Sprig คือหนึ่งในสตาร์ทอัพที่ผมชอบที่สุดตอนอยู่อเมริกา ผมชอบความตั้งใจ ชอบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงชอบตัวตนและแนวคิดของผู้ก่อตั้ง นั้นทำให้ผมใช้บริการ Sprig บ่อยมาก แต่สุดท้าย Sprig ก็ต้องปิดตัวลง

Food Delivery หรือบริการส่งอาหาร เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่คึกคักมากในไทยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีเวลา ชอบความสบาย และชอบกินของอร่อย

ที่อเมริกาก็เช่นกัน นอกจากจะมีสตาร์ทอัพด้านการส่งอาหารเกิดขึ้นจำนวนมาก ตลาดที่นั่นก็ดูเหมือนจะต้องการบริการด้านนี้มากกว่าที่ไทยเสียอีก เพราะเขาไม่ได้มีของกินอร่อยอยู่ทุกที่เหมือนกรุงเทพฯ และร้านสะดวกซื้อที่นั่นก็ไม่ได้เต็มไปด้วยของน่ากินเหมือนร้านสะดวกซื้อที่บ้านเรา

ตอนผมอยู่ที่ซานฟรานฯ และกำลังทำสตาร์ทอัพของตัวเอง ตอนนั้นผมอยู่คอนโดฯ คนเดียว ทำแต่งาน ไม่ได้ออกไปไหน ผมจึงมีโอกาสได้ลองใช้สตาร์ทอัพจัดส่งอาหารหลายต่อหลายเจ้า แต่ก็ไม่มีเจ้าไหนที่ผมใช้บริการเป็นประจำ

ปัญหาหลักคือ ราคาแพงและไม่ทันใจ สตาร์ทอัพที่นั่นคิดค่าส่งประมาณ 5 – 15 ดอลลาร์ฯ จากเมนูร้าน และใช้เวลาประมาณ 60 – 90 นาทีกว่าจะได้รับอาหาร ไม่เพียงใช้เวลารอรับอาหารนาน ผมยังต้องใช้เวลาในการสั่งอาหารด้วยเพราะไม่รู้จะสั่งอะไรดี

จนกระทั่งได้รู้จัก Sprig ผมก็กลายเป็นลูกค้าขาประจำ

Sprig แตกต่างจากเจ้าอื่นที่ตรงที่ หนึ่ง มีเมนูให้เลือกแค่วันละ 5 – 7 อย่างและเปลี่ยนทุกวัน สอง ทุกเมนูดีต่อสุขภาพ บอกรายละเอียดด้านโภชนาการไว้ครบถ้วน สาม ถ้าสั่งช้า บางเมนูอาจหมด โดยจะขึ้นให้เห็นแบบ real time สี่ ราคาถูกกว่าที่อื่น โดยค่าอาหารรวมจัดส่งจะอยู่ที่ 14 – 19 ดอลลาร์ฯ ในขณะที่ถ้าสั่งร้านอื่นมื้อนี้จะมีราคา 20 ดอลลาร์ฯ ขึ้นไป

สิ่งที่น่าทึ่งที่สุดคือ ผมได้รับอาหารภายใน 30 นาที

ไม่เพียงอาหารที่สั่งมาส่วนใหญ่จะอร่อยไปจนถึงอร่อยมาก แต่ยังร้อนๆ อยู่ทุกครั้ง ตัวอย่างเช่น Scrambled Egg & Bean Burrito, Beef Bolognese with Roasted Butternut Squash

Sprig ทำได้อย่างไร ให้ทั้งอร่อย เร็ว และถูก

หนึ่ง ผู้ก่อตั้งเก่งมาก

ผมโชคดีที่มีโอกาสได้ฟัง Gagan Biyani (กาแกน บิยานี) CEO และผู้ก่อตั้งของ Sprig ครั้งหนึ่ง ฟังแล้วผมก็ไม่สงสัยเลยว่าทำไม Sprig ถึงตอบโจทย์ผู้ใช้ได้ดีเพียงนี้ เขาเล่าว่า เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Udemy เว็บไซต์เรียนออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเคยเป็นหัวหน้าฝ่าย Growth ที่ Lyft คู่แข่งที่ใหญ่ที่สุดของ Uber ในอเมริกา กาแกนได้เรียนรู้ว่าจะสร้างเว็บไซต์และแอพพลิเคชันอย่างไรให้คนชอบจาก Udemy ในขณะที่เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีและการขนส่งมาจากการทำงานที่ Lyft

ซึ่งพอมาทำ Sprig ถึงจะยากมากเพราะทำเองหมดทั้งซื้อวัตถุดิบ ทำครัว ส่งมอบ และสร้างแอพพลิเคชัน แต่เขาก็อาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมา โดยเรียนรู้เพิ่มแค่เรื่องที่เกี่ยวกับอาหาร

เขาเล่าที่มาของไอเดียว่า เขาเป็นคนทำงานหนักมากและใช้บริการส่งอาหารบ่อย ผลคือน้ำหนักของเขาขึ้นเอาๆ เขาจึงอยากสร้างสตาร์ทอัพที่มีเป้าหมายคือ Eat Well ให้คนจำนวนมากได้กินสิ่งดีๆ อย่างสะดวกสบายที่สุด

สอง เริ่มให้เล็กและมีโฟกัส

เป้าหมายของเขาคือ ทำให้คนเลิกกินฟาสต์ฟู้ด ไม่ใช่แข่งกับสตาร์ทอัพขนส่งอาหารเจ้าอื่น เขาทดสอบตลาดด้วยการเริ่มให้เล็กที่สุด โดยการโพสต์หาลูกค้าที่อยากได้อาหารที่มีประโยชน์และจัดส่งถึงที่ิบนเว็บ Craigslist เว็บลงประกาศสารพัดเรื่องที่ใหญ่สุดในอเมริกา โดยที่ยังไม่มีเว็บไซต์ พร้อมกันนั้นก็โพสต์หาพ่อครัวบน Craigslist เมื่อได้ออร์เดอร์ก็ส่งให้พ่อครัวและใช้บริการ Lyft ไปรับอาหารและส่งให้ลูกค้า เขาเริ่มกระบวนการนี้ที่ซานฟรานซิสโกเป็นที่แรก

สาม มี Business Model ที่ตอบโจทย์

Sprig ใช้วิธีไปซื้อร้านอาหารเก่าแล้วเปลี่ยนเป็นครัวของ Sprig เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด ไม่ใช่แค่เรื่องต้นทุนครัว แต่ Sprig ยังคำนึงถึงต้นทุนขนส่ง Sprig จึงมีครัวกระจายตามบริเวณต่างๆ ในเมืองซานฟรานซิสโก

สี่ Data and Technology

Sprig ทำเองทุกอย่างตั้งแต่คิดเมนูจนถึงกระบวนการขนส่ง และ Sprig เป็นเทคสตาร์ทอัพ จึงใช้เทคโนโลยีมาช่วยทุกจุดเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน ให้ทั้งตอบโจทย์ผู้ใช้และลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด ที่สำคัญ Sprig วัดผลตอบรับของทุกเมนูอย่างจริงจังเพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุง โดย Sprig วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อทำนายความต้องการได้ และเอาข้อมูลนั้นไปกำหนดปริมาณอาหารที่จะทำและวางแผนรอบวิ่งของคนส่งให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด

ด้วยปัจจัยทั้ง ผู้ก่อตั้งที่มีประวัติขั้นเทพ ขนาดตลาดที่ใหญ่มาก จุดต่างที่ชัดเจน และมีผู้ใช้จำนวนมาก Sprig สามารถระดมทุนได้เป็นจำนวนกว่า 52 ล้านดอลลาร์ฯ หรือกว่า 1,800 ล้านบาทภายในเวลา 2 ปี และขยายไปยังชิคาโก

วันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ผมกลับมาอยู่เมืองไทยแล้ว ผมเห็นข่าวตามเว็บข่าวเทคโนโลยีว่า Sprig ปิดตัวลงแล้ว ผมตกใจและประหลาดใจกับข่าวนี้มาก เพราะเป็นสตาร์ทอัพที่ผมชื่นชอบและมีทีมที่สุดยอด แต่กลับต้องยอมแพ้ แม้จะเพิ่งระดุมทุนมาได้มหาศาล

กาแกนให้เหตุผลที่ตัดสินใจหยุดทำเพราะความยากลำบากและความซับซ้อนในการทำทุกอย่าง ตั้งแต่คิดเมนูทำอาหารไปถึงจัดส่ง ทำให้ไม่สามารถขยายได้เร็วอย่างที่ตั้งใจ

เมื่อตัดความชอบส่วนตัวและมองย้อนกลับไปดู ผมพบว่า

หนึ่ง ตลาด On Demand Delivery หรือขนส่งตามความต้องการนั้น ถึงจะเป็นตลาดที่ใหญ่มาก แต่เป็นธุรกิจที่ operations-heavy คือ พึ่งพาการจัดการ เกี่ยวเนื่องกับคนและการส่งสิ่งของ สตาร์ทอัพจำนวนมากพยายามหาวิธีที่ใช้เทคโนโลยีมาตอบโจทย์ผู้ใช้และยังทำกำไรและขยายได้เร็ว แต่ก็ยังไม่เจอ เป็นโจทย์ที่ยังไม่มีใครแก้ได้

สอง การทำสตาร์ทอัพให้สำเร็จนั้นยากมาก ต่อให้คุณมีทีมที่เคยสร้างสตาร์ทอัพตัวเก่าสำเร็จและเจอ Product Market Fit ก็ตาม Product Market Fit หรือการหาปัญหาและหาวิธีแก้ปัญหาที่ผู้ใช้ชอบมาก รวมถึงหาวิธีทำเงินเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกสตาร์ทอัพ แต่นั่นไม่พอ สิ่งที่คุณสร้างนั้นต้องสามารถโตเร็วได้ด้วยถึงจะทำให้สตาร์ทอัพนั้นประสบความสำเร็จจริงๆ ไม่ได้เป็นแค่ธุรกิจ SME

สาม การจะเติบโตเร็วนั้น สตาร์ทอัพต้องโฟกัสและทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดให้ดีที่สุด การพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดอาจทำได้แต่ไ่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้สตาร์ทอัพนั้นขยายเร็ว เติบโตเร็ว

อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นกับชีวิต และผมยังคงเฝ้ารอและเอาใจช่วยสตาร์ทอัพที่มีเป้าหมายที่จะทำอาหารอร่อย มีประโยชน์ จัดส่งถึงที่อย่างรวดเร็ว และมีราคาที่รับได้ ให้เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จได้จริงๆ

ขอขอบคุณ: สุวิชา พุทซาคำ

Writer

Avatar

มาโนช พฤฒิสถาพร

มาโนชสนใจด้านสตาร์ทอัพมาก เขามีประสบการณ์ทำสตาร์ทอัพทั้งที่ไทยและอเมริกา เขาจบ MBA จาก Kellogg School of Management ที่นั่นเขาสมัครงานบริษัทเทคโนโลยีในตำแหน่งด้านธุรกิจกว่า 3,000 งาน ศึกษาบริษัทเตรียมตัวสัมภาษณ์กว่า 200 บริษัท สุดท้ายได้งานที่ Credit Karma บริษัทสตาร์ทอัพมูลค่าแสนล้านที่ SF มาโนชกลับมาทำสตาร์ทอัพด้านแฟชั่นที่ไทย Fred & Francis มาโนชยังเป็นนักเขียนตัวยง เขาเป็นเจ้าของหนังสือ A DREAM TO DIE FOR ล้ม 3,000 ครั้ง เพื่อชนะฝันเดียว