ผมกลับมาอยู่เมืองไทยได้ปีกว่า เวลาเจอเพื่อนที่เรียนด้วยกันที่อเมริกาหรือจบจากอเมริกา ทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “อยากให้มีแอพอย่าง Venmo ที่ไทย”

ช่วงเป็นนักศึกษา MBA ที่ Kellogg School of Management เป็นช่วงเวลาที่ต้องโอนเงินให้เพื่อนบ่อยสุดแล้ว เพราะเวลาไปทริปกันต้องมีคนจ่ายค่าโรงแรม ค่ารถ หรือค่ากิจกรรมไปก่อน แล้วค่อยมาหารกัน เวลาไปกินข้าวกันเป็นกลุ่ม หลายร้านจะรับบัตรเครดิตไม่เกิน 4 ใบต่อโต๊ะ คนในโต๊ะก็ต้องไปจัดการกันเอง รวมถึงเวลาแชร์ค่าใช้จ่ายกับรูมเมท

ยิ่งที่อเมริกาคนส่วนใหญ่ไม่พกเงินสด พกแต่บัตรเครดิต การจ่ายเงินให้กันระหว่างเพื่อน ถ้าเป็นแบงก์เดียวกันก็ต้องขอรายละเอียดเลขบัญชี ถ้าต่างธนาคารก็ต้องเสียค่าธรรมเนียม ถ้าใช้ PayPal ก็ต้องรู้อีเมลของคนที่จะโอนให้ ตัวแอพใช้งานยาก และต้องใส่รหัสทุกครั้ง

หลังจากโอนเงินให้เพื่อนผ่านแอพธนาคารและ PayPal มาสักพัก ผมก็ได้รับการบอกต่อจากเพื่อนให้ใช้ Venmo หลังจากนั้นคำว่า Venmo ก็เป็นคำกริยาที่เราใช้เวลาโอนเงินให้ เช่น Just Venmo me เหมือนคำว่า Google

Venmo ทำให้การโอนเงินระหว่างกันเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด ฟรี และสนุก

การใช้งานนั้นง่ายมาก แค่ดาวน์โหลดแอพ ลงทะเบียนผ่าน Facebook และกรอกข้อมูลและรหัสเพื่อลิงก์กับ online banking หรือบัตรเดบิตเท่านั้น

ตอนใช้โอนเงินให้เพื่อนครั้งแรกผมรู้สึกทึ่งกับความง่ายในการโอนเงินอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน แค่เริ่มพิมพ์ชื่อของคนที่เราต้องการจะโอนเงินให้ Venmo ก็จะโชว์ชื่อเพื่อนบน Facebook ของเราตามตัวอักษรที่เราค้นหา หลังจากนั้น ผมก็ระบุจำนวนเงินที่ต้องการแล้วกดปุ่มจ่าย

ถ้าทำแค่นี้แอพจะไม่ให้ผ่าน เพราะแอพบังคับใส่ตัวอักษรอย่างน้อย 1 ตัวบนช่องอธิบาย What’s it for?

หลังจากใส่รายละเอียดแล้วก็กดปุ่ม Pay

เพียงแค่นี้เงินก็จะไปปรากฏบนบัญชี Venmo ของเพื่อน ซึ่งผู้รับสามารถโอนเข้าบัญชีธนาคารได้และเงินจะเข้าบัญชีภายในประมาณ 1 วัน

ไม่ต้องจำเลขบัญชีหรือเบอร์มือถือ ไม่ต้องกดรหัสเพื่อยืนยันความปลอดภัย

ไม่ใช่แค่จ่ายเงิน แต่ Venmo ยังมีปุ่ม Request ให้เราสามารถบอกเพื่อนให้จ่ายเงินเราได้ด้วย ตอบโจทย์เวลาทวงเงินมากๆ

ปุ่มนี้อยู่ติดกับปุ่ม Pay ทำให้หลายครั้งแทนที่จะ Request เรากลับ Pay ทำให้ต้องไป Request เพิ่มเป็น 2 เท่า

ด้วยความที่แอพนี้เป็นแอพที่ต้องมีผู้รับเงินหรือส่งเงิน เมื่อเราชอบใช้แอพนี้ เพื่อนของเราก็ต้องใช้ตาม

Venmo เข้าใจในส่วนนี้ดีจึงออกแบบให้ผู้ใช้สามารถส่งเงินให้คนที่ไม่ได้เป็นเพื่อนกับเราบน Facebook หรือยังไม่มี Venmo เราจึงโอนเงินได้โดยใช้แค่อีเมลหรือเบอร์โทรแทน

อีกฟีเจอร์ที่เจ๋งของ Venmo คือการโชว์รายละเอียดว่าเพื่อนคนไหนจ่ายให้ใครบ้างใน What’s it for? แต่ไม่โชว์จำนวนเงิน คล้าย News Feed ของ Facebook ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนให้คนอื่นไม่เห็นได้

สิ่งนี้ทำให้ Venmo มีความเป็น social คนอยากรู้ว่าคนอื่นทำอะไร เพิ่มลูกเล่นความสนุกให้ไม่เป็นแค่แอพจ่ายเงินทั่วไป

ด้วยความเป็น viral ในตัวเองและการใช้งานที่ง่ายและตอบโจทย์การโอนเงินให้เพื่อนทุกอย่าง Venmo จึงประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ตัวแอพใช้เวลาในการพัฒนานานอยู่และทดสอบให้คนใช้ในวงจำกัด Beta Launch กว่า 2 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถเชื่อมต่อกับ online banking บัตรเครดิต และเดบิต ของทุกธนาคารในอเมริกา และสามารถโอนเงินได้อย่างไม่มีข้อผิดพลาด

ภายใน 4 เดือนหลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการและโฟกัสไปที่กลุ่มนักศึกษาซึ่งประสบปัญหาที่ตัวแอพสามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี Venmo จึงมีผู้ใช้หลักแสนและมีเงินโอนกว่า 10 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน และถูกซื้อโดย Braintree ฟินเทคสตาร์ทอัพด้านระบบชำระเงินออนไลน์ ด้วยมูลค่ากว่า 24 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนสิงหาคม 2012

ถึง Venmo จะยังไม่มีรายได้และยังไม่มีแผนหารายได้ แต่ด้วยตัวเลขผู้ใช้ที่เติบโตอย่างน่าทึ่งและการเป็นโปรดักต์ที่ใช้โอนเงิน การหารายได้คงไม่ใช่เรื่องยาก

ขอขอบคุณ: สุวิชา พุทซาคำ

Writer

Avatar

มาโนช พฤฒิสถาพร

มาโนชสนใจด้านสตาร์ทอัพมาก เขามีประสบการณ์ทำสตาร์ทอัพทั้งที่ไทยและอเมริกา เขาจบ MBA จาก Kellogg School of Management ที่นั่นเขาสมัครงานบริษัทเทคโนโลยีในตำแหน่งด้านธุรกิจกว่า 3,000 งาน ศึกษาบริษัทเตรียมตัวสัมภาษณ์กว่า 200 บริษัท สุดท้ายได้งานที่ Credit Karma บริษัทสตาร์ทอัพมูลค่าแสนล้านที่ SF มาโนชกลับมาทำสตาร์ทอัพด้านแฟชั่นที่ไทย Fred & Francis มาโนชยังเป็นนักเขียนตัวยง เขาเป็นเจ้าของหนังสือ A DREAM TO DIE FOR ล้ม 3,000 ครั้ง เพื่อชนะฝันเดียว