ถ้าลองเข้าเว็บไซต์งานส่วนตัวของ ลันลัน-ด้วยรัก ผดุงวิเชียร ศิลปินภาพประกอบวัย 23 ปี จะพบว่านิยามคำว่า ‘ภาพประกอบ’ ของเธอกว้าง ตั้งแต่ภาพวาด แอนิเมชัน ของเล่นไขลาน ตุ๊กตา ไปจนถึงพรม 

สำหรับลันลัน ภาพประกอบคือการสื่อสารโจทย์ผ่านศิลปะ จึงไม่จำเป็นต้องอยู่เฉพาะบนกระดาษสองมิติ ไม่ว่าจะรูปแบบไหน ถ้ามันทำหน้าที่เล่าเรื่องได้อย่างหมดจด ก็ถือเป็นภาพประกอบที่เยี่ยมยอดแล้ว

ในอีกแง่มุมหนึ่ง หลายครั้งลันลันก็ใช้ภาพประกอบมาเล่าเรื่องชีวิตของตัวเองด้วยเช่นกัน เธอกล่าวถึงเรื่องที่เป็นปัญหาของผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเจอเอง ผ่านกลิ่นอายลายเส้นภาพนิทานสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการคิดฟุ้งซ่านจนนอนไม่หลับ ที่ใช้ปลาว่ายวนเป็นตัวแทนการคิดเวียนไปมาตอนตี 3 ตัวการ์ตูนสัตว์ประหลาดคล้ายหมาที่กินไม่หยุดในช่วงกักตัว หรือปัญหาในครัวอย่างถังข้าวที่โดนรุกรานจากผีเสื้อกลางคืน

ด้วยรัก ผดุงวิเชียร ศิลปินภาพประกอบวัย 23 ใน USA ที่มีผลงานแสดงในลอนดอน โอซาก้า เวนิส

ความน่ารักในงานของลันลันโลดแล่นอยู่บนเวทีประกวดระดับโลกมาแล้วตั้งแต่ตอนเธอเรียนมัธยมปลาย งานของศิลปินวัยเยาว์ได้รับเลือกบนเวทีการประกวด Young Arts : Merit Award ค.ศ. 2014, 2015 และ 2016 โดยจัดแสดงผลงานที่ Disney Concert Hall ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา 

ช่วงมหาวิทยาลัย ลันลันเป็นศิลปินในรอบสุดท้ายเวที Arte Laguna Prize 2018 ได้จัดแสดงผลงานที่เวนิส ประเทศอิตาลี (ลันลันแอบกระซิบมาว่า ปีนี้งานของเธอได้รับเลือกอีกครั้ง) ปีถัดมา เธอเข้ารอบสุดท้ายเวที RWS Royal Watercolor Society 2019 ได้จัดแสดงงานที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ รวมถึงได้เป็นศิลปินรับเชิญจัดแสดงผลงานที่ IYN Gallery ณ โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น และเข้ารอบสุดท้ายบนเวที Society Of Illustration ค.ศ. 2020, Association of Illustration ค.ศ. 2020, Society Of Illustration West ค.ศ. 2021

ศิลปินมากฝีมือคนนี้ยังเคยร่วมงานกับ Oliver Chin บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Immedium ผู้แต่งหนังสือสำหรับเด็กมาแล้วกว่า 15 เล่ม รวมถึงเคยร่วมงานกับ Tom Kracauer และ Sean Hernandez ศิลปินผู้ทำงานผ่านหลากหลายสื่อและเทคนิค นอกจากนี้ เธอยังทำงานอาสาสมัครเป็นครูศิลปะจากผ้า (Fiber Art) ให้กับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษในมูลนิธิ Exceptional Children Foundation

ไม่ว่าคุณจะเคยรู้จักเธอมาก่อนหรือไม่ เราอยากชวนลันลันมาพูดคุยเรื่องการเติบโตไปพร้อมกับศิลปะ ที่พาความฝันการศิลปินจากประเทศไทยมายัง Interlochen Arts Academy โรงเรียนศิลปะที่รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา สู่ Rhode Island School of Design (RISD) มหาวิทยาลัยศิลปะซึ่งโด่งดังด้านการสอนศิลปะภาพประกอบ และอาชีพปัจจุบันในฐานะนักวาดภาพประกอบอิสระในลอสแอนเจลิส พร้อมคุยถึงที่มาของความหลากหลายทางเทคนิคที่เธอใช้ในงานศิลปะ ธรรมชาติอันเป็นแรงบันดาลใจมาตลอด อนาคตก้าวต่อไปที่ใฝ่ฝัน และกระแสในปัจจุบันอย่าง NFT หรือตลาดศิลปะดิจิทัล

มาเริ่มบทสนทนาที่จะทำให้เราอยากหยิบสิ่งใกล้ตัวมาประดิษฐ์งานศิลปะกันเถอะ 

ด้วยรัก ผดุงวิเชียร ศิลปินภาพประกอบวัย 23 ใน USA ที่มีผลงานแสดงในลอนดอน โอซาก้า เวนิส
ด้วยรัก ผดุงวิเชียร ศิลปินภาพประกอบวัย 23 ใน USA ที่มีผลงานแสดงในลอนดอน โอซาก้า เวนิส

ช่วงนี้ทำอะไรอยู่บ้าง

ตอนนี้เป็นฟรีแลนซ์ ทำภาพประกอบกับแอนิเมชันอยู่ แล้วก็ทำพรมขาย มีโปรเจกต์อยู่ในช่วงเซ็นสัญญา วาดภาพประกอบกับสำนักพิมพ์จากฝรั่งเศส เขากำลังจะทำหนังสือเกร็ดความรู้เรื่องสัตว์ต่างๆ ส่วนที่เราเข้าไปรับผิดชอบคือ หอยทาก

ทำไมภาพของลันลัน ส่วนใหญ่ถึงเป็นสัตว์กับธรรมชาติ

เราโตมากับธรรมชาติ ครอบครัวเราทุกคนชอบต้นไม้ ที่บ้านปลูกต้นไม้แนวป่าฝนเยอะมาก วิ่งเล่นในสวนของหมู่บ้าน ต้นไม้ก็เยอะ เรียนโรงเรียนรุ่งอรุณก็อยู่กับธรรมชาติ พอชีวิตล้อมรอบด้วยธรรมชาติ เลยได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวัน

ตอน ม.1 คุณพ่อคุณแม่พาไปดำน้ำ เราเห็นปลาเยอะๆ แล้วชอบมาก มันดูอิสระ สีสันสวย เลยเป็นแรงบันดาลใจให้ชอบวาดปลา

พอทำงานจากสิ่งรอบตัวแบบนี้ ตอนย้ายมาเรียนมัธยมปลายที่มิชิแกน เลยเริ่มมีสัตว์อื่นมากขึ้นอย่างกวาง กระรอก ไม่ใช่แค่งูหรือปลา เพราะมันคือสัตว์ที่เห็นในโรงเรียน หรือต้นไม้ต่างๆ อย่างตอนนี้อยู่แอลเอ บรรยากาศรอบตัวเป็นทะเลทราย ก็มีกระบองเพชรหรือทิวทัศน์ทะเลทรายในภาพมากขึ้น มันเปลี่ยนไปตามสถานที่

แล้วสัตว์ประหลาดมาจากไหน

ตอนมัธยมปลาย เราเริ่มเอาสัตว์หลายๆ ชนิดมาผสมกัน พอวาดเยอะขึ้นก็เริ่มคิดว่า ทำไมเราไม่สร้างตัวประหลาดของเราขึ้นมาเอง จนเข้ามหาวิทยาลัยเลยเป็นสัตว์ที่ Abstract มากขึ้น 

ด้วยรัก ผดุงวิเชียร ศิลปินภาพประกอบวัย 23 ใน USA ที่มีผลงานแสดงในลอนดอน โอซาก้า เวนิส

ขอย้อนกลับไปหน่อย ลันลันรู้ตัวว่าชอบและเริ่มวาดภาพตั้งแต่เมื่อไหร่

จำไม่ได้เลยว่าเริ่มตั้งแต่ตอนไหน (หัวเราะ) เพราะอนุบาลก็ชอบวาดและทำงานคราฟต์แล้ว วิชาศิลปะเป็นวิชาที่เราชอบและทำได้ดีที่สุด 

เราเรียนได้ศิลปะกับ ครูเล็ก (สุภาพร เจริญสุข) ตั้งแต่อนุบาลถึงจบมัธยมต้น มัธยมปลายมาเรียน Interlochen Arts Academy โรงเรียนศิลปะที่มิชิแกน สหรัฐอเมริกา ตอนนั้นติดเพื่อนไปลองเรียน ครูเล็กสอนศิลปะแบบไม่จำกัดอะไรเลย เช่น ถ้าเราสนใจเย็บผ้า ครูก็จะหาอุปกรณ์มาให้ เราอยากลองปั้นดิน ทำภาพพิมพ์ ครูก็หามาให้ ครูไม่ได้บังคับว่าอยู่ประถมต้องใช้แค่ดินสอสี อยากทำอะไรได้ทำหมด เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้เราชอบทำงานศิลปะหลายๆ อย่าง ไม่ได้ติดอยู่กับแค่งานรูปแบบเดียว

งานศิลปะรูปแบบไหนที่ชอบทำเป็นพิเศษ

เราชอบทำงานกับผ้า จำได้ว่าตอน ป.6 คุณแม่ซื้อตุ๊กตาบลายธ์ (Blythe) มาให้แล้วเสื้อผ้ามันแพงมาก ครูเล็กเสนอว่ามาลองทำชุดตุ๊กตากันไหม เราได้ลองทำแล้วชอบมาก ทำชุดตุ๊กตาอยู่เป็นปีๆ ตอนนั้นน่าจะเป็นช่วงที่ได้ทำงานผ้ามากที่สุดแล้ว 

พอ ม.ปลาย ที่โรงเรียนเน้นศิลปะ เลยได้ลองทำงานผ้าอย่างอื่นเพิ่มอีก ได้ทำประติมากรรมนุ่ม (Soft Sculpture หรือประติมากรรมที่ทำจากวัสดุผิวสัมผัสนุ่ม) เรารู้สึกว่ามันเป็นเทคนิคที่เข้ากับสไตล์ที่ทำอยู่ เพราะอยากให้คนเห็นรูปเราแล้วมีความสุข พอมันมาเป็นอะไรนิ่มๆ จับแล้วก็ยิ่งมีความสุข เอามากอดได้ เอามาใช้ได้ บางทีใช้หลายเทคนิคมารวมกันก็มี ปักผ้า โครเชต์ ทำหมดเลย

ล่าสุดเห็นทำงานพรมด้วย 

ตอนแรกเลยเริ่มสนใจเทคนิคงานพรม เพราะรู้สึกว่ามันเหมือนรูปวาดนิ่มๆ และเป็นอะไรได้หลายอย่าง ทั้งเอาไว้แขวนบนผนังเป็นงานอาร์ต เอามาใช้เป็นพรม ทำเป็นเสื้อผ้า หรือทำเป็นกระเป๋า ช่วงที่ โควิด-19 เข้ามา คนก็สนใจพวกตกแต่งบ้านกันเยอะขึ้นมากๆ เพราะส่วนใหญ่ต้อง Work from Home เมื่อเราเอาพรมลายน่ารักๆ แปลกๆ มาใช้ มันช่วยให้บ้านมีสีสันขึ้น ดูสนุกขึ้น

หลายครั้งเรารู้สึกว่าศิลปะมันจับต้องไม่ได้ แต่เราอยากให้ศิลปะอยู่ร่วมกับชีวิตประจำวันได้ ไม่ใช่ต้องไป Museum อย่างเดียว พอเป็นพรมเลยตอบโจทย์ตรงนี้ทั้งหมด

มาสนใจงานภาพประกอบตอนไหน

ตอนเข้ามหาวิทยาลัยปีแรกที่ Rhode Island School of Design (RISD) เรายังไม่ต้องเลือกเอก เลยเป็นโอกาสได้ลองทำงานหลายๆ รูปแบบ เช่น Coding ทำงานศิลปะด้วยหุ่นยนต์ ซึ่งเราพบว่าตัวเองชอบวิชา Illustration (ภาพประกอบ) แล้วครูบอกยังว่า “จริงๆ การทำงานภาพประกอบมันไม่ได้ตายตัวแค่ภาพวาดนะ แค่เราสื่อสารหัวข้อออกมาได้ด้วยศิลปะ ก็ถือเป็นภาพประกอบแล้ว” เลยเลือกเรียนเอกนี้

งานภาพประกอบเข้ากับเราที่ไม่ตายตัวด้านเทคนิค อีกอย่างคือเราชอบทำงานตามโจทย์ สำหรับเรา การนั่งคิดตามโจทย์มันสนุกที่ว่าจะเสนอภาพออกไปอย่างไรดีให้เป็นสไตล์เรา และตอบโจทย์ที่ได้มาไปในเวลาเดียวกัน

ด้วยรัก ผดุงวิเชียร ศิลปินภาพประกอบวัย 23 ใน USA ที่มีผลงานแสดงในลอนดอน โอซาก้า เวนิส

จากการเรียนศิลปะที่อเมริกาตอน ม.ปลาย กับมหาวิทยาลัย ลันลันคิดว่าการสอนศิลปะที่ไทยกับอเมริกาแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

จำได้ว่าช่วงก่อนย้ายไปอเมริกา เห็นเพื่อนที่ไทยหลายคนอยากเรียนศิลปะ ต้องไปติววาดภาพเหมือน (Still Life Drawing และ Portrait Drawing) ตอนแรกที่ไปเราก็แอบกังวลเหมือนกัน ว่าพื้นฐานจะพอหรือเปล่าเพราะไม่ได้ติวไป 

แต่พอไปถึง กลายเป็นว่าครูที่อเมริกาไม่อินกับภาพเหมือนเลย ครูบอกว่าภาพเหมือนมันฝึกกันได้ แต่คอนเซ็ปต์กับเรื่องราวของรูปสำคัญกว่า เขาบอกอีกว่า ถ้าว่าต้องวาดภาพให้เหมือนของจริง เราก็จะไม่ลองเทคนิคใหม่ๆ งานก็จะซ้ำๆ อยู่แบบเดิม 

ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยในอเมริกา ไม่ได้ให้วาดภาพเหมือนแบบในไทย แต่ให้เราส่งงานอะไรที่คิดว่าแข็งแรงที่สุด จะเป็นศิลปะนามธรรม งานปั้น งานเย็บ อะไรได้หมดเลย ตอนเข้าไปเรียน ถ้าไม่ใช่วิชาวาดภาพเหมือน ครูก็จะไม่มาติเรื่องเทคนิค ความเหมือน หรือความสวย แต่จะให้ความเห็นว่างานของเรามันตอบโจทย์แค่ไหน และให้แนะนำว่าอะไรที่ปรับแล้ว งานจะสื่อสารได้ดีขึ้น 

แล้วการประกอบอาชีพศิลปินล่ะ ลันลันคิดว่าที่อเมริกามีอะไรที่ไม่เหมือนกันบ้าง

เรารู้สึกว่าคนที่นี่ให้ค่ากับงานศิลปะมาก เพราะเวลาศิลปินขายงาน เราจะคิดเป็นชั่วโมงว่างานชิ้นนี้ใช้เวลาทำกี่ชั่วโมงแล้วก็คูณไป เช่น ปกติคิดกันชั่วโมงละหกร้อยบาท อาจดูแพง แต่ว่าค่ากินอยู่ที่นี่ก็แพงมากเหมือนกัน คิดชั่วโมงเสร็จก็บวกค่าอุปกรณ์เข้าไปอีก จำได้ว่าเราเคยเห็นเพจประมูลงานศิลปะของไทย เขาตั้งราคาเริ่มต้นต่ำมาก จนเรางงว่า โห เขาใช้เวลาทำไปตั้งกี่ชั่วโมง ทำไมถึงขายถูกขนาดนี้

อีกอย่างที่รู้สึกคือ ที่อเมริกามีงานด้านศิลปะหลากหลายมาก มีหลายสายงานเราไม่ค่อยได้เห็นในไทย มันเปิดกว้างมากเลย

ศิลปะและการเติบโตของ ‘ลันลัน-ด้วยรัก ผดุงวิเชียร’ ศิลปินรุ่นใหม่ในอเมริกา ผู้หยิบวัสดุรอบตัวมาสร้างผลงานไร้กรอบ
ศิลปะและการเติบโตของ ‘ลันลัน-ด้วยรัก ผดุงวิเชียร’ ศิลปินรุ่นใหม่ในอเมริกา ผู้หยิบวัสดุรอบตัวมาสร้างผลงานไร้กรอบ

เปิดกว้างขนาดนี้ มีอะไรที่อยากลองทำอีกไหม และวางอนาคตตัวเองไว้อย่างไร

ถ้าไม่สนใจเรื่องเงินเลย อยากเปิดสตูดิโอกับเพื่อน ขายของทำมือให้จริงจังมากขึ้น เป็นสตูดิโอประหลาดๆ ขายแต่ของที่คนไม่ค่อยซื้อกัน (หัวเราะ)

และคิดมาสักพักแล้วว่าอยากทำงานกับ Stop Motion Studio (แอนิเมชันที่ทำโดยการถ่ายทีละภาพแล้วนำมาต่อกัน) ที่นี่มีบริษัททำ Stop Motion ให้โฆษณาโดยเฉพาะ ซึ่งเราเคยคุยแล้วเขาบอกว่า บริษัทต้องการศิลปินที่ทำได้หลายเทคนิค เพราะวิดีโอ Stop Motion แต่ละตัวไม่ได้ใช้เทคนิคเดียวเสมอไป ใช้ไม้ ผ้า กระดาษ ดิน หลายๆ อย่าง เราเองก็ชอบสร้างนู่นนี่จากของหลายๆ อย่างอยู่แล้ว เลยอยากลอง น่าสนุกดี

ไม่สนใจขายงานศิลปะทาง NFT (ตลาดศิลปะดิจิทัล) เหรอ

ตอนแรกก็สนใจนะ เห็นศิลปินหลายคนเริ่มเข้ามาขาย NFT และทำเงินได้จากตรงนี้ แต่พอเราหาข้อมูลเพิ่มไปเรื่อยๆ ก็พบว่าการเอารูปขึ้นระบบ NFT หนึ่งรูปมันใช้ทรัพยากรและพลังงานเยอะมาก ทำให้ตอนนี้เรายังไม่ขายผลงานทาง NFT รอดูก่อนว่า ในอนาคตตลาด NFT จะมีมาตรการแบบไหน ในการปรับตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ศิลปะและการเติบโตของ ‘ลันลัน-ด้วยรัก ผดุงวิเชียร’ ศิลปินรุ่นใหม่ในอเมริกา ผู้หยิบวัสดุรอบตัวมาสร้างผลงานไร้กรอบ
ศิลปะและการเติบโตของ ‘ลันลัน-ด้วยรัก ผดุงวิเชียร’ ศิลปินรุ่นใหม่ในอเมริกา ผู้หยิบวัสดุรอบตัวมาสร้างผลงานไร้กรอบ

เราเห็นลันลันเลือกวาดภาพด้วยมือหรือทำงานประดิษฐ์ มากกว่าดิจิทัลอาร์ต (ศิลปะดิจิทัลที่วาดด้วยคอมพิวเตอร์) มันให้ความรู้สึกต่างกันอย่างไร

เราชอบการทำงานศิลปะที่นั่งจับ นั่งใช้เวลากับวัสดุ เพราะได้รู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งที่ทำผ่านร่างกาย เป็นสิ่งที่จับต้องได้ เป็นรูปธรรม เลยเป็นเหตุผลที่เรารู้สึกผูกพันกับงานทุกชิ้น

เราก็ทำดิจิทัลอาร์ตบ้างนะ แต่จะมีลายเส้นคล้ายทำมืออยู่ดี ไม่ได้ดูดิจิทัลอาร์ตแบบแฟลช สีสด เส้นคม เท่าดิจิทัลอาร์ตส่วนใหญ่ในเทรนด์ตอนนี้ เคยลองทำแบบนั้นแล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ชอบ ไม่ใช่ตัวเรา

ลันลันมีวิธีสร้างโอกาสให้ตัวเองอย่างไร ถึงได้ไปจัดแสดงงานหลายประเทศทั่วโลก

ต้องยกเครดิตให้คุณแม่ เขาคอยผลักดันให้เราส่งงานเข้าประกวด เพื่อสร้างพอร์ตโฟลิโอให้ตัวเอง เราอยู่อเมริกา โอกาสมันยากมาก คนมีความสามารถก็เยอะ คุณแม่เลยสนับสนุนให้ลองส่งประกวดตั้งแต่ ม.ปลาย ตอนแรกเราก็ไม่ค่อยมั่นใจในงานของตัวเอง เพราะลายเส้นเราดูเด็ก ไม่ใช่แนววิจิตรศิลป์แบบที่คนอื่นส่งประกวด แต่พอได้ส่งจริงๆ ถึงรู้ว่ามันก็มีเวทีประกวดที่เหมาะกับงานสไตล์เรา

มีครั้งไหนที่เกิดคาดบ้างไหม

Arte Laguna Prize ที่ได้ไปจัดแสดงที่อิตาลี เราคิดว่าเขาไม่น่าจะชอบงานเรา เพราะคนอื่นคือยิ่งใหญ่ เช่น งานศิลปะนามธรรมขนาด 3 x 3 เมตร ส่วนของเราเป็น Artist Book (หนังสือที่เน้นการเล่าเรื่องเชิงทัศนศิลป์) เกี่ยวกับตัวละครซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากเห็ดชนิดต่างๆ วางเล็กจิ๋วอยู่มุมหนึ่งของนิทรรศการ ตกใจมากตอนได้เข้ารอบสุดท้ายครั้งแรก (หัวเราะ) พอปีนี้ได้เข้ารอบสุดท้ายอีกครั้ง ตกใจที่สุดเลย!

สุดท้ายแล้ว เล่าถึงผลงานที่มีความหมายต่อชีวิตให้ฟังสัก 5 ชิ้นได้ไหม

ได้เลยค่ะ

01 Night Thoughts

ศิลปะและการเติบโตของ ‘ลันลัน-ด้วยรัก ผดุงวิเชียร’ ศิลปินรุ่นใหม่ในอเมริกา ผู้หยิบวัสดุรอบตัวมาสร้างผลงานไร้กรอบ

Night Thoughts เป็นงานที่ทำในชั้นเรียน Animalia คือ ทำงานภาพประกอบที่เกี่ยวกับสัตว์ หรือใช้สัตว์มาเป็นองค์ประกอบ เราเลยเลือกปลาบาราคูด้า (Barracuda) ที่ว่ายเป็นทอร์นาโด เพราะเราชอบลักษณะการเคลื่อนไหวนี้มาก คิดว่ามันคล้ายตอนเรานอนไม่หลับ เวลาที่มีความคิดเข้ามาในหัวเยอะๆ ฟุ้งซ่าน วนไปเรื่อยๆ ซึ่งพอเป็นภาพนิ่ง มันอาจไม่เห็นความวุ่นวายหมุนวนของปลา เลยทำเป็นแอนิเมชัน ชิ้นนี้ได้ 3 รางวัล คือเข้ารอบสุดท้ายเวที Arte Laguna Prize ครั้งล่าสุด แล้วก็ได้เข้ารอบสุดท้ายเวที Society Of Illustration West และที่สี่ Society Of Illustration 

02 Quarantine Planet

ศิลปะและการเติบโตของ ‘ลันลัน-ด้วยรัก ผดุงวิเชียร’ ศิลปินรุ่นใหม่ในอเมริกา ผู้หยิบวัสดุรอบตัวมาสร้างผลงานไร้กรอบ
ศิลปะและการเติบโตของ ‘ลันลัน-ด้วยรัก ผดุงวิเชียร’ ศิลปินรุ่นใหม่ในอเมริกา ผู้หยิบวัสดุรอบตัวมาสร้างผลงานไร้กรอบ
ศิลปะและการเติบโตของ ‘ลันลัน-ด้วยรัก ผดุงวิเชียร’ ศิลปินรุ่นใหม่ในอเมริกา ผู้หยิบวัสดุรอบตัวมาสร้างผลงานไร้กรอบ
ศิลปะและการเติบโตของ ‘ลันลัน-ด้วยรัก ผดุงวิเชียร’ ศิลปินรุ่นใหม่ในอเมริกา ผู้หยิบวัสดุรอบตัวมาสร้างผลงานไร้กรอบ
ศิลปะและการเติบโตของ ‘ลันลัน-ด้วยรัก ผดุงวิเชียร’ ศิลปินรุ่นใหม่ในอเมริกา ผู้หยิบวัสดุรอบตัวมาสร้างผลงานไร้กรอบ

งานนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากช่วงโควิด-19 เพราะเดือนแรกๆ ที่ระบาด ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้าน เป็นประสบการณ์ใหม่มาก ไม่มีใครเคยอยู่บ้านทั้งวันทั้งคืนมาก่อน งานนี้เลยเป็นการเล่าเหตุการณ์ว่า การติดอยู่ในบ้านเราทำอะไรบ้าง ใช้สัตว์ประหลาดมาแทนตัวเรา ส่วนบ้านเป็นดาวเคราะห์ที่สัตว์ประหลาดต้องมาติดอยู่ 

ภาพแรก คือกองเสื้อผ้าที่เราขี้เกียจเก็บ ตอนนั้นเพิ่งย้ายไปอยู่บ้านคุณอาที่โอไฮโอ พอเอาเสื้อผ้าออกจากกระเป๋าก็ไม่ได้จัด กองอยู่แบบนั้น 

ภาพที่สอง คือการที่เราอยู่บ้านแล้วกินทั้งวัน เปิดตู้เย็นกินไม่หยุด 

ภาพที่สาม คือประชุมออนไลน์กับสัตว์ประหลาดจากดาวเคราะห์อื่นๆ ที่ต้องติดอยู่บ้านเหมือนกัน 

ภาพที่สี่ คืออยู่บ้านดูทีวี กดเปลี่ยนช่องไปเรื่อยๆ 

ภาพสุดท้าย คือการที่เราใช้เวลาผ่อนคลายในห้องน้ำเยอะมาก 

03 Moth

ศิลปะและการเติบโตของ ‘ลันลัน-ด้วยรัก ผดุงวิเชียร’ ศิลปินรุ่นใหม่ในอเมริกา ผู้หยิบวัสดุรอบตัวมาสร้างผลงานไร้กรอบ

ตอนเรียนมหาวิทยาลัยปีที่สี่ เราย้ายไปอยู่ห้องพักใหม่กับเพื่อน แล้วมีถังข้าวสาร ปิดฝาไว้อย่างแน่นหนา อยู่ดีๆ วันหนึ่งก็มีผีเสื้อกลางคืนไปสร้างรังอยู่ข้างใน ทำให้ถังนั้นใช้ไม่ได้อีกเลย เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าผีเสื้อกลางคืนเข้าไปอยู่เพื่อกินข้าวสารได้ ตกใจมาก เลยเอาเหตุการณ์นั้นมาทำงาน Artist Book

เราเขียนเป็นกลอนไฮกุเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

Moth are flying around

Seeking roving then landed

On my precious rice 

แปลประมาณว่า ผีเสื้อกลางคืนมันบินไปมา แล้วร่อนลงมาอยู่บนข้าวที่แสนมีค่าของฉัน ใน Artist Book เป็นภาพตุ๊กตาผีเสื้อกลางคืนที่เราเย็บขึ้นมา ที่ตรงกลางตัวติดกระดุมเล็กๆ กับกล่องข้าว แล้วก็ปักกลอนไฮกุที่เราเขียนไว้ที่ปีก

04 พรมงู

ศิลปะและการเติบโตของ ‘ลันลัน-ด้วยรัก ผดุงวิเชียร’ ศิลปินรุ่นใหม่ในอเมริกา ผู้หยิบวัสดุรอบตัวมาสร้างผลงานไร้กรอบ

พรมชิ้นนี้มาจากภาพประกอบที่เคยทำ มีที่มาจากเรื่องราวตอนเด็ก เวลาไปวิ่งเล่นในหมู่บ้าน ได้ยินกลุ่มพี่แม่บ้านคุยกันถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านบ่อยๆ ว่ามีไอ้เหลือมมากินแมวทั้งตัว เพราะหมู่บ้านป่ารกมาก งูเยอะ พอมาเป็นภาพ เลยอยากให้เห็นว่ามีแมว มีไก่ หรือหมา อยู่ในงูทั้งตัว แล้วเวลาไปคุยกับเพื่อนหรือครูที่อเมริกา ทุกคนจะตกใจมากว่าที่บ้านเรามีงูตัวใหญ่ขนาดนี้เลยหรอ

05 Dancing Sardine

ศิลปะและการเติบโตของ ‘ลันลัน-ด้วยรัก ผดุงวิเชียร’ ศิลปินรุ่นใหม่ในอเมริกา ผู้หยิบวัสดุรอบตัวมาสร้างผลงานไร้กรอบ

Dancing Sardine เป็นปลากระป๋องของเล่นไขลาน เราทำงานชิ้นนี้ขึ้นมาในชั้นเรียนทำของเล่น เรามองสิ่งรอบตัวว่าใช้ทำประโยชน์อื่นๆ อะไรได้บ้าง ซึ่งตอนนั้นกินปลากระป๋องเยอะมาก และชอบรูปร่างของกระป๋อง เลยคิดไปว่าน่าสนุกดีถ้าเอามาทำของเล่น เพราะมันอันเล็กๆ และเป็นสิ่งที่ผู้คนเชื่อมโยงได้ ของเล่นไขลานเป็นปลามานั่งเต้นบนกระป๋องปลากระป๋องจึงเกิดขึ้น ปกติถ้าเป็นงาน 3D ชิ้นอื่น เราจะลงสี แต่งานนี้ไม่ลง คงเนื้อและความวาวของอะลูมิเนียมไว้ เพราะมันเป็นเอกลักษณ์ของวัสดุ

ภาพ : ด้วยรัก ผดุงวิเชียร

Writer

ภาสินี ประมูลวงศ์

ภาสินี ประมูลวงศ์

ภาสินีอาศัยอยู่ที่นิวยอร์ก เธอทำงานในทีมการศึกษาที่ Alice Austen House พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับภาพถ่าย LGBTQIA+ กิจกรรมและคลาสของเธอพูดถึงเพศสภาพ อัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ และการเรียนรู้ตัวเองผ่านสิ่งเหล่านั้น ในเวลาว่าง ภาสินีจะทำงานที่หอจดหมายเหตุประชาชน Lesbian Herstory Archives ซึ่งเธอเป็นผู้ดูแลหลักของคอลเลกชันโปสการ์ดและสติกเกอร์