ท้องทะเลที่เรียบราวกับผืนกระจกเป็นช่วงเวลาที่หายากในช่วงกลางฤดูหนาว บริเวณชายฝั่งแอฟริกาใต้ช่วงเดือนกรกฏาคม กระแสน้ำเย็นจากทางใต้จะนำพาเอาความเย็นและธาตุอาหารไหลเวียนจากซีกโลกใต้เข้ามาปะทะชายฝั่ง Eastern Cape ของ South Africa ที่เรียกกันว่า Wild Coast

ฝูงโลมาหลายร้อยตัวกำลังเคลื่อนฝูงมาในทิศทางที่เรือของเราจอดดักรออยู่ เสียงกระโจนขึ้นเหนือผืนน้ำของมันนั้นดังราวกับเสียงของน้ำตกขนาดยักษ์ที่ค่อยๆ เคลื่อนที่ใกล้เข้ามาทีละน้อย เพียงไม่นานนัก ฝูงโลมา Common Dolphin (Dephinus Dephis) หลายร้อยตัวก็รายล้อมอยู่รอบตัวเรา ผมค่อยๆ หย่อนตัวลงน้ำ ฝูงโลมาไม่มีท่าทีสนใจเรามากไปกว่าการมุ่งหน้าตรงไปราวกับสายน้ำที่ไหลไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพียงไม่กี่นาทีเสียงที่ดังราวกับน้ำตกขนาดใหญ่นั้นก็ค่อยๆ ห่างออกไป ทิ้งพวกเราไว้กับผืนน้ำที่ว่างเปล่า ราวกับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมานั้นเป็นแค่ความฝัน

Common Dolphin

ฝูงโลมา Common Dolphin นับร้อยตัวในขณะที่เคลื่อนฝูงอพยพไปตามสายของซาร์ดีนในช่วงฤดูหนาวเลียบชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกาใต้ โลมา
ฝูงโลมากระโดดขึ้นเล่นกับคลื่นลูกใหญ่ในขณะที่เรือของเราวิ่งทะยานไปเหนือยอดคลื่น

ผมกับทีมงานสารคดีโลกโสภาใช้เวลานานแรมเดือนเพื่อเก็บภาพการอพยพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนโลกใบนี้ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียงไม่กี่อาทิตย์ในรอบปีที่ฝูงปลาซาร์ดีนนับล้านจากซีกโลกใต้จะอพยพตามกระแสน้ำเย็นขึ้นมาตามชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกาใต้ทางชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่นักล่าชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโลมา ฉลาม ฝูงนก Gannet แม้กระทั่งวาฬบรูด้า จะเดินทางตามฝูงซาร์ดีนอพยพนี้ไปตลอดทาง

สิ่งที่คาดคะเนได้ยากก็คือเราไม่รู้ว่าช่วงเวลาไหนของปีที่ฝูงซาร์ดีนนั้นจะอพยพขึ้นมา และในแต่ละช่วงเวลาฝูงซาร์ดีนจะอยู่ที่ตำแหน่งใด และเมื่อไหร่ที่ฝูงโลมาในฐานะผู้เปิดเกมการล่าซาร์ดีนจะประสบความสำเร็จในการต้อนล้อมเอาฝูงซาร์ดีนออกมาจากสายซาร์ดีนในความลึกให้เป็น Baitball ขึ้นมาบริเวณใกล้ผิวน้ำ

แล้วจึงตามมาตามมาด้วยฝูงนก Cape Gannet ที่คอยเฝ้ามองดูการล่าของโลมาจากบนฟากฟ้า และฝูงฉลามที่คอยเคลื่อนที่ตามการเคลื่อนไหวของฝูงโลมาอีกที เหตุการณ์ทั้งหมดทั้งมวลที่เหมาะเจาะเช่นนี้อาจจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีในรอบสัปดาห์ และอาจจะมีเพียงไม่กี่วันในรอบปี

ทุกๆ เช้าเราต้องตื่นกันตั้งแต่ตี 5 ในช่วงที่สายหมอกยามเช้ายังคงปกคลุมยอดหญ้า เว็ตสูทที่เราตากไว้เปียกชื้นเย็นเฉียบราวกับน้ำแข็งในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส หลังจากที่กลั้นใจใส่เว็ตสูทเสร็จ เราก็แบกกล้องและอุปกรณ์พร้อมลงเรือยางลำใหญ่ซึ่งเป็นพาหนะเพียงอย่างเดียวที่จะพาเราฝ่าคลื่นบริเวณปากแม่น้ำ Umzimvubu ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมือง Port St Johns เมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ทางใต้ของเมืองท่า Durbun ที่ออกไปยังท้องทะเลเบื้องนอกได้

ล่องเรือ

บรรยากาศของการ Launching รอจังหวะที่จะวิ่งแทรกคลื่นที่พัดโหมเข้าหาฝั่งในบริเวณปากแม่น้ำ Umzimvubu ในยามเช้า เรือทุกลำจะรอจังหวะที่คลื่นลูกที่ 3 สงบลง และต้องเร่งเครื่องออกไปสุดกำลังก่อนที่คลื่นชุดใหม่จะโหมกระหน่ำเข้ามา ไม่เช่นนั้นเรืออาจจะโดนคลื่นพลิกให้คว่ำได้

เมื่อขึ้นเรือยางเรียบร้อยแล้ว เราทุกคนก็จะต้องเอาเท้าเสียบเข้าไปในสายรัด มือจับเชือก ในขณะที่ Piki กัปตันเรือมากประสบการณ์ของเราพาเรือแล่นทะยานไปบนยอดคลื่นเพื่อหามุมและจังหวะพาเรือฝ่าคลื่นที่สาดซัดเข้าหาชายฝั่ง ออกไปยังท้องทะเลทางด้านนอก

หลังจากนั้นเราจะใช้เวลาเกือบทั้งวันในการเฝ้าตามหาฝูง Baitball โดยสังเกตปฏิกิริยาของฝูงนกที่ก็เฝ้าคอยการมาถึงของฝูงซาร์ดีนเช่นเดียวกันกับเรา

ไม่ใช่ทุกวันของการออกทะเลที่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่เราจะกลับฝั่งมาด้วยความผิดหวังและว่างเปล่า หลายๆ วันเราอาจมีโชคกับการได้เฝ้าดูพฤติกรรมของฝูงวาฬหลังค่อมที่อพยพจากโลกซีกใต้ในช่วงฤดูหนาวอันโหดร้ายเพื่อขึ้นยังน่านน้ำเขตอบอุ่นในแถบโมซัมบิก  หลายๆ ครั้งเราอาจเห็นฝูงโลมานับร้อยที่เคลื่อนที่ผ่านเราไป แต่เวลาส่วนใหญ่ที่เราใช้ไปก็คือการเฝ้ารอกลางแดดที่อุณภูมิคอยจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จากหนาวจัดกลายเป็นร้อนอบอ้าวในชุดเว็ตสูทที่แห้งกรังและเริ่มมีเหงื่อซึมออกมาจากร่างกาย บางวันเราอาจไม่ได้มีจังหวะลงน้ำแม้แต่ครั้งเดียว  และหลายๆ ครั้งเมื่อเราลงน้ำไปกลางฝูงนกแล้วพบเพียงแค่เกล็ดสีเงินแวววาวของซาร์ดีนลอยเกลื่อนอยู่เต็มท้องทะเล …ซึ่งแปลว่าเรามาช้าไปเพียงแค่ไม่กี่นาที

ฉลาม

สมัยเด็กๆ เรามักจะมีความเชื่อผิดๆ กันว่าฉลามกลัวโลมาและจะไม่พบฉลามเวลาที่เราเห็นโลมา หากในความเป็นจริงแล้วทั้งฉลามและโลมาต่างก็เป็นนักล่าที่อยู่บนปลายของระบบห่วงโซ่อาหารในท้องทะเล ในช่วงที่มีปรากฏการณ์ Sardine Run เรามักจะพบฉลามว่ายตามฝูงโลมาอยู่เสมอๆ เพราะโลมาจะใช้ความเร็วในการล้อมตักซาร์ดีนขึ้นมาจากความลึกและจะต้อนให้ปลาซาร์ดีนนั้นกลายเป็น Baitball ก่อนที่นกทะเล ฉลาม และในบางครั้งปลาวาฬขนาดใหญ่ จะเข้ามาร่วมงานเลี้ยงแห่งท้องทะเลนี้ด้วย

งานสารคดีธรรมชาตินั้นไม่ใช่แค่เรื่องของอุปกรณ์ในการถ่ายภาพราคาแพง หรือเพียงแค่มีเงินก็เลือกไปเที่ยวหรือซื้อหาประสบการณ์แปลกใหม่ในชีวิตเพื่อถ่ายเซลฟี่มาลงโซเชียลอวดประสบการณ์อันน่าตื่นใจ แต่ความเข้าใจในความไม่แน่นอนของธรรมชาตินั้นอาจจะเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าในการทำงาน ผมและทีมงานใช้เวลา 2 ฤดูกาลกับการเดินทางครั้งละนานนับเดือนเพื่อเฝ้ารอปรากฏการณ์ซาร์ดีนอพยพ …และมีเพียงวันเดียวเท่านั้นที่เราจะประสบผลสำเร็จ

วันนั้นเป็นวันท้ายๆ ของการทำงานในฤดูกาลที่ 2 เรายังไม่ได้อะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน กำลังใจของทุกคนถดถอย ในขณะที่คลื่นลมก็รุนแรงขึ้น ก่อนหน้านั้น 1 วันคลื่นลมแรงจนเราออกทะเลไม่ได้ เราเลือกส่ง นุ-ภาณุพงศ์ นรเศรษฐ์กมล ช่างภาพหนุ่มร่างเล็ก ขึ้น Spotter Plane บินขึ้นไปสำรวจชายฝั่งเพื่อเพิ่มระยะทางในการค้นหาฝูงซาร์ดีนลงไปทางใต้

เกือบ 2 ชั่วโมง นุกลับลงมารายงานด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้นว่าพบฝูงนกและฝูงโลมาจำนวนมากที่เรียกกันว่า Mega Pod บริเวณระหว่าง East London กับ Port St Johns ที่น่าจะมี Activity เกิดขึ้น

ปากแม่น้ำ Umzimvubu

ปากแม่น้ำ Umzimvubu เป็นที่ตั้งของเมือง Port St Johns ในยามเย็น

คืนวันนั้นเรานั่งประชุมงานกัน Nick ซึ่งเป็นผู้ประสานงานชาวแอฟริกาใต้ พูดให้กำลังใจกับพวกเราที่เริ่มกรอบหลังจากคว้าน้ำเหลวกันมาหลายวันว่า พรุ่งนี้เช้าเราจะไม่รอให้ฟ้าสว่าง เราจะเริ่มออกเดินทางกันตั้งแต่แสงแรกที่เรามองเห็น เราจะเตรียมอาหารเช้าและกลางวันแล้วมุ่งลงไปทางใต้ และหวังว่าจะได้พบกฝูงซาร์ดีนที่กำลังอพยพขึ้นมาในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ระหว่าง Port St Johns และ East London เราจะใช้เวลาทุกวินาทีให้คุ้มค่าที่สุด และจะไม่กลับมาจนกว่าตะวันจะตกดิน

เช้าวันนั้นเราออกกันตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง Piki พาเรือฝ่าคลื่นลมมุ่งลงไปทางตอนใต้โดยไม่วอกแวกแวะจอดที่ไหน แม้เราจะพบเห็นวาฬหลังค่อมโผล่โชว์ตัวขึ้นมาหลายครั้งระหว่างทางที่เรามุ่งลงใต้ก็ตาม จนกระทั่งแสงแดดโยกย้ายมุมมาเกือบตรงหัวของเรา Piki เบาเครื่องเรือลงเมื่อเห็นฝูงนก Cape Gannet นับร้อยทิ้งตัวลงใต้ผิวน้ำพร้อมกัน ในขณะที่ฝูงโลมาก็วนเวียนอยู่รอบๆ ฝูงนกนั้น

สื่งที่เราตามหามานานนับเดือนกำลังเกิดขึ้นเบื้องหน้าเรา ผมยกถังดำน้ำขึ้นใส่หลัง ในขณะที่ Piki ค่อยๆ นำเรือคืบคลานไปตรงตำแหน่งที่จะปล่อยเราลงน้ำ ผมกับ หนุ่ม-ศุภชัย  วีรยุทธานนท์ และ นุ-ภาณุพงศ์ นรเศรษฐกมล ลงไปก่อน และจะสลับกับน้องๆ อีก 2 คนในทีมที่จะลงพร้อม Nick ในขณะที่นิคก็คอยกำชับเราว่าอย่ามัวแต่ถ่ายภาพ แต่ให้คอยสังเกตการเคลื่อนที่ของฝูงซาร์ดีนด้วยว่าเคลื่อนที่ไปทางไหน เพราะในบางครั้งทัศนวิสัยจะมองเห็นเพียงแค่ไม่กี่เมตรเท่านั้น และที่สำคัญก็คืออย่าไปขวางทางการทำงานของฝูงโลมาที่ใช้ความเร็วในการต้อนล้อมซาร์ดีนให้เป็น Baitball ลูกกลมๆ เพราะงานที่โลมาใช้เวลาทำมาอย่างเหนื่อยยากเพื่อตักฝูงซาร์ดีนให้ขึ้นมาเป็นก้อน Baitball นั้นเสถียรอยู่ได้จะสูญเปล่า และสิ่งที่นิคกำชับเตือนเรามาตั้งแต่วันแรกก็คือเรื่องของความปลอดภัย เพราะอย่าลืมว่าเราลงไปอยู่ในฝูงโลมาและฉลามที่กำลังล่าเหยื่อตามธรรมชาติอยู่ ในสภาพน้ำที่เราคาดคะเนไม่ได้ว่าจะใสหรือขุ่นแค่ไหน ดังนั้น หากเกิดอุบัติเหตุที่ไม่ได้ตั้งใจขึ้นก็ไม่ใช่ความผิดของฉลามหรือโลมาที่กำลังทำงานของมันอยู่ แต่เป็นความประมาทของเราเอง

โลมา

ฝูงโลมาในขณะที่เข้าโจมตี Baitball จากทุกทิศทุกทางพร้อมๆ กัน นก Cape Gannet
นก Cape Gannet (Morus Capensis) ทิ้งตัวจากฟากฟ้าลงไปในน้ำเพื่อไล่จับปลาซาร์ดีนที่หนีการไล่ล่าของฝูงโลมาขึ้นมาในบริเวณใกล้ผิวน้ำเป็นอาหาร

เราโชคดีที่ Baitball เกิดขึ้นบริเวณแนวน้ำด้านนอก ที่แม้ว่าจะไม่ใสมากนักแต่ก็ไม่ขุ่นจนมองแทบไม่เห็น ทัศนวิสัยมองไปได้ไกลเกือบ 10 เมตร ผมว่ายตรงเข้าไปหากลุ่มซาร์ดีนที่ม้วนตัวเป็นก้อนกลมอยู่กลางน้ำ ในหูของผมอื้ออึงไปด้วยเสียงของโลมาที่พูดคุยสื่อสารกัน ก่อนที่ตัวใดตัวหนึ่งจะส่งเสียงแหลมๆ เป็นการส่งสัญญาณ แล้วโลมาจะว่ายพุ่งเข้ามาทุกทิศทุกทางอย่างรวดเร็วราวกับจรวด ทำให้ฝูงซาร์ดีนแตกกระจายออกไปก่อนที่โลมาอีกหลายตัวจะผลัดเข้ามาล้อมแและรักษาฝูงซาร์ดีนให้คงรูปทรงกลมเอาไว้ไม่ให้แตกกระจายออกไปอย่างไร้ทิศทาง สลับกับเสียงดังสนั่นของนกแกนเน็ตที่ทิ้งตัวลงใต้ผืนน้ำ ก่อนจะดำน้ำว่ายไล่จับปลาซาร์ดีนที่หนีขึ้นมาใกล้ผิวน้ำ การบันทึกภาพนั้นทำได้ยากมาก เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ฝูง Baitball ขยับเคลื่อนที่ไปทางซ้ายที ขวาที บางทีก็ว่ายขึ้นไปใกล้ผิวน้ำ บางทีก็หมุนตัวลงไปในความลึกเบื้องล่าง เราว่ายรักษาระยะห่างเอาไว้ ขณะที่บันทึกภาพก็ต้องคอยเหลือบมองความลึก ทิศทางการเคลื่อนไหว และต้องคอยคาดเดาว่าฝูงโลมาจะเคลื่อนที่เข้ามาจากทิศทางไหนบ้าง

Baitball ฝูงที่เราพบนั้นมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เพียงไม่ถึง 10 นาทีฝูงปลาซาร์ดีนนั้นก็เริ่มร่อยหรอลงอย่างเห็นได้ชัด นุเคยบอกกับผมว่าถ้าจะดูขนาดของ Baitball ว่าใหญ่แค่ไหน ส่วนมากเขาจะนับจากปริมาณของสัตว์นักล่าว่ามีจำนวนแค่ไหน มีโลมาราวๆ กี่ตัวและที่สำคัญก็คือมีฉลามผู้ที่เชื่องช้ากว่าเข้ามาทันกิน Baitball นั้นไหมและมีจำนวนเท่าไร และถ้า Baitball มีขนาดใหญ่มากๆ ขนาดที่ฝูงโลมา ฉลาม และนก ลงกินมากๆ นานนับชั่วโมงหรือหลายๆ ชั่วโมงแล้วยังไม่หมด เราจะมีโอกาสพบเห็นวาฬบรูด้าเข้ามาร่วมกิน Baitball นั้นด้วย

วาฬหลังค่อม

วาฬหลังค่อมกระโดดพลิกตัวตีลังกาขึ้นเหนือผืนน้ำ ในช่วงฤดูหนาวฝูงวาฬจากซีกโลกใต้จะอพยพหนีอากาศหนาวอันโหดร้ายขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกันกับซาร์ดีน เพื่อไปให้กำเนิดชีวิตใหม่ในน่านน้ำที่อบอุ่นในแถบประเทศโมซัมบิก ก่อนจะอพยพย้ายกลับลงไปในบริเวณขั้วโลกใต้ในช่วงฤดูร้อน

ในช่วงปลายไดฟ์ผมสังเกตเห็นฉลามขนาดใหญ่ว่ายเข้ามาร่วมวง Baitball ที่ร่อยหรอลง มันเป็นฉลาม Sand Tigershark หรือที่บางคนรู้จักกันในชื่อ Grey Nurse Shark ที่ดูเชื่องช้าเกินกว่าจะไล่ Baitball โดยปกติแล้วเราจะไม่ค่อยเห็นมันว่ายขึ้นมาใกล้กับผิวน้ำเช่นนี้บ่อยนัก  นิคที่เพิ่งพานักดำน้ำอีกกลุ่มลงมาสมทบว่ายเข้ามาหาผม พร้อมกับไม้พลองในมือที่เอาไว้ใช้ชี้และยันฉลามขนาดใหญ่ในกรณีที่มันเข้ามาใกล้และให้ความสนใจนักดำน้ำมากจนเกินไปนัก

แต่เจ้า Sand Tiger Shark ตัวนี้ดูไม่มีท่าทีดุร้ายกับนักดำน้ำ มันเพียงแค่ว่ายน้ำวนเวียนไปมาพยายามหาทางกินซาร์ดีนนี้ให้ได้ ในขณะที่ฝูงโลมานั้นหายไปไหนแล้วก็ไม่รู้ ไม่นานนักเมื่อไม่มีโลมา ฝูงซาร์ดีนที่เหลืออยู่ไม่มากนั้นก็ค่อยๆ สลายตัวที่ม้วนกันเป็น Baitball ออกและว่ายหายลับไปในม่านน้ำสีคราม ท้องทะเลที่เคยเต็มไปด้วยฝูงปลาและการไล่ล่ากลับมาเงียบสงบเหมือนเดิม เหลือเพียงเกล็ดสีเงินวาววับของซาร์ดีนที่สะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ เป็นประจักษ์พยานให้เรารับรู้ว่าเมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมานั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นเพียงภาพหลอนอันเลือนลางในความฝันของพวกเรา

งานเลี้ยงจบลงแล้ว และงานของผมที่เฝ้ารอมาเกือบ 2 ปีก็เสร็จสิ้นลงเช่นกัน ความเครียดที่เขม็งเกลียวมาในหัวหลายวันค่อยผ่อนคลายลง ผมทิ้งตัวลงนอนเอาหลังพิงคอนโซลเรือและเหยียดเท้าออก สายตามองออกไปที่ความเวิ้งว้างของห้วงมหาสมุทร ในขณะที่เรือยางลำจิ๋วเมื่อเทียบกับความกว้างใหญ่ของมหาสมุทรนั้นพาเราพุ่งทะยานไปเหนือเกลียวคลื่นที่ม้วนตัวเข้าหาฝั่งราวกับไม่มีที่สิ้นสุดของท้องทะเล

Writer & Photographer

Avatar

นัท สุมนเตมีย์

ช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพที่เรียกได้ว่าคนแรกๆ ของประเทศไทย เริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพและนักเขียนให้กับนิตยสาร อ.ส.ท. และ อีกหลากหลายนิตยสารทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ปัจจุบันนอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว นัท ยังถ่ายภาพยนต์สารคดีใต้ท้องทะเล และบันทึกภาพทางอากาศให้กับทีมงานสารคดีหลายทีม