นับเป็นเรื่องน่ายินดีสุดหัวใจ ที่ทุกวันนี้ผู้คนหันมาให้ความสนใจและใส่ใจเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมกันมากขึ้น จนแสดงออกให้เห็นผ่านสื่อออนไลน์ รณรงค์และจัดแสดงให้ความรู้ตามสถานที่ต่าง ๆ ใจกลางเมือง ทั้งในประเด็นคุ้นหูมาหลายสิบปีอย่างความเท่าเทียมทางเพศ จนถึงความเท่าเทียมทางอายุ และประเด็นน่าสนใจอย่างการลดความเหลื่อมล้ำในสถานที่ทำงาน 

ยิ่งไปกว่านั้น หากได้ยินกว่าองค์กรใหญ่ ๆ จากภาครัฐหรือเอกชนหันมาช่วยกันลงมือด้วยแล้ว ในฐานะคนฟังยิ่งรู้สึกใจฟูฟ่องขึ้นไปใหญ่ อีกหนึ่งโครงการน่าสนใจที่มีแนวคิดน่ารักน่าฟังอย่าง ‘ดีแทค เน็ตทำกิน’ เป็นหนึ่งโครงการที่ตั้งใจลงมือช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางโลกออนไลน์ ให้ความรู้การทำธุรกิจในยุคดิจิทัล เพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้กับกลุ่มผู้ค้ารายย่อยทั่วประเทศ ให้ค้าขายด้วยตนเองได้แม้อยู่ห่างไกล ด้วยการเข้าไปติดตั้งเสาสัญญาณเพิ่มเติมในที่ห่างไกล เพราะความตั้งใจที่ว่า ไม่ว่าใกล้หรือไกลแค่ไหน ก็ต้องเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เหมือนกันอย่างเท่าเทียม! 

ดีแทค เน็ตทำกิน : พี่น้องชาวลาหู่ จ.เชียงใหม่ ขายของออนไลน์จนยอดขายอะโวคาโดทะลุแสน

รวมถึงแบ่งปันองค์ความรู้ ศักยภาพ และทักษะดิจิทัลให้กับคนในชุมชน ให้ใช้อินเทอร์เน็ตในการประกอบอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองอย่างยั่งยืน เหมือนที่เคยติดตั้งเสาสัญญาณเพิ่มเติมในพื้นที่สังขละบุรี จนพลิกความเงียบเหงาจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ของชุมชนสังขละบุรีให้กลับมาคึกคักได้อย่างน่าดีใจ

ชาวลาหู่ ในชุมชนบ้านหนองเขียว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ทีมเน็ตทำกินเข้าพื้นที่ไปเมื่อ พ.ศ. 2564 ร่วมกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ) ซึ่งมีความตั้งใจเดียวกันในการลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ ลดความเหลื่อมล้ำทางโลกออนไลน์ และลดความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจของบ้านหนองเขียว

“เราตั้งใจจะสร้างพลังทางเศรษฐกิจให้กับน้อง ๆ เยาวชน เพราะถ้าพวกเขาได้รับความรู้และโอกาสมากขึ้น พวกเขาก็จะได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจ และกำลังในการตัดสินใจที่มากขึ้นด้วย” มาริสา จิตรบรรพต เจ้าหน้าที่ของ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เกริ่นถึงความตั้งใจสำคัญ ก่อนอธิบายถึงการเป็นอยู่ของชาวลาหู่ในชุมชนบ้านหนองเขียวให้เราฟัง

เดิมที 95 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่นี่ประกอบอาชีพเกษตรกร มีผลผลิตหลักเป็นข้าวดอย ข้าวโพด ถั่วลิสง และงา ทั้งยังมีหนี้สินจากการกู้เงินซื้อปุ๋ยเพื่อปลูกและดูแลข้าวโพด แต่เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยว ราคาข้าวโพดกลับตกต่ำถึงครึ่งต่อครึ่ง ทำให้ชาวบ้านขาดทุน รายได้ที่นำกลับมาสู่ครอบครัวเพื่อเลี้ยงชีพ มีเพียง 20,000 – 30,000 บาทต่อปีเท่านั้น คนส่วนใหญ่ในชุมชนจึงมีฐานะยากจน และนำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ ในการใช้ชีวิต ตั้งแต่การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น รวมถึงปัญหาน่ากังวลที่ผู้ชายบางส่วนมักถูกชักชวนเข้าไปในกระบวนการค้ายาเสพติด และในทางกลับกัน ผู้หญิงก็ถูกล่อลวงเข้าไปในเส้นทางค้ามนุษย์ 

ดีแทค เน็ตทำกิน : พี่น้องชาวลาหู่ จ.เชียงใหม่ ขายของออนไลน์จนยอดขายอะโวคาโดทะลุแสน
ดีแทค เน็ตทำกิน : พี่น้องชาวลาหู่ จ.เชียงใหม่ ขายของออนไลน์จนยอดขายอะโวคาโดทะลุแสน

มาริสาเล่าให้เราฟังว่า ทั้งหมดมีต้นตอของปัญหามาจากความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและความยากจน รวมถึงทัศนคติและกรอบความคิดที่เพศชายเป็นใหญ่ คอยปกป้องดูแลผู้หญิง ส่วนเพศหญิงต้องเป็นผู้ตาม ทำให้เยาวชนเพศหญิงที่มีฐานะยากจนไม่มีปากเสียง ตัดสินใจในการเลือกทางเดินชีวิตของตนเองไม่ได้ หลายคนจึงยอมแต่งงาน และตั้งครรภ์ เพื่อจะได้พึ่งพิงสามีในยามทุกข์ยาก รวมถึงการ ‘ผิดผี’ และล่วงละเมิดทางเพศที่นำไปสู่การตั้งครรภ์ไม่พร้อม

องค์การแพลนฯ จึงมีโครงการสนับสนุนให้คนในชุมชนเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ทั้งสิทธิเด็ก การปกป้องคุ้มครองเด็ก สื่อก่อนปฐมวัย การให้ความรู้เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ สิทธิความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงวิธีการคุมกำเนิด รวมทั้งจัดตั้งแกนนำเยาวชนในการจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ชุมชน ทั้งยังกระจายความรู้ที่ได้รับมาสู่ชุมชนใกล้เคียง อย่างชุมชนห้วยแม่เกี๋ยงและบ้านเจียจันทร์

สภาพพื้นดินของบ้านหนองเขียวเป็นพื้นดินทราย มีโพรงหินด้านล่าง ทำให้ไม่มีน้ำในฤดูแล้ง คนในหมู่บ้านต้องซื้อน้ำจากหมู่บ้านอื่นเพื่อดำรงชีพ เมื่อสิบปีก่อนโครงการหลวงได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกอะโวคาโด ชุมชนจึงได้รับพระราชทานพันธุ์อะโวคาโดมาปลูก เพราะเล็งเห็นว่าเป็นพืชที่เหมาะกับสภาพพื้นดินและภูมิอากาศของบ้านหนองเขียว นับจากนั้นพืชชนิดนี้จึงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของชุมชน ทั้งพันธุ์พื้นเมือง ปีเตอร์สัน บัคคาเนียร์ แฮช บูธ 7 และบูธ 8 

ดีแทค เน็ตทำกิน : พี่น้องชาวลาหู่ จ.เชียงใหม่ ขายของออนไลน์จนยอดขายอะโวคาโดทะลุแสน

แม้อะโวคาโดจะเป็นสิ่งที่หลายคนนิยมกินในชีวิตประจำวัน นำไปประกอบอาหารได้มากมาย แต่ด้วยพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล ไปจนถึงข้อจำกัดด้านความรู้ทางธุรกิจ เทคโนโลยี รวมทั้งการสื่อสารของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังพูดภาษากลางไม่คล่อง กลัวการพูดคุยกับผู้คนที่ไม่รู้จัก ชุมชนบ้านหนองเขียวจึงต้องขายส่งอะโวคาโดผ่านพ่อค้าคนกลางเท่านั้น เมื่อขายด้วยตนเองไม่ได้ ทำให้ถูกกดราคา และขายส่งได้เพียงกิโลกรัมละไม่เกิน 40 บาท 

“ก่อนหน้าที่พี่ ๆ ดีแทคจะเข้ามา พวกเราก็มีเฟซบุ๊กกันอยู่แล้ว เคยลองโพสต์ขายสินค้าในเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่ว่าไม่มีลูกค้าเลย เพราะตอนนั้นเรายังไม่รู้จักการทำออนไลน์เพจ” กรรณิกา นาก่า ตัวแทนของสมาชิกชุมชนบ้านหนองเขียวบอกกับเรา

ดีแทค เน็ตทำกิน และ องค์การแพลนฯ เห็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของชุมชน จึงลงพื้นที่มาติดตั้งเสาสัญญาณเพิ่มเติมและเข้ามาสำรวจปัญหา รวมถึงความต้องการของชุมชน เพื่อวางแผนการเรียนรู้ให้กับชุมชนตั้งแต่พื้นฐาน การใช้เครื่องมือต่าง ๆ สร้างเพจ ไลฟ์สด ทำคอนเทนต์ ถ่ายภาพให้น่าสนใจ ไปจนถึงหลักธุรกิจเบื้องต้น และยังพัฒนาความกล้าของคนในชุมชน ให้กล้าพูด กล้าสื่อสาร ซึ่งพี่ ๆ ทีมเน็ตทำกินและองค์การแพลนฯ ยังช่วยดูแล ให้คำปรึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ด้วย 

เดินทางขึ้นเหนือไปเรียนรู้แนวคิด วิธีการ ที่ผลักดันให้ชุมชนบ้านหนองเขียวเป็นชุมชนไร้ความเหลื่อมล้ำ
เดินทางขึ้นเหนือไปเรียนรู้แนวคิด วิธีการ ที่ผลักดันให้ชุมชนบ้านหนองเขียวเป็นชุมชนไร้ความเหลื่อมล้ำ

“ตั้งแต่ดีแทคมาติดตั้งเสาสัญญาณ มันดีขึ้นมาก เราลองไลฟ์แล้วเดินไปสวนอะโวคาโด เน็ตก็ยังแรงอยู่ พูดคุยตอบโต้กับลูกค้ารู้เรื่อง ซื้อขายกับลูกค้าได้โดยตรง นอกจากมีรายได้กลับเข้าชุมชนแล้ว การที่เราได้เข้าถึงสัญญานอินเทอร์เน็ตยังทำให้เด็ก ๆ ในชุมชนเรียนออนไลน์ง่ายขึ้น แถมยังเรียนเข้าใจด้วย ช่วงนี้มีโควิด คนในชุมชนมารวมตัวกันไม่ได้ เราก็นัดเจอกันใน Zoom ปรึกษาปัญหากันได้ แล้วก็ได้เรียนรู้จากพี่ ๆ ผ่านทางออนไลน์ด้วยค่ะ” กรรณิกา นาก่า เล่าเสริมถึงข้อดีในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

“เราว่ามันทำให้น้อง ๆ มีช่องทางการขายสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย ลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง ทุกคนขายได้เองผ่านทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ขายได้ถึงกิโลละ 60 – 80 บาท เท่ากับราคาซื้อขายในตลาด ยอดขายโดยรวมมากขึ้นตามไปด้วยจาก 10 – 50 กิโลต่อเดือน ตอนนี้น้อง ๆ ขายได้มากถึง 600 กิโลกรัมต่อเดือน รายได้รวมทั้งปีของพวกเขาเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จากหลักหมื่นเป็นหลักแสน เราภูมิใจมากที่พวกเขากล้าคุยกับลูกค้า กล้าสร้างคอนเทนต์ ไลฟ์เอง ขายเอง จนตอนนี้มีผู้ติดตามเป็นของตัวเองแล้ว” มาริสาเสริม

การที่พี่น้องชาวลาหู่ ชุมชนบ้านหนองเขียวเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ดีกว่าที่เคย ค้าขายได้ด้วยตนเอง นับเป็นบันไดขั้นแรกในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้ทุกคนมีทางเลือกในชีวิต และความรู้เหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงคลาสออนไลน์ แต่การที่พวกเขาเข้าถึงและรู้วิธีการใช้อินเทอร์เน็ต ยังเป็นเส้นทางที่จะเข้าถึงองค์ความรู้อันไร้ขีดจำกัดในโลกออนไลน์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

เดินทางขึ้นเหนือไปเรียนรู้แนวคิด วิธีการ ที่ผลักดันให้ชุมชนบ้านหนองเขียวเป็นชุมชนไร้ความเหลื่อมล้ำ

ภาพ : ดีแทค เน็ตทำกิน

‘ดีแทค เน็ตทำกิน’ มุ่งติดปีกความรู้การทำธุรกิจยุคดิจิทัล ปรับวิกฤตสู่โอกาส สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ และเปลี่ยนผ่านโอกาสค้าขายจากตลาดสดสู่ตลาดออนไลน์ บนหลักคิดลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล สร้างสังคมออนไลน์ที่ทุกคนเข้าถึงโอกาสเท่าเทียมกัน หรือ Digital Inclusion มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติข้อที่ 10 ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำติดตามเรื่องราว ดีแทค เน็ตทำกิน ได้ที่ : web.facebook.com/dtacnetforliving

Writer

Avatar

นิธิตา เอกปฐมศักดิ์

นักคิดนักเขียนมือสมัครเล่น ผู้สนใจงานคราฟต์ ต้นไม้และการออกแบบเป็นพิเศษ แต่สนใจหมูสามชั้นย่างเป็นพิเศษใส่ไข่