งแต่ Raph Lauren Home, Crate & Barrel, Pottery Barn, Anthropologie, Galeries Lafayette ไปจนถึงห้างใหญ่ทั้ง 4 แห่งบนถนน Oxford Street ย่านช้อปปิ้งสำคัญของกรุงลอนดอน ที่สั่งผลิตสินค้าไปขายในนามแบรนด์ของตัวเอง

แม้รุ่งเรืองขนาดนั้นและรู้แก่ใจว่าถ้ายังผลิตแบบทำมืออยู่ สเกลธุรกิจจะไม่ใหญ่ไปกว่าเดิมได้มากนัก โรงงานแก้วบูรพาก็ยังเชื่อมันทำแบบเดิม ไม่ยอมเปลี่ยนเป็นการผลิตแบบเครื่องจักรทั้งหมด

“เคยคิดจะเปลี่ยนเหมือนกันครับ มีหลายโรงงานก็ใช้เครื่องทำ แต่ตลาดก็เป็นคนละตลาดกัน อย่างนั้นต้องทำทีเป็นแสนๆ ใบ ขายแมส เข้าร้านอาหาร ของเราคือแก้วแฮนด์เมด สามารถออกแบบรูปทรง ออกแบบสีได้ ถ้าใช้เครื่องเขาจะเน้นสีใสทั้งหมด พอเป็น Mass Production เขามาเปลี่ยนทรงเปลี่ยนสีไม่ได้ เพราะลงทุนไปกับเครื่องจักรสูงมาก เลยต้องผลิตเอาจำนวนให้มากไว้ก่อน (Volumn Game) โรงแก้วทำมือหลายๆ ที่ก็ผันตัวไปเป็น Machine-made มีเจ๊งไปหลายโรงเหมือนกัน การลงทุนสูง พอเข้าไปในตลาด Mass Production มันต้องคำนึงถึงการกระจายสินค้า การหาตลาด ไม่ใช่แค่ผลิตออกมาอย่างเดียว

“แล้วคุณพ่ออยู่กับงานคราฟต์ งานแฮนด์เมดมานาน ถ้าเปลี่ยนเป็นเครื่องจักร เขาต้องเปลี่ยนดีเอ็นเอของตัวเองไปเปลี่ยนอีกอย่าง เพื่อธุรกิจครอบครัว เขาจึงเลือกเดินในทางที่ตัวเองเชื่อ เลือกทำให้สิ่งที่เขาเห็นคุณค่า”

ทายาทรุ่น 3 Eastern Glass ฝ่าโควิดเปลี่ยนโรงงานแก้ว 66 ปีเป็นร้านขายแก้วหมื่นแบบและคาเฟ่

ธุรกิจ OEM ที่ต้นทุนเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ลดลงทุกปี

หลังจากผ่านจุดสูงสุดของธุรกิจมาได้ไม่นาน จีนเริ่มเปิดประเทศด้วยค่าแรงที่ถูกกว่าทุกที่ในเวลานั้น ฐานผลิตย้ายตามต้นทุนที่ต่ำลง ตลาดการสั่งผลิตแก้วเริ่มซา ในขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกปี โรงงานแก้วบูรพาค่อยๆ ปิดโรงงานทีละโรงๆ จาก 5 เหลือ 3 จาก 3 เหลือ 2 จาก 2 เหลือเพียง 1 

ต้นทุนของธุรกิจครอบครัวปีเตอร์มี 3 อย่างหลักๆ

หนึ่ง ค่าแรงช่างฝีมือที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

สอง เชื้อเพลิงที่ต้องใช้เดินเตาตลอดเวลาแม้ไม่มีการผลิต เพราะการหลอมเตาครั้งหนึ่งต้องใช้เวลาถึง 1 สัปดาห์ในการทำให้อุณหภูมิขึ้นไปถึง 1,200 องศาเซลเซียส 

และสาม เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตต่างๆ

คุณพ่อและคุณอาจึงหาทางหนีทีไล่ด้วยการเปิดตลาดในประเทศ โดยรายได้ส่วนใหญ่ยังมาจาก OEM จากต่างชาติอยู่ 

“เราเปิดร้านที่จตุจักร เพราะเมื่อยี่สิบปีก่อนคนไทยยังไม่เข้าใจงานแฮนด์เมด และราคาที่สูงกว่า ของทำมืออาจจะมีรูปร่างไม่เท่ากันบ้าง สีอาจจะไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ในกระบวนการเป่าแก้วก็อาจเกิดรอยเพราะเราทำในที่เปิด มีฝุ่นเข้ามาได้ คนที่ไม่เข้าใจก็จะมองว่าสินค้ามีตำหนิ ขายไม่ได้ ทำมาสิบใบ สีไม่เท่ากันเลยสักใบ ขายไม่ได้ ธุรกิจขายปลีกเราเลยไม่หวือหวา บางช่วงลำบากด้วยซ้ำ”

ทายาทรุ่น 3 Eastern Glass ฝ่าโควิดเปลี่ยนโรงงานแก้ว 66 ปีเป็นร้านขายแก้วหมื่นแบบและคาเฟ่
ทายาทรุ่น 3 Eastern Glass ฝ่าโควิดเปลี่ยนโรงงานแก้ว 66 ปีเป็นร้านขายแก้วหมื่นแบบและคาเฟ่

ปรับโครงสร้างธุรกิจอายุกว่า 60 ปีจาก B2B เป็น B2C

ในเวลาเดียวกัน ปีเตอร์ ลูกชายคนที่ 2 ของบ้านกำลังสนุกกับการทำงานในองค์กรใหญ่ เขาเรียนจบคณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด เริ่มงานแรกที่เอเจนซี่โฆษณา Leo Burnett ก่อนจะย้ายไปทำเรื่องแบรนด์ให้ Heineken และ BURGER KING ตามลำดับ จนกระทั่งคุณพ่อเสีย

ปีเตอร์ในวัย 30 อาสากลับมาทำงานที่บ้านโดยทิ้งความก้าวหน้าทางอาชีพและเงินเดือนหลักแสน เขาเข้ามารับช่วงต่อก่อนวิกฤต COVID-19 จะเกิดได้ไม่นาน

สิ่งแรกที่ทายาทรุ่นสามทำคือ ดูงบการเงินและ Business Plan เพื่อหาโอกาสการเติบโตหรือลดต้นทุนที่มีอยู่ 

“ธุรกิจตอนนั้นอยู่ตัวมาก นิ่ง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ย้ายไปผลิตที่จีนหมด ต้นทุนเราสูงขึ้น ค่าแรงสูงขึ้น น้ำมันสูงขึ้น เคมีแพงขึ้น แต่ราคาที่เราตั้งสูงมากไปกว่านี้ไม่ได้ เพราะมันยังมีอีกทอดหนึ่งที่เขาซื้อแล้วไปขาย ทำแบรนด์ หรือเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าต่อ สัดส่วนกำไรเราลดลงทุกวันๆ”

นั่นเป็นความยากลำบากที่ธุรกิจ OEM ทุกเจ้าเจอเหมือนกัน

“เดือนแรกที่เข้ามา ผมขอเอกสารเยอะมาก นั่งดูเลยว่าเรามีรายได้จากทางไหน ยอดผลิต ยอดขายปลีก ยอดจากร้านค้าต่างๆ เพื่อพบว่าส่วนที่ทำกำไรให้บริษัทจริงๆ คือการขายปลีกที่ร้านจตุจักรและพัทยา ซึ่งเป็นส่วนที่บริษัทไม่ได้โฟกัสเลย”

เขาตัดสินใจยุบส่วนที่ไม่ทำกำไรลง นั่นก็คือฝ่ายผลิต และขยายส่วนที่ทำกำไรให้ธุรกิจอย่างการขายปลีก โดยปรับโครงสร้างจากธุรกิจ B2B (Business-to-Business) มาเป็นขายปลีก B2C (Business-to-Consumer) อย่างเต็มตัว

ทายาทรุ่น 3 Eastern Glass ฝ่าโควิดเปลี่ยนโรงงานแก้ว 66 ปีเป็นร้านขายแก้วหมื่นแบบและคาเฟ่
ทายาทรุ่น 3 Eastern Glass ฝ่าโควิดเปลี่ยนโรงงานแก้ว 66 ปีเป็นร้านขายแก้วหมื่นแบบและคาเฟ่

จากเคยผลิตได้วันละหลักหมื่นใบ เหลือศูนย์

ธุรกิจอายุ 66 ปีผ่านวิกฤตเศรษฐกิจโลกมาหลายครั้ง ตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย หรือ วิกฤตต้มยำกุ้งใน พ.ศ. 2540 ที่ส่งผลต่อการลดลงของค่าเงินบาท แต่กลับเป็นโชคดีของธุรกิจ OEM ส่งออกเพราะทำให้รายได้มากขึ้น มาถึงวิกฤต COVID-19 เมื่อสองปีก่อน ที่ไม่โชคดีเหมือนครั้งแรก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ทั้งห้างสรรพสินค้าและโรงแรมทั่วโลกปิดทำการชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งความยากของธุรกิจนี้คือ เตาที่ต้องเดินตลอดเวลา ไม่สามารถกดปุ่มปิดแล้วเปิดใหม่ได้ แม้ไม่มีออเดอร์เข้ามาและไม่มีรายได้

เขายกตัวอย่างแบบนี้ ในระยะเวลา 30 วัน แค่ไม่ได้ผลิต 4 วัน บริษัทก็ขาดทุนแล้ว 

ทายาทรุ่นสามจึงเข้ามาปิดเตาชั่วคราวเพื่อลดต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) อย่างค่าแรง เชื้อเพลิง และเคมี ปรับโฉมโรงงานเก่าให้เป็นร้านขายสินค้าปลีก เพื่อขายสินค้ากว่าแสนชิ้นในสต็อกที่ไม่ได้ส่งออก และรีโนเวตออฟฟิศเป็นร้านคาเฟ่เพื่อดึงดูดให้คนแวะมา

แต่ด่านแรกที่ทายาททุกคนต้องเจอในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจครอบครัวใหม่ คือการนำเสนอให้ทายาทรุ่นก่อนหน้าเห็นด้วย ปีเตอร์วางแผนทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและรัดกุมในทุกๆ เรื่อง แต่การจะเดินไปหาคุณแม่กับคุณอาเพื่อบอกว่า ‘ต้องการปรับโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งแปลว่าต้องมีการเอาคนออกเกือบร้อยคน’ ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าไม่ทำ ธุรกิจก็ไปต่อไม่ได้

“เราคุยกันนานพอสมควร เพราะมันไม่ได้ปรับแค่นิดหน่อย มันคือการเปลี่ยนธุรกิจหลักไปเลย แต่โชคดีมากที่ทั้งสองท่านสนับสนุนเต็มที่แม้จะยังมองไม่เห็นภาพก็ตาม พอเราเสนอ เขาเลยบอกกลับมาว่า นี่เบอร์แบงก์นะ ถ้าจะกู้ก็ติดต่อเอง” 

ทายาทรุ่น 3 Eastern Glass ฝ่าโควิดเปลี่ยนโรงงานแก้ว 66 ปีเป็นร้านขายแก้วหมื่นแบบและคาเฟ่

ทายาทที่ให้คนออกเกือบ 100 คน

ลองนึกภาพตามว่า โรงงานแก้วบูรพาอายุกว่า 60 ปีผ่านมือสมาชิกในครอบครัวมา 3 รุ่น ตั้งแต่ยุคคุณปู่ มารุ่นคุณพ่อ จนถึงปีเตอร์ และเขาจะเป็นรุ่นแรกที่เข้ามาทำงานเพียงไม่กี่เดือน ก็ตัดสินใจปิดเตาที่เปิดมาตลอดครึ่งศตวรรษ และให้คนงานฝ่ายผลิตที่อยู่ด้วยกันมาหลายสิบปีออกเกือบ 100 คน 

มันเป็นเรื่องง่ายและเรื่องยากในเวลาเดียวกัน

“เรื่องง่ายคือ ผมอาจจะไม่มีความผูกพันเท่ากับคุณพ่อ การตัดสินใจทางธุรกิจเลยง่ายสำหรับผมมากกว่าเขา คุณพ่อพูดมาตลอดว่าธุรกิจเราอยู่ตัวแล้ว ต้นทุนเบียด ราคาเบียด และคงเติบโตมากไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว ทีแรกผมไม่เชื่อ พอเข้ามาทำเองเลยพยายามกดทุกอย่าง ลองบีบทุกอย่าง อัปราคาขึ้นไป ทำโบรชัวร์ ทำแบรนดิ้งใหม่ ส่งโบรชัวร์นี้ไปให้สองร้อยกว่าบริษัทที่ทำเกี่ยวกับของตกแต่งบ้าน เขาตอบกลับมาให้เสนอราคากลับไป ผมส่งใบเสนอราคาเกือบร้อยใบ มีตอบกลับมาแค่บริษัทเดียว ที่เหลือเขามองว่าราคาสูงไป เขาผลิตกับจีนอยู่ เรารู้เลยว่าขึ้นราคากว่านี้ไม่ได้ ถ้าขึ้นมากกว่านี้ไม่มีตลาดรองรับแน่นอน ต้นทุนก็ลงกว่านี้ไม่ได้แล้ว

“เพราะฉะนั้น คุณพ่อรู้มาตลอดว่ามันมีกับดักตรงนี้อยู่ แต่เขาทำไม่ได้เพราะธุรกิจนี้มีคุณค่าทางจิตใจกับเขามาก”

การทำงานองค์กรใหญ่มาหลายปีไม่ได้เตรียมพร้อมเขาสำหรับการไล่คนออก

ทายาทรุ่น 3 Eastern Glass ฝ่าโควิดเปลี่ยนโรงงานแก้ว 66 ปีเป็นร้านขายแก้วหมื่นแบบและคาเฟ่

“ผมให้คนฝ่ายผลิตออกไปร้อยกว่าคน มีแต่คนเก่าคนแก่ แต่เราไม่มีทางอื่น ซึ่งทางช่างเองเขาก็คำนึงถึงความปลอดภัยในช่วง COVID-19 เหมือนกัน เพราะการทำงานนี้ใกล้ชิดกันมาก บางครั้งต้องแชร์อุปกรณ์กัน หลายคนเลยโอเคที่ถูกเลย์ออฟตอนนั้น เพราะกำลังจะเกษียณด้วย 

“จำได้ว่าซื้อหนังสือกฎหมายแรงงานมาอ่านเอง ปรึกษาเพื่อนที่เป็นทนายว่าการเลย์ออฟคนต้องทำยังไงบ้าง ผมทำเองคนเดียวหมดทุกอย่าง ต้องบอกพนักงานทีละคนๆ บอกไปตามตรงว่ากำลังลำบาก ต้องขอหยุดธุรกิจนี้ไว้ชั่วคราว ถ้าธุรกิจกลับมา เราอาจจะกลับมาผลิตใหม่ บางคนร้องไห้ บางคนขอบคุณที่เราดูแลเขา เข้าใจว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องทำ ณ ตอนนั้นเพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ มันลำบากใจแต่เราต้องทำให้ถูกต้อง”

ทางออกเดียวของธุรกิจครอบครัว

มั่นใจแค่ไหนว่ามันจะช่วยธุรกิจเราได้-เราถาม

“ตอนนั้นคิดแค่ว่าของเรามีเยอะมาก ต้องหาวิธีระบายออก มีอยู่สองทางที่ผมวางแผนไว้คือ หนึ่ง สร้างแบรนด์ของเราขึ้นมาแล้วไปเปิดร้านทุกหัวมุมเมือง ไปทั้งเชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา รวมถึงช็อปเล็กๆ ตามห้างต่างๆ แต่แบบนี้ควบคุมได้ลำบากมาก ทางนี้เลยตกไป มาสู่ทางที่สอง คือปรับโรงงานแก้วให้เป็นหน้าร้านของเราเอง เพราะที่นี่มันมีสตอรี่ 

Eastern Glass ฝ่าโควิดเปลี่ยนโรงงานเป็นคาเฟ่และร้านขายแก้วหมื่นแบบของทายาทรุ่น 3

“เราวาง Brand Identity ใหม่ ทำโลโก้ใหม่ สร้างชื่อ Eastern Glass ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษของโรงแก้วบูรพา ให้เป็นที่รู้จัก นี่เป็นทางออกเดียว ณ ตอนนี้”

จากร้านเล็กๆ ทดลองเปิดหน้าโรงงานในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ขยายเป็นโกดังที่ใช้พื้นที่โรงงานทั้งหมดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มองดีๆ จะเห็นเตาหลอมและอุปกรณ์ดั้งเดิมตั้งอยู่รอบๆ

ส่วนคาเฟ่มาทีหลัง เพิ่งมีอายุได้หนึ่งเดือนเศษ เริ่มต้นมาจากไอเดียที่ว่าอยากมีอะไรดึงดูดให้คนมาที่นี่ ซึ่งยุคนี้ก็หนีไม่พ้นการทำคาเฟ่ แต่จะทำคาเฟ่ยังไงให้แตกต่างจากที่อื่น 

Eastern Glass ฝ่าโควิดเปลี่ยนโรงงานเป็นคาเฟ่และร้านขายแก้วหมื่นแบบของทายาทรุ่น 3
Eastern Glass ฝ่าโควิดเปลี่ยนโรงงานเป็นคาเฟ่และร้านขายแก้วหมื่นแบบของทายาทรุ่น 3

คาเฟ่ Eastern Glass ที่เหมือนหลุดออกมาจากนิตยสารดีไซน์ของต่างประเทศ เดาจากภาพที่เห็นตรงหน้าน่าจะต้องมีสถาปนิกมืออาชีพออกแบบให้เป็นแน่

“เราคิดกันเองครับ หยิบโน้นผสมนี้ เอา Reference ต่างๆ จาก Pinterest มาปรับเปลี่ยนนิดหน่อย แล้วนำอุปกรณ์การผลิตแก้วมาโชว์ให้คนรู้ว่าที่นี่คือโรงงานแก้ว คนที่มาซื้อแก้วก็มีที่นั่ง มีที่กินน้ำกาแฟ”

เครื่องแก้วในร้านกาแฟเป็นของ Eastern Glass ทั้งหมด และในเร็วๆ นี้ จะมีการออกแบบเมนูให้เข้ากับแก้วแต่ละแบบ เราสั่งเครื่องดื่มพบว่าแก้วสวยมาก จนต้องเดินเข้าไปซื้อในโกดังขายของ

แก้วในโกดังมีหลายหมื่นแบบ ถ้านับเป็นจำนวนก็เกือบๆ แสนใบ คุณภาพแบบส่งออกให้ญี่ปุ่นและยุโรป ราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักสิบ แบบไหนขายหมดแล้วหมดเลยจนกว่าจะเปิดเตาใหม่

ธุรกิจแบบ B2C หรือการขายให้ลูกค้าโดยตรง ทำรายได้ให้ธุรกิจอยู่รอดในยุค COVID-19 ต่างกับสมัยคุณพ่อประศาสน์​เริ่มทำรีเทลตรงที่คนในปัจจุบันเข้าใจเรื่องของดีไซน์ เห็นคุณค่าของงานทำมือ และสนใจการตกแต่งบ้านมากขึ้น

Eastern Glass ฝ่าโควิดเปลี่ยนโรงงานเป็นคาเฟ่และร้านขายแก้วหมื่นแบบของทายาทรุ่น 3

ศูนย์รวมแก้วแฮนด์เมดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

ปีเตอร์ยังไม่แน่ใจว่า หากวิกฤต COVID-19 คลี่คลาย ธุรกิจของเขาสามารถกลับไปดำเนินการ OEM ได้เร็วแค่ไหน เพราะต้องขึ้นอยู่กับอุปสงค์ในตลาด 

“แต่คงไม่ทำสเกลใหญ่เท่าเดิมแล้ว เพราะเราจะคุมต้นทุนไม่ได้ ตอนนี้กำลังหาโอกาสในเครื่องจักรใหม่ๆ ที่ใช้ไฟฟ้า แบบที่เปิดปิดเตาได้เลยไม่ต้องรอ ส่วนคนเราก็ยังมีช่างเก่าๆ ที่ติดต่อกันอยู่ ถ้าวันหนึ่งกลับมาเปิดเตาก็ต้องชวนเขากลับมา”

แม้รู้ว่าธุรกิจแก้วทำมือยังไงก็ลำบาก เพราะต้องอาศัยหลายปัจจัย ทั้งช่างผู้เชี่ยวชาญ เรื่องคุณค่าที่คนมองกลับมาที่ยังไม่สะท้อนกับเม็ดเงินที่ยินดีจ่าย ภาพสุดท้ายที่ปีเตอร์วางไว้สำหรับ Eastern Glass โฉมใหม่ คือการเป็นศูนย์รวมแก้วแฮนด์เมด โดยเปิดรับพาร์ตเนอร์ทั้งในไทยและต่างประเทศ และพาแบรนด์ไปได้ไกลที่สุด อยู่อย่างยั่งยืนให้นานที่สุด มากกว่าเป็นกระแสที่ผ่านเข้ามาและผ่านไป 

และหวังว่าวันหนึ่งจะได้เปิดเตาอายุ 66 ปีอีกครั้ง เพื่อผลิตเครื่องแก้วที่ประทับตรา Eastern Glass ไว้ด้านล่างอย่างภาคภูมิใจ

Eastern Glass ฝ่าโควิดเปลี่ยนโรงงานเป็นคาเฟ่และร้านขายแก้วหมื่นแบบของทายาทรุ่น 3

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล