สำหรับเด็กยุค 90 อย่างเราที่ดูหนังในโรงภาพยนตร์ครั้งแรกเรื่อง The Lion King จนวันนี้ ถึงวันที่ครบรอบ 25 ปี มีการนำมาทำเป็นภาพยนตร์ Live-action เสมือนจริงแบบสัตว์พูดได้ และยังมีเวอร์ชันละครเวที Broadway ที่กำลังจะมาเปิดแสดงที่กรุงเทพฯ ความตื่นเต้นเดิมยังคงอยู่และขนลุกซู่เวลาเพลง Circle of Life เปิดเรื่อง
“นาาาาา ซิง้อนยาาาา”
เราเป็นคนหนึ่งที่มีความรู้สึกตื้นตันทุกครั้ง และฝันว่าวันหนึ่งจะได้ไปเหยียบดินแดนที่เป็นต้นกำเนิดของ The Lion King
ดินแดนสัตว์โลกตามสารคดี National Geographic ดินแดนแห่งทุ่งหญ้าสะวันนาสุดลูกหูลูกตาที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับภาพยนตร์แอนิเมชันอมตะที่ซื้อใจคนไปทั่วโลก
ก่อนที่ The Lion King จะถือกำเนิดขึ้น ผู้ผลิตอย่างวอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) ส่งทีมนักสำรวจไปยังพื้นที่แห่งหนึ่งของโลกที่สามารถศึกษาพฤติกรรมสัตว์ได้อย่างใกล้ชิด ทั้งการเคลื่อนไหว สีสัน เสียง ภูมิประเทศ สิ่งแวดล้อม และบรรยากาศของพื้นที่ราบกว้าง

ทุกอย่างล้วนมีการบันทึกไว้และนำมาจินตนาการต่อ ความรู้สึกที่ถูกโอบอุ้มด้วยแสงอาทิตย์ยามเช้า กับหมอกจางๆ ที่ค่อยๆ เลือนหายไป ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นฉากเปิดเรื่องได้อย่างสวยงาม ธรรมชาติอันน่าอัศจรรย์ของแอฟริกาตะวันออกทำให้ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

แผนตามรอยเจ้าป่า จากเคนยาสู่แทนซาเนีย
ความกังวลที่ว่าแอฟริกาไม่ได้เป็นที่นิยมของคนไทยเลย และเป็นทวีปที่หาเพื่อนฝูงไปด้วยยากมากๆ ทำให้ความฝันที่จะได้ไปค่อนข้างริบหรี่ จนวันหนึ่งเมื่อมีเพื่อนเอ่ยปากชวน หัวใจจึงตอบตกลงในทันที ขณะที่สมองกำลังคำนวณค่าใช้จ่ายสูงเฉียดฟ้าที่ใครๆ ก็บอกว่าไปยุโรปดีกว่า ใช้เวลาหาข้อมูลเพิ่มเติมอยู่สักพัก สุดท้ายก็เอาเหอะ “ไม่ไปวันนี้แล้วจะไปวันไหน”

ทีมสำรวจของ The Lion King สมัยเวอร์ชันการ์ตูนปักหลักเก็บข้อมูลสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ ที่ Hell’s Gate National Park ในประเทศเคนยา ขณะที่ภูมิประเทศในฉากก็ได้แรงบันดาลใจมาจากสถานที่ต่างๆ คละกันไปทั่วภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก ประกอบกับสถานที่ซึ่งสร้างจากจินตนาการของศิลปินดิสนีย์เอง เช่น โขดหินสูง Pride Rock ที่โดดเด่นเป็นบัลลังก์

สถานที่ที่เราเลือกไปก็มีกลิ่นอายความ The Lion King ให้ได้สัมผัสแตกต่างกัน บางที่เห็นแล้วโดนใจใช่เลย เหมือนในหนังเป๊ะ โดยเราเดินทางเป็นวงกลมจากเคนยาสู่แทนซาเนีย แวะไปตามอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต่างๆ ฟังดูอาจจะคิดว่าเหมาะกับนักเดินทางขาลุย แบกกล้องเลนส์ใหญ่ รักธรรมชาติ แต่ความรู้สึกอเมซิ่งที่อยู่ในทุกช่วงของการเดินทางมันเหมาะกับทุกคนเลย
Game Drive–กล้องพร้อม รถพร้อม แต่มากับดวงหรือเปล่า?
การจะได้อิ่มเอมกับบรรยากาศสะวันนาสีทองแบบใน The Lion King พร้อมกับตัวละครจริงที่มาโลดแล่นให้ดูชมนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย หนทางเดียวที่จะได้สัมผัสคือต้องออกไป Game Drive
กิจกรรม Game Drive Safari ให้เปรียบง่ายๆ ก็เหมือนการเล่นเกม การค้นหาสัตว์นานาพันธุ์ที่ซ่อนตัวอยู่ในอุทยานผ่านกล้องส่องทางไกลและเลนส์กล้องถ่ายรูป ให้ความรู้สึกเหมือนการเก็บแต้ม โดยขับรถไปเรื่อยๆ วนอยู่ในอุทยาน

คนขับรถต้องมีความรู้เรื่องภูมิประเทศในอุทยานเป็นอย่างดี มีความรู้เรื่องพฤติกรรมสัตว์ รู้ว่าสัตว์ชนิดไหนควรจะอยู่ตรงไหน และต้องตาไวมากๆ พื้นที่กว้างใหญ่ที่แค่มองไปก็มึนแล้ว เพราะสัตว์ที่อยู่ในพื้นที่มีเฉดสีเดียวกับทุ่งหญ้าซึ่งใช้ในการพรางตัว ทำเอาตาลายเวลามองหา แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพกความเฮงมาด้วย เพราะคนขับรถของเราเล่าให้ฟังว่า บางทีไม่ได้เจอสัตว์เลยสักตัว



Game Drive ทำให้เราได้พบเจอตัวละคร The Lion King แบบจริงๆ จังๆ ในบรรยากาศที่เหมือนหลุดเข้าไปในหนัง แต่ตัวละครอาจดูผิดแปลกไปจากการ์ตูนสักหน่อย บางคนอาจมองว่าธรรมชาติโหดร้าย แต่ก็เป็นวัฏจักรของห่วงโซ่ที่ต้องยอมรับ และไม่ได้น่ารักใสๆ เหมือนความรู้สึกวัยเด็ก

เรามีโอกาสได้พบเสือชีตาห์พี่น้อง 5 ตัวกำลังรุมกินวิลเดอบีสต์ (Wildebeest) อย่างเอร็ดอร่อย เราได้แต่เฝ้ามองปาร์ตี้อาหารเย็นมื้อนั้นและเก็บภาพกฎของธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วยังได้พบเจอพฤติกรรมการล่าเหยื่อที่ต้องจดจ้องห้ามละสายตา สิงโตหนุ่ม 2 ตัว ช่วยกันไล่ต้อนเหยื่อราวกับว่าวางแผนกลยุทธ์มาอย่างดี
เสือชีตาห์วิ่งตะครุบกาเซลล์ (Gazelle) (สัตว์ตระกูลกวาง) ในเสี้ยววินาที พร้อมเสียงร้องโหยหวนของเหยื่อและอีแร้งที่บินวนรอเก็บกินซากอยู่บนฟ้า ความจริงที่เกิดขึ้นตรงหน้าทำให้นักท่องเที่ยวหลายคนถึงกับเบนหน้าหนี


เซเรนเกติ (Serengeti) แผ่นดินของซิมบ้า Pride Lands
เป้าหมายของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คือ การตามหา BIG 5 แห่งแอฟริกา ได้แก่ สิงโต ช้างป่า ควายป่า แรด และเสือดาว แต่สำหรับเรา การได้เห็น ‘ซิมบ้า’ โตเต็มไว แผงคอสวยงาม มีราศีจับ คือจุดหมายของการมาครั้งนี้

‘ซิมบ้า’ ชื่อตัวละครพระเอกที่รู้จักกันใน The Lion King เป็นภาษาสวาฮีลี ภาษาพื้นถิ่นของแอฟริกาตะวันออก แปลว่า สิงโต โดยการตามหาซิมบ้าของเราตั้งความหวังไว้ที่เซเรนเกติ ประเทศแทนซาเนีย ซึ่งนักสำรวจเชื่อว่ามีจำนวนประชากรสิงโตมากที่สุดในแอฟริกา ฉากที่ราบกว้างส่วนใหญ่หรือใน The Lion King ใช้ชื่อว่า Pride Lands ได้แรงบันดาลใจมาจากภูมิประเทศในเซเรนเกติ ซึ่งสำหรับแฟนพันธุ์แท้จะสามารถบอกความคล้ายคลึงได้ทันที


ที่ราบเซเรนเกติมีขนาดกว้างใหญ่ถึง 30,000 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าพื้นที่กรุงเทพฯ ถึง 20 เท่า และแบ่งเป็นหลายอาณาเขต ทิศเหนือมีพรมแดนติดกับอุทยาน Masai Mara ในประเทศเคนยา ซึ่งเป็นที่มาของไฮไลต์สำคัญที่นักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกแห่กันมาเฝ้ารอ นั่นคือการอพยพของฝูงวิลเดอบีสต์กว่า 2 ล้านตัวที่จะอพยพข้ามแม่น้ำ Mara ทางตอนเหนือของแทนซาเนีย และมุ่งสู่ Masai Mara เพื่อเข้าสู่ฤดูกาลผสมพันธุ์ในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม
เวลาวิลเดอบีสต์อพยพให้นึกถึงฉากติดตาที่ทั้งฝูงวิ่งกรูลงตามหน้าผา เป็นฉากที่พรากชีวิตมูฟาซา พ่อของซิมบ้าไป ถ้าใครอยากไปเห็นความยิ่งใหญ่ของการอพยพข้ามแม่น้ำและอาจได้เห็นผู้ล่าคอยจับจ้องอยู่ สามารถไปได้ในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งถือว่าเป็น Peak Season

ด้วยลักษณะของภูมิประเทศที่ราบกว้างสุดลูกหูลูกตา ทำให้เซเรนเกติได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสถานที่ชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามที่สุดในโลก สีสันบนท้องฟ้าที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เมื่อพระอาทิตย์ค่อยๆ ลับขอบฟ้า จากสีส้มเป็นสีม่วง สีชมพู จนฟ้ามืดสนิทเผยดาวนับล้านดวงกับทางช้างเผือก


ขณะที่ Game Drive เราสังเกตพฤติกรรมสัตว์ชนิดต่างๆ และมองดูทัศนียภาพสุดลูกหูลูกตาของเซเรนเกติ ดื่มด่ำบรรยากาศเหนือความเป็นจริง เปิดเพลง Original Soundtrack บทบรรเลงของ The Lion King คลออยู่เบื้องหลัง เพิ่มพลังชีวิตให้กับเด็กยุค 90 ที่โตมากับภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้ในแบบที่ต้องใช้ความรู้สึกอธิบายเท่านั้น
โขลงช้างแอฟริกา กับคิลิมันจาโร
หลังจากได้ทักทายกับซิมบ้าสมใจอยาก ถึงเวลามุ่งหน้าสู่ Amboseli National Park ที่ขอบชายแดนเคนยา
สำหรับแฟน The Lion King หลายคนคงมีภาพจำที่ติดตา โดยเฉพาะในเพลง Circle of Life ตอนฉากเปิดเรื่อง และมีฉากหนึ่งที่เห็นเป็นภูเขาขนาดใหญ่ มีหิมะปกคลุมบนยอด กับเงาช้างโขลงใหญ่เดินเรียงราย ต้องบอกว่าทีม The Lion King ทำการบ้านมาอย่างดีมาก เพราะของจริงเหมือนกันอย่างกับแกะ แม้กระทั่งรอยหยักของภูเขา

Amboseli ได้มอบภาพภาพนั้นให้คนทั่วโลกได้จดจำ ภูเขาในการ์ตูนลูกนั้นคือคิลิมันจาโร ยอดเขาที่สูงที่สุดในแอฟริกา และยังเป็น Free-standing Mountain หรือภูเขาที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขา ที่สูงที่สุดในโลก เป็นจุดหมายปลายทางของนักปีนเขาอาชีพและมือสมัครเล่นที่ต้องการท้าทายพละกำลัง ตามสถิติระบุว่านักปีนเขาน้อยกว่าครึ่งที่สามารถพิชิตยอดเขานี้ได้ ด้วยสภาพอากาศและระยะทางที่อาจใช้เวลายาวนานถึง 9 วัน

ความละเอียดอีกอย่างที่ถูกถ่ายทอดลงไปในฉากภาพยนตร์คือ โขลงช้างแอฟริกาขนาดใหญ่หลายร้อยตัวที่มักเดินมาอวดโฉม ประกอบฉากหลังที่เป็นคิลิมันจาโร สร้างความรู้สึกมหัศจรรย์ยิ่งใหญ่ จนต้องยอมจำนนให้กับธรรมชาติที่สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา Amboseli มีชื่อเสียงด้วยโขลงช้างที่มีจำนวนมาก จึงเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในโลกที่จะได้สัมผัสกับช้างโขลงใหญ่อย่างใกล้ชิด
ความพิเศษและแตกต่างของแอฟริกาตะวันออกทำให้เราเห็นคุณค่าในทุกย่างก้าวและทุกสิ่งที่ได้เห็น การท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ใครๆ พะวง

ขอบคุณแรงบันดาลใจสมัยเด็ก The Lion King ที่นำพาเรามาสู่โลกที่แตกต่าง ทำให้ขยายขอบข่ายความคิด และมองโลกด้วยใจที่เปิดกว้างมากขึ้น ไปกันเถอะ จงออกเดินทาง โลกนี้ยังมีอีกหลายสิ่งให้ค้นหา และการที่ได้ ‘เห็นกับตา’ ทำให้เข้าใจว่าธรรมชาติได้มอบของขวัญที่ดีที่สุดให้กับมนุษย์แล้ว
Write on The Cloud
Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ และเบอร์โทรติดต่อ มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งหมวกรุ่นพิเศษจาก Calm Outdoors แบรนด์แฟชั่นสายแคมป์แบรนด์แรกของไทยที่ทำเสื้อผ้าตอบโจทย์คนเมืองแต่ใจลอยไปอยู่ในป่า ซึ่งสกรีนลวดลายพิเศษที่ไม่มีจำหน่ายที่ไหนให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ