The Cloud X สารคดีไทย

เดือนพฤษภาคม สายฝนเดินทางมาถึงตามกำหนดเวลา หลังจากเราผ่านฤดูแล้งอันทำให้คิดว่าปีนี้สายฝนจะเบาบางกว่าปีก่อนๆ

เส้นทางในป่าสะดวกสบาย ไม่มีต้นไม้ล้มขวาง ระดับน้ำในลำห้วยสายใหญ่ซึ่งเป็นคล้ายด่านที่เราต้องเชื่อฟังว่าพร้อมจะให้เราข้ามไปหรือไม่ ยังให้เราข้ามได้

แต่เมื่อถึงเดือนสิงหาคม สายฝนชุดใหญ่ก็เดินทางมาถึง เริ่มตั้งแต่ตอนดึก ฝนตกหนักกระทั่งรุ่งเช้า หนักยิ่งขึ้นในตอนสาย และไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ระดับน้ำในลำห้วยเล็กหลังโรงครัวสถานีวิจัยสัตว์ป่าเพิ่มระดับไหลแรง จนน่าวิตกว่า สายน้ำจะกวาดโรงครัวเล็กๆ นั่นไป

เส้นทางถูกน้ำกัดเซาะเป็นช่วงๆ ผืนป่าด้านตะวันตกถูกครอบคลุมด้วยสายฝนอย่างจริงจัง

เป็นเช่นนี้ตลอดมา…

สายฝนมาเยือนเพื่อบอกให้รู้ว่าหลังจากนี้สายลมหนาวจะมาถึง

ราว 9 โมงเช้า สายฝนโปรยเม็ดหนา รถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อสีขาวมอๆ แล่นช้าๆ ออกจากโรงรถ ผู้ชายหลายคนในชุดเสื้อยืดกางเกงขาสั้นโดยสารบนกระบะ มีจอบ เสียม เลื่อย และมีด วางบนพื้น

รถแล่นมาถึงหน้าโรงครัวที่ผมยืนอยู่

“ไปดูทางครับ ฝนขนาดนี้ต้องทำร่องน้ำให้น้ำไหล ไม่อย่างนั้นทางพังหมด” นัทวิทย์ หนึ่งในผู้ช่วยนักวิจัย ตะโกน บอก

ผมกระโดดขึ้นรถไปกับพวกเขา เส้นทางก่อนถึงสถานีวิจัยสัตว์ป่าค่อนข้างชัน และยาวร่วม 3 กิโลเมตร

สายฝนทำให้ดินขาดเป็นช่วงๆ เราใช้จอบขุดให้น้ำไหลออก และใช้หินก้อนเล็กๆ ทำเป็นเขื่อน กันไม่ให้น้ำไหลเข้าทาง

“กันไว้อย่างนี้ดีกว่า รอให้ฝนหยุดแล้วค่อยมาซ่อม” ลุงอ๊อด เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอาวุโสผู้ทำงานในสถานีแห่งนี้มาร่วม 30 ปีพูด

ร่วม 30 ปีก่อนเช่นกันที่ผมพบกับเขา

สืบ นาคะเสถียร, วันสืบนาคะเสถียร, สัตว์ป่าไทย, การล่าสัตว์ป่า, ปริญญากร วรวรรณ

สืบ นาคะเสถียร, วันสืบนาคะเสถียร, สัตว์ป่าไทย, การล่าสัตว์ป่า, ปริญญากร วรวรรณ

กระทิงมีประชากรเพิ่มมากขึ้น แต่พวกมันยังถูกล่าเพื่อเอาเขา พบซากพวกมันในป่าเสมอ

ลุงอ๊อดพาผมไปพบกระทิงฝูงหนึ่ง และนั่นเป็นกระทิงภาพแรกของผม

วันนั้น ฝนตกหนักตั้งแต่ออกเดินจากหน่วยพิทักษ์ป่า ผมเดินตามเขาไปตามด่านเล็กๆ ที่ค่อนข้างรก ผ่านป่า เต็งรัง เข้าสู่ป่าเบญจพรรณ เส้นทางลาดลงหุบ จนถึงลำห้วยที่สายน้ำแรงไหลดังสนั่น

“น้ำกำลังมา จะข้ามได้ไหมนี่” เขากังวล

“ปกติเราลุยข้าม น้ำลึกแค่เข่า” เขาพูดต่อ

   หลังลังเลสักพัก เขาตัดสินใจ

“ผมจะข้ามไปก่อน เอาเชือกมัดฝั่งโน้น คุณเกาะเชือกตามไปนะ ระวังกระเป๋ากล้องด้วยล่ะ” ผมพยักหน้า

เขาผูกเชือกกับต้นไม้แล้วค่อยๆ หย่อนตัวลงน้ำ สายน้ำพัดแรง เขาโผไปเกาะต้นตะไคร้น้ำ และโผไปเกาะอีกต้นที่อยู่กลางห้วย จากนั้นก็ประคองตัวลอยตามน้ำไปราว 20 เมตร ก่อนโผเกาะตะไคร้น้ำอีกต้น แล้วลุยน้ำที่ลึกเกือบถึงคอเข้าฝั่ง

เขาผูกปลายเชือกกับต้นไม้และโบกมือให้ผมข้ามตามไป สายน้ำรุนแรงกว่าที่เห็น ผมแบกเป้กล้องไว้บนไหล่ มือขวาจับเชือกค่อยๆ ขยับไป ผมหวังว่าถุงกันน้ำที่ใส่กล้องไว้ข้างในคงช่วยได้ถ้าพลาด กระนั้น การออกแรงต้านสายน้ำก็ทำให้ผมต้องพักเหนื่อยอยู่ระหว่างกอตะไคร้น้ำพักใหญ่

สืบ นาคะเสถียร, วันสืบนาคะเสถียร, สัตว์ป่าไทย, การล่าสัตว์ป่า, ปริญญากร วรวรรณ

ควายป่า เหลือประชากรไม่มาก หลายปีที่ผ่านมาพวกมันไม่เพิ่มขึ้นมากนัก อาจเป็นเพราะพื้นที่อาศัย อันเหมาะสมมีน้อย

เขาช่วยรับเป้เมื่อผมถึงฝั่ง

“ลุ้นเอาใจช่วยแทบแย่” เขาพูดยิ้มๆ

สายฝนเบาบางเมื่อเราใกล้โป่งขนาดใหญ่อันเป็นที่หมาย เขาเดินเข้าไปถึงชายโป่ง แล้วกลับออกมา

“กระทิง 6 ตัว” เขาพูดเบาๆ

ผมเตรียมกล้อง

“เดินเข้าไปช้าๆ เราอยู่ใต้ลม” ผมเดินช้าๆ และลงคลาน ก่อนหยุดนั่งชันเข่า ยกกล้องติดเลนส์เทเล 400 มิลลิเมตร ปรับระยะชัด

ภาพกระทิงแจ่มชัดอยู่เต็มเฟรม พวกมันไม่รู้ตัว ก้มกินน้ำไปเรื่อยๆ นานๆ จะมีตัวหนึ่งเงยหน้ามองรอบๆ

ผมละสายตาจากช่องมอง

ที่ ‘เห็น’ คือกระทิง 6 ตัวที่มีชีวิต

“การรักษาพันธุ์สัตว์กับรักษาชีวิตสัตว์ไม่เหมือนกันนะครับ”

สืบ นาคะเสถียร, วันสืบนาคะเสถียร, สัตว์ป่าไทย, การล่าสัตว์ป่า, ปริญญากร วรวรรณ

นกยูง ผ่านมาร่วม 30 ปี นกยูงมีประชากรเพิ่มขึ้นมาก

ครั้งที่ ‘ยังอยู่’ สืบ นาคะเสถียร พูดเช่นนี้เสมอ เขาเชื่อว่า แหล่งอาศัยของสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ สัตว์อยู่อย่างสามารถปรับตัวไปตามธรรมชาติ คือการรักษาสายพันธุ์สัตว์ป่าให้ดำรงอยู่ต่อไป

“จะช่วยสัตว์ป่าไม่ให้สูญพันธุ์ มีประชากรเพิ่มขึ้น ในกรงเลี้ยงหรืออะไรก็ตาม ถ้าเราไม่สามารถปล่อยคืนกลับเข้าป่าให้มันปรับตัว เพิ่มประชากรโดยตัวของพวกมันเองได้ นั่นไม่ถือว่าเป็นการอนุรักษ์นะครับ”

สืบย้ำเช่นนี้ทุกครั้งเมื่อมีโอกาสพูดในที่ต่างๆ

“สัตว์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมันมีวิวัฒนาการ ปรับตัวให้อยู่ได้ ในสภาพที่อาศัย แต่การที่เอามันออกมาทำให้มันเพิ่มขึ้น แต่พันธุ์ไม่ได้รับการพัฒนา สัตว์ถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่เล็กๆ มันจะผสมกันเอง เกิดลักษณะด้อยลงไปเรื่อยๆ โอกาสสูญพันธุ์ก็ง่ายขึ้น”

กระทั่งถึงวันนี้ ผ่านไป 28 ปี สัตว์ป่าส่วนใหญ่ต่างมีชีวิตดังเช่นที่สืบพูดไว้ แม้ว่าพวกมันจะได้ใช้ชีวิตอยู่ในป่า แต่ป่าซึ่งโดนตัดขาดมีสภาพคล้ายเป็นเกาะ ก็ทำให้พวกมันประสบชะตากรรมไม่ต่างจากการอยู่ในกรงแคบๆ

“พูดได้เลยว่ามีการยิงกันทุกวัน ไปตามนี่เจอแต่กองไฟ เจอซากเน่าๆ” นี่เป็นอีกข้อความที่สืบเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ

ป่าเหลือไม่มากหรอก แต่สำหรับคนที่อยู่ในนั้น ทำงานเพื่อปกป้องชีวิตสัตว์ป่าก็ดูคล้ายจะกว้างมหาศาลเกินกว่าจะดูแลได้ทั่ว

เรามีป่าอนุรักษ์ มีพื้นที่ให้สัตว์ป่าได้พักอาศัย สืบทอดสายพันธุ์ แต่การ ‘รักษา’ ชีวิตพวกมันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง    

สืบ นาคะเสถียร, วันสืบนาคะเสถียร, สัตว์ป่าไทย, การล่าสัตว์ป่า, ปริญญากร วรวรรณ

ลูกเสือโคร่ง นักล่าหมายเลขหนึ่งอย่างเสือโคร่งมีโอกาสได้ใช้ชีวิตที่ดีในผืนป่าด้านตะวันตก

สืบ นาคะเสถียร จากไปแล้ว 28 ปี แต่หลายคนรู้ดีว่าหลายสิ่งที่เขาเคยพูดไว้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ในป่ายัง มีเสียงปืน การล่าเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ความต้องการอวัยวะสัตว์ป่ามากขึ้น มีมูลค่าสูง ด้วยปัจจัยเท่าที่มีอยู่ คนในป่าไม่เคยหยุด พวกเขาทำ ‘เกิน’ กว่าสิ่งที่มี สัตว์ถูกฆ่าด้วยคมกระสุนในป่า ซากบางส่วนที่ถูกทิ้งไว้เป็นภาพที่เห็นแล้วน่าเวทนา

ป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะผืนป่าด้านตะวันตก เป็นแหล่งอาศัยอันเป็นความหวังที่ดีของเหล่าสัตว์ป่า มีคนจำนวนไม่น้อยอาสาเข้ามาช่วยหนุนให้การดูแลสัตว์ป่าเป็นไปได้ การลาดตระเวนเชิงคุณภาพที่สนับสนุนโดยสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย คือเครื่องมือที่ได้ผล มีเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรฝังตัวอยู่กับชาวบ้าน เพื่อจะได้รู้และช่วยตอบสนองในสิ่งที่พอทำได้

ป่าเหลือไม่มาก และน้อยกว่าที่ควรเป็น

แต่ป่าก็กว้างเกินกว่าจะยืนอยู่เพียงลำพัง

สืบ นาคะเสถียร ‘ไม่อยู่’ มา 28 ปี แล้ว มีคนมากมายสืบทอดความมุ่งมั่นของเขา คนจำนวนมากทำงานอย่าง เอาจริง ทำไปเงียบๆ หลายคน พบกับความอึดอัดกับปัญหาเดิมๆ อย่างที่สืบเคยพบ

จากวันที่ลุงอ๊อดพาผมไปมีโอกาส ‘เห็น’ กระทิงครั้งแรกจนกระทั่งถึงวันนี้ ผมเห็นคนเอาจริงกับการรักษาชีวิตสัตว์ มุ่งมั่นอย่างไม่ยอมแพ้

ไม่ยอม เพราะเมื่อ 28 ปีที่แล้วมีคนยอมแพ้

‘แพ้’ เพื่อหวังให้พวกเขาชนะ

Writer & Photographer

Avatar

ปริญญากร วรวรรณ

ถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์ป่าและดงลึกทั่วประเทศไทยผ่านเลนส์และปลายปากกามากว่า 30 ปี มล. ปริญญากร ถือเป็นแบบอย่างสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างเคารพธรรมชาติให้คนกิจกรรมกลางแจ้งและช่างภาพธรรมชาติรุ่นปัจจุบัน