14 พฤศจิกายน 2019
3 K

จังหวะที่ฉันเปิดประตูเหล็กสีขาวของ Bangkok CityCity Gallery เข้ามา ก็ปะทะกับหุ่นดินปั้นหลากสีที่จัดแจงตัวเองอยู่บนชั้นไม้เต็มแกลเลอรี่ มองไปทางไหนก็มีเพียงหุ่นดินเหนียวกับชั้นไม้ เดินเข้ามาทางซ้าย มีหุ่นขยุกขยุยหน้าตาคล้ายคุณแมวตัวใหญ่หูแหลมชี้ บนหลังมีคนขี่มันอยู่ 3 คน ตรงหน้ามันมีคนชูมือ 2 ข้าง เหมือนกำลังเบรกมันอยู่ เมื่อก้มลงอ่านแผ่นพับก็ได้ความว่าหุ่นตัวนี้ชื่อ Hey Suncat, rest here for a night and hear me out ราวกับว่าตาคนชูมือกำลังพูดประโยคนี้อยู่

“Suncat เป็นแมวที่เดินทางได้เฉพาะตอนที่มีแสงแดด มันชอบพาคนไปที่นั่นที่นี่ แต่มันไปได้เฉพาะตอนที่มีแสงอาทิตย์” แป๋ง-ดุษฎี ฮันตระกูล ศิลปินผู้ปั้นผลงาน เล่าให้เราฟังถึงเจ้าแมวแสงอาทิตย์ หนึ่งในผลงานชิ้นแรกๆ ที่ต้อนรับเราในนิทรรศการเดี่ยว ‘They Talk’ 

ดุษฎี ฮันตระกูล ศิลปิน Singapore Biennale กับ They Talk นิทรรศการแอบฟังเซรามิกคุยกัน
ดุษฎี ฮันตระกูล ศิลปิน Singapore Biennale กับ They Talk นิทรรศการแอบฟังเซรามิกคุยกัน

ดุษฎี ฮันตระกูล หรือพี่แป๋ง ตามที่ฉันจะเรียกเขาอย่างใกล้ชิด ทำงานด้วยสื่อหลากหลายแขนง ตั้งแต่ภาพวาดไปจนถึงศิลปะจัดวาง รวมทั้งเซรามิกที่เป็นเป็นหัวใจของนิทรรศการครั้งนี้

เขาจบปริญญาตรีและโทจาก University of California ก่อนจะกลับมาทำงานศิลปะและเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย ผลงานของเขานอกจากจะจัดแสดงบ่อยครั้งในประเทศไทยแล้ว ยังเคยได้ไปจัดแสดงที่ Nichido Contemporary Art และ Mori Art Museum ประเทศญี่ปุ่น Oakland Museum of California สหรัฐอเมริกา

นิทรรศการ They Talk กล่าวถึงเสียงของพวกเขา พวกเขาที่ว่าคือเหล่าหุ่นประติมากรรมเซรามิกที่จัดแสดงเรียงรายเต็มโถงแกลเลอรี่ บ้างก็นั่งแสดงตัวอยู่เฉยๆ บ้างก็เป็นฉากที่มีกิจกรรมอะไรบางอย่าง ราวกับเราไปแอบดูชีวิตของเขา บ้างก็เป็นตัวละครเดี่ยวๆ เหมือนเปิดการ์ตูนอ่านแล้วมีหน้าแนะนำตัวละคร พวกเขาต่างมีชื่อที่บอกเล่า อธิบาย หรือกำกับตัวพวกเขาเอง ดังเช่นผลงาน Suncat ที่มีชื่อราวกับว่าหุ่นในนั้นกำลังคุยกัน หรือคุยกับเราอยู่

ดุษฎี ฮันตระกูล ศิลปิน Singapore Biennale กับ They Talk นิทรรศการแอบฟังเซรามิกคุยกัน

ลักษณะหน้าตาของพวกเขามีความดิบ เห็นรอยมือที่ปั้นพวกเขาขึ้นมาจากดินอย่างชัดเจน ให้ความรู้สึกเหมือนหุ่นโบราณก่อนประวัติศาสตร์แบบที่เห็นตามหนังสือเรียนเวลาเรียนวิชาประวัติศาสตร์-ภูมิศาสตร์ อย่างหุ่นหญิงอ้วนกลมแบบวีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟ (Venus of Willendorf) แต่กลับมีชื่อที่ฟังแล้วพอเชื่อมโยงกับยุคสมัยนี้มากกว่า เช่นชิ้นหนึ่งที่ชื่อว่า Mother Says We Must Jail Corrupted Politician Together (แม่บอกว่าเราต้องจับนักการเมืองโกงกินขังคุกด้วยกัน) ที่ดูแล้วก็ไม่แน่ใจว่าเขาเก็บกดมาจากไหนหรือเปล่า หรือ Possible Monument for Southeast Asian Clean Air (อนุสาวรีย์ที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับอากาศบริสุทธิ์ในเอเชียอาคเนย์)

และพี่แป๋งกำลังจะร่วมเป็นหนึ่งในศิลปินของ Singapore Biennale ที่จะเริ่มวันที่ 22 พ.ย. นี้

ดุษฎี ฮันตระกูล ศิลปิน Singapore Biennale กับ They Talk นิทรรศการแอบฟังเซรามิกคุยกัน
ดุษฎี ฮันตระกูล ศิลปิน Singapore Biennale กับ They Talk นิทรรศการแอบฟังเซรามิกคุยกัน

01

เดินทางตามดิน

นิทรรศการครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่พี่แป๋งได้แสดงผลงานเซรามิกอย่างเดียวเต็มที่ ต่างจากงานก่อนๆ ที่มีงานภาพวาด ภาพถ่าย เข้ามาแสดงด้วย

เซรามิกนับเป็นกระบวนการที่เขาทำงานมาด้วยเป็นเวลาเกือบ 20 ปี นับตั้งแต่ที่เคยไปเป็นลูกมือให้อาซึ่งเป็นคนปั้นชามขายที่สตูดิโอของเขาที่บ้านย่า จนเริ่มตัดสินใจทำงานเซรามิกจริงจัง เริ่มซื้อเตาเผา และมีสตูดิโอของตัวเองเมื่อประมาณ 3 – 4 ปีที่แล้ว เพื่อทำงานศิลปะเมื่อว่างจากการเป็นอาจารย์พิเศษวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ที่มหาวิทยาลัย 3 แห่ง

การทำงานของพี่แป๋งคือการทำงานกับดิน

“ดินเหนียวเป็นวัสดุที่อยู่กับโลกมาหลายพันล้านปี ก่อนที่มนุษย์จะเกิดขึ้นมาในโลกนี้อีก ดินคือแรงดึงดูด วิวัฒนาการทุกอย่างในโลกมันเกิดมาจากแรงดึงดูด เท้าเราสัมผัสกับดินใช่มั้ยล่ะ” พี่แป๋งพูดถึงวัสดุที่เขาทำงานด้วยอย่างคุ้นเคย

“เราเอาดินมาจากหลายที่ อย่างดินด่านเกวียน ดินบ้านเชียง Compound Clay หรือดินอาจารย์สุโรจนา บางครั้งผสมกันมั่วๆ ยังมีเลย เพราะเขาให้มา เราเอาดินแต่ละชนิดมาลองใช้ดูว่าดินแต่ละตัวมีคุณลักษณะยังไงกับวิธีการทำงานของเรา ดินเองก็มาในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นผง เป็นน้ำ หรือเป็นดินเหนียวพร้อมปั้นเลย หรือก้อนดินที่ต้องเอามาแช่น้ำให้มันกลายเป็นโคลนก่อนจะเอามาปั้นได้

ดุษฎี ฮันตระกูล ศิลปิน Singapore Biennale กับ They Talk นิทรรศการแอบฟังเซรามิกคุยกัน

“พอปั้นเสร็จ เราก็ศึกษาว่ามันเอามาทำอะไรได้บ้าง จากนั้นก็เอามาเผา บางตัวเผาทีเดียว บางตัวก็เผาสี่ห้ารอบ ปกติพอเผารอบแรกเสร็จเราต้องมาดูว่าดินนั้นมีส่วนแตก มีรอยอะไรหรือเปล่า ความเปราะ ความแข็ง ของมันเป็นอย่างไร จากนั้นก็ดูสีสันหน้าตามัน เพราะดินแต่ละชนิดมีอุณหภูมิที่เผาออกมาแล้วไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาก่อนประวัติศาสตร์จะเผากันอยู่ที่เจ็ดแปดร้อยองศา เปรียบเทียบกับปัจจุบันมันเป็นแค่การเผาครั้งแรก แต่มนุษย์ได้พัฒนาเตาเผาทำให้เผาด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ เลยมีเตาที่มีวิศวกรรมที่ดีขึ้น เผาได้ในองศาที่สูงกว่าเดิม ส่วนใหญ่เราเผาอยู่ที่พันถึงพันสองร้อยปลายๆ

“อย่างดินจากบ้านเชียง ตอนนี้มีอุตสาหกรรมการปั้นไหเพื่อขายนักเที่ยวที่นั่น พอทำเป็นอุตสาหกรรม แต่ละตำบลหรือหมู่บ้านก็จะทำหน้าที่ต่างกัน บ้านนี้ขุดดินขาย บ้านนี้ปั้นหมอ บ้านนี้เขียนลาย อีกบ้านหนึ่งเอาไหไปขาย”

พี่แป๋งยกตัวอย่างดินจากสถานที่ที่ขุดค้นได้ว่าเก่าแก่ที่สุด การปั้นดินจึงต่างกับสมัยนี้ที่เกิดระบบอุตสาหกรรมไปมาก

“ขนาดพื้นที่ที่อยู่ใกล้กันแค่ยี่สิบกิโลเมตร ยังมีรูปร่าง รูปทรง และวิธีการประกอบพิธีกรรม หรือการปั้นดินที่ต่างกัน เทียบกับสมัยนี้”

พี่แป๋งเปรียบเทียบตั้งแต่ลักษณะ สี รูปทรง กลิ่น ทั้งหมดล้วนทำให้เห็นถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นที่บ้านเชียง

“นอกจากดินแล้ว เราได้เห็นนวัตกรรมในการผสมดินของเขา เพราะดินของเขาผสมหลายอย่างกว่าจะได้สูตรแบบที่เขาปั้นกัน คนตรงนั้นมีวิวัฒนาการอย่างไรก็ดูได้จากการทำงานกับดินของเขานี่ล่ะ

ดุษฎี ฮันตระกูล ศิลปิน Singapore Biennale กับ They Talk นิทรรศการแอบฟังเซรามิกคุยกัน

“แต่จากการเดินทางไปบ้านเชียง เราเห็นวิวัฒนาการของวัสดุ ของคน ของอารยธรรม อย่างเช่นอีสานกำลังจะสร้างบายพาสโคราชตรงนั้น มีการก่อสร้างอะไรหลายอย่าง เราขับไปเรื่อยๆ หลายร้อยกิโล ก็ได้เห็นเศษเครื่องปั้นดินเผา เห็นว่าบ้านเชียงเขาก็ยังทำ Wet Rice Farming เหมือนกับที่ทำมาเมื่อสามพันปีที่แล้ว เราเห็นการสร้างเมือง เห็นการเปลี่ยนแปลงของอดีตสู่ปัจจุบันผ่านการเดินทาง เช่นเดียวกับที่เราคาดเดาวิถีชีวิต วัฒนธรรม ไปจนถึงความเชื่อ ของคนโบราณได้จากการขุดค้นพบเจอไหเหล่านี้ พวกเขาใช้อุปกรณ์อะไร ประกอบพิธีกรรมแตกต่างกันอย่างไร ผ่านเทคโนโลยีที่วิเคราะห์อายุของเศษเครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ แล้วมันวิวัฒนาการอย่างไรบ้างกว่าจะมาถึงปัจจุบัน

“ที่เราเอามาใช้ ดินบ้านเชียงเหมือนมีผิวตัน น้ำไหลออกได้ช้ามาก แต่พอรูดินเปิดแล้ว น้ำในดินจะออกเร็วมาก แล้วดินก็จะปิด ทั้งที่ส่วนใหญ่ในวิธีการทำเซรามิก พอทำดินเสร็จแล้ว เขาจะเอาถุงพลาสติกคลุมเอาไว้ หรือเอาไปเก็บคุมความชื้น ให้น้ำไหลออกจากดินช้าๆ เพื่อให้หดตัวช้า เพราะการหดตัวทำให้ดินเคลื่อน ถ้าดินเคลื่อนเร็วดินก็จะหัก จะแตก ซึ่งดินบ้านเชียงต่างกันมาก เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นพิธีกรรมที่ต่างกัน เทียบกับดินอุตสาหกรรมทั่วไปอย่าง Compound Clay เพราะมันผ่านการทดลองมาแล้ว ซึ่งเราเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วมาปรับใช้กับที่เราทำงานได้”

ก่อนหน้านี้เมื่อพี่แป๋งทำงานเสร็จก็จะเผาอย่างเดียว แต่นิทรรศการนี้เป็นครั้งแรกที่เขาเริ่มเคลือบผลงานเซรามิก สิ่งที่เคลือบหน้าดินเผาคือแก้วที่หลอมละลาย มีสีที่เปลี่ยนไปตามแร่ธาตุที่ทำปฏิกิริยากับความร้อนที่แตกต่างกัน

“พอมีการเคลือบมันก็มีอย่างอื่นเข้ามาห่อหุ้มหน้าตามันอยู่อีกที” พี่แป๋งกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของกระบวนการสร้างงาน

“แต่ก่อน พอเราเห็นดิน เราก็จะนึกออกเลยว่าพอเผาแล้วมันจะหน้าตาออกมาเป็นยังไง แต่พอเคลือบแล้ว ส่วนใหญ่มันถึงจะเห็นว่าเป็นอะไร ซึ่งเราก็พอใจกับมันนะ ของแบบนี้มันต้องหาไปเรื่อยๆ” เขายิ้ม เหมือนนักวิทยาศาสตร์ที่พอใจกับการทดลองของเขา

“แต่ระหว่างทางเราก็คุยกับงานที่ปั้นอยู่ตลอดเวลา บทสนทนาว่ามันเป็นใคร มันมาทำไม แล้วเขาต้องการอะไรจากเรา เราต้องการอะไรจากเขา คุยกันตั้งแต่เอาดินมา หรือคุยตั้งแต่มีอยู่ในหัวตัวเองแล้ว เพราะกระบวนการสร้างมันเกิดมาตั้งนานแล้ว แทบจะก่อนประวัติศาสตร์อีก”

ดุษฎี ฮันตระกูล ศิลปิน Singapore Biennale กับ They Talk นิทรรศการแอบฟังเซรามิกคุยกัน

02

เสียงของพวกเขา

ในนิทรรศการ They Talk ครั้งนี้ พวกเขาคือใคร พวกเขามีเสียงอย่างไร พูดคุยเรื่องอะไรกันบ้าง พวกเขาเล่าเรื่องอะไรให้เราฟัง

บทสนทนาของพวกเขาเป็นไปอย่างไร คือคำถามที่เราสงสัยว่าเจ้าพวกนี้มันจะพูดอะไรกัน พี่แป๋งจึงอธิบายว่า

ดุษฎี ฮันตระกูล ศิลปิน Singapore Biennale กับ They Talk นิทรรศการแอบฟังเซรามิกคุยกัน

 “เขาพูดหลายเรื่องอยู่นะ ถ้าดูตามชื่อของพวกเขา เป็นวิธีการใช้ภาษาของเราที่อยากจะแทนให้มันใกล้กับความรู้สึกที่สุด ในหัวคิดของเรา เราอยากใช้ภาษาสื่อสารซึ่งแทงไปที่ความหมายของเรากับคนดู ให้เข้าใจได้ร่วมกัน บางตัวก็บอกตรงๆ เลย ส่วนบางตัวก็มีความเป็นกวีอยู่ในนั้น จะว่าเป็นนิทานก็ได้ เป็นเรื่องเล่าก็ได้ ทั้งเป็นภาษาทางภาพ และภาษาทางภาษา พวกเขามีทั้งเสียงของบรรยากาศรอบตัว เสียงคนแก่ คนหนุ่ม เสียงของเพศชาย เพศหญิง อายุ วรรณะ เราคิดว่ามันน่าจะเป็นเสียงหลายเสียง หรือเวลาที่แตกต่างกัน ทั้งเวลาที่มาจากดิน ตัววัสดุ ประวัติศาสตร์ของตัววัสดุ”

เรื่องเล่าเหล่านี้อยู่ในบทสนทนาของชีวิตและการทำงานของพี่แป๋ง รวมไปถึงบทสนทนากับลูกชายอายุขวบครึ่งของเขา

“มันเป็นเรื่องที่เราคุยกันอยู่ตลอดเวลา เขาคุยกับผม ผมคุยกับเขา เขาเล่าให้ผมฟัง ทั้งทางภาษาพูด และการกระทำ กิริยา การสัมผัสเนื้อตัว การป้อนข้าว”

การจัดวางหุ่นแต่ละตัวเหมือนเป็นการสร้างเรื่องราวต่อกัน พี่แป๋งเลือกหุ่นที่วางไว้ใกล้ประตูทางเข้า เหมือนเป็นตัวรับแขก ก่อนจะพาเราไปทิศทางต่างๆ ด้วยชั้นไม้ที่ออกแบบมาหน้าตาคล้ายผังอย่างหนึ่ง ผลักการเดิน พลิกวิศวกรรมทางสังคม ให้ผู้ชมเลือกว่าจะเลี้ยวไปทางไหน เหมือนกำลังสร้างแผนที่ให้คนดูอย่างหนึ่ง

เราเดินลัดเลาะตามชั้นวางไม้ต่อเข้าไปเจอชิ้นอื่นๆ หุ่นนายตัวสีแดงคนหนึ่งกำลังกุมหัว พร้อมจู๋….ใช่แล้วค่ะ อ่านไม่ผิด จู๋ องคชาต Penis อะไรก็ตามที่เราจะเรียกมัน จู๋ 2 อัน บนเป้าอันหนึ่ง บนส่วนพุงอีกอันหนึ่ง

นิทรรศการ They Talk จัดที่ Bangkok CityCity Gallery

“ตัวนี้คือ The Key to Regenerative Energy (กุญแจสู่การฟื้นคืนพลังงาน)”

“ก็เลยมีสองจู๋?”

“มันมีสี่จู๋ ตัวมันเป็นจู๋ แล้วเงามันก็เป็นจู๋อีกอันหนึ่ง”

“เลยต้องเป็นสีแดง จะได้พุ่งพล่านสินะ แล้วทำไมเขาปวดหัวล่ะ?”

“เขาคิดอยู่ เพราะเขากำลังหาพลังงานที่สร้างตัวเองได้”

03

ไส้ อวัยวะ และเพศแม่

พูดถึงจู๋เลยนึกได้ว่านิทรรศการครั้งนี้มาพร้อมหนังสือที่พี่แป๋งทำขายอยู่ที่ร้านหนังสือของแกลเลอรี่อีกห้องหนึ่งชื่อ Grandma, I want a Penis ก็อดสงสัยไม่ได้ว่ามาจากไหน ทำไมชื่อมันช่างยียวนและใสซื่อได้แบบนี้

“นิทานนี้มาจากเรื่องจริงของภรรยาเรา ตอนเด็กๆ พี่ชายกับน้องชายชอบเอาจู๋ออกมาเล่นฉี่ฟันดาบกัน ส่วนตัวเองเป็นผู้หญิงอยู่ตรงกลาง ครอบครัวคนจีนสมัยนั้นมองว่าลูกสาวก็เหมือนขี้ ไม่ค่อยมีประโยชน์ เขาก็จะนับถือว่าลูกชายต่างหากที่มีมูลค่า

“ภรรยาเราเขาอยากเล่นเกมนี้ด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่เกมนี้เกมเดียว แต่น่าจะมีอีกหลายอย่างที่เขาโดนกีดกัน เพราะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการเป็นผู้ชาย ทำให้เขาอยากมีจู๋บ้าง เขาก็เลยขออาม่าให้ไปซื้อจู๋ให้หน่อย ที่ตลาดมีวางแผงขายตามแคร่ ทำจากไม้ แบบปลัดขิก นึกว่าถ้าเอามาใส่แล้วก็เอามาฉี่ได้ จะได้เล่นฟันดาบกับพี่น้อง อาม่าก็บอกว่าที่ตลาดมี เดี๋ยวอาม่าไปซื้อมาให้ แต่เขารอทุกวัน ทุกวัน พออาม่าเปิดประตูบ้านมาเขาก็ถามตลอด อาม่า ไหนจู๋ของหนู อาม่าไม่มีจู๋ให้ก็หาเหตุผลร้อยแปด สุดท้ายไม่มีจู๋ให้เขาสักที”

ดุษฎี ฮันตระกูล ศิลปิน Singapore Biennale กับ They Talk นิทรรศการแอบฟังเซรามิกคุยกัน
ดุษฎี ฮันตระกูล ศิลปิน Singapore Biennale กับ They Talk นิทรรศการแอบฟังเซรามิกคุยกัน

พี่แป๋งเล่าถึงที่มาของนิทาน

“เราได้ฟังก็ชอบมาก มันมีอะไรบางอย่างที่ทำให้รู้สึกถึงความลึกซึ้งของความเป็นคน มันมีหลายมิติมาก พอมีโอกาสได้มาแสดงที่นี่ ทางแกลเลอรี่ถามว่านอกจาก Sculpture แล้ว มีอะไรอยากทำอีกมั้ย เราเองอยากเขียนหนังสือมานานมาก เลยใช้วิธีการเล่านิทานแบบในหนังสือเด็ก ตัวหนังสือตัวใหญ่ๆ เล่าทีละประโยค ไม่ต้องซับซ้อนมาก”

เมื่อสังเกตดีๆ นอกจากจู๋แล้ว งานครั้งนี้มีหลายอันที่เกี่ยวกับอวัยวะ ตัวหุ่นก็มีอวัยวะหลายชิ้น นอกจากชิ้น 4 จู๋ บางชิ้นก็มีนมหลายเต้า หรือมี 2 ชิ้น ที่เกี่ยวกับไส้โดยตรง คือชิ้น Grandma Intestine คุณยายตัวสีน้ำตาลอ่อน (ถ้าจะเรียกอย่างสุภาพก็คงสีเหมือนกาแฟลาเต้ แต่ถ้าไม่เกรงใจ เราว่าสีเหมือนขี้ในไส้) ที่มีไส้เป็นเส้นยาวขดไปขดมา และชิ้นคนล้างไส้ พี่แป๋งให้เหตุผลว่าอวัยวะเป็นส่วนสำคัญ เป็นเรื่องสามัญในการดำรงชีวิต ถึงจะขัดกับค่านิยมของคนทั่วไปว่าอะไรควรมี อะไรไม่ควรมี ทั้งที่ถ้าว่าตรงตัวมันอาจจะเป็นการเพิ่ม การสืบพันธุ์ การสร้าง และใช้พลังงาน เราเองก็ขายแรงงานให้กับระบบ แล้วก็ย่อยสลายให้กับระบบ

“Grandma Intestine ก็อธิบายตรงตัวนะ ย่ายายเป็นสัญลักษณ์ของเพศแม่ ของอายุ ที่อาจจะเกิน Grandma ไป เป็นบรรพบุรุษ หรือเวลาที่ล่วงเลยไป ส่วนไส้นี่ หน้าที่ของมันก็คือช่วยย่อยสลาย ดูดซึมพลังงาน เข้าร่างกายเสร็จก็ถ่ายออก มันคือส่วนหนึ่งของการบริโภค บวกกับมิติของเวลาของเพศ เป็นการหมุนเวียนพลังงาน”

นิทรรศการ They Talk จัดที่ Bangkok CityCity Gallery

“ในนี้มีแม่เยอะเนอะ” เราทัก เพราะนอกจากจะมีคุณยายไส้ย้วยอย่าง Grandma Intestine แล้ว ยังมีผลงานถึง 2 ชิ้นที่เล่าถึงแม่ และอีกหลายชิ้นที่มีผู้หญิงเป็นส่วนประกอบ

“เรานึกถึงหุ่นวีนัสออฟวิลเลนดอร์ฟเลย” เรากล่าว

“ใช่ เราพยายามจะเอาแม่ ยาย เด็ก ผู้หญิง เข้ามาให้ได้มากที่สุด เราอยากจะเอาเข้ามาในศาสนาที่มีศาสดาเป็นเพศชาย เพราะส่วนใหญ่ศาสดาจะไม่มีกระจู๋ สังเกตมั้ย เราไม่เคยเห็นจู๋กับศาสดา พระพุทธรูปอย่างนี้ เราเลยอยากพาคนเหล่านี้มาให้ได้มากที่สุด นึกถึงชุมชนหรือสังคมที่มีเพศหญิงเป็นศูนย์กลางที่ถูกทำลายไป จาก Maternal-Centric ก็กลายเป็น Paternal-Centric ไป ขนาดประวัติศาสตร์ของวัสดุเซรามิกที่เชื่อว่าเก่าแก่ที่สุด เจอในกรุงเช็กอายุประมาณสองหมื่นปี ก็เป็นผู้หญิง ถึงวีนัสจะเป็นเทพกรีก ที่เกิดหลังจากนั้นไปอีก แต่มันก็พูดถึงความอุดมสมบูรณ์ของเพศหญิงในการขยายเผ่าพันธุ์”

เรานึกย้อนกลับไปถึงหนังสือ Grandma, I want a Penis ที่เป็นความคิดที่บริสุทธิ์มากสำหรับเด็กยังไม่เดียงสา ความคิดว่าการเป็นผู้หญิงนั้นด้อยกว่าคงฝากรอยแผลในใจเด็กหญิงคนหนึ่งไว้ แม้สังคมจะผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศขนาดไหน แต่สถาบันครอบครัว ความเชื่อ ค่านิยม รอยแผลนั้นคงยากที่จะหายไป

ดุษฎี ฮันตระกูล ศิลปิน Singapore Biennale กับ They Talk นิทรรศการแอบฟังเซรามิกคุยกัน

04

แผนที่ไปสู่วันพรุ่งนี้

นอกจากจะมีงานแสดงที่กรุงเทพฯ แล้ว พี่แป๋งก็เป็นหนึ่งในศิลปินที่ได้ไปแสดงร่วมกับ Singapore Biennale ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะเริ่มเปิดช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนด้วย เราเลยอดถามไม่ได้ว่างานที่แสดงอยู่ที่นี่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานที่กำลังจะไปแสดงที่นั่นมากแค่ไหน

นิทรรศการ They Talk จัดที่ Bangkok CityCity Gallery

“มีครับ มีเยอะมากทีเดียว ของ Singapore Biennale จะเป็นแผนที่ และเป็นข้อเรียกร้อง ข้อเสนอ ส่วนงานตรงนี้เป็นตัวเรือนร่างที่อยู่ตรงนี้ ชื่องานที่สิงคโปร์ของเราชื่อ Maps for the Soul to Return to the Body เป็นแผนที่ให้วิญญาณกลับสู่ร่าง มาจากเรื่องเล่าของเราเกี่ยวกับไหบ้านเชียง เพราะแต่ละคนมีไหของตัวเอง แต่ละใบมันไม่มีใบไหนที่ซ้ำกันเลย ลายแต่ละลายก็ไม่ซ้ำกัน เราเลยมีเรื่องเล่าว่าลายบนไหเหล่านั้นคือแผนที่ให้วิญญาณกลับเข้ามาสู่มิติได้ ส่วนวิญญาณที่กลับมาสู่ร่าง เราคิดไว้ว่าหุ่นเหล่านี้เป็นร่างของมัน เราว่ามันน่าจะมีวิธีการคิดถึงร่างในหลายๆ รูปแบบ แต่อันนี้น่าจะเป็นอนาคตของงานสิงคโปร์ แค่มันเกิดก่อน”

เรามองไปที่ชิ้นส่วนไหโบราณที่วางอยู่บนชั้นใต้หุ่นประติมากรรมติดประตูทางออก เป็นประติมากรรมชิ้นเดียวที่มีชิ้นส่วนไหเหล่านั้นประกอบ เหมือนกับว่าชิ้นส่วนเหล่านี้คือเศษเสี้ยวของแผนที่ขนาดใหญ่ของเขา

นิทรรศการ They Talk จัดที่ Bangkok CityCity Gallery

เรากลับมาอ่านแผ่นพับที่ตอนนี้เป็นเหมือนป้ายบอกทางของเราไปแล้ว ก่อนจะถามถึงผลงานที่มีความเป็นไปได้ว่าน่าจะเกี่ยวกับสิงคโปร์ 2 ชิ้น คือ Possible Monument for Southeast Asia Clean Air และ Possible Monument for Southeast Asia Clean Water Management (อนุสาวรีย์ที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับอากาศบริสุทธิ์ในเอเชียอาคเนย์ และอนุสาวรีย์ที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับการจัดการน้ำสะอาดเอเชียอาคเนย์)

“สองชิ้นนี้เราคิดมาจากหัวเรานี่ล่ะ อนุสาวรีย์อันนี้ยังไม่เกิด แต่เราอยากให้มีหลังจากที่เราเห็นอดีต เราว่ามันน่าจะพูดถึงอนาคตได้ เราเคยฟังสถานีวิทยุนึงในนิวยอร์ก เขามีสโลแกนหนึ่งเจ๋งมาก เขาว่า ‘Five Hundred Years of New Music’ หรือห้าร้อยปีของเพลงใหม่ ความใหม่ที่ผ่านมาแล้วห้าร้อยปีน่ะ ถ้าพูดถึงอดีตและอนาคตได้ในเวลาเดียวกันในปัจจุบัน

“เราเลยคิดว่ามันน่าจะเป็นไปได้ถ้าจะตั้งศูนย์จัดการกับคุณภาพของอากาศ เพราะในปีสองปีที่ผ่านมาเรามีเครื่องวัดฝุ่นกันแล้ว เราก็เริ่มรู้แล้วว่ามันมีค่าแบบนี้ ถ้าสูงเท่านี้คือไม่ดี แล้วต้องสูงมากขนาดไหนถึงจะเลวร้าย งั้นแทนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือทหารผ่านศึก เราอยากให้มีอนุสาวรีย์หนึ่งที่จะบอกว่าเราต้องการอากาศและน้ำที่ดี”

ดุษฎี ฮันตระกูล ศิลปิน Singapore Biennale กับ They Talk นิทรรศการแอบฟังเซรามิกคุยกัน

แม้ว่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่ผลงานของพี่แป๋งกลับชวนให้เราคิดถึงปัญหาในปัจจุบัน ตั้งแต่มลภาวะ เศรษฐกิจ การปกครอง ราวกับว่าบทสนทนาของพวกเขาและพวกเรา ไม่ว่าจะผ่านไปกี่พันปีก็ยังคงวนเวียนอยู่ที่ความหมายของการมีชีวิต ชีวิตที่เราต้องการ และความหมายแห่งการเป็นมนุษย์

“ข้อเสนอเหล่านี้มันคือความต้องการขั้นพื้นฐานของคนนะ พอเรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีตแล้ว เราในฐานะคนยุคปัจจุบัน เราเป็นคนอยู่ตรงนี้ ตอนนี้ ก็ตั้งคำถามว่าอนาคตเราต้องการอะไร สำหรับคนรุ่นต่อจากเราด้วย เราต้องการคุณภาพชีวิตยังไง เรามีลูก เราก็อยากให้เขาได้โตมาในโลกแบบไหน เราอยากมีส่วนร่วมกับอนาคต ดังนั้น งานของเรา ไม่ว่าจะมองว่าเป็นนิทาน เป็นประติมากรรม หรือดินเผา อะไรก็ตาม มันคือการเรียกร้องที่เราพูดผ่านอะไรบางอย่าง”

นิทรรศการ They Talk จัดที่ Bangkok CityCity Gallery ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 17 พ.ย. 2562 และ Singapore Biennale จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. 2562 ถึงวันที่ 22 มี.ค. 2563 ผลงานของแป๋งจะจัดแสดง ณ Gillman Barracks

Writer

Avatar

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ

เจ้าของเพจ ‘ศิลปะเข้าใจยากจริงหรือ’ อยากให้คนเข้าใจศิลปะ-วัฒนธรรมมากขึ้น แต่ก็อยากกินของอร่อยแล้วก็อยากมีเงินชอปปิ้งด้วย

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ