Dry Clean Only คือแบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทย ที่หยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงใหม่จนไปไกลระดับโลก

เบส-ปฏิพัทธ์ ชัยภักดี เริ่มต้นก่อตั้งแบรนด์จากร้านเล็กๆ ในจตุจักรเมื่อ 13 ปีก่อน ขายในสิ่งที่คนทั่วไปไม่เข้าใจ แต่เหล่าแฟชั่นนิสต้ากรี๊ดมาก เสื้อปักลาย เติมแต่ง และตัดต่อรูปทรงประหลาดแต่สวยไม่เหมือนใคร จนวันหนึ่งมีคนจากญี่ปุ่นติดต่อไปขายในร้านรวมแบรนด์ชื่อดัง ตามด้วย ฮ่องกง เกาหลีใต้ และอีก 15 ประเทศทั่วโลก

เข้าห้องเสื้อ Dry Clean Only ซักถามวิธีคิดทำธุรกิจ ที่หยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงใหม่จนไปไกลระดับโลก

ถ้าใครติดตามข่าวสารวงการแฟชั่น ย่อมรู้จักเบสเป็นอย่างดี เขาเป็นคนแรกที่หยิบเสื้อยืดกระทิงแดงคุ้นตามาทำใหม่ในสไตล์วิกตอเรียนจนสื่อแฟชั่นต่างประเทศพูดถึง และนับตั้งแต่วันที่ Rihanna ใส่เสื้อยืดปักแขนด้วยไข่มุก ชื่อของ Dry Clean Only ก็เป็นที่รู้จักในหมู่คนรักแฟชั่นทั่วโลก และเสื้อผ้าหน้าตาคล้ายๆ กันนี้ก็เกิดขึ้นเต็มท้องตลาดนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

“ภูมิใจนะ แรกๆ อาจจะโกรธ แต่ถ้าเราอยู่ในธุรกิจนี้แล้วไม่ได้รับความสนใจ ไม่เคยโดยลอกเลียนผลงาน เราก็ควรจะต้องพิจารณาตัวเองมากกว่า” แม้เบสจะมองเป็นเรื่องปกติ แต่การลอกเลียนแบบก็เป็นสิ่งที่คนที่เรียกตัวเองว่าทำงานสร้างสรรค์ไม่ควรทำอยู่ดี

‘น้องนอนในห้องเสื้อ’ ตอนที่ 2 พาไปเปิดห้องเสื้อ Dry Clean Only คุยกับเบส ตั้งแต่เรื่องเริ่มต้นทำร้านในฝัน การคิดถึงจุดยืนในตลาดตั้งแต่วันแรกที่ทำธุรกิจ การรู้จุดแข็งของตัวเอง ไปจนรู้จักตลาด และการคิดไปข้างหน้าตลอดเวลา จนทำให้แบรนด์ชัดเจนในตัวตน

ขึ้นชื่อว่าการจะอยู่ในธุรกิจแฟชั่นนั้นแสนโหด Dry Clean Only เอาตัวรอดมาอย่างไร อะไรคือเบื้องหลังวิธีคิดและแผนธุรกิจฉบับ Dry Clean Only ขอเชิญทุกท่านปฏิบัติตามคำแนะนำ 

เริ่มจาก แยกผ้าขาวออกจากผ้าสี ก่อนลงใส่ถัง

เข้าห้องเสื้อ Dry Clean Only ซักถามวิธีคิดทำธุรกิจ ที่หยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงใหม่จนไปไกลระดับโลก

ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบความฝันก่อนเริ่มต้นทำธุรกิจ

อดีตนักเรียนแฟชั่นที่ตัดสินใจเดินออกจากห้องเรียน ไปทำงานหาประสบการณ์ เพื่อเรียนรู้ธุรกิจแฟชั่น โดยใช้เวลา 4 ปีกับงานผู้ช่วยสไตลิสต์ ซึ่งเบสเรียนรู้ครบทุกขั้นตอนจนเขามั่นใจ

“ตอนนั้นคิดในหัวเลยว่า ถ้าเราจะเป็นผู้ช่วยสไตลิสต์ เราจะเป็นผู้ช่วยสไตลิสต์ที่ดีที่สุด ดีที่สุดในที่นี่ คือให้มากกว่าที่เขาคาดหวัง เช่น คนทั่วไปคิดว่าตำแหน่งผู้ช่วยนั้นไม่สำคัญ ดังนั้นจะมาสายก็ได้ แต่เราไม่คิดอย่างนั้น หากนัดตีห้า เราไปตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง ผู้ช่วยคนอื่นอาจจะมีกรรไกรหนึ่งอัน แต่เรามีโรล มีลูกกลิ้งทำความสะอาด มีเข็มกลัด มีทุกอย่างที่พร้อม เราชอบศึกษาเบื้องหลังการทำงานของคนในวงการที่ต่างประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมอุปกรณ์และสิ่งที่ควรทำ ต่อให้ไม่ได้ใช้ก็ไม่เป็นไร แต่จะมีเตรียมไว้ สิ่งนี้สำคัญกับเรานะ ขอให้ได้ทุ่มเทกับทุกอย่างที่ทำ ต่อให้ไปเปิดร้านข้าวแกงเราก็จะทำให้ร้านข้าวแกงของเราเป็นร้านที่ดีที่สุด”

เข้าห้องเสื้อ Dry Clean Only ซักถามวิธีคิดทำธุรกิจ ที่หยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงใหม่จนไปไกลระดับโลก

ขั้นตอนที่ 2 ตั้งใจจะเป็นร้านเสื้อผ้าที่ไม่เหมือนใครในจตุจักร

“เสื้อเราต้องแปลก” เบสคิดตั้งแต่วันแรก และเริ่มต้นดัดแปลงเสื้อผ้าที่มีอยู่ในตู้ 

ขณะที่เสื้อผ้าในอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจากการตัดเย็บ เบสเป็นคนแรกที่ใช้ของเก่าเป็นวัสดุหลักของแบรนด์ และยังคงเป็นมาถึงวันนี้

“เราไม่อยากทำอะไรเหมือนคนอื่น ซื้อผ้าเหมือนคนอื่น ทำแพตเทิร์นเหมือนคนอื่น ถ้าจะทำแล้วเหมือนคนอื่นจะทำทำไม เสียเวลาชีวิต” งานของ Dry Clean Only โดดเด่นและเป็นที่จดจำเรื่องงานคราฟต์ การตกแต่งประดับประดา ปักและตัดต่อด้วยมือ ทำทุกอย่างในร้านด้วยตัวเองและมีผู้ช่วยอีก 2 คน

เข้าห้องเสื้อ Dry Clean Only ซักถามวิธีคิดทำธุรกิจ ที่หยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงใหม่จนไปไกลระดับโลก
เข้าห้องเสื้อ Dry Clean Only ซักถามวิธีคิดทำธุรกิจ ที่หยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงใหม่จนไปไกลระดับโลก

ขณะที่ราคาเสื้อผ้าที่จตุจักรโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 300 – 500 บาท เสื้อผ้าของเบทส์ราคาเริ่มต้น 800 – 1,200 บาท

“เราคิดอยู่แล้วว่าจะขายราคาเท่าไหร่” เบสเล่า

“คุณไม่เคยเปิดร้านมาก่อน แล้วเอาความมั่นใจมาจากไหน” เราถาม

“นอกจากรู้ว่าจะทำของที่แปลกไม่มีใครทำ ก็ไม่รู้อะไรเลย ตอนนั้นคิดแค่เราจะทำและส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดเหมือนทุกงานที่เคยทำ และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ลูกค้ากรี๊ดกร๊าด ตอนแรกเขาอาจจะตกใจราคา แต่พอเห็นของเขาก็เข้าใจ” เจ้าของแบรนด์ตอบ

เข้าห้องเสื้อ Dry Clean Only ซักถามวิธีคิดทำธุรกิจ ที่หยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงใหม่จนไปไกลระดับโลก

ขั้นตอนที่ 3 ชอบที่ใส่แล้วไม่เหมือนใคร

ถ้าไม่นับคนที่ชอบแฟชั่น สนใจงานออกแบบและศิลปะ ลูกค้า Dry Clean Only คือใคร เราถาม 

“คือคนที่ค่อนข้างชัดเจนกับตัวเอง มีอิสระ เราพบว่าเมื่อเราปล่อยให้สินค้านำ สินค้าก็จะดึงดูดลูกค้าเข้ามาเอง” เบสตอบ เขาบอกว่าลูกค้าจะค่อยๆ เผยตัวออกมาว่า เขาหรือเธอชอบเสื้อผ้าลักษณะนี้

เข้าห้องเสื้อ Dry Clean Only ซักถามวิธีคิดทำธุรกิจ ที่หยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงใหม่จนไปไกลระดับโลก
เข้าห้องเสื้อ Dry Clean Only ซักถามวิธีคิดทำธุรกิจ ที่หยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงใหม่จนไปไกลระดับโลก

ขั้นตอนที่ 4 ขายความคราฟต์ หนีความซ้ำ

เบสทำอย่างไร ลูกค้าของเขาจริงเห็นและรู้ทันทีว่านี่คืองานของ Dry Clean Only

เหตุผลที่เสื้อผ้าของ Dry Clean Only ช่วง 5 ปีแรก มีลายพิมพ์รูปสัตว์ทั้งหมด เพราะเบสชอบนก และเขารู้ดีว่าในตลาดมีเสื้อพิมพ์ลายสัตว์มากแค่ไหน ไม่ว่าจะลายหมาป่า สุนัขจิ้งจอก เสือ นกอินทรี ฯลฯ ถ้าเป็นสัตว์ป่า เบสทำให้ Dry Clean Only เป็นเจ้าของงานสไตล์นี้ได้ทั้งหมด โดยใช้ประสบการณ์ในชีวิตตีความเรื่องรอบตัวผ่านเสื้อผ้า จนสร้างมาตรฐานใหม่ให้เสื้อผ้าสไตล์นี้

เข้าห้องเสื้อ Dry Clean Only ซักถามวิธีคิดทำธุรกิจ ที่หยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงใหม่จนไปไกลระดับโลก

จากเสื้อผ้าเก่าราคา 200 บาท Dry Clean Only ทำให้ราคาเสื้อเก่าในตลาดเพิ่มสูงเป็น 800 – 1,000 กว่าบาท เพราะเป็นที่ต้องการของเหล่าแฟชั่นนิสต้า

เมื่อตลาดเริ่มปรับตัวตาม แทนที่จะมองว่าเป็นปัญหา เบสกลับรู้สึกสนุก

“ถ้าเธอฮิตอันนี้ ฉันก็จะไม่ฮิตอันนี้ เราก็ไปชุบชีวิตสิ่งใหม่ เช่น ด้วยเงินสี่สิบบาทก็ทำให้เกิดความงามในรูปแบบของเราได้” เบสบอกว่า นิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาสนุกกับการหลีกหนีสิ่งที่ซ้ำซากจำเจ ทำให้ตัวเขามีความฝันและจินตนาการออกจนทำทุกอย่างนอกกรอบได้เสมอมา

เข้าห้องเสื้อ Dry Clean Only ซักถามวิธีคิดทำธุรกิจ ที่หยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงใหม่จนไปไกลระดับโลก

ขั้นตอนที่ 5 กระทำความยุ่งยากให้กับตัวเอง

เสื้อผ้าของ Dry Clean Only ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าผู้หญิง ที่น่าสนใจคือ Dry Clean Only มีลูกค้าที่เป็นผู้ชายไม่น้อยกว่ากันเลย 

“ไม่ใช่ผู้ชายแต่งหญิงนะ แต่เป็นผู้ชายที่รู้จักเลือกบางชิ้นที่เหมาะกับเขา ซึ่งก็อยู่ที่วิธีสไตลิ่ง” เบสบอกว่า งานของเขาคือการทำลายกำแพง โดยทำเสื้อผ้าที่ไม่มีเพศ

หลักการออกแบบทุกอย่างมาจากตัวตนของเบส เขาบอกว่าทุกอย่างมาจากการที่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร กำลังจะไปในทิศทางไหน หรือแม้แต่ตอนนี้สนใจเรื่องอะไร บางอย่างเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ เช่น ชุดเจ้าสาวในแบบ Dry Clean Only ของคอลเลกชัน Pre Fall 2020 เกิดขึ้นจากเบสไปเจอดอกไม้ตกแต่งชุดแต่งงานเก่า 4 – 5 ลังโดยบังเอิญ ก็เลยเหมามาทั้งหมด 

“อย่างคอลเลกชัน Spring/Summer 2020 เกิดขึ้นหลังดูภาพยนตร์เรื่อง The Lover ที่ฉายครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1992 เป็นเรื่องราวของผู้หญิงยุโรปที่ต้องมาขายบริการที่สงครามเวียดนาม เราสนใจการพบกันระหว่างตะวันออกและตะวันตก จึงทำชุดกี่เพ้าใช้ผ้าจากชุดจีนตัดต่อกับกางเกงยีน ชุดกี่เพ้าจากเสื้อเบสบอล มีชุดกระโปรงและเสื้อผ้าผู้ชาย ซึ่งทั้งหมดถอดคาแรกเตอร์มาจากในหนัง ทำแพตเทิร์นวงกลม เป็นคอลเลกชันที่ประสบความสำเร็จมาก” 

ตลอดการสนทนา เบสบอกเราซ้ำๆ ว่า วิธีการทำเสื้อผ้าของ Dry Clean Only ยุ่งยาก เช่น กระโปรงที่มาจากการแก้แพตเทิร์นกางเกง

“เราทำความยุ่งยากให้กับตัวเอง คนอื่นคงจะไปซื้อผ้าคล้ายๆ กันมาทำ แต่เราไม่ หากตั้งใจแล้วว่าจะทำกระโปรงที่มาจากกางเกง ก็ต้องมาจากกางเกง เราต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตัวเองและลูกค้า ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นเอกลักษณ์ ส่งผลให้ตัวตนของแบรนด์ชัดมากจนมีแบรนด์อยากทำงานร่วมกับเรา” เบสเล่าความตั้งใจ ที่แม้ไม่ได้นำมาซึ่งกำไรที่เป็นตัวเลข แต่นำมาซึ่งการยอมรับของคนในวงการ

เข้าห้องเสื้อ Dry Clean Only ซักถามวิธีคิดทำธุรกิจ ที่หยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงใหม่จนไปไกลระดับโลก

ขั้นตอนที่ 6 เปิดตลาดญี่ปุ่น เปลี่ยนวิธีการทำงาน

หลังจากเปิดร้านที่จตุจักรได้ 5 ปี ก็เริ่มมี Buyer จากญี่ปุ่นสนใจเสื้อผ้าของ Dry Clean Only เบสบอกว่าจากที่เคยทำเสื้อผ้าเป็นชิ้น สัปดาห์ละ 3 – 4 แบบ เขาต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ นั่นคือสร้างงานเป็นคอลเลกชันละ 20 – 30 แบบ

“นอกจากนำเสนอเรื่องราว เราต้องวางแผน เช่น ถ้าเราจะใช้วัสดุนี้ในการตกแต่ง ก็ต้องคิดเผื่อให้กระจายอยู่ในเสื้อผ้าสามสี่แบบ หรือลายพิมพ์บนผ้าที่ต้องเลือกให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน หรือจากสี เป็นต้น ช่วงหนึ่งที่เราสนใจดนตรีร็อกใต้ดิน เราก็จะรวบรวมหมุด ไม้กางเขน สนใจการทำเสื้อให้ขาดแหว่ง หรือช่วงที่สนใจงานถักไหมพรม ก็หยิบเทคนิคนี้มาทำเป็นดอกไม้แล้วประดับบนเสื้อที่เป็นลายป่า” เบสเล่า

เข้าห้องเสื้อ Dry Clean Only ซักถามวิธีคิดทำธุรกิจ ที่หยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงใหม่จนไปไกลระดับโลก

ยิ่งได้ฟังก็ยิ่งเห็นภาพตาม จากที่เคยคิดว่า Dry Clean Only เป็นแค่แบรนด์ดัดแปลงเสื้อผ้าจนได้ดี เราพบว่างานของ Dry Clean Only สนุกและไร้ข้อจำกัดแค่ไหน เบสทำเสื้อเชิ้ตให้เป็นเสื้อยืดได้ ออกแบบให้คอเสื้อที่เคยอยู่ด้านบนย้ายไปอยู่ด้านล่างได้ เพื่อบอกว่าทุกอย่างไม่จำเป็นต้องอยู่ที่เดิม

และด้วยความที่ Dry Clean Only ใช้เสื้อผ้าเก่ามาเป็นวัสดุหลัก เมื่อตลาดมีความต้องการสินค้ามากขึ้น การทำธุรกิจนี้จึงเป็นเรื่องยากและเต็มไปด้วยข้อจำกัด

เข้าห้องเสื้อ Dry Clean Only ซักถามวิธีคิดทำธุรกิจ ที่หยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงใหม่จนไปไกลระดับโลก

ขั้นตอนที่ 7 ลอกไม่กลัว

เบสบอกว่า Dry Clean Only เป็นแบรนด์ที่ไม่ได้กลัวการลอกเลียนแบบ เพราะสุดท้ายก็ไม่มีทางเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ 

“จริงๆ ลูกค้ามีตัวเลือกเยอะมาก มีแบรนด์นับพันนับหมื่นแบรนด์ในโลกนี้ เราไม่ได้มองว่าใครเป็นคู่แข่ง เพราะอยู่ที่เราให้อะไรกับผู้บริโภคและตลาด ซึ่งก็อยู่ที่เขาว่าจะเลือกเราหรือเปล่า ที่ผ่านมาเราทำงานโดยมองไปข้างหน้าตลอด คนที่ตามเราอาจจะทำงานคล้ายเราก็จริง แต่เขายังอยู่กับงานปักมือแบบที่เราทำเมื่อสิบปีก่อนอยู่เลย ขณะที่เราหันไปทุ่มเทให้เรื่องใหม่ๆ อย่างวัสดุและแพตเทิร์น”

ไม่แปลกที่ช่วงหนึ่ง สื่อญี่ปุ่นจะเรียกเบสว่า ‘ปิกัสโซแห่งวงการเสื้อยืด’ เพราะเขาทำเสื้อยืดอย่างเดียวมาตลอด 10 ปีแรกของการทำธุรกิจ จนเมื่อเข้าสู่ช่วงปีที่ 11 ของแบรนด์ หรือเมื่อ 2 ปีก่อน Dry Clean Only เริ่มเปลี่ยนไป มีไอเทมอื่นๆ อย่าง เสื้อคลุมหรือแจ็กเก็ต แจ็กเก็ตปาร์กา เทรนช์โค้ท แจ็กเก็ตบอมเบอร์ สเวตเตอร์ 

“พอทำธุรกิจไปสักพัก เราจะพบว่าเสื้อยืดมีข้อจำกัดเต็มไปหมด ถึงเวลาที่เราต้องมีสินค้าประเภทอื่นๆ บ้าง”

เข้าห้องเสื้อ Dry Clean Only Bangkok ซักถามวิธีคิดทำธุรกิจ ที่หยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงใหม่จนไปไกลระดับโลก
เข้าห้องเสื้อ Dry Clean Only ซักถามวิธีคิดทำธุรกิจ ที่หยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงใหม่จนไปไกลระดับโลก

ขั้นตอนที่ 8 ปรับวิธีขายให้ทันยุค New Normal

ความสนุกของเสื้อผ้า Dry Clean Only ชวนสงสัยว่า ลูกค้าที่เป็นเอเชียและยุโรป ชื่นชอบ Dry Clean Only ต่างกันอย่างไร

เบสจึงเล่าว่า เสื้อผ้าทั้ง 30 แบบในคอลเลกชันนั้น เขาไม่ได้ทำมาเพื่อตลาดภูมิภาคไหนเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับ Buyer ที่เลือกสินค้าไปขายใน Multistore ทั้ง 10 ประเทศ และขณะที่แฟนๆ ของ Dry Clean Only ในเกาหลีใต้ชอบสีสันจัดจ้าน ใส่แล้วบ่งบอกความเป็นตัวเองออกมา ฝั่งอเมริกาจะเน้นความสนุกสนาน ส่วนฝั่งในยุโรปจะชอบแต่งตัวสีดำ เนี้ยบๆ ทึมๆ ตามแบบภูมิอากาศ แต่ช่วงหลังชาวยุโรปเปลี่ยนไปผ่อนคลายขึ้น สนุกขึ้น

“สุดท้ายตลาดทั้งโลกก็คล้ายจะเลือกของชิ้นเดียวกันอยู่ดี” เบสสรุป

สำหรับการขาย ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ Dry Clean Only จะเดินทางไปขายคอลเลกชันใหม่ที่โชว์รูมในปารีส 4 ครั้งต่อปี

“เราคิดว่าหลังจากนี้เสื้อผ้าคงจะไม่มีฤดูกาลแล้ว วิธีนำเสนอ วิธีขายก็คงต่าง อาจจะต้องทำ Direct Marketing ต้องรู้ว่าตลาดตัวเองอยู่ตรงไหนและไปให้ถึง โลกตอนนี้ไม่มีเส้นแบ่งตลาดอีกต่อไป ตลาดใหญ่เราอยู่ที่เกาหลีใต้ ฮ่องกง และจีน กำลังซื้อที่สูงของตลาดเหล่านี้ทำให้เราเลือกทำการตลาดตรงไปหากลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ได้เลย” เบสเล่าภาพรวมที่เกิดขึ้น หลังเกิดเหตุการณ์โรคระบาด

เข้าห้องเสื้อ Dry Clean Only ซักถามวิธีคิดทำธุรกิจ ที่หยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงใหม่จนไปไกลระดับโลก

ขั้นตอนที่ 9 เกิดจากการทำงานเป็นทีม

จากร้านเล็กๆ ที่ทำทุกอย่างคนเดียว ในวันที่แบรนด์เติบโตขึ้น เบสมีวิธีทำงานกับคนจำนวนมากขึ้นอย่างไร เราถาม

เบสบอกว่าเขาใช้วิธีละลายพฤติกรรมตัวเองก่อน บอกตัวเองให้รับฟังเพื่อเปิดรับคนอื่นเข้ามา

“ถ้าเราอยากทำงานคนเดียวอยู่ ก็ต้องยอมรับขนาดธุรกิจของเราว่าจะจำกัดอยู่ที่จตุจักรแน่นอน คงเป็นร้านของศิลปินที่ทำเสื้อขายวันละสิบสองตัว และขายแพงมาก แต่เราคิดมาตลอดว่า วันหนึ่งเราอยากมีกำลังมากพอที่จะผลิตเสื้อหนึ่งถึงสองพันตัว ดังนั้นเราก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของทีมงานและคนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ก่อนตัดสินใจ”

เข้าห้องเสื้อ Dry Clean Only ซักถามวิธีคิดทำธุรกิจ ที่หยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงใหม่จนไปไกลระดับโลก

ขั้นตอนสุดท้าย สรุปบทเรียนจากธุรกิจ

“ประสบการณ์ทำให้เรารู้ว่าลูกค้าคือใคร ต้องการอะไร ตอนนี้คนไม่ได้มองหาอะไรที่แพง เราจึงไม่ได้ทำแค่เสื้อผ้า บางทีก็ทำเสื้อยืดง่ายๆ ทำกระเป๋า อนาคตอาจจะมีของใช้ในบ้าน เช่น ปลอกหมอน ประสบการณ์จากธุรกิจสอนให้รู้จักคิดให้มากกว่าสิ่งที่เคยทำมา

“อีกเรื่องคือ บางอย่างที่เราชอบอาจจะขายไม่ได้ แต่เพื่อให้แบรนด์เติบโต ในหนึ่งคอลเลกชัน เราจำเป็นต้องมีงานสักชิ้นที่แนะนำให้ลูกค้าเปิดใจกับสิ่งใหม่ๆ และชิ้นนั้นอาจจะขายไม่ดีเลย แต่ต้องมี ส่วนชิ้นที่รู้แน่ๆ ว่าขายได้ เราก็ต้องติดตาม เปลี่ยนสีหรือดีไซน์บ้างนิดหน่อย ชิ้นที่ขายได้แน่ๆ คือสิ่งที่ทำให้ธุรกิจไปต่อได้ แต่ถ้าลืมให้ความสำคัญกับงานใหม่ๆ บ้าง แบรนด์ก็จะแบน” เบสทิ้งท้าย

เข้าห้องเสื้อ Dry Clean Only Bangkok ซักถามวิธีคิดทำธุรกิจ ที่หยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงใหม่จนไปไกลระดับโลก

น้องนอนในห้องลองเสื้อ : DRY CLEAN ONLY BANGKOK

Dry Clean Only เป็นตัวอย่างหนึ่งของแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จแม้ไม่มีหน้าร้าน 

นอกจากวิธีขายออนไลน์แล้ว คุณจะพบ Dry Clean Only ที่ร้านรวมแบรนด์คัดสรรชั้นนำในหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อิตาลี สเปน อังกฤษ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย อียิปต์ เลบานอน กาตาร์ ซาอุดิอะราเบีย ตุรกี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 

เสียดายเล็กน้อยที่ไม่ได้ลองเสื้อมาฝากเป็นพิธีอย่างเคย เราจึงชวนเบสคุยเรื่องการแต่งตัว เผื่อใครที่เปิดใจให้ Dry Clean Only จากบทความนี้จะได้ตั้งหลักมีความสุขกับการแต่งตัวไปด้วยกัน

เข้าห้องเสื้อ Dry Clean Only Bangkok ซักถามวิธีคิดทำธุรกิจ ที่หยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงใหม่จนไปไกลระดับโลก

คนที่แต่งตัว คือคนที่รู้วิธีทำให้ตัวเองมีพลัง” เราพยักหน้าเห็นด้วยสุดแรง

“วันไหนที่รู้สึกไม่ดีกับตัวเองหรือรู้สึกไม่มีพลัง เสื้อผ้าจะช่วยเยียวยาและเปลี่ยนอารมณ์ให้รู้สึกดีขึ้น รู้สึกสวยและรู้สึกดีกับตัวเองแค่นั้นเลย ซึ่งเราไม่อยากเรียกสิ่งนี้ว่าสไตล์หรือจำกัดความว่านี่คือ Dry Clean Only อยากให้คุณเห็นและรู้สึกชอบ ก็แค่หยิบมันขึ้นมาลอง”

เบสบอกเหตุผลที่เขาชอบแต่งตัวเรียบๆ มากกว่าหยิบเสื้อผ้าของ Dry Clean Only มาใส่เป็นประจำว่า เขาอยากสร้างงานที่คนจดจำตัวงานได้ ไม่ได้อยากให้ใครมาจดจำว่าเขาเป็นแบบไหน

“ไม่ใช่ว่าเราทำเสื้อสวยแล้วหลงตัวเองใส่เสื้อผ้าตัวเองทั้งชุด ยกเว้นตัวที่ชอบจริงๆ เราถึงจะใส่ จริงเรากำลังทำเสื้อผ้าที่เหมาะกับคนอื่นมากกว่า และเราก็ชอบใส่เสื้อผ้าดีไซเนอร์แบรนด์อื่น อยากสนับสนุนธุรกิจแฟชั่นให้เขาดำเนินต่อไปได้ และอยากลบกำแพงที่ใครชอบคิดว่านักออกแบบใส่เสื้อผ้าคนอื่นไม่ได้ เราไม่เห็นด้วย มันต้องใส่ได้สิ” เบสสรุป

Dry Clean Only Bangkok

DRY CLEAN ONLY BANGKOK

www.drycleanonlybkk.com

Writer

Avatar

น้องนอนในห้องลองเสื้อ

ชื่อในวงการห้องลองเสื้อของ นภษร ศรีวิลาศ บรรณาธิการบทความธุรกิจ ที่สนใจเรื่องธุรกิจที่ดี ตาเป็นประกายได้ง่ายๆ หากได้ยินเรื่องกิจการครอบครัวสัญชาติไทยอายุเฉียดร้อย ปัจจุบันใช้หน้าที่การงานตีสนิทแบรนด์แฟชั่นไทยและเทศ หวังเป็นนักลองเสื้อเต็มเวลา

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล