สมัยผมเรียน MBA ที่ Kellogg School of Management เป้าหมายของผมคือ การหางานที่อเมริกาให้ได้
ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการฝึกภาษาอังกฤษ ฝึกสัมภาษณ์ สมัครงาน และทำ networking เว็บที่เข้าบ่อยคือ Indeed และ Venturebeat เป็นเว็บที่รวบรวมประกาศรับสมัครงานบนเว็บต่างๆ มาอยู่ที่เดียว และใช้ LinkedIn เพื่อรีเสิร์ชตัวบุคคล
อีกเว็บหนึ่งที่ผมใช้บ่อยคือ Glassdoor เพื่อรีเสิร์ชเกี่ยวกับบริษัทและการสัมภาษณ์งาน
ผมรู้จัก Glassdoor ครั้งแรก จากคำแนะนำของรุ่นพี่
ตอนนั้นผมเริ่มสมัครงานบริษัทที่ทางชมรม High Tech ที่ Kellogg ไม่มีข้อมูลการสัมภาษณ์งาน
เมื่อเข้ามาที่เว็บไซต์ www.glassdoor.com ผมเสิร์ชหาชื่อบริษัทที่อยากรู้เพิ่มเติม ผมมาที่หน้าของบริษัทนั้น แล้วเจอรีวิวบริษัทจากพนักงานที่ทำงานอยู่ อดีตพนักงาน หรือรีวิวจากคนที่เคยมาสัมภาษณ์งานกับที่นี่ และรีวิวเงินเดือน
แต่พอจะอ่านรีวิวอันที่สาม ทาง Glassdoor บังคับให้ผม create account และรีวิวบริษัทที่ผมเคยทำ
ตอนสมัครนั้นสะดวกมาก เพราะสามารถล็อกอินผ่าน LinkedIn ได้ และ Glassdoor จะดึงข้อมูลของเราบน LinkedIn มา ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาพิมพ์ชื่อบริษัทและปีที่ทำงานเวลาเขียนรีวิว
การให้ผู้ใช้อ่านฟรีและบังคับให้ผู้ใช้ต้องรีวิวงานตัวเองถึงจะอ่านได้มากขึ้น ทำให้ Glassdoor มียอดรีวิวจำนวนมาก
ข้อมูลที่ผมสนใจคือ คำถามที่บริษัทถามคนมาสัมภาษณ์งาน ผมก๊อปปี้คำถามใส่ในไฟล์ Microsoft Word เพื่อเตรียมตัวสัมภาษณ์ และอ่านรีวิวเกี่ยวกับบริษัทบ้างเผื่อเจอข้อมูลที่น่าสนใจ
สุดท้ายเมื่อผมได้งานที่ Credit Karma แล้ว ผมก็เข้าเว็บ Glassdoor เพื่อดูว่าตำแหน่งที่ผมทำที่อื่นเขาได้เงินเดือนกันประมาณเท่าไร ซึ่งเป็นประโยชน์มากในการหาข้อมูลเพื่อต่อรองเงินเดือน
ข้อมูลพวกนี้เป็นข้อมูลที่คนหางานอยากรู้ แต่บริษัทไม่เคยเปิดเผย และหาที่อื่นไม่ได้นอกจากรู้จักคนที่ทำงานที่นั่น
ด้วยจำนวนบริษัทที่มีอยู่มาก โดยเฉพาะที่อเมริกา ข้อมูลบนเว็บ Glassdoor จึงตอบโจทย์และเป็นประโยชน์ต่อคนหางานมาก
และด้วยจำนวนรีวิวหลายล้านรีวิว ทำให้ Glassdoor ขึ้นเป็นอันดับต้นๆ บน Google เวลาคนเสิร์ชเรื่องเกี่ยวกับการสมัครงาน
อีกกรณีหนึ่งที่ทำให้จำนวนรีวิวบน Glassdoor นั้นมหาศาลมากคือ ตัวบริษัทเอง
ในช่วงปี 2 เทอมสอง ผมไปฝึกงานกับสตาร์ทอัพด้านการตลาดชื่อ Tagkast ในเมืองชิคาโก 2 วันต่อสัปดาห์
ในการประชุมทีมครั้งหนึ่ง พนักงานฝ่ายบุคคลบอกทุกคนในบริษัทซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 คนว่า ในเดือนนี้เราอยากให้ทุกคนไปรีวิวบริษัทบน Glassdoor
เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงพลังของ Glassdoor ที่มีต่อภาพลักษณ์ของบริษัท
แน่นอนว่าบริษัทต้องมีวิธีในการตรวจสอบและคัดกรองข้อมูลรีวิวให้จริงและน่าเชื่อถือที่สุด
Glassdoor ใช้เวลา 10 ปีในการสร้างแพลตฟอร์มด้านคอนเทนต์บริษัทที่ทรงพลังที่สุด เมื่อใหญ่ขนาดนี้แล้ว ก็ยากที่คนอื่นจะสู้ได้
มูลค่าบริษัทปัจจุบันนั้นอยู่ที่ 1 พันล้านเหรียญฯ และบริษัทมีกำไรจากการให้บริษัทอื่นมาลงโฆษณาประกาศรับสมัครงาน และให้บริษัทเหล่านั้นจ่ายเงินเพื่อให้หน้าของบริษัทบน Glassdoor พิเศษกว่าที่อื่น
ประโยชน์ของ Glassdoor ไม่ใช่แค่ให้ข้อมูลที่ผู้ใช้อยากรู้แล้วหาที่อื่นไม่ได้ แต่ยังช่วยให้เกิดความโปร่งใสและความเป็นธรรมกับคนมาสัมภาษณ์งานที่ถึงบริษัทจะไม่รับก็ต้องดูแลเขาให้ดี และช่วยให้คนทำงานได้รับเงินเดือนที่แฟร์
เมื่อเห็นความไม่โปร่งใสในอุตสาหกรรม และสามารถหาโปรดักต์และบิซิเนสโมเดลที่แก้ปัญหาและตอบโจทย์ทุกฝ่าย เมื่อนั้นโอกาสในการสร้างสตาร์ทอัพที่มีแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งก็ย่อมเป็นไปได้
ขอขอบคุณ: สุวิชา พุทซาคำ