“นึกไม่ออกเลยว่าถ้าไม่มีดุสิตธานีอยู่ตรงนี้จะเป็นอย่างไร” เสียงรำพึงของแขกท่านหนึ่งกล่าวไว้กับพนักงานต้อนรับของโรงแรมดุสิตธานี หลังจากที่เริ่มมีข่าวออกมาว่าโรงแรมแห่งนี้จะปิดการให้บริการอีกไม่นานนัก

แน่นอนว่าใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ไม่เว้นแม้แต่สิ่งก่อสร้างที่ดูเหมือนจะเป็นสัญลักษณ์ที่น่าจดจำของเมืองไปแล้ว เมื่อถึงเวลาก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย โรงแรมดุสิตธานีที่เคยยืนหยัดตระหง่านผ่านร้อนผ่านหนาวมา 50 ปีจนกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของสี่แยกศาลาแดงก็เช่นกัน ใกล้ถึงวันเวลาต้องร่ำลา จะเหลือไว้เพียงตำนานตั้งแต่เรื่องราวรุ่นคุณพ่อที่จูงลูกหลานมาปิกนิกกันที่ลานหน้าสวนลุมพินี

ใครๆ ก็คงต้องเคยถ่ายรูปคู่กับตึกสูงยอดแหลมสีทองแห่งนี้ไว้เป็นที่ระลึก จนถึงเรื่องราวสำคัญๆ ระดับประเทศ เพราะมีโอกาสได้ต้อนรับบุคคลสำคัญมากมาย พระบรมวงศานุวงศ์ พระราชอาคันตุกะ ผู้นำประเทศ ดารา นักร้องอีกมากมายทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จัดงานประชุมสำคัญ งานประกวดมิสยูนิเวอร์สก็จัดมาแล้ว นี่ยังไม่นับช่วงเวลาวิกฤตทางการเมืองที่บางครั้งก็เผลอโดนลูกหลงไปด้วย

ดุสิตธานี

หากเราลองหลับตาและนึกภาพที่จดจำได้ของดุสิตธานี บางคนอาจจะนึกถึงตึกสามเหลี่ยมมีแท่งเสาสีทองอยู่บนยอด บางคนอาจจะนึกถึงลานร่มรื่นมีต้นไม้ใหญ่ติดกับสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง บางคนอาจจะนึกถึงล็อบบี้ที่มีฝ้ารูปร่างแปลกๆ หรือสระน้ำหกเหลี่ยมที่ดูเหมือนจะเล็กไปสักหน่อยในยุคนี้

ไม่ว่าจะนึกถึงอะไร รูปธรรมทางสถาปัตยกรรมเหล่านี้ล้วนสร้าง ‘ภาพจำ’ ให้เกิดขึ้นในความคิดของเรา แต่ถ้าหากไม่ใช่ภาพลักษณ์ภายนอกเหล่านี้ล่ะ อะไรที่เราจะจดจำความเป็นดุสิตธานีได้

ดุสิตธานี

 

ฝากความทรงจำไว้กับสถาปัตยกรรม

รูปแบบสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์แห่งนี้ ยากที่จะหาอาคารอื่นใดมาเปรียบเทียบได้ ไม่กล้าที่จะเอ่ยว่าเป็นอาคารที่ตอบสนองการใช้งานดีเลิศทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ หากแต่ปัจจัยต่างๆ เอื้อให้อาคารหลังนี้สวยงาม ทั้งสภาพแวดล้อมจากสวนสาธารณะโดยรอบ มีที่โล่งให้ทอดสายตาจากหัวมุมถนน ทั้งอาคารมีระเบียงโดยรอบ ทำให้ไม่อึดอัด แผงระเบียงสแตนเลสสีทองก็ยังดูใหม่อยู่เสมอ แถมมีห้องอาหารชั้นบนสุดที่มีกระจกเปิดโล่ง มองออกไปได้สุดลูกหูลูกตา หรือฐานโพเดียมของอาคารที่ประดับลายไทยในกรอบหกเหลี่ยมกลีบบัวเหล่านั้น

ทั้งหมดนี้เป็นฝีมือการออกแบบของคณะสถาปนิกจากประเทศญี่ปุ่น ในนามบริษัท Kanko Kikaku Sekkeisha (KKS)

ดุสิตธานี

ย้อนกลับไป พ.ศ. 2509 ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมปริ๊นเซสที่ถนนเจริญกรุง ได้ร่วมเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นกับคณะของกระทรวงอุตสาหกรรม และได้รู้จักกับ Yozo Shibata หัวหน้าสถาปนิกบริษัท KKS ซึ่งเคยออกแบบโรงแรมโอกุระที่โตเกียว และโรงแรมเพรสซิเดนท์ที่ไต้หวันมาแล้ว

ท่านผู้หญิงคงรู้สึกประทับใจผลงานการออกแบบ ประกอบกับช่วงระยะเวลานั้นกำลังมองหาสถาปนิกที่มีประสบการณ์การออกแบบอาคารสูง เพราะที่ประเทศไทยก็ยังขาดผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ แม้ว่านี้จะเป็นผลงานการออกแบบนอกประเทศครั้งแรกของบริษัท KKS ไม่มีพื้นฐานของสถาปัตยกรรมในประเทศไทย แต่ท่านผู้หญิงก็พาคณะผู้ออกแบบไปศึกษาดูงาน วัดที่สวยๆ ในกรุงเทพฯ จนน่าจะซึมซับเสน่ห์ของศิลปะไทยไปบ้าง

โจทย์สำคัญที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์เชื่ออยู่เสมอคือ ‘เสน่ห์ความเป็นไทย’ เป็นเรื่องที่หยิบมาอวดชาวต่างชาติได้ แม้ว่ายุคสมัยนั้นสงครามและกระแสนิยมตะวันตกจะสร้างค่านิยมให้ทุกอย่างต้องเป็นอินเตอร์เนชันแนล แต่ท่านผู้หญิงก็ไม่ฟังคำปรามาส ยกตัวอย่างเช่นชื่อ ‘ดุสิตธานี’ ที่เรียบง่าย จำง่าย เขียนง่ายทั้งภาษาไทยและอังกฤษ มีความหมายเป็นมงคล เป็นชื่อที่ท่านผู้หญิงนึกขึ้นตอนสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นี้เอง และสอดคล้องกับชื่อเมืองประชาธิปไตยที่รัชกาลที่ 6 จำลองขึ้น หรือหมายถึงสวรรค์ชั้น 4 ตามคติความเชื่อ ไม่ว่าใครจะแนะนำให้เปลี่ยน ท่านผู้หญิงก็ยังยืนกรานที่จะใช้ชื่อนี้

หลังจากทดลองออกแบบอยู่หลายครั้ง ผสานความเป็นไทยเข้าไปหลายหน จนในที่สุดก็ได้รูปแบบประยุกต์ที่ดูทันสมัย เป็นอาคารสูงประกอบด้วยห้องพักกว่า 500 ห้อง บนฐานสามเหลี่ยมปลายตัดที่ค่อยๆ ลดหลั่นสอบเข้ามาทีละน้อยเหมือนสถาปัตยกรรมไทย กล่าวคือห้องพักชั้นล่างจะมีระเบียงที่กว้างกว่าเล็กน้อยเพื่อให้ชั้นบนค่อยๆ เรียวขึ้นไป ดูสง่างาม

แถมอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่คิดว่าท่านผู้หญิงชนัตถ์จะให้ความสำคัญขนาดนี้ก็คือ ตราสัญลักษณ์ของโรงแรม โดยตราสัญลักษณ์รุ่นแรกได้ให้บริษัทแลนดอร์จากซานฟราสซิสโก สหรัฐอเมริกา เป็นผู้ออกแบบ เป็นตัวอักษร D ซ้อนกับตัว T ไว้ด้วยกัน ยังคงปรากฏอยู่ที่พื้นดาดฟ้าส่วนโพเดียมของโรงแรม ส่วนคำว่า Dusit Thani แบบเต็มๆ ก็ประดิษฐ์เส้นโค้งเข้าไปเพิ่มความอ่อนช้อย

ดุสิตธานี

แต่เดิมกลุ่มอาคารทั้งหมดประกอบด้วย 3 ส่วน หนึ่งคือ ส่วนฐานโพเดียม (Podium) สูง 3 ชั้น สองคือ อาคารสูง เป็นห้องพักของโรงแรมสูง 23 ชั้น สูงรวม 100 เมตรพอดี ชั้นบนสุดเป็นห้องอาหารเทียร่า ทำเป็นกระจกใสเอียงผายออก ว่ากันว่าถ้าอากาศดีๆ สามารถมองเห็นได้ไกลถึงแม่น้ำบางปะกงเลยทีเดียว ส่วนที่สามคือ อาคารสำนักงานสูง 11 ชั้น แยกตัวออกมาอีกฝั่งหนึ่ง

ดุสิตธานี

ว่ากันตามหลักการออกแบบแล้ว อาคารขนาดใหญ่เช่นนี้สามารถแยกการตอกเข็มฐานรากทั้งสามส่วนนี้ออกจากกันได้ โดยก่อสร้างแยกส่วนกันเพื่อป้องกันการทรุดตัวตามธรรมชาติที่ไม่เท่ากัน และประหยัดค่าก่อสร้างมากกว่า แต่สุดท้ายแล้วที่นี่กลับเลือกอีกวิธีหนึ่งคือการรวมโครงสร้างทั้งสามส่วนนี้ให้เป็นอาคารเดียวกัน ทำให้แข็งแรงมากขึ้น แต่ก็มีค่าใช้จ่าย ต้นทุนการก่อสร้างสูงกว่า แลกกับความปลอดภัยที่มากขึ้น จนต้องใช้เวลาก่อสร้างถึง 3 ปีเศษจึงเสร็จสมบูรณ์

และโรงแรมดุสิตธานีก็เปิดตัวต้อนรับทุกคนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513

ดุสิตธานี ดุสิตธานี

 

ระลึกถึงช่วงเวลาดีๆ

อาจกล่าวได้ว่าหากคุณเป็นแขกประจำของที่นี่ คุณจะไม่ได้ยินคำทักทายว่า “ยินดีต้อนรับที่กลับมาอีกครั้งนะคะ” แต่คุณจะได้ยินคำทักทายว่า “ยินดีต้อนรับกลับบ้านค่ะ”

เพราะที่นี่เปรียบเสมือนบ้าน ความผูกพันของพนักงานหลายๆ คนมีไม่ต่ำกว่าหลักสิบปี ตั้งแต่ยุคท่านผู้หญิงชนัตถ์ลงมาดูแลงานด้วยตัวเอง จนถึงอีกเจเนอเรชันลูกอย่าง คุณชนินทธ์ โทณวณิก (รองประธานกรรมการ / ประธานคณะกรรมการบริหาร) บุตรชายคนโตของท่านผู้หญิง ยังคงดำเนินรอยตามแบบแผนเช่นนี้

ทำให้พนักงานทุกคนรู้สึกว่าดุสิตธานีดูแลพวกเขาดังเช่นคนในครอบครัว แม้จะเจอปัญหาต่างๆ แต่ก็ไม่เคยทอดทิ้งพนักงาน แม้ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจไม่ดีระหว่างสงครามอ่าวเปอร์เซีย ช่วงนั้นมีแขกมาพักน้อยมาก แต่ก็ไม่มีการพนักงานคนไหนต้องลาออก หรืออย่างตอนน้ำท่วมเมื่อปี 2554 คุณชนินทธ์ก็อนุญาตให้พนักงานพาครอบครัวหนีน้ำท่วมมาพักที่นี่ได้

ดุสิตธานี ดุสิตธานี

พี่บุ๋ม-บุษบา สัตตาบรรณ Guest Relation Manager ของโรงแรมดุสิตธานี ก็เป็นคนหนึ่งที่เดินเข้าออกประตูโรงแรมแห่งนี้เป็นเวลากว่า 27 ปี ด้วยประสบการณ์มากมายขนาดนี้ทำให้ใกล้ชิดบุคคลระดับเซเลบมาแล้วมากมาย

“ก่อนหน้าจะมาเป็น Guest Relation พี่เริ่มต้นมาจากตำแหน่ง Hostess ที่ห้องอาหาร Hamilton ซึ่งเป็นห้องอาหารสไตล์ยุโรป จากนั้นก็ย้ายมาห้องอาหาร Mayflower สไตล์จีน ทำอยู่สัก 2 – 3 ปีจึงย้ายมาเป็น Front Desk ฝ่ายต้อนรับ เพราะอยากฝึกพูดภาษาอังกฤษ จนกระทั่งเลื่อนมาเป็น Guest Relation ดูแลแขกระดับ VIP คิดดูสิจากเด็กคนหนึ่งที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการโรงแรม จนเราได้มีโอกาสยืนรับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์เคียงข้างกับท่านผู้หญิงชนัตถ์หลายต่อหลายครั้ง

“หน้าที่ความรับผิดชอบของ Guest Relation ทำให้ต้องหัดสังเกต จดจำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แขกบางท่านไม่ได้มาแค่ 1 – 2 ครั้ง แต่มาเป็น 10 – 20 ครั้ง เพราะฉะนั้น ต้องจำรายละเอียดต่างๆ ของแขกแต่ละคนให้ได้ ว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร สมัยก่อนอาจจะมีแขก VIP ประมาณ 15 ห้องต่อวัน นั่นก็หมายถึงต้องมี Guest Relation มากเป็นสิบคนกระจายกันดูแลแขกเหล่านี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลดังๆ บางทีก็เป็นระดับผู้นำประเทศ การดูแลหรือการเตรียมห้องพักต้องเฟอร์เฟกละเอียดที่สุดทุกตารางนิ้ว เรียกว่าเช็กความเรียบร้อยกันใต้ที่นอนทุกอย่างเลย”

ดุสิตธานี ดุสิตธานี

“พี่รู้สึกเป็นเกียรติมาก จากคนธรรมดาคนหนึ่งได้มีโอกาสทำงานระดับนี้ ได้ดูแบบอย่างจากท่านผู้หญิงชนัตถ์ บางทีท่านก็พูดน้อย แต่สอนให้เราดูด้วยการกระทำ สมัยก่อนเวลาท่านผู้หญิงมาโรงแรมก็จะเดินไหว้สวัสดีแขกทุกคน เราก็ทำตาม พี่ว่าตัวเองโชคดีที่มีเจ้านายแบบนี้ ท่่านไม่สนใจว่าเธอจะเป็นลูกเต้าเหล่าใคร แต่ถ้านี้คืองานของเธอ ตำแหน่งของเธอ ท่านมอบหมายงานให้เรา ก็แปลว่าท่านไว้วางใจเรา

“ตั้งแต่มีข่าวออกไปว่าโรงแรมดุสิตธานีจะปิดให้บริการก็มีคนมากมายเดินมาถามว่าทำไม เกิดอะไรขึ้น บางคนก็ช่วยออกความเห็นว่าคุณทำอย่างนี้สิ เก็บตึกเก่าไว้ก็ได้ ทำให้เรารู้เลยว่ามีคนมากมายรักที่นี่จริงๆ มีพนักงานบางคนที่ลาออกไปแล้วยังขอกลับเข้ามาทำงานในช่วง 3 – 4 เดือนสุดท้ายนี้ บางคนก็ปรึกษากันจะเอาอย่างไรดี มีเสียงหนึ่งที่พี่เดินผ่านไปแล้วได้ยิน เขาบอกว่า ‘จะอยู่ช่วยกันก่อนจนวันสุดท้าย’

“ต้องขออนุญาตขอบคุณแทนเจ้าของเลยว่าคนไทยรักดุสิตธานีมากแค่ไหน ถ้าท่านผู้หญิงชนัตถ์ทราบท่านคงจะมีความสุขมากๆ”

ดุสิตธานี

 

เก็บรักษาก่อนจากลา

ตลอดช่วงเวลาที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลง คุณชนินทธ์ โทณวณิก ก็ได้ฟังความห่วงใยจากหลายฝ่ายที่ต้องการให้เก็บรักษาอาคารเดิมเอาไว้ ไม่ต่างกับความรู้สึกเบื้องลึกในใจคุณชนินทธ์ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่คุณแม่ท่านสร้างมาเองกับมือ ท่านเองก็ต้องการเก็บไว้เช่นกัน

แต่ในเมื่อศึกษาหาความเป็นไปได้หลายๆ ทางออกแล้ว ข้อจำกัดทั้งทางด้านโครงสร้าง และแปลนอาคารเป็นสามเหลี่ยมที่สมบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้ว จะปรับเปลี่ยนตรงไหนก็ยาก จึงต้องยอมรับในความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ถึงที่สุดก็ต้องเตรียมตัวเก็บรักษาทุกอย่างเท่าที่จะเก็บไว้ได้ ทำบันทึกเอาไว้ให้มากที่สุด

ดุสิตธานี ดุสิตธานี

ต้นไม้เกือบทุกต้นท่านผู้หญิงปลูกเองกับมือจะถูกนำไปอนุบาลและปลูกใหม่ ห้องพักแบบดั้งเดิมสำรวจรังวัดและเก็บรักษาแบบเอาไว้ ผลงานที่ท่านกูฏเขียนลงบนเสาและผนังจิตรกรรมในห้องอาหารเบญจรงค์กำลังขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยศิลปากรให้ทำการอนุรักษ์ ตัด และโยกย้าย รอวันกลับมาตั้งใหม่ ยอดสีทองก็คงจะมีที่ทางไปอยู่ตรงไหนสักแห่ง และที่แน่ๆ พนักงานของดุสิตธานีทุกคนล้วนต้องมีทางออก นี่เป็นความตั้งใจของคนในครอบครัวเดียวกัน

ดุสิตธานี ดุสิตธานี

 

เราจะจดจำดุสิตธานีแบบไหน

วันสุดท้ายคือวันที่ 5 มกราคม 2562 เวลาบ่าย 2 โมง เหลือเวลาอีกไม่กี่วันโรงแรมดุสิตธานีก็จะยุติการให้บริการ แขกคนสุดท้ายคงจะเช็กเอาต์ออกไป ไฟในห้องพักที่เคยสว่างไสวคงไม่มีแสงเลือนรางลอดผ่านผ้าม่านออกมาอีกแล้ว หลังจากนั้นอีก 4 ปีเราค่อยมาดูกันว่าโครงการใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเขียนประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งให้สี่แยกศาลาแดงนี้อย่างไรบ้าง

ผมนั่งคุยกับพี่บุ๋มถามคำถามสุดท้ายว่า “ท้ายที่สุดแล้วอะไรคือดุสิตธานี”

พี่บุ๋มตอบอย่างไม่ลังเลว่า “ยอดตึกสีทองนั่นก็ใช่ สระน้ำก็ใช่ สวนน้ำตกก็ใช่ ต้นไม้นั่นก็ใช่ ห้องอาหาร ห้องพักนั่นก็ใช่ ประตูลายไทยนั่นก็ใช่ พี่ว่าถ้าพี่จะหยิบอะไรสักอย่างของดุสิตธานีไปตั้งเป็นที่ระลึกไว้ที่บ้าน สุดท้ายแล้วมันจะใช่ดุสิตธานีเหรอ พี่ว่าไม่”

ผมคิดว่าผมได้คำตอบที่พี่บุ๋มไม่ได้พูดออกมาแล้ว อะไรคือดุสิตธานีที่เราจะควรจดจำเอาไว้

ดุสิตธานี

วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม 2562 เวลา 09.30 – 16.30 น. หลังวันปิดบริการ 1 วัน The Cloud และโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ขอชวนผู้อ่านมาเป็นแขกสุดพิเศษกลุ่มสุดท้าย เพื่อทำความรู้จักโรงแรมรูปโฉมเดิม เรียนรู้การทำงานของโรงแรมห้าดาวระดับสากลรุ่นแรกของไทย เรียนรู้การบูรณาการครั้งยิ่งใหญ่ของคณาจารย์หลากหลายคณะจากมหาวิทยาลัยศิลปากรอย่างใกล้ชิด และสร้างความทรงจำต่อตำนานแห่งนี้ร่วมกัน ในกิจกรรม Walk with The Cloud : ดุสิตธานี กรุงเทพฯ

ดูรายละเอียดและสมัครได้ที่นี่

Writer & Photographer

Avatar

วีระพล สิงห์น้อย

ช่างภาพสถาปัตยกรรม และเจ้าของเพจภาพถ่ายอาคารเปี่ยมเสน่ห์ชื่อ FOTO_MOMO