The Cloud X  สารคดีสัญชาติไทย

 

ผมเป็นคนชอบกินปลาตั้งแต่เด็กๆ และผมเชื่อว่าคนไม่น้อยบนโลกนี้ก็ชอบกินปลา คำถามที่คนมักชอบถามผมเสมอคือ ถ้าเลือกได้ เราควรจะกินปลาอะไรกันดี  

ถ้าถามผมตรงๆ ผมก็ตอบตรงๆ ว่า ถ้าเลือกได้ ผมก็ชอบที่จะกินปลาซึ่งจับได้จากธรรมชาติ โดยที่ไม่มีการตัดแต่งดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ไม่ได้มาจากระบบการเพาะเลี้ยงในที่ปิด หรือไม่ได้มีที่มาจากการประมงที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติมากมายจนเกินไปนัก และสุดท้าย ปลาที่เราเลือกจะบริโภคนั้นก็ควรจะเป็นปลาที่เรากินได้อย่างสบายใจว่าไม่ใช่ตัวสุดท้ายของบางสายพันธุ์ที่หลงเหลืออยู่บนโลกใบนี้ และสูญสิ้นสายพันธุ์ไปด้วยการบริโภคของเรา

ตลาดปลายามเย็นที่เมืองโกตาคินาบาลู

เรื่องปลาเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบันนี้ ที่เราต้องชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างรสชาติ คุณภาพของอาหาร และแหล่งที่มาที่ไปของอาหารนั้นๆ เราคงจะไม่สบายใจนักถ้าพบว่าปลาที่เรากินอยู่นั้นมีที่มาที่ต้องแลกเปลี่ยนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมหรือส่งผลกระทบอื่นๆ มากมายนัก

ผมอาจจะเป็นคนหนึ่งที่โชคดีที่ได้มีโอกาสเห็นท้องทะเลในสมัยที่ยังคงอุดมสมบูรณ์มากกว่าในทุกวันนี้ สมัยเด็กๆ พ่อชอบพาผมออกไปตกปลากลางทะเล ในสมัยนั้นดูเหมือนว่าปลานั้นจะมีอยู่มากมายเต็มท้องทะเลในความรู้สึกของเรา เท่าที่จำความได้ บ้านเราแทบจะไม่เคยต้องซื้อปลากิน เพราะทุกครั้งที่กลับจากทะเลเราจะได้ปลาสดๆ กลับมากิน และเหลือเพียงพอที่แจกจ่ายเพื่อนบ้าน ญาติสนิท มิตรสหาย

แต่นั่นก็คือเป็นอดีตที่ไม่อาจจะหวนคืนกลับมา

หลายสิบปีที่ผ่านมาท้องทะเลเปลี่ยนแปลงไปมาก ปลาที่เราเคยคิดว่าเป็นทรัพยากรที่ไม่มีวันหมดนั้นกลับกลายเป็นสิ่งที่หายากขึ้น จากพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นของสารพัดรูปแบบของการทำการประมงที่พัฒนาขึ้นและความต้องการปลาในระบบเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้นในหลากหลายรูปแบบ

ฝูงปลาสากและปลากะมงที่กองหินใบ หรือว่า Sail rock กลางอ่าวไทย ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยฝูงปลา หลังจากมาตรการที่เข้มงวดของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาบวกกับการร่วมมือร่วมใจของคนท้องถิ่น ฝูงปลาจำนวนมหาศาลจึงกลับมาในบริเวณพื้นที่อนุรักษ์ ปลาเป็นสัตว์น้ำที่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วถ้าหากมีสถานที่ที่ปลอดภัยเพียงพอสำหรับการอยู่อาศัย การจับปลาด้วยอุปกรณ์พื้นบ้านเช่นเบ็ดหรือลอบนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อท้องทะเลมากเท่ากับการลงอวนขนาดใหญ่ที่สามารถจะกวาดฝูงปลาให้หายไปได้จากการลงอวนเพียงครั้งเดียว

ทุกวันนี้ถ้าหากเดินไปซื้อปลากะพงขาวในท้องตลาดแล้วได้ปลากะพงขาวที่จับได้จากธรรมชาติจริงๆ มาสักตัว น่าจะมีโอกาสพอๆ กับถูกรางวัลเลขท้ายสองตัว  ไม่ต้องพูดถึงปลาแซลมอนที่เราชอบทานกันตามร้านอาหารราคาแพงที่มีคนพูดถึงกันไปมากแล้ว   

เรื่องที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของแซลมอนคือ แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเป็นประเทศที่บริโภคแซลมอนจากฟาร์มมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ในสหรัฐอเมริกาเองกลับแทบจะไม่มีฟาร์มเลี้ยงปลาแซลมอนเลย หากจะมีแต่ Hatchery หรือโรงเพาะฟักปลาแซลมอนหลายๆ ชนิดรวมถึงปลาเทราต์ด้วย แล้วปล่อยกลับคืนไปในธรรมชาติกระจายอยู่ตามพื้นที่ในหลายๆ รัฐ แล้วปล่อยให้ปลาเหล่านั้นเติบโตเองตามธรรมชาติในทะเล แต่กลับมีบริษัทของอเมริกาหลายแห่งไปตั้งฟาร์มแซลมอนในหลายประเทศในอเมริกาใต้ เช่น ชิลี

 ผมเคยไปเดินตกปลาอยู่ทางตอนเหนือของรัฐนิวยอร์กในช่วงระยะเวลาสั้นๆ มา 2 – 3 ฤดูกาล พบว่าระบบการจัดการของเขาค่อนข้างดีทีเดียว 2 – 3 ปีผ่านไป แซลมอนที่ออกไปหากินในทะเลก็จะว่ายทวนน้ำกลับขึ้นมาเพื่อวางไข่ตรงบริเวณใกล้ๆ กับที่เขาปล่อยไปนั่นแหละ ในช่วงก่อนหน้านั้นในระหว่างทางที่แซลมอนว่ายทวนน้ำขึ้นมา เขาก็จะเริ่มออกข่าวทางทีวีว่าแซลมอนมาแล้วนะ ออกไปตกปลามากินกันได้แล้ว แต่พอเข้ามาใกล้ต้นน้ำขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมีกฎเกณฑ์ที่มากขึ้น เช่น จำกัดอุปกรณ์ในการตกปลาให้เป็นอุปกรณ์ Fly fishing อย่างเดียว จำกัด Bag limit ว่าเอากลับบ้านได้วันละกี่ตัว และพอมาถึงในบริเวณที่ใกล้ต้นน้ำมากที่สุดก็จะบังคับว่าปลาที่ตกได้ทุกตัวจะต้องปล่อยกลับลงไป และมาถึงบริเวณที่เป็น Spawning ground นั้นก็จะกั้นเชือกไว้ไม่ให้ใครเข้าไปรบกวนเด็ดขาด

ปลาโรนิน หรือกระเบนท้องน้ำ (Bowmouth Guitarfish) เป็นปลาชนิดหนึ่งที่ในปัจจุบันพบได้ไม่บ่อยนักในท้องทะเลหรือแม้แต่ตามตลาดปลา ในชีวิตการดำน้ำของผมเกือบ 30 ปี พบปลาโรนินในท้องทะเลเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่กลับเป็นปลาที่ต้องการของสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำทั่วโลก  ในอดีต ผู้คนนิยมเอาหนามเล็กๆ บนหลังของมันมาทำเป็นหัวแหวนที่เรียกกันว่า ‘คดกระเบน’

 

ฉลามขาว (Great White Shark) เป็นนักล่าที่น่าเกรงขามและในอดีตมักจะถูกเรียกขานว่า Man Eater แต่ในความเป็นจริง ทุกวันนี้ฉลามหลากหลายสายพันธุ์ตกเป็นเหยื่อของมนุษย์มากกว่าที่มนุษย์จะตกเป็นเหยื่อของฉลาม ฉลามและกระเบนเป็นปลาที่ขยายพันธุ์ได้ค่อนข้างช้า เนื่องจากให้กำเนิดลูกโดยเฉลี่ยเพียงครั้งละ 5 – 6 ตัว เท่านั้น

อ้อ ลืมบอกไปว่าแซลมอนที่เขาถือกันว่ารสชาติดีมากที่สุดก็คือ King Salmon หรือที่เรียกกันว่า Chinook ที่จะมีสีเงินเมื่ออยู่ในทะเล และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่อเข้ามาในบริเวณน้ำจืด เนื้อปลาที่นิยมบริโภคกันคือปลาที่จับได้จากในทะเล หรือเพิ่งจะเข้ามาในบริเวณปากแม่น้ำใหม่ๆ (จริงๆ ปลาในตระกูล Salmonids หลายๆ ชนิดเมื่อออกทะเลไปจะปรับสีสันบนลำตัวให้เป็นสีเงิน และจะเปลี่ยนกลับมาเป็นสีน้ำตาลเพื่อพรางตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในทะเลสาบหรือลำธาร มีความเข้าใจผิดว่าปลาในตระกูล Salmonids นี้จะเป็น Single spawn ที่จะตายลงหลังจากวางไข่ทุกตัว แต่ในความเป็นจริงมีหลายๆ สายพันธุ์ที่เป็น Multi spawn ซึ่งสามารถวางไข่ได้หลายครั้ง เช่น Steelhead ซึ่งก็คือ Rainbow Trout ที่ออกไปหากินในทะเลและกลับเข้ามาวางไข่ในน้ำจืด)

แม้กระทั่งปลาขนาดใหญ่อย่าง Bluefin Tuna ที่มีราคาแพงก็ใช่ว่าจะเป็นปลาที่จับได้จากในธรรมชาติทั้งหมด ในน่านน้ำเขตอบอุ่น (ที่แปลว่าหนาว) มีการทำฟาร์ม Bluefin Tuna อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ไม่ว่าจะในแถบตอนใต้ของออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์

ทูน่า Bluefin ที่มีขนาดใหญ่และมีราคาแพงที่สุดคือ Southern Bluefin ซึ่งเป็นทูน่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักมากกว่า 500 ปอนด์ และมีอายุมากถึง 20 – 40 ปี ปัจจุบัน Southern Bluefin ในธรรมชาติจัดเป็น Critically endangered species ของ IUCN Red List of Threatened Species ราคาของทูน่าชนิดนี้จะผันแปรไปตามขนาดของมัน เนื่องจากปลาขนาดใหญ่เป็นปลาที่จับจากธรรมชาติซึ่งกว่าจะโตขึ้นมาได้นั้นต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20 ปีเป็นอย่างน้อย

ปลาทูน่าขนาดใหญ่ทั้งทูน่าครีบเหลืองและทูน่าครีบน้ำเงินกำลังมีจำนวนที่ลดลงอย่างรวดเร็วในธรรมชาติ โดยเฉพาะสายพันธุ์ Southern Bluefin Tuna ตัวขนาดใหญ่ที่เป็นที่ชื่นชอบของตลาดปลาในญี่ปุ่นนั้น ขนาดโดยเฉลี่ยที่จับได้เล็กลงทุกปี และปัจจุบันเริ่มมีการทำฟาร์มเลี้ยงในกระชังขนาดใหญ่ในทะเลเปิดในหลายๆ พื้นที่แล้ว

การทำฟาร์มทูน่าส่วนใหญ่จะจับเอาทูน่าขนาดเล็กมาเลี้ยงในกระชังขนาดใหญ่กลางทะเล ให้อาหารเพื่อให้มีขนาดตัวและน้ำหนักที่ได้ราคาแล้วจึงส่งขาย โดยจะมีเรือห้องเย็นที่มารับซื้อถึงหน้าฟาร์มแล้วลงห้องเย็นไปเลย (ผมเคยไปดูฉลามขาวที่เมือง Port Lincoln (พอร์ตลินคอน) ตอนใต้ของออสเตรเลีย เขาใช้ปลาทูน่าที่ตายในกระชังมาเป็นเหยื่อล่อฉลามขาว ตลอด 4 วันที่อยู่บนเรือนั้นเสื้อผ้าเราจะอบอวลไปด้วยกลิ่น Southern Bluefin เน่า ผมสาบานได้ว่าหลังจากกลับจากทริปนั้นผมเลิกกินซาซิมิไปเป็นปี)

จากอุตสาหกรรมการประมงแบบดั้งเดิมในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา โลกของเรากำลังปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมประมงที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมากขึ้นๆ เพื่อตอบรับกับจำนวนประชากรของโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและจำนวนปลาในธรรมชาติที่ลดลง

แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนว่าปลาที่มาจากการเพาะเลี้ยงนั้นจะส่งผลกระทบอะไรต่อผู้บริโภค แต่สิ่งที่ชัดเจนก็คือ ผลจากอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงนั้นส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ จากปริมาณของน้ำเสียที่ปล่อยออกมาและการขยายพื้นที่ริมฝั่งทะเลที่ใช้เพื่อการเพาะเลี้ยงที่เพิ่มขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าชายเลนในหลายๆ พื้นที่ของโลกใบนี้

จากความคิดของหลายคนที่ว่า การบริโภคปลาจากในฟาร์มที่เพาะเลี้ยงนั้นอาจจะเป็นการช่วยเหลือท้องทะเลในทางอ้อม เพราะชาวประมงจะได้ไม่จับปลาในทะเลและช่วยทำให้ทะเลนั้นยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไปนัก เพราะในปัจจุบันนี้ อาหารที่นำมาใช้เลี้ยงปลาในฟาร์มนั้นก็มาจากการจับปลาเป็ดโดยใช้อวนลากที่ลากเอาปลาแทบทุกชนิดมาและคัดเลือกเอาปลาที่ดีๆ ไปขาย แล้วเอาปลาที่คนไม่นิยมบริโภคหรือมีสภาพไม่สวย เช่น หัวขาด หรือเละไปแล้ว มาใช้เป็นอาหารสัตว์ ที่เรียกว่าปลาเป็ดปลาไก่นั้นก็มีที่มาจากการเอาปลาเหล่านี้ไปเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่นั่นเอง

Chinook หรือ King Salmon เป็นแซลมอนขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจาก Taimen ที่พบในมองโกเลีย แต่เป็นแซลมอนที่ว่ากันมีมีรสชาติดีที่สุดชนิดหนึ่งในโลก  ในภาพนี้เป็นแซลมอนในเฟสสุดท้ายก่อนจะผสมพันธุ์ที่ว่ายทวนน้ำขึ้นมาตามลำธารแล้ว  และเปลี่ยนสีสันบนลำตัวจากสีเงินยวงกลายเป็นสีน้ำตาลเข้มเพื่อพรางตัวในลำธารน้ำตื้นๆ

ในขณะเดียวกัน ถ้าเราไม่กินปลาแต่หันไปบริโภคเป็ด ไก่ หรือหมู การเลือกของเราก็ยังมีผลกระทบกับท้องทะเลอยู่ดี

มาถึงตรงนี้หลายๆ คนอาจจะรู้สึกว่าทำไมมันยากอย่างนี้ แล้วเราควรจะกินปลาอะไรกันดี?

ทุกวันนี้ ผมมักไม่ค่อยซื้อปลาจากตลาด เพราะเราไม่มีโอกาสรู้ที่มาของปลานั้นได้อย่างแท้จริง (ถ้าอยากกินจริงๆ ก็ซื้อไปเถิดครับ ไม่ว่าจะปลากะพงขาวหรือปลานิล เราก็จะมีโอกาสได้กินปลาเลี้ยงเหมือนๆ กัน) ถ้าหากไม่ออกไปตกปลามากินเอง อาจจะเพราะว่ากลัวบาปหรืออะไรก็ตามแต่ และมีโอกาสไปตามเมืองชายทะเลอย่างหัวหิน  ระยอง สัตหีบ ลองหากระติกน้ำแข็งใบใหญ่ๆ ติดรถไปสักใบครับ แล้วลองเล็งหาที่ที่เรือลำเล็กๆ มาจอดรวมกันเยอะๆ แถบนั้นจะมีท่าที่เขาคอยเอาปลามาขึ้นอยู่เสมอๆ ส่วนใหญ่เรือพวกนี้จะเป็นเรือเบ็ดขนาดเล็กของชาวบ้านครับ และปลาที่เขาเน้นออกไปตกก็คือปลาอินทรี ปลาโฉมงาม ปลาตะคอง โดยเฉพาะในช่วงปลายปีใกล้ๆ ฤดูหนาวอย่างนี้จะมีปลาอินทรีค่อนข้างมาก ถ้าเลือกได้ ไปช่วยอุดหนุนเขากันหน่อยก็ดีครับ ผมเชื่อว่าวิถีการหาปลาแบบดั้งเดิมที่ตกปลาขึ้นมากินทีละตัวอย่างนี้เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบกับท้องทะเลน้อยมากที่สุด เท่าที่มนุษย์จะทำมาหากินอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกับธรรมชาติได้  

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่ว่าเราจะบริโภคอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างมีต้นทุนทางธรรมชาติที่ต้องสูญเสียไปทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันที่ต้องใช้ไปในการออกไปหาปลา ปลาเล็กๆ ที่ต้องถูกจับมาเป็นอาหารสัตว์ หรือแม้แต่คิดในทางคุณค่าของชีวิตแล้วก็คือหนึ่งชีวิตที่ต้องเสียไปเพื่อมาต่อชีวิตของเรา

บริโภคอย่างคุ้มค่าไม่เหลือทิ้งเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของโลกเรากันครับ

ชาวบาเจา ชาวทะเลที่อาศัยอยู่ในบริเวณเกาะบอร์เนียวกับปลาอินทรีที่ตกมาได้เพียงตัวเดียวในวันนั้น  ในภูมิภาคต่างๆ บนโลกมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงหาปลาด้วยศาสตร์ดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมานับร้อยนับพันปี  ในปัจจุบัน ถ้าจะหาปลาเนื้อดีๆ กินสักตัวผมมักจะเลือกซื้อปลาอินทรีจากเรือเบ็ดของชาวบ้าน เพราะผมเชื่อว่าวิถีการหาปลาแบบนี้เป็นวิถีดั้งเดิมที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติที่น้อยที่สุดแล้ว

Save

Writer

Avatar

นัท สุมนเตมีย์

ช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพที่เรียกได้ว่าคนแรกๆ ของประเทศไทย เริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพและนักเขียนให้กับนิตยสาร อ.ส.ท. และ อีกหลากหลายนิตยสารทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ปัจจุบันนอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว นัท ยังถ่ายภาพยนต์สารคดีใต้ท้องทะเล และบันทึกภาพทางอากาศให้กับทีมงานสารคดีหลายทีม