ท่อนหนึ่งในพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านล่างนี้อาจทำให้ท่านผู้อ่านประหลาดใจ

“เมื่อวันพุธฉันได้รับเกียรติให้เป็นผู้แจ้งให้พี่น้องของฉันทราบว่าฉันเองได้เป็นผู้สร้างสาธารณรัฐนั้นขึ้น และเมื่อมีวิกฤติการระดับชาติ ฉันก็ต้องยุบสภา ซึ่งฉันได้กระทำโดยเร็วที่สุดและกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ การเลือกตั้งนั้นก็เรียบร้อยและมีผลดีมากด้วย

“พี่และน้องคงยินดีที่จะทราบว่า คณะผีเสื้อได้รับเลือกตั้งเข้ามาอย่างท่วมท้น ผู้อื่นที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาบ้าง อยู่พรรคเล็กพรรคน้อย ไม่มีความหมายอะไรเลย ดังนั้นฉันก็ต้องขอให้คณะผีเสื้อจัดตั้งรัฐบาล เชื่อว่าคงจะไม่ปฏิเสธกันเป็นแน่ ฉันขอบอกว่าถ้าปฏิเสธ ก็เท่ากับว่าสร้างความปั่นป่วนอย่างหนักระดับชาติ สาธารณรัฐใหม่จะคงอยู่ได้อย่างไร? มีเสียงข้างมากในสภา แล้วจะไปนั่งเป็นฝ่ายค้าน ไม่ไหวละ!”

ข้อความข้างต้นมาจาก Letter to the Butterflies ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ เมื่อคราวเสด็จประพาสออสเตรีย-ฮังการีใน พ.ศ. 2445 ขณะทรงพระชนมายุ 21 พรรษา โดยทรงใช้นามแฝง ‘Carlton H. Terris’ 78 ปีผ่านมา หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ จดหมายถึงผีเสื้อ เมื่อ พ.ศ. 2523

Letter to the Butterflies ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์

คณะผีเสื้อที่กล่าวถึงในพระราชนิพนธ์คือชื่อพรรคการเมืองสมมุติ และแน่นอนว่าสาธารณรัฐ รัฐสภา หรือการเลือกตั้ง ยังไม่เกิดขึ้นจริงในบ้านเมืองสยามเมื่อศตวรรษที่แล้ว แม้ทั้งหมดจะเป็นเพียงเรื่องแต่ง แต่ก็สะท้อนความรอบรู้และความเข้าใจในระบอบการปกครองในโลกตะวันตกของผู้ทรงพระราชนิพนธ์เป็นอย่างดี เป็นที่น่าเสียดายว่าการปกครองที่ชนรุ่นหลังขนานนามว่าประชาธิปไตย มิได้เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์
พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ นักคิดนักเขียนพระองค์สำคัญที่นักอ่านรู้จักในนาม น.ม.ส. กล่าวถึงพระราชจริยวัตรของรัชกาลที่ 6 ในคำนำ หนังสือจดหมายจางวางหร่ำ ว่า

“พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดทรง ‘เล่น’ อยู่สามอย่างที่เห็นได้ชัด คือละครอย่างหนึ่ง สโมสรอย่างหนึ่ง ออกหนังสือพิมพ์อย่างหนึ่ง” การเล่นทั้งสามประการมาบรรจบพบกันในการทดลองเพื่อแผ้วถางไปสู่ระบอบการปกครองแบบใหม่ในเมืองสมมุตินามดุสิตธานี

แบบเรียนสอนให้รู้จักดุสิตธานี (ที่ไม่ใช่โรงแรม) ในฐานะเมืองประชาธิปไตยที่รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างขึ้น ผู้คนจึงมักมองเมืองจำลองแห่งนี้ผ่านกรอบของการเมืองการปกครองเป็นหลัก จึงเป็นเรื่องสนุกและน่าสนใจไม่น้อยหากลองสำรวจดุสิตธานีในมิติอื่นๆ ดูบ้าง

ก่อร่างสร้างเมือง : สวนมะม่วง-ชายหาด-ราชวัง

1 ปีให้หลังจากที่ทรงพระราชนิพนธ์ถึงสาธารณรัฐใหม่ เมื่อเสด็จนิวัติพระนครแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ประทับ ณ ตำหนักสวนอัมพวา ที่ตั้งอยู่ในบริเวณวังปารุสกวันในปัจจุบัน ณ ที่นั้นทรงสร้างเมืองตุ๊กตาที่ประกอบไปด้วยทิวแถวบ้านเรือน ถนนหนทาง สนาม และสวนสวย พระราชทานชื่อเมืองว่า ‘เมืองมัง’ อันน่าจะมาจากคำว่า ‘มังโก้’ (Mango) ที่เป็นความหมายของสวนอัมพวา ที่ตั้งของเมือง ซึ่งแปลว่า ‘สวนมะม่วง’ ณ เมืองแห่งนี้ ทรงกำหนดให้ข้าราชบริพารในพระองค์สวมบทเป็นชาวเมือง มีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนเป็นครั้งแรก กิจการของเมืองมังสิ้นสุดลงเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ารัชทายาททรงย้ายไปประทับที่พระราชวังสราญรมย์

11 ปีให้หลัง ในฤดูร้อน พ.ศ. 2461 เมืองจำลองกำเนิดขึ้นอีกครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร แพทย์หลวงจึงกราบบังคมทูลให้เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่หาดเจ้าสำราญ ในการเสด็จฯ ครั้งนั้นพระองค์ทรงสรงน้ำทะเลร่วมกับข้าราชบริพาร และได้ทรงแนะให้ข้าราชบริพารก่อทรายขึ้นเป็นเมืองที่ประกอบไปด้วยป้อมปราการ พระราชวัง บ้านเรือน และถนนหนทางขึ้น เมื่อเสด็จฯ กลับพระนคร พระองค์ทรงพระดำริให้สร้างเมืองจำลองขึ้นอีกครั้ง ณ พระราชวังดุสิต พระราชทานนามว่าดุสิตธานี

It’s a small world

รัชกาลที่ 6 ทรงให้ฐานะดุสิตธานีประดุจมณฑลหนึ่งในประเทศสยาม ประกอบด้วย 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลดุสิต ดอนพระราม บึงพระราม เขาหลวง ปากน้ำ และบางไทร หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้เป็นทวยนาครหรือพลเมืองคนหนึ่งของดุสิตธานีบันทึกไว้ว่า เมืองแห่งนี้ประกอบไปด้วยอาคารขนาดย่อมกว่า 1,000 หลังคาเรือน อาคารเหล่านั้นจำลองมาในสัดส่วน 1 ต่อ 20 

จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ทวยนาครอีกท่านหนึ่งกล่าวถึงขนาดของอาคารแต่ละหลังไว้ว่า “ขนาดโตกว่าศาลพระภูมิ” ทวยนาครผู้นี้ยังบันทึกรายละเอียดของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในเมืองว่าประกอบด้วยศาลารัฐบาล (นาครศาลา) ป้อมปราการ (จำนวน 10 ป้อม) พระราชวัง วัด (จำนวน 6 พระอาราม) โรงพยาบาล (จำนวน 2 แห่ง) โรงเรียน (จำนวน 6 โรงเรียน) ธนาคาร โรงแรม โรงละคร หอนาฬิกา โรงภาพยนตร์ ภัตตาคาร ธนาคาร อนุสาวรีย์ โรงทหาร เรือนจำ กองดับเพลิง ตลาดสด โรงสีข้าว (ชื่อโรงสีโม่งโล่งฮั้ว) ร้านถ่ายรูป (ชื่อร้านฉายาดุสิต ฉายาบรรทมสินธุ์ และฉายาลัย) ร้านตัดเสื้อ (ชื่อร้านพึ่งบุญภูษาคาร) บริษัทก่อสร้าง (ชื่อบริษัทอรุณวงศ์วัฒกี) ร้านตัดผม (ชื่อร้านสุจริตเกษากันต์) บริษัทให้เช่ารถ (ชื่อบริษัทดุสิตสมัยยนต์) ร้านซักรีด (ชื่อ บริษัทภูษาสอาด) และบ้านเรือนอีกนับไม่ถ้วน

ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยจิ๋ว แบบทดลองระบอบการปกครองใหม่ของ ร.6 เมื่อร้อยกว่าปีก่อน

เรียกได้ว่าดุสิตธานีมีครบทุกองค์ประกอบที่เมืองเมืองหนึ่งพึงจะมี และสถานที่ที่หนึ่งก็มีทุกองค์ประกอบที่แสนจะจริงจัง จมื่นอมรดรุณารักษ์ให้รายละเอียดของ ‘วัชระพยาบาล’ ที่ตั้งอยู่ ณ ตำบลบางไทร ว่าประกอบไปด้วย

  1. ตึกพระราม 6 เป็นตึกบัญชาการ รับตรวจคนไข้ภายนอกและห้องจำหน่ายยา
  2. ตึกประสิทธิ์ศุภการ สำหรับเป็นโรงเลี้ยงเด็ก
  3. ตึกอนิรุธเทวา ตึกนารีเวชวิทยา
  4. ตึกอภัยราชา ห้องนอนคนไข้
  5. ตึกธรรมาธิกรณ์ แผนกกายบริหาร
  6. ตึกปราณีเนาวบุตร์ แผนกรังสีแพทย์
  7. ตึกสุจริตธำรง แผนกศัลยกรรม
  8. ตึกไพชยนต์เทพ แผนกตรวจเชื้อ
  9. ตึกวรสิท์เสวีวัตร โรงอาบน้ำร้อน
  10. ตึกพิทักษ์เทพมณเฑียร ห้องเก็บศพ
  11. ตึกนายแพทย์ใหญ่ จัดเป็นที่อยู่นายแพทย์
  12. โรงรถ
  13. เป็นที่นั่งพักของคนไข้

ผู้ที่คิดว่าเมืองแห่งนี้สร้างเล่นๆ เป็นเมืองของเล่นอาจจะต้องคิดใหม่ อีกนัยหนึ่งอาจมองได้ว่านี่ช่างเป็นการละเล่นที่สมจริงสมจังแท้

สิ่งก่อสร้างในเมืองแห่งนี้ยังสร้างขึ้นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมอันหลายหลากด้วยฝีมืออันประณีตบรรจง (ปรากฏบันทึกว่าการก่อสร้างบ้านหลังหนึ่งให้งดงามนั้นอาจจะต้องใช้งบสูงกว่า 1,000 บาท ซึ่งเงินเดือนของข้าราชการชั้นผู้น้อยในสมัยนั้นได้รับเพียง 20 บาทเท่านั้น) บทกวีชมความงามของดุสิตธานีที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของเมืองกล่าวถึงความงามของสถาปัตยกรรมนานาชาติไว้ด้วย

“พระตำหนักแบบแขกดูแปลกดี

ชื่อเฟดราบานีดีหนักหนา

หน้าตำหนักมีพุพุ่งธารา

เป็นเทือกแถวแววตาน่าดูชม

พระตำหนักแบบญี่ปุ่นสุนทรสิริ

ทั้งน่าชมพุน้ำและธารงาม”

ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยจิ๋ว แบบทดลองระบอบการปกครองใหม่ของ ร.6 เมื่อร้อยกว่าปีก่อน

นอกจากตำหนักแบบแขกและญี่ปุ่นแล้ว ยังมีพระราชวังมหาคีรีราชปุระ สร้างเป็นปราสาทตะวันตกบนเนินเขา พระราชวังอังกฤษ สร้างด้วยสถาปัตยกรรมทิวดอร์ พระที่นั่งจันทรกานต์จำรูญ สร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีน และพระตำหนักเรือนต้น สร้างเป็นเรือนไทยโบราณ

ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยจิ๋ว แบบทดลองระบอบการปกครองใหม่ของ ร.6 เมื่อร้อยกว่าปีก่อน

สิ่งก่อสร้างหลายแห่งในดุสิตธานีจำลองแบบมาจากสิ่งก่อสร้างในกรุงเทพมหานคร เช่น พระอุโบสถวัดธรรมาธิปไตย ที่ได้ต้นแบบมาจากพระอุโบสถวัดราชาธิวาส หรือพระที่นั่งสุทไธสูรย์ปราสาท ก็จำลองมาจากพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยจิ๋ว แบบทดลองระบอบการปกครองใหม่ของ ร.6 เมื่อร้อยกว่าปีก่อน
ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยจิ๋ว แบบทดลองระบอบการปกครองใหม่ของ ร.6 เมื่อร้อยกว่าปีก่อน

ในทางกลับกัน สิ่งก่อสร้างในดุสิตธานีก็กลายเป็นต้นแบบของสิ่งก่อสร้างในกรุงเทพมหานครในกาลต่อมาด้วย อนุสาวรีย์ทหารอาสา อนุสรณ์รำลึกถึงทหารไทยที่ไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 สร้างขึ้นในดุสิตธานีก่อนที่จะสร้างจริง ณ มุมท้องสนามหลวง ถนน 22 กรกฎา อนุสรณ์แห่งวันที่รัชกาลที่ 6 ทรงนำสยามประกาศเข้าร่วมสงครามโลก สร้างขึ้นก่อนวงเวียนชื่อเดียวกันในกรุงเทพมหานครราว 6 เดือน (ที่น่าสนใจคือวงเวียนแห่งนี้มีรัศมี 22 เมตร และถนนทั้งสามสายที่รายล้อมวงเวียนได้ชื่อเป็นที่ระลึกถึงการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 คือถนนไมตรีจิตต์ มิตรพันธ์ุ และสันติภาพ)
นอกจากขนาดทางกายภาพของเมืองจำลองที่ลดสเกลลงจากของจริง ในแง่มิติของเวลา วันเวลาของเมืองก็ถูกบีบอัดลงเป็น 1 ใน 12 ของเวลาจริง หนึ่งเดือนในเวลาปกติจึงเท่ากับระยะเวลา 1 ปีในดุสิตธานี

ใน พ.ศ. 2462 เมืองดุสิตธานีย้ายจากพระราชวังดุสิตไปยังพระราชวังพญาไท พร้อมกับพื้นที่ที่ขยับขยายมากขึ้นกว่าเดิมจากราว 2 ไร่เป็น 4 ไร่

All the world’s a stage : ทั้งโลกเปรียบเหมือนโรงละครใหญ่

จาก ตามใจท่าน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ แปลจากบทละครของวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงสร้างดุสิตธานีให้มีชีวิตโดยทรงชักชวนข้าราชสำนักราว 300 ท่าน ให้เข้ามาเป็นทวยนาคร เพื่อทดลองระบอบการปกครองรูปแบบใหม่ หากมองความคิดนี้เป็นรูปแบบของการละคร อันเป็นงานอดิเรกที่พระองค์โปรด ดุสิตธานีก็เป็นละครเชิงทดลองที่ล้ำยุค และให้ประโยชน์ในเชิงการศึกษา
เมื่อพิจารณาในบริบทของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่พระมหากษัตริย์ทรงซึ่งสิทธิ์ขาดในทุกมิติของการปกครอง การฝึกให้พลเมืองรู้จักสิทธิ์ของตน อันจะปูทางไปสู่หนทางประชาธิปไตยย่อมเป็นเรื่องที่ประชาชนจินตนาการไม่ออก ดังที่จมื่นอมรดรุณารักษ์บันทึกไว้ว่า

“การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกประชุมประชาชนชาวนาครมาประชุมพร้อมกัน แล้วทรงอธิบายวิธีการเลือกตั้งขึ้นมาในวันแรกนั้น พวกข้าราชบริพารทุกคนแม้แต่ตัวผู้เขียนเอง ก็รู้สึกยังไม่เข้าใจในเหตุการณ์ที่รับสั่งในวันนั้น เพราะนึกในใจว่า อยู่ดีๆ อำนาจที่จะส่งผู้ใดก็ตามมาเป็นผู้บริหารในท้องถิ่นก็อยู่ในพระราชอำนาจของพระองค์อย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว เหตุใดจะมาทรงปล่อยให้คนอื่นเลือกเอาตามใจชอบอีกเล่า”
อาจจะด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงเปลื้องฐานะพระมหากษัตริย์แห่งดุสิตธานีออก และทรงอวตารลงมาสวมบทบาทเป็นทวยนาครถึง 2 ปาง คือ ‘นายราม ณ กรุงเทพ’ ทนายความและนักการเมืองผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม นายรามเป็นเจ้าของบ้านในดุสิตธานีถึง 15 หลัง โดยให้ผู้อื่นเช่า 12 หลัง อีกบทบาทของพระองค์คือ ‘พระรามราชมุนี’ เจ้าอาวาสวัดธรรมธิปไตย ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโดยพระองค์เองด้วย พระราชวังต่างๆ ในดุสิตธานีอย่างพระวัชรินทรราชนิเวศน์และที่ควรเป็นกรรมสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ ในสำมะโนครัวดุสิตธานีปรากฏเพียงชื่อพระวิสูทธิ์โยธามาตย์ ซึ่งระบุไว้ว่าเป็นคนเฝ้าพระราชวังเท่านั้น
สังเกตได้ว่ามิติของการละเล่นและความเป็นจริงเป็นจังได้ทาบทับกับอยู่ตลอดในเมืองทดลองแห่งนี้

Siamese Utopia

Siamese Utopia

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 เซอร์ โทมัส มอร์ (Sir Thomas More) นักคิดนักเขียนคนสำคัญของอังกฤษเขียนเรื่องราวของเมืองในอุดมคติชื่อยูโทเปีย (Utopia) อันเป็นเกาะในจินตนาการประกอบไปด้วยเมืองที่สวยงาม 54 แห่ง แม้แต่งขึ้นในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ผู้คนในยูโทเปียมีสิทธิ์เสรีในการเลือกผู้แทนของตนเองที่เรียกว่าไซโฟแกรนท์ (Syphogrant) เช่นเดียวกับในดุสิตธานี ที่ทวยนาครมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเชษฐบุรุษขึ้นมาเป็นผู้แทนของตน
ชื่อเมืองยูโทเปียมาจากภาษากรีก แปลความได้ว่า ‘เมืองที่ดี’ แต่ในขณะเดียวกันก็แปลได้ว่า ‘เมืองที่ไม่มีจริง ณ แห่งหนใด’ ในทำนองเดียวกันกับดุสิตธานี ชื่อเมืองมีที่มาจากสวรรค์ชั้นดุสิต ดินแดนแห่งความดีงามทั้งปวง ซึ่งก็ไม่สามารถยืนยันความดำรงอยู่จริงเช่นกัน

It’s a world of laughter

หนังสือพิมพ์ ดุสิตสมิต

 เพื่อให้กิจการของเมืองครบถ้วนยิ่งขึ้น รัชกาลที่ 6 มีพระราชดำริให้ออกหนังสือพิมพ์ในดุสิตธานีด้วย ฉบับที่เป็นที่กล่าวขวัญมากที่สุดคือ ดุสิตสมิต หนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์ออกตัวไว้บนปกว่า “เป็นหนังสือพิมพ์ออกบ้างไม่ออกบ้างตามบุญตามกรรม” แต่เมื่อออกจริงก็ออกตรงเวลาทุกอาทิตย์ ท่านราม ณ กรุงเทพ เป็นบรรณาธิการใหญ่ของหนังสือพิมพ์เล่มนี้ ที่น่าสนใจคือคำว่า ‘สมิต’ ในชื่อหนังสือพิมพ์ มีความหมายว่า ‘ยิ้ม’ บ่งบอกคาแรกเตอร์ของหนังสือพิมพ์ที่มีน้ำเสียงยั่วล้อ ดังที่เห็นได้จากภาพประกอบและคำประพันธ์ที่ปรากฏอยู่บนปกหลังของทุกฉบับ

หนังสือพิมพ์ ดุสิตสมิต

คลองสานที่ว่าก็คือ ‘หลังคาแดง’ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา โรงพยาบาลจิตเวชเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ ณ คลองสาน

ในทุกๆ ฉบับของดุสิตสมิต รัชกาลที่ 6 จะทรงวาดรูปล้อข้าราชการผู้เป็นทวยนาครในดุสิตธานีด้วยลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์

หนังสือพิมพ์ ดุสิตสมิต
หนังสือพิมพ์ ดุสิตสมิต
หนังสือพิมพ์ ดุสิตสมิต

บางเล่มก็ประกอบไปด้วยภาพที่อาจมองได้ว่าเป็นภาพยอพระเกียรติในรูปแบบของการ์ตูนล้อเลียนไปด้วยกัน

หนังสือพิมพ์ ดุสิตสมิต

นอกจากเรื่องยั่วล้อแล้ว ในเล่มยังประกอบไปด้วยนานาสาระ ทั้งในส่วนที่เสริมสร้างความรู้ ส่งเสริมอุดมการณ์ความรักชาติ และส่งเสริมเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ให้เกิดขึ้นในทวยนาครด้วย
รายได้จากการจำหน่าย ดุสิตสมิต นำไปสมทบทุนสร้างเรือรบหลวงพระร่วง ช่วยกิจการเสือป่าและโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในหน้าสุดท้ายของหนังสือพิมพ์จึงมักตีพิมพ์โฆษณาเพื่อให้ผู้อ่านร่วมอุดหนุนกิจการทั้งสองด้วย

หนังสือพิมพ์ ดุสิตสมิต
หนังสือพิมพ์ ดุสิตสมิต
หนังสือพิมพ์ ดุสิตสมิต
หนังสือพิมพ์ ดุสิตสมิต

All the King’s Men

แม้ใน ‘ธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล’ อันมีผู้เปรียบว่าเป็นธรรมนูญการปกครองฉบับแรกของไทย กล่าวถึงทวยนาครทั้งหญิงและชาย แต่ตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจการของดุสิตธานี ไม่ปรากฏว่ามีทวยนาครหญิงเลย ดุสิตธานีดำรงสถานะสโมสรชายล้วน คล้ายวิถีชีวิตแบบสโมสรสุภาพบุรุษ (Gentlemen’s club) อันเป็นวิถีชีวิตทางสังคมของชนชั้นสูงในอังกฤษ เป็นที่นิยมตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคุ้นเคยกับวัฒนธรรมนี้เป็นอย่างดีจากการที่ทรงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษเป็นเวลาเกือบ 10 ปี

ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยจิ๋ว แบบทดลองระบอบการปกครองใหม่ของ ร.6 เมื่อร้อยกว่าปีก่อน

สิ่งก่อสร้างหนึ่งในดุสิตธานีที่ทำให้ผู้เขียนนึกถึงวิถีของเมือง คือโรงอาบน้ำร้อนที่ตั้งอยู่บนเขาหลวง อำเภอเขาหลวง ชวนให้นึกถึงโรงอาบน้ำของชาวโรมัน ที่เรียกว่า Thermae อันเป็นสถานที่สำคัญยิ่งของอารยธรรมโรมัน โรงอาบน้ำในสมัยนั้นมิได้มีเพียงห้องอาบน้ำ แต่เปรียบเสมือน Community Mall ที่รวบรวมร้านค้า ร้านอาหาร Art Gallery ยิม สปา และอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน ชาวโรมันมาที่โรงอาบน้ำเพื่อพบปะสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม และอีกกิจกรรมที่นำพาพวกเขามาพบกันที่นี่คือการอ่าน ห้องสมุดและห้องอ่านกวีเป็นส่วนสำคัญของโรงอาบน้ำที่ชายชาวเมืองจะแวะเวียนมาศึกษาหาความรู้และเเลกเปลี่ยนทัศนะ อันเป็นรากฐานที่จะนำไปสู่การใช้สิทธิ์ใช้เสียง ใช้ความคิดวิจารณญาณในระบอบการเมืองการปกครองในระดับต่อไป

ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยจิ๋ว แบบทดลองระบอบการปกครองใหม่ของ ร.6 เมื่อร้อยกว่าปีก่อน

ดุสิตธานีปิดฉากลงหลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าใน พ.ศ. 2468 กลายเป็นบทเรียนอันพร่าเลือนในประวัติศาสตร์ สิ่งก่อสร้างส่วนหนึ่งของดุสิตธานีได้รับการบูรณะและเก็บรักษาไว้ที่หอวชิราวุธานุสรณ์ หอสมุดแห่งชาติ แม้สิ่งที่หลงเหลือจะมีอยู่ไม่มาก แต่ก็เพียงพอที่จะปะติดปะต่อให้เห็นภาพสะท้อนพระราชจริยวัตร ฉายแววพระราชดำริและพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นปราชญ์

ติดตาม ข่าวสารของนิทรรศการพระบรมราชะประทรรศนีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ที่เฟซบุ๊ก มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ร.6


ขอขอบคุณ

มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์

คุณเชื้อพร รังควร

คุณจิตติ เกษมกิจวัฒนา

คุณกิตติธร เกษมกิจวัฒนา

Writer

Avatar

นักรบ มูลมานัส

นักคุ้ยของเก่าผู้เล่าเรื่องผ่านการสร้างภาพ (ประกอบ) ที่อยากจะลองเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรดูบ้าง