ย้อนกลับไปหลายๆ ปีก่อน เอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ คือหญิงสาวหน้าตาสดใสที่หลายคนน่าจะรู้จักกันในฐานะ ‘คุณหมอนักแต่งเพลง’ ผู้เป็นคนแต่งเพลงฮิตอย่าง เจ็บซ้ำซ้ำ ของ แอน ธิติมา, รักเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ ของ ลูกปัด, คำถามของ ท๊อฟฟี่, ทำไมต้องรักเธอ คริส หอวัง & อุ๋ย Buddha Bless และ เจ็บแต่จบ ของ อ๊อฟ ปองศักดิ์ 

โดยสรุปคือเธอเป็นนักแต่งเพลงป๊อปฝีมือดีของบ้านเราคนหนึ่ง ไว้ใจได้ในเรื่องมุมมองที่เฉียบคมของเนื้อเพลง เมโลดี้ที่ติดหู และโอกาสในการสร้างเพลงฮิต

แต่หากย้อนเวลากันอีกที ถอยกลับไปไม่ไกลนัก เอาแค่ช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าชื่อของเอิ้นจะห่างเหินไปจากวงการดนตรีไทยพอสมควร ไม่มีเพลงฮิตใหม่ๆ จากปลายปากกาของเธอมาพักใหญ่ หญิงสาวห่างหายจากสื่อบันเทิง คลื่นวิทยุ และเวทีคอนเสิร์ต เป็นการห่างหายไปของคนแต่งเพลงอนาคตไกลคนหนึ่ง

คนใกล้ตัวจะพอรู้กันว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับเธอไม่น้อยในช่วงที่ผ่านมา เอิ้นแต่งงานกับคนรัก ย้ายจากกรุงเทพฯ กลับไปเป็นจิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลที่จังหวัดเลย-บ้านเกิดของเธอ และหันไปช่วยดูแลธุรกิจโรงแรมของสามี สรุปคือ จากหญิงสาวหน้าตาสดใสในวงการบันเทิง เธอกลายเป็นนักธุรกิจ เป็นคุณหมอ เป็นผู้บริหารโรงพยาบาล… เป็นผู้ใหญ่ที่มีบทบาทและความรับผิดชอบเปลี่ยนไปมากมาย 

แต่ถอยมาอีกนิด ย้อนเวลากลับไปแค่ชั่วเวลาราวหนึ่งปีที่ผ่านมา บางคนอาจจะเริ่มเห็นหน้าค่าตา เอิ้น พิยะดา ในสื่อมากขึ้นอีกครั้ง บางคนอาจเริ่มทำความรู้จักกับเธอเพราะได้พบเจอในสื่อออนไลน์ที่เอิ้นเริ่มต้นใช้สื่อสารอย่างจริงจัง บางคนอาจลงเรียนคอร์สเกี่ยวกับการพัฒนาตนเองที่เอิ้นเริ่มต้นเปิดอบรมบ้างแล้ว ในขณะที่หลายคนยังจดจำเพลงของเธอหลายๆ เพลงได้ขึ้นใจอยู่จนถึงวันนี้

ชีวิตมีจังหวะของมันเอง เหมือนบทเพลงแต่ละเพลงที่มีจังหวะเฉพาะตัว 

และเช่นเดียวกับที่ดนตรีทำงานกับจิตใจ หรือจิตแพทย์ที่ต้องทำงานกับจิตใจ เราเองก็อยากลองจับจังหวะชีวิตในวันนี้ของ เอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ แล้วนั่งลงสำรวจเรื่องราว ชีวิต และจิตใจของเธอในปัจจุบันดูสักครั้ง

จิตใจในปัจจุบันของคุณหมอนักแต่งเพลงป๊อป เอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ

เราเคยรู้จักคุณในฐานะ ‘คุณหมอนักแต่งเพลง’ แต่วันนี้ถ้าให้ลองจำกัดความสิ่งที่คุณทำอยู่ในปัจจุบัน คุณกำลังทำงานอะไรอยู่บ้าง

เอิ้นก็ยังเป็นจิตแพทย์ ยังตรวจคนไข้อยู่ แต่ว่ามาทำเรื่องการศึกษาภายในจิตใจ เริ่มศึกษาเรื่องจิตวิทยามากขึ้น หลักสูตร ‘มาหาสารความสุข’ เป็นหลักสูตรที่เอิ้นออกแบบจากกระบวนการที่เอิ้นต้องเรียนเพื่อรู้จักคนไข้ คือทำยังไงให้คนเข้าใจการทำงานของจิตใจเชิงลึก เพื่อเห็นว่าจริงๆ กลไกอัตโนมัติที่บล็อกศักยภาพของตัวเองอยู่คืออะไร

แล้วเอิ้นก็กำลังทำเรื่องการสื่อสาร เป็นหลักสูตรชื่อว่า Crucial Communication เพราะอาวุธสำคัญของจิตแพทย์คือการฟัง แต่ฟังอย่างเดียวไม่พอ แค่การสื่อสารธรรมดาๆ ที่เราใช้พูดคุยกันก็ไม่พอเหมือนกัน เพราะตอนนี้เราทุกคนมีความเครียด เรามีอารมณ์ เรามีความทุกข์กันทุกคน ดังนั้นทำอย่างไรให้การสื่อสารของเราแสดงสิ่งที่เราคิด สื่อสิ่งที่เป็นความเครียด ความท้อแท้ ความเหนื่อยของเรา โดยที่คนฟังก็รับฟังได้ รวมถึงสื่อสารเรื่องฟีดแบ็กด้วย 

เอิ้นว่าหัวใจของฟีดแบ็กคือการทำให้คนมีชีวิตดีขึ้น ทำให้เขารู้ว่าเขาจะดีขึ้นได้ยังไง มีจุดอ่อนอะไร แต่ว่าการฟีดแบ็กตอนนี้ พอบอกว่าคุณจะถูกฟีดแบ็กนะ กลับรู้สึกเหมือนเราต้องไปเข้าห้องเย็น คือใจมันสั่นแล้ว สิ่งนี้ทำให้คุณค่าจริงๆ ของฟีดแบ็กหายไป เอิ้นก็เลยมาทำเรื่องของ Value Feedback ว่าทำยังไงให้การให้ฟีดแบ็กกันเป็นเหมือนการให้ของขวัญ

อันนี้เป็นส่วนที่เอิ้นทำอยู่ในเรื่องของการศึกษา ทำให้เรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึง ไม่ใช่ว่ามีปัญหาแล้วทุกคนต้องนึกถึงเอิ้น บางทีเราแค่รู้สึกว่าเราอยากเก่งเรื่องนี้มากขึ้น เราอยากเข้าใจตัวเองเรื่องนี้มากขึ้น เราก็นึกถึงผู้เชี่ยวชาญได้

แล้วทำไมจากที่คุณเคยเป็นหมอที่ตรวจคนไข้ ถึงมาสนใจการให้ความรู้มากขึ้น

เอิ้นคิดว่ามันมีจุดอิ่มตัวบางอย่าง ด้วยความที่เราอยู่ในโรงพยาบาลรัฐมาตลอด ก่อนลาออกเอิ้นรับราชการมาสิบสามปี เวลาผ่านไปเร็วมาก พอเราอยู่ในโรงพยาบาลรัฐ ก็ได้ประสบการณ์ดีๆ มากมาย เพราะเราได้สัมผัสคนในทุกรูปแบบ ตั้งแต่คนที่อยู่ในคุก จนถึงคนที่ทำงานรับราชการหรือมีธุรกิจระดับสูง เราได้ดูแลเขาทั้งหมดเลย ที่สำคัญคือ เราดูแลเขาในปริมาณมากด้วย

ตอนอยู่โรงพยาบาล บางวันเอิ้นตรวจเป็นร้อยคน สิ่งหนึ่งที่เราได้เป็นทักษะจากตรงนั้นคือ การที่เราเห็นความหลากหลาย จนเกิดเป็นไหวพริบในการตรวจ การเห็นปัญหา การมองปัญหา แต่พอไปถึงจุดหนึ่ง เรารู้สึกว่าการทำงานกับปริมาณนี่แหละคือข้อจำกัดในชีวิตของเรา และเรายังรู้สึกอีกว่าอยากทำงานกับคนที่ยังไม่ป่วยด้วย

เนื้องานของจิตแพทย์เรามีสามส่วน ส่วนแรกคือการป้องกันคนไม่ให้ป่วย ด้วยการทำให้เขามีความรู้เกี่ยวกับจิตใจตนเอง เกี่ยวกับความเครียด เกี่ยวกับความขัดแย้ง ทำให้เขาดูแลความเครียดของเขาได้ แล้วเขาก็จะไม่ป่วย ซึ่งเอิ้นรู้สึกว่าคนเหล่านี้มีมากมาย กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ถ้าดูแลแล้วเขากลับมามีความสุข กลับมาใช้ศักยภาพ พวกเขาคือกลุ่มที่ทำงานให้กับสังคม เป็นหัวหน้าครอบครัว ดูแลคนอื่น

คนที่ยิ่งเก่ง ยิ่งเป็นหัวหน้า ยิ่งถูกหลงลืมจิตใจ ในขณะที่เรารักษาคนที่เป็นโรคแล้วจนอิ่มตัว อิ่มตัวในแบบที่บางทีเรารู้เลยว่าเราจะต้องให้ยาอะไร จนเราล้อตัวเองนะบางที ว่าเราไม่ต้องผ่านกระบวนการคิด สัญชาตญาณเราทำงานโดยปกติ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นภาวะที่ไม่ค่อยดีนักนะ มันทำให้เราไม่ได้ใช้ศักยภาพความรู้ใหม่ แล้วเราก็ไม่มีเวลาด้วยเพราะเราต้องตรวจคนจำนวนมาก

อีกเรื่องที่จิตแพทย์ทำก็คือ ในกลุ่มคนที่ป่วยแล้ว บางทีต้องใช้เวลาในการซ่อมบำรุงนานกว่าเขาจะกลับมาเป็นปกติ หรือพอเขากลับมาเป็นปกติ เขาก็อาจจะยังใช้ชีวิตไม่ได้ ฉะนั้น เป้าหมายของการดูแลคนที่ป่วยมากๆ บางทีสิ่งดีที่สุดเป็นแค่การทำให้คนรอบข้างเขาดูแลเขาได้ ง่ายเท่านั้นเอง

จิตแพทย์ทำงานสามส่วนคือ ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู พออยู่ในจุดที่เรารักษาคนอื่นจนอิ่มตัว ก็เลยคิดว่าเราอยากลดตรงนี้ จากเดิมทีมันร้อยเปอร์เซ็นต์จนเราทำอย่างอื่นไม่ได้เลย ให้เหลือแค่สามสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะว่า หนึ่ง เราเป็นจิตแพทย์ เราต้องรักษาคนที่เป็นโรคให้ได้ และสอง เป็นพื้นที่ทำเรื่องจิตบำบัด จิตแพทย์ทุกคนต้องเรียนเรื่องการทำจิตบำบัด และต้องทำจิตบำบัดยาวนานต่อเนื่องกับคนไข้ เก็บเป็นกรณีศึกษาสามปี อะไรแบบนี้เลยนะ

มันคือประสบการณ์ที่มีคุณค่า ซึ่งเอิ้นก็ไม่อยากทิ้ง การทำจิตบำบัดทำให้หมอรู้จักคนในเชิงลึก นอกจากรู้ว่าเขาเป็นยังไงในภาพกว้าง ก็เลยขอลดให้เหลือสามสิบเปอร์เซ็นต์ เพื่อใช้เวลาที่เหลือกับการป้องกันไม่ให้ป่วย และส่งเสริมให้เขาได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ในชีวิต

พอคุณตั้งเป้าหันมาเรื่องการให้ความรู้คนอื่นมากขึ้น คุณต้องทำอะไรเพิ่มบ้าง ต้องปรับตัวหรือเรียนรู้ทักษะอะไรเพิ่มไหม

ก่อนหน้านี้เอิ้นวางแผนพอสมควรเลย ใช้เวลาวางแผนไปประมาณสองปี (หัวเราะ) เพื่อเปลี่ยนถ่ายชีวิตตัวเอง เพราะเราอยากเอาองค์ความรู้ที่เราเรียนจิตแพทย์ หรือกระบวนการรักษาคนไข้ออกมาให้คนที่ยังไม่ป่วยได้เรียนรู้ หรือคนที่อยากมีความสุขมากกว่านี้ ให้มีศักยภาพมากกว่านี้ เราต้องทำอะไรบ้างนะ

เอิ้นก็ไปเรียนเรื่องของการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ไปเข้าโปรแกรมยี่สิบเอ็ดวันเรื่อง Awakening Leadership ของ อาจารย์ประชา หุตานุวัตร ซึ่งอาจารย์เขาเปิดให้คนมาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ปกติคลาสนี้จะเปิดเฉพาะชาวต่างชาติ ให้ฝรั่งบินมาเรียน แต่ตอนนั้นเป็นคลาสแรกที่พี่ประชาเปิดสำหรับให้คนไทยเรียน ซึ่งทั้งหมดต้องเรียนยี่สิบเอ็ดวันแบบอยู่ยาว เราก็ไปเรียน ใช้วันลาทั้งหมดรวมกันเลย (หัวเราะ)

หลังจากนั้นก็มาค่อยๆ ออกแบบแล้วก็สอน ช่วงนั้นใครอยากให้เราไปให้ความรู้อะไรเราก็ไป เริ่มจากในสถานศึกษาก่อน ใครติดต่อมาเราไปหมด เราเริ่มออกแบบการเรียนรู้จากแค่เป็นเลกเชอร์ กลายเป็นการจัดกิจกรรม เพื่อให้เขาได้สัมผัสความรู้สึก สัมผัสความคิด แล้วก็ถอดบทเรียน เราใช้เวลาว่างที่ไม่ได้อยู่ในราชการมาฝึกฝนเรื่องนี้ จนเรารู้สึกว่า ได้เห็นแก่นของสิ่งที่เราอยากสื่อสารแล้ว เราเห็นกิจกรรมที่น่าสนใจ เราก็เอามาออกแบบเป็นคลาสอย่าง ‘มาหาสารความสุข’

คุณพูดถึงเรื่องการรับฟีดแบ็กด้วย ทำไมถึงอยากสอนเรื่องนี้

ทุกการทำงานจะมีประสิทธิผลเมื่อหลังงานเราให้ฟีดแบ็กกัน ถูกไหม ถ้าอยากให้การเรียนรู้เรื่องซอฟต์สกิลล์ เรื่องจิตใจได้ผลจริงๆ มันไม่ได้เกิดจากเลกเชอร์อย่างเดียว แต่เป็นความรู้ในระดับความคิด ไม่ต่างอะไรจากการที่คนเราไปอ่านหนังสือฮาวทู แต่ชีวิตก็ไม่ดีขึ้นสักที แล้วกลายเป็นรู้สึกไม่ดีกับตัวเองด้วยนะว่า “เอ้อ ก็รู้นะ แต่ทำไมทำไม่ได้”

เอิ้นคิดว่าการปลดล็อกสำคัญก็คือ ทำยังไงให้ความรู้ไม่อยู่แค่ความคิด ความรู้เรื่องจิตใจก็ต้องเรียนรู้ระดับจิตใจ เรียนรู้ระดับสัญชาตญาณ การที่เราสร้างกิจกรรมบางอย่างขึ้นมาเลยเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ บางครั้งเราทำคนเดียวไม่ได้ ก่อนทำเราต้องมีทีม เราก็ต้องทำ Pre-group พอทำกิจกรรมในคลาสแล้ว เรียนรู้แล้ว จบคลาสไปครั้งหนึ่ง เราก็ต้อง Post-group ซึ่งก็คือการฟีดแบ็กนั่นแหละ สิ่งนี้มันมีประโยชน์

ทุกงานที่เราต้องทำมากกว่าหนึ่งคน หรือแม้แต่งานที่เราทำแค่คนเดียว เราก็ควรจะฟีดแบ็กตัวเองนะ การฟีดแบ็กเหมือนการทบทวนสิ่งที่เราทำ เพื่อทำสิ่งนี้ให้ดีขึ้นในครั้งหน้า

แต่มันก็เกิดเป็นข้อสงสัย ซึ่งเราสัมผัสกับตัวเองด้วย เวลาเราทำงานในระบบในองค์กร พอพูดถึงฟีดแบ็ก ทุกคนกลัวกันหมดเลย รู้สึกเหมือนว่าฉันต้องทำอะไรผิดแน่ๆ และหลายครั้งการฟีดแบ็กก็ทำให้คนเจ็บปวดจริงๆ กลายเป็นว่าเราขัดแย้งกัน แล้วเราก็มีปัญหาความสัมพันธ์กัน สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความสุขและการทำงานทั้งนั้น ทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกันหมด

จิตใจในปัจจุบันของคุณหมอนักแต่งเพลงป๊อป เอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ

มันควรเป็นเรื่องพื้นฐานในชีวิตประจำวันใช่ไหม

ใช่ การเป็นจิตแพทย์ เราถูกฝึกมาว่าคนที่พูดไม่รู้เรื่อง เราก็รู้เรื่องได้นะ (หัวเราะ) คนที่หลุดไปแล้ว ความคิดสับสนไปหมดแล้ว เรายังช่วยให้เขารู้เรื่องได้ เรายังเข้าใจเขาได้ หรือแม้กระทั่งคนที่สับสนจนพูดไม่ได้ เราก็ต้องฝึกที่จะเข้าใจหัวใจเขา เหมือนเป็นปากของเขาได้ คนทั่วไปก็อาจไม่ได้ต้องมากขนาดนี้ แต่ถ้าทุกคนมีเครื่องมือหรือวิธีการฟังกัน หรือพูดให้ตรงกับใจจริงๆ ให้มากขึ้น มันจะไม่เจ็บปวด มันจะไม่มีปัญหา 

เราเคยใช้สิ่งนี้ด้วยวิชาชีพ แต่พอเรามาใช้กับชีวิต เราพบว่า โหย ชีวิตเราโคตรดีเลย (หัวเราะ) พอเรามาใช้กับคนที่บ้าน ชีวิตยิ่งโคตรดีเลย ก็เลยรู้สึกว่า เฮ้ย มันน่าให้คนอื่นรู้เนอะ

พอเริ่มบทบาทใหม่ กลายมาเป็นผู้ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ ชีวิตคุณเปลี่ยนไปอย่างไร

มันทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของชีวิตมากขึ้นไปอีกนะ ด้วยการที่เราเข้าใจว่า เออ ชีวิตมันต้องเปลี่ยน แต่ก่อนเอิ้นอาจมีแพสชันเรื่องการเขียนเพลงมาก แล้วเอิ้นก็ทำจนประสบความสำเร็จ แต่ไปถึงจุดหนึ่งเอิ้นรู้สึกว่า ทำไมวันนี้เราตื่นขึ้นมาแล้วไม่ได้อยากเขียนเพลง ในขณะที่เราเองก็ทุกข์นะว่าเราเป็น ‘คุณหมอนักแต่งเพลง’ แต่ไม่แต่งเพลงแล้วจะเป็นยังไง คนจะยังรักฉันไหม (หัวเราะ) ฉันจะมีตัวตนไหม มันทุกข์มากเลยตอนนั้น เข้าใจว่าคงทุกข์จนต้องทิ้งน่ะ คือยิ่งคิดแบบนี้ ตัวเองก็ยิ่งรู้สึกแย่ ก็ไม่เป็นไร ต้องปล่อยมัน เราก็ทุ่มเทให้กับการเป็นจิตแพทย์อย่างเต็มที่เหมือนกันในช่วงสิบปีที่ผ่านมา สังเกตว่าเอิ้นหายไปเลย หายกริ๊บเลย (หัวเราะ) แล้วก็ไม่ใช่หายแค่ในวงการเพลงนะ หายในโซเชียลเน็ตเวิร์กด้วย เอิ้นไปอยู่กับชาวบ้าน ไปออกหน่วย ชีวิตเราอยู่ที่ต่างจังหวัดเต็มที่

ตอนนั้นเราพบว่าเรามีคุณค่าใหม่เกิดขึ้น คุณค่าในการเป็นจิตแพทย์ของประชาชน คุณค่าของการได้กลับไปเป็นลูกที่ดูแลคุณแม่สูงอายุ คุณค่าของการได้กลับไปดูแลกิจการครอบครัว เราค้นพบว่า เฮ้ย เราก็อยู่ได้นี่หว่า เราอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องมีเพลงไง เรามีแพสชันใหม่ พอถึงจุดหนึ่งก็พบว่าผ่านไปสิบปีแล้ว เหมือนชีวิตจะเปลี่ยนทุกสิบปีเลยนะ มันถึงจุดที่เราอยากสลัดคำว่างานประจำ ข้าราชการ สิ่งที่ถูกปลูกฝังมาว่าเราต้องเป็นออกไป

แม่เคยบอกว่า ‘ถ้าไม่ตาย ห้ามลาออก’ แต่มาถึงวันหนึ่ง เราไปเกาะแขนแม่แล้วบอกว่า ‘ถ้าไม่ลาออก สงสัยจะตาย’ (หัวเราะ) แล้วเอิ้นก็พบความจริงว่า กว่าจะถึงจุดจุดนั้นในชีวิตคือสิบปี วันที่ชีวิตจะเปลี่ยนไปคือ วันที่รู้สึกว่าเราใช้ศักยภาพตัวเองน้อยลง อย่างวันที่เลิกคิดจะแต่งเพลง เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ใช้ศักยภาพในการแต่งเพลง คือทำจนไม่ได้เกิดการเรียนรู้ใหม่ ทุกอย่างดูง่ายและเราไม่ได้ใช้ศักยภาพของเราอีกแล้ว อันนี้ก็เหมือนกัน คือการรักษาคนจำนวนมาก วันละเกือบร้อย เอิ้นก็รู้สึกว่า เฮ้ย เราไม่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ เหมือนสัญชาตญาณเรียกเราว่าถึงเวลาใช้ศักยภาพใหม่

แล้วพอเปลี่ยนบทบาทแล้ว คุณคิดว่าชีวิตสบายขึ้นไหม

ถามว่าสบายขึ้นไหม ไม่มีอะไรสบาย แต่ว่ามีความสนุก ความมีชีวิตชีวามากขึ้น โมเมนต์นี้ก็เหมือนกับสิบปีที่แล้ว ตอนเอิ้นกลับไปเป็นหมอประจำที่จังหวัดเลย ช่วงนั้นเอิ้นมีชีวิตชีวามากๆ กับการเป็นหมอในโรงพยาบาล แล้วไม่ไปไหนเลย ตอนนี้ก็เป็นแบบนั้น แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือชีวิตไม่แน่นอนมากขึ้น การทำงานประจำคือไม่ว่าฉันจะเป็นยังไง จะป่วย จะลา จะขาด สิ่งที่เราได้แน่ๆ คือทุกเดือนมีเงินเข้ามาในบัญชี

ตำแหน่งสูงสุดตอนเอิ้นลาออกคือรองผู้อำนวยการ ซึ่งจริงๆ คนก็ยุว่าควรจะเป็น ผอ. นะ แต่เรารู้ว่าถ้าเราอยู่ที่นั่น เราจะไม่ไปไหนไง คือเราต้องดูแลแม่ การเป็น ผอ. คุณต้องย้ายทุกสี่ปี แต่เราอยากอยู่กับแม่ การเป็นรอง ผอ. ก็เลยเป็นจุดสูงสุดที่เอิ้นต้องเป็น มันมีจุดสูงสุดในแบบของมัน ในตำแหน่งที่เราควรต้องอยู่ รายได้ที่เราควรต้องได้ แต่ว่าพอมาตรงนี้ ไอ้ความสม่ำเสมอตรงนั้นหายไปหมดเลยนะ เอิ้นไม่รู้หรอกว่าวันนี้ที่เอิ้นเปิดคลาสคนจะมาไหม คนจะมาลงยังไง แล้วเอิ้นก็ตั้งใจลดสัดส่วนเวลาการตรวจลงเพื่อให้เหลือเท่านี้ เหมือนว่าเราเหลือความมั่นคงสักประมาณสามสิบเปอร์เซ็นต์ อีกเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ก็ขึ้นกับปัจจัยภายนอกสูงมาก 

70 เปอร์เซ็นต์นี้คือความกังวล หรือความท้าทาย หรือเป็นทั้งสองอย่าง?

แรกๆ เป็นความกังวล ก็เลยเข้าใจว่า ขนาดเราบอกว่าเราเตรียมตัวสองปีนะ เราไม่ได้วันหนึ่งอยากออก ฉันออก เอิ้นว่าเอิ้นเตรียมตัวโคตรๆ น่ะ (หัวเราะ) ทั้งเรื่องการเงิน เรื่องการวางแผน แต่ก็หวั่นไหวอยู่ดี คืองานมันขึ้นกับเรานี่แหละ ว่าเราจะหาหรือไม่หา เราจะทำหรือไม่ทำ แต่ยิ่งขึ้นกับเรา มันเลยดูเหมือนเป็นไปได้หมดเลย หรือไม่ก็เป็นไปไม่ได้ทั้งหมดด้วย (หัวเราะ)

สมมติว่าเดือนนี้จะเปิดคลาส จะมีคนมาเรียนสักกี่คน ผันผวนอยู่ตลอดเวลาแล้วเราไม่ชิน เราเข้าใจว่าแม้ว่าเราเป็นจิตแพทย์นะ เตรียมตัวมาสองปีนะ ในวันที่บอกแม่ว่าถ้าไม่ออกคงตายนะ (หัวเราะ) มันควรจะพีกแล้วใช่ไหม แต่พอออกมา เราก็ยังหวั่นไหวอยู่ดี เอิ้นบอกน้องๆ ที่อยากลาออกตามมาว่าใจเย็นๆ (หัวเราะ) ยังไงคุณก็ต้องหวั่นไหวอยู่ดี น่าจะสักประมาณสามเดือน ก่อนเราจะรู้ว่าควรวางแผนยังไง 

การเรียนรู้ที่เอิ้นรู้สึกว่า โอ้โห มีคุณค่ากับเอิ้นมากๆ คือ ไอ้ชีวิตงานประจำที่เราเคยคิดว่ามั่นคง คือช่วงที่เอิ้นประมาทที่สุดในชีวิตเลย เอาแต่ทำงาน ทั้งไปตรวจ ทั้งงานโรงแรม ทั้งงานโรงพยาบาล นอนเที่ยงคืน ตีหนึ่ง สุขภาพเราก็ไม่ดูแล เพราะเราเชื่อว่าเรามีสวัสดิการ เพราะเราเบิกตรงได้ ประกันเราก็ไม่ศึกษา นึกออกไหม ใครโทรฯ มาขายประกันก็ไม่ได้ใส่ใจ เงินเราก็ไม่วางแผน เพราะว่าเงินเดือนเข้าทุกเดือนอยู่แล้ว อยากซื้ออะไรก็ซื้อ เดี๋ยวมันก็มี เดี๋ยวปลายเดือนมันก็ทบมา แต่พอเรามามีชีวิตแบบนี้ ไม่มีเงินเดือนทุกเดือนแล้ว ทุกเดือนเราต้องวางแผนหมดเลย จะใช้อะไรเท่าไหร่ เป็นครั้งแรกที่เอิ้นจดรายรับ-รายจ่าย แล้วเอิ้นรู้ว่า อ้อ ใช้เงินไปกับอันนี้เยอะนะ เอิ้นไม่เคยรู้ว่ารายได้ต่อปีเอิ้นเท่าไหร่เลย ตอนนี้ โอเค รู้แล้ว (หัวเราะ)

เอิ้นมาศึกษาเรื่องประกัน เพราะชีวิตเราถ้าไม่มีสวัสดิการก็ต้องมีประกันบ้าง เอิ้นเรียกประกันมาเลือก พอเอิ้นดูแพ็กเกจทั้งหมด เอิ้นก็ถามรายละเอียด ประกันมีกี่ประเภท กี่ชนิด อะไรที่เหมาะกับเรา จนเขาบอกว่า “หมอ หมอขายประกันไหม หมอรู้ดีกว่าผมอีก” (หัวเราะ) สิ่งเหล่านี้เราภูมิใจกับตัวเองมาก

จิตใจในปัจจุบันของคุณหมอนักแต่งเพลงป๊อป เอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ

ดูเหมือนคุณจะต้องเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีในการสื่อสาร การทำ Live อะไรพวกนี้ด้วยใช่ไหม

ใช่ เรียนรู้เอง ก็เป็นการเตรียมตัวอีกเหมือนกัน แต่ไม่คิดว่ามันจะมาไกลขนาดนี้ ก่อนที่เราจะออก อยากทำเรื่องของการศึกษา พอออกมา เอิ้นก็ต้องมีคนไข้ของเอิ้นเอง ที่ไม่ใช่คนไข้ในโรงพยาบาล เพราะฉะนั้น คนข้างนอกต้องรู้ว่าเอิ้นทำอะไร เขาจะได้ใช้เอิ้นถูก

เอิ้นก็ทำยูทูบก่อน ชื่อ หมอเอิ้น พิยะดา Unlocking Happiness แล้วเอิ้นก็มีเพจอยู่แล้ว เปิดมาตั้งแต่ตอนทำเพลง แล้วเอิ้นมีฐานแฟนเพจเยอะมากพอสมควร ตอนนี้น่าจะประมาณแสนเจ็ด แสนแปด แต่ไม่ค่อยอัปเดต เราก็กลับมาอัปเดต (หัวเราะ) 

ส่วนช่องยูทูบ เราตั้งใจทำให้คนเห็นว่าเราเชี่ยวชาญเรื่องอะไร เราก็เลยทำมาก่อน ตอนนั้นเอิ้นมีน้องๆ ช่วยเหลือ ตั้งแต่พวกเขาเรียนมหา’ลัย เป็นคู่เด็กผู้หญิงผู้ชายแฟนกัน เป็นเด็กดีมาก มีความรับผิดชอบ เรามองว่าเราช่วยเหลือเขาเรื่องการเงินได้ ก็เลยมีเงินเดือนให้จนเขาเรียนจบ เขาเรียนครู พอเรียนจบปุ๊บ ไปสอบโควต้าต่างๆ ต้องรอ ก็เลยกลายเป็นว่ายาวเลย ดูแลกันตั้งแต่เรียนจนจบ แล้วตอนนี้ก็เลยช่วยงานอยู่ น้องดูเรื่องคลิป เรื่องสื่อให้ แต่เรื่อง Live เนี่ย ไม่เคยคิดทำเลย แต่ว่ามาเจอ COVID-19 นี่แหละเป็นจุดเปลี่ยน (หัวเราะ)

เอาจริงๆ ตอนนั้นทำเพราะบำบัดตัวเอง คือช่วง COVID-19 ปีที่แล้วถือว่าเป็นวิกฤตของชีวิตมากเลย เพราะเราทำโรงแรม เราโดนเต็มๆ มันควรเป็นขาขึ้นของโรงแรม คือเราลาออกมาเพื่อดูแลโรงแรมด้วย เราเปลี่ยนฐานรายได้จากโรงพยาบาลเหลือแค่โรงแรมกับร้านกาแฟ และเพิ่มเรื่องที่เราอยากทำคือเรื่องการศึกษา แต่พออยู่ๆ เอิ้นเริ่มเห็นสัญญาณว่ามันน่าจะมีปัญหา ด้วยความที่เราก็เป็นหมอและอยู่วงใน แต่ไม่คิดว่ามันจะเร็วขนาดนี้ เชื่อไหมว่าเราประชุมแล้วก็สอนพนักงานเรื่อง COVID-19 ล่วงหน้า แล้วโรงแรมเอิ้นก็มีมาตรการตั้งแต่ก่อนที่รัฐเขาจะประกาศด้วยซ้ำ ทั้งเรื่องการตรวจไข้ เรื่องการถามนักท่องเที่ยว

ตอนนั้นลูกค้าเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ของโรงแรมเอิ้นเป็นคนยุโรป เริ่มเป็นคนที่อยู่ระยะยาวอย่างหนึ่งสัปดาห์ สองสัปดาห์ มากขึ้น เพราะพื้นที่ของเราเจ็ดไร่ ทุกคนใช้ชีวิตได้ ฝรั่งชอบมาก แต่เราไม่คิดว่าอาทิตย์ถัดมา หลังจากเราสอนพนักงานว่าต้องมีมาตรการยังไงบ้าง แม่บ้านต้องปิดชักโครกก่อนนะ

Booking จากเต็มเหลือห้าสิบ เหลือ สามสิบ จนเหลือแค่หนึ่งห้อง สองห้อง พอเราเห็นก็เลยชิงปิดก่อนรัฐประกาศประมาณหนึ่งสัปดาห์ ตอนนั้นให้พนักงานทุกคนใช้วันลาพัก แต่เราจ่ายให้เต็มนะ เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเป็นยังไง แล้วถัดมาก็คือช่วงล็อกดาวน์

ช่วงนั้นเราต้องแบกเยอะมาก ตอนนั้นการเยียวยาก็ไม่ได้ช่วยเราเท่าไหร่ เพราะว่าการชดเชยของประกันสังคมต้องเป็นจังหวัดที่รัฐบาลสั่งปิด แต่จังหวัดเลยไม่ใช่ เพราะงั้นเราก็ต้องดำเนินการหลายๆ อย่างเพื่อให้ลูกน้องเราเขาได้รับการชดเชย ต้องบอกว่าตอนนั้นเป็นวิกฤตเลยล่ะ

เอิ้นก็ต้องวางแผนระยะสั้นว่าทำยังไง ระยะกลางทำยังไง แล้วแม่ของเอิ้นดันมาหกล้ม แขนหักอีก (หัวเราะเบาๆ) อุบัติเหตุก็ทำให้แม่สมองสับสนด้วย เราก็ต้องเฝ้าเอง เพราะว่าเราเป็นหมอที่มีความรู้ที่สุดในบ้าน ต่อให้เราให้รุ่นน้องเราดู เขาก็ต้องปรึกษาเราอยู่ดี เราก็เลยต้องเฝ้าเอง 

เรายอมรับกับทุกคนเลยว่าเครียด เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราได้ฝึกตัวเองมากๆ เลย เพราะเรามีประสบการณ์ตรง แล้วเลยเกิดเป็นความรู้สึกว่าเราต้องคุย ตอนนั้นเอิ้นทำ Live เรื่อง Good Mind Challenge สิบสี่วัน เป็นสิบสี่วันที่เราชาเลนจ์ตัวเองด้วยการบอกว่า ‘วันนี้ฉันเจอความเครียดเรื่องอะไร แล้วฉันผ่านมันยังไง’ เอิ้นก็มา Live ตอนสองทุ่มครึ่งทุกวัน เพื่อแชร์เรื่องนั้นให้คนฟัง ว่าวันนี้หมอน่ะเจอเรื่องนี้นะ แล้วก็จัดการมันแบบนี้ กลายเป็นว่าคนก็มาแชร์ กลายเป็นสิบสี่วันที่เราได้ Live อย่างต่อเนื่อง กลายเป็นทักษะใหม่

จริงๆ เราตั้งใจจะบำบัดตัวเองแค่นั้นเลย แต่ผลตอบรับของคนเข้ามาบอกว่า “เฮ้ย เราก็โดนเหมือนกัน” มันเหมือนเรามีเพื่อนน่ะ คนส่งคอมเมนต์มา รู้สึกดี เรามีพลังงานในวันใหม่ที่จะไปเจอปัญหาอีกรอบ เราแชร์ แล้วคนก็แชร์พลังงานดีๆ กลับมา พอทำสิบสี่วันเสร็จ ปรากฏว่าคนดูติดแล้ว (หัวเราะ) โอเค งั้นก็ทำต่อ แต่ก็ลดเหลือแค่อาทิตย์ละหนึ่งวัน พอทำไปสองเดือน เราก็เริ่มหายไปสองอาทิตย์ คนก็เริ่มมาคอมเมนต์ถามถึง เราก็เลย โอเคๆ งั้นทำทุกอาทิตย์ก็ได้ กลายเป็นคนเลยได้เห็นเราจากตรงนี้ 

แล้วในสิบสี่วันนี้ นอกจากเอิ้นชาเลนจ์ตัวเองว่าต้องมีวินัยในการ Live เพื่อแชร์ Stress Management อีกสิ่งหนึ่งที่เอิ้นทำคือเราดูตัวเองทุกวัน คือพอ Live ไปแล้ว เอิ้นจะดูตัวเองย้อนหลังอีกเพื่อฟีดแบ็กตัวเองทุกวัน ว่าวันนี้ดูลอกแล่กนะ วันนี้เป็นแบบนี้นะ ดูตัวเองแล้วก็ปรับปรุง

จิตใจในปัจจุบันของคุณหมอนักแต่งเพลงป๊อป เอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ
จิตใจในปัจจุบันของคุณหมอนักแต่งเพลงป๊อป เอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ

ช่วงก่อนหน้านี้คุณเคยอยู่ที่กรุงเทพฯ หลายปี แล้วกลับไปอยู่ต่างจังหวัดมา 10 ปี จนมา จนตอนนี้ดูเหมือนจะเป็นช่วงชีวิตที่คุณต้องไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดเลยตลอดเวลา มันส่งผลกับจังหวะชีวิตของคุณอย่างไรบ้าง

ชีวิตดีมากนะ เรารู้สึกว่าออกแบบชีวิตเราได้ลงตัวมากขึ้น คนอาจเห็นว่าเอิ้นเดินทางไปมาบ่อย แต่จริงๆ เดือนหนึ่งเราไปกรุงเทพฯ แค่ครั้งเดียว ใช้เวลาบินสองชั่วโมง นั่งรถในกรุงเทพฯ​ ตอนรถติดยังใช้เวลาเยอะกว่า เอิ้นก็กำหนดไว้เลยว่า เราลงตรวจที่โรงพยาบาลพระรามเก้าทุกเดือนนะ สี่วันเอิ้นอยู่ที่โรงพยาบาลพระรามเก้า ดังนั้นอาทิตย์ที่สองกับอาทิตย์ที่สามของเดือนเอิ้นอยู่กรุงเทพฯ เดินทางครั้งเดียว เพราะงั้นช่วงระหว่างนี้มีงานอะไรก็จะรับ สอนในองค์กร สัมภาษณ์ คุยงาน ตรวจ เจอเพื่อน จัดอยู่ในสองอาทิตย์นี้ พอตรวจเสร็จก็กลับไปอยู่เลย

อยู่ที่เลยก็ได้ใช้ชีวิต ได้ทำกับข้าวให้แม่กิน รู้ว่าแม่ต้องไปหาหมอตอนไหน พาแม่ไปได้ ได้ดูได้ทำร้านกาแฟ ชีวิตลงตัว ตรงที่เรารู้ว่าเราจะทำงานตอนไหน ใช้ชีวิตตอนไหน ตอนกลับเลยมันชิลล์มาก วิ่งทุกวันตอนเช้า เล่นเซิร์ฟบอร์ดตอนเย็น มีเวลาไปเดินตลาด เป็นความสุขอย่างหนึ่ง แต่พอมาอยู่กรุงเทพฯ ก็ทำงานเต็มที่ เป็นชีวิตที่ Active กับ Passive วนไป

ช่วงชีวิตที่ผ่านมา มีองค์ความรู้อะไรอีกที่คุณเรียนรู้เพิ่มขึ้น แล้วเป็นเรื่องสมัยวัยรุ่นไม่เคยสนใจมาก่อน

มีๆ อันนี้สำคัญเลย ก็คือเรื่องธุรกิจ (หัวเราะ) คือพอแต่งงานปุ๊บ สามีมีธุรกิจครอบครัว เราก็ต้องไปช่วยดูแล อย่างโรงแรม เราก็ต้องเรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจ การจัดการลูกน้อง การจัดการคน เงิน ของ การมองภาพรวม การทำ Business Model สิ่งที่ทำอยู่เป็นธุรกิจที่เราเลือกไม่ได้เพราะเป็นของเก่าของแก่ที่บ้านทำมา เราจะบริหารจัดการยังไง หรือธุรกิจใหม่ที่เราจะทำ อย่างตอนนี้เอิ้นทำโรงคั่วกาแฟ ทำคาเฟ่ เป็นธุรกิจใหม่ที่เราทำเอง เราจะมี Business Model ยังไง พอเราเข้าใจเรื่องของคน เข้าใจการสื่อสารอย่างลึกซึ้ง แล้วเราเข้าใจเรื่องของธุรกิจ กลายเป็นว่า เราเองก็ได้ช่วยเหลือลูกศิษย์เราที่เป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นซีอีโอ ว่าเราจะบริหารจิตใจตัวเอง บริหารจิตใจลูกน้องเขายังไง เขาจะสื่อสารยังไง

อันนี้เป็นมิติใหม่ที่เปลี่ยน Mindset เราหลายอย่างเหมือนกันนะ เอิ้นเติบโตในครอบครัวราชการ แล้วเป็นข้าราชการแบบคลาสสิก (หัวเราะ) เป็นข้าราชการทั้งตระกูลเลย เราถูกสอนมาว่าเราจะมีเงินด้วยการประหยัด พ่อกับแม่มีทุกวันนี้เพราะเราประหยัด ฉะนั้น ใน Mindset ของเอิ้นมีความรู้สึกลบเรื่องเงิน พอพูดเรื่องธุรกิจ เรารู้สึกไม่ค่อยดีแล้ว แต่พอเรามาทำธุรกิจเอง เราเริ่มเข้าใจ ไปไหนก็ไม่ต่อราคา กินข้าวร้านเพื่อนก็อยากจ่าย เพราะเราเข้าใจว่าทุกคนมีต้นทุน ก่อนหน้านี้เราไม่สนใจ เราเป็นผู้บริโภคเต็มขั้น ไม่เข้าใจว่าในเชิงธุรกิจเขามีต้นทุนนะ แล้วการที่เขาไม่มีกำไรเนี่ย หมายถึงว่าลูกน้องเขาก็เดือดร้อน

คนที่ให้ความสำคัญเรื่องเงิน เราอาจเคยมองติดลบนิดหน่อย เช่น เขาเป็นคนดีไหม เห็นแก่ตัวหรือเปล่า เมื่อก่อนเราคิดแบบนี้อัตโนมัติ แต่พอเรามาทำธุรกิจเองนะ เราต้องรักเงินแล้วล่ะ เพราะต้นทุนอยู่ในหัวเต็มไปหมด แล้วเงินเดือนลูกน้อง คือเราไม่มีเงินเดือนให้ตัวเองไม่เป็นไรนะ แต่เงินเดือนลูกน้องต้องมี เชื่อไหมว่าเงินเดือนประจำในช่วง Low Season นี่ไม่เหลือหรอก คือช่วง High Season ห้องอาจจะเต็ม ลูกค้าเยอะ แต่พอมาช่วง Low Season ลูกค้าน้อย ค่าซ่อมบำรุงก็เยอะ เราแทบไม่มีเงินเก็บเลย แต่สิ่งที่เรารู้สึกคือ ลูกน้องเราต้องมีเงินเดือน ทุกคนมีครอบครัวที่ต้องดูแล ลูกค้าเราก็อยากให้เขามีความสุข เราเลยเข้าใจเลยว่า เออ มันต้องรักเงิน เงินก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตนะ การที่เรามีเงินที่ได้มาอย่างถูกต้อง มันไม่ได้เสียหาย และเงินนั้นมันช่วงต่อยอดชีวิตคนได้อีกเยอะเลย อันนี้เป็น Mindset ใหม่ที่พึ่งจะเกิดขึ้นเหมือนกัน

บางคนอายุมากขึ้นจะหันมาสนใจเรื่องธรรมะ คุณมีโหมดนี้ไหม หรือว่าสนใจอยู่แล้ว

เอิ้นกลับกันกับคนอื่น ก่อนหน้านี้เอิ้นใกล้วัด ช่วงที่เรียนอยู่กรุงเทพฯ เอิ้นไปวัดบ่อยมากนะ ไปหาอาจารย์ปราโมทย์ (หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช) พระอาจารย์ตั๋น​ (พระอาจารย์อัครเดช ถิรจิตฺโต) เรารู้สึกว่าเราใกล้ครูบาอาจารย์มาก แต่พอเรากลับไปที่เลย เราเรียนรู้กับชีวิตจริงมากขึ้น ตรวจคนไข้วันละเป็นร้อยเคส มีอะไรให้เราได้เห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของชีวิตคนเยอะมากในแต่ละวัน ในจังหวะที่เราเจอครูบาอาจารย์เยอะๆ มันเป็นช่วงที่เราสะสมความรู้ แต่ช่วงสิบปีที่กลับไปอยู่เลย มันเป็นช่วงใช้ ช่วงผจญภัย เอิ้นเติบโตที่สุดคือตอนที่รู้สึกว่าเราต้องดูแลชีวิตคนอื่น ทั้งลูกน้องและคนไข้ โมเมนต์ที่เรานับถือตัวเองที่เราอยู่ตรงนี้ ซึ่งเราคิดว่าน่าจะได้จากการที่เราเรียนรู้ จากการที่เราใกล้ครูบาอาจารย์ แล้วเราก็ได้เอามาใช้ ได้เห็นความเหนื่อย ความทุกข์ เห็นอะไรหลายๆ อย่างที่เราไม่คิดว่าจะเห็น

บางทีเราถามตัวเองนะ ว่าเพราะอะไรทำไมเลือกมาอยู่ตรงนี้นะ (หัวเราะ) แล้วก็ได้คำตอบว่า เพราะสิ่งที่เราทำมันดีน่ะ แต่ตอนนี้มันเหนื่อย รับผิดชอบเยอะ ในวันนี้ก็เข้าใจแล้วว่าเราต้องผ่านจุดนั้นถึงจะเข้าใจ วันนี้เป็นวันที่เอิ้นจะกลับไปหาครูบาอาจารย์อีกรอบแล้ว ช่วงเจ็ดถึงแปดปีตอนนั้นอยู่โรงพยาบาลเจอปัญหาทุกวัน กลางวันเจอคนไข้ใช่ไหม ถ้าอยู่เวร เดี๋ยวตำรวจจับส่ง เดี๋ยวมูลนิธิจับส่ง คิดว่าหมอจิตเวชได้นอนไหม คนนอนไม่หลับ คนเมายาบ้า คนจะคุ้มคลั่ง คนมีอาการเขาก็มีตอนกลางคืน คนไม่ค่อยรู้ว่าเราเจออะไรนะ เอิ้นไม่เคยมีเคานต์ดาวน์ปีใหม่เลย เราข้ามปีกับคนไข้ตลอด เพราะเอิ้นเป็นหมอคนเดียวในโรงพยาบาลที่เป็นหมอจังหวัดเลย หมอคนอื่นเขาจะกลับบ้านต่างจังหวัดกัน หรือสงกรานต์เอิ้นก็ไม่เคยมีสงกรานต์เลย (หัวเราะ)

ดูเหมือนคุณจะเคยมีความฝันมาหลายอย่าง และทำให้เป็นความจริงมาแล้วหลายอย่างด้วย มาถึงวันนี้ความฝันที่ยังเหลืออยู่ของคุณคืออะไร

เป็นแม่คนค่ะ (หัวเราะ) จริงๆ เอิ้นมีความฝันว่าได้เป็นแม่ของใครสักคนตั้งแต่เป็นเด็กแล้วนะ คนอื่นอาจมองเข้ามาเห็นว่าเราเป็นนู่นเป็นนี่เยอะแยะไปหมดเลย แต่สิ่งที่เราอยากเป็นที่สุด คือเป็นแม่ใครสักคนที่ดี แต่ตอนนี้ยังไม่มีไง เราก็เลยทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ทำสิ่งที่มีโอกาสเข้ามาแล้วเรามีศักยภาพที่จะทำ เราก็ทำไปก่อน

ในฐานะที่คุณเคยเป็นนักแต่งเพลงที่มีเพลงดังเยอะเลย พอวันนี้กลับไปมองเพลงต่างๆ ที่คุณเคยแต่งแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง

รู้สึกว่า ใครแต่งวะ (หัวเราะ) ทุกวันนี้ยังแบบ…เราแต่งได้ไงนะ แต่คนที่ไม่เคยเจอเราคงคิดว่า “เหอะๆ เพ้อดีนะ” (หัวเราะ)

ถามแทนแฟนเพลงว่า คุณจะยังแต่งเพลงใหม่ๆ อีกไหม

คิดอยู่ (นิ่งคิด) มีคนถามเยอะมากเลย แต่ไม่ได้มีโมเมนต์แบบ ปิ๊ง! ว่าฉันต้องทำ ตอนนี้สิ่งที่อยากทำคือการเอาเพลงเก่าบางเพลงที่เราอยากให้คนได้ยิน แต่ไม่ค่อยได้ยินมาทำใหม่มากกว่า กับอันที่สองคืออยากสอนคนเรื่องการเขียนเพลง เอิ้นอยากเห็นคนเก็บตกความฝันในวัยเด็ก เด็กๆ รุ่นใหม่เขาก็เขียนในวิธีของเขา ซึ่งก็เขียนได้ดีแล้ว เขาก็ทำไปตามยุคสมัย หรือเด็กบางคนเขียนไม่ได้ แต่ฝันอยากจะเป็นนักแต่งเพลง แต่มันก็ไม่ใช่อาชีพที่จะเลี้ยงชีวิตเขา

สิ่งที่เอิ้นอยากทำตอนนี้คือ อยากจะสอนคนที่อายุสี่สิบถึงห้าสิบที่ตอนเด็กๆ เขาฝันอยากเป็นนักแต่งเพลง แต่ตอนเด็กเขาเชื่อว่าเขาเป็นนักแต่งเพลงไม่ได้หรอก ให้เขาได้เก็บตกความฝัน เพราะเอิ้นเชื่อว่า ถ้าเอิ้นแต่งเพลงได้ ทุกคนก็แต่งเพลงได้ แล้วจริงๆ ทำไปแล้วหนึ่งคลาสนะ นักเรียนเอิ้นเนี่ย ร้องเพลงยังเพี้ยนนะ เล่นดนตรีไม่ได้เลย แต่สองวันเขียนเพลงได้แล้ว

จิตใจในปัจจุบันของคุณหมอนักแต่งเพลงป๊อป เอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ

เพลงที่คุณเคยแต่งแล้วชอบที่สุดคือเพลงอะไร

เพลงที่เอิ้นเขียนแล้วชอบที่สุดก็ยังเป็น ‘จดหมายจากความเหงา’ เพราะเป็นเพลงที่เราถ่ายทอดความรู้สึกของความเหงา เราไม่ได้ถ่ายทอดความรู้สึกของผู้หญิงผู้ชายอย่างความรักอกหัก เสียใจ แต่เราเขียนเพลงแทนความรู้สึกที่มีอยู่ในทุกคน แล้วทุกคนก็ตีตราว่าความเหงาไม่ดี ฉันไม่ชอบความเหงา แต่ว่าเราไม่เคยมองความเหงาตามความเป็นจริง ว่าความเหงาก็มีความดี ก็เลยรู้สึกว่า เอ้อ ประหลาดดี (หัวเราะ)

ในฐานะจิตแพทย์คนหนึ่ง คิดว่าคนไทยวันนี้เป็นโรคอะไรที่น่าเป็นห่วงที่สุด

นอกเหนือจากโรคซึมเศร้าที่ทุกคนพูดถึงกัน เอิ้นเป็นห่วงโรคที่ชื่อว่า Imposter Syndrome คือการรู้สึกว่าตัวเองไม่เคยเก่ง เก่งเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ เพราะมันทำให้เรามีชีวิตที่ไม่รู้จักพอ มีชีวิตที่เปรียบเทียบกับผู้คนโดยที่เราไม่ได้มองว่าสิ่งที่เป็นอยู่อาจจะเป็นความสุขของเรา หรือมันอาจจะดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ในวันนี้แล้วนะ ไอ้ความรู้สึกที่เราไม่พอกับมันสักที มันทำให้เราไม่เคยภูมิใจในตัวเอง ไม่เคยรู้สึกดีกับตัวเอง ซึ่งคนที่ไม่เคยรู้สึกดีกับตัวเอง เวลาทำอะไรมักจะมีปัญหาเสมอ ปลายทาง Burn Out ก็ตามมา ซึมเศร้าก็ตามมา

คนกำลังเป็นแบบนี้เยอะนะ ล่าสุดเอิ้นเคยจัด Clubhouse ครั้งหนึ่ง ตั้งหัวข้อว่า เก่งเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ คนเข้ามาฟังสองพันกว่าคน แล้วคนยกมืออยากระบายเป็นร้อยเลย

ถ้าประเมินชีวิตตัวเองตอนนี้ ถ้าคะแนนเต็ม 10 คุณให้ความพอใจชีวิตกี่คะแนน

ให้แปด

อีก 2 คะแนนที่หายไปคืออะไร?

อีกสองคะแนนคือสิ่งที่ไม่รู้

คิดว่าจะมีวันเต็ม 10 ไหม

ไม่มี

หรือว่า 8 ก็โอเคแล้ว?

เอิ้นคิดว่าแปดก็โอเคแล้ว คือคิดว่าไม่มีทางเต็มสิบ เพราะเชื่อว่าจริงๆ ชีวิตมันไม่มีอะไรที่เพอร์เฟกต์ แล้วเอิ้นก็เป็นคนหนึ่งที่รู้สึกดีกับความไม่สมบูรณ์แบบ

จิตใจในปัจจุบันของคุณหมอนักแต่งเพลงป๊อป เอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ

Writer

Avatar

วิภว์ บูรพาเดชะ

บรรณาธิการ happening ที่เป็นสื่อด้านศิลปะ ซึ่งกำลังพยายามสื่อสารให้ผู้คนเห็นความสำคัญของศิลปะในหลายๆ มิติ FB: facebook.com/khunvip TWIT: @viphappening IG: @viphappening

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน