ธุรกิจ : กลุ่มบริษัท เอี่ยวไถ่ สุกี้โบราณ จำกัด

ประเภทธุรกิจ : ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 

ปีที่ก่อตั้ง : ค.ศ. 1960

อายุ : 62 ปี 

ผู้ก่อตั้ง : จุ่นเซ็ง แซ่ก๊วย

ทายาทรุ่นสอง : ปรีชาศิวัต และ พัสธพงษ์ อัศวนันต์ธนา 

ทายาทรุ่นสาม : ณัทชนันท์ อัศวนันต์ธนา และครอบครัว 

เอี่ยวไถ่เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า เจริญรุ่งเรืองและดี เป็นร้านสุกี้โบราณเจ้าแรกในไทยที่มีน้ำจิ้มสูตรเด็ดและการหมักหมู ไก่ เนื้อ ด้วยเครื่องเทศที่ไม่เหมือนใคร คงกรรมวิธีเดิมแม้ผ่านกาลเวลามายาวนาน ทำให้อยู่มาถึง 60 ปี 

จากภัตตาคารแถวปิ่นเกล้าที่อยู่ในภาพจำของใครหลายคน วันนี้เอี่ยวไถ่เดินเข้าห้างสรรพสินค้าด้วยลุคใหม่ถึง 13 สาขา แตกแบรนด์ออกเป็นเอี่ยวไถ่ สุกี้โบราณ1960 เอี่ยวไถ่ Suki BBQ และ เอี่ยวไถ่ express ที่มีความโมเดิร์นขึ้นแต่ยังคงบรรยากาศอบอุ่น และอยากบอกให้รู้ว่าไม่ได้มีแค่สุกี้ แต่มีหมูกระทะรุ่นพ่อพร้อมอาหารไทยจีนหลายอย่าง ให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวนั่งล้อมวงสบาย ๆ เหมือนทานอาหารที่บ้าน 

แชร์-ณัทชนันท์ อัศวนันต์ธนา เป็นตัวแทนทายาทรุ่นสามของครอบครัว มาเล่าเส้นทางการเติบโตของธุรกิจกงสี เปิดมุมมองว่าทำไมถึงคิดว่าอาหารไม่เคยล้าสมัย และความมุ่งมั่นอยากสานต่อลูกค้าจากรุ่นสู่รุ่นให้คนรุ่นใหม่อยากเดินเข้าร้าน  

62 ปีของ เอี่ยวไถ่ สุกี้โบราณเจ้าแรกในไทยในมือทายาทรุ่น 3 ที่เชื่อว่าอาหารไม่เคยล้าสมัย

สุกี้โบราณชามละ 5 บาท

“สุกี้ยากี้ ดีจริง ๆ” คือป้ายการันตีความอร่อยที่ติดใต้ชื่อร้านเอี่ยวไถ่สุกี้ ณ โรงหนังเฉลิมนคร บริเวณคลองถมเก่าใน พ.ศ. 2503

ยุคแรกเริ่มของ อากงจุ่นเซ็ง แซ่ก๊วย เริ่มจากขายสุกี้เป็นชาม ชามละ 5 บาท เมื่อย้ายมาอยู่แถวกองปราบฯ ก็พัฒนาเป็นหม้อมีหูใบเล็กต้มด้วยเตาแก๊ส ขายหม้อละ 60 – 80 บาท 

นอกจากสุกี้ยังขายกระทะปิ้งเจงกิสข่านตั้งแต่เริ่มกิจการ มีเรื่องเล่าว่าชนเผ่ามองโกลสมัยก่อนประยุกต์ใช้โล่สำหรับรบมาทำเป็นกระทะ จึงเกิดชื่อเรียกว่ากระทะปิ้งเจงกิสข่าน เกิดเป็นหมูกระทะรุ่นแรกและเป็นต้นตำรับปิ้งย่างในปัจจุบัน

สุกี้โบราณของเอี่ยวไถ่เป็นสูตรจีนแต้จิ๋ว โดดเด่นที่น้ำจิ้มสูตรผสมเต้าหู้ยี้และเต้าเจี้ยว หอมสมุนไพรจีน หมักหมูหรือเนื้อกับเครื่องเทศให้นุ่ม เติมไข่ไก่ 1 ฟองแล้วเทลงไปในหม้อทั้งจาน เข้ากันดีกับน้ำซุปที่ปรุงมาอย่างกลมกล่อม 

ลูกค้าเป็นคนทุกวัยมาตั้งแต่อดีต ผู้ใหญ่มักชอบกินสุกี้เป็นพิเศษ ส่วนลูกหลานก็มีกระทะปิ้งเป็นตัวเลือกให้ทานได้ไม่เบื่อ 

62 ปีของ เอี่ยวไถ่ สุกี้โบราณเจ้าแรกในไทยในมือทายาทรุ่น 3 ที่เชื่อว่าอาหารไม่เคยล้าสมัย
62 ปีของ เอี่ยวไถ่ สุกี้โบราณเจ้าแรกในไทยในมือทายาทรุ่น 3 ที่เชื่อว่าอาหารไม่เคยล้าสมัย

กลยุทธ์การเข้าห้างของเอี่ยวไถ่

กิจการเริ่มต้นจากร้านรถเข็น เติบโตเป็นภัตตาคารเอี่ยวไถ่แถวปิ่นเกล้า เริ่มขยายสาขาแบบ Stand Alone ในยุคทายาทรุ่นสอง ต่อมาด้วยความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกครอบครัวในธุรกิจกงสีของรุ่นถัดมาทำให้ขยายสาขาในห้างสรรพสินค้าได้ถึง 13 สาขาในปัจจุบัน

ทายาทรุ่นสามเล่าย้อนถึงตอนที่เริ่มเข้าห้างสรรพสินค้าครั้งแรกเมื่อ 8 ปีที่แล้วว่า “ช่วงลูกหลานเริ่มเรียนจบ คุณพ่อและญาติเริ่มอยากย้ายมาอยู่ในห้าง รุ่นเรารับแนวคิดจากรุ่นพ่อแม่มาทำให้เป็นรูปธรรม เดินหาลูกค้า หาทำเลที่เข้าไปอยู่ในเมืองเพิ่มจากที่อยู่แค่ฝั่งธนฯ ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น” 

การขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในช่วงนั้นทำให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เน้นเลือกทำเลตามแลนด์มาร์กหลากหลาย ทั้งย่านคนจีน ย่านธุรกิจ ย่านทำงาน ย่านช้อปปิ้ง

เมื่อเดินเข้าห้างสรรพสินค้า การแต่งตัวและการตลาดต้องปรับเปลี่ยนตามเล็กน้อย เหล่าทายาทรุ่นสามเลือกรีแบรนด์เอี่ยวไถ่โดยยังคงความเป็นตัวเอง แต่ก็เหมาะกับสถานที่และยุคสมัยมากขึ้น

เปลี่ยนจากใช้คำว่าสุกี้เป็นสุกี้โบราณ เพื่อเน้นจุดเด่นของสูตรแต้จิ๋วดั้งเดิมที่ทำมานานกว่า 60 ปีให้แตกต่างจากร้านสุกี้อื่น ๆ ในห้าง อีกทั้งยังแตกชื่อร้านเป็น 3 แบรนด์ย่อย คือ เอี่ยวไถ่ สุกี้โบราณ1960 เอี่ยวไถ่ Suki BBQ และ เอี่ยวไถ่ express ซึ่งมีเมนูคล้ายกัน แต่เน้นจุดเด่นและการสื่อสารการตลาดแตกต่างกันเล็กน้อย

สำหรับเอี่ยวไถ่ สุกี้โบราณ1960 นั้นเน้นจุดเด่นเหมือนภัตตาคารรุ่นแรกคือสุกี้ พร้อมปรับการตกแต่งร้านให้เป็นจีนโมเดิร์นขึ้น แต่ยังคงบรรยากาศสบาย ๆ เหมือนการกินอาหารที่บ้านกับครอบครัว  

เป็นความโมเดิร์นที่ทายาทรุ่นสามบอกว่า ยังอยากให้เข้าถึงง่ายและไม่ดูหรูหราเกินไป 

“อยากให้ลูกค้าเข้ามาแล้วมีกลิ่นอายของแต้จิ๋วกับต้นตำรับดั้งเดิมอยู่บ้าง นั่งแล้วรู้สึกโอเค ไม่เคอะเขิน ไม่เกร็ง ลูกค้ากล้าเดินเข้ามาหาเรา”

ตัวตนของเอี่ยวไถ่ทุกสาขาที่ยังยึดเหมือนเดิมตั้งแต่อดีต คือการเข้าถึงคนทุกเจเนอเรชันในครอบครัว ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่พ่อแม่ลูก แต่ยังรวมถึงคนวัยทำงานและวัยรุ่นด้วย

“เราอยากทาบรอยต่อกับลูกค้าคนรุ่นใหม่มากขึ้น เพื่อสร้างรอยต่อไปเรื่อย ๆ ให้มีลูกค้าทุกวัย” การเลือกทำเลของห้างที่หลากหลายในการขยายสาขา จึงเป็นการเดินเข้าหาสมาชิกครอบครัวในแต่ละวัยที่มีไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน

62 ปีของ เอี่ยวไถ่ สุกี้โบราณเจ้าแรกในไทยในมือทายาทรุ่น 3 ที่เชื่อว่าอาหารไม่เคยล้าสมัย
62 ปีของ เอี่ยวไถ่ สุกี้โบราณเจ้าแรกในไทยในมือทายาทรุ่น 3 ที่เชื่อว่าอาหารไม่เคยล้าสมัย


“โชคดีที่เราอยู่ได้ในหลายตลาด”  

สำหรับคนที่ชอบทานอาหารจีนดั้งเดิม เอี่ยวไถ่มีเมนูอาหารจีนที่หาทานยากอย่าง ฮื่อแซ (ปลาดิบจีน) ขาหมูเย็น เมนูเด็ดที่มาแล้วต้องทาน คือ ก๋วยเตี๋ยวหลอดปู เนื้อปูก้อนผัดผงกะหรี่ หอยจ๊อปู โดยเคล็ดลับที่ทำให้ลูกค้าติดใจมายาวนาน คือการเน้นคัดวัตถุดิบเกรดพิเศษ ถ้าเป็นเนื้อปูต้องเป็นแบบหวานสดอร่อยจากสุราษฎร์ธานี คากิหมั่นโถวต้องเลือกเฉพาะอุ้งเท้าหมูด้านหน้าเท่านั้น ส่วนเป็ดปักกิ่งและหมูหันฮ่องกงต้องทานได้ทั้งตัว เป็นสูตรดั้งเดิมที่ล้วนสืบทอดกรรมวิธีมาจากรุ่นสู่รุ่น ปิดท้ายด้วยของหวานยอดนิยมที่คนชอบสั่งตลอดมาอย่างเผือกหิมะ พุทราทอด

ถ้านับรวมทุกเมนูทั้งหมดมีราว 300 กว่าเมนูเพื่อเป็นตัวเลือกให้ลูกค้า

“คนเข้าใจว่าเราขายแค่สุกี้แต่เรามีทั้งอาหารไทยและจีนที่พร้อมเสิร์ฟด้วย อยากให้คนทุกรุ่นในครอบครัวเมื่อเดินเข้ามาแล้วไม่ตั้งคำถามว่า แล้วฉันจะกินอะไรล่ะ แต่รู้ว่าทานอะไรได้”

สำหรับสาขาเอี่ยวไถ่ Suki BBQ นั้นเน้นการสื่อสารว่าไม่ได้มีแค่สุกี้ แต่มีกระทะเจงกิสข่านด้วย ส่วนเอี่ยวไถ่ express เน้นอาหารจานเดียวแนวสตรีทฟู้ด ลดขนาดจานลงให้เหมาะกับกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานที่มาทานคนเดียว การตกแต่งร้านใส่ความสนุกและบรรยากาศของคาเฟ่จีนสมัยใหม่ที่มีความโมเดิร์นมากกว่าเอี่ยวไถ่ 1960

“โชคดีที่เราอยู่ได้ในหลายตลาด” แชร์บอกว่าตลาดสุกี้เป็นตลาดใหญ่ เช่นเดียวกับอาหารจีนและไทย ทำให้มองเห็นโอกาสในการเติบโตไปข้างหน้า 

62 ปีของ เอี่ยวไถ่ สุกี้โบราณเจ้าแรกในไทยในมือทายาทรุ่น 3 ที่เชื่อว่าอาหารไม่เคยล้าสมัย

สุกี้สูตรคลาสสิกที่ติดเทรนด์ 

ความท้าทายของเอี่ยวไถ่ในรุ่นปัจจุบันของทายาทรุ่นสาม คือการเก็บฐานลูกค้าเก่าไว้และตอบโจทย์ลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ในขณะเดียวกัน

ด้วยความที่เป็นร้านสุกี้ที่เปิดมาเนิ่นนานกว่า 60 ปี จึงทำให้มีแฟนคลับโดยเฉพาะคนรุ่นเก๋าที่เป็นลูกค้าขาประจำ “บางอย่างถ้ารสชาติผิดพลาดแม้แต่นิดเดียวลูกค้าจะจำได้ นั่นคือเหตุผลที่เมื่อลูกค้าเดินเข้ามาแล้วอยากให้ได้ทานรสชาติที่คิดถึง”

“ดังนั้น ในแง่รสชาติไม่ว่าผ่านมากี่ยุคสมัยเราจึงยังคงรสชาติพื้นฐานแบบเดิม คือสิ่งที่ลูกค้าชื่นชอบอย่างน้ำจิ้มเต้าเจี้ยว”  

ในขณะเดียวกันแชร์ก็เชื่อในการไม่หยุดพัฒนาโดยการเพิ่มวัตถุดิบที่ได้รับความนิยมตามยุคสมัย 

“เราเคยทำสุกี้ปลาแซลมอน เพราะแซลมอนติดเข้ามาในเทรนด์ มีเมนูพิเศษอย่างสุกี้เนื้อวากิวสำหรับคนที่ชอบทานเนื้อ ปรับเมนูตัวเลือกที่ทานเสริมคู่กับสุกี้ได้มากขึ้น เพิ่มเมนูเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่คำนึงถึงสุขภาพมากขึ้น” 

แม้จะเรียกว่าเป็นสุกี้โบราณที่เป็นตำรับดั้งเดิม แต่แชร์บอกว่าไม่อยากให้คนรู้สึกว่าเป็นของโบราณ “อาหารไม่เคยล้าสมัย อาหารยังอยู่บนยุคสมัย ไม่ว่าจะมีอะไรใหม่มาก็เป็นของที่เข้ามาเพิ่มใหม่ในชีวิต แต่ยังไงอาหารก็ยังคง On trend”

การปรับเปลี่ยนจึงเน้นพัฒนาโดยไม่เสียความเป็นตัวเองของสุกี้โบราณที่แข็งแกร่ง แต่เพิ่มตัวเลือกทั้งเมนูและโปรโมชันบุฟเฟต์ ที่ปรับไปตามยุคเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าสนใจเดินเข้าร้าน

เบื้องหลังการเติบโตกว่าจะเป็นเอี่ยวไถ่ สุกี้โบราณเจ้าแรกในไทยที่ขยายจากร้านรถเข็นจนมี 13 สาขาในห้างสรรพสินค้า
เบื้องหลังการเติบโตกว่าจะเป็นเอี่ยวไถ่ สุกี้โบราณเจ้าแรกในไทยที่ขยายจากร้านรถเข็นจนมี 13 สาขาในห้างสรรพสินค้า

สานต่อการบริหารในครัว 

การขยายสาขาเข้าห้างสรรพสินค้าไม่ได้มีเรื่องที่ต้องคำนึงแค่หน้าร้าน แต่รวมถึงการพัฒนาระบบหลังบ้านด้วย 

“รุ่นพ่อแม่เรา คนครัวสำคัญมาก เพราะไม่ได้เปิดหลายสาขา กำลังผลิตยืนอยู่บนสาขาเดียวทำให้ดูแลง่าย” 

เมื่อเปิดสาขาเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ต้องคุมคือมาตรฐานที่ทำให้อาหารออกมารสชาติเหมือนกัน รุ่นสามจึงเพิ่มครัวกลาง ซึ่งหมายถึงสถานที่หรือโรงงานผลิตที่กระจายสินค้านี้ไปให้หลายสาขาในทุกไลน์อาหาร 

แชร์เล่าว่าแม้ทางบ้านไม่ได้เห็นด้วยตั้งแต่แรก แต่เป็นเรื่องปกติที่ต้องสร้างความเข้าใจเพิ่มเติมระหว่างรอยต่อระหว่างยุค สิ่งที่พิสูจน์ว่ามาถูกทางคือผลลัพธ์ การมีครัวกลางทำให้กระบวนการทำงานง่ายขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

“ไม่ได้หมายความว่าเราพึ่งฝีมือคนครัวน้อยลง เรายังต้องใช้ฝีมือคนครัวอยู่ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้หัวหน้ากุ๊กระดับเชฟทั้งหมดเหมือนสมัยก่อน ตอนนี้มีเครื่องจักรมาช่วยเสริม สิ่งที่ตามมาคือกำลังผลิตที่มากขึ้น โดยที่ความผิดพลาดของคนน้อยลง เราผลิตหมู 10 20 100 1000 กิโลกรัม ด้วยคุณภาพเดียวกัน เราพัฒนาคนได้ง่ายขึ้น ขยายงานได้ง่ายขึ้น ลดต้นทุนแรงงานได้มากขึ้น เวลาวัตถุดิบมาถึง เราแบ่งใช้งานตามอัตราส่วน ทำให้ได้รสชาติที่เหมือนเดิม”

โดยทายาทรุ่นสามบอกว่าสำหรับเอี่ยวไถ่ รสชาติเหมือนเดิมของอาหารนั้น 95 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสำเร็จแล้ว 

นอกจากใช้ครัวกลางเสริมในกระบวนการทำงาน สิ่งที่ต้องสานต่อให้เหมือนเดิมคือกระบวนการทำซอส น้ำจิ้มสุกี้รสหนึ่ง น้ำจิ้มกระทะปิ้งเป็นอีกรสหนึ่ง ใช้แม่ซอสสูตรเดิมสำหรับทำอาหารหลายเมนู และต้องหมักหมู เนื้อ ไก่ ด้วยสูตรเดิมด้วย

ส่งต่อความเชื่อใจจนถึงยุคเดลิเวอรี่ 

สำหรับครอบครัวเอี่ยวไถ่ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากคนรุ่นก่อนคือความซื่อสัตย์กับลูกค้า ‘ลดไม่ได้ เพิ่มได้’ รักษาคุณภาพวัตถุดิบให้เหมือนอดีต วัตถุดิบที่ดีหมายถึงคอนเนกชันต้องดีด้วย

สิ่งเหล่านี้แชร์ได้เรียนรู้จากครอบครัว

“หมูสำหรับสุกี้ต้องเป็นหมูแต่งเกลี้ยง ตัดมันออก หมักอย่างดีให้นุ่ม ทานง่าย วันนี้หมูแพงขึ้นแต่เรายังคงแบบเดิมอยู่และจะทำแบบนั้นต่อไป ผักต้องคัดตัดแต่ง ทำความสะอาดให้ดี ใช้ของสดใหม่ทุกวัน ไม่มีค้างไว้ 2 – 3 วันครั้ง 

“ทุกวันนี้เป็ดปักกิ่งมีหลายรูปแบบ แต่เรายังเลือกเป็น Conservative Style คือใช้เป็ดทั้งตัวขนาดใหญ่เท่านั้น ตัวเล็กไม่ได้ นี่คือการที่ลูกค้าได้กินอาหารคุณภาพจริง ๆ” 

ความเชื่อใจเป็นสิ่งที่สะสมไว้ผ่านกาลเวลา และสร้างได้ในวิกฤตที่แชร์บอกว่ายังมองเห็นโอกาสอยู่ 

ก่อนโควิด เราทำเดลิเวอรี่น้อยมาก ไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ แต่ลูกค้าร้านสุกี้ชอบนั่งทานที่ร้านมากกว่า เราเห็นว่าช่วงโรคระบาด ทุกคนอยากทานอาหารปรุงร้อนสดใหม่เพราะกังวลเรื่องเชื้อโรค มองว่าก็ยังเป็นโชคดีของเราที่เป็นอาหารปรุงสด สุกี้ได้ปรุงสุกด้วยตัวเองทำให้มั่นใจได้ ลูกค้าจะรู้ว่าถ้าสั่งข้าวผัด อาหารร้านเราจะไม่ใช่ข้าวผัด Freeze เราใช้ข้าวผัดที่ปรุงร้อนสดใหม่ เราตั้งใจเสิร์ฟอาหารที่อร่อยและมีความปลอดภัยมาก ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าไว้วางใจเราได้” 

ลูกค้าที่ทานเอี่ยวไถ่ประจำจะรู้ว่ามีสุกี้แบบ Ready for Group ปรุงพร้อมสำหรับลงหม้อด้วย 

“เวลานั้นเราพยายามเข้าเดลิเวอรี่ทุกแพลตฟอร์มเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ ส่งทั้งจานดียวและสุกี้ ทั้งสุกี้ทำเองและสุกี้พร้อมทาน ต้มสุกและผัดแห้ง” 

นอกจากนี้ยังไม่ปิดหน้าร้านในห้าง แม้กังวลแต่ก็ต้องเดินหน้า ลงมือแก้ปัญหาหน้างานเท่าที่ทำได้เพราะธุรกิจและกองทัพต้องเดินด้วยท้อง 

เบื้องหลังการเติบโตกว่าจะเป็นเอี่ยวไถ่ สุกี้โบราณเจ้าแรกในไทยที่ขยายจากร้านรถเข็นจนมี 13 สาขาในห้างสรรพสินค้า

 สร้างครอบครัวที่อบอุ่นและแข็งแรง 

สำหรับแชร์ เธอมองว่าการสร้างแบรนด์ที่ดีคือการพัฒนารากฐานของธุรกิจทุกด้านให้แข็งแรง

“ตั้งแต่วันแรกเราตั้งใจเสิร์ฟสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้า วัตถุดิบดี อาหารคุณภาพดี บริการดี เป็นสิ่งที่ทายาทแต่ละเจเนอเรชันยึดถือไว้ว่าต้องทำให้ได้ สร้างมาตรฐานให้ดีก่อนถึงจะพร้อมขยายต่อไปได้”   

ในด้านบริการ สิ่งที่คุณพ่อสอนแชร์คือ “เราไม่มีคำว่าชนะลูกค้า ต่อให้ลูกค้าผิดก็ควรทำให้ผิดน้อยที่สุด ปฏิบัติต่อลูกค้าเหมือนคนในครอบครัว” เช่นเดียวกับกับการสานต่อธุรกิจครอบครัวของคนแต่ละรุ่นที่ไม่มีใครแพ้ชนะ แต่ต้องรู้จักเดินเข้าหากันคนละครึ่ง เรียนรู้กันและกันพร้อมทั้งเสียสละ 

การมองลูกค้าเป็นสมาชิกในครอบครัวทำให้เกิดความตั้งใจอยากส่งต่อรสชาติอาหารที่ดีให้ลูกค้า เหมือนเวลาอยากทำอาหารอร่อยเพื่อกินพร้อมหน้าพร้อมตาด้วยกันในบ้าน บางเมนูเริ่มทำจากที่บ้านแต่ลูกค้าได้กินด้วย อย่างราดหน้าที่แชร์บอกว่าเธอเป็นคนลงมือคิดค้นสูตรด้วยตัวเอง 

“ตอนเด็กกินอาหารฝีมือแม่ที่บ้านและคลุกคลีอยู่ที่ร้าน ทำให้เป็นคนชอบทำอาหาร เห็นอะไรอร่อยก็อยากลองทำกินกันในบ้าน” 

เอี่ยวไถ่จึงเป็นธุรกิจที่สานต่อจากรุ่นสู่รุ่นทั้งทายาทธุรกิจและลูกค้า 

ลูกค้าคือครอบครัวที่รวมทั้งปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก หลาน ทุกเจเนอเรชัน

“หลายคนในรุ่นเราบอกว่า ตอนเด็กมากินที่เอี่ยวไถ่ ทุกวันนี้คนเหล่านี้พาลูกมา บางคนโตขึ้นพาแฟนมา พาอากง อาม่า พ่อ แม่ มา เหมือนสมาชิกในครอบครัวที่ต่างก็เติบโตขึ้น พอรุ่นก่อนเกษียณแล้วก็ส่งไม้ต่อให้รุ่นต่อไปพัฒนาธุรกิจให้เข้ากับแต่ละยุค” 

เป็นความภาคภูมิใจของทายาทรุ่นสามที่เห็นครอบครัวเติบโตไปด้วยกัน 

เบื้องหลังการเติบโตกว่าจะเป็นเอี่ยวไถ่ สุกี้โบราณเจ้าแรกในไทยที่ขยายจากร้านรถเข็นจนมี 13 สาขาในห้างสรรพสินค้า

Writer

Avatar

รตา มนตรีวัต

อดีตสาวอักษรผู้โตมาในร้านขายหวายอายุ 100 กว่าปีย่านเมืองเก่า เป็นคนสดใสเหมือนดอกทานตะวัน สะสมแรงบันดาลใจไว้ในบล็อคชื่อ My Sunflower Thought ขับรถสีแดงชื่อ Cherry Tomato ระหว่างวันทำงานในโลกธุรกิจ เวลาว่างซาบซึ้งในศิลปะ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ