ธุรกิจ : บริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด และ Earthology

ประเภทธุรกิจ : อุตสาหกรรมสิ่งทอ

ปีก่อตั้ง : พ.ศ. 2530

อายุ : 34 ปี

ทายาทรุ่นสอง : B.C Cheng

ทายาทรุ่นสาม : คุณสมศักดิ์ ชัยวิไล

Earthology แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์จากผ้ารีไซเคิลและวัสดุธรรมชาติ โดยทายาทโรงงานสิ่งทอ

Earthology คือแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่เกิดขึ้นจากการต่อยอดธุรกิจครอบครัวของ เชอรี่-กฤติกา ชัยวิไล ทายาทรุ่นสามแห่งบริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานสิ่งทอแบบครบวงจร 

ไทยแทฟฟิต้าเป็นหนึ่งในโรงงานรับจ้างผลิตหรือ OEM (Original Equipment Manufacturer) ระดับแนวหน้าของภูมิภาคที่อยู่เบอร์ต้น ๆ บน Vendor List ของแบรนด์ระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Nike, The North Face, Patagonia หรือ Vans

อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบันที่การแข่งขันในเวทีธุรกิจดุเดือดขึ้นทุกวัน การเป็นเพียงบริษัทรับจ้างผลิตอาจไม่เพียงพอ

ภายใต้ฝีไม้ลายมือของทายาทรุ่นสามในวันนี้ การสร้างแบรนด์ Earthology จึงเป็นการก้าวออกจากหลังม่านครั้งแรก เปิดตัวแบรนด์สินค้าสำเร็จรูป ทำให้บริษัทสื่อสารกับผู้บริโภคได้โดยตรง และสิ่งที่ทำให้ Earthology แตกต่างจากสินค้าไลฟ์สไตล์แบรนด์อื่น ๆ คือเรื่องราวและกระบวนการผลิตสินค้าแบบพิเศษ ที่อยู่บนแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

วันที่ The Cloud เข้ามาสัมภาษณ์ เชอรี่เดินเข้ามาพร้อมกับเสื้อสูทสีขาวตัวหนึ่ง ในตอนแรกเราไม่ได้เอะใจอะไร คิดว่าเป็นสูทที่สวยงามตัวหนึ่ง จนกระทั่งเธอเฉลยว่า สูทตัวนั้น ทางบริษัทเป็นคนผลิตเอง วัตถุดิบ 70 เปอร์เซ็นต์มาจากขวดพลาสติกที่ถูกทิ้ง และอีก 30 เปอร์เซ็นต์มาจากของเสียทางการเกษตร โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการย้อมสีใด ๆ ทั้งสิ้น

จากโรงงานรับจ้างผลิตสู่การต่อยอดด้วยนวัตกรรม เพื่อสร้างแบรนด์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงความต้องการของลูกค้า เพื่อความสำเร็จที่มั่นคง ยั่งยืน และยังคงเหลือทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้คนรุ่นถัดไป ก้าวให้เท่าทันโลกนี้ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

Earthology แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์จากผ้ารีไซเคิลและวัสดุธรรมชาติ โดยทายาทโรงงานสิ่งทอ

ทอและสานต่อประสบการณ์

บริษัทไทยแทฟฟิต้าก่อตั้งใน พ.ศ. 2530 โดยคุณปู่ของ คุณสมศักดิ์ ชัยวิไล สามีของเชอรี่ ซึ่งเป็นประธานโรงงานขนาดใหญ่ทางด้านสิ่งทอที่ไต้หวัน เขาเล็งเห็นโอกาสและศักยภาพของประเทศไทยที่จะก้าวขึ้นมาเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในอนาคต

หลังจากนั้นคุณพ่อและคุณอาของสามีเธอได้เข้ามารับช่วงต่อ และค่อย ๆ ปั้นธุรกิจ OEM ให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป หากธุรกิจก้าวตามไม่ทัน ธุรกิจนั้นก็อาจล้มหายไปได้

เช่นเดียวกับเชอรี่ เธอไม่ได้มองว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอกำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่สิ่งสำคัญคือต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก และการสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา คือจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับริษัทในการสื่อสารกับผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้ามาในอุตสาหกรรมที่มีความเฉพาะเจาะจงสูงอย่างอุตสาหกรรมสิ่งทอไม่ใช่เรื่องง่าย

Earthology แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์จากผ้ารีไซเคิลและวัสดุธรรมชาติ โดยทายาทโรงงานสิ่งทอ
Earthology แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์จากผ้ารีไซเคิลและวัสดุธรรมชาติ โดยทายาทโรงงานสิ่งทอ

“อย่างแรกเลยคือเราต้องศึกษาตัวธุรกิจสิ่งทอค่อนข้างเยอะ เพราะมีเทคนิคมาก เราต้องรู้ไปจนถึงแก่นของเขา เพราะไม่ว่าจะเป็นแบรนด์อะไรก็ตาม แฟชั่นหรือกีฬา ที่สำคัญที่สุดก็คือตัววัตถุดิบ เราต้องแตกฉานว่ามันมีเทคนิคหรือ Know-how อะไรใหม่ ๆ ที่เข้ามาเพิ่มฟังชันก์ให้กับผ้าของเราได้ แล้วมีนวัตกรรมอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาบ้าง”

นอกจากศึกษาตัวธุรกิจ การศึกษาอุตสาหกรรมก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เชอรี่ใช้วิธีทำงานร่วมกับเจเนอเรชันก่อนหน้า เพื่อศึกษารายละเอียดต่าง ๆ 

“พอทำงานแล้ว เขาจะสอนวิธีการคิด การเจรจาต่อรอง การตัดสินใจ แล้วก็พาเราไปรู้จักกับ Supply Chain ทั้งหมดในอุตสาหกรรม ซึ่งสำคัญมาก เพราะไม่ว่าเราจะทำงานอะไร มันทำไม่ได้ด้วยองค์กรของเราคนเดียว เราต้องมีพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ” 

เมื่อได้คำแนะนำที่ดีจากรุ่นก่อนหน้า จึงทำให้เชอรี่และสามีเรียนรู้อุตสาหกรรมนี้ไปได้อย่างราบรื่น

Earthology แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์จากผ้ารีไซเคิลและวัสดุธรรมชาติ โดยทายาทโรงงานสิ่งทอ

ดูแล รักษา พัฒนา

แม้ว่าการเรียนรู้ธุรกิจและกิจการภายในจะเป็นสิ่งสำคัญ อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่า คือ ลูกค้าและคู่ค้า

เป็นเวลากว่า 30 ปี ในมือทายาท 3 รุ่นที่โรงงานสิ่งทอแห่งนี้ริเริ่มและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลานี้ หลาย ๆ อย่างย่อมผันแปรเปลี่ยนไปตามเวลา โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันด้านราคากันอย่างดุเดือด แต่ทว่าไทยแทฟฟิต้าก็ยังคงรักษาลูกค้าเก่าไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

“มันคือความเชื่อมั่นจากรุ่นสู่รุ่น ถึงแม้ว่าคุณพ่อและคุณอาไม่ได้ทำแล้ว แต่รุ่นที่มาสานต่อก็ยังคงยึดจุดยืนเหมือนเดิม ความคิด ข้อตกลง การเจรจา หรือว่าการทำธุรกิจ ก็ยังเหมือนเดิม ความเชื่อมั่น ความมั่นใจ ไม่ได้มาตั้งแต่วันแรกที่เขาทำธุรกิจกับเราหรอก คนทางโน้นก็อาจมีการเปลี่ยนแปลง คนของเราก็ยังเปลี่ยนแปลงอยู่ แต่ความมั่นคงในการทำธุรกิจหรือความยึดมั่นในหลักการการทำงานยังเหมือนเดิม”

ความหนักแน่นและยึดมั่นในหลักการการทำงาน เป็นสิ่งที่ทำให้ไทยแทฟฟิต้ารักษาลูกค้าเดิมของโรงงาน OEM ให้อยู่ต่อไปได้

ในขั้นแรก สิ่งที่บริษัทจะต้องผ่านมาตรฐานโรงงานที่ทางแบรนด์ลูกค้ากำหนดไว้ และเมื่อผ่านมาตรฐานนั้นได้ ขั้นตอนต่อไปก็คือมัดใจด้วยประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือ

“ต่อให้เรื่องนวัตกรรมคุณจะเก่งแค่ไหน แต่เวลามีปัญหา มันจะย้อนกลับมาว่าคุณมีความรับผิดชอบต่อลูกค้าแค่ไหน ความสื่อสัตย์ ความน่าเชื่อถือ และประสิทธิภาพสำคัญมาก”

เมื่อมัดใจลูกค้าได้แล้ว สิ่งที่ทำให้บริษัทรักษาลูกค้าเหล่านั้นได้ในระยะยาว คือการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ นำเสนอลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ และนวัตกรรมเหล่านั้นจะกลายเป็นจุดเด่นของบริษัทที่ทำให้ลูกค้าใหม่ ๆ หันมามอง 

Earthology แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์จากผ้ารีไซเคิลและวัสดุธรรมชาติ โดยทายาทโรงงานสิ่งทอ

เปลี่ยนผ้า

ย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีที่แล้ว จุดเปลี่ยนที่ทำให้เชอรี่เริ่มรู้จักกับเทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy คือความต้องการของลูกค้าที่ค่อย ๆ เปลี่ยน

จากสมัยนั้น ผ้าที่นำมาใช้เป็นวัสดุรีไซเคิลไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ทุกวันนี้วัสดุเปลี่ยนเป็นไนลอนหรือโพลีเอสเตอร์จากการรีไซเคิลมากกว่าร้อยละ 85

“ทุก ๆ ปีเราจะเห็นเทรนด์ของโลกชัดเจนมาก แล้วเราในฐานะคู่ค้าที่ทำงานให้เขา เราต้องตอบโจทย์เขา พอตอบโจทย์เขาได้ ก็รู้สึกว่าทำไมเราไม่ตอบโจทย์ตัวเองบ้าง ก็เลยมานั่งถามตัวเอง 

“เมื่อวานเห็นคนแยกขยะ แต่เรายังใส่ขยะผสมกันอยู่เลย มันคงดีกว่ามากถ้าเราทำอะไรเพื่อจัดการกับสิ่งเหล่านี้ ถ้าคุยเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนกัน ณ วันนี้อาจเข้าถึงยาก แต่เมื่อไรก็ตามที่เราออกมาในรูปของสินค้า คนจะเข้าถึงได้มากกว่า”

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เชอรี่ตัดสินใจนำวัสดุที่มี กลับมาให้ดีไซเนอร์และโรงงานในเมืองไทยทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดการกระจายรายได้ ความร่วมมือ และเครือข่ายในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อเริ่มต้นสร้างแบรนด์และสื่อสารถึงความตั้งใจนี้ให้ลูกค้าได้รับรู้

ตัวอย่างของแบรนด์ที่เกิดขึ้นมาอันดับแรกคือ T-Zero ไลน์ผ้าที่เกิดจากผ้าเหลือในโรงงาน และในขณะเดียวกันนั้น เชอรี่ก็ได้ไปเห็นวิดีโอที่หัวหน้าของเกาะห้อง อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี รณรงค์ทำถุงผ้าแจกแขกนักท่องเที่ยว เพื่อจะได้ไม่ต้องทิ้งขยะไม่เป็นที่ทาง จึงใช้เศษผ้าจากโรงงานเย็บเป็นถุงแล้วนำไปให้

จุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งก็คือช่วงวิกฤตโควิด-19 

Earthology แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์จากผ้ารีไซเคิลและวัสดุธรรมชาติ โดยทายาทโรงงานสิ่งทอ

“สองปีที่แล้ว จุดเริ่มต้นแรกคือการขาดแคลนหน้ากาก ด้วยประสบการณ์ที่เราเรื่องการทำผ้าให้กลุ่มทางการแพทย์ ก็เลยเอาเทคโนโลยีเหล่านั้นมาทำเป็นหน้ากากผ้า บริจาคให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน แล้วค่อยขายให้บุคคลทั่วไป ซึ่งราคาก็น่ารักมาก ประมาณสี่สิบบาท ซักได้ยี่สิบถึงสามสิบครั้ง ไม่ใช่แบบใช้แล้วทิ้ง”

เมื่อเริ่มต้นที่หน้ากากผ้า สิ่งที่ขาดแคลนเป็นอันดับถัดไปก็คือชุด PPE การพัฒนาชุด Reusable PPE Level 2 จึงเกิดขึ้น นำโดย คุณสุพจน์ ชัยวิไล น้องชาย ซึ่งได้พัฒนาร่วมกับองค์การเภสัชกรรมและสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จากการรีไซเคิลขวดน้ำดื่มในประเทศจำนวน 18 ขวด และสามารถใช้ซ้ำได้ 20 ครั้ง จากการพัฒนาชุด PPE ในครั้งนี้ บริษัทได้รับรางวัล PM Award สาขา Aspiring Innovation เมื่อปีที่แล้ว 

เบื้องหลังแบรนด์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุต่าง ๆ ภายใต้ Circular Design ในมือของทายาทรุ่น 3 โรงงานสิ่งทอครบวงจร
เบื้องหลังแบรนด์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุต่าง ๆ ภายใต้ Circular Design ในมือของทายาทรุ่น 3 โรงงานสิ่งทอครบวงจร

นอกจากนี้ เชอรี่ยังได้พาร์ตเนอร์ที่ดีอย่างกลุ่ม Less Plastic และกลุ่ม YOUเทิร์น จาก PTTGC โดยการรณรงค์ให้มีจุด Drop Point ให้ผู้บริโภคนำขวดน้ำมาทิ้งได้ และหลังจากนั้นก็จะมีกลุ่ม YOUเทิร์น ไปเก็บขวดเหล่านั้น เพื่อนำเข้าสู่ระบบและทอออกมาเป็นผ้าเพื่อผลิตชุด PPE ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ จนเกิดเป็นไลน์ผ้า ZSafe ขึ้นมา

นอกจากพลาสติกแล้ว อีกหนึ่งวัตถุดิบที่เชอรี่นำมาใช้คือของเสียจากการเกษตร เช่น ใบสับปะรด หรือก้านกัญชง โดยนำมาเปลี่ยนให้กลายเป็นเส้นใยธรรมชาติ

แม้ว่ากระบวนการนี้จะค่อนข้างใหม่ ทำให้ต้นทุนอาจเพิ่มขึ้น แต่ด้วยลูกค้าที่เข้าใจและให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านี้ จึงยอมจ่ายราคาที่แพงกว่า เพื่อวัตถุดิบที่มีเรื่องราว เพราะในบางครั้ง มูลค่าของสินค้าก็ประเมินไม่ได้ด้วยราคาหรือต้นทุนเพียงอย่างเดียว

“เราขายผ้าที่ราคาสูงขึ้นได้ เพราะว่ากลุ่มของตลาดลูกค้าส่งออกเข้าใจเรื่อง Circular Economy, Sustainability และผลกระทบจาก Carbon Footprint เรารู้ตัวอยู่แล้วว่าประเทศเราไม่มีวันผลิตด้วยราคาถูกที่สุดได้ ผู้บริโภคก็ลึกซึ้งและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาไม่ได้ดูที่ราคาเป็นอันดับแรก และถูกที่สุดก็ไม่ใช่คำตอบที่เราจะรอดในธุรกิจนี้

เบื้องหลังแบรนด์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุต่าง ๆ ภายใต้ Circular Design ในมือของทายาทรุ่น 3 โรงงานสิ่งทอครบวงจร

แปลงร่าง

Earthology เกิดมาจากคำว่า Earth รวมกับคำว่า Technology เชอรี่จึงตั้งใจที่จะสร้างแบรนด์นี้ขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนหลักการให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ และสื่อสารกับผู้บริโภคจนทำให้เขาเข้าถึงได้ง่ายขึ้นผ่านการออกแบบ เบื้องต้นอาจฟังดูเข้าใจยาก 

“แก่นของ Earthology คือเราต้องการทำให้งานดีไซน์ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ เวลาคนเดินมาเห็น อย่างแรกเลยคือต้องดูว่าสวยแล้วชอบไหมก่อน เขาถึงไปดูเรื่องราวเบื้องหลังต่อ เราต้องทำอย่างนั้นก่อน แล้วค่อยให้เขาเข้ามาอยากเรียนรู้มากขึ้น”

Earthology นำนวัตกรรมในการผลิตผ้าจากวัสดุต่าง ๆ เช่น ขวดพลาสติก 5 ขวด ผลิตเป็นหมวกแก๊ปได้ โดยที่ผลิตภัณฑ์นำกลับมารีไซเคิลเป็นไฟเบอร์และเส้นใย นำกลับมาใช้ในการทอผ้าและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาได้อีก

เมื่อของเหลือทิ้งนำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำพลาสติก ของเสียทางการเกษตร หรือวัสดุอื่น ๆ ความยั่งยืนในกระบวนการผลิตก็เกิดขึ้น และช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อโลกใบนี้มากยิ่งขึ้น

“เราอยากให้คนเข้าใจ ทำง่าย ๆ ให้เขาเข้าใจ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เขาเข้าใจ เขาจะมีส่วนร่วมในการทำให้มันเข้าระบบ แล้วก็จะกลายเป็นเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนไปโดยปริยาย โดยหลักการการทำงานของ Earthology จะเน้นการออกแบบด้วยหลักการ Circular Design” 

Circular Design คือการออกแบบหมุนเวียน ซึ่งเป็นการออกแบบภายใต้แนวคิดที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนในการนำวัสดุและทรัพยากรกลับมาเข้าสู่ระบบเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

เพื่อทำให้สินค้าสวยงามและมีสไตล์ Earthology ทำงานร่วมกับดีไซเนอร์ชาวไทย สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคออกมาจากวัสดุเหลือต่าง ๆ ภายในประเทศ ทำให้ไม่จำเป็นต้องนำเข้าวัสดุใด ๆ จากต่างประเทศ

นอกจากนี้ อีกหนึ่งหัวใจของแบรนด์คือการทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งจะเป็นการกระจายรายได้ให้ชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตสินค้า

เบื้องหลังแบรนด์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุต่าง ๆ ภายใต้ Circular Design ในมือของทายาทรุ่น 3 โรงงานสิ่งทอครบวงจร

“จุดที่ภูมิใจที่สุดคือการได้ทำงานร่วมกับชุมชน จริง ๆ คนเราไม่มีข้อจำกัดในแง่ความสามารถ ถ้าเขาได้โอกาส ผ้าทั้งหมดเป็นของเราก็จริง แต่งานเย็บทั้งหลายมาจากชุมชนแม่บ้านที่ระยอง เรามองว่าเป็นการสร้างงาน อะไรก็ตามที่เราคิดว่าชุมชนทำได้ เราก็จะจ้างงานชุมชน”

เทคนิคในการผลิตที่แตกต่าง ทำให้วัสดุของ Earthology โดดเด่น เมื่อนำมารวมกับฝีมือของดีไซเนอร์และชุมชนในประเทศไทย จึงก่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเรื่องราวเป็นของตัวเองขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น Earthology จึงเปรียบเสมือนแพลตฟอร์มรวบรวมคนไทยที่มีความสามารถให้มาทำงานร่วมกัน

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับทายาทรุ่นสามในการบุกเบิกสร้างแบรนด์ และทำสิ่งที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในความรักในสิ่งที่ทำ การเห็นคุณค่าและพลังดี ๆ ที่ได้จากผู้ร่วมงานที่ดี ลูกค้าที่ดี หรือพาร์ตเนอร์ที่ดี เพราะการใช้นวัตกรรมในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ด้วยวิธีการแบบนี้ ต้องลงทุนในการวิจัยและค้นคว้าเพื่อพัฒนา Know-how ในการผลิต ซึ่ง Earthology มีทีม Research & Development ประจำอยู่ที่โรงงานของไทยแทฟฟิต้า มีพาร์ตเนอร์ในการพัฒนาผ้าจากไต้หวัน และทีม Development ของลูกค้าที่ติดต่ออยู่เป็นประจำเพื่อร่วมกันเพ่ือสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ

“เรามองว่านั่นคือขุมทรัพย์นะ คนคือขุมทรัพย์”

เบื้องหลังแบรนด์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุต่าง ๆ ภายใต้ Circular Design ในมือของทายาทรุ่น 3 โรงงานสิ่งทอครบวงจร

ผ้าในอนาคต

สำหรับเชอรี่แล้ว เธอมองไปไกลกว่าแค่การทำในสิ่งที่รัก เธอมองไปถึงรุ่นถัดไป การทำแบรนด์นี้ก็เช่นกัน เธออยากให้ลูกรับธุรกิจครอบครัวไปด้วยความภาคภูมิใจ

การส่งต่อธุรกิจของเชอรี่จึงไม่ใช่ข้อบังคับให้รุ่นลูกต้องมาทำต่อ แต่คือการพัฒนาธุรกิจให้ดีและน่าดึงดูดที่สุด ให้รุ่นถัดไปอยากจะเข้ามาสานต่อด้วยตัวของเขาเอง 

“เมื่อไรก็ตามที่เราทำให้ธุรกิจมันเซ็กซี่สำหรับเจเนอเรชันเขา เขาจะวิ่งเข้ามาหามันเอง เราไม่ต้องกวักมือเรียกหรอก เพราะถ้าคุณกวัก เขาจะยิ่งเหนื่อยที่จะรับ แต่ถ้าเขาเข้ามารับเอง เขาก็จะรู้สึกว่า นี่โคตรคูลเลยอะแม่” เธอหัวเราะ

คำว่า ‘ธุรกิจที่เซ็กซี่’ ในที่นี้ หมายถึงการที่บริษัทมีตัวตนและชีวิตในตลาดผ่านการสื่อสารด้วยแบรนด์ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาความภาคภูมิใจในฐานะ OEM ได้ 

ต่อจากนี้ ทายาทรุ่นสามแห่งโรงงานสิ่งทอแห่งนี้จะยังเดินหน้าปั้นแบรนด์ Earthology ให้เป็นแบรนด์ที่ทำให้ผู้คนหันมาเห็นคุณค่าและเรื่องราวของระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน

“เราไม่เชื่อว่าคนไทยจะแพ้ใคร ถ้าเราเริ่มลงมือทำ ห้ามบ่น ต่อให้เราคิดว่ามันกระเพื่อมน้อยมากก็ตาม มันจะกระเพื่อมอย่างต่อเนื่องถ้าเราทำสม่ำเสมอ”

เบื้องหลังแบรนด์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุต่าง ๆ ภายใต้ Circular Design ในมือของทายาทรุ่น 3 โรงงานสิ่งทอครบวงจร

Writer

Avatar

วุฒิเมศร์ ฉัตรอิสราวิชญ์

นักเรียนรู้ผู้ชื่นชอบการได้สนทนากับผู้คนและพบเจอสิ่งใหม่ๆ หลงใหลในการจิบชา และเชื่อว่าทุกสิ่งล้วนมีเรื่องราวให้ค้นหา

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ