“ตกรอบแรก 100 เปอร์เซ็นต์”

คือสิ่งที่ The Straits Times หนังสือพิมพ์รายวันยักษ์ใหญ่ของสิงคโปร์ ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม 2535 ประเมินทีมชาติไทยชุดใหม่ที่เพิ่งรวมตัวได้เพียงเดือนเศษ เพื่อเข้าแข่งขันฟุตบอล Aiwa Merlion Cup 1992

ไม่ผิดหรอกที่พวกเขาจะคาดการณ์เช่นนั้น เพราะนี่คือทีมที่ไร้ซูเปอร์สตาร์ ไม่มีนักเตะยอดฝีมือ แทบทุกคนต่างเป็นพวกโนเนมที่เพิ่งได้รับโอกาสให้ลงสู้ศึกในสนามใหญ่เป็นครั้งแรก

ผลการแข่งขันสุดท้ายไม่ต่างจากที่คาด เพราะพวกเขาตกรอบแรก แต่ผลคะแนนก็เป็นไปอย่างสูสี

หากสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง คือจากทีมเกรด D ในวันนั้นพัฒนาขึ้นเป็นทีมอันดับ 1 ของอาเซียนในอีกไม่กี่ปีต่อมา และเป็นผู้จุดประกายกระแส ‘ฟุตบอลฟีเวอร์’ ให้กลับคืนมาหลังจากวงการลูกหนังเมืองไทยซบเซาไปนานหลายปี

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนย้อนอดีตถึง ‘ดรีมทีม’ ทีมฟุตบอลระดับตำนาน ผู้เปลี่ยนความเชื่อของคนจำนวนมากว่า ฟุตบอลไทยก็สามารถไปไกลกว่าที่คิดได้

ฟุตบอลไทย

 

1

รวมดาวกระจุย

เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล, วัชรพงศ์ สมจิตร, พัฒนพงศ์ ศรีปราโมทย์, โกวิทย์ ฝอยทอง และนักเตะชั้นนำของเมืองไทยอีกหลายคน อาจเป็นใครก็ไม่รู้ในวันนี้ หากวันนั้นพวกเขาไม่ได้อยู่ในทีมฟุตบอลที่ชื่อ ‘ดรีมทีม’

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2534 หากพูดถึงสถานการณ์ฟุตบอลไทยเวลานั้นต้องถือว่าลุ่มๆ ดอนๆ พอสมควร เพราะห่างหายจากความสำเร็จมานาน ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือเหรียญทองซีเกมส์ครั้งสุดท้ายที่ทีมชาติไทยคว้ามาเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2528 แถมยังมีข้อครหาเต็มไปหมด ทั้งการพนัน การล้มบอล

แต่การเข้ามาของชายชื่อ ‘บิ๊กหอย’ ธวัชชัย สัจจกุล กลายเป็นจุดพลิกผันครั้งใหญ่

ฟุตบอลไทย

แม้ธวัชชัย หรือชื่อปัจจุบัน วนัสธนา สัจจกุล จะเคยเป็นแชมป์ฟุตบอลเยาวชนแห่งประเทศไทย แต่หลังจากต้องรับหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวแทนคุณพ่อที่ป่วยเป็นอัมพาต เขาก็วางมือจากสายกีฬาและทุ่มเทให้งานธุรกิจเต็มที่ จนกลายเป็นเศรษฐีที่มีรายได้นับพันล้านบาทต่อปี

ผมมีงานอดิเรกคือตีกอล์ฟ แต่เป็นตีแบบไทยๆ ที่มีการพนันด้วย ปรากฏว่าผมเป็นคนตีกอล์ฟไม่เก่ง เล่นไปก็มีแต่เสีย รวมแล้วเป็นสิบล้าน ครั้งสุดท้ายที่ผมเสีย ผมเขียนเช็ค 560,000 บาทภายในวันเดียว ตอนนั้นรถญี่ปุ่นคันเดียวแสนหนึ่ง หลังจากนั้นผมก็มาตามข่าวกีฬาจึงทราบว่า หากใครอยากเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลต้องจ่ายเงินเอง แทนที่จะมาเสียให้กอล์ฟ ก็มาเสียให้ฟุตบอลแทนดีกว่า เพราะเราก็ชอบเหมือนกัน และเสียแล้วชาวบ้านเขาก็มันไปด้วย”

พอดีเขารู้จักกับ อ.วิจิตร เกตุแก้ว เลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ขณะนั้น จึงขอโอกาสทำฝันให้กลายเป็นจริง โดยได้รับภารกิจแรกคือตำแหน่งผู้จัดการทีมเยาวชนอายุ 19 ปี ชิงแชมป์เอเชีย เมื่อเดือนเมษายน 2535 แม้ไม่ได้เลือกนักเตะเอง แต่ทีมชุดนี้ทำผลงานในรอบคัดเลือกได้ดีเกินคาด ผ่านไปแข่งรอบ 8 ทีมสุดท้ายที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สำเร็จ แต่นัดแรกกลับถูกเกาหลีใต้ถล่มยับ ด้วยสกอร์ 8-1 และแพ้อีก 2 นัดซ้อน จนมีคำครหาว่าล้มบอลแน่นอน หลังกลับมาเมืองไทยทีมนักเตะดาวรุ่งชุดนี้จึงสลายตัวไปโดยปริยาย

ทั้งที่ไม่มีมูลความจริง แต่เหตุการณ์นี้ทำให้บิ๊กหอยเกือบถอดใจ ถึงกับไปคุยกับ อ.วิจิตร ว่าต้องการถอนตัว แต่เลขาธิการสมาคมฯ ก็โน้มน้าวให้สู้ต่อ พร้อมมอบหมายให้ทำทีมฟุตบอลชุดใหม่เพื่อสู้ศึกกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ครั้งที่ 26 ณ เมืองแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา ในปี 2539

ทีมนี้เองที่กลายเป็นทีมประวัติศาสตร์ซึ่งคนไทยจดจำได้จนถึงทุกวันนี้ โดยเขาได้รุ่นน้องสวนกุหลาบอย่าง ‘บิ๊กกร๊อง’ วิรัช ชาญพานิชย์ เป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีม และ ‘น้าชัช’ ชัชชัย พหลแพทย์ โค้ชทีมชุด 19 ปี ซึ่งตัดสินใจทิ้งงานประจำที่มั่นคงในธนาคารกรุงเทพ มาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสตาฟฟ์โค้ชเต็มตัว

ความตั้งใจของบิ๊กหอยคือการทุ่มเงินกว่า 10 ล้านบาท เพื่อรวบรวมนักเตะยอดฝีมือ อายุระหว่าง 19 – 21 ปีจากสโมสรต่างๆ มาฝึกซ้อมร่วมกันเป็นระยะเวลา 18 เดือน โดยมีเงินเดือนให้เริ่มแรกคนละ 5,000 บาท และเบี้ยเลี้ยงต่างหากวันละ 200 บาท

เมื่อก่อนเวลาจะแข่ง เขาก็เรียกตัวดังๆ มาแล้วให้ค่าเบี้ยเลี้ยง 50 บาทต่อวัน เราก็รู้สึกว่าทำแบบนี้จะไปชนะเขาได้อย่างไร ก็ทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกับพวกมาเลย์ สิงคโปร์ ต้องมีทีมเวิร์กกว่านี้ ต้องฟิตกว่านี้ ดังนั้น ให้มาเก็บตัวอยู่กับเราเพื่อจะได้ให้เทคนิคพิเศษ พอถึงเวลาจริงๆ ไม่มีคนมา เนื่องจากสโมสรต่างๆ ไม่ให้มา”

บิ๊กหอยยังจำได้ถึงคำพูดของบิ๊กท่านหนึ่งในวงการฟุตบอลที่ว่า “คุุณหอยอย่าเป็นคนเห็นแก่ตัว ถ้าอยากทำฟุตบอลก็ไปฝึกเอาเอง อย่าไปเที่ยวเอาเด็กของสโมสร เขาฝึกกันมาตั้งแต่เด็กๆ เหมือนเป็นการชุบมือเปิบ”

เขาจึงเปลี่ยนแผนมาฝึกเด็กเอง เด็กเกือบทั้งหมดเป็นพวกไร้ชื่อเสียง ส่วนใหญ่เป็นตัวสำรองของสโมสรต่างๆ หรือบางคนก็ไม่เคยแข่งขันชิงถ้วยใดๆ เลย เช่น สุชิน พันธ์ประภาส โดยมีตัวแทนทีมชาติชุดเยาวชนอายุ 16 ปีเช่น ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล และ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง เข้ามาเสริมทีม

บิ๊กหอยเรียกทีมในฝันแบบขำๆ ว่า ‘ทีมรวมดาวกระจุย’

ฟุตบอลไทย ฟุตบอลไทย

ตอนแรกเราตั้งใจจะให้เบี้ยเลี้ยง 500 บาท แต่พอเห็นเด็ก ผมก็เลยบอกชัชชัยว่า อย่าเพิ่งให้นะ ชัชชัยก็บอกว่า ไม่เป็นไรครับพี่ ให้มัน 200 บาทก็พอ จากนั้นเราก็มาเก็บตัวอยู่ที่ออฟฟิศเก่าของผมแถวรามคำแหง”

แต่บุคคลที่เป็นผู้จุดประกายชื่อ ‘ดรีมทีม’ กลับเป็นนักข่าวชื่อดัง เทพไชย วิโนทัย ผู้สื่อข่าวสายกีฬาของ เดลินิวส์ และบิดาของนักเตะชื่อดัง ลีซอ-ธีรเทพ วิโนทัย

ช่วงนั้นโอลิมปิก 1992 เขาอนุญาตให้นักบาสอาชีพมาเล่น พวกตัวดังๆ ของอเมริกาก็เลยมารวมตัวกัน ปรากฏว่าวันหนึ่งเทพไชยเขาก็มาถามผมว่า พี่หอยเป็นไงบ้าง ทีมปั้นดินให้เป็นดาวเหรอ ผมก็บอกว่า แล้วแต่พวกคุณเถอะ เขาก็บอกว่า เอาอย่างนี้แล้ว โอลิมปิกคราวนี้พี่หอยอยากให้ไปใช่ไหม ทีมบาสอเมริกาตั้งชื่อกันแล้วว่าดรีมทีม ผมให้ทีมพี่เป็นดรีมทีมด้วยแล้วกัน แต่ว่าไม่ได้ตั้งแบบเชื่อมั่นนะ ตั้งแบบเสียดสี” บิ๊กหอยกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

ดรีมทีมได้รับภารกิจแรกให้ไปร่วมแข่งฟุตบอล Aiwa Merlion Cup ความจริงสิงคโปร์เชิญทีมชาติชุดใหญ่ไปแข่ง แต่เผอิญชุดนั้นติดภารกิจ อ.วิจิตร ก็เลยตัดสินใจส่งทีมในฝันไปแทน

เวลานั้นทุกคนต่างเชื่อว่าทีมชาติไทยชุดโนเนมนี้จะต้องเป็นหมูสนาม ไร้สกอร์อย่างแน่นอน บางคนบอกว่า ส่งไปทำไม เปลืองเงินเปล่าๆ และมีอีกเพียบที่เหน็บแหนมว่า เป็นของเล่นคนรวย มีเพียงบิ๊กหอยกับทีมสตาฟฟ์เท่านั้นที่เชื่อว่า ดรีมทีมมีสิทธิ์เข้ารอบ 2

ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล ยังจำศึกครั้งนั้นได้อย่างดี เพราะเป็นครั้งแรกที่มีแฟนบอลนับหมื่นมาดูจนเต็มสนาม แถมมีนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์เอเชียมาร่วมเล่นด้วย เป็นธรรมดาที่ต้องรู้สึกประหม่า แต่บิ๊กหอยและน้าชัชก็พยายามปลอบว่า ให้คิดว่าผู้ชมมาเชียร์พวกเราแล้วกัน เด็กๆ จึงทุ่มเทพลังอย่างเต็มที่

ฟุตบอลไทย

เพียงนัดแรก ดรีมทีมก็หักปากกาเซียน หลังยันเสมอทีมยักษ์ใหญ่อย่าง Lokomotiv Moscow จากรัสเซียได้สำเร็จ ชนิดที่ว่าเป็นฝ่ายไล่บี้อยู่เกือบทั้งเกมจนประทับใจแฟนๆ ชาวสิงคโปร์ที่พากันปรบมือจนลั่นสนาม

พอนัดที่ 2 พวกเขาสร้างเซอร์ไพรส์ได้จริงๆ หลังชนะทีมชาติมาเลเซียชุดใหญ่ 1-0 โดย สมาน ดีสันเที๊ยะ ลงมาเป็นซูเปอร์ซับ พุ่งเข้าชาร์จลูกเปิดของธวัชชัยเป็นประตูชัย และถือเป็นประตูแรกในประวัติศาสตร์ดรีมทีม

พอจบเกม บิ๊กหอย น้าชัช และนักเตะ ต่างร้องไห้กอดกันกลมดิก นักข่าวมาเลเซียถึงกับถามว่า ทำไมดีใจขนาดนั้น

บิ๊กหอยตอบว่า “ก่อนมามีเสียงเยาะเย้ยว่าทีมระดับนี้ไม่ถึง เอาธงชาติมาประจานทำไมกัน เด็กทุกคนก็รู้ว่าโดนดูถูกทำให้จำและเอามาสู้ ผมมันบ้าทุกคนก็รู้พอชนะวันนี้ทำให้ผมดีใจมากที่สุด ไม่เคยดีใจขนาดนี้เลยตั้งแต่เข้ามาทำทีมชาติไทย… แต่วันนี้ดีใจจริงๆ พวกเราพัฒนาขึ้นมาก ผมว่าเด็กชุดนี้หากได้รับการสนับสนุนดีๆ รับรองใช้ได้ พวกเขาจิตใจเกินร้อย”

แม้สุดท้ายดรีมทีมจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะพ่ายเจ้าภาพสิงคโปร์ 2-0 ทำให้ผลต่างประตูได้เสียสู้รัสเซียไม่ได้ ต้องตกรอบไปตามระเบียบ แต่ฟอร์มการเล่นที่น่าประทับใจก็ทำให้ดรีมทีมเริ่มมีชื่อเสียงและกลายเป็นขวัญใจทีมใหม่ของชาวไทย

 

2

ไทย B’ สู่เส้นทาง ‘ซูเปอร์สตาร์’

ผลงานที่น่าประทับใจในครั้งนั้นทำให้ดรีมทีมถูกยกระดับขึ้นมาเป็นทีมชาติชุดรอง ‘ไทย B’ มีโอกาสสู้ศึกในฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 24 เมื่อปี 2536

ช่วงนั้นบิ๊กหอยพยายามเสริมนักเตะหน้าใหม่ๆ ที่มีฝีมืออย่าง ดุสิต เฉลิมแสน และ รุ่งเพชร เจริญวงศ์ อดีตนักเตะทีมชาติชุด 19 ปีก็มีโอกาสกลับมารับใช้ชาติอีกหน

นอกจากนี้ ยังมีกระแสแย่งตัวนักเตะซูเปอร์สตาร์ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน มาร่วมทีมด้วย โดยตอนแรกเดอะตุ๊กตั้งใจขอวางมือชั่วคราว เพราะสภาพร่างกายไม่พร้อม ก่อนที่ พล.ต.ท. ชลอ เกิดเทศ (ยศในขณะนั้น) นายกสมาคมฯ จะกล่อมให้มาลงเป็นหัวหอกทีมไทย A ก่อนสู้ศึกไม่ถึงเดือน

แม้แฟนบอลส่วนใหญ่จะมุ่งความสนใจที่ทีมพี่เป็นหลัก หากแต่กระแสของทีมน้องก็มาแรงไม่แพ้กัน เพราะเพียงนัดแรก พวกเขาก็สามารถเอาชนะทีมเกาหลีใต้ ซึ่งรวบรวมนักเตะจากสโมสรสมัครเล่นและทีมชาติเยาวชนฝีมือดี ด้วยสกอร์ 2-1 พอแมตช์ที่ 2 เจอรัสเซีย แม้ชนะไม่ได้ แต่ก็ยันเสมอ 1-1 สำเร็จ เข้าป้ายเป็นอันดับ 1 ของสาย

แต่น่าเสียดายที่รอบรองชนะเลิศ ไทย B พลาดท่าแพ้จีน และนัดชิงที่ 3 ก็แพ้จุดโทษเกาหลีใต้ 4-3

ฟุตบอลไทย ฟุตบอลไทย

แม้จะจบด้วยอันดับ 4 แต่ก็ได้รับเสียงชื่นชมจากแฟนบอลอย่างมาก ส่งผลให้บิ๊กหอยได้รับความไว้วางใจจากสมาคมฯ ให้รับผิดชอบทีมชาติอีกหลายชุด ตั้งแต่ทีมพรีเวิลด์คัพ ซึ่งต้องไปแข่งไกลถึงญี่ปุ่น โดยนอกจากเป็นการผสมผสานนักบอลชุดใหญ่กับดรีมทีมแล้ว ยังได้นักเตะฝีเท้าดีอย่าง ธชตวัน หรือชื่อเดิม ตะวัน ศรีปาน ซึ่งถือเป็นนักเตะเพียงคนเดียวที่บิ๊กหอยชักชวนด้วยตัวเอง มาร่วมทีมเป็นครั้งแรกด้วย

ผมไปดูบอลควีนส์คัพ แล้วเห็นไอ้แบนเล่นเบอร์ 10 ทีมราชวิถี เลยถามชัชชัยว่า เด็กคนนี้เป็นใคร คล่องมาก สเต็ปบอลดี ลูกออกจากเท้าไม่มีมั่ว ชัชชัยก็ตอบว่าไอ้แบน เรียนวิศวะอยู่ปี 2 แต่ว่ามันเอาจริงเรื่องเรียน ผมเลยบอกว่า เรียกมาก่อนแล้วกัน เขาก็ประกาศเรียกตะวัน ศรีปาน พอมาถึงมันก็บอกไม่ค่อยพร้อมครับ ติดเรียน ผมก็บอกว่า วันไหนติดเรียนก็ไปเรียน วันไหนไม่เรียนก็มาซ้อมแล้วกัน… ไอ้แบนเวลานั้นไม่มีใครรู้จักเลย ผมเลยโดนด่าเป็นเดือนว่าเอาดาราแก่งคอยคัพมาติดทีมชาติ

ฟุตบอลไทย ฟุตบอลไทย ฟุตบอลไทย

ตอนนั้นเป็นชุดเตรียมบอลโลก ไอ้โอ่ง (ดุสิต เฉลิมแสน) ติดสอบ ผมเลยบอกให้ชัชชัยไปถามไอ้แบนว่า ไปไหม มันก็ตอบว่า ไป เราก็ให้ติดสำรอง นัดแรกกับญี่ปุ่น แพ้ 1-0 แมตช์ 2 แพ้ UAE 2-0 และนัดสุดท้ายเล่นกับบังกลาเทศ ผมเลยบอกโค้ชฝรั่งชื่อ ปีเตอร์ สตับบ์ (Peter Stubbe) ให้เอามันลง เพราะเราตกรอบแล้วนี่ ปรากฏว่าทั้ง 90 นาที มันเล่นไม่เสียเลยแม้แต่ลูกเดียว และตั้งแต่นั้นมาก็ติด 11 ตัวแรกตลอด”

หากแต่ทัวนาเมนต์ที่เปลี่ยนชีวิตและทำให้ดรีมทีมกลายเป็นที่รู้จักที่สุด คือซีเกมส์ ครั้งที่ 17 ที่สิงคโปร์ เพราะเป็นครั้งที่ทีมไทยสามารถทวงคืนเหรียญทองกลับมาได้ และเป็นจุดเริ่มต้นการเป็นแชมป์ซีเกมส์ 8 สมัยซ้อน โดยผู้สร้างตำนานครั้งนั้นคือศูนย์หน้าตัวสำรอง เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ที่ถูกเปลี่ยนตัวลงมาในนาทีที่ 77

ตอนนั้นเราป้อแป้มาก สงสัยจะไปไม่รอด แล้วไอ้ฑูรย์ (วิฑูรย์ กิจมงคลศักดิ์) เจ็บ ขอออกก่อน ชัชชัยก็หันมาหาผม พี่จะเอาใครลงแทน ตอนนั้นก็มี 2 คน มีไอ้โก้ อายุ 17 ปี กับอีกคนหนึ่งเป็นนักเตะถ้วย ก. ผมก็เห็นว่าบอลจะหมดครึ่งหลังแล้ว ไอ้โก้มันแข็งแรงกว่าแล้วก็เร็ว ปรากฏว่ามันลงไปหลับหูหลับตา เอาท้ายทอยโหม่งเข้า ประตูคุมเสา 1 อยู่ ลูกเข้าเสา 2 ชนะ 4-3 กลายเป็นจุดเปลี่ยนของดรีมทีมเลย”

ฟุตบอลไทย ฟุตบอลไทย

ความสำเร็จของดรีมทีมยังมีต่อเนื่อง หลังพวกเขาคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 25 เมื่อปี 2537 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทีมไทย B คว้าแชมป์ โดยถล่มแชมป์สมัครเล่นของเยอรมนีในรอบชิงชนะเลิศถึง 4-0 จนเกิดกระแสฟีเวอร์ไปทั่วประเทศ ถึงขั้นมีขบวนแห่ หรืออย่างเกียรติศักดิ์ถูกทาบทามให้เป็นพรีเซ็นเตอร์ของเครื่องดื่มยี่ห้อดัง

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือการที่ชาวไทยหลายคนเชื่อว่า นี่อาจเป็นครั้งแรกที่ฟุตบอลไทยสามารถไปไกลระดับโลก

ฟุตบอลไทยไม่จำเป็นต้องด้อยพัฒนาไปจนโลกแตก” เมื่อเห็นพัฒนาการของทีมดีขึ้นเรื่อยๆ บิ๊กหอยก็ประกาศความมั่นใจต่อสื่อมวลชนจนเป็นข่าวฮือฮา

ฟุตบอลไทย ฟุตบอลไทย

 

3

ปั้นดินให้เป็นดาว

จากทีมรวมดาวกระจุยเมื่อปลายปี 2535 ที่เต็มไปด้วยนักเตะไร้ชื่อเสียง ใครจะเชื่อว่าไม่ถึง 2 ปี กลับกลายทีมฟุตบอลที่ไปที่ไหนคนก็รู้จัก กูรูฟุตบอลต่างวิเคราะห์ว่า ความสำเร็จครั้งนี้มาจากปัจจัย 3 อย่างที่ผสมกันอย่างลงตัว หนึ่งคือ การทุ่มไม่อั้นของบิ๊กหอย สองคือ ระเบียบวินัยและการดูแลร่างกายให้ฟิตที่สุดเท่าที่จะทำได้ของน้าชัช จนถูกขนานนามให้เป็นโค้ชจอมฟิต และสามคือ ความกลมเกลียวของนักเตะดรีมทีม

ฟุตบอลไทย

พวกเขาต้องเข้าแคมป์ซึ่งเต็มไปด้วยกฎระเบียบเหมือนโรงเรียนประจำ ตี 5 ครึ่งต้องตื่นมาออกกำลังกาย โดยทีมสตาฟฟ์โค้ชได้วางตารางซ้อมจนแน่น ไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ เว้นแต่คนที่ติดเรียนจริงๆ และถ้าใครฝ่าฝืนกฎหรือผิดวินัยก็จะถูกลงโทษตั้งแต่วิดพื้น วิ่งรอบสนาม จับนั่งเป็นตัวสำรอง จนถึงขีดชื่อออกจากทีม

ส่วนอาหาร บิ๊กหอยในฐานะเจ้าบ้านจัดเต็มทั้งพวกนมสด ซุปไก่ โปรตีนอาหารเสริม เกลือแร่ โดยเฉพาะขนมปัง ผลไม้ มีไม่ขาด เพื่อให้ร่างกายของนักเตะฟิตตลอดเวลา ที่สำคัญคือ เรื่องเหล้าบุหรี่นั้นห้ามเด็ดขาด ทั้งหมดนี้ก็เพื่อบำรุงร่างกายให้พร้อมสู้ศึกอย่างน้อยๆ 120 นาที เนื่องจากทีมต่างชาติหลายทีมมักประมาททีมไทยว่าวิ่งได้แค่ 60 นาทีก็คงไม่ไหวแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโค้ชเยอรมันที่ดรีมทีมเอาชนะในศึกคิงส์คัพนั่นเอง

อีกเรื่องหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ เทคนิคพิเศษจากลุงหอย ผู้จัดการทีมที่มักจะมีลูกเตะแปลกๆ ที่ครูพักลักจำจากนักเตะต่างชาติแถวหน้ามาสอนเหล่าสมาชิกดรีมทีม

ผมได้เปรียบคนอื่นเพราะเป็นคนดูบอลต่างประเทศเยอะ ผมเห็นลูกแปลกๆ กลับมาก็บอกกับชัชชัยว่า มาราโดน่าตัวแค่นี้ พอวิ่งเข้าไปหาลูก ไม่มีวันจับลูกอยู่กับที่ พอแตะออกขวาก็หักซ้ายเลย ชัชชัยก็ให้เด็กมาเป็นตุ๊กตา อย่างไอ้โก้ (เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง) ที่เล่นเก่งๆ นี่ผมสอนมากับมือ ไม่ได้สอนเพราะผมเก่ง แต่ผมดูเขามาแล้วเอามาปรับใช้กับทีม” บิ๊กหอยกล่าว

ขณะที่เด็กปั้นอีกคนอย่างเจ้าวัง ธวัชชัยเล่าว่า “พวกลูกยก ลูกเคิร์ฟ แกสอนหมด เพราะอยากให้เรามีทักษะเหมือนเขา สักส่วนหนึ่งก็ยังดี อย่างลูกปั่นนี่เราปั่นกันจนเจ็บขาหนีบ แต่แกก็จะมีรางวัลให้ เช่นถ้าปั่นเข้าให้ลูกละพัน ให้เรามีแรงจูงใจมากขึ้น”

ฟุตบอลไทย

ผลจากการรวมทีมแบบนี้ร่วมปีกลายเป็นความผูกพันทั้งในและนอกสนาม รู้ว่าใครชอบหรือไม่ชอบอะไร มีพฤติกรรมอย่างไร ชนิดมองตาก็รู้ใจแล้ว เจ้าวังเล่าว่า เวลาเขาได้บอลเพื่อนรวมทีมอย่างเกียรติศักดิ์, สมาน ดีสันเที๊ยะ หรือ สุชิน พันธ์ประภาส จะรู้เลยว่าต้องไปอยู่ตรงจุดไหนบ้าง

แต่ต้องยอมรับว่า แม้จะฝึกหนักจนกลายเป็นราชาลูกหนังของอาเซียน แต่ศักยภาพของดรีมทีมก็ยังเป็นรองอีกหลายๆ ทีมในเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งได้สิทธิ์ไปโอลิมปิกและฟุตบอลโลกเกือบตลอด

ภารกิจสำคัญในฐานะทีมพรีโอลิมปิกที่ทุกคนรอคอยมาตลอด 3 ปี ดรีมทีมอยู่ร่วมสายร่วมกับญี่ปุ่นและไต้หวัน ผู้ได้อันดับ 1 เท่านั้นจึงมีสิทธิ์คว้าตั๋ว แต่เพียงนัดแรกที่สุพรรณบุรี พวกเขาต้องเผชิญกับความจริงที่เจ็บปวด หลังปราชัยแพ้ญี่ปุ่นคาบ้าน ถึง 5-0 แม้อีก 4 วันต่อมาจะแก้หน้าได้บ้าง หลังชนะไต้หวัน 7-0 แต่ความหวังที่จะไปแอตแลนตาก็แทบจะเป็นศูนย์

ฟุตบอลไทย

ตอนนั้นบิ๊กหอยถูกสื่อมวลชนถล่มเละว่าชอบแทรกแซงโค้ช ส่วนน้าชัชก็ทำอะไรไม่ได้เพราะรับเงินเดือนจากบิ๊กหอย เป็นเหตุให้แพ้ขาดเช่นนี้ บิ๊กหอยเลยประกาศลาออก แต่ อ.วิจิตร ซึ่งตอนนั้นขึ้นมาเป็นนายกสมาคมฯ แล้วก็ยับยั้งบอกให้รอไปแข่งที่ญี่ปุ่นให้จบก่อนแล้วค่อยตัดสินใจอีกที พอกลับมาที่ทีมน้าชัชเลยบอกกับบิ๊กหอยว่า ไหนๆ ทีมก็ตกรอบแน่นอน ดังนั้น ทำไมเขาไม่ลองจัดทีมเองไปเลย

ผมบอกว่า เล่นไปเถอะ ศูนย์หน้าไม่ต้องมี อุดอย่างเดียว อย่าให้แพ้เกิน 2 ถือว่าสำเร็จแล้ว”

ปรากฏว่าแผนผึ้งมฤตยูหรือ Killer Bee ของบิ๊กหอยได้ผล เพราะแพ้ญี่ปุ่นไปเพียง 1-0 ส่วนอีกนัดชนะไต้หวัน 5-0

หลังจบศึกโอลิมปิก ดรีมทีมก็หมดภารกิจแรกโดยสมบูรณ์ บิ๊กหอยไม่ได้ลาออก เขายังมีบทบาทในการคุมนักกีฬาทีมชาติอีกพักใหญ่ มีการเรียกนักเตะฝีเท้าดีมาเสริมดรีมทีมหลายคน เช่น เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์, เสนาะ โล่งสว่าง สามารถพาทีมคว้าเหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่เชียงใหม่ได้สำเร็จ รวมทั้งแชมป์ไทเกอร์คัพ ซึ่งจัดครั้งแรกที่สิงคโปร์อีกด้วย

ฟุตบอลไทย

ก่อนที่ต่อมาเขาจะมีปัญหากับสมาคมฯ หลังถูกเบรกเรื่องการส่งนักกีฬาไปฝึกซ้อมที่บราซิล รวมทั้งโดนตั้งคำถามถึงวิธีเก็บตัวนักกีฬาระยะยาวซึ่งส่งผลกระทบกับสโมสร เพราะขณะนั้นเมืองไทยต้องการพัฒนาระบบไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกขึ้น เขาจึงค่อยๆ ลดบทบาทและถอนตัวไป พร้อมกับหมดยุคการฝึกนักฟุตบอลแบบดรีมทีมไปโดยปริยาย

กระทั่งต่อมาสมาคมฯ ประสบปัญหาวิกฤตศรัทธา หลังจบฟุตบอลไทเกอร์คัพ ครั้งที่ 2 เมื่อกลางปี 2541 อ.วิจิตร จึงเชิญบิ๊กหอยกลับมาคุมทีมชาติไทยอีกครั้ง โดยมีภารกิจสำคัญเพื่อสู้ศึกเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 6 – 20 ธันวาคม 2541

นักเตะดรีมทีมหลายคนก้าวขึ้นไปเป็นกำลังหลักของทีมชาติไทยชุดใหญ่ร่วมกับรุ่นพี่ๆ อย่าง นที ทองสุขแก้ว, สุรชัย จตุรภัทรพงษ์, ชัยยงค์ ขำเปี่ยม ผลปรากฏว่า ทีมชาติไทยสร้างประวัติศาสตร์ คว้าอันดับ 4 มาครองได้สำเร็จ

 

4

ความฝันที่ไม่มีวันจบ

หากใครเป็นแฟนบอลตัวจริง คงจดจำแมตช์ในตำนาน รอบ 8 ทีมสุดท้ายเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ณ ราชมังคลากีฬาสถาน

ช่วงต่อเวลาพิเศษ ทีมชาติไทยกำลังเสมออยู่กับทีมชาติเกาหลี 1 ประตูต่อ 1 โดยเหลือผู้เล่นน้อยกว่า 2 คน นาทีนั้นแทบไม่มีใครคิดถึงชัยชนะ ได้แต่พยายามยื้อให้ไปถึงช่วงยิงจุดโทษ หากแต่ในนาทีที่ 95 ไทยได้ฟรีคิก ดุสิต เฉลิมแสน เขี่ยบอลมาให้ ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล ซัดเต็มข้อเข้าไปตุงตาข่ายอย่างเหลือเชื่อ ทำให้ทีมชนะในทันทีด้วยกฎโกลเด้นโกล

ฟุตบอลไทย

ภาพหนึ่งที่ทุกคนจดจำได้ดีคือ เจ้าวัง ธวัชชัย วิ่งมากอดบิ๊กหอยที่ซุ้มม้านั่งสำรอง พร้อมกับกระซิบบางอย่าง

ก่อนหน้านั้น ช่วงหลังจบศึกโอลิมปิกรอบคัดเลือกที่ญี่ปุ่นบิ๊กหอยได้เรียกประชุมทีม โดยประเด็นสำคัญคือ เรื่องแทรกแซงการทำหน้าที่ของสตาฟฟ์โค้ช

ตอนนั้นผมถามวังว่า ไหนยกตัวอย่างว่าเรื่องอะไรบ้างที่ลุงสอนแล้วทำให้เราเล่นแล้วเสีย มันคงนึกอะไรไม่ออก เลยบอกว่า เวลาฝึกลุงก็ชอบมาบอกว่าให้หัดแต่ลูกไซด์โป้ง ผมก็บอกว่า ไม่ดีเหรอ พวกบราซิลที่ยิงก็มีแต่ไซด์โป้งกับไซด์ก้อย หลังจากนั้นทีมแตกชั่วคราว วังไปเล่นให้โอสถสภา ชัชชัยก็แอบมากระซิบว่า มันเอาลูกที่ผมสอนไปยิงเข้าฉิบหายวายป่วง วันหนึ่งผมเดินผ่านก็เรียก เฮ้ย! วัง ได้ข่าวลูกที่บอกว่ายิงแล้วข้อเท้าเสียยิงเข้าบ่อยไม่ใช่เหรอ มันก็บอก โธ่ลุง! แล้วก็เดินหนี

ฟุตบอลไทย

“ถึงวันที่เล่นกับเกาหลี ช่วงที่มันวิ่งมากอดผม รู้ไหมว่ามันพูดว่าไง ลุง…ลูกที่ลุงสอนผมทำให้ลุงแล้วนะ ผมยิงได้แล้ว เลิกพูดได้แล้วนะ… เห็นไหมลูกที่ผมสอน ไม่ได้ซี้ซั้ว เพราะผมจำเขามา” บิ๊กหอยเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

อาจกล่าวได้ว่า ชัยชนะในแมตช์ประวัติศาสตร์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเก็บตัวไม่กี่เดือน แต่เกิดจากการบ่มเพาะความรู้ที่มีรากฐานมาจากดรีมทีมเมื่อหลายปีก่อน นักเตะที่ลงแข่งก็คืออดีตเด็กโนเนมจากทีมในฝันมากกว่าครึ่ง

ยุคของทีมชาติดรีมทีมหมดไปช่วงใดไม่ปรากฏ นักเตะรุ่นใหม่เข้ามาแทนสมาชิกดรีมทีมรุ่นตั้งต้นที่ต่างกระจัดกระจายไปตามทางของตัวเอง บางคนยังเล่นให้ทีมชาติไทยจนถึงปี 2550 อย่างเกียรติศักดิ์ เสนาเมือง แต่ขณะเดียวก็ไปค้าแข้งในสโมสรต่างประเทศด้วย อีกไม่น้อยที่ตัดสินใจวางมือไปประกอบอาชีพที่มั่นคง

แม้วันนี้การทำฟุตบอลแบบดรีมทีมอาจไม่ตอบโจทย์โลกฟุตบอลสมัยใหม่ที่มีการพัฒนาเทคนิคความรู้ ระบบการเล่น ใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วย แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ดรีมทีมคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ฟุตบอลไทยยกระดับและก้าวมาจนถึงปัจจุบัน

“ดรีมทีมเรียกศรัทธาแฟนบอลไทยให้กลับมา ก่อนหน้าดรีมทีมฟุตบอลไทยอาจมีคนดูบ้าง แต่กระแสคลั่งไคล้ ติดตามตลอด เกิดขึ้นจากดรีมทีมจริงๆ เพราะหลังประสบความสำเร็จในคิงส์คัพ เราก็พยายามสร้างกระแส ปลุกศรัทธาของแฟนบอลให้เชียร์ทีมชาติ ตอนนั้นลุงหอยพาเราไปทุกจังหวัดเลยนะ ไปอุ่นเครื่องกับนักเตะแต่ละจังหวัดที่ไม่มีชื่อเสียง ซึ่งคนเต็มสนามทุกนัด เป็น 10,000 – 20,000 ไม่มีนัดไหนเลยที่คนดูน้อย” เจ้าแบน ธชตวัน จำบรรยากาศเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

“มีอยู่ครั้งหนึ่งเราไปทางใต้ ไม่แน่ใจว่านราธิวาสหรือสตูล สนามก็คล้ายๆ กับบอล อบต. เลย แต่คนก็ยังมาเป็นหมื่น แถมวันนั้นก็ฝนตกด้วย แต่ก็ไม่มีใครกลับ อยู่รอจนเราเลิก เขาก็วิ่งลงมาขอลายเซ็น กว่าจะออกจากสนามมาใช้เวลานานมาก ตั้งแต่นั้นมาดรีมทีมก็เลยต้องมีบอดี้การ์ด มีคนคอยกันแต่ละคนเลย”

สมาชิกหลายคนเมื่อเลิกค้าแข้งก็เปลี่ยนตัวเองไปเป็นโค้ช นำประสบการณ์ที่ได้จากดรีมทีมไปเป็นแนวทางในการพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ ทั้งเกียรติศักดิ์ ธชตวัน ธวัชชัย ดุสิต ล้วนเคยคุมทีมสโมสรลุยศึกไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก

ขณะที่บิ๊กหอยกล่าวว่า หลายคนมักยกย่องสรรเสริญถึงสิ่งที่เขาทำกับดรีมทีม แต่ทั้งหมดนี้ขอปฏิเสธ

“มีคนบอกว่าผมเสียสละเพื่อชาติเพื่อสังคมมากเลย บอกได้เลยว่าไม่จริงหรอก ไม่มีสิ่งนี้ในหัวสมองเลย ผมทำเพราะผมชอบ ผมมีความสุขในการทำ เพียงแต่เรื่องที่ผมทำชาวบ้านเขาได้เสียกันเยอะ มันก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ เหมือนผมทุ่มเท แต่จริงๆ ผมชอบก็เลยทำ ผมสามารถอยู่สนามฟุตบอลได้ตั้งแต่เช้ายันเย็น ทั้งหมดนี้เป็นเพราะผมเสี้ยนเอง”

ฟุตบอลไทย

ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง และภาพประกอบ

 

  • สัมภาษณ์คุณวนัสธนา สัจจกุล อดีตผู้จัดการทีมชาติไทย ชุดดรีมทีม วันที่ 9 ธันวาคม 2561
  • สัมภาษณ์คุณธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล วันที่ 24 ธันวาคม 2561
  • สัมภาษณ์คุณธชตวัน ศรีปาน วันที่ 25 ธันวาคม 2561
  • นิตยสาร GM เดือนเมษายน 2537
  • หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พ.ศ. 2536 – 2537
  • หนังสือพิมพ์สยามกีฬา พ.ศ. 2535 – 2541
  • หนังสือพิมพ์โลกกีฬา พ.ศ. 2535 – 2537
  • นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ พ.ศ. 2536 – 2537

 

 

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว