หนึ่งในปัญหาตอนผมเริ่มทำสตาร์ทอัพของตัวเองครั้งแรกคือ การโอนเงินจากอเมริกามาไทย

FitFactory คือสตาร์ทอัพแรกที่ผมทำ เราอยากให้คนอเมริกาที่ไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่สามารถตัดสูทในราคาเข้าถึงได้

ผมเริ่มทำเพราะมองหาสิ่งที่เราในฐานะคนไทยพอจะไปสู้กับสตาร์ทอัพท้องถิ่นได้บ้าง ก็มาเจอว่ามีฝรั่งบินมาตัดสูทที่ไทยเยอะมาก และเพื่อนอเมริกันแทบไม่มีใครใส่สูทสั่งตัดเลย เพราะแพงมาก

ผมติดต่อร้านตัดสูทที่ผมใช้บริการและเขาสนใจรับออร์เดอร์จากผม

เมื่อเริ่มมีลูกค้า เริ่มส่งออร์เดอร์และรับสินค้า ผมต้องจ่ายเงินให้ร้านที่ไทย

ผมเริ่มกูเกิลหาวิธี และสอบถามคนที่โอนเงินกลับไทยบ่อยๆ เพราะต้องจ่ายเงินให้ร้านที่ไทยเดือนละ 2 ครั้ง

ทางเลือกที่เจอล้วนแต่คิดค่าธรรมเนียมที่สูงและอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างไม่ดี

จนกระทั่งผมเจอ TransferWise สตาร์ทอัพที่ให้อัตราแลกเปลี่ยนและค่าธรรมเนียมที่ดีกว่าธนาคารทั่วไป

เมื่อลองใช้แล้วผมพบว่า อัตราแลกเปลี่ยนนั้นดีจริง ดีกว่าที่อื่นประมาณ 10 – 20% และค่าธรรมเนียมก็ต่ำมาก 0.7 – 1%

การใช้งานนั้นง่ายมาก ผมสมัครโดยล็อกอินผ่าน Facebook และเชื่อมต่อกับบัญชีออนไลน์แบงกิ้งที่อเมริกา

เมื่อต้องการโอน ก็แค่ใส่จำนวนเงินที่ต้องการจะโอน เลือกสกุลเงิน ใส่ชื่อธนาคารและเบอร์บัญชีผู้รับ ใส่รหัสออนไลน์แบงกิ้ง และกดยืนยันการโอน

เพียงแค่นี้เงินก็จะส่งเข้าบัญชีผู้รับภายใน 4 วัน

อัตราแลกเปลี่ยนและค่าธรรมเนียมที่ดีสุดในตลาดนั้นมาจากแนวคิด Peer to Peer

ช่วง 4 วันระหว่างโอนเงินเข้าบัญชีผู้รับ TransferWise รอคนโอนสกุลเงินที่ตรงข้ามกับเรา เช่น ผมจะโอนดอลลาร์ฯ เป็นบาท และมีผู้ใช้อีกหนึ่งคนโอนบาทเป็นดอลลาร์ฯ

เมื่อเจอแล้ว TransferWise จะโอนเงินดอลลาร์ฯ ผมให้กับอีกคน และเอาเงินบาทจากอีกคนโอนเข้าบัญชีไทยที่ผมต้องการโอนให้ ไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงินจริงให้เสียอัตราแลกเปลี่ยน

ถ้าไม่มีคนทำรายการตรงข้ามเรา TransferWise ก็จะแลกเงินในตลาด

ด้วยโมเดลนี้ ความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนจึงต่ำมากและประหยัดค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นประโยชน์กับผู้โอนเงินทั้งสองฝั่ง

วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา TransferWise เพิ่งประกาศข่าวดีว่าบริษัทได้รับเงินลงทุนจำนวน 280 ล้านดอลลาร์ฯ ทำให้มูลค่าบริษัทในปัจจุบันนั้นสูงถึง 1.6 พันล้านเหรียญฯ หรือกว่า 53,000 ล้านบาท

เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพจากยุโรปที่ประสบความสำเร็จที่สุด มีเงินโอนผ่านระบบกว่า 1 พันล้านปอนด์ต่อเดือน

ตอนนี้ TransferWise ยังไม่สามารถโอนเงินออกจากบัญชีแบงก์ไทยได้ แต่ด้วยโมเดลธุรกิจที่ชัดเจนว่าเป็นประโยชน์จริง อีกไม่นานเราคนไทยน่าจะได้ใช้บริการแนวนี้เป็นแน่

ขอขอบคุณ: สุวิชา พุทซาคำ

Writer

Avatar

มาโนช พฤฒิสถาพร

มาโนชสนใจด้านสตาร์ทอัพมาก เขามีประสบการณ์ทำสตาร์ทอัพทั้งที่ไทยและอเมริกา เขาจบ MBA จาก Kellogg School of Management ที่นั่นเขาสมัครงานบริษัทเทคโนโลยีในตำแหน่งด้านธุรกิจกว่า 3,000 งาน ศึกษาบริษัทเตรียมตัวสัมภาษณ์กว่า 200 บริษัท สุดท้ายได้งานที่ Credit Karma บริษัทสตาร์ทอัพมูลค่าแสนล้านที่ SF มาโนชกลับมาทำสตาร์ทอัพด้านแฟชั่นที่ไทย Fred & Francis มาโนชยังเป็นนักเขียนตัวยง เขาเป็นเจ้าของหนังสือ A DREAM TO DIE FOR ล้ม 3,000 ครั้ง เพื่อชนะฝันเดียว