ease studio เป็นสตูดิโอออกแบบของ ก๊อง-วนัส โชคทวีศักดิ์ และ พลอย-ณิชภัค ต่อสุทธิ์กนก หนุ่มสาวที่มีความชอบและความสนใจต่างขั้ว อีกคนหลงใหลงานกราฟิก อีกคนคลั่งไคล้แมททีเรียล เท็กซ์ไทล์และแฟชั่น

สิ่งที่พาพวกเขามารวมพลังกันคือความเชื่อ เชื่อว่างานออกแบบจะเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้ดีขึ้นได้

ease studio สตูดิโอออกแบบที่เปลี่ยนภาพจำงานปักเป็นงานปังด้วยดีไซน์และเครื่องจักร

เขาและเธอผสานความชอบเข้าด้วยกันอย่างลงตัว เนิบช้า ทว่าแข็งแรง ซึ่งเรื่องราวเกิดขึ้นที่โรงงานปักผ้าย่านเจริญนครของก๊อง ความสนุกคือลูกชายคนโตตัดสินใจแยกกิจการครอบครัวออกมา โดยจับมือกับพลอยร่วมแรงสร้างสตูดิโอออกแบบที่ทำสารพัดอย่าง แต่จุดหมายแรกที่พวกเขาอยากมุ่งคือการเปลี่ยนภาพจำของงานปัก

สตูดิโอออกแบบหลังนี้แปลงโฉมงานปักด้วยพื้นฐานเครื่องจักร เติมแต่งด้วยกระบวนการคิดที่ผ่านการไตร่ตรองอย่างดีเยี่ยม บวกกับการออกแบบที่สวยงามแยบยล ได้ผลลัพธ์เป็นผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นงานติดตั้งสั่งทำเฉพาะ ฯลฯ แถมพวกเขายังเล่นกับวัสดุได้มันหยด อาทิ ลูกปัด เหล็ก ผ้า ไม้ ปิดทอง ปักดิ้น 

ease studio สตูดิโอออกแบบที่เปลี่ยนภาพจำงานปักเป็นงานปังด้วยดีไซน์และเครื่องจักร

งานของ ease studio ทะลุกรอบงานปักไปมากโข ก๊องและพลอยรังสรรค์งานให้กับ Shangri-La Hotel (จีน), Renaissance Bali Nusa Dua (อินโดนีเซีย), Samsen Street Hotel, ASAI Hotels, THANN และอีกมากมาย จนแบรนด์ได้รับความวางใจจากลูกค้าคนไทยและต่างประเทศ ซึ่ง The Cloud ก็ชวนทั้งคู่มาออกแบบเก้าอี้พับ Semi-Outdoor ฉบับพิเศษร่วมกับ FLO ด้วยการทอนลายจากเครื่องแต่งกายของ 3 ชนเผ่าเป็นลวดลายกราฟิก

หยิบเข็มกับด้ายตามสีที่ชอบ พร้อมเปิดโลกงานคราฟต์ด้วยเทคนิคงานปักที่กลายเป็นงานปังด้วยกัน

ease studio สตูดิโอออกแบบที่เปลี่ยนภาพจำงานปักเป็นงานปังด้วยดีไซน์และเครื่องจักร

ease studio

“เราเริ่มจากเรามีอะไร เราชอบอะไร พาร์ตเนอร์เรามีอะไร พลอยจบอินทีเรีย ส่วนเราจบโปรดักต์ บ้านเรามีโรงงานปัก พลอยเรียนแฟชั่นและชอบเท็กซ์ไทล์ เราชอบกราฟิก เลยพยายามเบลนด์ทุกอย่างเข้าหากัน” ก๊องเล่า

ease studio สตูดิโอออกแบบที่นิยามตัวเองว่าเป็น Multidisciplinary Studio 

ก๊องแปลความหมายให้เข้าใจอย่างง่ายว่า พวกเขาเป็นบริษัทรับจ้างออกแบบ ทำเฟอร์นิเจอร์ได้ ทำกราฟิกได้ ทำแบรนดิ้งได้ ทำโปรเจกต์ได้ ทำผลิตภัณฑ์ได้ ทำงานพิเศษเฉพาะตัวได้ เขาและเธอทำได้สารพัด ขอแค่ลองคุย

สตูดิโอออกแบบที่มีแค่เราสอง กำลังทดลองนำเสนองานออกแบบในแง่มุมใหม่ ฝ่ายชายว่า ทุกกระบวนการผลิต ถ้าพิถีพิถันมากขึ้น จะเกิดผลลัพธ์ใหม่ ส่วนฝ่ายหญิง พยายามตะลุยโลกของแมททีเรียลด้วยพื้นฐานงานปัก

“เราเริ่มจาก know-how และเครื่องจักรที่มี เพื่อทำโปรดักต์ให้เยอะขึ้น ด้วยเทคนิค วัสดุ สี เทคโนโลยี เพราะงานปักอยู่แค่แฟชั่น ของชำร่วย เราอยากแตกไลน์เป็นของตกแต่งบ้าน ที่ Based on เครื่องจักร” พลอยอธิบาย

“โมเมนต์ตอนเด็กที่เราไม่ชอบที่สุดคือเดินตลาดแล้วเจองานปักราคาห้าบาท เรารู้สึกว่าทำไมมันห้าบาท มันทำยากนะ แต่เข้าใจว่าเป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรม ราคาก็เป็นแบบนั้น เราเลยตั้ง Goal แรกไว้ว่าจะเปลี่ยน Perception ของงานปัก ซึ่งจะเป็นผลดีกับธุรกิจและโรงงานในระยะยาว” ก๊องเห็นตรงกัน เขาจะเปลี่ยนภาพจำ!

ease studio สตูดิโอออกแบบที่เปลี่ยนภาพจำงานปักเป็นงานปังด้วยดีไซน์และเครื่องจักร

ทั้งสองคนตั้งเป้าหมายแรกว่า อยากทำสินค้าตกแต่งบ้านที่คนเห็นครั้งแรกต้องแปลกใจ ประจวบกับพลอยกอบโกยต้นทุนจากการทำงานเกี่ยวกับแมกกาซีนประเภทของแต่งบ้าน เธอมองเห็นโอกาสที่เกิดขึ้นในตลาดต่างประเทศ สตูดิโอออกแบบเลยก่อร่างสร้างตัวขึ้นทีละนิดจากความสนใจของทั้งคู่ จน ease studio มุ่งเข้าสู่ปีที่ 7 

“หลังจากงานเราได้รับรางวัลคนก็เริ่มเปลี่ยน Perception ว่ามันคืองานปักหรอ เรารู้สึกว่ามันน่าจะไปต่อได้ มีลูกค้าขายปลีก มีคนติดต่อให้ลองทำเทคนิคนั้น เทคนิคนี้ เราสนุกที่ได้ทดลอง และมันเกิดของใหม่ในตลาด 

“เราว่ามันทำให้คนมีตัวเลือกเยอะขึ้น มันสร้างเอกลักษณ์บางอย่างให้กับบ้าน กับคน” สาวอินทีเรียเล่า

สตูดิโอออกแบบแห่งนี้แนะนำตัวให้คนรู้จักด้วยหมอนอิงปักตัวอักษรและลายกราฟิก มีกรอบรูปไม้สักที่ด้านในเป็นผ้าลินินปักด้วยด้ายเรยอน เส้นสายลายสีช่างสวยลงตัว จนเราอยากมีไว้ประดับบ้านสักอันสองอัน

ease studio สตูดิโอออกแบบที่เปลี่ยนภาพจำงานปักเป็นงานปังด้วยดีไซน์และเครื่องจักร
ease studio สตูดิโอออกแบบที่เปลี่ยนภาพจำงานปักเป็นงานปังด้วยดีไซน์และเครื่องจักร

We will Luck You

เพียง 1 ปี เขาและเธอพา ease studio แสดงตัวที่งาน Thailand International Furniture Fair 2015 เป็นงานที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบมาสำแดงของ เพื่อให้ผู้ประกอบการมาอุดหนุน ซึ่งทั้งสองคนไปในฐานะผู้ประกอบการ 

ก๊องและพลอยมาด้วยเงินศูนย์บาท เพราะทรัพย์ที่มีลงไปกับการจองบูธในงาน โชคดีที่ ease studio ขายสินค้าตัวโชว์ได้พอดิบพอดี ซึ่งบุคคลที่จับจ่ายด้วยความเต็มใจคือ โอ๋-ฐิติพัฒน์ ศุภภัทรานนท์ เจ้าของกิจการ THANN

“เราคงเดินถูกทาง” ก๊องพูดด้วยรอยยิ้ม “แต่ไม่คิดว่าจะไวขนาดนี้ มันมีบางอย่างที่เราขายไม่ได้เลย แต่คนได้เห็น ได้รู้ว่าเราทำอะไร เป็นการเปิดตัวครั้งแรก โชคดีที่ครั้งแรกไม่เหมือนที่เราคิดไว้ เราก็แอบควาดหวัง แต่หวังต่ำ

“เราไม่มีมาร์เก็ตติ้ง ไม่มีแผนธุรกิจ ยิ่งกว่ามวยวัดอีก ลงเงิน ได้เงินก็ทำต่อ ไม่ได้เงินก็เลิก พอเราได้เงิน มันก็ต้องเริ่มมีความเร็วในการผลิต มีการส่งของ มีการจ้างงาน จากตอนแรกที่คุยกับที่บ้านไม่ลงตัว ก็แยกออกมาเลย”

ก๊องใช้โรงงานปักผ้าของครอบครัวเป็นฐานผลิต เขาไม่ได้ทำในฐานะลูกเจ้าของกิจการ แต่เขาเป็นลูกค้าคนหนึ่งที่เห็นโอกาสในโรงงาน ลูกชายคนโตกระซิบว่า เขาอาจเป็นเด็กเส้นที่แทรกคิวการทำงานได้ โดยจ่ายราคามากกว่าปกติ

“เราเคยคิดว่าอนาคตต้องกลับมาทำงานที่บ้าน แต่เราเข้ามาในจังหวะที่กราฟมันต่ำประมาณหนึ่ง เราพาเขาขยับได้นิดหน่อย แต่สิ่งที่เป็นอยู่มันเหมือนคนป่วย แล้วเราเป็นอวัยวะหนึ่ง ถ้าตัดขายังมีชีวิต ยื้อไปก็เหมือนตายทั้งตัว” 

กิจการปักผ้าของครอบครัวมีอายุครบ 31 ปี เท่ากับก๊อง เส้นด้ายเส้นแรกเริ่มจากอากง ผู้ชำนาญด้านค้าผ้าที่เห็นช่องทางของธุรกิจปักผ้า ยุคนั้นเป็นยุคทอง ค้าขาย มั่งคั่ง ร่ำรวย ก่อนอากงส่งด้ายต่อให้ลูกชาย (พ่อของก๊อง) ดูแล

ภาพความทรงจำของก๊องบอกเราว่า กิจการครอบครัวเคยดีมาก่อน เน้นรับผลิตแบบ OEM ให้กับหลายแบรนด์ ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาหลายครา กราฟก็คล้อยต่ำลงมาเรื่อย จากพนักงานหลักสิบก็ลดเหลือหลักหน่วย กิจการใกล้เคียงกันก็พาทยอยปิดตัวลง ด้วยพิษเศรษฐกิจ การย้ายฐานการผลิต และกำลังการผลิตที่สูงขึ้นในราคาที่ย่อมเยาลง

ease studio สตูดิโอออกแบบที่เปลี่ยนภาพจำงานปักเป็นงานปังด้วยดีไซน์และเครื่องจักร

“กิจการเขาไม่เคยเปลี่ยนตัวเองเลยนะ ทำแบบไหนก็ทำแบบนั้น ลูกค้าเดิมบางทีเลิกกิจการไปแล้ว เราเลยคุยกับพลอย มันน่าจะมีศักยภาพบางอย่าง เราเลยอยากกลับมาทำ เพราะเราเรียนออกแบบมา มันเป็นความรู้เดียวที่เรามี เราเชื่อว่าถ้ามีพนักงานเท่าเดิม เครื่องจักรเท่าเดิม แต่ออกแบบต่างจากเดิมน่าจะเกิดสิ่งใหม่ได้” ก๊องขยายความ

ก๊องหมายมั่นจะอธิบายถึงสิ่งที่เขาและพลอยกำลังจะทำ แต่ครอบครัวกลับไม่เข้าใจ ลูกชายคนโตของบ้านตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อพิสูจน์ให้คนทางบ้านเห็นด้วยการลงมือทำ เขาเริ่มต้นด้วยเงินเก็บหลักหมื่นและตั้งหลักไมล์ความตั้งใจไว้เพียง 6 เดือน ซึ่งเขาไม่เลือกต่อยอดกิจการครอบครัว แต่เลือกแยกกิจการออกมาเป็นของตัวเอง

น้อยคนนักจะคิดเห็นแบบก๊อง เขาเป็นถึงทายาทรุ่นสาม เหตุใดคิดแยกมากกว่าต่อยอด เราสงสัย

“เราว่ามันเหมือนวัฏจักรธุรกิจทั่วไป โลกก็เปลี่ยนไป คนปักงานได้เองที่บ้านด้วยเครื่องจักรหลักหมื่น ถ้ามองภาพใหญ่กว่านั้น จีนผลิตได้ในจำนวนน้อย รวมขนส่งวันเดียวถึง เราเลยต้องปรับตัว แต่วิธีของเราไม่ใช่การอุ้มธุรกิจ 

“อีกอย่างเราเชื่อในการตายของธุรกิจ ถ้าไม่พร้อม ไม่ปรับ ก็ต้องตาย ธุรกิจบ้านอาจจะต้องตายเพราะปรับตัวช้าเราช่วยได้แค่บางส่วน เพราะเราเก่งไม่พอที่จะพาของตายแล้วให้ฟื้นกลับขึ้นมา เราเลยเลือกสร้างชีวิตใหม่”

กาลเวลาตลอดหลายปี เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ‘การแยก’ ก็ทำให้ธุรกิจรอดโดยไม่ต้อง ‘ต่อยอด’

ease studio สตูดิโอออกแบบที่เปลี่ยนภาพจำงานปักเป็นงานปังด้วยดีไซน์และเครื่องจักร
ease studio สตูดิโอออกแบบที่เปลี่ยนภาพจำงานปักเป็นงานปังด้วยดีไซน์และเครื่องจักร

Design Challenges

“งานของ ease studio ไม่ค่อยสุดโต่ง เป็นงาน Compromise เพราะเราไม่ได้ชอบหรือสนใจเหมือนกัน แต่แกนหลักคืองานออกแบบจะทำให้อะไรบางอย่างดีขึ้น ออกแบบอะไร หน้าตายังไง เรายอมกันได้ ระยะหลังเรารับบรีฟมา ถ้าเป็นเราจะมองว่าผลิตแบบนี้คุ้ม ค่อนข้างเป็น Logical แต่พลอยมองเป็น Emotional มาก” ก๊องเล่าวิธีการทำงานฉบับย่อ

เทคนิคที่พลอยและก๊องทดลองล้วนมาจากเครื่องจักรปักผ้า ความสนุกคือแต่ละเครื่องมีระดับความสามารถต่างกัน การสร้างเทคนิคใหม่เกิดจากการรบกวนเครื่องจักรในบางจังหวะ มีการแทรกเลเยอร์ ผสมสี เปลี่ยนวัสดุ ฯลฯ

วัสดุที่เธอหยิบมาลองปักมีทั้งเหล็ก แผ่นหนัง พลาสติกอัด ใยเซรามิก ไม้ ผ้า ฯลฯ สิ่งของลักษณะเป็นแผ่นพลอยว่าลองมาเกือบหมด เพื่อทดสอบศักยภาพของเครื่องจักร จนบางทีเครื่องปักไม่ถูกใจสาวเจ้าก็ลงมือปักเอง

“เราพยายามซ้อนเทคนิคเข้าไปเยอะๆ เราใช้ตัวเราแสดงออกมาในงานด้วยการซ้อนเข้าไปอีก ปักเข้าไปอีก สีต้องเยอะอีก จนเราไม่หยุดที่การปัก เราใช้ 3D ใช้ด้ายมาพันผสมสีเอง เรียงสีเอง ปักมือเอง ปักดิ้น ปิดทอง อะไรที่เราชอบ เราสนใจ เราจะดึงมาใช้ในงานหมดเลย เพื่อให้มันใหม่ แล้วก็พิสูจน์ตัวเองด้วยว่าสิ่งที่คิดว่าทำได้ มันทำได้จริงมั้ย

ease studio สตูดิโอออกแบบที่เปลี่ยนภาพจำงานปักเป็นงานปังด้วยดีไซน์และเครื่องจักร
ease studio สตูดิโอออกแบบที่เปลี่ยนภาพจำงานปักเป็นงานปังด้วยดีไซน์และเครื่องจักร

“นอกจากเรื่องเทคนิค คงเป็นการประยุกต์ใช้งาน เราทำตั้งแต่ของเล็กมาก งานปักไปจับกับเฟอร์นิเจอร์ อยู่กับเซรามิก จนถึงงาน Installation ลูกปัด ซึ่งมันเป็นวัสดุที่เราเห็นบ่อยมากเวลาไปสำเพ็ง แต่ไม่เคยจับมาทำ พอได้ลองมันเล่นสีได้ มันมีมิติ สร้างฟอร์มได้ พอทำมาเรื่อยๆ กลายเป็นการเรียนรู้ว่าแมททีเรียลอะไรก็ทำได้” พลอยขยายความ

หนุ่มสาวความสนใจสองขั้วสร้างภาพจำใหม่ให้กับงานปัก ด้วยการจับหลากหลายวัสดุมายกมือเซย์ไฮ! กับเทคนิคการปักสารพัดแบบ นอกจากคนทำจะเพลิดเพลิน คนดูอย่างเราก็ลุ้นเอาใจช่วยอยากเห็นงานที่เกิดขึ้นโดยไว

เจ้าของสตูดิโอบอกว่า งานจิ๋วสุดที่เคยทำเป็นผีเสื้อขนาดหนึ่งนิ้วที่ติดตั้งอยู่บนแชนเดอเลียร์ ส่วนงานปักมือขนาดใหญ่ขนาดประตูสองบานเป็นเทคนิคปักมือผสานงานลูกปัด ทำให้กับ Shangri-La Hotel ประเทศจีน ส่วนอีกงานตะลึงไม่แพ้กัน เป็น Installation ลูกปัดที่มีลูกปัดกว่าหนึ่งล้านลูก ร้อยมือทั้งหมดให้เป็นลวดลายขนาดใหญ่ ยอมเลย!

ลูกค้าของ ease studio มีทั้งลูกค้าจากประเทศไทยและต่างประเทศ ความน่าสนใจคือลูกค้าต่างประเทศที่เข้ามาล้วนมาจากสถาปนิกไทยที่มีหน้าที่การงานอยู่ในหลายประเทศ ก๊องว่า Production Cost เป็นสิ่งที่ทำให้สตูดิโอของเขาเหนือกว่าการจ้างงานจากฝั่งตะวันตก พ่วงด้วยหลากทักษะที่ยืดหยุ่น ทำได้สารพัดอย่างตามใจสั่ง ได้ใจไปเต็มเปา

งานส่วนใหญ่ที่เราเห็นจากสตูดิโอค่อนข้างเป็นสากล เลยถามเขาและเธออย่างตรงไปตรงมาว่า

“ease studio เคยทดลองทำงานสไตล์ไทยจ๋าบ้างหรือเปล่า”

“ไม่ค่อยทำนะ เพราะเราไม่ค่อยไทยจ๋า ไม่ได้ไทยแบบที่เขาชอบกัน” ก๊องตอบทันที

“เราสนใจกระบวนการมากกว่า อย่างกระบวนการทอผ้าเขาทอลายกันยังไง อย่างล่าสุดทำกับ The Cloud มันก็มาจากความไทย ซึ่งวิธีการเดียวที่ตัดสินใจว่ามันโอเคหรือไม่โอเคคือเราต้องชอบก่อน ถ้าเราชอบ พลอยชอบ มีแล้วอย่างน้อยสองคน อีกสิบคนเขาก็อาจจะชอบ เราว่ามันเป็นออปชันมากกว่า ฝั่งไทยอนุรักษ์ก็มีคนทำได้ดีมากอยู่แล้ว”

“เราไม่ใช่ไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ เราเป็นไทยเชื้อสายจีน มีทั้งจีน มีไทย บ้านเรามีเชื้อมอญ เราเคยเรียนเมืองนอกก็รับวัฒนธรรมเขามา เรารู้สึกว่าความเป็นไทยไม่จำเป็นต้องถูกนำเสนออกมาด้วยภาพ แต่อินเนอร์มันมีอยู่แล้วในตัว เราว่าความเป็นไทยมันคือการผสมผสาน สุดท้ายมันหลอมตัวเราให้เป็นเรามากกว่า” พลอยอธิบายเสริมจากก๊อง

ease studio สตูดิโอออกแบบที่เปลี่ยนภาพจำงานปักเป็นงานปังด้วยดีไซน์และเครื่องจักร
ease studio สตูดิโอออกแบบที่เปลี่ยนภาพจำงานปักเป็นงานปังด้วยดีไซน์และเครื่องจักร
ease studio สตูดิโอออกแบบที่เปลี่ยนภาพจำงานปักเป็นงานปังด้วยดีไซน์และเครื่องจักร

Keep Going!

งานออกแบบ ทักษะงานคราฟต์ และนวัตกรรม ดาว 3 ดวงไปด้วยกันได้อย่างไร ในวันที่คนเข้าใจว่าการสร้างงานคราฟต์จะต้องมาจากสองมือที่ เย็บ-ปัก-ถัก-ร้อย-สาน-ทอ และสารพัดเทคนิคที่คนนิยามว่า แบบนี้แหละ คราฟต์!

“สามอย่างไปด้วยกันได้ ดีไซน์ช่วยเรื่องกระบวนการคิดและต่อยอด ทักษะเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีติดตัว ส่วน Tool เป็นเครื่องทุ่นแรงที่ช่วยให้ทักษะกับดีไซน์เกิดเป็นสิ่งใหม่ ทุกอย่างซัพพอร์ตกันและกันเสมอ ยกตัวอย่างพี่ที่เราจ้าง เราจ้างงานด้วยทักษะของเขา จนเขาเห็นว่างานไม่สวย เขาก็จะสร้าง Tool หรือดีไซน์กระบวนการของเขาขึ้นมาเอง

“การคิดจะสร้างเครื่องมือมาช่วย เราว่ามันคือการออกแบบแล้วนะ หรือสุดท้ายข้ามไปเรื่อง Aesthetic ได้เลย ‘พี่ว่าไม่สวยนะ ทำไมไม่ทำแบบนี้’ บางทีก็รู้สึกเราได้แลกทักษะกับเขาด้วยเหมือนกัน” พลอยอธิบาย 

“เราเรียกหัตถกรรมว่า Skill เครื่องจักรเป็น Tool ส่วนนวัตกรรมยิ่งใหญ่เท่ากับไอโฟนหรือแอร์ คนที่ปรับตัวหา Tool ที่เหมาะกับงานได้เร็วจะไปได้ดี สมมติคุณป้าคิดเครื่องมือที่ทำให้จักสานได้เร็วขึ้น นั่นเป็น Tool ที่ทำให้เขาทำงานสะดวกขึ้น มันสำคัญกว่าการสอน Online Marketing ให้เขา เราว่าการเลือกเครื่องมือให้เหมาะกับคนก็สำคัญ” ก๊องเสริม

ease studio สตูดิโอออกแบบที่เปลี่ยนภาพจำงานปักเป็นงานปังด้วยดีไซน์และเครื่องจักร
ease studio สตูดิโอออกแบบที่เปลี่ยนภาพจำงานปักเป็นงานปังด้วยดีไซน์และเครื่องจักร

ease studio ทำให้เราเข้าใจงานคราฟต์ในอีกมุมมอง ซึ่งพวกเขาก็คราฟต์ตั้งแต่กระบวนการคิด

หากย้อนตอนต้น สตูดิโอออกแบบหลังกะทัดรัดแห่งนี้ตั้งใจอย่างมากที่จะเปลี่ยนภาพของงานปัก 

เวลาผ่านไปเกือบ 7 ปี ภาพจำของงานปักเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง เราตั้งคำถาม

เรามองว่างานปักเป็นแค่เทคนิคหนึ่ง ไม่ได้เก่งที่สุดด้วย และงานปักไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่างานสาน งานฉลุ งานไม้ เราว่ามันคือทักษะ ข้อดีคือมันผสมผสานและต่อยอดได้ ส่วนวิธีที่จะทำให้ไม่เบื่อคือการเติมสิ่งใหม่เข้าไป การปัก มันเป็น Verb เป็นการเอาเข็มกับด้ายยัดลงไปในวัตถุบางอย่าง สร้างแพตเทิร์นลงบนนั้น สรุปจบด้วยตัวมันเอง” ก๊องตอบ

ทักษะงานปักของพวกเขามีภาพใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มีความเป็นไปได้ซ่อนอยู่ภายใต้ฝีเข็ม ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะแทงเข็มแหลมคมและเส้นด้ายสีสวยลงไปบนวัสดุประเภทไหน ด้วยเทคนิควิธีการใด นั่นต่างหากคือความสนุก

“เราอยากทำสตูดิโอออกแบบที่ใช้ความรู้ ความสามารถ และความเชื่อที่เรามี ให้คนเห็นว่างานออกแบบมีประโยชน์กับชีวิต การทำงานทั้งหมดมันชัดเจนว่างานออกแบบไม่ได้ทำให้ตัวเราดีขึ้น แต่ทำให้คนอื่นดีขึ้นได้

“เราคิดอยากให้สตูดิโออยู่ในสากลแบบเต็มตัว ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก่อนสองปีแรก ตอนนี้ Goal เปลี่ยน เราต้องเลี้ยงชีพได้ ต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น และส่งต่อ Know-how แบบนี้ให้คนอื่น เพื่อให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นเหมือนกัน” พลอยเล่าความตั้งใจ

“เราคล้ายพลอยนะ ต้องดูแลคนของเราให้ดีที่สุด ไม่ใช่แค่ครอบครัวเรา แต่เป็นพี่ที่เราชวนเขามาทำงานด้วย สิ่งที่เราหวังคือ เราอยากทำงานที่อยากทำ อยากสร้างประโยชน์ให้กับคนหมู่มากมากขึ้น อย่างน้อยถ้าไม่เกิดประโยชน์มาก ก็ไม่ทำลายมาก เราสนใจเรื่องพวกนี้นะ เราเลยไม่อยากทำอะไรที่สวยแล้วหายไป” ก๊องจบบทสนทนา

ease studio สตูดิโอออกแบบที่เปลี่ยนภาพจำงานปักเป็นงานปังด้วยดีไซน์และเครื่องจักร
ease studio สตูดิโอออกแบบที่เปลี่ยนภาพจำงานปักเป็นงานปังด้วยดีไซน์และเครื่องจักร

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ