The Cloud x สารคดีสัญชาติไทย

ผมเกิดมาเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว ใช้ชีวิตวัยเด็กในยุคสมัยที่เวลากับระยะทางปฏิสัมพันธ์กันในอัตราส่วนที่แตกต่างจากทุกวันนี้มาก จังหวะชีวิตของคนในยุคสมัยนั้นก็ต่างไปจากทุกวันนี้

เวลาที่เรานั่งชมภาพยนตร์สักเรื่องอย่างสนุกสนานสัก 2 ชั่วโมง เป็นระยะเวลาที่เท่าๆ กันกับที่เราขับรถไปบนถนนจนถึงพัทยาในวันที่รถไม่ติด หรืออาจจะไปได้แค่จากบ้านแถวๆ ชานเมืองไปแยกราชประสงค์ในวันที่รถติด และก็เช่นกันด้วยเวลา 2 ชั่วโมงเราสามารถเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมืองไปจนถึงสิงคโปร์ได้ด้วยเวลา 2 ชั่วโมงเช่นกัน แน่นอนที่สุดแม้จะเป็นเวลาที่เท่ากัน แต่ความรู้สึกของเราต่อระยะทางกับเวลานั้นไม่เท่ากัน

คนที่ใช้เวลานั่งเรือเร็วเพียงชั่วโมงกว่าๆ ด้วยการจัดการที่พร้อมสรรพในยุคปัจจุบันไปถึงเกาะสิมิลันได้ในพริบตา หรือไปดำน้ำกับเรือให้บริการดำน้ำแบบ Liveaboard หรู ที่เพียงแค่ลงจากเครื่องบินก็มีรถไปรับ ก้าวลงเรือแล้วก็เข้านอนในที่นอนนุ่มๆ แสนสบาย ตื่นเช้ามาก็ลงดำน้ำที่สิมิลันได้เลย อาจจะไม่เข้าใจคนที่เคยใช้เวลาเตรียมการอันยาวนานนับปีรวบรวมอุปกรณ์จองเรือเตรียมเต็นท์ เครื่องครัว และอาหาร แบกคอมเพรสเซอร์ จัดเวรกันอัดถังอากาศนับสิบใบทุกค่ำคืน เพื่อจะไปดำน้ำกันที่สิมิลันปีละครั้งเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน

หลายสิ่งหลายอย่างที่แตกต่างกันไประหว่างยุคสมัยนั้นอาจจะเป็นแค่เรื่องของระยะทางกับเวลา

การถ่ายภาพก็เช่นกันเป็นเรื่องของระยะทางกับเวลา เราอาจเดินทางนับแรมเดือนไปทั่วโลก เพื่อที่จะบันทึกช่วงจังหวะเวลาที่เราเลือกไว้แค่เศษเสี้ยวส่วนร้อยของวินาทีเก็บเอาไว้เพียงเท่านั้น ส่วนเวลาที่เหลือนั้นอาจจะถูกบันทึกไว้ในความทรงจำของเราไม่ว่าประสบการณ์จากการเดินทางนั้นจะเป็นเสียงหัวเราะหรือว่าน้ำตา

ชีวิตของคนเราก็เช่นกัน…

ผมเริ่มต้นถ่ายภาพใต้น้ำครั้งแรกเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ในสมัยที่อุปกรณ์ถ่ายภาพ องค์ความรู้ และทักษะ รวมถึงประสบการณ์ ของผู้ที่เดินทางมาก่อนนั้นอาจจะไม่ได้มีให้ศึกษาง่ายดายเหมือนกับทุกวันนี้ ที่แค่คลิกก็พบเห็นแล้วมากมายในโลกออนไลน์

แน่นอนที่สุดทุกความผิดพลาดของเราก็คือการเรียนรู้ ฟิล์มแต่ละม้วนที่กดชัตเตอร์ไปคือครู ซึ่งกว่าเราจะเห็นความผิดพลาดเวลาก็อาจผ่านไปนาน 3 วัน 2 สัปดาห์ หรือว่า 1 เดือน หลายๆ ครั้งเราก็เรียนรู้ในปีนี้เพื่อที่จะพบว่าเราลืมไปแล้วเมื่อมีโอกาสเดินทางไปดำน้ำที่สิมิลัน (ในสมัยนั้นเรารู้สึกว่ามันอยู่ไกลจนเหมือนสุดปลายฟ้า) อีกครั้งในฤดูกาลถัดไป

หลายคนอาจจะรู้สึกอึดอัดเวลาที่รถติดในกรุงเทพฯ ว่าทำไมเวลาสองสามชั่วโมงยังไปไม่ถึงที่หมายสักที ทั้งที่ที่หมายอยู่ห่างไปแค่ไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น

แต่เชื่อไหมครับว่าผมใช้ระยะเวลาเกือบ 20 ปี เพื่อระยะทางเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น

ในสมัยที่ผมเริ่มต้นถ่ายภาพใต้น้ำใหม่ๆ ผมเชื่อมั่นในพลังขาของตนเอง ทุกครั้งที่พบเห็นปลาตัวใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระเบนราหูหรือฉลามวาฬว่ายผ่านเข้ามาใกล้แนวปะการัง ผมจะเตะขาพุ่งเข้าไปหาเพื่อบันทึกภาพให้ได้ใกล้มากที่สุด เพราะระยะที่จะให้ภาพที่ดีที่สุดของโลกใต้ทะเลกับมุมรับภาพอันกว้างไกลของเลนส์มุมกว้าง 15 มิลลิเมตรนั้น เราจะต้องอยู่ห่างจากสิ่งที่เราต้องการจะบันทึกภาพไม่เกิน 2 หรือ 3 เมตรเท่านั้น

หลายปีผ่านไปผมเรียนรู้ว่าเราไม่สามารถที่จะว่ายน้ำได้เร็วเทียบเท่ากับปลาตัวที่ว่ายน้ำได้เชื่องช้าที่สุดบนโลกใบนี้ จากการเฝ้าสังเกตข้อผิดพลาดที่ผมได้ทำมาว่าทำไมผมมักจะได้แต่ภาพหางของปลาเหล่านั้น ทำให้ผมเริ่มสนใจและศึกษาและทดลองวิธีการใหม่ๆ ในการทำงาน

ในที่สุดผมได้ข้อสรุปว่า ถ้าเรายิ่งไล่ สิ่งที่เราต้องการนั้นก็จะยิ่งหนีเราห่างไปไกลขึ้นเรื่อยๆ วิธีการที่ดีที่สุดก็คือการเฝ้ารอจังหวะและโอกาสที่ปลานั้นจะสนใจเราและว่ายเข้ามาหาเราเอง

ปลาเป็นสัตว์สังคมที่เคยชินกับการอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ทับซ้อนกันในระบบนิเวศที่หลากหลาย ปลานักล่าและปลาที่ตกเป็นเหยื่ออาจจะว่ายสวนกันไปมาในบริเวณกองหินเล็กๆ ได้ ตราบใดที่ปลานักล่านั้นไม่ได้มีท่าทีที่คุกคามหรือถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าต่างๆ ให้ออกล่าเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นกระแสน้ำ คาวเลือด หรือว่าปัจจัยอื่นๆ

เปรียบเทียบง่ายๆ กับการเดินไปบนท้องถนน เราก็จะเดินสวนกันไปมากับผู้คนด้วยท่าทีที่เป็นปกติและเป็นมิตร หากไม่มีท่าทีคุกคามให้เราต้องระมัดระวังตัว ต่างไปจากกรณีที่อยู่ดีๆ มีคนวิ่งพุ่งตรงมาหาเราอย่างรวดเร็ว แน่นอนที่สุดถ้าเราไม่คิดจะหาทางตอบโต้หรือสู้เราก็ต้องวิ่งหนีหรือหลบไปจากท่าทีที่คุกคามนั้น

หลังจากที่ผมเริ่มเข้าใจ ผมก็เริ่มบันทึกภาพด้านหน้าของปลาชนิดต่างๆ ได้มากขึ้นก็ภาพทางด้านหางของปลาที่กำลังว่ายหนีเราออกไป ระยะทางและทีท่าที่ไม่ไว้ใจกันนั้นก็ค่อยๆ ลดลงมาตามประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี

ฉลามหัวค้อน

ผมพบฉลามหัวค้อนครั้งแรกในชีวิตที่เกาะลายังลายัง หรือที่เรียกกันว่า Swallow Reef ในเขตของหมู่เกาะ Spratly ในทะเลจีนใต้ ครั้งแรกเมื่อปี 1999 แทบทุกเช้าเรามักจะมีโอกาสพบฝูงฉลามหัวค้อนนับร้อยว่ายวนเข้ามาใกล้กำแพงผาที่ตัดดิ่งลงสู่ความลึกเวิ้งว้างเกือบ 2 กิโลเมตรจนมองไม่เห็นพื้นเบื้องล่าง

ไดฟ์มาสเตอร์ผู้ชำนาญพื้นที่จะพาเราดำดิ่งลงไปในความลึกราวๆ 120 ฟุตในห้วงน้ำสีน้ำเงินเข้ม แล้วปล่อยตัวให้ล่องลอยไปกับกระแสน้ำราวกับอยู่ในห้วงของอวกาศ สิ่งที่เรารับรู้มีเพียง บนหัวของเราคือผิวน้ำและด้านล่างลงไปคือความลึกที่ดำมืดของห้วงมหาสมุทรเท่านั้น ในความลึกนั้นเราจะมีเวลาเพียงประมาณ 15 นาทีเท่านั้นที่จะเฝ้ารอจังหวะที่ฝูงฉลามหัวค้อนนั้นจะว่ายโฉบเข้ามา ทุกสายตาจะจับจ้องมองหาเงาที่เคลื่อนไหวไปมาทั้งจากในห้วงน้ำที่มืดทึบเบื้องล่าง หรือห้วงน้ำสีน้ำเงินเข้มในระดับเดียวกับเราที่อยู่ด้านนอกออกไป

ฉลามหัวค้อน

ไม่นานนักเราก็จะเห็นเงาสีเงินของฉลามหัวค้อนที่สะท้อนแสงแวบเข้ามา เริ่มจากตัวหรือสองตัวที่เป็น Scout หรือหน่วยสอดแนมและตามมาด้วยฝูงฉลามนับร้อยที่เคลื่อนขบวนผ่านเข้ามาในครรลองสายตา แต่ฉลามจะรักษาระยะห่างจากเราไว้ประมาณ 5 – 10 เมตร ใกล้พอที่จะเห็น แต่ไกลเกินไปที่จะถ่ายภาพได้

ฉลามหัวค้อน

ทุกครั้งที่เราขยับตัว ฉลามหัวค้อนจะขยับห่างออกจากเราเพื่อรักษาระยะห่าง และจะมีใครสักคนในกลุ่มพยายามว่ายพุ่งสุดตัวตรงเข้าไปหาฝูงฉลามหัวค้อน ซึ่งนั่นคือหายนะ ฝูงฉลามนับร้อยจะแตกฮือออกไป และหายวับไปในม่านน้ำสีครามเข้มราวกับที่ผ่านมานั้นเป็นแค่ความฝันหรืออาการเมาไนโตรเจนที่เกิดขึ้นเพราะการดำน้ำลึก

ผมใช้เวลากว่าครึ่งเดือน เจอกับภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นนี้เกือบทุกวันและกลับบ้านมือเปล่า กับภาพเบลอๆ ไกลๆ ในฟิล์มกว่า 20 ม้วน นั่นคือประสบการณ์ดำน้ำกับฉลามหัวค้อนครั้งแรกในชีวิต

ผ่านมาอีกเกือบ 20 ปี ที่เกาะดาร์วินในหมู่เกาะกาลาปากอส ผมเรียนรู้ว่าถ้าเรายิ่งไล่ ฉลามหัวค้อนนั้นก็จะยิ่งว่ายห่างจากเราไป และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราต้องควบคุมจิตใจของเราไม่ให้มีความอยากได้ภาพมากจนเกินไป เพราะทุกครั้งที่เราขยับตัว หรือเพียงแค่เราหายใจออกด้วยความตื่นเต้น เสียงจากฟองอากาศของเรานั้นคือสิ่งที่ทำให้ฉลามหัวค้อนหวาดกลัว

บนพื้นทรายในความลึกประมาณ 50 ฟุต ผมนั่งนิ่งๆ เพียงลำพังอยู่หลังกองหินเพื่อเฝ้ารอจังหวะ หายใจด้วยท่าทีผ่อนคลาย และเมื่อเห็นฝูงฉลามหัวค้อนว่ายผ่านเข้ามาในครรลองสายตา ผมสูดลมหายใจเข้าจนเต็มปอดแล้วกักเก็บลมหายใจไว้ รอจังหวะที่ฉลามหัวค้อนจะว่ายผ่านเข้ามา จาก 10 เมตร เป็น 5 เมตร

ฉลามหัวค้อน

สุดท้ายฝูงฉลามหัวค้อนก็เคลื่อนที่ผ่านมาเหนือหัวของผมด้วยท่าทีที่เป็นธรรมชาติ ก่อนจะเคลื่อนที่ผ่านไปในระยะห่างไม่เกิน 2 เมตรเท่านั้น

เมื่อฝูงฉลามเคลื่อนผ่านไปผมปล่อยลมหายใจที่เก็บกักไว้ออก ความรู้สึกยินดีที่บันทึกภาพได้ ไม่เท่ากับความรู้สึกปีติและอิ่มเอมใจ ในการเดินทางระยะ 3 เมตรสุดท้ายที่ผมใช้เวลายาวนานเกือบ 20 ปี

ฉลามหัวค้อน

Writer & Photographer

Avatar

นัท สุมนเตมีย์

ช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพที่เรียกได้ว่าคนแรกๆ ของประเทศไทย เริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพและนักเขียนให้กับนิตยสาร อ.ส.ท. และ อีกหลากหลายนิตยสารทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ปัจจุบันนอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว นัท ยังถ่ายภาพยนต์สารคดีใต้ท้องทะเล และบันทึกภาพทางอากาศให้กับทีมงานสารคดีหลายทีม