“เราไม่เคยเห็นคนที่มาโดยไม่มีรองเท้า ส่วนมากเวลาลี้ภัยคนจะมีการเก็บกระเป๋า แต่กับครั้งนี้ไม่มีอะไรเลย เขาไม่มีแม้แต่แจ็กเก็ตทั้งที่อากาศหนาว เขาใส่ชุดเดียวมาโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องเดินทางกี่วัน บางคนไม่รู้ว่าตอนนี้ฉันอยู่ประเทศไหน

“มีคุณยายคนหนึ่งอายุร้อยหนึ่งปี หลานเข็นรถเข็นพามา คุณยายตัวเล็กมาก แต่ต้องเดินทางมาเจ็ดวันจากในซีเรียมาถึงชายแดนอิรัก อาหารแทบไม่ได้กิน ยายบอกว่าเหนื่อยมาก ไม่เคยเหนื่อยอย่างนี้มาก่อน ทำให้เราย้อนคิดว่ายายเราอายุเก้าสิบเอ็ดปียังมีคนดูแล แต่คุณยายอายุมากขนาดนี้ ไม่ควรต้องเจอเรื่องแบบนี้”

เฟิร์น-ตุลย์นภา ติลกมนกุล เจ้าหน้าที่ภาคสนามอาวุโสของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ประจำสำนักงานเมืองโดฮุก ในเขตเคอร์ดิสถาน ประเทศอิรัก เล่าถึงสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในพื้นที่ หลังจากเกิดเหตุความรุนแรงทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศซีเรีย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เฟิร์น-ตุลย์นภา ติลกมนกุล เจ้าหน้าที่ภาคสนามอาวุโสของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR

จากเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศซีเรียล่าสุดนี้ มีผู้ลี้ภัยกว่า 14,000 คนที่เธอให้ความคุ้มครองฉุกเฉิน พร้อมไปกับการดูแลและคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นในประเทศกว่า 350,000 คน ที่อาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยตามชายแดนอิรัก รวมทั้งหมด 22 ค่าย

เธอคือหญิงไทยคนแรกที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากสงครามที่เป็นวิกฤติผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดของโลก

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เฟิร์นทำงานด้านผู้ลี้ภัยมาโดยตลอด เส้นทางการทำงานนับว่าทรหดอย่างยิ่ง หากได้ยินชื่อประเทศหรือพื้นที่ที่เธอต้องปฏิบัติงานภาคสนามแล้ว เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากจะเฉียดไปใกล้!

แต่ไม่ว่าจะมีโอกาสได้ดูแลผู้ลี้ภัยในพื้นที่ใด เธอก็พร้อมจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่และดีที่สุด เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยมองข้ามเส้นแบ่งชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา และสมมติต่างๆ ที่แยกมนุษย์เราออกจากกัน

เพราะหากมองด้วยหัวใจแล้วนั้น เราทุกคนล้วนเป็นเพื่อนพี่น้องร่วมโลกใบเดียวกันนั่นเอง

ความเอื้ออาทรของเด็กหญิงในวันนั้น

เรานัดคุยกับเฟิร์นในวันที่เธอกลับมาเยี่ยมบ้านที่เมืองไทยเป็นเวลา 7 วัน หลังจากทำงานในค่ายลี้ภัยที่อิรักมาเป็นเวลาติดต่อกันหลายเดือน

เมื่อเริ่มบทสนทนา เราขอให้เฟิร์นเล่าย้อนกลับไปในวันแรกที่เธอได้รู้จักกับคำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’

เฟิร์นเล่าว่า ในวันนั้นเธอคือเด็กหญิงชาวไทยที่เติบโตในประเทศสหรัฐอเมริกา วันหยุดช่วงฤดูร้อนปีหนึ่งที่เธอกลับมาเยี่ยมคุณยาย เธอได้ไปเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่ และเห็นภาพของกลุ่มคนชนเผ่าต่างๆ ที่ลี้ภัยมาอาศัยตามตะเข็บชายแดน

ภาพผู้คนเหล่านั้นติดตาติดใจ เธอเฝ้าถามพ่อแม่ว่าพวกเขาคือใคร

“พ่อกับแม่บอกว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัยมานะ ในความเป็นเด็กตอนนั้น เราอยากช่วยเขามาก” เฟิร์นเน้นเสียง “ยิ่งตอนอยู่ไฮสคูลได้เรียนเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เรายิ่งอยากรู้เรื่องราว และเกิดคำถามในใจว่า ฉันจะช่วยอะไรได้บ้างไหม”

เฟิร์นสนใจประเด็นเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยมาตลอด เธอค้นคว้าหาข้อมูล มุ่งเรียนปริญญาตรีด้านกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะ และทำงานด้านผู้ลี้ภัยทันทีที่เรียนจบ ช่วงแรกเธอทำงานด้านกฎหมายสำหรับผู้พลัดถิ่นที่เข้ามาอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะย้ายกลับมาทำงานด้านการช่วยเหลือสถานภาพทางกฎหมายของผู้พลัดถิ่นในประเทศไทย

“พอเราเริ่มทำงานลงพื้นที่จริง ได้เจอและพูดคุยสอบถามว่าเขาหนีมาทำไม ตัดสินใจนานไหมก่อนจะหนีมา เรื่องเหล่านี้ทำให้เราคิดว่า ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเราล่ะ เราจะทำอย่างไร”

งานที่ใฝ่ฝัน

หลังจากทำงานกับองค์กรนานาชาติด้านผู้ลี้ภัยมานานนับสิบปี เฟิร์นลองส่งใบสมัครไปที่ UNHCR ซึ่งเธอใฝ่ฝันอยากร่วมงานด้วย เพราะรู้ว่าองค์กรแห่งนี้ทำงานด้านผู้ลี้ภัยในระดับโลกอย่างแท้จริง และด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานสายนี้มาตลอด ในที่สุดเฟิร์นก็ได้ก้าวเข้ามาทำงานกับ UNCHR เร็วกว่าที่คิด โดยเริ่มทำงานใน พ.ศ. 2554

งานแรกของเธอ คือการดูแลผู้ไร้สัญชาติในประเทศไทยและชาวโรฮิงญาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

2 ปีหลังจากนั้น เธอรับมอบหมายให้ย้ายไปทำงานที่ลิเบีย นับเป็นการก้าวเข้ามาทำงานภาคสนามในพื้นที่ที่เกิดปัญหาสงครามและมีผู้ลี้ภัยอย่างเต็มตัว

ในเวลานั้น ลิเบียเพิ่งเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศ เธอจึงต้องดูแลทั้งผู้พลัดถิ่นในประเทศลิเบีย พร้อมไปกับให้การช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นที่เดินทางมาจากแอฟริกาและซีเรีย

“ตอนนั้นลิเบียยังไม่มีรัฐบาล ทุกอย่างใหม่หมด และที่สำคัญคือไม่มีค่ายผู้ลี้ภัย เพราะฉะนั้นผู้ลี้ภัยก็จะอยู่เหมือนประชากรในเมือง บางคนอาจเป็นหมอหรือวิศวกร เขาก็จะทำงาน แต่มีความระแวงว่าลูกฉันจะได้เรียนหนังสือไหม ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องสนับสนุนรัฐบาลในประเทศว่า ไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาติอะไร เด็กสมควรได้รับสิทธิการในการศึกษา หรือการได้รับใบเกิด”

การไปอยู่ในประเทศที่สงครามยังไม่สงบมีความปลอดภัยแค่ไหน – เราถามเธอด้วยความสงสัย

“ก็มีความเสี่ยงนิดนึง” เธอตอบพลางหัวเราะ “แต่เรารู้ว่าองค์กรของเรามีกระบวนการหลายอย่างที่ทำให้เราปลอดภัย รวมไปถึงการมีรถกันกระสุน หรืออาจมีเสื้อกันกระสุนที่ปกป้องเรา”

ตุลย์นภา ติลกมนกุล หญิงไทยคนแรกที่เป็นผู้นำการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากสงครามซีเรีย

ผู้ลี้ภัยคือผู้หนีความตาย

มาถึงตรงนี้ เราอยากเข้าใจเรื่องผู้ลี้ภัยให้มากขึ้นก่อนจะเข้าสู่เรื่องราวที่ลงลึกต่อไป เพราะยอมรับว่าที่ผ่านมา สังคมอาจรับรู้จากสื่อในทำนองว่า ผู้ลี้ภัยเป็นบุคคลไร้ความสามารถ เป็นภาระ และไร้ประโยชน์

“ผู้ลี้ภัย คือผู้ที่หนีความตายออกมาจากบ้านของเขา” เฟิร์นเริ่มอธิบายให้เราเห็นภาพชัดเจน “เขาก็คือคนธรรมดาทั่วไปที่มีอาชีพการงานเหมือนกับเรา เพียงแต่เหตุผลที่หนีมาเพราะว่า บ้านฉันอยู่ไม่ได้แล้ว”

สถานการณ์แบบไหนที่ทำให้ผู้ลี้ภัยตัดสินใจทิ้งบ้านและเดินทางไปในที่ที่ไม่รู้จัก – ถึงตรงนี้ช่างภาพของเราถามขึ้น

“บางคนบอกว่า พอระเบิดลงใกล้บ้าน เขารู้ว่าไม่ปลอดภัย แต่บางคนคิดว่าไม่โดนบ้านฉันหรอก จนกระทั่งมีใครบางคนหายไปหรือมีญาติถูกฆ่า หลายคนยังไม่หนีออกมาเพราะนั่นคือบ้านของเขา บางครอบครัวให้ภรรยาหนีมากับลูก ส่วนสามีเฝ้าบ้านอยู่ เพราะเขาเป็นห่วงบ้าน ที่ดิน ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ทุกอย่างที่เขาสร้างมา เขาไม่อยากทิ้งไป นั่นเป็นการตัดสินใจของแต่ละคน”

“ผู้ลี้ภัยจึงมีทั้งคนที่มีการศึกษาและไม่มีการศึกษา บางคนเป็นหมอ เป็นวิศวกร เป็นทนายความ เขามาพร้อมกับศักยภาพของเขา เราแค่ช่วยสนับสนุนดูแลเขาในทันทีก่อน และสนับสนุนรัฐบาลให้ดูแลชีวิตของเขาและครอบครัวต่อไป”

อีกหนึ่งคำที่ได้ยินบ่อยเช่นกันคือ ‘ผู้พลัดถิ่นในประเทศ’ เฟิร์นอธิบายว่าคล้ายกับผู้ลี้ภัย ต่างกันตรงที่พวกเขาออกนอกประเทศของตัวเองไม่ได้เท่านั้น

ส่วนความเข้าใจที่ว่า ผู้ลี้ภัยคือผู้ที่มาขออยู่กินนอนใช้ชีวิตอยู่ในค่ายไปวันๆ ความจริงยังมีอีกหลายแง่มุม

“พวกเขาหนีมาเพื่ออยู่ในที่พักพิง ซึ่งวันหนึ่งอาจจะย้ายออกไปอยู่กับญาติก็ได้ หรือเมื่อได้รับการปรับสถานภาพ จะเข้าไปหางานทำในประเทศที่รับเขาก็ได้เช่นกัน ทางเลือกของเขาคือไม่จำเป็นต้องอยู่ในค่าย คนที่อยู่ในค่ายคือคุณไม่มีที่พักพิงแล้ว เป็นทางเลือกสุดท้ายของคุณแล้ว”

จากลิเบีย สู่เยเมน

หลังจากดูแลค่ายลิเบียได้สักระยะ เฟิร์นได้รับมอบหมายให้ย้ายไปดูแลค่ายผู้ลี้ภัยที่เยเมน เราได้ยินชื่อประเทศก็รู้ว่าไม่น่าจะใช่งานง่าย เธอหัวเราะและยอมรับว่า ใช่

“การเดินทางไปทำงานที่เยเมนทรหดมาก เนื่องจากเป็นประเทศที่เดินทางด้วยเครื่องบินไม่ได้ เพราะสนามบินถูกระเบิด จึงต้องนั่งเรือไปกลับสิบสามชั่วโมง ต้องแล่นผ่านช่องแคบที่มีโจรสลัดโซมาเลีย ถ้าเคยดูหนังเรื่อง Captain Phillips จะนึกภาพออก เราต้องนั่งเรือผ่านช่องนั้นทุกเดือน” เฟิร์นเล่าให้เห็นภาพอย่างอารมณ์ดี

“พอไปถึงที่ค่ายแปดโมงเช้า สี่โมงเย็นก็ต้องกลับเรือ นอนบนเรือ แล้วก็กลับออกไป เป็นอย่างนี้ถ้าถึงหกเดือนกว่าจะย้ายเข้าไปทำงานจริงๆ ในประเทศได้ เพราะช่วงนั้นอาจยังไม่ปลอดภัยพอที่จะเข้าไปอยู่ถาวร”

หน้าที่หลักของเฟิร์นในเยเมน คือการช่วยเหลือคน 2 กลุ่มคือ หนึ่ง ผู้พลัดถิ่นในประเทศที่มีสงครามการเมือง ซึ่งเป็นการช่วยเหลือด้านที่พัก เครื่องนุ่งห่ม และสถานภาพทางกฎหมาย สอง ผู้ลี้ภัยจากโซมาเลียและซีเรีย

“คิดดูว่าถ้าเยเมนอยู่ในภาวะสงครามขนาดนั้น แต่มีผู้ลี้ภัยจากประเทศอื่นมาอาศัยอยู่ด้วยเพราะปลอดภัยกว่า คิดดูแล้วกันว่า ในประเทศที่เขาจากมานั้นจะแย่ขนาดไหน” เฟิร์นตั้งคำถามให้เราฉุกคิด

โชคดีที่ชุมชนในเยเมนไม่มองผู้ลี้ภัยเป็นคนอื่น

“เขามองว่าผู้ลี้ภัยเป็นพี่น้องกัน เขาพูดภาษาเดียวกัน และอาจเป็นคนที่พลัดจากถิ่นเหมือนกันมานานเป็นร้อยปีแล้ว ทำให้เราได้เห็นว่า แม้เขาอยู่ในวิกฤต แต่ก็ยังช่วยคนอื่นที่ลำบากเช่นกัน”

ตุลย์นภา ติลกมนกุล หญิงไทยคนแรกที่เป็นผู้นำการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากสงครามซีเรีย

สู่อิรัก เพื่อดูแลวิกฤติผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดในโลก

การทำงานที่เยเมน 2 ปี ทำให้เฟิร์นมีประสบการณ์การดูแลผู้ลี้ภัยในวิกฤตความรุนแรงต่างๆ เพียงพอ UNHCR จึงมอบหมายให้เธอมาดูแลงานผู้ลี้ภัยในเขตเคอร์ดิสถาน ประเทศอิรัก โดยมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยจากสงครามซีเรีย ซึ่งเป็นวิกฤติผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดในโลก

สงครามอันยืดเยื้อยาวนานถึง 8 ปี ในซีเรีย ทำให้เกิดผู้ลี้ภัยมากที่สุดในโลกถึง 5.6 ล้านคน พวกเขาต้องหนีชีวิตรอดไปตามชายแดนประเทศรอบข้าง ซึ่งในเขตชายแดนของอิรัก เฟิร์นต้องดูแลผู้ลี้ภัยจำนวนกว่า 350,000 รวม 22 ค่าย ซึ่งแต่ละค่ายตั้งอยู่ห่างกันไปในระยะข้ามเขตจังหวัดที่ต้องเดินทางหลายชั่วโมง

หน้าที่หลักของเฟิร์นครั้งนี้ คือการจัดการดูแลผู้ลี้ภัยที่เดินทางมาโดยแทบไม่เหลืออะไรติดตัวมาเลย

“Everything under the sun.” เฟิร์นนิยามการทำงานของเธอไว้เช่นนั้น

เพราะเมื่อผู้ลี้ภัยมาถึงชายแดนอิรัก เธอและทีมงานดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่แรกรับ คัดกรอง ลงทะเบียน จัดหาสิ่งของที่จำเป็น จัดสรรที่พัก ดูแลความเป็นอยู่ ตั้งแต่การศึกษา การแพทย์ การทำงาน ไปจนถึงการตามหาครอบครัวที่พลัดพรากกัน นอกเหนือจาการดูแลภายในค่ายแล้ว เธอต้องทำงานร่วมกับองค์กรไม่แสวงหาผลประโยชน์อื่นๆ ไปจนถึงการทำงานกับรัฐบาลของประเทศนั้นๆ เหมือนดูแลเมืองๆ หนึ่งก็ว่าได้

“เหตุการณ์ความไม่สงบในซีเรียเกิดต่อเนื่องมาแปดปีแล้ว เราจึงรู้ว่าสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้น UNHCR จึงเตรียมตัวพร้อมรับไว้ ซึ่งวันดีคืนดีก็เหตุฉุกเฉินขึ้นภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง”

พื้นที่ปลอดภัย

“หลังจากเหตุการณ์วันที่เก้าตุลาคมที่ผ่านมา เราเห็นเลยว่ามีคนจำนวนเป็นหมื่นเดินเท้าฝ่าอากาศหนาวยาวนานเป็นสัปดาห์เข้ามาที่ชายแดน สิ่งทำได้อย่างแรกคือ ต้อนรับให้เขารู้สึกว่ามีคนพร้อมช่วยเหลือเขาให้อยู่ในที่ปลอดภัย”

เฟิร์นเปิดวิดีโอวิธีการกางเต็นท์ขนาดใหญ่ 4 x 6 เมตร รับรองผู้ลี้ภัยที่ทะลักเข้ามาจากเหตุการณ์ล่าสุดนี้ให้เราดู เต็นท์สีขาวขนาดใหญ่ถูกกางออกอย่างรวดเร็วโดยทีมงานเพียงไม่กี่คน เธอบอกว่า ต้องกางให้เสร็จภายใน 10 นาที เพื่อรองรับคนที่จะทะลักเข้าภายในไม่กี่ชั่วโมง

“ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียมีศักยภาพสูงที่จะจัดการชีวิตของเขาได้ หลังจากเราเปิดค่ายล่าสุด ในสองสัปดาห์พวกเขาเปิดร้านตัดผม เปิดร้านอาหารกันแล้ว คนซีเรียมีความเอาตัวรอดสูงมาก ขณะเดียวกันก็ต้องขอบคุณประเทศอิรักที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่างเต็มที่”

UNHCR
UNHCR
ภาพ : © UNHCR/Firas Al-Khateeb

หลังจากเกิดค่ายใหม่ขึ้นมาแล้ว งานของเฟิร์นไม่ใช่เพียงการดูแลความเป็นอยู่เท่านั้น แต่ต้องประสานงานวางแผน บริหารจัดการความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยทั้งที่อยู่เดิมและเข้ามาใหม่ตลอดเวลา การดูแลไม่ใช่เพียงภาพรวมเท่านั้น แต่เธอต้องรู้ลึกถึงกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

“เราต้องคอยดูแลเสมอว่าเมื่อผ่านไปสักระยะจะปรับสภาพเต็นท์ให้ดีขึ้นอย่างไร ห้องน้ำที่ต้องแชร์กันจะปรับเป็นรายครอบครัวได้ไหม หรือพื้นที่น้อยๆ เราแปลงเป็นสนามเด็กเล่นให้ได้ เพราะในค่ายตอนนี้มีเด็กอายุต่ำว่าสิบแปดปีเกิน ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ เด็กๆ ต้องการพื้นที่สำหรับเล่น เพราะเขามีความเครียดหลายอย่างจากการเปลี่ยนแปลงนี้

“มีน้องผู้ชายเจ็ดขวบอยู่คนหนึ่ง เขาเงยหน้ามองฟ้าแล้วชี้ว่า เอ๊ะ นั่นเครื่องบินนี่นา เราก็ถามเขาว่า เคยขึ้นเครื่องบินไหม เขาบอกว่า ไม่ใช่ ฉันกลัวอะไรจะระเบิดลงมา นี่โลกของเขาเปลี่ยนไปเลยนะ เราก็ต้องให้ดูแลทางจิตใจด้วย”

UNHCR
ภาพ : © UNHCR/Firas Al-Khateeb

สำหรับเฟิร์น การดูแลความเป็นอยู่และจิตใจของผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง เราจึงย้อนถามเธอถึงการดูแลจิตใจของตัวเอง ที่ต้องเห็นความทุกข์ยากของผู้คนทุกวัน

“เป็นคำถามที่ดีมากเลย” เฟิร์นยิ้มกว้างพร้อมตอบคำถามอย่างยาวๆ ว่า “สำหรับเฟิร์นแล้ว เรายังมีครอบครัว มีคุณพ่อคุณแม่ มีเพื่อนๆ ที่สามารถ Switch Off เรื่องงานแล้วมาหา มาพูดคุยได้ นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมทุกแปดสัปดาห์ เราต้องออกจากประเทศนั้นมาเจ็ดวัน เพื่อเป็นการรีชาร์จตัวเอง เพราะช่วงที่เกิดเหตุวันที่ 9 ตุลาที่ผ่านมา เฟิร์นไม่สามารถนอนหลับได้เลยนะ ในหัวคิดตลอดว่าตอนนี้มีผู้ลี้ภัยกี่คนที่เข้ามาถึงชายแดนแล้ว เราต้องช่วยเหลือเท่าไหร่ ตามันหลับไม่ลงจริงๆ”

เราคือเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกใบเดียวกัน

วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ซึ่งตรงกับวันผู้ลี้ภัยโลก UNHCR ประกาศว่าทั่วโลกมีผู้ลี้ภัยจากสงคราม การเข่นฆ่า และความรุนแรงอื่นๆ ถึง 70.8 ล้านคน ตัวเลขนี้มาจากการสำรวจจนถึงสิ้น พ.ศ. 2561 นับเป็นสถิติผู้ลี้ภัยที่เพิ่มสูงสุดในรอบ 70 ปี

แน่นอนว่า จำนวนผู้ลี้ภัยที่มากเทียบเท่ากับประชากรของประเทศหนึ่งได้เป็นภารกิจยิ่งใหญ่ของ UNHCR แต่ทว่างบประมาณที่ได้รับจากสหประชาชาติเป็นเพียงส่วนเล็กๆ จึงต้องอาศัยเงินช่วยเหลือส่วนใหญ่ที่ได้รับมาจากรัฐบาลในหลายประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือเงินที่คนช่วยกันบริจาคเข้ามา ซึ่งพูดกันตามตรงว่า ไม่ได้เป็นเงินจำนวนมหาศาลอย่างที่หลายคนเข้าใจ

“สำหรับผู้ลี้ภัยจากสงครามซีเรีย ซึ่งปีนี้เข้าปีที่เก้าแล้ว และยังดูไม่บรรเทาลง UNHCR จึงมีการระดมทุนให้กับห้าประเทศที่ต้อนรับผู้ลี้ภัยจากซีเรีย แต่ตอนนี้เราได้เพียงยี่สิบเก้าเปอร์เซ็นต์ของจำนวนเป้าหมายสามสิบเอ็ดล้านดอลลาร์สหรัฐ งานบางส่วนจึงนิ่งไปบ้าง” เฟิร์นเล่าให้เราฟัง

หลายครั้งด้วยงบประมาณที่มีจำกัด บังคับให้เธอต้องเลือก ซึ่งทางเลือกนั้นอาจหมายถึงความตายของคนคนหนึ่ง

“ทุกคนที่ทำงานนี้เจอสถานการณ์เดียวกัน เพราะเรามีงบเพียงจำกัดจึงสามารถช่วยกลุ่มเปราะบางได้ก่อน นั่นคือเด็ก คนชรา ผู้หญิง และผู้พิการ บางทีเราช่วยผู้หญิงได้ แต่ผู้ชายยังไม่มีโอกาส เราอาจจะช่วยเขาได้ในครั้งต่อไป แต่เขาตัดสินใจเสี่ยงภัยออกเรือไปก่อน แล้วเขาก็เสียชีวิต” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงเศร้า

“บางครั้งเราอาจจะมีความรู้สึกว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้อยู่ไกล หลายคนเกิดคำถามว่า ทำไมไปช่วยคนอื่น ทำไมไม่ช่วยคนในประเทศก่อน

“แต่สำหรับเฟิร์นแล้ว ไม่ได้คิดว่าเป็นการช่วยเหลือคนประเทศนั้นประเทศนี้ แต่เป็นการช่วยเหลือคนทั่วโลก ไม่ได้แยกว่าเราช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนในโลก เขาก็เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หายใจอากาศเดียวกัน ถ้าเขาลำบาก เราก็คงไม่อยากปล่อยให้เขาต้องทุกข์อยู่อย่างนั้น หรือเราอาจลองคิดอีกมุมว่า เรื่องแบบนี้ก็อาจเกิดกับฉันได้เหมือนกัน แล้ววันนั้นฉันจะเป็นอย่างไร

“เงินบริจาคเพียงหนึ่งบาทหรือสองบาทของคนไทย ช่วยคนหลายคนบนโลกได้ โดยเราจำเป็นต้องช่วยอะไรที่เกินความสามารถของตัวเอง”

ตุลย์นภา ติลกมนกุล หญิงไทยคนแรกที่เป็นผู้นำการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากสงครามซีเรีย

ความหวังเดียวคือได้กลับบ้าน

ความหวังสูงสุดของผู้ลี้ภัยคืออะไร – เราเอ่ยถามเป็นบทสรุปส่งท้าย

“ได้กลับบ้าน” เฟิร์นตอบทันที “ตอบได้เลยว่าทุกคนอยากกลับบ้าน แม้จะกลับไปเจอเพียงเศษซากของบ้านหรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าฉันยังมีหวัง ฉันจะกลับบ้าน”

ไม่ว่าประเทศของผู้ลี้ภัยจะมีอันตรายมากแค่ไหน หรือมีสงครามยืดเยื้อนานเพียงใด แต่การที่ผู้ลี้ภัยยังมีความหวังเช่นนี้เท่ากับว่าพวกเขามีสุขภาพจิตที่ดีมาก

“ลองคิดดูว่าถ้าเป็นเรา แล้วต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะทนได้ไหม ยิ่งผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย เขาเข้มแข็งมาก มีผู้ชายคนหนึ่งเล่าว่า สิบปีที่แล้วฉันมีบ้านสองชั้น มีรถ แต่ตอนนี้ฉันไม่มีอะไรเลย หรือน้องคนหนึ่งอายุสิบขวบ เมื่อก่อนเป็นเด็กที่พ่อแม่มีฐานะ แต่ในพริบตาเขาไม่เหลืออะไรเลย สิ่งเดียวที่เอาติดตัวมาจากบ้านคือสายคาดเอวชุดคาราเต้ เพราะมันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเขามาก แล้วเขาก็เก็บไว้อย่างดี

“พวกเด็กๆ มีจิตใจที่เข้มแข็งมาก และเฟิร์นรู้สึกทึ่งกับการแสวงหาความรู้ของเขามาก ทุกคนอยากเรียน และพยายามเรียนรู้ภาษาอังกฤษ พวกเขามีความหวังและพยายามทำชีวิตให้ดีขึ้น และรอวันกลับบ้าน แม้เด็กบางคนจะเกิดและเติบโตในค่าย โดยไม่รู้จักบ้านของตัวเองในซีเรียก็ตาม”

เมื่อเราถามถึงเป้าหมายสูงสุดในการทำงานเป็นคำถามสุดท้าย เฟิร์นตอบทันทีว่า คือการเห็นผู้ลี้ภัยได้กลับบ้านเช่นกัน

“แม้โอกาสที่พวกเขาจะได้กลับบ้านมีน้อยมากแต่ก็ยังมี ตอนนี้ที่เยเมนมีผู้ลี้ภัยที่อยู่มาสามสิบถึงสี่สิบปีกำลังจะได้กลับบ้านในโซมาเลียประมาณหนึ่งร้อยถึงสองร้อยคน สำหรับเราแล้ว นี่คือความสำเร็จในการทำงานที่เราทำมา เพื่อรอวันนี้ที่ได้เห็นผู้ลี้ภัยได้กลับบ้านที่เขาจากมาอย่างปลอดภัย”

ตุลย์นภา ติลกมนกุล หญิงไทยคนแรกที่เป็นผู้นำการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากสงครามซีเรีย

ร่วมบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย ผ่าน SMS ด้วยการพิมพ์ ซีเรีย เพื่อบริจาค 99 บาท ส่งไปที่ 4141099 หรือบริจาคผ่านบัตรเครดิต เดบิต และ LINE Pay ที่ http://unh.cr/5dd263eef5

Writer

Avatar

เชิญพร คงมา

อดีตเด็กยอดนักอ่านประจำโรงเรียน ชอบอ่านพอๆ กับชอบเขียน สนุกกับการเล่าเรื่องราวรักการเที่ยวเล่น ติดชิมของอร่อย และสนใจธรรมะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan