“ถ้าผมมีบ้านสักหลัง ผมจะทำให้มันเป็น Earthship”

เราได้ยินเรื่องเกี่ยวกับ เอิร์ทชิป (Earthship) ครั้งแรกเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว แต่ด้วยวัยและเพราะเห็นเป็นเรื่องไกลตัวในตอนนั้น เลยไม่ได้ให้ความสนใจอะไรเป็นพิเศษ นอกจากเข้าใจคร่าวๆ ว่ามันคือ บ้านที่ใช้พลังงานจากธรรมชาติ

จนกระทั่งมารู้จัก คริสเตียน แฟนชาวอเมริกันที่ออกทริปมอเตอร์ไซค์ด้วยกัน เรื่องของเอิร์ทชิปจึงกลับมาเป็นหัวข้อสนทนาอีกครั้ง เพราะหนึ่งในความฝันวัยเด็กของคริสเตียน คือการได้ใช้ชีวิตอยู่ในเอิร์ทชิปที่สร้างเองกับมือ

Earthship บ้านจากกระป๋องเบียร์ของสถาปนิกอเมริกันที่ออกแบบให้ใช้พลังงานธรรมชาติ 100%
©Jenny Parkins via flickr (CC BY-SA 2.0)

“ผนังบ้านทำจากยางรถยนต์เก่า สามในสี่ด้านของบ้านฝังอยู่ใต้ดิน น้ำดื่มน้ำใช้ได้มาจากฝนและหิมะ ไฟฟ้าก็ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์” 

คริสเตียนเล่าเรื่องเอิร์ทชิปด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นเหมือนเด็กพูดถึงดิสนีย์แลนด์ เราไม่แน่ใจว่าอยากจะแชร์ความฝันนี้กับคริสเตียนด้วยหรือเปล่า เพราะฟังดูลำบากลำบนเกินมาตรฐานความรักสบายของเราไปมาก และเจ้าตัวก็คงจะอ่านสีหน้าเราออกเหมือนกัน เพราะคำบอกเล่าที่ตามมาทันทีคือ…

“มันไม่ได้ลำบากอย่างที่คิดนะ ทีวี ตู้เย็น เตาอบ เครื่องทำน้ำอุ่น อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงก็มี เราไปดูของจริงกันไหม คุณอาจจะเปลี่ยนใจอยากสร้างเองสักหลังก็ได้”

Earthship บ้านจากกระป๋องเบียร์ของสถาปนิกอเมริกันที่ออกแบบให้ใช้พลังงานธรรมชาติ 100%
©Cecilia via flickr (CC BY 2.0)

บ้านจากกองขยะ

เอิร์ทชิปมีจุดเริ่มต้นเพราะข่าวสารคดีสั้นๆ ทางโทรทัศน์ 2 ตัว ช่วง ค.ศ. 1970

ตัวแรกเกี่ยวกับปริมาณการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มสูงขึ้น จากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อนำไปสร้างบ้าน

ตัวที่สองพูดถึงปัญหากระป๋องเบียร์และกระป๋องน้ำอัดลมจำนวนมากที่ถูกโยนทิ้งเรี่ยราดตามริมถนนและบนทางหลวง

 ข่าวทั้งสองประเด็นนี้กลายเป็นตัวจุดประกายให้สถาปนิกจบใหม่ไฟแรง ไมเคิล เรย์โนลด์ส (Michael Reynolds) ตัดสินใจซื้อที่ดินผืนเล็กๆ นอกเมืองทาออส (Taos) รัฐนิวเม็กซิโก แล้วออกไปรวบรวมกระป๋องเบียร์และกระป๋องน้ำอัดลมจากข้างทางด่วน ริมถนน กองขยะ ผับบาร์ในเมืองละแวกเดียวกัน เพื่อเอามาสร้างบ้าน!

“ถ้าปัญหาคือมีคนตัดไม้ไปสร้างบ้านจนป่ากำลังจะหมด กับมีกระป๋องเบียร์เปล่ากองอยู่เต็มข้างถนน เราก็ไปเอากระป๋องเบียร์มาสร้างบ้านแทนไม้ซะเลยสิ จะไปยากอะไร จริงไหม”

Earthship บ้านจากกระป๋องเบียร์ของสถาปนิกอเมริกันที่ออกแบบให้ใช้พลังงานธรรมชาติ 100%
©The U.S. National Archives via flickr

บ้านกระป๋องเบียร์ของไมเคิลสร้างเสร็จภายใน 1 ปี ใช้กระป๋องเบียร์ไปทั้งหมด 70,000 กระป๋อง ลูกมือที่จ้างมาช่วยงานเป็นชาวบ้านแถวนั้นที่ไม่มีความรู้พื้นฐานหรือประสบการณ์การก่อสร้างมาก่อนเลย แต่ไมเคิลตั้งใจว่าแบบบ้านและวิธีการสร้างบ้านกระป๋องของเขาจะต้องไม่ซับซ้อน ไม่ว่าใครจึงเรียนรู้ที่จะสร้างบ้านแบบนี้เองได้ (Very low-tech, low-skill way to build.)

Earthship บ้านจากกระป๋องเบียร์ของสถาปนิกอเมริกันที่ออกแบบให้ใช้พลังงานธรรมชาติ 100%
©The U.S. National Archives via flickr

ด้วยความคุ้นเคยกับการใช้อิฐสร้างบ้าน สิ่งแรกที่ไมเคิลทำหลังรวบรวมกระป๋องทั้งหมดมาได้ คือพยายามเปลี่ยนวัสดุทรงกลมให้เป็นก้อนสี่เหลี่ยม

‘อิฐกระป๋องเบียร์’ ก้อนแรกทำจากกระป๋องเบียร์ 8 กระป๋อง กับเหล็กเส้น 1 เส้น หนักประมาณ 400 กรัม ไมเคิลใช้อิฐกระป๋องมาก่อเป็นผนัง และใช้ปูนผสมดินเหนียวเป็นตัวประสาน 

ในระหว่างการก่อสร้าง เขาทดลองใช้กระป๋องเปล่ามาวางเรียงกันทีละกระป๋องและประสานด้วยปูนผสมดินเหนียว ผลที่ได้คือ ผนังที่ก่อด้วยอิฐกระป๋องแข็งแรงและรับน้ำหนักได้มากกว่า แต่ผนังกระป๋องเรียงเดี่ยวมีน้ำหนักเบาและมีช่องว่างอากาศเยอะกว่า จึงทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนได้ดีกว่า ไมเคิลจึงใช้เทคนิคการก่อผนังแต่ละแบบตามจุดประสงค์ของการใช้งานห้องต่างๆ ภายในบ้าน และได้จดสิทธิบัตรการออกแบบอิฐกระป๋องเบียร์ใน ค.ศ. 1973 อีกด้วย

Earthship บ้านจากกระป๋องเบียร์ของสถาปนิกอเมริกันที่ออกแบบให้ใช้พลังงานธรรมชาติ 100%
©The U.S. National Archives via flickr
บ้านจากกระป๋องเบียร์หลังแรก ไมเคิลตั้งชื่อให้ว่า Thumb House ©The U.S. National Archives via flickr

หลังประสบความสำเร็จกับบ้านหลังแรก ไมเคิลเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างและทุ่มเทเวลาให้การทดลองสร้างบ้านด้วยอะไรก็ตามที่ได้มาจากกองขยะ

บ้านแต่ละหลังที่เขาสร้างจึงมีรูปทรงแตกต่างกันไปตามข้อจำกัดของวัสดุที่หาได้ ในขณะเดียวกัน ก็ทดลองเพิ่มองค์ประกอบจำเป็นอื่นๆ ของบ้านเข้าไป เพื่อให้ใช้ชีวิตอยู่ได้จริง เช่น ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ออกแบบหลังคาที่ช่วยเก็บน้ำฝน เพิ่มระบบกรองน้ำดื่มน้ำใช้ ระบบกำจัดน้ำเสีย ฯลฯ

Earthship บ้านจากกระป๋องเบียร์ของสถาปนิกอเมริกันที่ออกแบบให้ใช้พลังงานธรรมชาติ 100%
©Ingrid Pfau via flickr (CC BY 2.0)
Earthship บ้านจากกระป๋องเบียร์ของสถาปนิกอเมริกันที่ออกแบบให้ใช้พลังงานธรรมชาติ 100%
©Jenny Parkins via flickr (CC BY-SA 2.0)

ในยุคที่แนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และสถาปัตยกรรมอย่างยั่งยืน (Sustainable Architecture) ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ไมเคิลเลือกที่จะให้คำนิยามตัวเองใหม่ 

“ผมคิดว่า Architecture ในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการสร้างอาคารใหญ่โตหรูหรา มากกว่าคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม ผมต้องการสร้างบ้านที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกับโลกใบนี้ได้อย่างยืนยาวและมีความสุข ผมไม่เรียกตัวเองว่าเป็น Architect เพราะผมคิดไม่เหมือนพวกเขา สถาปัตยกรรมเป็นเรื่องของหลักการและความแม่นยำ แต่ผมทำงานกับธรรมชาติ งานของผมคือการลองผิดลองถูกและต้องยืดหยุ่นได้ ผมเลือกที่จะเรียกสิ่งที่ผมทำว่า Biotecture และถ้าใครถาม ผมก็จะบอกว่าผมเป็น Biotech” 

Earthship บ้านจากกระป๋องเบียร์ของสถาปนิกอเมริกันที่ออกแบบให้ใช้พลังงานธรรมชาติ 100%
©Jenny Parkins via flickr (CC BY-SA 2.0)
Earthship บ้านจากกระป๋องเบียร์ของสถาปนิกอเมริกันที่ออกแบบให้ใช้พลังงานธรรมชาติ 100%
©Jenny Parkins via flickr (CC BY-SA 2.0)
บ้านจากกระป๋องเบียร์ของสถาปนิกอเมริกันที่ออกแบบให้ใช้พลังงานธรรมชาติ 100%
©Felix Müller via wikimedia CC BY-SA 3.0

เอิร์ทชิปหลังแรก

ชื่อเอิร์ทชิปได้แรงบันดาลใจมาจากคำว่า เรือ (Ship) และยานอวกาศ (Spaceship) เพราะสิ่งก่อสร้างทั้งสองแบบจำเป็นต้องทำได้ทุกอย่าง เพื่อให้คนที่อยู่ข้างในมีชีวิตรอดได้ในระยะยาวแม้จะมีทรัพยากรจำกัด นั่นคือต้องเป็นที่อยู่อาศัย มีอาหารและน้ำสะอาดให้กิน มีไฟฟ้าให้ใช้ มีที่ทิ้งขยะ และมีระบบจัดการน้ำเสีย หลักการเดียวกันนี้ถูกนำมาใช้ในการออกแบบและก่อสร้างเอิร์ทชิปให้เป็นบ้านที่ตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยอย่างยืนยาว

ไมเคิลพูดถึงแนวคิดของเอิร์ทชิปมาตั้งแต่เริ่มก่อสร้างบ้านกระป๋องเบียร์ใน ค.ศ. 1971 และหลังจากใช้เวลานานกว่า 17 ปี เอิร์ทชิปหลังแรกก็เสร็จสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1988 โดยมีหลักการสำคัญในการก่อสร้างด้วยกันทั้งหมด 5 ข้อ คือ

บ้านจากกระป๋องเบียร์ของสถาปนิกอเมริกันที่ออกแบบให้ใช้พลังงานธรรมชาติ 100%
©Jenny Parkins via flickr (CC BY-SA 2.0)

1. ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและหาได้ในท้องถิ่น

เอิร์ทชิปไม่จำเป็นต้องสร้างด้วยวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ต้องเป็นวัสดุจากธรรมชาติหรือวัสดุที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่และไม่เพิ่มภาระให้สิ่งแวดล้อม เช่นในสหรัฐฯ มียางรถยนต์เก่ากว่า 2.5 ล้านเส้นที่กองทับถมกันเป็นภูเขาขนาดย่อม เอิร์ทชิปที่สร้างในสหรัฐฯ จึงใช้ยางรถยนต์เก่า ใส่ดินไว้ด้านในจนแน่น วางเรียงกันคล้ายการก่ออิฐทำผนังบ้าน ความกว้างและความแข็งแรงของยางรถยนต์ทำหน้าที่เป็นผนังรับน้ำหนักหลังคาบ้านได้เป็นอย่างดี 

©Jenny Parkins via flickr (CC BY-SA 2.0)

หรือเอิร์ทชิปที่จาเมกา ใช้กระป๋องเบียร์กับขวดเหล้าที่มีอยู่เกลื่อนกลาดมาทำความสะอาดและตัดคอขวดทิ้งให้เหลือแต่ก้นขวด หลังจากนั้น เอาก้นขวด 2 ใบ มาประกบกัน ก่อนจะนำมาวางเรียงเป็นผนัง โดยใช้ปูนผสมดินเหนียวเป็นตัวยึด ผนังขวดแก้วลักษณะนี้จะนิยมใช้เป็นผนังตกแต่งเพื่อความสวยงาม และใช้ทำผนังสำหรับห้องที่ต้องการให้มีแสงธรรมชาติจากภายนอกลอดผ่านเข้ามา

หัวใจสำคัญคือ ต้องเป็นวัสดุที่มีอยู่แล้วในพื้นที่นั้น เพราะจุดประสงค์ดั้งเดิมของเอิร์ทชิปคือการลดขยะ และการขนส่งวัสดุมาจากแหล่งอื่นย่อมหมายถึงการเผาผลาญเชื้อเพลิงโดยไม่จำเป็น

2. ระบบทำความร้อนและความเย็นแบบธรรมชาติ

เอิร์ทชิปต้องมีอุณหภูมิพอเหมาะให้อยู่ได้อย่างสบายตลอดปี ในทุกสภาพอากาศบนโลก โดยไม่พึ่งเครื่องปรับอากาศ เตาผิง หรือเตาน้ำมัน

การสร้างเอิร์ทชิปจึงพิจารณากันตั้งแต่สภาพแวดล้อมภายนอกที่จะมีผลต่อระดับความร้อนที่เข้ามาในบ้าน เช่น ทิศทางแดด ทิศทางการไหลของลม หรือร่มเงาของต้นไม้

Earthship บ้านจากกระป๋องเบียร์ของสถาปนิกอเมริกันที่ออกแบบให้ใช้พลังงานธรรมชาติ 100%
©Jenny Parkins via flickr (CC BY-SA 2.0)

ส่วนอุณหภูมิภายในบ้านจะพึ่งพาผนังยางรถยนต์เป็นหลัก ดินที่อัดแน่นอยู่ด้านในทำให้ผนังที่ทำจากยางรถยนต์กลายเป็นมวลความร้อนขนาดใหญ่ (Thermal Mass) ทำหน้าที่สะสมความร้อนในช่วงกลางวันและปล่อยความร้อนในช่วงกลางคืน บ้านจึงอบอุ่นแม้ในฤดูหนาว

ส่วนในฤดูร้อนก็ใช้หลักการระบายอากาศ (Natural Cooling) เพราะโดยปกติแล้วอากาศร้อนจะลอยขึ้นด้านบน เอิร์ทชิปจึงมีช่องลมบนเพดานไว้ให้เปิด-ปิดเพื่อระบายความร้อนออก อากาศที่เย็นกว่าจะไหลจากด้านล่างขึ้นไปแทนที่อากาศร้อน อุณหภูมิในบ้านจึงเย็นสบายแม้ไม่มีลมพัด 

3. ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

เอิร์ทชิปทุกหลังมีแผงโซลาร์เซลล์ และใช้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบเชื่อมต่อกับแบตเตอรี่สำรอง มีตัวควบคุมการชาร์จประจุไฟฟ้าและมีตัวแปลงไฟฟ้า ในตอนกลางวัน กระแสไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ซึ่งเป็นกระแสตรงจะถูกส่งไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่จนเต็ม ไฟฟ้ากระแสตรงที่เหลือจะถูกจ่ายให้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้กระแสตรงได้เลย หรือผ่านตัวแปลงไฟฟ้าไปเป็นกระแสสลับก่อนก็ได้ ส่วนตอนกลางคืนจะใช้ไฟฟ้าที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่ตามปกติ

Earthship บ้านจากกระป๋องเบียร์ของสถาปนิกอเมริกันที่ออกแบบให้ใช้พลังงานธรรมชาติ 100%
©Jenny Parkins via flickr (CC BY-SA 2.0)

ตามสถิติแล้วเอิร์ทชิปหลังหนึ่งใช้ไฟฟ้าแค่ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ของบ้านธรรมดา เพราะมาตรการหลายอย่างช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟกระแสตรงเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียพลังงานในการแปลงไฟฟ้า การเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบประหยัดพลังงาน การใช้เครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ การใช้ก๊าซโพรเพนในการทำความร้อนเพื่อปรุงอาหาร การลดการทำงานของปั๊มน้ำด้วยการวางถังเก็บน้ำไว้บนที่สูง แล้วอาศัยแรงโน้มถ่วงในการจ่ายน้ำ

ส่วนพลังงานไฟฟ้าจากลมมักนิยมใช้กันในเอิร์ทชิปที่สร้างติดทะเล เพราะค่าติดตั้งสูง หากอยู่ในพื้นที่ที่ลมไม่แรงพอและไม่สม่ำเสมอ

4. มีระบบกักเก็บและกรองน้ำฝน

พื้นที่บนหลังคาของเอิร์ทชิปจะกักน้ำฝนและหิมะที่ละลายไปเก็บไว้ที่ถังเก็บน้ำ น้ำในถังจะไหลลงไปที่ปั๊มน้ำ และผ่านกระบวนการกรองเพื่อแยกสารปนเปื้อน เชื้อโรค และแบคทีเรีย ก่อนจะถูกส่งต่อไปที่เครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์และถังควบคุมแรงดันน้ำ หลังจากนั้นก็นำน้ำไปดื่ม ใช้ชำระล้างร่างกาย ล้างจาน และซักผ้าได้

Earthship บ้านจากกระป๋องเบียร์ของสถาปนิกอเมริกันที่ออกแบบให้ใช้พลังงานธรรมชาติ 100%
©Kyle Greenberg via flickr (CC BY 2.0)

ในบ้านที่เราอยู่อาศัยกันทุกวันนี้ น้ำที่ใช้แล้วหนึ่งครั้งจะไหลลงสู่ท่อและไปรวมกันที่บ่อบำบัดน้ำเสีย ก่อนจะถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำหรือทะเล แต่น้ำทุกหยดในเอิร์ทชิปจะถูกนำกลับมาใช้ถึง 4 ครั้ง คือ 

ครั้งแรก น้ำสะอาดจากเครื่องกรองน้ำ ใช้ดื่ม ใช้ชำระร่างกาย ล้างจาน และซักผ้า 

ครั้งที่สอง น้ำที่ใช้แล้ว (Greywater) จะถูกส่งผ่านท่อไปยังสวนในบ้าน ซึ่งเรียกว่า Botanical Cells หรือระบบพืชกรองน้ำเสีย เป็นการให้พืชช่วยกรองหรือฟอกน้ำให้สะอาดขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่พืชดูดซับธาตุอาหารในน้ำเสีย ร่วมกับการย่อยสลายสารอินทรีย์โดยจุลินทรีย์ที่อยู่ในดิน ที่นิยมทำกันในเอิร์ทชิป คือการแบ่งพืชออกเป็นช่องหรือกล่องสี่เหลี่ยม และทำให้มีความลึกลดหลั่นกันลงไปเรื่อยๆ เพื่อให้น้ำไหลลงไปเองตามแรงโน้มถ่วง

เมื่อน้ำผ่านการกรองด้วยพืชครบทุกขั้นแล้ว จะไหลไปรวมกันอยู่ที่บ่อพักน้ำที่สร้างไว้ติดสวน น้ำในบ่อนี้คือน้ำที่รอใช้กดชักโครก ซึ่งจะเป็นการใช้น้ำครั้งที่สาม

น้ำที่กดไหลลงชักโครกไปแล้ว เรียกว่า น้ำโสโครก (Blackwater) จะถูกส่งออกไปยังหม้อบำบัดนำเสียอีกครั้ง หลังจากกระบวนการนี้ ถ้าไม่ปล่อยน้ำลงสู่คลองหรือทะเล จะใช้น้ำครั้งที่สี่ ได้ด้วยการส่งน้ำไปให้ต้นไม้ในสวนนอกบ้าน 

5. การผลิตอาหารในเอิร์ทชิป

เดิมที การมีพื้นที่สีเขียวในเอิร์ทชิปมีจุดประสงค์เพื่อบำบัดน้ำใช้แล้ว ต้นไม้ที่ปลูกจึงมักเป็นไม้ดอกไม้ประดับ แต่ภายหลังเริ่มมีการทดลองปลูกพืชที่ให้ผลิตผล เช่น แตงกวา มะเดื่อ พริกหยวก มะเขือเทศ โหระพา กล้วย ฯลฯ

Earthship บ้านจากกระป๋องเบียร์ของสถาปนิกอเมริกันที่ออกแบบให้ใช้พลังงานธรรมชาติ 100%
©Jenny Parkins via flickr (CC BY-SA 2.0)

ส่วนพื้นที่สีเขียวนอกบ้านที่ใช้บำบัดน้ำโสโครก ยังเป็นพืชไม้ดอกไม้ประดับอยู่ แต่เอิร์ทชิปบางหลังก็ปลูกต้นไม้ที่ให้ผลผลิตแบบเก็บกินได้จากต้น เช่น แอปเปิ้ล เชอร์รี และหลีกเลี่ยงพืชหัวที่ให้ผลผลิตบนดินหรือใต้ดิน เช่น มันฝรั่ง มันสำปะหลัง เผือก แคร์รอต ฯลฯ 

บ้านจากกระป๋องเบียร์ของสถาปนิกอเมริกันที่ออกแบบให้ใช้พลังงานธรรมชาติ 100%
©Jenny Parkins via flickr (CC BY-SA 2.0)

นอกจากพืชแล้ว ก็ยังมีการทดลองเลี้ยงสัตว์ในเอิร์ทชิป เช่น ปลาคาร์ปเพื่อความสวยงาม ปลานิลไว้ทำอาหาร และไก่ไว้เก็บไข่กิน

บ้านจากกระป๋องเบียร์ของสถาปนิกอเมริกันที่ออกแบบให้ใช้พลังงานธรรมชาติ 100%
©Kyle Greenberg via flickr (CC BY 2.0)

ตลอดชีวิตการทำงานของไมเคิลในอเมริกา เขาต้องงัดข้อกับเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายและคณะกรรมการสถาปนิกอยู่บ่อยๆ เพราะเอิร์ทชิปละเมิดกฎการสร้างอาคารมากมายหลายข้อ

จนกระทั่งใน ค.ศ. 1990 ไมเคิลโดนเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เพราะลูกค้าจำนวนหนึ่งรวมตัวกันฟ้อง สาเหตุมาจากบ้านที่เขาออกแบบหลายหลังมีปัญหาหลังคารั่ว เขาพยายามไกล่เกลี่ยอยู่ปีกว่าแต่ก็ไม่เป็นผล

ค.ศ. 1998 ไมเคิลมีโอกาสได้เดินทางไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่สูญเสียบ้านจากเหตุการณ์เฮอริเคนมิตช์ ในประเทศฮอนดูรัส โดยไปร่วมสร้างเอิร์ทชิปในพื้นที่ เพื่อให้ผู้ประสบภัยเรียนรู้วิธีการสร้างและสร้างบ้านอยู่เองได้ และใน ค.ศ. 2005 ไมเคิลก็ไปให้ความช่วยเหลือในรูปแบบเดียวกันกับตอนเกิดเหตุการณ์เฮอริเคนริตาในประเทศเม็กซิโก และเหตุการณ์สึนามิที่หมู่เกาะอันดามัน

การต่อสู้เพื่อใบอนุญาตยาวนานถึง 17 ปี ทำให้ไมเคิลตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า และยอมปรับเปลี่ยนโครงสร้างเอิร์ทชิป เพื่อให้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมาย จนกระทั่งได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพคืนใน ค.ศ. 2007

หลังจากนั้น สถาบันสถาปนิกอเมริกัน (The American Institute of Architects) ได้เชิญไมเคิลไปเป็นวิทยากรเรื่องเอิร์ทชิปที่สำนักงานใหญ่ในรัฐโคโลราโด

ปัจจุบัน ไมเคิลยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างเอิร์ทชิปหลังต่อๆ ไป ด้วยความเชื่อมั่นว่ามันจะช่วยต่อลมหายใจให้โลกได้ 

“ช่วยบอกหน่อยว่าคุณมาถึงจุดนี้ได้อย่างไรในสิบคำ”

“อย่า ยอม แพ้”

– ไมเคิล เรย์โนลด์ส บทสัมภาษณ์จาก Wall Street Journal ปี 2009

Earthship บ้านจากกระป๋องเบียร์ของสถาปนิกอเมริกันที่ออกแบบให้ใช้พลังงานธรรมชาติ 100%
©Jenny Parkins via flickr (CC BY-SA 2.0)

เอิร์ทชิปใน The Greater World Earthship Community เปิดให้ผู้สนใจเข้าพักค้างคืนได้ ราคาขึ้นอยู่กับขนาดบ้านและฤดูกาล จะจองผ่านเว็บไซต์ของเอิร์ทชิปโดยตรงที่นี่ หรือจองผ่าน Airbnb ก็ได้ นอกจากห้องพักแล้ว ก็มีศูนย์ให้ความรู้ และโรงเรียนสำหรับผู้สนใจ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของเอิร์ทชิปโดยตรงเลยค่ะ

Garbage Warrior (2007) ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับไมเคิล เรย์โนลด์ส และเอิร์ทชิปในช่วงประสบปัญหาโดนเพิกถอนใบอนุญาต และการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติในประเทศต่างๆ

แหล่งข้อมูล

Writer & Photographer

Avatar

เอมิลิญา รัตนพันธ์

สาวนครศรีฯ เรียนและทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เชียงใหม่ ก่อนจะเก็บกระเป๋ามาออกทริปมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่ปลายปี 2015 ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่เมืองเกวงกา ประเทศเอกวาดอร์ และยังคงเดินทางอยู่ :) Facebook ซ้อนท้ายมอไซค์ไปขั้วโลก