The Cloud X  สารคดีสัญชาติไทย

 

ปลายฤดูหนาว
เชิงดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย

หลังผ่านมาราว 2 ชั่วโมง กับเส้นทาง ร่องลึก เนินชันๆ ลื่นไถล ผมหักพวงมาลัยรถเข้าจอดใต้ร่มไม้ใหญ่

ถอยออกมาหน่อยพี่ใหญ่ ตรงนี้เดี๋ยวไม้หักใส่รถ เราจอดไว้นาน” เสียงตะโกนเป็นภาษาไทยสำเนียงแปร่งๆ ดังมาจากกระบะหลัง

ผมปฏิบัติตาม จอดรถเสร็จก็ลงมาช่วยยกสัมภาระจากท้ายรถ

ผู้ชาย 3 คนที่อยู่บนกระบะส่งเสียงเอะอะด้วยภาษามูเซอ ทั้งสามคนร่วมทางมาเพื่อช่วยผมแบกของขึ้นดอย ทำหน้าที่คล้ายลูกหาบ แต่หลังจากผ่านมาหลายปีที่เข้ามาทำงานที่ดอยแห่งนี้ ดูเหมือนว่าสัมพันธภาพระหว่างเราคือเพื่อนกัน

คนอาวุโสคือ จะปุ๊ ส่วนอีก 2 คนชื่อ จะชี และ จะออ เป็นหลานชายของจะปุ๊

ผู้ชายชาวมูเซอใช้คำนำหน้าชื่อว่า ‘จะ’ ความหมายไม่ต่างจากคำว่า นาย

สัมภาระกองใหญ่ข้างรถ จะปุ๊ยืนมองยิ้มๆ ก่อนถามเบาๆ

ถ้าไม่มีของพวกนี้ พี่ใหญ่จะใช้ชีวิตอยู่บนดอยได้ไหม”

ผมอึ้งไปชั่วขณะ นึกหาคำตอบ ไม่มีถุงนอนอุ่นๆ ไม่มีเต็นท์ ไม่มีผ้ายางกันน้ำค้าง กันฝน และอีกหลายอย่างที่จะอำนวยความสะดวก

รีบๆ ไปเถอะ เดี๋ยวมืด” ผมเลี่ยงการตอบคำถาม และยกเป้ขึ้นสะพายหลัง เดินนำหน้าไปก่อน

ผมใช้เวลาหลายปีแล้วบนดอยม่อนจองแห่งนี้

ใช้เวลาเพื่อเฝ้าดูกวางผา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งสถานภาพของพวกมันใกล้สูญพันธุ์ สาเหตุหลักๆ คือแหล่งอาศัยถูกบุกรุก ปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตร หรือเมือง

ป่าที่อยู่โดนตัดออกเป็นช่วงๆ ไม่ต่างจากเกาะแก่งในทะเล

และกวางผาติดอยู่ตามเกาะเหล่านั้น

ผมพยายามเฝ้าดูว่าพวกมันมีชีวิตอยู่อย่างไร และวันพรุ่งนี้ของพวกมันจะเป็นอย่างไร

เหล่านี้คือ ‘ปริศนา’ ที่ผมกำลังตามหาอยู่บนผาสูง

จะปุ๊เดินตามมาติดๆ พ่นควันยาเส้นโขมง พูดจ้อยๆ อันเป็นปกติเหมือนทุกครั้งที่เดินขึ้นดอย คงลืมไปแล้วว่าเมื่อสักครู่ถามอะไร

ครั้งนี้เราจะอยู่บนดอยหลายวัน จะปุ๊วางแผนให้หลานลงมาเอาเสบียงอาทิตย์ละหน ซึ่งเขาจะได้ให้เอา ‘ดาวลอย’ เหล้าต้มด้วย ดาวลอยที่เราเตรียมไปจะอยู่ได้ไม่เกิน 5 วัน

ผมหวังว่าเวลาหลายวันบนดอยครั้งนี้ คงพบกับคำตอบที่จะปุ๊ถาม

ในการตามหากวางผา ผมใช้เวลาอยู่ที่ดอยอินทนนท์ด้วย ว่าตามจริงแล้ว ดอยอินทนนท์ก็คล้ายเป็นอีกเกาะหนึ่งซึ่งมีกวางผาติดอยู่

ก่อนมาดอยม่อนจองคราวนี้ ผมใช้เวลาที่อินทนนท์กว่าเดือน

ทุกๆ เช้า ผมใช้เวลาราว 3 ชั่วโมงเพื่อเดินไปซุ้มบังไพร ทางช่วงแรกเป็นหุบรายล้อมด้วยป่าแน่นทึบ ไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้ตระกูลไม้ก่อ ลำต้นโอบไม่รอบ ตามลำต้นถูกปกคลุมด้วยมอสเขียวทึบ

มอสและฝอยลมที่ปกคลุมลำต้นไม้ก่อ รวมทั้งต้นสารภีป่า ซึ่งสูงชะลูดขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 30 เมตร เหล่านั้นทำให้ภาพที่มองเห็นดูคล้ายฉากในเรื่องราวของความลี้ลับ

แท้จริง นี่คือการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต ดูเหมือนว่าทุกชีวิตในป่าจะไม่มีชีวิตใดโดดเดี่ยว ความสัมพันธ์ปรากฏในรูปแบบต่างๆ ได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน

ไม้ก่อ ไม้สารภี มีมอส ฝอยลม รวมทั้งเฟิร์น เกาะอยู่รอบกิ่งก้านและลำต้น

มอสและเฟิร์นอาศัยต้นไม้เป็นที่เกาะอาศัย

ส่วนต้นไม้ก็ได้มอส เฟิร์น ช่วยห่อหุ้มลำต้น เป็นตัวควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้

ดอยม่อนจอง ดอยม่อนจอง

ระยะทางไม่ไกล แต่เพราะต้องลัดเลาะไปตามหน้าผา บางช่วงแคบ กระทั่งต้องใช้วิธีตะแคงพร้อมก้าวเท้าไปช้าๆ มือแตะผนังหินประคองตัว บางช่วงเส้นทางดิ่งลง วิธีที่ดีคือค่อยๆ ไถลตัวลงไป

ซุ้มบังไพรมีอายุกว่า 3 ปี อยู่บนชะง่อนหินแคบๆ ติดหน้าผาที่มีความชันร่วม 90 องศา ถัดไปคือหุบลึก ในหุบมีลำห้วยสายเล็กๆ ในฤดูหนาวเหลือเพียงสายน้ำไหลรินๆ

อีกฟากหนึ่งของหุบเป็นบริเวณหน้าผาชัน ลาดเป็นแนวยาวลงไปถึงหุบเบื้องล่างซึ่งเป็นป่าแน่นทึบ บริเวณนั้นเป็นอาณาเขตของกวางผาโตเต็มวัยตัวหนึ่ง

อาณาเขตนี้เป็นส่วนหนึ่งของทิวดอยอินทนนท์ ภูเขาที่อยู่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 2,576 เมตร ด้วยความสูงขนาดนี้ หมายถึงนี่คือยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย

ดอยถูกล้อมรอบด้วยทิวเขาซับซ้อน เป็นต้นแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำน่าน และแม่น้ำยม หรือในอีกความหมายหนึ่ง ดอยแห่งนี้ถูกเรียกว่า ‘ทิวเขาผีปันน้ำ’ ในลักษณะเป็นทิวเขาสูงชัน วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ลักษณะคล้ายนิ้วมือยื่นไปสู่แม่น้ำ หุบเขาแต่ละแห่งปรากฏเป็นรูปตัว v ลึก ด้านข้างสูงชัน

หน้าผาและหุบเหวสูงชัน ราวกับไม่มีชีวิตใดอาศัยอยู่ได้

แต่นี่คือ ‘บ้าน’ แห่งหนึ่งของกวางผา

ลำห้วย สายน้ำไหลริน แม้ว่านี่คือผืนป่าที่มีปริมาณน้ำฝนสูงถึง 2,000 – 2,500 มิลลิเมตรก็ตาม สภาพของป่าดิบเขาอันสมบูรณ์ช่วยลดความรุนแรงของเม็ดฝนที่ตกกระทบผิวดินรากไม้ที่แผ่กระจายไปทั่ว เป็นตัวช่วยให้น้ำซึมลงใต้ดิน พร้อมทั้งช่วยชะลอการไหลบ่าของน้ำผิวดิน เรือนยอดไม้ที่ปกคลุมทั่วพื้นทำให้อัตราการระเหยของน้ำจากผิวดินมีน้อย

หลังหมดฤดูฝน ผืนดินที่ป่าคลุมอยู่จะค่อยๆ ระบายน้ำออกเป็นลำห้วยสายเล็กๆ

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ฝนเริ่มโปรยปราย หมอกหนาปกคลุม สายลมกระโชกแรง โดยเฉพาะริมหน้าผา บางครั้ง ในรอบ 3 วัน สภาพอากาศเปิด แจ่มใส เพียง 10 นาที

และนั่นก็พอเพียงสำหรับการบันทึกภาพกวางผา ที่มักยืนหรือนอนนิ่งๆ อยู่บนชะง่อนหิน

ถึงกลางเดือนตุลาคม สายฝนจาง สายลมหนาวเดินทางมาถึง อุณหภูมิซึ่งต่ำอยู่แล้วลดลงอีก หญ้าเขียวชอุ่ม มะแหลบชูช่อสีขาว แต่งแต้มให้บริเวณริมหน้าผาสดใส

ตั้งแต่เช้ามืด ผมเดินผ่านดงไม้หนาทึบ ต้นก่อ ต้นสารภี ถูกห่อหุ้มด้วยมอสและเฟิร์น

แม้ว่าเดินอยู่ลำพัง ป่ารอบๆ ตัวทำให้ได้รับความรู้สึกหนึ่ง

บางที ชีวิตที่โดดเดี่ยวอาจไม่มีจริง

ดอยม่อนจอง

ดอยม่อนจอง

ทุกวัน เมื่อถึงซุ้มบังไพร ดวงอาทิตย์ยังโผล่ไม่พ้นสันเขา ลาดผาด้านตะวันตกอยู่ในเงามืด สันเขาด้านตะวันออกบังแสงอาทิตย์ไว้ สภาพสันเขาด้านนั้นโล่งเตียน มีหญ้าขึ้นบนพื้นที่มีดินตื้นๆ กระแสลมพัดแรงตลอด เป็นอีกสาเหตุที่ต้นไม้ใหญ่หลีกเลี่ยงในการอยู่บริเวณนี้

ยอดหญ้ายามเช้าตรู่มีหยาดน้ำค้างเกาะพราว กระทบแสงอ่อนๆ เป็นเงาระยิบ หากเป็นฤดูหนาว น้ำค้างเหล่านี้จะแปรสภาพเป็นเกล็ดน้ำแข็ง

สันเขาด้านตะวันตกนี้คือที่อยู่ของกวางผา ซึ่งจะใช้ชีวิตตามแสงดวงอาทิตย์ไปเรื่อยๆ

ดวงอาทิตย์ลอยขึ้นสูง แสงจากสันเขาลดต่ำลง กวางผาจะเดินหรือยืนตากแดดอุ่นๆ แถวชะง่อนหินประจำ มันยืนนิ่ง เหม่อมองลงไปในหุบ นอกจากบางครั้งยกขาหลังขึ้นเกาหลังหรือหลังใบหู บางครั้งก็ทรุดตัวลงครึ่งนั่งครึ่งนอน แต่ถ้าอากาศแจ่มใส อาจเห็นมันนอนเหยียดยาว คางเกยก้อนหิน หลับตาพริ้ม

ครั้นแสงอาทิตย์สาดส่องถึงหุบเขาด้านล่าง ชะง่อนหินเริ่มร้อน กวางผาจะลุกขึ้น เดินไต่ลงไปจนถึงดงไม้ทึบในหุบ และจะขึ้นมาอีกราวๆ บ่าย 3 โมง ขณะไต่ขึ้น ทักษะและความคล่องแคล่วในการปีนป่ายของกวางผาปรากฏให้เห็นชัด

มันกระโจนไปตามลาดผาชันกว่า 45 องศา ราวกับเป็นเรื่องง่ายๆ

กวางผาจะขึ้นมาอยู่บนชะง่อนหินเดิม ยืนนิ่งๆ เหม่อมองไปยังหุบเบื้องล่าง จนถึงพลบค่ำ

หากสภาพอากาศเปิด นี่คือสิ่งที่ผมจะได้เห็น

แต่ในวันที่สายฝนพรำ หมอกหนาทึบ ดูเหมือนจะมีแต่ความเย็นยะเยือกเท่านั้น ที่รายล้อมซุ้มบังไพรไว้

ผมกับจะปุ๊เดินถึงจุดที่เราตั้งแคมป์ริมลำห้วย จะชีและจะออเตรียมที่ไว้แล้ว พวกเขาเดินมาถึงก่อน

ผมกางเต็นท์ ขึงผ้ายาง คลี่ถุงนอน ปูพื้น จะปุ๊ขุดหลุมก่อนก่อไฟ ในนั้น เขาหุงข้าว ทำกับข้าว อย่างคล่องแคล่ว

แคมป์ในหุบ ลมสงบนิ่ง สายลมพัดผ่านยอดไม้ดังหวีดหวิว กองไฟส่องแสงวับแวม ลูกไฟแตกประกาย ผมนั่งข้างจะปุ๊ที่อยู่ในชุดเสื้อ-กางเกงที่ผมเห็นเขาสวมประจำ

ขณะเฝ้ารออยู่ริมหน้าผาโดยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่อากาศจะเปิด แต่ขณะเดินผ่านดงไม้ทึบ ต้นไม้บอกให้รู้ว่า ชีวิตต่างต้องเติบโต และต้องอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกัน

กวางผาที่ผมเห็น มันมักยืนนิ่งเป็นเวลานาน ดูคล้ายโดดเดี่ยว แต่หลายครั้ง ผมเห็นพวกมันอยู่ร่วมกันหลายตัว

ผมมีคำตอบให้จะปุ๊ที่ถามตอนก่อนเดินขึ้นดอย ตอบโดยออกมานอนข้างกองไฟร่วมกับพวกเขา

นอนอยู่ในเต็นท์มีเครื่องนอนอุ่นๆ เพียงลำพัง คล้ายจะเป็นความโดดเดี่ยวอย่างแท้จริง

ดอยม่อนจอง

ผมไม่รู้หรอกว่า ขณะยืนอยู่ริมหน้าผา เหม่อมองไปเบื้องล่าง กวางผาคิดอะไร

แต่รู้อย่างหนึ่งว่า คนเมื่อขึ้นมาอยู่บนหน้าผา

อาจจำเป็นต้องค้นหาคำตอบที่มีอยู่บนนั้นให้พบ…

 

Writer & Photographer

Avatar

ปริญญากร วรวรรณ

ถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์ป่าและดงลึกทั่วประเทศไทยผ่านเลนส์และปลายปากกามากว่า 30 ปี มล. ปริญญากร ถือเป็นแบบอย่างสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างเคารพธรรมชาติให้คนกิจกรรมกลางแจ้งและช่างภาพธรรมชาติรุ่นปัจจุบัน