The Cloud เคยสัมภาษณ์ หมอเอิ้น-พญ.พิยะดา หาชัยภูมิ มาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน เธอคือจิตแพทย์หน้าหวานที่มีประสบการณ์และทักษะการดูแลจิตใจผู้คนหลากหลาย ตั้งแต่คนในคุก จนถึงคนที่ทำงานในรัฐสภา เป็นเจ้าของกิจการที่เข้าใจหัวอกของผู้นำที่มีความกดดันรอบทิศ และเป็นที่ปรึกษาที่เคยช่วยให้ผู้นำหลายคนเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานจากการฝึกฝน Soft Skills
นอกจาก Good Mind Podcast ที่หมอเอิ้นและ The Cloud ทำร่วมกันแล้ว เธอยังรับบทบาทวิทยากรเรื่องความสุขตามเวทีและรายการต่าง ๆ รวมทั้งได้ยินว่าเธอรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้บริหารมากขึ้นเรื่อย ๆ หนึ่งในนั้นคือการเปิดหลักสูตร ‘มาหาสารความสุข’ ที่ถึงวันนี้ก็มีเหล่าคนทำงานในระดับผู้บริหารเข้าเรียนมาแล้ว 9 รุ่น

มาหาสารความสุข เป็นคลาสเรียนเล็ก ๆ ที่พากันไปถึงจังหวัดเลย จังหวัดบ้านเกิดของหมอเอิ้นที่มีเครื่องบินขึ้นลงวันละ 2 เที่ยว ร้านค้าปิดตั้งแต่ 2 ทุ่ม เต็มไปด้วยที่เที่ยวแบบธรรมชาติและอาหารอร่อย
ในเว็บไซต์อธิบายหลักสูตรนี้เอาไว้ว่า ‘เป็นหลักสูตรที่จะสอนการจัดการกับความเครียด และการดูแลสมองและจิตใจให้กลับมา Productive ด้วยกระบวนการจิตวิทยาความสุขและวิทยาศาสตร์ของสมอง เพื่อการเข้าถึงศักยภาพของการเป็นผู้นำในตัวเอง ที่ปรับใช้ได้ทั้งในชีวิตและงาน’
เราก็ไปเป็นลูกศิษย์หมอเอิ้นมาด้วยเหมือนกัน ยอมรับว่าเป็นหลักสูตรที่สอนเรื่องความสุขได้ถึงราก และอยากแนะนำคลาสนี้ว่า เป็นคลาสสุดท้ายที่ทำให้คุณเข้าใจเรื่องความสุข แบบไม่ต้องไปหาคำตอบที่ไหนอีกแล้ว
พอได้นั่งลงคุยกัน จึงได้รู้ว่าทุกประสบการณ์ของหมอมัดรวมมาเป็นคลาสนี้ หมอเอิ้นเริ่มเล่าว่า “เราเป็นจิตแพทย์ที่มีทั้งความรู้และเครื่องมือที่ฝึกให้ใช้มาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง (Transform) จากคนที่รู้สึกว่าชีวิตไร้ค่า ให้กลับมารู้สึกว่าชีวิตเป็นความปกติ หรือทำให้คนที่ไม่ได้รู้สึกผิดปกติได้รู้สึกว่าชีวิตมีความสุขและมีอะไรน่าค้นหา แล้วก็มีอีกหมวกเป็นผู้บริหารและเจ้าของกิจการ ที่เคยต้องมานั่งเครียดว่าเดือนนี้จะมีเงินเดือนพอจ่ายลูกน้องไหม มันเป็นประสบการณ์ที่ถ้าไม่ได้เจอกับตัวเองก็ไม่เข้าใจหรอก ใครไม่อยู่ในโมเมนต์นั้น อย่าบอกว่าเข้าใจ” หมอกล่าวแล้วหัวเราะทั้งน้ำตา
เธอจึงตั้งใจออกแบบหลักสูตรนี้สำหรับผู้นำองค์กร ผู้บริหาร หรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลและพัฒนาบุคลากร เพราะเธอรู้ว่าผู้นำต้องเผชิญกับอะไรบ้าง และมีเครื่องมืออะไรบ้างที่จะพาผู้นำทั้งหลายออกจากความเครียดเหล่านั้น
“ถ้าผู้นำมีความสุข คนอื่นก็จะมีความสุขไปด้วย” หมอเอิ้นเน้นย้ำ

มาหาสารความสุข เป็นหลักสูตรที่จะทำให้ผู้บริหารได้รู้จักตัวเองเหมือนการรู้จักต้นทุนอื่น ๆ ทางด้านธุรกิจ รวมถึงรู้จักวิธีบริหารใจและรับมือกับความรุนแรงเบื้องต้น เพราะไม่มีใครช่วยใครได้ดีและเร็วเท่าเราช่วยตัวเอง
“คิวหมอดูยังนัดไม่ง่ายเลยนะเดี๋ยวนี้” หมอเอิ้นเตือน
ฉะนั้น เราเลยชวนหมอเอิ้นให้มาเล่าเรื่องที่เธอได้รู้เกี่ยวกับความสุขของผู้บริหาร เพื่อเป็นของเรียกน้ำย่อยสำหรับใครก็ตามที่เริ่มสนใจอยากตามหมอเอิ้นไปหา ‘สารความสุข’ แบบลงลึกต่อไป
คนไม่น่าสงสาร
ในชีวิตการทำงาน การเป็นผู้บริหาร เป็นเจ้าของกิจการ เป็นเป้าหมายที่ใคร ๆ ก็อยากไปถึง เพราะตำแหน่งเหล่านั้นมักมาพร้อมกับค่าตอบแทน อำนาจ และการยอมรับ ซึ่งก็น่าจะทำให้มีความสุขไม่น้อย
แต่จริง ๆ แล้วการเป็นผู้บริหารไม่ใช่อาชีพที่มีความสุขขนาดนั้น
ภายใต้อำนาจมักมาพร้อมความรับผิดชอบ ความกดดัน และความเครียด ที่บางทีผู้นำเองรู้ตัว แต่บางทีก็ไม่รู้ตัว แล้วก็แสดงออกผ่านกลไกการป้องกันตัวแบบต่าง ๆ ซึ่งหลายครั้งยิ่งกลายเป็นกำแพงที่กั้นระหว่างผู้บริหารกับเพื่อนร่วมงาน และทำให้ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

หมออธิบายว่า “มีข้อมูลว่าคนที่กำลังอยู่ในอารมณ์เศร้า ความคิดจะช้าลง 20% ประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมจะลดลง 35% ความวิตกกังวลส่งผลให้มีการสื่อสารเชิงลบ การทำงานแบบจู้จี้จุกจิก และความโกรธหรือผิดหวังก็สร้างความรุนแรงทางพฤติกรรมและวาจาได้ด้วย”
มากไปกว่านั้น การมีอำนาจทำให้คนไม่กล้าขัด ไม่กล้าเตือน เลยไม่เคยได้รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ส่งผลกับคนอื่นอย่างไร และการเป็นคนที่ทุกคนเห็นว่ามีความสามารถ รับมือได้กับทุกสิ่ง จึงไม่ค่อยมีใครคิดเห็นใจว่าบางทีมันก็มากเกินจะรับไหว
หมอเอิ้นเรียกสิ่งนี้ว่า ‘การอยู่ในโลกเสมือน’

“ในการเป็นผู้นำ ไม่มีใครกล้าสะท้อนเราจริง ๆ หรอก อย่างเก่งก็ 30 – 40% เพราะทุกคนเกรง ไม่เกรงกลัวก็เกรงใจ” หมอบอกด้วยน้ำเสียงตบบ่า
โลกเสมือนที่ผู้บริหารบางคนต้องอยู่นี้คือแหล่งสะสมปัญหาขนาดใหญ่ และหัวหน้าที่มีไม่กี่คนบนยอดพีระมิด ก็เป็นคนสำคัญสำหรับคนที่อยู่ข้างล่างมาก ๆ
“ทุกการตัดสินใจของผู้นำคือผลกระทบ การที่ผู้นำจะตัดสินใจได้ดีและถูกต้อง นอกจากความรู้และประสบการณ์แล้ว การมีสภาวะจิตใจที่เป็นปกติสำคัญมาก” หมอเอิ้นย้ำ
ข่าวดีคือผู้บริหารส่วนใหญ่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังรู้สึกเครียดและกดดัน หลายคนมีวิธีรับมือที่ใช้ครั้งแล้วครั้งเล่าจนพาเขามาถึงจุดนี้ได้ แต่ข่าวร้าย คือวิธีการรับมือเหล่านั้นบางครั้งเป็นการสร้างความสุขแบบ ‘จุดพลุ’ คือง่าย เร็ว แรง แต่ไม่ยั่งยืน เช่น การสังสรรค์ การทุ่มเทมากขึ้นไปอีก หรือการระบายอารมณ์ด้วยวิธีต่าง ๆ
จะว่าไป ความสำเร็จก็คือรูปแบบหนึ่งของความสุข แม้ได้มาไม่ง่ายนัก แต่มีรสชาติที่หวานหอมจนอาจเสพติดได้
“ความสำเร็จเป็นแรงขับที่มีพลังมาก แต่ในระหว่างทางเดินไปสู่ความสำเร็จ เราต้องไม่ลืมมิติของ ‘ความสัมพันธ์’ ด้วย การที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดี เป็นความสุขพื้นฐานที่ให้ความสงบ และความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุดก็คือความสัมพันธ์กับตัวเอง” หมอเอิ้นบอก
เป็นคนธรรมดาที่พิเศษ
“ต้องเป็นคนธรรมดาได้ ถึงจะได้เป็นคนพิเศษ” หมอเอิ้นยิงคำคมแล้วอธิบายต่อว่า “หมายถึงการมี Self Awareness และยอมรับที่จะเรียนรู้ความเป็นจริงแบบตรงไปตรงมา จนทำให้ใช้ความสามารถได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องใช้พลังงานไปกับความขัดแย้งในตัวเอง”
ถ้าสังเกตให้ดี สิ่งที่อยากทำและสิ่งที่ต้องทำ มักเป็นศึกสงครามที่ยืดเยื้อในสมองเราเสมอ เช่น อยากไปออกกำลังกายเหมือนกันนะ แต่การได้นอนต่ออีก 1 ชั่วโมงก็น่าจะดีมากเลย หรือรู้สึกเหนื่อยมาก อยากลาพักร้อนสักหน่อย แต่ก็ไม่อยากทิ้งทีมงานที่กำลังทำงานหนักไป

ความขัดแย้งในตัวเองเหล่านี้จะทำให้เกิดอารมณ์และพลังงานที่ไปสร้างความขัดแย้ง บางทีก็กับตัวเอง บางทีก็กับผู้อื่น เช่น นี่ถ้ากรุงเทพฯ รถไม่ติด ก็คงได้ทั้งนอนต่อและไปออกกำลังกายแล้ว (หงุดหงิดผู้ว่าฯ แต่จริง ๆ คือเมื่อคืนนอนดึกจนตื่นไม่ไหว) หรือนี่ถ้าลูกค้าไม่เร่งงาน ก็คงไม่ต้องเหนื่อยกันขนาดนี้ (โทษลูกค้า แต่จริง ๆ คือเหนื่อยมาก ต้องการพักผ่อน) ซึ่งถ้าเรามองเห็นและยอมรับความคิดเหล่านี้ สงครามก็จะสงบ และตัดสินความขัดแย้งได้อย่างตรงไปตรงมา
ประสิทธิภาพของ Self Awareness อธิบายผ่านการทำงานของสมองได้ด้วยเช่นกัน หมอเอิ้นบอกว่า “ทางศาสตร์จิตวิทยาสติบอกว่า การที่เรามีความคิดอย่างตรงไปตรงมา จะทำให้สมองส่วน Executive Function ทำงานได้ดี จนนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น”

ในมุมของการเป็นผู้นำ การมองเห็นตัวเองอย่างตรงไปตรงมา คือ ‘การบริหารอย่างเข้าใจว่าเรามีทรัพยากรอะไรบ้าง’ เหมือนกับการประเมินกำลังคน เงิน เวลา ที่ต้องพิจารณาว่ามีอะไรมากน้อย อะไรดี อะไรไม่ดี
“เราต้องทบทวนและมองให้เห็นทรัพยากรภายในใจ เพื่อจะได้จัดสรรได้” หมอเอิ้นแนะนำ
“แต่มันจะย้อนแย้งนิดหนึ่ง ตรงที่ผู้นำส่วนใหญ่มักเข้าใจว่ารู้ทรัพยากรในใจตัวเองดีพอแล้วจึงก้าวมาอยู่ตรงนี้ได้ แต่ก็ยังจะเจอปัญหาวน ๆ แพตเทิร์นซ้ำ ๆ ซึ่งถ้าเราไม่ใส่ใจสำรวจตัวเองเพิ่มเติม ก็จะรู้สึกว่าเหนื่อยแล้วเหนื่อยอีก มองไม่เห็นร่องของการเดินทางใหม่ได้เลย”
การผ่าตัดหัวใจ
บทเรียนแรกที่หมอเอิ้นสอนในคลาสมาหาสารความสุข มักเป็นเรื่องการชวนทุกคนมาสำรวจมิติต่าง ๆ ของตัวเอง มีทั้งมิติที่ตัวเรารับรู้ มิติที่คนอื่นมองเรา สิ่งที่เราอยากเป็น สิ่งที่เราเป็นจริง ๆ หรือสิ่งที่ตัวเราเองก็ไม่รู้ว่าเราเป็น แต่คนอื่นเขารู้
เป็นขั้นตอนที่จะได้เข้าใจตัวเองว่าเรามีมิติแบบไหนบ้าง และแต่ละมิติมีอิทธิพลกับเราอย่างไร เช่น เราให้ความสำคัญกับอะไร อะไรที่ทำให้รู้สึกว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ หรือว่าเราให้คุณค่าอะไรกับชีวิต
“ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ต้องทำโดยจิตแพทย์” หมอเอิ้นย้ำ “มันเป็นเรื่องของการผ่าตัดหัวใจ คือการพาตัวเองกลับไปถึงต้นกำเนิดของวิธีคิดและแพตเทิร์นชีวิต ซึ่งบางทีมันก็ไม่ได้สวยงามเสมอไป ทุกคนล้วนเติบโตมาด้วยปมและบาดแผลทั้งนั้น เราไม่รู้ว่าการรับมือกับสิ่งที่เขาจำเป็นต้องยอมรับทั้งที่ยอมรับได้ยากจะทำให้เกิดผลลัพธ์ยังไง การที่มีคนคอยประคับประคอง มีสกิลล์การบำบัดและเข้าใจการทำงานของสมองจึงเป็นเรื่องสำคัญ”

และการค้นพบเหล่านั้นนั่นเองจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง (Transform) จากคนที่เจอปัญหาความสัมพันธ์ซ้ำ ๆ ก็จะได้เจอสาเหตุและปมที่ต้องยอมรับ หรือจากคนที่ไม่ได้มีปัญหา ก็จะได้รู้แนวทางพัฒนาตัวเองหรือแม้แต่ได้เข้าใจคนรอบข้างมากขึ้น
พอผู้บริหารได้เข้าใจตัวเองในมิติต่าง ๆ แล้ว เวลาเจอปัญหา เขาก็จะช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง สยบความขัดแย้งในหัวตัวเองได้ และมีอารมณ์ที่สงบ มั่นคงมากขึ้น
เราต้องขอใส่ดอกจันตัวใหญ่ไว้ตรงนี้ว่า มาหาสารความสุขไม่ใช่คอร์สบำบัด คนที่มาอาจจะมีปัญหา มีคำถาม แต่ก็ต้องการความแข็งแรงของจิตใจเบื้องต้นเหมือนกัน การพาไปรู้จักตัวเองในมิติต่าง ๆ เพื่อจะเข้าใจตัวเองในวันนี้ต่างจากการสะกดจิตหรือ NLP ตรงที่เป็นการทำในขณะที่ผู้เรียนมีสติ เป็นการคิดทบทวนด้วยตัวเองแบบไม่มีอะไรมาชี้นำ เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองที่ต้องลงลึกแต่ได้ผลครอบคลุมและยั่งยืน

“การได้เข้าใจเรื่องพื้นฐานที่สุดของจิตใจ ทำให้รู้ว่าเราท้อแท้ได้นะ เราเศร้าได้นะ เหนื่อยได้นะ ไม่ต้องรีบร้อนไปไหน ชีวิตต้องมีความไม่รีบร้อนไปไหนบ้าง การที่ไม่ต้องรีบร้อนไปไหนมันคือการสะสมพลังงานชีวิต พอถึงเวลาที่เราต้องลุก เราลุกได้เร็ว ถึงเวลาที่ต้องวิ่ง เราวิ่งได้ แต่ถ้าเราขาเจ็บอยู่ จะไปฝืนวิ่ง ถึงเส้นชัยขาก็อาจจะเจ๊งไปแล้วก็ได้”
Live and Learn
หมอเอิ้นตั้งใจออกแบบคลาสนี้ให้มีทั้งกิจกรรมในห้องและกิจกรรมนอกสถานที่ เพื่อจำลองชีวิตจริง ๆ นอกห้องเรียนให้ทุกคนได้ลองใช้
หัวใจสูงสุดของคลาส คือเข้าใจและมีความสุขกับการเข้าใจตัวเองและการเข้าใจชีวิต
การได้ใช้ชีวิตแบบไม่มีหัวโขนในเมืองที่ไม่มีใครรู้จักเราบ้าง ทำให้ผู้บริหารทั้งหลายกลับมาคิดถึงตัวเองมากขึ้น

หมอเอิ้นเชื่อว่า โมเดลในการบริหารใจคนที่ดีที่สุด คือการเข้าใจชีวิตตัวเอง นำชีวิตตัวเอง ดูแลชีวิตตัวเองให้รอดก่อน เราถึงจะไปนำคนอื่นได้แบบไม่ได้เป็นการชดเชยความบกพร่องหรือเป็นการแบก มันจะกลายเป็นความสุขจากการแบ่งปัน
ก่อนจากกัน หมอเอิ้นทิ้งท้ายไว้ว่า
“ไม่มีการลงทุนไหนคุ้มค่าเท่าการลงทุนเพื่อรู้จักตัวเอง ถ้าผู้นำลงทุนเวลาและค่าใช้จ่ายไปกับการเข้าใจตัวเอง ก็จะทำให้คนทำงานมีความสุขมากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้มีความสำคัญ มีอิทธิพลในการดูแลคนอีกมากมาย แม้ว่าจะอยากหรือไม่อยากก็ตาม อย่างน้อยความสุขในตัวเขามันสำคัญกับความสุขของคนรอบข้าง”
ภาพ : มาหาสารความสุข
ติดตามหลักสูตรมาหาสารความสุขรุ่นต่อไป และบทเรียนต่าง ๆ จากหมอเอิ้นได้ที่
Facebook : หมอเอิ้นพิยะดา Unlocking Happiness
Website : www.earnpiyada.com