46,000 ล้านบาท

คือมูลค่ามหาศาลของ ‘ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค’ โครงการมิกซ์ยูส 23 ไร่ที่ปลูกขึ้นหัวมุมถนนสีลมตัดกับถนนพระราม 4 บริเวณโรงแรมดุสิตธานีเดิม ภายใต้แนวคิด ‘Here for Bangkok’ หนึ่งในโปรเจกต์ยักษ์ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมกรุงเทพฯ ในทศวรรษถัดไป 

ชื่อ ‘เซ็นทรัล พาร์ค’ นั้นล้อไปกับสวนสาธารณะ Central Park ใจกลางนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ด้วยทำเลงามตรงข้ามสวนลุมพินีขนาด 360 ไร่ บ่งบอกถึงทำเลทอง CBD กลางเมืองที่ใกล้ชิดพื้นที่สีเขียวแบบสุด ๆ 

ชื่อนี้ยังสื่อถึงการร่วมมือของกลุ่มดุสิตธานี กับ กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา (CPN) กลายเป็น ‘วิมานสุริยา’ ผู้ดูแลโปรเจกต์ปลุกชีวิตสีลมให้มีชีวิตชีวา และสานต่อตำนานของดุสิตธานีให้เป็นแลนด์มาร์กกลางเมืองของกรุงเทพมหานคร

ลองสังเกตที่ดินในกรุงเทพฯ ตอนนี้ โครงการแบบมิกซ์ยูสเกิดขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มเปลี่ยนวิถีการอยู่อาศัยในบางกอกให้คล้ายหัวเมืองใหญ่ของโลก ตามจำนวนประชากรในเมืองที่มากขึ้น สวนทางกับจำนวนผืนที่ดินที่น้อยลงไปทุกวัน 

ที่นี่เป็นโครงการที่น่าจับตามอง เพราะอะไร

50 กว่าปีก่อน โรงแรมดุสิตธานีเคยเป็นตึกที่สูงที่สุดบนถนนสีลม เป็นโรงแรมไทย 5 ดาวที่หรูหราที่สุดในพระนคร เมื่อครั้งกรุงเทพฯ ยังเต็มไปด้วยทุ่งนา ดุสิตธานีเติบโตกลายเป็นกลุ่มบริษัทขนาดยักษ์สัญชาติไทย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สีลมกลายเป็นถนนเศรษฐกิจ รวมถึงพิสูจน์บทบาทของบางกอกในฐานะหัวเมืองใหญ่ในอาเซียน 

เมื่อยักษ์ใหญ่ขยับตัว ทุ่มทุนมหาศาลสร้าง Dusit Central Park แทนที่โรงแรมเดิม บ่งบอกวิสัยทัศน์ว่า กรุงเทพฯ จะแปลงโฉมเปลี่ยนรูปร่างไปอีกมาก และเป็นสัญญาณให้เรามองเห็นเค้าโครงทิศทางอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัยในอนาคต

คุณสมเกียรติ โล่ห์จินดาพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (A49) ผู้ดูแลการออกแบบโครงการ จะพาเราไปทำความรู้จักสถาปัตยกรรมชิ้นเอกแห่งย่านสีลม

คุณสมเกียรติ โล่ห์จินดาพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (A49)

The Most Prestigious Address 

คุยกับสถาปนิก เจาะลึก Dusit Central Park โครงการระดับหมื่นล้านโฉมใหม่ของดุสิตธานี

ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค มีพื้นที่ก่อสร้างรวมกันมากกว่า 400,000 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 4 อาคารหลัก ซึ่งทุกอาคารบิดมุมให้ไม่บังกัน หันไปทางสวนลุมพินี มองเห็นวิวสวนได้เต็มตาทุกตึก 

1. โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ

อาคารสูง 39 ชั้น ซึ่งถอดแบบรายละเอียดมรดกทางศิลปะของไทยมาจากดุสิตธานีเดิม แต่ขยายขนาดให้สูงใหญ่กว่าเดิมมาก โดยเก็บรายละเอียดสะท้อนความเป็นกรุงเทพฯ ที่ผู้คนจดจำไว้ ตั้งแต่ยอดชฎาทอง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร รวมถึงส่วนฐาน คือ ล็อบบี้ ห้องอาหาร และห้องนภาลัย บอลรูม และส่วนยอดเป็นรูฟท็อปบาร์ ดีไซน์ให้คงไว้ซึ่งคุณค่าในอดีตให้มากที่สุด โดยยอดเสาเดิมจะถูกติดตั้งไว้ภายใน แล้วนำยอดเสาใหม่ครอบลงไป

จากเดิมที่ห้องพักมีขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับโรงแรม 5 ดาวยุคใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นภายหลัง ดุสิตธานีลดจำนวนห้องพักจากเดิม 510 ห้อง เหลือเพียง 259 ห้อง แต่เพิ่มขนาดห้องให้กว้างขวาง เพดานสูงโปร่ง ที่สำคัญคือขยับตัวอาคารออกไปทิศทางใกล้สวนมากขึ้น เพื่อให้เลย์เอาต์ห้องพักของโรงแรมทั้งหมดมองเห็นวิวสวนลุมพินี 100 เปอร์เซ็นต์ โดยกำหนดการเปิดโรงแรมคือปี 2024

2. ดุสิต เรสซิเดนเซส

อาคารสูง 69 ชั้น รวม 406 ยูนิต เป็นอาคารส่วนที่พักอาศัย ตั้งอยู่ในตำแหน่งของโรงแรมดุสิตธานีเดิม ออกแบบโดยเน้นความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยสูงสุด แบ่งส่วนพักอาศัยเป็น 2 แบรนด์ ได้แก่ ‘ดุสิต เรสซิเดนเซส’ ที่อยู่อาศัยสไตล์คลาสสิก หรูหรา มีความเป็นส่วนตัวสูง มีล็อบบี้ลิฟต์ส่วนตัวและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ให้ความเป็นส่วนตัวมากที่สุด 160 ยูนิต และ ‘ดุสิต พาร์คไซด์’ ดีไซน์ที่ร่วมสมัย ตอบโจทย์ผู้ชื่นชอบไลฟ์สไตล์คนเมือง 246 ยูนิต ทุกยูนิตมองเห็นวิวสวนลุมพินีเช่นกัน อาคารนี้มีกำหนดเสร็จราวปี 2025 ระยะเวลาการเช่าที่อยู่อาศัยนี้รวม 58 ปี (ภายใต้ระยะเวลาการเช่า 2 ช่วง)

3. เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส 

อาคารสำนักงานความสูง 40 ชั้น เป็นออฟฟิศระดับพรีเมียม ออกแบบให้เชื่อมต่อกับการเดินทางสาธารณะทั้ง BTS และ MRT ได้สะดวกสบาย

4. เซ็นทรัล พาร์ค 

อาคารรีเทลหรือศูนย์การค้า Low-rise 8 ชั้น เชื่อมโยงทุกองค์ประกอบของโครงการเข้าด้วยกัน มีทั้งส่วนที่เป็นศูนย์การค้าชั้นใต้ดินและบนดิน สอดรับกับเส้นทางคมนาคมหัวถนนสีลมซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อ BTS และ MRT เช่นกัน

ตัวอาคารสำนักงานและศูนย์การค้ามีกำหนดการเปิดราวปี 2024 

ความงามที่ยั่งยืน

คุยกับสถาปนิก เจาะลึก Dusit Central Park โครงการระดับหมื่นล้านโฉมใหม่ของดุสิตธานี
คุยกับสถาปนิก เจาะลึก Dusit Central Park โครงการระดับหมื่นล้านโฉมใหม่ของดุสิตธานี

“ผมจำได้เลย เมื่อ 26 ปีก่อน ตอนนั้นตึกโรงแรมดุสิตธานีเริ่มเก่าแล้วนะ มีลูกค้ามาหาผม บอกว่าช่วยออกแบบตึกให้หน่อย โดยยกตัวอย่างโรงแรมดุสิตธานี เพราะมัน Iconic มาก เขาอยากได้แลนด์มาร์กแบบนี้ นี่คือตัวอย่างการออกแบบที่ Timeless เอาของไทย ๆ มาใช้ได้เก๋ เวลาผ่านไปนาน ๆ ก็ยิ่งพิสูจน์ว่าคนรักคนเสียดาย สถาปนิกเขาผสมผสานได้ดี ยุคนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต พินเทอเรสต์ ตึกก็ออกมาสวยงามตามธรรมชาติ” คุณสมเกียรติระลึกความหลัง

50 กว่าปีตั้งแต่แรกสร้าง จนถึงวันที่โรงแรมดุสิตธานีปิดตัวลง สถาปัตยกรรมนี้ยังคงขึ้นชื่อเรื่องความงามยั่งยืนเหนือกาลเวลา แล้วดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค โฉมใหม่ในที่ดินเดิมจะมีความงามแบบไหน

“Timeless เป็นประเด็นที่แวดวงสถาปัตย์พูดกันเยอะมาก บางตึกยังสร้างไม่ทันเสร็จอาจจะเชยแล้ว เพราะมันตามแฟชั่นจนเกินไป ดังนั้นเราต้องคิดถึง Essence ของมันจริง ๆ และบุคลิกของโครงการมากกว่าคล้อยตามกระแสหลัก ซึ่งมันยากที่จะเจาะจงว่าความสวยแบบ Timeless คืออะไรจากวันแรกที่เริ่ม

“เรามี Design Meeting กันเป็นร้อยครั้ง หลัก ๆ คือดูแลส่วนโรงแรมและที่พักอาศัย ส่วนรีเทลก็ได้คุยกับเขาว่าตัวห้างควรจะมีความคลาสสิก ไม่ควรที่จะต้อง re-façade ทุก ๆ 7-8 ปี อย่างห้าง Peter Jones & Partners ที่ลอนดอน ซึ่งเป็นตึกแถบขาวที่สร้างหลังสงครามโลก พอรีโนเวตใหม่ก็ไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะโครงมันดีอยู่แล้ว” 

“ปัจจุบันนี้คอมพิวเตอร์ทำอะไรได้หลายอย่างมากเลย มันสร้างฟอร์มแปลกประหลาดได้เต็มไปหมด ในการออกแบบโรงแรม เราก็ช่วยกันดูทั้งคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ ไม่ได้กำหนดว่าห้ามแฟชั่น แต่ตกลงกันว่าเรามองหาสิ่งที่ไม่ได้สวยปรู๊ดปร๊าด ผมว่ามันเป็นเรื่องในใจทุกคนอยู่แล้วว่ามันต้องมีความคลาสสิกอยู่

“ที่สำคัญคือเก่าแล้วต้องดูดี พูดถึงในแง่วัสดุด้วยนะ ผมว่าบางทีไม่ต้อง Shiny เนี้ยบกริบตลอดไป เหมือนรองเท้าหนัง มีรอยนิดหน่อยไม่เป็นไร กล้องถ่ายภาพที่มีริ้วรอย แปลว่าผ่านชีวิตมามาก โต๊ะไม้ที่มีร่องรอยการใช้ รอยขูด ก็มีเสน่ห์สวย” 

กว่าจะเป็นดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค

กว่าโปรเจกต์ระดับหมื่นล้านจะเผยโฉม คุณสมเกียรติเล่าว่า ทีมสถาปนิกทดลองศึกษาแบบต่าง ๆ หลายลีลามาแล้วนับไม่ถ้วน ก่อนเลือกให้แต่ละอาคารแยกออกจากกัน โดยมีโจทย์หลักว่าต้องเก็บจิตวิญญาณแบบโรงแรมดุสิตธานีไว้ ตัวโรงแรมซึ่งจะเสร็จก่อนเป็นอาคารแรก จึงหน้าตาบุคลิกคล้ายกับตึกออริจินัลที่เป็นแลนด์มาร์กเดิม แต่สเกลผิดกันมาก ยอดเสาแหลมขนาดราว 11 เมตร จะถูกครอบโดยยอดเสาความสูงราว 30 – 40 เมตร

“โรงแรมเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ อย่างของเดิมห้องปกติค่อนข้างเล็ก เพดานก็เตี้ย เนื่องจากสมัยก่อนโรงแรมยังไม่แฟนซี แต่ตอนนี้ที่นี่จะเป็น Flagship ที่แข่งขันกับโรงแรม 5 – 6 ดาวอื่น ๆ ทุกอย่างใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น มีความพิเศษมากขึ้น และตรงเทียร่า ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกชั้นบนสุดของโรงแรมดุสิตธานีตั้งแต่ผมยังหนุ่ม ๆ ก็ทำฟังก์ชันใหม่ มีรูฟท็อปบาร์ตามสมัยให้คนขึ้นไปได้ ส่วนตึกอื่น ๆ ออกแบบใหม่หมด” 

คุณสมเกียรติ โล่ห์จินดาพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (A49)

ทีมงานเลือกออกแบบตัวตึกออฟฟิศหนาใหญ่ ตามโจทย์ว่าพื้นที่แต่ละชั้นต้องกว้างขวางสำหรับเป็นสำนักงานเช่าของเซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส ขณะที่ดุสิต เรสซิเดนเซส ผอมบาง 3 อาคารสูงชะลูด ยืนปักหลักหันหน้าไปคนละทาง ตามข้อกำหนดว่าทุกอาคารต้องมองเห็นสวน ไม่บังกัน

สีลมสีเขียว

เทรนด์ชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อคอนโดผุดขึ้นทุกสถานีรถไฟฟ้า การอยู่ในตึกสูงคล้าย ๆ กันหมดทำให้คนมองเห็นความสำคัญของการใช้ชีวิตในพื้นที่สีเขียวมากขึ้น 

“ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของยุคสมัยด้วยแหละ วันก่อนในออฟฟิศก็คุยกันว่า มันไม่เหมือนแต่ก่อนแล้วนะที่เราออกแบบโดยสนใจแค่รูปร่างสวยงาม แพลน ฟังก์ชัน สเปซ ไม่ได้แล้ว เดี๋ยวนี้มีปัจจัยเต็มไปหมด โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม จะทำอะไรก็ตาม ทุกคนต้องสนใจที่มาของวัสดุ ต้องคำนึงถึงการลด Waste และ Zero Emission มันถูกกดดันไปโดยธรรมชาติ การสร้างตึกขึ้นมาแล้วเห็นวิวสวนเฉย ๆ ไม่เพียงพออีกต่อไป 

“ยกตัวอย่างง่าย ๆ สมมติเรามีที่แปลงหนึ่ง เคยมีต้นไม้รก ๆ แล้วเราไปสร้างตึกหนึ่งขึ้นมา เมืองเสียพื้นที่ซับน้ำไปเลย เราก็ต้องหาทางทดแทน เติมสีเขียวเข้าไปให้ได้มากที่สุด ซึ่งบางตึกในสิงคโปร์เขาโม้ด้วยซ้ำว่า ที่ดินเขาแค่ 100 แต่เขาทำพื้นที่สีเขียวไม่ใช่แค่ 30 ตามกฎหมาย พื้นที่สีเขียว 200 เพราะเขาทำทางตั้งด้วย เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมือง”

ด้วยข้อกำหนดเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น ทำให้การเลือกใช้วัสดุหรือทางเลือกพลังงานจำต้องปล่อยมลพิษน้อยที่สุด คำนึงถึงบริบทโดยรอบมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ยังต้องคิดถึงภาวะน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ภายในโครงการต้องมีวิธีจัดการระบายน้ำได้เองโดยไม่เป็นภาระด้านนอก 

คุยกับสถาปนิก เจาะลึก Dusit Central Park โครงการระดับหมื่นล้านโฉมใหม่ของดุสิตธานี

แต่ก่อนพื้นที่ในดุสิตธานีและตึกออฟฟิศข้าง ๆ ไม่ค่อยมีพื้นที่สีเขียว ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ก็เติม Roof Park สวนสาธารณะลอยฟ้าที่โอบล้อมด้วยกลุ่มอาคารสูงทั้งสามและอาคารศูนย์การค้า สวนธรรมชาติที่สร้างขึ้นนี้ มีขอบเขตพื้นที่รวม 7 ไร่ เริ่มตั้งแต่ระดับอาคารชั้น 4 ของอาคารศูนย์การค้า ไต่ระดับขึ้นไปสู่ชั้น 5 ชั้น 6 และชั้น 7 โดยดีไซน์ยังคงอัตลักษณ์และจิตวิญญาณความเป็นดุสิตธานีที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งโดดเด่นในเรื่องพรรณไม้และน้ำตก

“Roof Park ขนาด 7 ไร่นี้ เกิดจากแนวคิดที่ต้องการเชื่อมต่อมุมมองสวนลุมพินีไล่ขึ้นไปแบบขั้นบันได เมื่อมองมาจากกลุ่มอาคาร จะรู้สึกเหมือนกำลังอยู่บนเนินเขา ขอบเขตธรรมชาติจะมองเห็นการเชื่อมต่อจาก Roof Park สู่สวนลุมพินีโดยไม่มีสิ่งใดบดบังสายตา ในขณะที่หากมองจากสวนลุมพินี เราจะเห็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น เสมือนเป็นเนินเขาขนาดเล็กอยู่ท่ามกลางตึกสูงใจกลางเมือง ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ เนื่องจากเราตั้งใจออกแบบพื้นที่นี้ ให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย วิ่ง ขี่จักรยาน หรือรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานอดิเรก แสดงงานศิลปะ ดนตรี ฯลฯ ตรงนี้เป็นการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการเกิดรูปแบบไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนเมือง” คุณสมเกียรติอธิบาย

คุณสมเกียรติ โล่ห์จินดาพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (A49)

ไม่ใช่แค่ผู้พักอาศัยและแขกโรงแรม Roof Park เป็นสถานที่ที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ มีทั้ง Amphitheatre พื้นที่สำหรับผู้คนได้มาพบปะ เล่นดนตรี หรือโชว์การแสดงขนาดเล็ก Jogging Track ลู่วิ่งความยาว 158 เมตร (หากรวมทั้ง Trail ยาว 753 เมตร) Urban Farm ฟาร์มปลูกผักใจกลางเมือง ทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐาน Universal Design ซึ่งคำนึงถึงคนทุกวัย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา หรือผู้ใช้รถเข็น ให้ใช้งานพื้นที่ได้ตามความสะดวก

นิยามความหรูหรา

เจาะลึก Dusit Central Park โครงการมิกซ์ยูสหัวถนนสีลม ซึ่งมาแทนที่โรงแรมดุสิตธานี กับสถาปนิก 49

Ultra Luxury และ High-end เป็นคีย์เวิร์ดที่ปรากฏบ่อยครั้งในการอธิบายที่อยู่อาศัยระดับดุสิตธานี เราจึงขอให้คุณสมเกียรติช่วยขยายความเรื่องนี้ให้ชัดแจ้ง 

“เรื่องการออกแบบที่พักอาศัยระดับบน South East Asia อยู่ในระดับโลกนะจะบอกให้ อย่างลิฟต์ส่วนตัวที่ก้าวออกมาเจอโถงบ้านตัวเองเลย ไม่ปะปนกับใคร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ทำก่อน สมัยก่อนต่อให้คุณอยู่อะพาร์ตเมนต์หรูแถวเซ็นทรัล พาร์ค นิวยอร์ก คุณก็ยังต้องเจอเพื่อนบ้านก่อนเข้ายูนิตตัวเอง Private Pool ก็เหมือนกัน การออกแบบให้ข้างห้องนั่งเล่นมีสระน้ำทุกชั้นก็มีก่อนในภูมิภาคเรา” 

แล้วในฐานะผู้นำเรื่อง Luxury ตอนนี้ความหรูหราในปัจจุบันคืออะไร

“คำที่เราใช้กันบ่อย ๆ เลยก็คือ Luxury Experience การใช้งานได้สะดวกมาก ๆ ก็เป็นความหรูหราอย่างหนึ่ง อย่าง iPhone มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เรียบง่ายมาก แล้วเราก็ใช้จนลืมไปว่ามันสะดวก นี่ก็เป็นความหรูหรา ไม่ใช่แค่เป็นของมีแบรนด์ 

“เดินเข้าคอนโด มีคนเปิดประตูให้ก็หรูหรา มีคนกดลิฟต์ให้ นั่นไม่ใช่ความหรูหราเหรอ ก็ใช่ แต่ Luxury Experience คือตอนเช้าเปิดหน้าต่างนิดหนึ่งทั้ง 2 ด้านให้ลมสดชื่นโชยเข้ามาได้ ห้องน้ำมีแสงแดด แปรงฟันแล้วเห็นแสงแดดเช้า สิ่งเหล่านี้มันจะหาได้ยังไงจากหินอ่อนหรือสิ่งสวยงามในตึก มันเป็นเรื่องของประสบการณ์จริง ๆ บรรยากาศพวกนี้ Luxury ตั้งแต่ต้นจนจบ ตอบโจทย์ประสาทสัมผัสทั้งห้าตั้งแต่จอดรถ ไม่ใช่ปิดหมด มืดหมด

“เคยอ่านเจอคอมเมนต์ของอะพาร์ตเมนต์หรูในมิลาน เขาบอกว่า ฉันมีความสุขมากเลยที่เห็น 4 ฤดูในยูนิตฉันได้ด้วย ความหมายคือ เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ใบหญ้าตลอดจากห้องนั่งเล่นของเขาที่อยู่ชั้น 18 ซึ่งน่าสนใจมาก แบบนี้เป็นประสบการณ์ที่ตอบโจทย์คนยุคนี้”

เจาะลึก Dusit Central Park โครงการมิกซ์ยูสหัวถนนสีลม ซึ่งมาแทนที่โรงแรมดุสิตธานี กับสถาปนิก 49
เจาะลึก Dusit Central Park โครงการมิกซ์ยูสหัวถนนสีลม ซึ่งมาแทนที่โรงแรมดุสิตธานี กับสถาปนิก 49

“หลายคนสงสัยว่าในเมื่อเราเห็นสวนลุมพินีอยู่ตรงหน้าแล้ว ทำไมต้องสร้างสวนใหญ่ในโครงการอีก เพราะเราไม่ได้แค่นั่งมองอยู่ในห้องแอร์ คุณต้องการได้กลิ่นดิน กลิ่นต้นไม้หลังฝนตก สัมผัสต้นไม้ได้แบบใกล้ชิด ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป”

โครงการอาคารหรูหราในย่านใกล้เคียงมีมากมาย โดยเฉพาะย่านวิทยุ-หลังสวน ที่ใกล้สวนลุมพินีเหมือนกัน แล้วอะไรคือจุดแข็งของ ดุสิต เรสซิเดนเซส

“พื้นที่หลังสวนก็หรูหราไม่แพ้กัน ใกล้สวนเหมือนกัน ความหรูก็สูสีสู้กันได้ จุดเด่นต่างกัน ขึ้นอยู่กับความชอบของคน ถ้าชอบโครงการ Mixed-use ที่นี่ก็ตอบโจทย์ด้านความสะดวก ถ้าผมวิเคราะห์นะ จุดแข็งอันแรกที่เราแตกต่างคือ Privacy ส่วนรีเทลหรือออฟฟิศเข้าถึงง่าย แต่ส่วนที่พักต้องเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของที่พักก็พิถีพิถัน มีแสงธรรมชาติ ตัวตึกบางมากจนบางห้องได้แสงทั้งด้านหน้าและด้านหลังเลย เปิดหน้าต่างรับลมได้ หน้าต่างก็มองเห็นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ไม่เหมือนคอนโดทั่วไปที่เป็นหน้าต่างด้านเดียว แต่นี่คือทำครัวแล้วมองออกไปข้างนอกได้ด้วย ตอนเสร็จแล้วของจริงน่าจะน่าอยู่มาก

“อันที่สองที่ผมว่าน่าสนใจคือ มันเป็นพื้นที่ที่มีเรื่องราว มีประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่ที่ดินอีกผืน บางคนอาจจะไม่สนใจก็ได้นะ แต่ว่าผมสนใจ (หัวเราะ) ผมรู้สึกว่าคำว่า ดุสิตธานี กลายเป็นคำที่มีเสน่ห์ มีแรงดึงดูดด้าน Heritage เท่ดี ตอนพัฒนาโปรเจกต์เราก็พยายามทำทุกวิถีทางให้มี Element ทั้งโมเดิร์นทั้งไทยอยู่ด้วยกัน”

คุณสมเกียรติ โล่ห์จินดาพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (A49)

ฟื้นชีวิตสีลม

“ออฟฟิศที่จะขึ้นตรงหัวถนนจะมีส่วนช่วย Revival ถนนสีลมด้วย แต่ก่อนสีลมเป็นย่านธุรกิจสำคัญ เมื่อเมืองขยายไปเพลินจิต ราชประสงค์ ตึกก็ค่อย ๆ อายุมากขึ้น แต่จริง ๆ แล้วสีลมก็ยังมีเสน่ห์ของมัน มีทางเท้า มีร้านรวง มีวิถีชีวิตผสมผสาน” 

ตัวแทน A49 บริษัทสถาปนิกที่ดูแลการก่อสร้างตึกใหม่ ๆ มากมายในกรุงเทพฯ ให้ความเห็นว่า

“ผมคิดว่าโครงการ Mixed-use ที่ดีควรใส่ใจเรื่องย่านและถนนหนทาง ไม่ใช่ว่า โอ้โห คุณกั้นรั้วหนา ๆ เก็บต้นไม้เขียวสวยอยู่ข้างในโครงการอย่างเดียว ไม่ปฏิสัมพันธ์กับถนนหรือทางเท้าเลย มันควรจะเป็นมิตรกับย่าน แล้วการมีอยู่ของโครงการก็อาจทำให้คนในย่านได้อานิสงส์ ถนนทั้งเส้นสดชื่นขึ้น ร้านดี ๆ ร้านเก๋ ๆ อาจจะอยากมาลงเพิ่ม เพราะว่าแถวนี้มีคนตลอดเวลาทั้งวันทำงานและวันหยุด 

“ในมุม Landscape กรุงเทพฯ ผมคิดว่าโครงการใหม่ ๆ จะต้องเป็นมิตรกับคนเดินเท้าเดินถนนมากขึ้น แทนที่จะทำรั้วกั้นทึบอย่างเดียว เราทำ Landscape กั้นได้ไหม หน้าตึกไม่ใช่ว่าปิดเป็น Shop Front ทั้งหมด อาจจะมีร้านกาแฟข้างนอก มีที่นั่งบ้าง ใส่ใจพื้นที่ข้างเคียง สนใจทำให้เมืองมีชีวิตชีวาขึ้น เรื่องของ Urban Life ตรง Street Level เนี่ย ผมว่าสำคัญ” 

 รองกรรมการผู้จัดการ A49 กล่าวตบท้ายถึงภาพรวมของสีลม ย่านธุรกิจที่กำลังจะคึกคักขึ้น ขณะก้าวสู่ยุคใหม่ไปพร้อม ๆ กันการเปลี่ยนแปลงของดุสิตธานี 

เจาะลึก Dusit Central Park โครงการมิกซ์ยูสหัวถนนสีลม ซึ่งมาแทนที่โรงแรมดุสิตธานี กับสถาปนิก 49

ภาพ : Dusit Central Park

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์