The Cloud X สารคดีสัญชาติไทย

 

น้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของแทบทุกชีวิตบนโลกใบนี้ น้ำปกคลุมพื่นผิวประมาณ 70% ของพื้นผิวโลก และสิ่งที่น่าแปลกใจก็คือในร่างกายของเรานั้นก็มีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่มากถึง 70% เช่นเดียวกัน

มนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างต้องการน้ำ เราสามารถที่จะอดอาหารได้นานนับสัปดาห์ แต่เราไม่สามารถที่จะอยู่ได้โดยปราศจากน้ำ แม้ว่าจะมีน้ำอยู่มากมายบนผืนโลก แต่ 95% ของน้ำบนผืนโลกนั้นอยู่ในมหาสมุทร และมีเพียง 2.5% เท่านั้นที่เป็นน้ำจืดซึ่งอยู่ในน้ำแข็งและน้ำใต้ดิน รวมถึงในแหล่งน้ำต่างๆ และในชั้นบรรยากาศของโลก

แม้ว่าน้ำจะไม่มีชีวิต แต่น้ำนั้นก็มีการเดินทางและการเคลื่อนที่ราวกับมีชีวิต จากท้องทะเลน้ำระเหยกลายเป็นไอน้ำ ควบแน่นก่อตัวเป็นเมฆและตกกลายมาเป็นฝน ที่ตกลงมาบนผืนแผ่นดิน จากป่าต้นน้ำบนที่สูง น้ำเดินทางไหลลงสู่ที่ต่ำด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก กลายเป็นแม่น้ำ ลำคลอง ไหลผ่านผืนแผ่นดิน นำชีวิตมาหล่อเลี้ยงผู้คนและสรรพสัตว์มาเนิ่นนาน ตามวัฏจักรที่กำหนดขึ้นโดยธรรมชาติมาตั้งแต่บรรพกาล ก่อนที่จะไหลลงไปรวมกันที่ท้องทะเลและก็ระเหยกลายเป็นไอ เดินทางย้อนกลับไปเป็นเมฆและกลั่นตัวกลับลงมาเป็นฝนอีกครั้ง

ทะเลสาบสงขลา

ผู้คนที่หาเลี้ยงชีวิตกับสายน้ำในทะเลสาบสงขลาถ่ายทอดภูมิปัญญาต่างๆ ในการปรับตัวและใช้ชีวิตในแถบนี้ให้เหมาะสมกับธรรมชาติและฤดูกาลที่ผันผ่านมาหลายชั่วอายุคน
ทะเลสาบสงขลา
กลุ่มยอยักษ์ที่ตั้งเรียงรายอยู่บริเวณปากอ่าวทางเข้าคลองปากประไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นแค่ฉากหลังของภาพถ่ายเพื่อการท่องเที่ยวเท่านั้น
แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ในบริเวณนี้ในช่วงฤดูน้ำหลาก

สมดุลของแหล่งน้ำต่างๆ บนพื้นโลกนั้นถูกกำหนดโดยธรรมชาติ ผ่านฤดูกาลและระบบนิเวศที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่

ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมงานเสวนา ‘น้ำคือชีวิต’ ที่จัดขึ้นบริเวณบ้านปากประที่ตั้งอยู่ตอนบนของทะเลสาบสงขลา หรือทะเลหลวง ในเขตจังหวัดพัทลุง บนเวทีสัมมนาและช่วงเวลาสั้นๆ อีกสองสามวันที่อยู่ในบริเวณนี้ผมได้เรียนรู้เรื่องราวมากมายของระบบนิเวศลากูนแห่งเดียวในประเทศไทยแห่งนี้ ซึ่งมีหลากหลายมิติทั้งในมุมของธรรมชาติ ชีวิต และวัฒนธรรม

ผมได้พบผู้คนมากมาย หลายๆ คนเกิดและเติบโตขึ้นในบริเวณนี้ และอยู่อาศัยกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หลายๆ คนเป็นเจ้าของฝูงควายนับร้อยที่เลี้ยงอย่างธรรมชาติในทะเลน้อยมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ หลายๆ คนทำประมงพื้นบ้าน และหลายๆ คนทำนาริมทะเลหลวงในช่วงแล้งและเริ่มต้นเก็บเกี่ยวก่อนที่น้ำจะหลาก สิ่งที่น่าสนใจก็คือพี่คนหนึ่งที่เดินทางกลับมาจากเยอรมนีเพื่อทำบุญที่บ้านเกิดแทบทุกปี และลงไปช่วยเกี่ยวข้าวในนากลางทะเลแห่งนี้ แทบทุกคนเรียนรู้จากภูมิปัญญาที่สั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษถึงวิถีของชีวิตที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยและปรับตัวไปตามฤดูกาลของทะเลสาบแห่งนี้

ทะเลสาบสงขลา

นกพริก ( Bronze winged Jacana) พาลูกๆ ออกเดินหากินในดงบัวในทะเลน้อย
ทะเลสาบสงขลา
ฝูงควายในทะเลน้อยจะถูกเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินเป็นอิสระ ในอดีต เมื่อถึงเวลาที่น้ำท่วมขึ้นมาสูง
ฝูงควายจะไปรวมตัวกันอยู่บริเวณควนซึ่งเป็นพื้นที่แห้งที่หลงเหลืออยู่ไม่มากนัก และเจ้าของจะไปตามควายกลับมาในช่วงนั้น

สิ่งที่ทำให้ทะเลสาบสงขลาแตกต่างจากบึงน้ำแห่งอื่นๆ ในประเทศไทยไม่ใช่แค่เรื่องของขนาด แต่เป็นเรื่องราวของระบบนิเวศที่มีการไหลเวียนของน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ซึ่งไหลเวียนผ่านคลองหลายสาย จนไหลเข้าสูทะเลสาบแห่งนี้ และเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงฤดูกาล

ระบบน้ำในทะเลสาบสงขลานั้นแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ตอนบนสุดเป็นที่ตั้งของทะเลน้อยที่มีการไหลเวียนของน้ำมาจากทะเลสาบสงขลาผ่านคลองนางเรียม คลองบ้านกลาง และคลองยวน

ทะเลน้อยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย พรุควนขี้เสียน เป็นพื้นที่แห่งแรกในเมืองไทยที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ในอนุสัญญาแรมซาร์ (The Ramsar Conventional Mannual) ที่จัดประชุมขึ้นที่เมือง Ramsar ในประเทศอิหร่านเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2514 และไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำนี้เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 เป็นลำดับที่ 110 และได้เสนอชื่อพรุควนขี้เสียนขึ้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ Ramsar Site

ทะเลสาบสงขลา

พื้นที่ชุ่มน้ำในทะเลน้อยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้เป็น Ramsar Site แห่งแรกของเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2541

สาเหตุที่พรุควนขี้เสียนที่อยู่ตอนบนและทางตะวันตกของทะเลน้อยได้รับการเสนอชื่อให้เป็น Ramsar Site เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นพืชพันธ์และสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณป่าเสม็ดที่มีขนาดใหญ่และหนาแน่นกว่าบริเวณอื่นนี้เป็นแหล่งทำรังวางไข่ของนกน้ำหลายชนิด โดยเฉพาะนกกาบบัวและนกกระสาแดง

ถัดลงมาจากทะเลน้อยก็จะเป็นทะเลสาบตอนบนที่เรียกว่าทะเลหลวง ซึ่งเป็นผืนน้ำที่กว้างใหญ่ที่สุดที่มีพื้นที่ประมาณ 460 ตารางกิโลเมตร ถัดลงไปเป็นทะลสาบตอนกลางที่เริ่มต้นตั้งแต่บริเวณตอนใต้ของเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ ลงจนไปถึงปากรอ ในบริเวณนี้จะเป็นพื้นที่ที่มีการผสมผสานของน้ำเค็ม ทำให้มีสภาพเป็นน้ำจืดและน้ำกร่อยตามพื้นที่และฤดูกาล

และลงมาถึงทะเลสาบสงขลาตอนล่างที่อยู่นอกสุดเชื่อมต่อกับอ่าวไทยซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่น้ำเค็ม เดิมเป็นพื้นที่ป่าชายเลน แต่ปัจจุบันได้แปลงสภาพไปเป็นพื้นที่ทางการเกษตรและพื้นที่อยู่อาศัย

ในช่วงฤดูแล้งน้ำเค็มจะค่อยๆ รุกขึ้นมาจากตอนใต้ และเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำจากเทือกเขาบรรทัดก็จะไหลผ่านคลองสายต่างๆ ลงมาสู่ทะเลสาบแห่งนี้ ทำให้น้ำจืดค่อยๆ รุกไล่กลับลงมาจากตอนเหนือจนถึงบางพื้นที่ของทะเลหลวง ในบริเวณบ้านปากประนั้นจะเป็นแหล่งประมงที่สำคัญ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากช่วงปลายปีฝูงปลานานาพันธุ์ก็จะเดินทางย้อนน้ำเพื่อขึ้นไปจับคู่สืบทอดเผ่าพันธุ์ โดยผ่านเส้นทางที่เป็นลำน้ำเล็กๆ สายนี้ที่ไหลลงมาจากเทือกเขาบรรทัด

ทะเลสาบสงขลา

ต้นลำพูยืนต้นอย่างโดดเดี่ยวบริเวณริมทะเลหลวง ในบริเวณส่วนที่กว้างที่สุดของลากูนทะเลสาบสงขลา
ทะเลสาบสงขลา
เหยี่ยวแดงกับเหยื่อขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะเป็นนกพริกที่ยังโตไม่เต็มวัย

ยอขนาดใหญ่นับร้อยที่ตั้งเรียงรายบริเวณปากอ่าวที่จะไหลเข้าสู่คลองปากประเป็นเครื่องยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำแห่งนี้ เพราะยอเหล่านี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความสวยงามหรือพร็อพเพื่อเป็นแค่ฉากหลังให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายภาพเซลฟี่เท่านั้น หากยอยักษ์เหล่านี้คือเครื่องยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่แห่งนี้

ถ้าหากมีการสร้างประตูน้ำขนาดใหญ่ขึ้นมาขวางคลองปากประแห่งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือระบบนิเวศในทะเลสาบแห่งนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ฝูงปลาหลากชนิดที่เคยว่ายทวนน้ำเพื่อขึ้นไปจับคู่สืบทอดเผ่าพันธุ์บริเวณต้นน้ำอาจจะเดินทางย้อนกลับขึ้นไปต้นน้ำไม่ได้ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายของสายพันธุ์ปลาที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบ สมดุลแห่งธรรมชาติที่เคยเป็นมาหลายชั่วอายุคนอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

 

Writer & Photographer

Avatar

นัท สุมนเตมีย์

ช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพที่เรียกได้ว่าคนแรกๆ ของประเทศไทย เริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพและนักเขียนให้กับนิตยสาร อ.ส.ท. และ อีกหลากหลายนิตยสารทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ปัจจุบันนอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว นัท ยังถ่ายภาพยนต์สารคดีใต้ท้องทะเล และบันทึกภาพทางอากาศให้กับทีมงานสารคดีหลายทีม