Amazon คือหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนี้ นอกจากจะนำเสนอประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่สุด ซึ่งเปลี่ยนวิถีการช้อปปิ้งของคนอเมริกันแล้ว ส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้มาจากวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งและระบบการสัมภาษณ์งานที่ขึ้นชื่อว่าโหดที่สุดของการสัมภาษณ์งานบริษัทเทคโนโลยี
Amazon เป็นบริษัทที่เปิดรับนักศึกษา MBA เข้าทำงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตำแหน่งผู้จัดการอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์ (Senior Product Manager) เนื่องจากตำแหน่ง Product Manager ของบริษัทเทคโนโลยีเปรียบได้กับเป็น mini CEO ของผลิตภัณฑ์นั้น ทั้งเป็นคนกำหนดทิศทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กำหนดวิธีการทำเงินและทำตลาด จึงมีคนสนใจสมัครในตำแหน่งนี้เยอะมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับ Google และ Facebook แล้ว ผลิตภัณฑ์ของ Amazon เป็นส่วนผสมของธุรกิจการค้าปลีกและเทคโนโลยี ไม่ใช่เทคโนโลยี 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้คนที่ไม่มีพื้นฐานด้านเทคโนโลยีมาก่อนก็สามารถสมัครเข้าทำงานได้
แน่นอนว่า ตำแหน่ง Senior Product Manager ของ Amazon ก็เป็นหนึ่งในงานที่ผมอยากทำมากที่สุดสมัยเป็นนักเรียน MBA ที่ Kellogg School of Management
การเตรียมตัวสัมภาษณ์สำหรับบริษัทเทคโนโลยีในตำแหน่ง Product Manager ของบริษัทต่างๆ จะไม่หนีกันมากนัก เริ่มจากผมต้องเตรียมตัวเพื่อตอบคำถามว่า ทำไมถึงสนใจบริษัทเทคโนโลยี ทำไมสนใจบริษัทนี้ ทำไมสนใจตำแหน่งนี้และเหมาะสมอย่างไร พร้อมเตรียมแสดงความเห็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสัก 2 – 3 ข้อ
แต่กับ Amazon ผมใช้เวลาเตรียมตัวนานมาก เพราะ Amazon มีรูปแบบการสัมภาษณ์ที่ไม่เหมือนที่อื่น รุ่นพี่ปี 2 บอกผมว่าการสัมภาษณ์ของที่นี่โหดสุดยากสุด
อย่างแรกที่ผมเรียนรู้คือ Amazon จริงจังมากๆ กับวัฒนธรรมองค์กรและค่านิยมองค์กร Amazon มี Leadership Principles 14 ข้อ ได้แก่
- Customer Obsession คลั่งไคล้ในลูกค้า
- Ownership มีความเป็นเจ้าของ
- Invent and Simplify คิดค้นสิ่งใหม่และหาวิธีทำให้ง่ายขึ้น
- Are Right, A Lot คิดทำตัดสินใจถูกต้อง
- Hire and Develop the Best จ้างและพัฒนาคนที่เก่งที่สุด
- Insist on the Highest Standards ยึดมั่นในมาตรฐานที่สูงที่สุด
- Think Big คิดใหญ่
- Bias for Action ลงมือทำ
- Frugality ประหยัด
- Vocally Self Critical พิจารณาวิจารณ์ตัวเอง
- Earn Trust of Others ได้รับความเชื่อใจจากคนอื่น
- Dive Deep ลงลึก
- Have Backbone; Disagree and Commit มีหลักการ พร้อมที่จะไม่เห็นด้วย ยึดมั่นในสิ่งที่ตัดสินใจไปแล้ว
- Deliver Results สร้างผลงาน
สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่
ศิษย์เก่าที่เคยทำงานอยู่ที่ Amazon เล่าให้ฟังว่า คนที่นั่นเวลาทำงานจะพูดถึงหลักการความเป็นผู้นำทั้ง 14 ข้อเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเวลาระดมสมอง สั่งงาน หรือเขียนอีเมล เวลาประเมินผลงานก็จะยึดตามหลักการทั้ง 14 ข้อ ทั้งหมดนี้ทำให้วัฒนธรรมองค์กรที่ Amazon นั้นเข้มข้นมาก
การเริ่มสร้างวัฒนธรรมทั้ง 14 ข้อนั้นเริ่มที่การรับคน
ในการสัมภาษณ์รอบแรก เราจะเจอผู้สัมภาษณ์ 2 คนแยกกัน แต่ละคนจะถูกมอบหมายหลักการสัก 2 – 4 หลักการที่ไม่เหมือนกันเพื่อทดสอบผู้สมัคร
เวลาอยู่ในห้องสัมภาษณ์ผมต้องคอยคิดตลอดว่าคำถามนี้เขาวัดหลักการข้อไหน เวลาพรีเซนต์ตัวเองว่าทำไมสนใจ ทำไมถึงเหมาะกับ Amazon เหมาะกับตำแหน่งนี้ ก็ต้องตอบโดยอ้างอิงหลักการเหล่านี้
หนึ่งในหลักการคือ Dive Deep ลงลึก คนสัมภาษณ์จะถามคำถามให้เราเล่าเรื่องการทำงานในอดีต แล้วจะเจาะลึกมากๆ และถามต่อไปเรื่อยๆ จนแน่ใจว่าสิ่งที่เราเล่าเป็นเรื่องจริง เช่นคำถาม Tell me about a time you led a change in a team at your past work. กรุณาให้เล่าให้ฟังถึงเวลาที่คุณต้องนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ทีม คำถามนี้สามารถวัดหลักการได้หลายข้อทั้ง Invent and Simplify คิดค้นสิ่งใหม่และหาวิธีทำให้ง่ายขึ้น Bias for Action ลงมือทำ Earn Trust of Others ได้รับความเชื่อใจจากคนอื่น และ Deliver Results สร้างผลงาน และเมื่อเราเล่าเรื่องเสร็จ คนสัมภาษณ์จะถามเจาะลึกลงในรายละเอียดเพื่อให้มั่นใจว่าผู้สมัครมีหลักการข้อนั้นจริงๆ
อีกสิ่งที่คนสมัคร Amazon จำเป็นต้องรู้คือ Amazon Flywheel กงล้อการทำงานของ Amazon
ในธุรกิจค้าปลีก บริษัทจะเติบโตได้ด้วยองค์ประกอบ 4 อย่าง หนึ่ง การมีสินค้าที่หลากหลาย สอง การนำเสนอประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า สาม จำนวนลูกค้า และสี่ จำนวนคนขาย ทั้งสี่อย่างนี้สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ถ้าเราพัฒนาอย่างใดอย่างหนึ่ง 3 สิ่งที่เหลือจะดีตามไปด้วย เช่น ถ้า Amazon เพิ่มจำนวนสินค้าในระบบ ลูกค้าก็จะแฮปปี้ขึ้น เมื่อลูกค้าพอใจขึ้น ก็จะกลับมาที่เว็บ Amazon บ่อย เมื่อมีคนเข้าเว็บมากขึ้น คนขายหน้าใหม่ๆ ก็อยากเข้ามาขายของบน Amazon ส่วนคนขายหน้าเดิม ถ้ามีลูกค้าเพิ่มขึ้น ก็สามารถผลิตสินค้าด้วยต้นทุนที่ต่ำลง เมื่อต้นทุนสินค้าต่ำลง ลูกค้าก็จะมาเพิ่มขึ้น
ที่ต้องเข้าใจ Amazon Flywheel อย่างถ่องแท้ก็เพราะนอกจากคำถามที่ให้เราเล่าเรื่องแล้ว คนสัมภาษณ์จะถามคำถามที่เป็นเคสธุรกิจเพื่อวัดความคิดความอ่านของเรา โดยจะเป็นคำถามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของ Amazon เช่น Amazon สามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อเพิ่มรายได้จากวิดีโอ, ผลิตภัณฑ์หนึ่งอย่างของ Amazon ที่คุณคุ้นเคยคืออะไร, ในฐานะผู้จัดการผลิตภัณฑ์ คุณจะเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างและอย่างไร
คำถามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น คุณคิดว่า Amazon ควรจะออกโทรศัพท์ของตัวเองหรือไม่ ถ้าใช่ ให้บอก 3 ไอเดียสำหรับการทำพาร์ตเนอร์ชิพ และสมมติว่าในอีก 10 – 15 ปีข้างหน้า Amazon มีเครื่องพรินต์สามมิติที่พรินต์อะไรก็ได้ Amazon ควรทำอย่างไร
การจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ดี เราต้องเชื่อมโยงสิ่งนั้นให้เข้ากับธุรกิจของ Amazon ผ่าน Amazon Flywheel คำถามเหล่านี้วัดความสามารถของเราในด้านต่างๆ รวมถึง Invent and Simplify คิดค้นสิ่งใหม่และหาวิธีทำให้ง่ายขึ้น, Are Right, A Lot คิดทำตัดสินใจถูกต้อง และ Think Big คิดใหญ่ ซึ่งก็เหมือนคำถามแนวเล่าเรื่อง ผู้สัมภาษณ์จะคอยท้าทายความคิดเห็นของเราและถามเจาะลึกหาจุดที่เราไม่มั่นใจเพื่อดูว่าเราสามารถจัดการกับสถานการณ์เหล่านั้นได้ดีแค่ไหน
ความยากอีกอย่างหนึ่งคือ Amazon มีผลิตภัณฑ์เยอะมาก ไม่ใช่แค่หน้าเว็บ Amazon.com อย่างเดียว แต่มีทั้ง Amazon Kindle เครื่องอ่านหนังสือ Amazon Fire แท็บเล็ต Amazon Fresh ธุรกิจขายของสดและของชำ Amazon Web Service ระบบเทคโนโลยีคลาวด์ และอื่นๆ ทำให้ผมและผู้สมัครคนอื่นต้องทำความเข้าใจและเตรียมไอเดียในการพัฒนาแต่ละผลิตภัณฑ์
หลักการที่สำคัญที่สุดในการจ้างคนของ Amazon คือ การจ้างและพัฒนาคนที่เก่งที่สุด
ในภาษาของ Amazon คือ ผู้สมัครที่ raise the bar เก่งกว่าค่าเฉลี่ยของพนักงานในทีม ไม่ใช่แค่แสดงให้เห็นว่าเข้าใจ Amazon และมีคุณสมบัติพร้อมตามหลักการความเป็นผู้นำ แต่ผู้สมัครต้องแสดงให้เห็นผ่านเรื่องราวและความคิดเห็นเวลาสัมภาษณ์ว่ามีศักยภาพเก่งกว่าพนักงานปัจจุบัน
สำหรับการสัมภาษณ์งานตำแหน่ง Senior Product Manager รอบสุดท้ายจะมีผู้สัมภาษณ์ 3 คน หนึ่งในนั้นจะเป็นคนที่มีหน้าที่เป็น Bar Raiser คนเพิ่มค่าเฉลี่ยของทีม ถ้าคนนี้เห็นว่าผู้สมัครยังไม่ดีพอ ก็คือจบกัน ไม่ว่าอีกสองคนจะชอบผู้สมัครคนนั้นแค่ไหนก็ตาม คนที่เป็น Bar Raiser ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อาวุโสสุด
ผมสมัครตำแหน่ง Senior Product Manager ของ Amazon ทั้งสองปี ปีหนึ่งเพื่อการฝึกงาน และปีสองสำหรับการเข้าทำงานประจำ ผลก็คือผมไม่ผ่านการสัมภาษณ์
สุดท้ายแล้วถึงผมจะไม่ได้งานที่คาดหวัง แต่ผมก็ได้เรียนรู้วิธีคิดแบบ Amazon และเข้าใจธุรกิจต่างๆ ของ Amazon อย่างลึกซึ้ง หลายอย่างที่ Amazon กำลังทำไม่เคยมีใครทำมาก่อน แล้วถ้าทำสำเร็จ ก็จะเปลี่ยนอุตสาหกรรมนั้นเป็นอย่างมาก ผมประทับใจแนวคิดและระบบการสัมภาษณ์งานของ Amazon เป็นอย่างมาก ที่สำคัญทำให้ผมตระหนักแล้วว่าวัฒนธรรมองค์กรคือสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้องค์กรเติบโต และการคัดเลือกพนักงานคือสิ่งที่ช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กรนั้นๆ ได้ดีที่สุด