“ดีคือเลว ทรามคืองาม
อวลไอหมอกและอากาศเลวทราม”

Macbeth Act 1, scene 1
William Shakespeare

 

ยืนมองท้องฟ้าไม่เป็นเช่นเคย ข่าวพายุปาบึกถล่มภาคใต้ยังไม่ทันสร่างซา กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรก็กำลังเผชิญหน้ากับการท้าทายครั้งสำคัญจากภัยฝุ่น PM 2.5 อีก ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววจะทุเลาลงแม้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเราจะสั่งการระดมฉีดน้ำขึ้นฟ้าอย่างเอาเป็นเอาตายเพียงใดก็ตาม ในยามยากเช่นนี้เราขออาสาพาท่านผู้อ่านทะลุกระจกกาลเวลาย้อนกลับไปสำรวจฝุ่น-ฝน-ลม-หมอก ที่เคยอุบัติขึ้นในความคิด ในความเชื่อ ในเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ของชนชาติเรากันสักเล็กน้อย

 

ฝน-ลม-ฝุ่นที่สร้างและล้างโลกในไตรภูมิพระร่วง

ฝุ่น

เขาพระสุเมรุรายล้อมด้วยมหาสมุทรทั้งสี่ทิศ   ภาพ : สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี

ไม่ต่างอะไรจากตำนานการกำเนิดโลกและการล้างโลกโดยพระเป็นเจ้าของชาวตะวันตก ใน ไตรภูมิพระร่วง วรรณกรรมที่เป็นรากฐานความคิดความเชื่อของไทยที่เขียนขึ้นเมื่อเกือบ 700 ปีที่แล้วโดยพญาลิไท กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ก็กล่าวถึงการเกิดและดับของโลกไว้เช่นกัน “สรรพสัตว์ที่มีชีวิตจิตใจซึ่งมีอยู่ใน ๓๑ ภูมิ ไม่เที่ยงแท้…ก็ต้องพินาศวอดวายไปเพราะ ไฟ น้ำ และลม…สาเหตุที่โลกฉิบหายวอดวายด้วยอำนาจไฟประลัยกัลป์ น้ำประลัยกัลป์และลมประลัยกัลป์นั้น เป็นเพราะคนทั้งหลายประกอบกรรมทำชั่วต่าง ๆ นานา ทั้งทางกาย วาจาและใจ ไม่รู้จักบุญ ไม่รู้จักธรรม”*

*ยกข้อความมาจาก ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ ของโครงการวรรณกรรมอาเซียน กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 2 พุทธศักราช 2555 สืบค้นจากห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ www.vajirayana.org โครงการดีๆ ที่รวบรวมวรรณกรรมสำคัญของชาติไว้ในรูปแบบดิจิทัล สะดวกต่อการสืบค้นอย่างยิ่ง นี่แหละคือการอนุรักษ์และเผยแผ่คุณค่าของวรรณกรรมไทยอย่างแท้จริง

ตามคติไตรภูมิแล้ว โลกจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามกฎไตรลักษณ์ เวียนวนไปเป็นวงจรไม่มีที่สิ้นสุด หนทางเดียวที่จะหลุดออกจากวงจร (อุบาทว์) นี้ได้คือการไปให้ถึงนิพพาน ดังที่กล่าวเปรียบเทียบในไตรภูมิพระร่วงไว้ว่า “นิพพานสมบัติเป็นสุขเกษมยิ่งนัก หาที่จะเปรียบปานมิได้ สมบัติพระอินทร์พระพรหม ถ้าจะเอามาเปรียบกับนิพพานสมบัติแล้ว ก็เป็นประดุจแสงหิ่งห้อยมาเปรียบกับแสงพระจันทร์ หรือมิฉะนั้นก็ดุจน้ำติดอยู่ปลายผม เปรียบกับน้ำในมหาสมุทรซึ่งลึกถึง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ หรือมิฉะนั้น ก็ดุจเอาฝุ่นเปรียบกับเขาพระสุเมรุ”

เมื่อถึงคราวล้างโลก ไตรภูมิพระร่วงเล่าเรื่องน้ำประลัยกัลป์หรือน้ำล้างโลกไว้ว่า เริ่มต้นจากฝนเม็ดเท่าฝุ่นผงเม็ดเดียวเท่านั้น “มีฝนตกลงมาเม็ดหนึ่ง เมื่อเริ่มแรกฝนตกนั้น เม็ดฝนเท่าดินธุลี อยู่ต่อมาอีกนานจึงตกลงมาอีกเม็ดหนึ่ง เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด อีกนานจึงตกลงมาอีกเม็ดหนึ่งเท่าเมล็ดถั่ว ต่อจากนั้นเวลาอีกเล็กน้อยจึงตกลงมาเท่าลูกมะขามป้อม โตขึ้นตามลำดับเท่าลูกมะขวิด เท่าควาย ช้าง บ้านเรือน…ประเดี๋ยวก็ใหญ่ขึ้นได้ ๒,๐๐๐ วา อีกนานก็ตกเม็ดหนึ่งมีขนาดโตขึ้นจาก ๑ โยชน์ เป็น ๒ – ๑๐ โยชน์ตามลำดับ อยู่ต่อมาอีกนานจึงตกโตขึ้นเป็น ๑๐๐ โยชน์ ถึง ๑๐๐,๐๐๐ โยชน์ จนเท่าจักรวาล”

เหตุการณ์ตอนนี้อาจทำให้นึกถึงเรื่องน้ำท่วมโลกและเรือโนอาห์ในคัมภีร์ไบเบิล แต่จริงๆ แล้วตำนานน้ำท่วมโลกเป็นที่แพร่หลายและปรากฏอยู่ทั่วไปในหลากหลายวัฒนธรรม ทั้งชาวเมโสโปเตเมีย กรีก อาหรับ จีน อินเดีย ฯลฯ ต่างมีเรื่องราวน้ำท่วมโลกในเวอร์ชันของตัวเองโดยมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป

ฝุ่น

‘มัสยาวตาร’ เรื่องราวปางหนึ่งของพระนารายณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูก็ปรากฏเหตุการณ์น้ำท่วมโลกในเรื่องด้วย

ในไตรภูมิยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า “มีคำถามว่าน้ำเต็มจากเบื้องล่างขึ้นไปถึงพรหมโลกนั้นเป็นอย่างไร และไม่ล้นจักรวาลได้อย่างไร ตอบว่า มีลมชนิดหนึ่งเรียกว่าลมอุกเขปวาตะ ลมนี้พัดเวียนรอบสระไม่ให้น้ำล้นบ่าออกไปได้” เราจึงอาจอนุมานจากตอนนี้ได้ว่าโลกหรือจักรวาลอุดมคติในทรรศนะดั้งเดิมของไทยอาจเป็นพื้นระนาบเดียว แบบเดียวกับความเชื่อเรื่องโลกแบนของชาวตะวันตกในยุคก่อนที่วิทยาศาสตร์จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ได้

เรื่องราวดำเนินต่อไปเมื่อพรหมองค์หนึ่งเสด็จลงมาดูน้ำท่วม หากพรหมมองเห็นดอกบัวผุดขึ้นมาจากน้ำจำนวนเท่าใด ทำนายว่าในกัลป์นั้นจะมีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นจำนวนเท่านั้น หากพรหมไม่เห็นดอกบัวเลย ก็แสดงว่าในกัลป์นั้นจะไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น

 

กำเนิดมนุษย์จากฝุ่นและลม

ไตรภูมิพระร่วงเล่าต่อไปว่า เมื่อน้ำแห้งลง ฝุ่นดีในผืนแผ่นดินนี้ได้มีกลิ่นรสอันโอชาอร่อยยิ่งนัก เหล่าพรหมที่สถิตอยู่ในชั้นอาภัสสรพรหมสิ้นบุญแล้วก็จุติจากอาภัสสรพรหมลงมาเกิดเป็นมนุษย์…พรหมทั้งหลายเห็นเช่นนั้นต่างก็พากันชิมรสดินต่างข้าวและน้ำทุกวัน ด้วยเหตุที่พวกพรหมมีความคิดอันเป็นอกุศล ๓ อย่างเกิดขึ้น คือ คิดทางกาม คิดพยาบาท คิดเบียดเบียน จึงทำให้รัศมีในร่างกายหายไปหมดสิ้น” ไตรภูมิกล่าวว่า พรหมเหล่านี้แหละที่เป็นบรรบุรุษของมนุษย์ทั้งปวง ฝุ่นบนแผ่นดินที่มีกลิ่นรสอันโอชะที่พรหมกินก็เทียบได้กับผลไม้ต้องห้ามในสวนเอเดน ที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า จากการลิ้มชิมรสผลไม้นั้นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตและจิตใจของมนุษย์คนแรกๆ ก่อนที่เขาจะกลายเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์โลกทั้งหลายในที่สุด

การเกิดขึ้นของมนุษย์ยังมีลมอีกอย่างหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โบราณเรียกลมนี้ว่า ‘กรรมชวาต’ อันมีความหมายตามรูปศัพท์ว่า ลมอันเกิดแต่กรรม โดยทั่วไปหมายถึงลมเบ่งเมื่อจวนคลอด ดังที่ปรากฏในเสภาเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม เมื่อคราวนางวันทองกำลังจะคลอดพลายงาม ความว่า

“นางวันทองร้องไห้ใจจะขาด

พอกรรมชวาตวาตะประทะถอน

อรุณฤกษ์เบิกสุรินทร์ทินกร

อุทรคลอนเคลื่อนคลอดไม่วอดวาย”

 

ฝุ่นลงทัณฑ์

ฝุ่น

พระรามและนางสีดาในป่าทัณฑก จิตกรรมอินเดียราวคริสต์ศตวรรษที่ 18

หลายครั้งในตำนานต่างๆ มักกล่าวถึงฝุ่นในฐานะเครื่องมือของเทพเจ้าในการลงโทษทัณฑ์มนุษย์ ใน บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เล่าถึงตำนานท้าวทัณฑราชและป่าทัณฑกในเทวตำนานอินเดียไว้ดังนี้

“ท้าวทัณฑราชก็สร้างนครเปนที่สำนักชื่อนครมธุมนต์ และตั้งพระศุกรเทพมุนีเปนปุโรหิตเปนที่สำราญสืบมา จนอยู่มาวัน ๑ ในฤดูวสันต์เดือนเจตรมาศ ท้าวทัณฑราชไปยังอาศรมพระศุกร ได้พบนางอรชาผู้เปนธิดามีความรักใคร่ เข้าเกี้ยวพาลเท่าใดนางก็ไม่ปลงใจ ท้าวทัณฑราชก็ขืนใจนางจนสมปราถนา พระศุกรมีความโกรธยิ่งนัก จึ่งบันดาลให้เปนฝุ่นตกลงมาจากฟากฟ้าถมบรรดามนุษและสัตว์ในอาณาเขตรของท้าวทัณฑราชนั้นหมดภายใน ๗ วัน แต่นั้นมาก็กลายเปนป่า ได้นามปรากฎว่าป่าทัณฑก (จากนามท้าวทัณฑะ)…และป่านี้เองคือป่าที่พระรามได้เดินผ่านไปเมื่อถูกเนรเทศ เรื่องนี้คล้ายเรื่องราวที่มีอยู่ในหนังสือใบเบ็ล ซึ่งกล่าวว่าพระเปนเจ้ากริ้วชาวเมืองโสดมและเมืองโคโมราห์ ว่าประพฤติลามกต่างๆ ในทางกาม จึ่งบรรดาลให้ฝนตกเปนไฟและกัมถัน ทำลายเมืองทั้ง ๒ นั้นทั้งชาวเมืองหมด คิดๆ ไปก็น่าจะสันนิษฐานว่า เรื่องทั้ง ๒ นี้จะมาจากมูลอันเดียวกัน”

ฝุ่น

ภาพวาด The Destruction of Sodom And Gomorrah โดย John Martin ปี 1852

หากใครเคยดูแอนิเมชันเรื่อง The Prince of Egypt อาจจะจำตอนที่พระเจ้าดลบันดาลให้เกิดภัยพิบัติ 10 ประการในอียิปต์ได้ เนื่องจากฟาโรห์ไม่ยอมปล่อยชาวอิสราเอลให้เป็นอิสระ ในคริสตธรรมคัมภีร์กล่าวว่า โมเสสกำเขม่าจากเตาไฟเต็มฝ่ามือเมื่อไปเข้าเฝ้าฟาโรห์ ตอนที่อยู่หน้าพระพักตร์ฟาโรห์โมเสสก็ซัดเขม่านั้นออกไป เขม่านั้นกลายเป็นฝุ่นกระจายไปทั่วอียิปต์ ทำให้ชาวอียิปต์เจ็บป่วยด้วยฝี

 

พระพายพาพัดน้องเที่ยวล่องลอย : ลมพิสูจน์รักใน อิเหนา

ฝุ่น

จิตรกรรมฝาผนังวัดโสมนัสวิหาร เป็นภาพวาดเรื่อง อิเหนา ภาพนี้คือตอนอิเหนาลักพาตัวบุษบา
ภาพ : หนังสือชุดจิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย-วัดโสมนัสวิหาร สำนักพิมพ์เมืองโบราณ

ในวรรณคดีเรื่อง อิเหนา พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งมีที่มาจากตำนานอิงประวัติศาสตร์ของชวา กล่าวถึงองค์ปะตาระกาหลา เทพบรรพบุรุษของอิเหนาและบุษบา “แค้นด้วยอิเนหานัดดา อหังการ์ก่อเภทเหตุใหญ่” ด้วยอิเหนาเผาโรงมหรสพในงานแต่งงานของจรกากับบุษบา และลักพาบุษบาออกไปจากงาน องค์ปะตาระกาหลาไม่พอพระทัยจึงดลบันดาลให้เกิดลมพายุ หอบเอารถทรงของบุษบาพร้อมกับพระพี่เลี้ยงลอยละลิ่วไปยังเมืองอื่น อีกทั้งยังแปลงบุษบาให้กลายเป็นชาย เรื่องราวครึ่งหลังของวรรณคดีเรื่องนี้ดำเนินต่อไปด้วยการผจญภัยของอิเหนาเพื่อตามหาบุษบาที่หายไป

ใน นิราศอิเหนา งานเขียนที่สันนิษฐานกันว่าเป็นผลงานของสุนทรภู่ บรรยายความเศร้าเหงาหงอยของอิเหนาไว้อย่างเพราะพริ้งว่า

“นิราศร้างห่างเหเสน่หา

ปางอิเหนาเศร้าสุดถึงบุษบา

พระพายพาพัดน้องเที่ยวล่องลอย

ตลึงเหลียวเปลี่ยวเปล่าให้เหงาหงิม

สุชลปริ่มเปี่ยมเหยาะเผาะเผาะผอย

โอ้เย็นค่ำน้ำค้างลงพร่างพร้อย

น้องจะลอยลมบนไปหนใด”

แตกต่างจากปกรณัมกรีก เทพเจ้าแห่งสายลมมิได้พัดพรากพระเอกกับนางเอกให้แยกจากกัน แต่กลับหอบเอานางเอกให้ได้ไปพบกับพระเอกในที่สุด ในตำนานรักของคิวปิด (Cupid หรือ Eros) กับไซคี (Psyche)

เซเฟอรัส (Zephyrus) เทพเจ้าแห่งสายลมตะวันตกเป็นผู้โอบอุ้มพาไซคีไปยังวิมานแห่งกามเทพ ให้จิตวิญญาณ (Psyche) ได้ครองคู่กับความปรารถนา (Cupido ศัพท์ละตินที่หมายถึง ความปรารถนา ส่วน Eros หมายถึง ความรัก)

ฝุ่น

ภาพวาด The Abduction of Psyche by Zephyrus to the Palace of Eros โดย Pierre-Paul Prud’hon ปี 1808

เซเฟอรัสเป็นคู่ครองของไอริส (Iris) เทพีแห่งสายรุ้ง ชาวกรีกเชื่อว่าลมตะวันตกที่เซเฟอรัสพัดพามาเป็นสายลมอันอ่อนโยนที่นำพาฤดูใบไม้ผลิมาให้ นำมาซึ่งความรื่นเริงยินดีหลังฤดูหนาวอันเย็นชา เราจะเห็นเซเฟอรัสปรากฏทางด้านซ้ายของเทพีวีนัสในภาพเขียน The Birth of Venus อันโด่งดัง ของ ซานโดร บอตติเชลลี (Sandro Botticelli) ส่วนทางซ้ายมือของวีนัสคือโพโมนา (Pomona) เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ของผลหมากรากไม้

ฝุ่น

 

ลมลางร้ายและสถานการณ์ (ฝุ่น) สร้างวีรบุรุษในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา

วีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่มีชัยต่อพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดีในคราวศึกยุทธหัตถีปี 2135 บันทึกไว้ในพงศาวดารหลายเล่ม รวมถึงใน พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ทางฝ่ายทัพพม่าไว้ว่า “พระมหาอุปราชาเสด็จกรีธาทัพหลวงมาโดยมารควิถี ถึงตำบลพนมทอนเพลาชายแล้ว ๓ นาฬิกา บังเกิดวายุเวรัมภวาต พัดหวนหอบธุลีฟุ้งผันเป็นกงจักร กระทบถูกมหาเศวตฉัตรซึ่งกั้นมาหลังพระคชาธารนั้นพับลง” เป็นลางร้ายบอกถึงความปราชัยที่กำลังจะเกิดขึ้น

ท่ามกลางสมรภูมิยุทธหัตถี พงศาวดารกล่าวถึงฝุ่นและพระเดชาภินิหารของสมเด็จพระนเรศวรไว้ว่า “พลพะม่ารามัญ ก็โซมยิงธนูหน้าไม้ปืนไฟ ระดมเอาพระคชาธารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์* และธุมาการก็ตลบมืดเป็นหมอกมัวไปมิได้เห็นกันประจักษ์ พระบาทสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า จึงตรัสประกาศแก่เทพยดาทั้งปวงว่า ให้บังเกิดมาในประยูรมหาเศวตฉัตร จะให้บำรุงพระบวรพุทธศาสนา ไฉนจึงมิช่วยให้สว่างแลเห็นข้าศึกเล่า พอตกพระโอฐลงพระพายก็พัดควันอันเป็นหมอกมืดนั้นสว่างไป” ทำให้สมเด็จพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาและช้างทรง ก่อนที่จะทรงท้าทายให้พระมหาอุปราชาออกมากระทำยุทธหัตถีในที่สุด

*หมายถึง สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชา

จิตรกรชื่อดังอย่างขรัวอินโข่งได้เขียนรูปเหตุการณ์นี้ไว้ที่หอราชกรมานุสรณ์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เราแลเห็นสมรภูมิที่เต็มไปด้วยหมอกควันและฝุ่นฟุ้งผ่านเทคนิคการวาดระบายอันแปลกใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากจิตรกรรมตะวันตก ขรัวอินโข่งเป็นผู้บุกเบิกเทคนิคนี้โดยการสนับสนุนของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

‘ธุมเกตุ’ หมอกวิปโยค

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกเหตุการณ์วันสวรรคตของรัชกาลที่ 5 ไว้ว่า “อากาศมืดครึ้มมีหมอกขาวลงจัดเกือบถึงหัวคนเดินทั่วไป ผู้ใหญ่เขาบอกว่านี่แหละคือหมอกธุมเกตุที่ในตำราเขากล่าวถึงว่ามักจะมีในเวลาที่มีเหตุใหญ่ๆ เกิดขึ้น” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตนสถานให้ความหมายคำว่า ธุมเกตุ ไว้ว่า ไฟ ดาวหาง ดาวตก สิ่งที่เป็นหมอกเป็นควันเกิดขึ้นในอากาศผิดธรรมดา มีรูปคล้ายธงเป็นต้น ตามตำราโบราณกล่าวว่า หมอกธุมเกตุเป็นหนึ่งใน “นิมิตที่เทวดาบันดาลให้เห็นต่างๆ ด้วยความกรุณาในสัตว์โลก อันจะถึงซึ่งความฉิบหายแลฯ”

ใน พระปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พรรณนาไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าจวนจะดับขันธ์ปรินิพพานก็เกิด “ธุมเกตุอุกกาบาตก็บันดาลตกลงทั่วทิศาดล” หรือใน เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ ที่แต่งโดยคุณพุ่ม กวีหญิงที่มีผลงานในสมัยรัชกาลที่ 3 บันทึกเหตุการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ไว้ว่า

“ประธุมเกตุเกิดครันควันตระหลบ

เมื่อจวนพลบโพล้เพล้คเนหวัง

ทรงประชวรจวนจะค่ำย่ำระฆัง

มีรับสั่งกระษัตราสมาพระ”

‘สมาพระ’ ในที่นี้หมายถึงการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงขอขมาและอำลาพระสงฆ์เมื่อใกล้สวรรคต ในรัชสมัยถัดมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระประชวรในที่สุดของพระชนม์ชีพ ทรงพระราชนิพนธ์คาถาขอขมาลาพระสงฆ์เป็นภาษามคธด้วยพระองค์เองก่อนเสด็จสวรรคตเพียง 1 วัน

 

ความหมายนัย ‘ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท’

ผู้คนมักสับสนกับคำราชาศัพท์อย่าง ‘ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท’ ว่าเป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 ที่เราใช้เรียกแทนตัวเองในเวลาเข้าเฝ้าพระราชวงศ์ หรือเป็นสรรพนามบุรุษที่ 2 ที่เราใช้เรียกแทนพระราชวงศ์กันแน่ เพราะหากแปลกันตรงตัวแล้ว ‘ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท’ อาจจะแปลได้ว่า ละอองฝุ่นใต้เท้า เราจึงมักคิดกันว่าคำนี้ไม่น่าจะเป็นคำที่เราใช้เรียกผู้สูงศักดิ์ ในประเด็นนี้ พระยาอนุมานราชธนผู้ได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์คนสำคัญของไทยได้อธิบายไว้ว่า

“เวลาเราพูดกับผู้มีบรรดาศักดิ์สูงเราอ้างสิ่งสูงสุดในตัวเรามาใช้คือเกล้าผม…เวลานี้เราเติมกระลงไปในระหว่างเป็นเกล้ากระผม ก็จะต้องสันนิษฐานว่าที่เราเติม กระ ลงไป ในเมื่อยังหาเหตุอื่นไม่ได้ เป็นเพราะได้แนวเทียบมาจากคำอื่นในคำที่มีกระ เกล้ากระผมยาวนักเลยถูกตัดคำหน้าออก คงเหลือแต่กระผม โดยเหตุที่เราถือหัวเป็นของสูง ถือตีนเป็นของต่ำ เมื่อเรากราบทูลเจ้านาย ตามธรรมเนียมเราต้องเอาของสูงในตัวเรามาอ้างใช้ต่างตัวเรา และเมื่ออ้างถึงพระองค์ท่าน เราไม่อาจเอื้อมไปถึงที่สูง จึงใช้อ้างที่ต่ำแทนพระองค์ท่าน เลยทำให้ความหมายกลับกัน กลายเป็นว่าเจ้าคือตีน ไพร่คือหัว ดูมันกลับกันไปจึงทำให้ลางคนใช้แนวเทียบผิด เรียกกลับกัน เช่น ฝ่าบาทนำภรรยาเฝ้าเกล้ากระหม่อม”

สดับรับฟังพร้อมสูดดมฝนฝุ่นกันมามาก ได้แต่หวังใจให้เราสามารถหายใจได้เต็มปอดอีกครั้งในเร็ววันนี้

Writer

Avatar

นักรบ มูลมานัส

นักคุ้ยของเก่าผู้เล่าเรื่องผ่านการสร้างภาพ (ประกอบ) ที่อยากจะลองเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรดูบ้าง