หากเอ่ยชื่อ ดุสิตธานี หลายคนคงนึกถึงชื่อโรงแรมบริเวณมุมถนนสีลมตัดกับพระรามสี่ มากกว่าจะนึกถึงเมืองจำลอง หรือเมืองตุ๊กตาของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2461-2468 โดยมักถูกอธิบายว่าเป็นเมืองทดลองการปกครองตามแนวทางแบบประชาธิปไตย หรือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมตามพระราชดำริในด้านการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่น และมุ่งสื่อภาพลักษณ์เรื่องทิศทางการปกครองในอนาคต หลังจากสยามได้ส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1

แต่การทดลองของดุสิตธานีไม่สามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ในช่วงเวลาดังกล่าวจากหลายเหตุปัจจัย ทั้งเรื่องการศึกษาของราษฎร และฝ่ายปกครองยังกังวลว่าการให้สิทธิแก่ราษฎรกว้างเกินไป จะกระทบต่อผลประโยชน์ของรัฐ หรือแม้กระทั่งการสร้างสิ่งต่างๆ ในดุสิตธานีเอง ที่อุดมไปด้วยสุนทรียภาพนั้น อาจเป็นสิ่งบดบังความสำคัญของการเรียนรู้ลักษณะการปกครองแบบใหม่ที่เป็นหัวใจของเมืองทดลองแห่งนี้ 

ดุสิตธานีถูกลืมไปหลายสิบปีหลังสิ้นรัชสมัย จนกระทั่ง พ.ศ. 2513 หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 6 และหอสมุดแห่งชาติ ได้จัดโครงการสัมมนาเพื่อรวบรวมความทรงจำจากเหล่าข้าราชบริพารผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับดุสิตธานี รวมถึงบ้านเรือนหลังน้อยที่กระจัดกระจายกลับไปหาผู้เป็นเจ้าของหลังสิ้นรัชกาล แล้วพิมพ์เป็นหนังสือชื่อว่า ‘ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตย ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว’ เรียบเรียงโดย จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ควบคู่กับการจัดนิทรรศการแสดงภาพถ่ายดุสิตธานี ในงานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ หอสมุดแห่งชาติ โดยหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้บรรยายเรื่อง ‘พาชมดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตย ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว’ จากภาพถ่ายในนิทรรศการ ซึ่งถูกพิมพ์เป็นหนังสือเช่นเดียวกัน

หนังสือทั้งสองเล่มเป็นเอกสารที่ถูกเผยแผ่อย่างกว้างขวาง ก่อนที่ ‘บรมราชะประทรรศนีย์’ พิพิธภัณฑ์พระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2537 ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ ซึ่งส่วนหนึ่งได้จัดแสดงอาคารของดุสิตธานีส่วนที่ยังเหลือ

บทความชิ้นนี้จะเล่าถึงการพยายามสืบหาข้อมูล และแกะรอยแผนที่ดุสิตธานีกับภาพถ่ายที่เหลืออยู่ จากประเด็นที่ผมมีความสนใจ เพื่อมองหาสิ่งที่จมื่นอมรดรุณารักษ์ และหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ไม่ได้อธิบายไว้ โดยเฉพาะเรื่องราวของการสร้างสิ่งต่างๆ ในดุสิตธานี ซึ่งส่วนหนึ่งได้กลายเป็นงาน ‘ดุสิตธานี’ ผลงานศิลปะที่จัดแสดง ณ The Prelude One Bangkok อันเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Art Biennale 2020

ดุสิตธานีอยู่ที่ไหน

ความน่าตื่นตาของดุสิตธานีในพระราชวังดุสิต คืออาคารบ้านเรือนนับร้อยหลังในขนาดย่อส่วน 1 ต่อ 20 ตั้งอยู่โดยรอบพระที่นั่งอุดรภาค ซึ่งมีทางเชื่อมกับพระที่นั่งอัมพรสถาน รวมเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ครึ่ง ก่อนย้ายไปสร้างที่วังพญาไทในพื้นที่ใหญ่กว่าคือ 4 ไร่ ดุสิตธานีจึงเป็นเมืองย่อส่วนขนาดใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างจริงจัง ระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเหล่าข้าราชบริพารใกล้ชิดและข้าราชการฝ่ายการปกครอง ในฐานะพลเมืองของดุสิตธานีที่เรียกว่า ทวยนาคร

เมืองที่สมมติขึ้นเป็นจังหวัดดุสิตธานีถูกจัดสรรพื้นที่ด้วยการให้ทวยนาครเข้ามาจับจองที่ดินขนาดตั้งแต่ประมาณ 1 ตารางเมตร มีการออกโฉนดให้แก่ผู้ถือครอง มีการซื้อ-ขาย และเสียภาษีอย่างเป็นระบบ ส่วนทวยนาครที่ยังไม่มีที่ดิน สามารถเช่าบ้านจากพระคลังข้างที่หรือเช่าจากทวยนาครคนอื่น และเมื่อมีที่ดินในดุสิตธานีเป็นของตนเอง จึงสร้างบ้านหรือซื้อบ้านต่อจากคนอื่นในราคาตั้งแต่ 200 – 3,000 บาท ซึ่งสมัยนั้นเงินเดือนข้าราชการเริ่มต้นเพียง 20 บาท

ข้อมูลที่รวบรวมไว้อย่างละเอียดในหนังสือดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยฯ ทั้งชื่อถนน สะพาน บ้าน สถานที่ และห้างร้านธุรกิจต่างๆ รวมถึงรายนามผู้อยู่อาศัย (แต่ในนาม) ในแต่ละอำเภอ ชวนให้มองได้ว่า นอกจากการได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่สำคัญของดุสิตธานี คือการเลือกตั้งเชษฐบุรุษของแต่ละอำเภอ และการเลือกนคราภิบาล เพื่อเป็นผู้นำในการบริหารราชการของดุสิตธานีแล้ว ทวยนาครยังมีส่วนทำให้เมืองแห่งนี้มีความสวยงามอย่างอารยะนครในโลกตะวันตก ด้วยการสร้างบ้านของตนเองในรูปแบบที่หลากหลาย เหมือนเป็นเมืองที่มีสถาปัตยกรรมแบบนานาชาติ ตามที่เห็นในภาพถ่ายจากหนังสือที่กล่าวถึง ซึ่งเป็นภาพถ่ายดุสิตธานีสมัยยังตั้งอยู่ในพระราชวังดุสิต

แต่น่าเสียดายที่เนื้อหาในหนังสือไม่มีการกล่าวถึงรายละเอียดของผู้คิดออกแบบบ้านและอาคารต่าง ๆ เราจึงไม่ทราบว่า ม.จ.อิทธิเทพสรรค์ กฤดากร สถาปนิกไทยรุ่นแรกที่เพิ่งจบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจากฝรั่งเศส และเป็นทวยนาครคนหนึ่งในดุสิตธานีนั้น เป็นผู้มีส่วนคิดออกแบบบ้านในดุสิตธานีบ้างหรือไม่

ทัศนาดุสิตธานี : สืบข้อมูลดุสิตธานีใน ร.6 ที่ ม.ล.ปิ่น และ แจ่ม สุนทรเวช ไม่เคยพูดถึง
แผนที่ดุสิตธานี วาดโดยพระยาอนุชิตชาญชัย (พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต)

แผนที่กับภาพถ่ายจังหวัดดุสิตธานี

ภาพบ้านเมืองในดุสิตธานีที่ไร้ผู้คนดูมีชีวิตขึ้นมา เมื่อ ม.ล.ปิ่น บรรยายว่าอาคารบ้านเรือนแต่ละหลังถูกสมมติให้มีหน้าที่สอดคล้องกับกิจกรรมอะไร หรือมีใครเป็นเจ้าของ แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมอยากรู้มากกว่าที่ ม.ล.ปิ่น บรรยาย โดยเฉพาะเรื่องมุมมองที่เห็นในแต่ละภาพนั้นถ่ายจากจุดไหนในดุสิตธานี

ผมจึงเริ่มหาตำแหน่งของสถานที่ในภาพถ่ายทั้งหมดในหนังสือ ด้วยการนำข้อมูลที่ ม.ล. ปิ่น บรรยายไว้ มาเทียบกับแผนที่ดุสิตธานี (ในหนังสือดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยฯ) ของ พระยาอนุชิตชาญชัย (พงษ์ สวัสดิ์ – ชูโต) ที่บอกเส้นทาง และระบบการเชื่อมโยงสาธารณูปโภคสมัยที่ดุสิตธานียังตั้งอยู่ในพระราชดุสิต แม้แผนที่จะเป็นเส้นลายมือที่อ่านยาก และไม่ได้เป็นแผนที่ที่มีมาตราส่วน แต่พระยาอนุชิตฯ ก็เขียนรายละเอียดสิ่งต่าง ๆ ไว้อย่างละเอียดยิบ เพราะใช้เวลาเขียนและปรับปรุงถึง 2 ปี (พ.ศ. 2461-2462)

ผมเริ่มหาตำแหน่งในภาพถ่ายพร้อมกับข้อมูลอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น การสร้างสะพานส่งน้ำจากเขาหลวงเข้ามาทำเป็นน้ำประปาในเมือง ซึ่งดูเป็นนวัตกรรมสำคัญของดุสิตธานี หรือการหาถนนที่ชื่อ ประชาธิปไตย ตามที่ จมื่นอมรดรุณารักษ์ เล่าไว้ แต่สุดท้ายก็ไม่พบว่ามีอยู่ในแผนที่ของพระยาอนุชิตฯ หรือถ้ามีถนนเส้นนี้ตอนดุสิตธานีย้ายไปอยู่ที่วังพญาไทแล้ว ผมก็ไม่อาจค้นต่อได้ เพราะไม่รู้ว่ามีใครทำแผนที่ดุสิตธานีที่อยู่วังพญาไทไว้หรือไม่ นอกจากภาพถ่ายทางอากาศที่ทำให้เห็นความใหญ่โตมโหฬารของเมืองในความทรงจำแห่งนี้

ทัศนาดุสิตธานี : สืบข้อมูลดุสิตธานีใน ร.6 ที่ ม.ล.ปิ่น และ แจ่ม สุนทรเวช ไม่เคยพูดถึง
ภาพถ่ายทางอากาศเห็นดุสิตธานีที่วังพญาไท
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

การพิจารณาตัวอาคารจริงที่ปรากฏในภาพถ่ายมุมต่างๆ เช่น พระที่นั่งอุดรภาค หรืออาคารสำหรับจัดการประชุมเลือกตั้งนคราภิบาล และกิจกรรมสังสรรค์ในดุสิตธานี เช่น โฮเตล เมโตรโปล และโรงบิลเลียด เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปะติดปะต่อดุสิตธานีจากมุมต่างๆ เพราะเมื่อนำแผนที่ของพระยาอนุชิตฯ มาเชื่อมโยงกับภาพมุมกว้างของดุสิตธานีในหนังสือจำนวน 2 ภาพ ภาพแรกเราจะเห็นเขตพระวัชรินทร์ราชนิเวศน์ตั้งอยู่หน้าพระที่นั่งอุดรภาค ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของดุสิตธานี และเห็นบ้านเรือนที่เป็นเขตอำเภอเขาหลวงตั้งอยู่ด้านหลัง ซึ่งเป็นภาพที่เห็นจุดเชื่อมต่อของถนน 5 สาย ตรงกับที่หม่อมหลวงปิ่นบรรยายว่า 

“คล้ายกับนิ้วมือ 5 นิ้ว ถ้าวางมือซ้ายคว่ำลงหันหน้าไปทางทิศใต้ หัวแม่มือก็คือถนนวารุณาสตร์ นิ้วชี้คือถนนอาคเณยาสตร์ นิ้วกลางคือถนนพายวาสตร์ นิ้วนางคือถนนพรหมาสตร์ และนิ้วก้อยคือถนนเอนทราสตร์” 

แต่กระนั้น เมื่อนำมุมดังกล่าวในภาพถ่ายมาเทียบกับแผนที่พระยาอนุชิตฯ ตรงบริเวณแยกที่เป็นจุดตัดของถนนทั้ง 5 สาย กลับพบว่าแผนที่ไม่ได้วาดเป็นจุดตัดเหมือนในภาพถ่าย ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะพระยาอนุชิตฯ ใช้วิธีวาดแผนที่ฉบับนี้ขึ้นมาจากการจำสิ่งที่เห็นแล้วเอามาวาด ท่านจึงให้ความสำคัญกับการบันทึกข้อมูลสิ่งที่ต่างๆ ให้ถูกต้องมากกว่า

ส่วนภาพถ่ายมุมมกว้างภาพที่ 2 เป็นภาพถ่ายถนน สองข้างทางเห็นบ้านและสวนสาธารณะ ไกลออกไปจะเห็นเนินเขาและกำแพงมหาคิรีราชปุระ ภายในเป็นที่ตั้งพระที่นั่งศิวะวิมานมณี ที่มีหน้าตาเหมือนปราสาทแบบยุโรปอยู่ทางฝั่งขวา

ภาพนี้หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล บรรยายว่าเป็นมุมที่ถ่ายจากถนนอาคเณยาสตร์ แต่ด้วยวิธีการสังเกตจุดเด่นและจำลักษณะบ้านที่มีเอกลักษณ์ เช่น บ้านที่มีหอคอย และอาคารที่มีหลังคาสองชั้นเหมือนศาลาทางฝั่งซ้ายของภาพ แล้วกลับไปมองหาอาคารเหล่านนี้จากภาพถ่ายภาพแรก ทำให้ตรวจสอบตำแหน่งในการถ่ายภาพจากแผนที่ได้ ดังนั้น ผมจึงมีข้อสรุปเรื่องตำแหน่งในการถ่ายภาพมุมกว้างภาพที่สองต่างจากหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ว่าถนนในภาพนี้คือถนนธนูศักดิ์ ถ่ายจากบริเวณแยกตรงสวนสราญรมย์

ทัศนาดุสิตธานี : สืบข้อมูลดุสิตธานีใน ร.6 ที่ ม.ล.ปิ่น และ แจ่ม สุนทรเวช ไม่เคยพูดถึง
ภาพมุมกว้างดุสิตธานี ภาพที่ 1
ทัศนาดุสิตธานี : สืบข้อมูลดุสิตธานีใน ร.6 ที่ ม.ล.ปิ่น และ แจ่ม สุนทรเวช ไม่เคยพูดถึง
ภาพมุมกว้างดุสิตธานี ภาพที่ 2

การพบข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน ทำให้เกิดความคิดจะปรับปรุงแผนที่ของพระยาอนุชิตชาญชัยให้สอดคล้องกับมุมมองที่เห็นในภาพถ่าย ด้วยความช่วยเหลือจาก ศาสตราจารย์ อภินันท์ โปษยานนท์ กรุณาประสานกับมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ผมได้เข้าไปสืบค้นข้อมูลจาก ‘บรมราชะประทรรศนีย์’ ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ โดยหวังว่าอาจมีภาพถ่ายดุสิตธานีที่ไม่ได้พิมพ์ในหนังสือให้ศึกษาเพิ่มเติม และคำแนะนำจาก อาจารย์จิตติ เกษมกิจวัฒนา เรื่องแหล่งข้อมูลที่อาจช่วยทำให้เห็นกายภาพของเมืองดุสิตธานีชัดเจนขึ้น เช่น ภาพถ่ายจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติและเอกสารในหอสมุดแห่งชาติ โดยเฉพาะห้องหนังสือหายาก ซึ่งทำให้ผมได้พบอัลบั้มภาพถ่ายดุสิตธานี ที่เป็นอัลบั้มสะสมภาพบ้านแบบต่างๆ ในดุสิตธานี ใต้ภาพมีคำบรรยายสั้นๆ ประกอบ และส่วนใหญ่เป็นภาพที่ไม่ได้พิมพ์ในหนังสือ ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยฯ

ทัศนาดุสิตธานี : สืบข้อมูลดุสิตธานีใน ร.6 ที่ ม.ล.ปิ่น และ แจ่ม สุนทรเวช ไม่เคยพูดถึง
ทัศนาดุสิตธานี : สืบข้อมูลดุสิตธานีใน ร.6 ที่ ม.ล.ปิ่น และ แจ่ม สุนทรเวช ไม่เคยพูดถึง
ภาพถ่ายในอัลบั้มดุสิตธานี
ภาพ : หอสมุดแห่งชาติ

ส่วนข้อมูลอีกชุด ที่แม้จะไม่ได้เป็นข้อมูลภาพ แต่สามารถชวนให้จินตนาการถึงภาพชีวิตประจำวันของผู้คนในดุสิตธานี คือข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ ดุสิตสมัย (ฉบับเดือน เมษายน ถึง กรกฎาคม พ.ศ. 2462) หนังสือพิมพ์รายวันของดุสิตธานีที่จำหน่ายให้คนภายนอกด้วย เป็นเอกสารที่ให้ข้อมูลความเปลี่ยนแปลงในดุสิตธานีผ่านข่าว และประกาศต่างๆ โดยเฉพาะข่าวการก่อสร้าง การขยายเขตอำเภอ การปรับปรุง และพัฒนาสิ่งที่เป็นสาธารณูปโภคของเมืองที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

รวมทั้งข่าวที่เป็นข่าวแบบชาวบ้าน เช่น ใครสร้างบ้าน ใครย้ายบ้าน ใครขายบ้าน ใครเช่าบ้านจากใคร โดยผู้เขียนข่าวจะแทรกการติชมบ้านหลังต่างๆ หรือชวนให้ลองไปชมบ้านเหล่านั้น ทั้งนี้ข่าวที่เกี่ยวกับเรื่องบ้านยังสะท้อนความนิยมในการตกแต่งบ้าน การสร้างคอร์ดเทนนิส การจัดสวน หรือการทำน้ำพุในสวน

ที่เป็นข่าวโด่งดังคือ น้ำพุที่มีไฟเปลี่ยนสีได้ตอนกลางคืน ในบ้านท่านราม ณ กรุงเทพ บทบาทสมมุติของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในนามทนายความผู้มีฐานะ และรสนิยมในการสร้างบ้านไม่เหมือนใครถึง 15 หลัง (ส่วนหนึ่งแบ่งให้ทวยนาครเช่า) โดยตั้งชื่อบ้านทุกหลังให้มีคำว่าใจ เช่น บ้านผูกใจ บ้านหย่อนใจ บ้านโปร่งใจ บ้านเย็นใจ บ้านเย้าใจ

อีกทั้งการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกแบบบ้านหลายหลังในดุสิตธานีด้วยพระองค์เอง ทำให้เคยมีผู้มาขอพระราชทานแปลนบ้านไปสร้างเป็นบ้านจริงๆ ตามคำบอกเล่าของ พระยานรเทพปรีดา (จำเริญ สวัสดิ-ชูโต) ว่าบ้านของ พระยาไพชยนต์เทพ (หม่อมราชวงศ์ลพ อรุณวงศ์) ที่เชิงสะพานนารถจรัล ย่านนางเลิ้ง เป็นตึกที่ปลูกตามแปลนฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 6 (ไม่รู้ว่าปัจจุบันยังอยู่หรือไม่)

ทัศนาดุสิตธานี : สืบข้อมูลดุสิตธานีใน ร.6 ที่ ม.ล.ปิ่น และ แจ่ม สุนทรเวช ไม่เคยพูดถึง
หนังสือพิมพ์ดุสิตสมัย

นอกจากนี้ ดุสิตสมัย ยังลงความเห็นและจดหมายตอบโต้ระหว่างทวยนาครในประเด็นต่างๆ รวมถึงข่าวลือว่าจะมีการเปิดดุสิตธานีให้คนภายนอกได้เข้ามาชมในลักษณะงานฤดูหนาว ซึ่งสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ที่สนใจ มีการพูดคุยถึงการเตรียมการและกล่าวถึงการทำแผนที่ ซึ่งชวนให้คิดว่า แผนที่ของพระยาอนุชิตชาญชัยอาจเกี่ยวข้องกับการเตรียมการเปิดดุสิตธานีให้คนภายนอกได้เข้ามาชม และการสอบมัคคุเทศก์ประจำดุสิตธานี เพื่อหาผู้มีความสามารถในการอธิบายสถานที่ต่างๆ และมีสิทธิ์นำชาวต่างธานีเข้ามาชม เพราะพระยาอนุชิตชาญชัยสอบไล่ได้เป็นมัคคุเทศก์จากการสอบครั้งที่ 2 โดยท่านราม ณ กรุงเทพ เป็นผู้ออกข้อสอบและเป็นประธานกรรมการสอบคัดเลือกเอง

จากข้อมูลที่พบทั้งสองส่วน ทำให้เห็นว่าในดุสิตธานียังมีสิ่งที่ควรศึกษาอีกหลายอย่าง เช่น รูปแบบสถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือน ที่สะท้อนความตั้งใจให้ดุสิตธานีเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง แบบที่หนังสือพิมพ์ชอบกล่าวว่า ‘หาดูที่ไหนไม่ได้’ ซึ่งสอดคล้องกับกิจกรรม การประกวดเคหะสถาน จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2462 โดย ม.จ. อิทธิเทพสรร กฤดากร เป็นประธานกรรมตัดสิน

มีการให้รางวัลจากความงามของอาคารประเภทต่างๆ ส่วนการให้ความสำคัญเรื่องการดูแลรักษาบ้านของตนให้มีความสะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ ทำให้มีการกำหนดบทลงโทษแก่ผู้ที่ปล่อยปละละเลยให้บ้านของตนสกปรก หรือชำรุดทรุดโทรมโดยไม่มาซ่อมแซม ทำให้ธานีเสียความสง่างาม ตั้งแต่การปรับเงินไปจนถึงขั้นเนรเทศออกจากดุสิตธานี อย่างในกรณีการลงประกาศเนรเทศ นายพิศาลสรรพกิจ มิให้เข้ามาในธานีอีก ในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมัย

ทัศนาดุสิตธานี : สืบข้อมูลดุสิตธานีใน ร.6 ที่ ม.ล.ปิ่น และ แจ่ม สุนทรเวช ไม่เคยพูดถึง
ผลงานแผนที่ดุสิตธานีจากการสันนิษฐานใหม่

แม้ดุสิตธานีจะไม่เคยเปิดให้คนต่างธานีได้เข้าชมจริงๆ จนวันสุดท้าย แผนที่ของพระยาอนุชิตชาญชัยจึงเหมือนเป็นหลักฐานที่รอผู้มาการจินตนาการเชื่อมโยงกับหลักฐานส่วนอื่นๆ การสันนิษฐานแผนที่ขึ้นใหม่ นอกจากทำให้แผนที่ดุสิตธานีดูสัมพันธ์กับหลักฐานภาพถ่ายแล้ว การเพิ่มข้อมูลรายละเอียดสถานที่ที่ไม่ปรากฏในแผนที่ของพระยาอนุชิตชาญชัย ซึ่งเป็นเพียงข้อสังเกตของผมต่อหลักฐานเท่าที่หาได้ในขณะนี้ ยังหวังว่าแผนที่ฉบับนี้จะเป็นสื่อที่ช่วยให้เห็น หรือชวนให้มีการศึกษาดุสิตธานีในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความทันสมัยในการจัดการเมืองหรือไลฟ์สไตล์ของทวยนาครต่อไป

ทัศนาดุสิตธานี : สืบข้อมูลดุสิตธานีใน ร.6 ที่ ม.ล.ปิ่น และ แจ่ม สุนทรเวช ไม่เคยพูดถึง

สิ่งที่ชวนให้จินตนาการและยังต้องตามหากันต่อ

การพบอัลบั้มภาพถ่ายบ้านเรือนในดุสิตธานีที่ยังไม่เคยมีการเผยแผ่ นอกจากช่วยเพิ่มรายละเอียดให้กับการสันนิษฐานแผนที่ขึ้นใหม่แล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาและยืนยันรายละเอียดกลุ่มบ้านที่เห็นไม่ชัดในภาพมุมกว้างทั้งสองภาพที่ถูกนำมาวาดขึ้นใหม่ด้วยวิธีการทางจิตรกรรม ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้ได้พิจารณารายละเอียดอาคารบ้านเรือนทั้งหมดที่เห็นในภาพ ทั้งอาคารที่สร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยจาก ‘อาคารที่มีอยู่จริง’ เช่น พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาท ที่จำลองมาจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หรือพระที่นั่งเทวอาสน์จำรูญ ที่จำลองมาจากพระที่นั่งบรมพิมาน และรูปแบบ ‘อาคารที่ไม่ได้มีการสร้างขึ้นจริง (?) ’ ประเภทบ้าน อาคารห้างร้าน หรืออาคารที่สร้างขึ้นจริงไม่ได้ในขณะนั้น เช่น ตึกสูง 12 ชั้น โดย หลวงศรีบัญชา (ทวน ธรรมาชีวะ) นำมาน้อมเกล้าฯ ถวาย สำหรับใช้เป็นที่ทำการหนังสือพิมพ์ ดุสิตสมิต ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่อาคารเหล่านี้ไม่เหลือของจริงให้ศึกษาแล้ว

ตามที่ใส่ (?) หลังคำว่า ‘อาคารที่ไม่ได้มีการสร้างขึ้นจริง’ เพราะพบว่าบ้านหลายหลังในดุสิตธานีมีชื่อเหมือนกับบ้านหลายหลังที่มีการสร้างขึ้นจริงในเวลาต่อมา เช่น บ้านนรสิงห์ (ทำเนียบรัฐบาล) ของเจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) หรือบ้านบรรทมสินธุ์ (บ้านพิษณุโลก) ของพระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) ที่ใช้ชื่อบ้านเหล่านี้มาก่อนในดุสิตธานี เพียงแต่ยังไม่พบหลักฐานว่าบ้านเหล่านั้นมีหน้าตาเหมือนกับบ้านที่มีการสร้างขึ้นจริงบ้างหรือไม่

ทัศนาดุสิตธานี : สืบข้อมูลดุสิตธานีใน ร.6 ที่ ม.ล.ปิ่น และ แจ่ม สุนทรเวช ไม่เคยพูดถึง
ผลงานจิตรกรรม ทิวทัศน์ดุสิตธานี
ทัศนาดุสิตธานี : สืบข้อมูลดุสิตธานีใน ร.6 ที่ ม.ล.ปิ่น และ แจ่ม สุนทรเวช ไม่เคยพูดถึง
ภาพถ่ายตึก 12 ชั้น ที่ทำการหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต
ภาพ : หอสมุดแห่งชาติ

จากข้อจำกัดของข้อมูลที่เหลือแต่เพียงภาพถ่าย ทำให้เกิดงานเชิงสันนิษฐานอีกส่วนที่ผมได้ชวน เจษฎา นฤชิต และ ณัฐวุฒิ ศรีกุลทรัพย์ สองสถาปนิกมาทำงานด้วยกัน คืองานสันนิษฐานรูปแบบอาคารในดุสิตธานีที่เหลืออยู่แต่ในภาพถ่าย จำนวน 6 อาคาร ให้กลายเป็นแบบพิมพ์เขียวของสิ่งที่สูญหายไปแล้ว หรือมองอีกนัยหนึ่งได้ว่าเป็นสิ่งที่กำลังจะถูกสร้างขึ้นในอนาคตก็ได้ เช่น โรงละครของดุสิตธานี ที่ชื่อว่า คนธรรพนาฏศาลา หรือตึก 12 ชั้น ที่เพิ่งกล่าวถึงไป ซึ่งเป็นงานที่ทำให้คิดถึงความน่าจะเป็น นอกจากข้อมูลสำหรับการสันนิษฐานอาคารที่ถูกเลือกมาสร้างเป็นผลงาน คือ สัดส่วนของอาคารในดุสิตธานีจากข้อมูลที่บอกเพียงว่า ย่อส่วนจากของจริง 1 ต่อ 20 นั้น คือเท่าไหร่กัน

ทัศนาดุสิตธานี : สืบข้อมูลดุสิตธานีใน ร.6 ที่ ม.ล.ปิ่น และ แจ่ม สุนทรเวช ไม่เคยพูดถึง
ชุดผลงานสันนิษฐานอาคารในดุสิตธานี
ทัศนาดุสิตธานี : สืบข้อมูลดุสิตธานีใน ร.6 ที่ ม.ล.ปิ่น และ แจ่ม สุนทรเวช ไม่เคยพูดถึง
ผลงานสันนิษฐาน คนธรรพนาฏศาลา

การมีโอกาสเข้าไปเก็บข้อมูลที่ หอวชิราวุธานุสรณ์ ทำให้ผมได้วัดขนาดอาคารของดุสิตธานีที่ยังเหลืออยู่ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดสัดส่วนอาคารที่สันนิษฐานเป็นภาพขึ้นใหม่ และได้หาความสูงโดยเฉลี่ยของอาคาร มาใช้เป็นขนาดตั้งต้นในการสันนิษฐานความกว้างและรายละเอียดส่วนต่าง ๆ ของอาคารจากมุมที่เห็นในภาพถ่าย ซึ่งเกือบทั้งหมดทุกชิ้นเป็นงานสันนิษฐานจากภาพถ่ายที่เห็นอาคารเพียงมุมเดียว บางชิ้นต้องสันนิษฐานรูปแบบอาคารจากภาพระยะไกล เช่น อาคารที่คาดว่าเป็น ห้างบุณยเกียรติ์ บนถนนเอนทราสตร์ ตั้งอยู่ระหว่างโฮเตลเมโตรโปล กับโรงละครคนธรรพนาฏศาลา เป็นอาคารที่มีเอกลักษณ์ตรงส่วนหลังคาที่ทำด้วยวัสดุโปร่งใส

ทัศนาดุสิตธานี : สืบข้อมูลดุสิตธานีใน ร.6 ที่ ม.ล.ปิ่น และ แจ่ม สุนทรเวช ไม่เคยพูดถึง
ภาพถนนเอนทราสตร์ ดุสิตธานี

การลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมัยทำให้ทราบว่า เช่น ห้างบุณยเกียรติ์ เป็นห้างขายสินค้าแต่งบ้าน หรือ ห้างอรุณวงศ์วัฒกี ที่ทำธุรกิจรับเหมาสร้างบ้าน และจัดสวนในดุสิตธานี ซึ่งสอดคล้องกับกิจกรรมที่ทวยนาครนิยมกัน นอกจากนี้ยังมีโฆษณาร้านถ่ายภาพที่พบว่ามีถึง 3 ร้าน ในดุสิตธานี คือ ร้านฉายาบรรทมสินธุ์ (ภาพถ่ายที่ถูกพิมพ์ในหนังสือ ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยฯ) ฉายาดุสิต ฉายาลัย และ ห้างซีซูโอก้า ร้านขายของเบ็ดเตล็ด ได้แจ้งข่าวในหนังสือพิมพ์ ดุสิตสมัย วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2462 ความว่า

ระวัง! ระวัง! อีกในไม่ช้าอัลบั้มรูปบ้านของท่านที่อยู่ในจังหวัดดุสิตธานีทุกอำเภอจะปติสันธิขึ้นแล้ว บอกชื่อเจ้าของบ้านด้วย แลยังมีรูปพระที่นั่ง ที่ทำการ วัด และสถานที่ต่างๆ พร้อม น่าชมเพียงไรไม่ต้องเดินอารัมภคาถากับเวลานี้จวนจะเปิดธานีให้ชาวต่างธานีทัศนา ควรจะซื้อกรอบรูปซึ่งมีรูปแปลกๆ ขายถูกที่สุด อันละ ๑๕ สตางค์ โหลละ ๘ บาทถ้วน ไว้ตบแต่งบ้านให้สรวยงามด้วย”

จากข้อความจากโฆษณาที่ยกมา ชวนให้เชื่อว่าอัลบั้มภาพถ่ายดุสิตธานีที่ผมพบจากห้องหนังสือหายากนั้นคงมาจากร้านขายของและจำหน่ายภาพถ่ายในดุสิตธานีนั้นเอง

การรับรู้โลกสมมติที่จำลองทั้งบ้านเรือนและกิจกรรมต่างๆ ในดุสิตธานีจาก ดุสิตสมัย หนังสือพิมพ์ที่ไม่มีภาพประกอบ คงทำให้ผู้อ่านนอกธานีสมัยนั้น หลงคิดไปได้ว่าชีวิตของชาวเมือง และบ้านเรือนในดุสิตธานีเป็นเมืองจริง ๆ หรือถ้ามีโอกาสได้เห็นจากภาพถ่ายที่พิมพ์จำหน่ายเป็นโปสการ์ดจากร้านขายของในดุสิตธานี ก็เป็นสิ่งที่ชวนให้จินตนาการและอยากมีโอกาสเห็นด้วยตาตัวเองสักวัน อย่างไรก็ตาม ชีวิตสมมติในดุสิตธานีก็ยังเป็นปริศนาให้คนรุ่นเราอยากรู้ว่าทวยนาครส่วนใหญ่มีความคิดต่อการสร้างเมืองสมมติแห่งนี้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องค้นกันต่อ แม้ความสวยงามของดุสิตธานี จะถูกมองว่าเป็นสิ่งบดบังความสำคัญของการเรียนรู้ลักษณะการปกครองที่เป็นหัวใจของเมืองนี้ก็ตาม

หากมองว่างานศิลปะมีแง่มุมที่ทำให้เราชอบเสพในสิ่งที่อยู่ระหว่างเรื่องสมมติกับเรื่องจริง ผลงานดุสิตธานีชุดนี้ คงมาจากการท่องไปในเมืองสมมติผ่านหลักฐานประเภทต่าง ๆ และการตามหาส่วนประกอบของสิ่งที่เป็นทั้งเรื่องจริงของความฝัน และเป็นการฝันถึงเรื่องจริงที่สูญหายไป แล้วนำมาสร้างขึ้นใหม่ เพื่อเติมเต็มความฝันผ่านภาพจำลอง ระหว่างที่ตอนนี้ยังฝันค้างกับหลายเรื่องในโลกแห่งความเป็นจริง

Writer & Photographer

Avatar

ประทีป สุธาทองไทย

สอนศิลปะอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชอบประวัติศาสตร์ของสิ่งที่ไม่ได้ถูกเอามาเขียน ชอบค้นเรื่องเก่าๆ เอามาทำงานศิลปะ