The Cloud X  สารคดีสัญชาติไทย

ร้อยกว่าปีแห่งความโดดเดี่ยวของปู่จอร์จ เต่ายักษ์ตัวสุดท้ายของเกาะพินตา (Pinta) แห่งกาลาปากอส (Galapagos) นั้น เป็นเรื่องเศร้าราวกับนิยายรันทดที่แต่งขึ้นจากปลายปากกาของนักประพันธ์

แต่ทุกสิ่งทั้งหมดนี้คือเรื่องจริง… เรื่องราวของโลกที่ร้างไร้คู่ของปู่จอร์จผู้รอคู่ของมันจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ผมมีโอกาสพบกับปู่จอร์จครั้งแรกในปี 2005 เป็นครั้งแรกที่ผมไปเยือนหมู่เกาะกาลาปากอส ซึ่งตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิกทางฝั่งตะวันตกของประเทศเอกวาดอร์ หลังจากที่เราใช้เวลานานกว่าสัปดาห์ล่องเรือไปดำน้ำตามหมู่เกาะต่างๆ ของกาลาปากอส วันสุดท้ายเรือของเราก็มาจอดที่หน้า Charles Darwin Reserch Station ซึ่งเป็นบ้านหลังสุดท้ายของปู่จอร์จ

กาลาปากอส

เต่ายักษ์แห่งหมู่เกาะกาลาปากอสเป็นเต่าบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่พบในบริเวณหมู่เกาะกาลาปากอสกลางมหาสมุทรแปซิฟิกนั้นมีชนิดแยกย่อยไปมากกว่า 14 สายพันธุ์ กระจัดกระจายกันอยู่ไปตามเกาะแก่งต่างๆ ในบริเวณหมู่เกาะแห่งนี้

เต่ายักษ์แห่งกาลาปากอสเป็นเต่าบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากขนาดใหญ่โตของมันก็คือ ในหมู่เกาะกาลาปากอสนั้น เต่ายักษ์ที่พบในแต่ละเกาะมีชนิดย่อยที่มีลักษณะแตกต่างกันไปตามลักษณะของแหล่งอาหารและการกินอาหารของมัน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักชีววิทยาชาวอังกฤษที่มีโอกาสมาเยือนเกาะแห่งนี้เมื่อปี 1835 ได้ข้อสรุปในทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ หรือ Natural Selection และตีพิมพ์หนังสือชื่อยาวมากๆ คือ On the Origin of Species by Means of Natural Selection, or the Preservation of Favoured Races in the Struggle for Life หรือที่เรารู้จักกันในชื่อย่อๆ ว่า On the Origin of Species ขึ้นมาในปี 1859 ไม่ใช่เพียงแค่พื้นฐานของการศึกษาวิชาชีววิทยาสมัยใหม่เท่านั้น ในอีกมุมหนึ่ง หนังสือเล่มนี้คือการปรับเปลี่ยนพื้นฐานทางความคิดครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ จากแนวคิดที่ว่าสิ่งมีชีวิตถูกสรรค์สร้างขึ้นมาอย่างสมบูรณ์โดยพระผู้เป็นเจ้า กลายมาเป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยวิวัฒนาการของสรรพสิ่งในธรรมชาติบนโลกใบนี้

ปู่จอร์จเป็นเต่าตัวสุดท้ายของเผ่าพันธุ์เฉพาะถิ่นที่พบบนเกาะพินตา คือ Chelonoidis abingdonii ถูกพบอยู่เพียงลำพังตัวเดียวท่ามกลางฝูงแกะ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1971 บนเกาะที่แห้งแล้งปราศจากพืชพันธุ์ที่เต่ายักษ์แห่งเกาะพินตาสามารถใช้เป็นอาหารได้เลย เนื่องมาจากการขยายพันธุ์ของฝูงแกะที่ชาวเรือผู้มาตั้งถิ่นฐานในยุคแรกได้นำมาปล่อยไว้บนเกาะเพื่อใช้เป็นอาหาร และฝูงแกะผู้รุกรานนั้นได้ขยายเผ่าพันธุ์ไปจนมีเป็นจำนวนมาก และทำให้พืชพันธุ์ที่อยู่ในระดับสูงพอที่เต่ายักษ์บนเกาะแห่งนี้จะเอื้อมคอขึ้นกินถึงได้นั้นหายไปหมด และสิ่งนั้นเองคือที่มาของการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์

ปู่จอร์จถูกนำกลับมาดูแลที่ Charles Darwin Reserch Station และนักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่ละความพยายามที่จะค้นหาคู่ให้ปู่จอร์จมาตลอด 40 ปี ในทางทฤษฎีแล้วอาจจะถือว่าเต่ายักษ์แห่งเกาะพินตานั้นได้เริ่มต้นนับถอยหลังสู่วันที่จะสูญพันธุ์นับตั้งแต่วันที่เราค้นพบปู่จอร์จแล้ว

มิถุนายน 2012 ผมกลับมาเยือนหมู่เกาะกาลาปากอสอีกครั้งหนึ่ง วันสุดท้ายของการเดินทางผมก็ไปเดินใน Charles Darwin Reserch Station อีกเช่นเคย ในวันนั้นเราเห็นปู่จอร์จนอนอยู่ใต้ร่มไม้ในมุมที่ห่างไกลเพียงลำพัง และไม่มีใครล่วงรู้ได้เลยว่าเราจะไม่ได้มีโอกาสพบกับปู่จอร์จอีกแล้ว

กาลาปากอส

หมู่เกาะกาลาปากอสกลางมหาสมุทรแปซิฟิกที่เกิดขึ้นจากเถ้าลาวาของภูเขาไฟ เมื่อประมาณ 7-8 ล้านปีที่แล้ว เป็นดินแดนที่สะท้อนถึงกระบวนการวิวัฒนาการของสายพันธุ์ต่างๆ ที่เด่นชัดที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

กาลาปากอส

ปู่จอร์จและฉลามหัวค้อนคือสัญลักษณ์ที่อยู่บนตราประทับของอุทยานแห่งชาติกาลาปากอส ซึ่งจะประทับลงไปบนหนังสือเดินทางทุกเล่มของผู้ที่มาเยือนหมู่เกาะแห่งนี้

24 มิถุนายน 2012 ปู่จอร์จในวันที่มีอายุมากกว่า 100 ปี (ไม่มีใครรู้ว่าปู่จอร์จมีอายุจริงๆ เท่าไรกันแน่) ก็จากโลกไปพร้อมกับสายพันธุ์เต่ายักษ์แห่งเกาะพินตาตัวสุดท้ายที่ถูกบันทึกว่าสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปจากโลกใบนี้

แล้วเต่าตัวหนึ่งที่สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปจากธรรมชาตินั้นมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับพวกเรา ก็แค่เต่าตัวหนึ่งที่น่าสงสาร หรือว่าเป็นแค่เผ่าพันธุ์ที่อ่อนแอก็แพ้ไปเท่านั้นหรือ…

ในแต่ละวัน นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่ามีสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืชพันธุ์ แมลง หรือว่าสัตว์ต่างๆ สูญพันธุ์ไปจากโลกนับร้อยชนิด และสาเหตุส่วนใหญ่ของการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์นั้นเกิดจากมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม

กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการล่าเพื่อหาอาหาร การเปิดพื้นที่เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ สร้างโรงไฟฟ้า สร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ หรือแม้กระทั่งขนย้ายเอาสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาเลี้ยงจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อการคัดสรรทางธรรมชาติอย่างที่เราอาจจะคาดไม่ถึง เช่น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเมือง ทำให้ท้องทุ่งริมป่าที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของสมันในแถบชายทุ่งรังสิตเมื่อ ร้อยกว่าปีก่อนกลายมาเป็นพื้นที่ทางการเกษตร ก่อนจะกลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรม และหมู่บ้านจัดสรรในปัจจุบัน ย่อมทำให้ไม่มีสมันเหลืออยู่บนโลกใบนี้ เพราะสูญสิ้นแหล่งอาศัยไปตลอดกาลแล้ว

กาลาปากอส

ลักษณะของคอและรูปทรงของกระดองหลังที่แตกต่างกันไปของเต่ายักษ์กาลาปากอสแต่ละสายพันธุ์ย่อยนั้นเกิดจากการลักษณะของการกินอาหารในภูมิประเทศที่แตกต่างกันไปของแต่ละเกาะในหมู่เกาะกาลาปากอสแห่งนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้ชาร์ลส์ ดาร์วิน นำเสนอทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติหรือ Natural selection อันโด่งดังขึ้นมา

กรณีของปลาซักเกอร์ ปลาที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ กลายเป็นสายพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามารุกรานแหล่งน้ำแทบทุกแห่งในประเทศไทย ในช่วงเวลาไม่ถึง 30 ปีที่ผ่านมานี้เอง อาจจะส่งผลให้ปลาหลายสายพันธุ์ที่เป็นพันธุ์พื้นเมืองสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปได้ในอนาคตอันใกล้

ในช่วงชีวิตของเรามีสรรพสิ่งรอบๆ ตัวที่สูญพันธุ์ไปมากและรวดเร็วกว่าสิ่งที่เราค้นพบ และดูเหมือนว่าอัตราเร่งของการสูญพันธุ์จะยิ่งรวดเร็ว รุนแรง เพิ่มขึ้นทุกปีตามการขยายตัวของมนุษยชาติ

โลกเพิ่งจะได้รู้จักกับเต่ายักษ์แห่งหมู่เกาะกาลาปากอสเมื่อไม่ถึง 200 ปีมานี้เอง ช่วงเวลา 200 ปีที่ดูเหมือนจะยาวนานในความรู้สึกเมื่อเทียบกับชีวิตอันแสนสั้นของเรา

แต่เชื่อไหมว่าระยะเวลา 200 ปีที่ผ่านไปนั้น อาจจะไม่ใช่เวลาที่ยาวนานเท่าไรของโลกและธรรมชาติ

กาลาปากอส

หลังจากที่ปู่จอร์จ เต่ายักษ์กาลาปากอสตัวสุดท้ายแห่งเกาะพินตาเสียชีวิตลง หมายถึงการสูญสิ้นของเต่าสายพันธุ์นี้ไปตลอดกาล ปู่จอร์จถูกส่งไปสตัฟฟ์และจัดแสดงไว้ที่ American Museum of Natural History ในมหานครนิวยอร์กชั่วคราว ก่อนที่จะถูกส่งกลับมาจัดแสดงไว้ที่ Charles Darwin Research Station เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธุ์ 2017 ที่ผ่านมานี้เอง

Harriet เต่ากาลาปากอสตัวหนึ่งที่ชาร์ลส์ ดาร์วิน นำใส่เรือ HMS Beagal กลับไปอังกฤษด้วย และถูกส่งไปอยู่ที่ออสเตรเลียในที่สุด เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะกว่าในอังกฤษนั้น เพิ่งจะตายลงในปี 2006 และมีอายุราวๆ 175 ปี

ในขณะที่ชาร์ลส์ ดาร์วิน จากโลกนี้ไปตั้งแต่ปี 1882 สิ่งหนึ่งที่ดาร์วินอาจจะไม่มีโอกาสได้รู้ก็คือ ในช่วงระยะเวลาร้อยกว่าปีหลังจากทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติของเขาได้รับการตีพิมพ์ มนุษย์ก็ได้ทำหน้าที่ในการคัดเลือกสายพันธุ์ที่จะคงเหลือไว้แทนที่ธรรมชาติ

มรดกที่ดาร์วินทิ้งไว้ให้กับเราก็คือ คำถามที่มนุษย์เพียรพร่ำหาคำตอบมาแต่โบราณกาล อาจจะตั้งแต่แรกมีมนุษย์คนแรกเกิดขึ้นบนโลกนี้ก็คือ เรามาจากที่ไหน

แต่สิ่งที่คนรุ่นเราอาจจะต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ก็คือ แล้วอนาคต ถ้าหากมนุษย์ได้ทำลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ของธรรมชาติบนโลกใบนี้ไปจนหมดสิ้นแล้ว

เผ่าพันธุ์ของเราจะไปอยู่ที่ไหน…

Save

Writer

Avatar

นัท สุมนเตมีย์

ช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพที่เรียกได้ว่าคนแรกๆ ของประเทศไทย เริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพและนักเขียนให้กับนิตยสาร อ.ส.ท. และ อีกหลากหลายนิตยสารทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ปัจจุบันนอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว นัท ยังถ่ายภาพยนต์สารคดีใต้ท้องทะเล และบันทึกภาพทางอากาศให้กับทีมงานสารคดีหลายทีม