หลีกหนีการจราจรที่หนาแน่นบนถนนหลานหลวง แล้วเดินลัดเลาะเข้าไปในตรอกซอย กระทั่งเจอวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแคนางเลิ้ง) อันเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของย่าน ตามที่แขกคนสำคัญในวันนี้ได้ปักพิกัดให้กับเรา เราใช้เวลาเดินต่อจากวัดแล้วตรงเข้าซอยเล็ก ๆ ตรงข้ามกัน ไม่นานก็พบร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋น เราปรี่เข้าไปถามเจ้าของร้านทันทีว่า “บ้านคุณน้ำมนต์อยู่ตรงไหนคะ”

คุณน้าท่าทางใจดียิ้มรับพร้อมชี้ไปยังกรงแยกขยะรีไซเคิลหน้าบ้านของบุคคลที่เราตามหา

น้ำมนต์-นวรัตน์ แววพลอยงาม ศิลปินผู้เกิดและเติบโตในย่านนางเลิ้งเดินมาต้อนรับด้วยท่าทีสบาย ๆ ก่อนพาเราไปนั่งโต๊ะที่ตั้งกลางสตูดิโอ เพียงมองไปรอบ ๆ ก็ดูออกว่านี่เป็นสตูดิโอของคนรักงานศิลปะจริง ๆ ตั้งแต่งานออกแบบของรีไซเคิล ดอกไม้ทำมือจากขยะ จนถึงกระเป๋าผ้าที่มีโลโก้ ‘กลุ่มอีเลิ้ง (E-Lerng)’ เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งมาทำงานเพื่อชุมชนย่านนางเลิ้ง ซึ่งเราตั้งใจมาพูดคุยกันในวันนี้

‘อีเลิ้ง’ กลุ่มศิลปินที่พัฒนานางเลิ้งด้วยศิลปะ เพื่อรักษาย่านเก่าแก่ให้กลับมามีชีวิต

น้ำมนต์เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มอีเลิ้ง (E-Lerng) เป็นกลุ่มที่ลูกหลานย่านนางเลิ้งรวมตัวกัน เพื่อทำงานขับเคลื่อนย่านด้วยศิลปะ ปลุกเสน่ห์ของย่านให้มีชีวิตชีวา เพื่อให้คนในชุมชนอยู่ได้ท่ามกลางปัญหาที่ยังคงเรื้อรังตั้งแต่ยุคคุณแม่ของน้ำมนต์ การขับเคลื่อนของกลุ่มอีเลิ้งเริ่มตั้งแต่การเป็นกระบอกเสียงเล็ก ๆ ให้คนในชุมชน การหยิบยกวัฒนธรรมและศิลปะมาสื่อสารแก่คนภายนอก การพาศิลปินทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาสร้างสรรค์ผลงานในย่าน เพื่อเน้นย้ำถึงคุณค่าของย่านให้เป็นที่ประจักษ์ยิ่งขึ้น

เราอยากชวนทำความรู้จักกับคนตัวเล็กผู้ทำงานเพื่อสังคม ตั้งแต่สิ่งที่ประกอบสร้างในการเป็นน้ำมนต์ จนถึงแพสชันที่นำไปสู่การก่อตั้งกลุ่ม และโปรเจกต์ที่อีเลิ้งลงมือทำเพื่อย่านเก่าแห่งนี้ 

คนอีเลิ้ง-ย่านนางเลิ้ง 

“น้ำมนต์-นวรัตน์ แววพลอยงาม เกิดที่ชุมชนนางเลิ้ง เป็นลูกของ แม่แดง (สุวัน แววพลอยงาม ผู้นำชุมชนและผู้ขับเคลื่อนย่านนางเลิ้ง) คนแถวนี้ชอบเรียกเราว่า แม่แดงนางเลิ้งร้อยเปอร์เซ็นต์ค่ะ

“นางเลิ้งเป็นชุมชนเก่าแก่ มีคนหลายเจเนอเรชันอยู่ร่วมกัน ผู้คนก็มีความผูกพันกันในชุมชน และย่านนี้เป็นชุมชนที่อยู่กลางเมือง ตั้งอยู่ระหว่างเมืองเก่าอย่างวัดพระแก้วกับฝั่งในเมืองจ๋า ๆ อย่างสยาม เราอยู่ตรงกลางแต่ยังมีความเป็นชนบท อยู่กันแบบดิบ ๆ แต่มีอาหารและศิลปะซ่อนอยู่มากมาย เราโตมากับสภาพแวดล้อมที่คนพึ่งพาอาศัยกันและกัน มีอะไรก็บอกต่อ ทำกับข้าวมาแจกกัน”

ตั้งแต่เราเดินเข้ามาในย่านนี้ เราสัมผัสได้ว่าบ้านใกล้เรือนเคียงตลอดย่านล้วนรู้จักและมีความสนิทชิดเชื้อต่อกัน ซึ่งเป็นบรรยากาศที่คาดไม่ถึงว่าจะยังพบเจอได้ในกรุงเทพมหานคร เรายังสัมผัสได้ถึงความรักที่มีต่อบ้านเกิดของน้ำมนต์ ผ่านแววตาและน้ำเสียงขณะที่เธอเล่าเรื่องราวของย่านให้เราฟัง ซึ่งความรักที่เต็มเปี่ยมนั้นถูกส่งต่อมาจากแม่แดง ผู้เป็นยอดนักสู้ของน้ำมนต์และคนนางเลิ้ง 

“เราเติบโตมากับครอบครัวที่ทำงานด้านชุมชน แม่เป็นผู้นำชุมชน โดยปกติแล้วบ้านควรเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่บ้านเราเหมือน Public Space ตั้งแต่จำความได้ เพราะคนนอกเข้า-ออกบ้านเราตลอดเวลา สมมติมีคนโดนหมากัด เขาต้องมาหาแม่แดง ถ้าบ้านไหนทะเลาะกันก็มาให้แม่เราช่วยเคลียร์

“อย่างแมวตัวนี้ก็มีคนเอาใส่ถุงมาปล่อยหน้าประตูบ้าน” เธอเล่าพลางชี้ไปที่เจ้าเหมียว

‘อีเลิ้ง’ กลุ่มศิลปินที่พัฒนานางเลิ้งด้วยศิลปะ เพื่อรักษาย่านเก่าแก่ให้กลับมามีชีวิต
‘อีเลิ้ง’ กลุ่มศิลปินที่พัฒนานางเลิ้งด้วยศิลปะ เพื่อรักษาย่านเก่าแก่ให้กลับมามีชีวิต

น้ำมนต์เป็นเด็กนางเลิ้งในยุคที่ย่านนี้ซบเซา เดิมทีที่นี่มีศูนย์กลางความบันเทิงอย่างโรงภาพยนตร์ ‘ศาลาเฉลิมธานี’ ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กสำคัญและเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงยุคที่ย่านนี้มีความเจริญสูงสุด คนหลั่งไหลเข้ามาในย่านและพ่อค้าแม่ขายในตลาดก็ขายดิบขายดี แต่ท้ายที่สุดโรงหนังต้องปิดตัวลง คนเมืองเริ่มกระจายออกจากย่าน น้ำมนต์เติบโตมาพร้อมกับความซบเซา ขณะเดียวกันเขาเห็นภาพคุณแม่พยายามฟื้นฟูย่านนางเลิ้งให้กลับมามีชีวิต เพื่อให้คนในย่านยังอยู่ที่นี่ต่อไปได้ 

“ในยุคที่เราเกิดมา เราเห็นว่าเมืองเปลี่ยนไป โรงหนังนางเลิ้งกำลังจะถูกทุบทิ้งแล้วเอาไปทำเป็นที่จอดรถ ซึ่งโรงหนังนี้เป็นโรงหนังที่สวยมาก และเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของย่าน ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นแม่ทำงานช่วยเหลือคนและชุมชนมาตลอด เราเลยได้ข้อมูลและฐานงานที่แม่ทำก่อนหน้านี้ด้วย ซึ่งในขณะเดียวกัน เราเองก็ชอบงานศิลปะ เลยเอาสองสิ่งนี้มาผสมผสานกัน แล้วคิดต่อว่าจะหาทางแก้ยังไงให้ชุมชนเรายังอยู่ต่อได้ เพราะเรารู้มาตลอดเวลาว่านางเลิ้งมีดีมากมาย แต่กลับตั้งอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่จะถูกไล่รื้อที่อยู่อาศัยตลอดเวลาเหมือนกับหลาย ๆ ชุมชน ซึ่งเราเติบโตมาด้วยบรรยากาศแบบนั้น”

‘อีเลิ้ง’ กลุ่มศิลปินที่พัฒนานางเลิ้งด้วยศิลปะ เพื่อรักษาย่านเก่าแก่ให้กลับมามีชีวิต

การต่อสู้ของแม่แดงในยุคสมัยที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดียมากมายเท่าสมัยนี้ แม่แดงใช้วิธีเรียกร้องและชี้ถึงปัญหาผ่านสื่อโทรทัศน์หลายช่อง ใช้พื้นที่สื่อต่อสู้ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาย่านในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่าที่คนตัวเล็กอย่างแม่แดงจะทำได้ เช่นเดียวกันกับน้ำมนต์ที่เธอเองรับไม้ต่อจากคุณแม่ สานต่อความตั้งใจที่ต้องการให้บ้านเกิดของตัวเองมีความเป็นอยู่ที่ดีแบบไม่ต้องระแวดระวังการถูกไล่รื้อ

“เราเอาศิลปะมาแก้ปัญหา เพราะเราใช้ศิลปะของการทำหนังมาต่อสู้ให้โรงหนังไม่ถูกยุบ ตอนนั้นเราเลือกศิลปินมา 7 คน ให้เขามาพำนักในชุมชน 1 ปี โดยต้องทำหนังคนละ 1 เรื่อง 

“สุดท้ายแล้วหนังเป็นแค่ผลพลอยได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ คือการทำหนังทำให้เกิดบทสนทนาในชุมชน การสัมภาษณ์ชาวบ้านมันไปรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับโรงหนังของเขา และเมื่อโรงหนังจะปิดตัวลง ชาวบ้านรู้สึกอย่างไรบ้าง นั่นทำให้ผู้คนกลับมาเชื่อมกันผ่านบทสนทนา ซึ่งบทสนทนาเหล่านั้นก็ถูกบันทึกและเก็บเข้าคลังข้อมูลของย่าน และ 1 วันก่อนหนังฉาย โรงหนังกลับไม่อนุญาตให้ฉาย

“เราไม่คิดว่าหนังต้องฉายในโรงหนังเท่านั้น เรามองว่านั่นคือสิ่งที่เราต่อสู้ไปแล้ว ในหนังมีใบหน้าของชาวบ้านทุกคน ถ้าหากคนที่มีอำนาจ ยิ่งกดขี่ชาวบ้านมากเท่าไร ศิลปะยิ่งมีพลังมากขึ้นเท่านั้น เราว่าศิลปะมันพุ่งตรงเข้าหาปัญหา ยิ่งปัญหาดำมืด ศิลปะยิ่งเป็นสื่อที่เข้าไปเล่นกับปัญหาได้อย่างสนุก”

‘อีเลิ้ง’ กลุ่มศิลปินที่พัฒนานางเลิ้งด้วยศิลปะ เพื่อรักษาย่านเก่าแก่ให้กลับมามีชีวิต

กลุ่มอีเลิ้ง เริ่มก่อตั้งอย่างจริงจังตั้งแต่โปรเจกต์ทำหนังในครั้งนั้น ซึ่งคำว่า ‘อีเลิ้ง’ เป็นชื่อเก่าของ ‘นางเลิ้ง’ สันนิษฐานว่าเปลี่ยนจากคำนำหน้าว่า ‘อี’ เป็นคำว่า ‘นาง’ เพื่อให้ไพเราะเสนาะหูมากขึ้น น้ำมนต์เลือกใช้ชื่อนี้เพราะนอกจากสื่อถึงรากเหง้าของบ้านเกิดได้ดีแล้ว ยังมีความทันสมัยเมื่อเล่นคำในภาษาอังกฤษด้วย เพราะคำว่า E-Lerng ขึ้นต้นด้วยอักษร E ซึ่งเป็นตัวอักษรที่บ่งบอกถึงเทคโนโลยีและความทันสมัย เป็นคำที่เข้าใจง่าย รวมถึงบ่งบอกยันภารกิจที่น้ำมนต์กำลังทำอยู่ได้ชัดเจน นั่นคือภารกิจนำเอาศิลปะมาผสมผสานกับเครื่องมือที่ทันสมัยในปัจจุบัน เพื่อคงความเป็นตัวตนของนางเลิ้งเอาไว้

อีเลิ้ง คือ ศิลปะ-การต่อสู้

ก่อนหน้าการตั้งกลุ่มอีเลิ้ง น้ำมนต์ทำงานเพื่อชุมชนมามากมาย ตั้งแต่ปัญหาเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ ปัญหายาเสพติดในชุมชน ไปจนถึงปัญหาการจัดการพื้นที่สาธารณะของย่าน 

“แม่เราทำงานเพื่อชุมชนมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่กลุ่มอีเลิ้งเริ่มเมื่อปี 2017 ถึงปัจจุบัน เราเริ่มใช้ศิลปวัฒนธรรมของชุมชน สนใจในเรื่อง Public Art และ Public Space ช่วงแรกที่ทำกลุ่มขึ้นมา คนยังไม่เข้าใจว่าชุมชนคืออะไรด้วยซ้ำ เขามองว่านักพัฒนาชุมชนต้องต่อสู้แบบเข้มข้นอย่างเดียว แต่เรารู้สึกว่าชุมชนมีความสุนทรีได้ ศิลปะมีศักยภาพในการสื่อสารทุกเรื่องด้วย เราเลยคุยกับเพื่อนที่อยากทำให้ย่านมี Public Art อยู่ในชุมชนให้คนอื่น ๆ ได้มานั่งดูกันบ้าง จุดเริ่มต้นของการตั้งกลุ่มก็มาจากตรงนี้”

ภารกิจสำคัญของกลุ่มอีเลิ้ง คือการสร้าง Community Archive หรือคลังจัดเก็บข้อมูลชุมชน

ซึ่งข้อมูลชุมชนนับรวมตั้งแต่เรื่องวิถีชีวิต วัฒนธรรม อาหาร จนไปถึงศิลปะเฉพาะตัวของย่าน ซึ่งน้ำมนต์เชื่อว่าย่านนางเลิ้งควรมีฐานข้อมูลกลางที่ถูกต้องประจำชุมชน เพื่อให้ข้อมูลนี้ส่งต่อไปในอนาคต และเพื่อให้อัตลักษณ์ของย่านถูกบันทึกไว้โดยไม่สูญหายตามกาลเวลา 

‘อีเลิ้ง’ กลุ่มศิลปินที่พัฒนานางเลิ้งด้วยศิลปะ เพื่อรักษาย่านเก่าแก่ให้กลับมามีชีวิต

“เราทำโปรเจกต์ Community Lab ขึ้นเพื่อจัดเก็บข้อมูลชุมชน อย่างยุคที่ทำหนังอีเลิ้งเมื่อปี 2017 ในหนังเรื่องนั้นคนตายไปแล้วเกินครึ่ง แต่มันยังบันทึกข้อมูลไว้ได้อยู่ เรื่องเล่าเล็ก ๆ ในชุมชนอย่างเรื่องไฟไหม้นางเลิ้ง เหตุการณ์นั้นชาวบ้าน 10 คน เล่าไม่เหมือนกันเลยสักคน บางคนบอกว่าเกิดไฟไหม้เพราะมีคนเสียบปลั๊กพัดลมทิ้งไว้ บางคนบอกว่า จอมพล ป. มาวางเพลิง ซึ่งมันตลกมาก สิ่งเหล่านี้เรียกว่า Oral History เป็นเรื่องเล่าที่ไม่มีคนเก็บข้อมูล ไม่มีใครสนใจ แต่เราสนใจเก็บมันผ่านการทำหนัง

“เคยเห็นในหนังฝรั่งไหมที่เมืองเล็ก ๆ เขามีห้องสมุดชุมชน ทุกคนเข้าไปหาข้อมูลชุมชนของตัวเองได้ เพราะเขาเก็บข้อมูลหลายประเภทย้อนหลังหลายปี แต่ในไทยไม่มีอะไรแบบนี้เลย ซึ่งเรามองว่าการเก็บข้อมูลเหล่านี้จำเป็นมากนะ เพราะจะทำให้ชุมชนไม่ต้องบอบช้ำจากข้อมูลที่ไม่มีตรงกลาง ไม่ต้องมีนักศึกษามาถามคำถามเพื่อทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์กับคนในชุมชนซ้ำ ๆ เป็น 10 กว่าปีแบบนี้ ซึ่งหลาย ๆ ข้อมูลที่มีประโยชน์ เราก็เก็บไม่ทันกันแล้ว อย่างคนทำเรือฝั่งธนฯ เขาทำเก่งมาก เป็นทักษะเก่าแก่ แต่พอลุง ๆ ป้า ๆ เขาป่วยตาย องค์ความรู้ก็หายไปหมดเลย ซึ่งน่าเสียดายมาก” เธอเล่าอย่างออกรส

อีเลิ้งเริ่มเก็บข้อมูลในย่านแล้วนำมาทำเป็นคอนเทนต์ ทั้งบนเพจเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ บ้านนางเลิ้ง – Baan NangLerng ซึ่งการนำข้อมูลมาทำคอนเทนต์เชิงศิลปะ เป็นวิธีหนึ่งของการสร้างรายได้กลับเข้าสู่ชุมชน มีผู้คนเข้ามาท่องเที่ยวในแบบที่เข้าใจความเป็นนางเลิ้งมากขึ้น มีศิลปินที่สนใจเข้ามาทำงานศิลปะที่นี่ จนถึงตอนนี้มีศิลปินชาวญี่ปุ่นมาพำนักที่นี่ เพื่อทำงานศิลปะที่ย่านมากกว่า 10 คน ซึ่งศิลปินคนล่าสุดที่กำลังทำงานศิลปะในตอนนี้คือ Nicholas Carn ผู้เดินทางไกลลัดฟ้ามาจากประเทศอังกฤษ

‘อีเลิ้ง’ กลุ่มศิลปินที่พัฒนานางเลิ้งด้วยศิลปะ เพื่อรักษาย่านเก่าแก่ให้กลับมามีชีวิต

“ศิลปินคนนี้มาพำนัก 1 เดือนแล้ว เป็น AI Artist เขานำข้อมูลที่เก็บในชุมชนทำออกมาเป็นภาพและเสียง ซึ่งเขาจัดนิทรรศการด้วย นิโคลัสทำงานร่วมกับศิลปินท้องถิ่นละครชาตรีของที่นี่ ซึ่งเป็นศิลปินคนเดียวและคนสุดท้ายที่เล่นละครชาตรีดั้งเดิมได้ นิโคลัสเก็บข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับศิลปินท้องถิ่นละครชาตรีของเรา แล้วนำข้อมูลไปทำต่อเป็น Immersive Art Installation คือการที่ผู้ชมสัมผัสรูป รส กลิ่น เสียง เป็นงานแสงเสียง เป็นการทำงานแบบประเทศโลกที่ 1 นิทรรศการนี้จัดเพื่อทดลองว่าฐานข้อมูลชุมชนที่นอกจากนำไปเก็บไว้แล้ว มันสร้างคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียหรือทำเป็นแพ็กเกจท่องเที่ยวได้ไหม สุดท้ายแล้วมันเป็นอะไรได้มากกว่าคอนเทนต์หรือเปล่า นี่คืองานที่เราและนิโคลัสทำด้วยกัน”

‘อีเลิ้ง’ กลุ่มศิลปินที่พัฒนานางเลิ้งด้วยศิลปะ เพื่อรักษาย่านเก่าแก่ให้กลับมามีชีวิต
‘อีเลิ้ง’ กลุ่มศิลปินที่พัฒนานางเลิ้งด้วยศิลปะ เพื่อรักษาย่านเก่าแก่ให้กลับมามีชีวิต

น้ำมนต์พาเราเดินลัดเลาะผ่านตลาดนางเลิ้ง แล้วหยุดที่ตึกเก่าหลังหนึ่งตรงทางออก กลิ่นหอมของดอกมะลิและดอกไม้ที่ใช้ทำพวงมาลัยอบอวลทั่วห้องนิทรรศการ บนผนังฉายชื่อนิทรรศการ ‘The River Cannot Contain The Graces Of Dance’ บนผ้าผืนสีขาวในห้องถัดไปฉายภาพ ครูกัญญา กำลังร่ายรำละครชาตรีในท่วงท่าที่งดงามไปพร้อม ๆ บทเพลง แต่น่าเสียดายที่ท่านผู้อ่านอาจไม่ทันได้ไปเปิดรับประสบการณ์ใหม่ในงานนี้ เพราะนิทรรศการจัดไปแล้วเมื่อวันที่ 21 – 22 เมษายนที่ผ่านมา 

“จริง ๆ เรากำลังเก็บข้อมูลละครชาตรีของครูกัญญาเอาไว้ด้วย เพราะละครชาตรีเป็นศาสตร์ที่ยากมาก นักแสดงต้องทั้งร้อง ทั้งรำ และสนทนาเอง หาคนสืบทอดยากมาก เราพยายามพาทุกคนมาเรียนเพราะครูกัญญาสอนให้ฟรี แต่ทุกวันนี้ก็ไม่มีคนมาเรียน เลยหาวิธีให้ศาสตร์นี้คงอยู่ต่อไปด้วยการถ่ายทำท่ารำละครชาตรีเป็น 3D Scan ในอนาคตจะได้มีการเรียนละครชาตรีแบบ 3D Model Print”

กลุ่มศิลปินผู้เชื่อในพลังการขับเคลื่อนสังคมด้วยศิลปะ เพื่อปกป้องย่านนางเลิ้ง และหวังให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
กลุ่มศิลปินผู้เชื่อในพลังการขับเคลื่อนสังคมด้วยศิลปะ เพื่อปกป้องย่านนางเลิ้ง และหวังให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อีเลิ้งทำเรื่องการเก็บข้อมูลชุมชนเยอะ เพราะเป็นภารกิจหลัก แต่ภารกิจอื่น ๆ ที่ต้องช่วยเหลือผู้คนในชุมชนก็ไม่ได้ทิ้งเช่นกัน เรียกได้ว่ากลุ่มอีเลิ้งพร้อมวิ่งเข้าชนทุกปัญหาของบ้านเกิดจริง ๆ

“ช่วงโควิด-19 เราสร้างเว็บไซต์ Community x Covid เกิดจากการที่คนที่อยากเป็นผู้ให้กับคนที่อยากเป็นผู้รับเขาหากันไม่เจอ และข้าวของที่แต่ละชุมชนต้องการก็แตกต่างกันไป เช่น บางบ้านไม่มีเตาแก๊ส เพราะฉะนั้นจะให้ข้าวสารกับเขาไม่ได้ ต้องให้อาหารสำเร็จรูป เว็บไซต์นี้ทำให้การแบ่งปันและการจัดหาสิ่งของจำเป็นในช่วงโควิด-19 สะดวกขึ้น และอีกเรื่องที่เราทำในช่วงนั้น คือเรื่องขยะและสิ่งแวดล้อม สถานการณ์โรคระบาดทำให้ในชุมชนมีขยะเพิ่มมากขึ้น อย่างบริเวณหน้าบ้านของเราก็คือธนาคารขยะ เราให้ชาวบ้านมาคัดแยกขยะตรงนี้ แล้วแลกของใช้จากขวดรีฟิลล์ของเราได้”

การรีฟิลล์ที่น้ำมนต์ว่า มีตั้งแต่ครีมอาบน้ำ น้ำยาล้างจาน สบู่ จนถึงของเหลวที่จำเป็นต้องใช้ในครัวเรือน เกณฑ์การแลกขึ้นอยู่กับชนิดของขยะ เช่น ถุงพลาสติก 5 ใบ แลกน้ำยาล้างจานได้ 1 ปั๊มใหญ่

“คนที่นี่เขาเริ่มแยกขยะกันจนเป็นนิสัย แล้วของเหลวรีฟิลล์ก็เป็นของเหลวออร์แกนิก ช่วงหลังมานี้น้ำเสียในท่อไม่ขุ่นดำเหมือนก่อนแล้วนะ ซึ่งขยะบางอย่างที่เขาเอามาแยก เราก็นำมาทำงานศิลปะต่อ” 

กลุ่มศิลปินผู้เชื่อในพลังการขับเคลื่อนสังคมด้วยศิลปะ เพื่อปกป้องย่านนางเลิ้ง และหวังให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
กลุ่มศิลปินผู้เชื่อในพลังการขับเคลื่อนสังคมด้วยศิลปะ เพื่อปกป้องย่านนางเลิ้ง และหวังให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากไอเดียดี ๆ อย่างธนาคารขยะแล้ว น้ำมนต์ยังสร้างวิถีใหม่เพื่อรักษาวิถีเดิมของพ่อค้าแม่ขายในตลาดนางเลิ้ง วิธีที่ว่าคือการออกแบบคูปองพร้อมภาชนะใส่อาหารแบบเดินกินได้

“ยุคสมัยเปลี่ยนไป พ่อค้าแม่ค้าในตลาดนางเลิ้งถูกกดขี่เยอะมาก ตั้งแต่การขึ้นค่าเช่าและการพยายามทำให้ตลาดเป็นฟู้ดคอร์ตตามโรงพยาบาล นอกจากขึ้นค่าเช่าก็มีกฎออกมากดขี่พ่อค้าแม่ค้าว่า ถ้าขายของหน้าบ้านต้องจ่าย 900 บาท ถ้าไม่จ่ายจะมีคนมาขายของหน้าบ้านแทน มันไม่สมเหตุสมผล จะทำอะไรต้องมีใบขออนุญาตเสมอ ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ชุมชนจะค่อย ๆ ฝ่อตายไป

“เราเกิดไอเดียว่า การให้ลูกค้าเดินซื้อและเดินกินในตลาดไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อน เลยสร้างโปรเจกต์จุบจิบจับจ่าย คนที่มาตลาดนางเลิ้งซื้อชุดจุบจิบจับจ่ายในราคา 150 บาท เขาจะได้ชุดภาชนะที่มี 8 หลุม พร้อมกับแก้วน้ำ 1 ใบ และต้องใช้เหรียญ Community Coin ในการจับจ่าย เราทำแบบนี้ไม่ได้กำไรหรอก แต่เป็นกระบวนการต่อสู้เพื่อให้อาหารดั้งเดิมของชาวบ้านแท้ ๆ ไม่หายไป วิถีเดิมของเขายังอยู่ เป็นตลาดนางเลิ้งแท้ ๆ ที่ไม่ใช่ฟู้ดคอร์ต โปรเจกต์ของเราก็ทดลองและทำหลาย ๆ อย่างแบบนี้แหละ”

กลุ่มศิลปินผู้เชื่อในพลังการขับเคลื่อนสังคมด้วยศิลปะ เพื่อปกป้องย่านนางเลิ้ง และหวังให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
กลุ่มศิลปินผู้เชื่อในพลังการขับเคลื่อนสังคมด้วยศิลปะ เพื่อปกป้องย่านนางเลิ้ง และหวังให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อีกเป้าหมายที่น้ำมนต์อยากทำให้สำเร็จ คือการสร้างฮับกลางของย่านนางเลิ้ง

เพราะการสร้างคลังข้อมูลของชุมชนไม่เพียงอนุรักษ์ความเป็นย่านเอาไว้ แต่ยังเป็นศูนย์กลางของชุมชน ไม่ว่าใครก็ติดต่อไปที่ฮับอีเลิ้งซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมของย่านนี้ได้ ฮับจึงเป็นจุดเชื่อมโยงทั้งข้อมูลและกระจายความช่วยเหลือต่าง ๆ ให้ไปถึงคนในชุมชนได้เร็วที่สุดนั่นเอง น้ำมนต์ย้ำกับเราว่าการสร้างฮับโดยกลุ่มอีเลิ้งกำลังเป็นการสร้างศูนย์กลางของชุมชนโดยไม่ยึดโยงตัวบุคคล แต่ให้ยึดโยงสถานที่และคลังข้อมูลมากกว่า เพราะในวันที่น้ำมนต์ไม่อยู่ แต่ฮับกลางทั้งในเชิงออนไลน์และทางกายภาพยังคงอยู่ได้ งานที่น้ำมนต์ทำจึงมองอนาคตระยะยาวเพื่อคนนางเลิ้งอย่างรอบคอบ

นางเลิ้ง – ย่านเก่าที่ไม่ถูกกลืนกิน

สนทนากับคนที่น่าทึ่งมาถึงตรงนี้ เราลองถามเธอย้อนกลับไปว่าความหวังแรกของเธอคืออะไร และเธอมอบความสมหวังนั้นให้กับตัวเองแล้วหรือยัง

“เราเข้าใจดีว่าเมืองพัฒนาอยู่ตลอด เป้าหมายของเราคือทำให้คนนางเลิ้งยังอยู่ในพื้นที่เดิมไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาของเมือง เราเชื่อว่าคนในชุมชนยังยึดโยงกัน เราเรียกมันว่า Social Fabric 

“เราว่าคนนางเลิ้งยุคใหม่ที่เปิดคาเฟ่แถวนี้เขาให้เกียรติชุมชนนะ ส่วนใหญ่เป็นร้านแนวฮิป ๆ เป็นร้านลับที่ไม่ได้เน้นให้คนมาถ่ายรูป เรามองว่าคนที่มาเปิดคาเฟ่แถวนี้มีความเป็นคาเฟ่อินโทรเวิร์ตกันนิดหน่อย ถือเป็นความโชคดีของย่าน อย่างตลาดน้อย เราลองมองซ้ายขวาไม่เห็นร้านขายอะไหล่แล้ว เพราะเมืองและความนิยมเปลี่ยนไป คาเฟ่เข้ามาแทนที่ คนที่เกิดที่นั่นก็เริ่มขายบ้านเพราะรอบข้างเสียงดัง

“โมเดลของย่านตลาดน้อยถูกผลิตซ้ำเยอะมาก อารมณ์เหมือนตลาดเก่าสามชุกหรืออัมพวาที่ยกความเก่าแก่มาขาย และอีกโมเดลหนึ่งของย่านเก่าคือการถูกไฟไหม้ ร้างไปเลย ตอนนี้เราพยายามทำเวอร์ชันตรงกลางของสองโมเดลนี้อยู่ มันใช้พลังเยอะ แต่ก็ท้าทายที่เราได้เป็นคนกรุยทางทำสิ่งนี้”

กลุ่มศิลปินผู้เชื่อในพลังการขับเคลื่อนสังคมด้วยศิลปะ เพื่อปกป้องย่านนางเลิ้ง และหวังให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

น้ำมนต์อธิบายความคาดหวังในใจ ก่อนตอบคำถามข้อสองที่เราได้ถามทิ้งไว้ในครั้งแรก

“ความคาดหวังเหล่านั้นยังไม่สมหวังนะ เพราะการพัฒนาเมืองมีความสุ่มเสี่ยงในการถูกไล่รื้ออยู่ตลอด พอเรามองย้อนกลับไปในแต่ละโปรเจกต์ที่ทำ เราแก้ปัญหาในแต่ละยุคตามเครื่องมือที่มีในยุคนั้น อย่างยุคแรกที่ทำอีเลิ้ง เราอยากสร้างเว็บไซต์ อยากทำคลังเก็บข้อมูลที่ล้ำหน้า แต่เครื่องมือยังมาไม่ถึง ดังนั้นต้นตอปัญหาใหญ่จริง ๆ ของที่นี่อาจยังไม่ถูกแก้ แต่เราเต็มที่กับปัญหาเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นตามความสามารถที่เรามี แม้ปลายทางจริง ๆ ยังไม่ไปถึง แต่คิดว่ายังไงโลกก็น่าจะหมุนไปถึงตรงนั้นสักวัน”

และแน่นอนว่าการทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจกว่า 16 ปีของน้ำมนต์ไม่เคยเสียเปล่าเลย

“สิ่งที่ย่านเปลี่ยนไปชัด ๆ คือโรงหนังของเรายังอยู่ พอมันอยู่มาจนถึงวันนี้ก็ยิ่งยากที่จะยุบ เพราะกระแสโซเชียลมีเดียกระเพื่อมไว คนในสังคมเริ่มเข้าใจเรื่องการหวงแหนชุมชนมากขึ้น เมื่อก่อนเราสู้แบบโดดเดี่ยวมากเลยนะ สู้แบบเงียบ ๆ ผ่านการออกอากาศทางช่องทีวี ที่เราพูดถึงโรงหนังบ่อย ๆ เพราะถ้าไม่มีโรงหนังนี้ นางเลิ้งจะไม่มีอัตลักษณ์ที่ยึดโยงผู้คนในเชิงกายภาพ เราเลยสู้สุดตัวไม่ให้เกิดการทุบทิ้ง โรงหนังคือตัวยึดโยงความทรงจำของผู้คนที่นี่ เป็นสายใยที่ทำให้เราสู้ต่อในเรื่องอื่น ๆ ด้วยกัน”

กลุ่มศิลปินผู้เชื่อในพลังการขับเคลื่อนสังคมด้วยศิลปะ เพื่อปกป้องย่านนางเลิ้ง และหวังให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แม้จะยังไม่สมหวัง และทุกโอกาสต้องหมุนพร้อมกับโลกที่เคลื่อนไปข้างหน้า แต่ภาพฝันของย่านนางเลิ้งสำหรับน้ำมนต์ยังคงเด่นชัด ความมุ่งมั่นของเธอทำเอาเรารู้สึกได้ถึงพลังแห่งความหวัง

“เราอยากเห็นย่านนางเลิ้งพัฒนาและป๊อปมากขึ้น เราต้องมี Central Park มีการท่องเที่ยวที่คนนำรายได้เข้ามาสู่ชุมชนไม่ขาดสาย เพื่อให้คนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเราอยากเห็นเมืองเก่าที่ไม่บอบซ้ำ คนนางเลิ้งยังอยู่ที่นี่ในยุคที่ความเจริญสูงสุดมาถึง ที่สำคัญที่สุดคือคนดั้งเดิมต้องอยู่ได้ และคนใหม่ที่เข้ามาก็ต้องเข้าใจและกลมกลืนไปด้วยกันได้ แม้ว่าการพัฒนาเมืองจะไม่มีที่สิ้นสุดก็ตาม”

Facebook : อีเลิ้ง

Writer

Avatar

กชกร ด่านกระโทก

มนุษย์แมนนวล ผู้หลงใหลในกลิ่นและสัมผัสของหนังสือ ใช้เวลาว่างไปกับการอ่านนิยาย/มังงะ สนุกไปกับการเดินทาง และชื่นชอบในการเรียนรู้โลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ