The Cloud X  สารคดีสัญชาติไทย

“ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า”

นี่คือคำพูดเมื่อ 30 ปีที่แล้วของผู้ชายร่างสูงผิวคล้ำที่มักใส่เสื้อเชิ้ตยับๆ สวมแว่นตาหนา รูปร่างหน้าตาธรรมดาไม่ได้สะดุดตาใครๆ นัก เขาจะเริ่มต้นด้วยประโยคนี้ในทุกที่ซึ่งเขามีโอกาสขึ้นไปพูดบนเวที

นอกจากคนที่ไปฟังและเพื่อนๆ ที่รู้จัก ไม่ค่อยมีใครได้ยินประโยคนี้หรอก

“ถ้าจะยิงลูกน้องกู มายิงกูดีกว่า”

นี่เป็นอีกประโยคหนึ่งที่ผู้ชายคนนี้พูด ในคืนวันหนึ่ง ไม่มีใครนอกจากลูกน้อง 3 – 4 คนที่ยืนอยู่บริเวณนั้นที่ได้ยิน

เสียงตะโกนดังขึ้นและจางหายไปในความมืดมิด

“สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและสัตว์เลื้อยคลาน นับเป็นกลุ่มสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีแหล่งที่อยู่ และแบบแผนการดำรงชีวิตที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง มีทั้งสัตว์ที่อยู่ตามผิวดิน ใต้ผิวดิน และตามต้นไม้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมอย่างฉับพลันเพราะการกักเก็บน้ำ ย่อมส่งผลกระทบรุนแรงต่อสัตว์กลุ่มนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น”

เขาพูดข้อความนี้บ่อยและเขียนไว้ในรายงาน ‘งานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี’

บริเวณปากคลองพระแสง

ผืนป่าอุดมสมบูรณ์เปลี่ยนเป็นผืนน้ำกว้างกว่า 165 ตารางกิโลเมตร

ยอดเขากลายเป็นเกาะแก่งกลางทะเลสาบ

ชีวิตมากมายกระเสือกกระสน ดิ้นรน หลบหนี น้ำที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว

เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2529 ผู้ชายคนนี้เขียนบันทึกประจำวันไว้บางตอนว่า

“ระดับน้ำเพิ่มขึ้น พื้นดินถูกตัดขาดเป็นเกาะเล็กเกาะน้อย สัตว์ป่าต้องอดอาหาร และแก่งแย่งที่อยู่อันมีจำกัด บางตัวผอมโซ หลายตัวเป็นซากห้อยอยู่ตามกิ่งไม้”

เขาและทีมงานใช้เวลาทั้งสิ้น 2 ปี 4 เดือน กับงานช่วยเหลือสัตว์ป่า พวกเขาช่วยได้ 116 ชนิด 1,364 ตัว ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ

มีชีวิตจำนวนหนึ่งได้รับการช่วยเหลือ

แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้ชายร่างสูงสวมแว่นสายตาหนารู้ก็คือ

นี่คือการช่วยเหลือที่ปลายเหตุ

โครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้น

แต่ดูเหมือนสิ่งที่เขาทำและพูดก็จางหายไปในสายลม

หนึ่งชีวิตจากไป หลายชีวิตตื่นขึ้นมา หนึ่งชีวิตจากไป หลายชีวิตตื่นขึ้นมา

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้งคือแหล่งรวมพืชพรรณและสัตว์จากทุกภูมิภาค สมเสร็จคือตัวอย่างหนึ่ง

ปี พ.ศ. 2530

งานหนักของชายร่างสูงผู้นี้เริ่มต้นอีกครั้ง

โครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรกำลังจะได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลในยุคนั้น

ความขัดแย้งระหว่างผู้ไม่เห็นด้วยและผู้สนับสนุนเริ่มรุนแรง

ชายร่างสูงและเพื่อนๆ ทำงานอย่างหนักติดต่อกัน  เขาตัดสินใจนำข้อมูลการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลานมาสรุป วิเคราะห์เพื่อใช้เป็นบทเรียนที่สำคัญเกี่ยวกับการพิจารณาผลกระทบด้านสัตว์ป่า และนำไปมอบให้คณะกรรมการพิจารณาผลกระทบการสร้างเขื่อนน้ำโจน

รายงานชิ้นนี้ทำให้หลายฝ่ายสิ้นข้อสงสัยว่า การสร้างเขื่อนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์ป่าจริงหรือไม่

“อาจารย์ เราทำได้แล้ว เราทำได้แล้ว”

ชายร่างสูงเดินเข้ามาหา ดร.สุรพล สุดารา แห่งชมรมสภาวะแวดล้อมสยาม

การประชุมอย่างยาวนานเพื่อพิจารณาเรื่องเขื่อนน้ำโจนสิ้นสุด ผลการประชุมให้ชะลอการสร้างออกไปก่อน

เขากอด ดร.สุรพล พูดเสียงสั่นด้วยอารมณ์ที่อัดแน่น

ดร.สุรพล มองหน้าชายร่างสูง ความสำเร็จในการโน้มน้าวให้พิจารณายุติการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน ส่วนหนึ่งมาจากความมุ่งมั่นเอาจริงรวมทั้งข้อมูลของผู้ชายคนนี้

ผู้ชายที่ชื่อ สืบ นาคะเสถียร

หนึ่งชีวิตจากไป หลายชีวิตตื่นขึ้นมา

กระทิง ประชากรส่วนใหญ่ในป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร

ปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ 2540

ฝนลงเม็ดปรอยๆ ขณะผมเลี้ยวรถไปตามเส้นทางแคบๆ ขนาบด้วยกอไผ่ ก่อนถึงลานโล่งหน้าบ้านไม้ชั้นเดียวทาสีฟ้าอ่อนๆ

บ้านหลังนี้เป็นบ้านพักของหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าหน่วยหนึ่งทางตอนใต้ของป่าห้วยขาแข้ง

มอเตอร์ไซค์เปื้อนโคลน 4 – 5 คันจอดอยู่ ข้างบนชานหน้าบ้านมีคนกลุ่มใหญ่นั่งล้อมวง

พวกเขาชะเง้อมองผมดับเครื่อง ก้าวเท้าลงจากรถ

หลังพูดคุยทักทาย “ขอคุยกันสักชั่วโมงครับพี่ เดี๋ยวค่อยไป” ชายหนุ่มหัวหน้าหน่วยพูด

ผมรับแก้วน้ำที่ชายคนหนึ่งส่งมาให้ ครึ่งนั่งครึ่งนอนหลังพิงฝาบ้าน มองไปที่คนกลุ่มนี้

นอกจาก ฟื้น ฤทธินาลา ที่คุ้นเคยกับผมดี เขาช่วยงานผมบ่อย อายุต้น 40 ทำให้เขาอาวุโสที่สุด คนอื่นคือชายหนุ่มวัย 20 ต้นๆ

เสียงรายงานหัวหน้าถึงการเดินลาดตระเวณด้วยแววตากระตือรือร้น

“10 ปีแล้วนะครับ เร็วจังเลย”  ฟื้นพูดเบาๆ กับผม

1 กันยายน พ.ศ. 2533  ฟื้นทำหน้าที่เป็นยามอยู่ในสำนักงานเขตรักษาพันธุสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ราวรุ่งสาง เขาได้ยินเสียงปืนนัดหนึ่ง

ช่วงสายๆ เขาถึงรู้ว่านั่นคือเสียงปืนที่นำพา ‘ชีวิต’ หัวหน้าสืบของเขาไป

สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกระทำอัตวินิบาตกรรม

ดูคล้ายกับว่าจะเป็นเสียงปืนที่ดังกึกก้อง

หนึ่งชีวิตจากไป หลายชีวิตตื่นขึ้นมา

หนึ่งชีวิตจากไป หลายชีวิตตื่นขึ้นมา

ควายป่า การสำรวจพบควายป่าที่ใกล้สูญพันธ์ ทำให้ป่าห้วยขาแข้งได้รับการประกาศให้เป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

เขาตั้งใจมาเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

ป่าที่ดูแลกว้างใหญ่ และปัญหาที่พบก็ใหญ่และซับซ้อนตาม

ปี พ.ศ. 2532 สภาพป่าที่มีพื้นที่ 1ล้าน 6 แสนกว่าไร่ มีข้าราชการ 12 คน พิทักษ์ป่า 30 คน ลูกจ้าง คนงานชั่วคราว 120 คน

และงบประมาณเพื่อดูแลป่าแห่งนี้ คือไร่ละ 80 สตางค์ต่อปี

วันนี้เราจะเดินทางไปที่สำนักงานเขต พรุ่งนี้จะมีงานทำบุญเพื่อรำลึกถึงหัวหน้าสืบ

10 ปีแล้วที่งานทำบุญเป็นไปอย่างง่ายๆ แต่ดูเหมือนว่าในแต่ละปีจะมีคนมาร่วมมากขึ้น

บนกองเป้มีปืนลูกซอง 5 นัดวางอยู่ สายสะพายมีรอยปะชุน

10 ปีก่อน สภาพคนงานและการทำงานในป่าไม่เปลี่ยนไปนัก

ยากลำบาก ขาดแคลน อาวุธด้อยกว่าคนล่าสัตว์

แต่น้ำเสียงและแววตากระตือรือร้นที่ชายหนุ่มเหล่านี้กำลังรายงานกับหัวหน้า

ผมสัมผัสได้ว่าพวกเขามีสิ่งหนึ่ง

สิ่งซึ่งงบประมาณมหาศาลจัดซื้อหามาไม่ได้

นั่นคือ จิตใจอันมุ่งมั่นและภาคภูมิใจในงานของพวกเขา

สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะเสียงจากปืนนัดหนึ่ง

หนึ่งชีวิตจากไป หลายชีวิตตื่นขึ้นมา

นกยูงไทย

“ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า”

ถึงวันนี้ ปี พ.ศ. 2560  ผู้ชายร่างสูงผิวคล้ำจากไปแล้ว 27 ปี

นี่คือประโยคที่คนจำนวนมากได้ยิน

เช่นเดียวกับประโยคที่เขาตะโกนว่า

“ถ้าจะยิงลูกน้องกู มายิงกูดีกว่า”

ความตั้งใจของเขาคือ อยากบอกให้โลกได้รับรู้ว่าเหล่าสัตว์ป่า รวมถึงคนผู้ทำหน้าที่ปกป้องดูแลแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า ต้องพบกับปัญหาอันซับซ้อนเพียงไร จากที่เคยพูดมาตลอดและไม่มีใครได้ยิน

เขารู้วิธีที่จะให้คนฟัง

เลือกกระทำ

และวิธีที่เขาเลือกได้ผล

Writer & Photographer

Avatar

ปริญญากร วรวรรณ

ถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์ป่าและดงลึกทั่วประเทศไทยผ่านเลนส์และปลายปากกามากว่า 30 ปี มล. ปริญญากร ถือเป็นแบบอย่างสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างเคารพธรรมชาติให้คนกิจกรรมกลางแจ้งและช่างภาพธรรมชาติรุ่นปัจจุบัน