E-HUBB : ร้านค้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ช่วยยกระดับชีวิตคนในพื้นที่ห่างไกล

บนโลกนี้มีคนกว่า 1.1 พันล้านคนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้สะดวกสบายเหมือนเรา การไม่มีไฟฟ้า (ที่ไม่ใช่แค่ไฟดับเวลาฝนตกหนัก) หมายถึงความยากลำบากในการเข้าถึงสินค้าและบริการจำเป็น ตั้งแต่น้ำกินน้ำใช้ บริการสุขภาพ การเรียนหนังสือ จนถึงการชาร์จมือถือที่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการสื่อสาร 

ในปัจจุบัน ทางแก้ที่น่าสนใจสำหรับปัญหาใหญ่นี้คือไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งทั้งสะอาดยั่งยืนและเหมาะกับชีวิตคนที่อยู่แบบ Off-grid หรือไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบพลังงานไฟฟ้าส่วนกลาง

E-HUBB : ร้านค้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ช่วยยกระดับชีวิตคนในพื้นที่ห่างไกล

มีการคิดค้นนวัตกรรมหลายรูปแบบเพื่อทำให้ทางแก้ปัญหานี้เป็นไปได้ หนึ่งในตัวอย่างที่เราสะดุดตาจนอยากหยิบมาเล่าคือ นวัตกรรมจาก Solar Kiosk กิจการเพื่อสังคมสัญชาติเยอรมนี ที่ไปไกลกว่าการเข้าไปติดแผงโซลาร์ให้ชุมชน รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงในหลายระดับ

และนี่คือเรื่องของ E-HUBB ร้านค้าพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Kiosk ซึ่งนำอนาคตสว่างไสวมาให้ชุมชนขาดแคลนไฟฟ้า

คำตอบที่ตอบโจทย์แบบองค์รวม

ขณะที่โลกดูคล้ายหมุนรอบชีวิตคนในเมืองใหญ่ Solar Kiosk ประกาศชัดว่าสนใจตลาดชายขอบ หรือ Frontier Markets ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนในพื้นที่ห่างไกล สำหรับพวกเขา นี่คือกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ รวมถึงเป็นตลาดผู้บริโภคระดับโลกที่อาจมีมูลค่าถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี 

และวิธีช่วยให้กลุ่มเป้าหมายนี้มีศักยภาพเต็มที่ก็คือ ช่วยให้พวกเขาเข้าถึงแหล่งพลังงาน 

E-HUBB : ร้านค้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ช่วยยกระดับชีวิตคนในพื้นที่ห่างไกล

Solar Kiosk เชี่ยวชาญเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ แต่แทนที่จะนำอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ไปติดตั้งเฉยๆ กิจการเพื่อสังคมรายนี้ระบุว่าคำตอบดีที่สุดคือ การที่ชาว Off-grid ใช้พลังแสงอาทิตย์อย่างมีประสิทธิภาพ 

E-HUBB จึงเกิดขึ้นในฐานะคำตอบที่ตอบโจทย์แบบรอบด้าน

ร้านค้าในรูปแบบ Kiosk นี้ได้รับการออกแบบโดยทีมสถาปนิกชาวเยอรมนีให้ทนทาน ปลอดภัย และขนส่งได้สะดวก ตัวร้านจะมาถึงชุมชนในรูปแบบชุดชิ้นส่วนพร้อมประกอบน้ำหนักเบา (ชนิดขนมาบนหลังลาได้) และเมื่อมาถึงก็ใช้คนแค่ไม่กี่คนประกอบร่างร้านจนเสร็จได้ในเวลาสั้นๆ 

E-HUBB : ร้านค้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ช่วยยกระดับชีวิตคนในพื้นที่ห่างไกล

ตัวร้านที่เสร็จสมบูรณ์มีสินค้าที่จำเป็นวางขาย ช่วยให้คนในพื้นที่ห่างไกลไม่ขาดแคลนของจำเป็น นอกจากนั้น บนหลังคาร้านจะมีแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ชาวชุมชนจึงมีไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดไว้เชื่อมต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าและเสาสัญญานอินเทอร์เน็ต เรียกว่าครบทั้ง Energy และ Connectivity โดยแค่ได้รับแสงอาทิตย์ 5 ชั่วโมง ร้านก็จะมีพลังงานไว้ใช้พอสำหรับ 3 วัน อีกทั้งตัวร้านยังมีแบตเตอรี่เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง 

เพราะอย่างนี้ แม้พระอาทิตย์จะตกดินไปแล้ว เราจึงยังเห็นร้านค้านี้สว่างไสวจากพลังงานที่เก็บไว้ กลายเป็นจุดนัดพบศูนย์กลางของชุมชน

E-HUBB : ร้านค้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ช่วยยกระดับชีวิตคนในพื้นที่ห่างไกล

มากกว่านั้น E-HUBB ยังดำเนินการในรูปแบบแฟรนไชส์ที่ช่วยสร้างรายได้ในท้องถิ่น โดย Solar Kiosk จะเข้ามาช่วยอบรมคนท้องถิ่นที่จะดูแลร้านค้านี้ตั้งแต่เรื่องเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์จนถึงวิธีดูแลร้าน หลังจากนั้น เจ้าของแฟรนไชส์ E-HUBB สาขาต่างๆ ซึ่งหลายแห่งเป็นผู้หญิงก็มักจ้างคนดูร้านต่ออีกทอด ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้มากขึ้นอีก ที่สำคัญ โมเดลธุรกิจแบบนี้ยังเปิดโอกาสให้ Solar Kiosk ที่ผลิตอุปกรณ์ด้านพลังงานแสงอาทิตย์และหุ้นส่วนอีกหลายรายได้ผลประโยชน์ไปด้วย 

E-HUBB จึงเป็นงานออกแบบที่ช่วยสร้างทั้งรายได้และการเปลี่ยนแปลงแท้จริงไปพร้อมกัน

คำตอบที่บรรจุความเป็นไปได้

หลังกวาดรางวัลมาจากหลายเวที ในปัจจุบัน Solar Kiosk ติดตั้ง E-HUBB ไปแล้วประมาณ 250 แห่งใน 15 ประเทศ ทั้งในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย 

E-HUBB : ร้านค้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ช่วยยกระดับชีวิตคนในพื้นที่ห่างไกล
E-HUBB : ร้านค้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ช่วยยกระดับชีวิตคนในพื้นที่ห่างไกล

นวัตกรรมชิ้นนี้ช่วยยกระดับชีวิตคนไปแล้วกว่า 5 ล้านคน และเมื่อมองในด้านสิ่งแวดล้อม ถ้า E-HUBB 1 สาขาดำเนินกิจการไปได้ถึง 15 ปี มันจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 36,000 กิโลกรัม 

มากกว่านั้น สิ่งที่เรามองว่าน่าสนใจมากคือ E-HUBB ซึ่งมีโครงสร้างยืดหยุ่นนี้ได้ต่อยอดไปอีกหลายรูปแบบ ในส่วนโครงสร้าง Solar Kiosk ได้พัฒนา E-HUBB ECO ซึ่งราคาจับต้องได้อย่างยิ่ง สร้างเสร็จภายใน 2 ชั่วโมง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ในส่วนประโยชน์ใช้สอย Solar Kiosk ได้จับมือกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนพา E-HUBB ไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในประเทศไนจีเรีย นวัตกรรมชิ้นนี้กลายเป็นธนาคารที่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงบริการทางการเงิน ส่วนในประเทศจอร์แดน เราจะเห็นมันกลายเป็นคลินิกพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงโรงเรียนในค่ายผู้ลี้ภัย 

หากงานออกแบบคือคำตอบสำหรับโจทย์ปัญหา E-HUBB จึงเป็นคำตอบที่บอกเราเสมอว่า ถ้าอยากได้คำตอบที่ดี จงมองไปให้ไกลกว่านั้น 

E-HUBB : ร้านค้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ช่วยยกระดับชีวิตคนในพื้นที่ห่างไกล

ข้อมูลอ้างอิง 

solarkiosk.eu

inhabitat.com

Writer

Avatar

ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

CUD4S ร่วมก่อตั้งโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เราตั้งใจนำการออกแบบและ Design Thinking ไปแก้ปัญหาสำคัญของสังคม โดยทำบนฐานงานวิจัย ในรูปแบบของ Collaborative Platform ให้ฝ่ายต่างๆ มาร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน ติดตามโครงการของเราได้ที่ Facebook : CUD4S