ผมโชคดีมากที่ได้มีโอกาสทำงานที่ Credit Karma ฟินเทคสตาร์ทอัพที่มีผู้ใช้กว่า 60 ล้านคนในอเมริกา และได้ทำงานในทีมที่เป็นหัวใจสำคัญของรายได้ของบริษัท ถึงช่วงเวลาแห่งความฝันนั้นจะต้องหมดลงภายใน 1 ปี เพราะผมไม่ได้วีซ่าทำงาน

ที่ประเทศอเมริกา ทุกคนจะมี Credit Score ซึ่งคือคะแนนที่บ่งบอกว่าเรามีวินัยมีความน่าเชื่อถือมีศักยภาพด้านการเงินขนาดไหน ซึ่งคำนวณจากประวัติการมีหนี้และชำระหนี้ของเราในอดีตว่าเราจ่ายตรงเวลาหรือไม่ และมีประวัติการใช้บัตรเครดิตและสินเชื่อมานานขนาดไหน ดูจากอัตราการใช้บัตรเครดิตของเราเทียบกับวงเงินที่เราได้รับอนุมัติ และดูว่าเราสมัครบัตรเครดิตและสินเชื่อมากแค่ไหนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

ที่นั่น Credit Score สำคัญมาก เวลาเราจะสมัครงานเขาก็ดู Credit Score เวลาจะเช่าบ้านก็ถูกเรียกดู Credit Score คนที่นั่นรู้ว่าถ้าปีหน้าจะกู้เงินสร้างบ้านแล้วอยากได้ดอกเบี้ยต่ำ ก็ต้องทำให้ Credit Score ตัวเองดีขนาดไหน
ปัญหาคือ ข้อมูลที่สำคัญเช่นนี้คนทั่วไปเข้าถึงได้ยากมากและต้องเสียเงิน

Ken Lin เห็นโอกาสตรงนี้ จึงสร้าง Credit Karma ขึ้นเพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงข้อมูล Credit Score ตัวเองได้ฟรี และนี่คือจุดเริ่มต้นของ Credit Karma ในปี 2006 ที่ปัจจุบันนี้มีผู้ใช้กว่า 60 ล้านคนในอเมริกา มูลค่าบริษัทกว่า 1 แสนล้านบาท

Credit Karma ให้ผู้ใช้ใช้งานฟรี โดยจ่ายเงินให้กับเครดิตบูโรเพื่อดึงข้อมูล Credit Score และ Credit Report มาให้กับผู้ใช้ได้เข้าถึงฟรี และแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับ Credit Report ของผู้ใช้แต่ละคน

Credit Karma นั้นช่วยคนจริงๆ เพราะเราช่วยให้เขาเข้าใจถึงสถานการณ์ Credit Score ของเขา และแนะนำว่าเขาควรทำอย่างไรให้คะแนนขึ้น ถ้าเขาทำตามและคะแนนขึ้นจริง นั่นหมายถึงเขาสามารถสมัครบัตรเครดิตที่มีสิทธิประโยชน์มากขึ้น สามารถสมัครสินเชื่อและได้ดอกเบี้ยถูกลง ช่วยให้เขามีชีวิตการเงินที่ดีขึ้น

รูปแบบธุรกิจของ Credit Karma นั้นตอบโจทย์ทุกฝ่ายอย่างยิ่ง Credit Karma มีรายได้เมื่อผู้ใช้สมัครแล้วสถาบันการเงินอนุมัติ เราจึงเป็นเหมือนช่องทางในการหาลูกค้าของสถาบันการเงินและบริษัทฟินเทค ขณะที่เราก็ต้องแนะนำผลิตภัณฑ์การเงินที่น่าสนใจต่อผู้ใช้แต่ละคนและเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถ้าพวกเขาสมัครแล้วมีโอกาสได้รับอนุมัติสูง

แนวคิดรูปแบบธุรกิจนี้ก็ไม่ต่างอะไรจาก Facebook ที่ให้ข้อมูลบางอย่างที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้และให้ใช้ฟรี แล้วเรียนรู้ข้อมูลบางอย่างของผู้ใช้ที่ช่วยให้เราแสดงผลิตภัณฑ์ที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและหารายได้จากทางนี้ ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจที่ทรงพลังมาก

ทีมที่ผมทำงานอยู่คือทีม Revenue Analytics นั้นมีบทบาทอย่างมากกับรายได้ของบริษัท เพราะทีมเราคือผู้กำหนดว่าเราควรจะแสดงผลิตภัณฑ์ทางการเงินอะไรให้กับผู้ใช้แต่ละคนเมื่อเขาเข้ามาที่เว็บหรือแอพในวันนี้ เราทำงานกับทีม Data Scientist ที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโมเดล เอาข้อมูลผู้ใช้หลายพันอย่างที่เรารู้และเก็บจากพฤติกรรมผู้ใช้ มาใช้ทำนายว่าผลิตภัณฑ์การเงินอันไหนที่ผู้ใช้คนนี้น่าจะคลิกสมัครมากที่สุดในตอนนี้ และทีม Product ที่คอยพัฒนาเว็บและแอพให้น่าใช้และตอบโจทย์อยู่เสมอ

วัฒธรรมของ Credit Karma คือ No Jerk ที่นี่จะรับแต่คนที่พร้อมจะทำงานเป็นทีม ไม่มีการเมือง เราให้ความสำคัญกับการรับคนเข้าทำงานมาก อย่างที่สอง เราเป็น Mission Driven Company ซีอีโอจะย้ำกับพนักงานในการประชุมใหญ่ประจำเดือนเสมอเกี่ยวกับ Mission ที่ต้องการช่วยให้ผู้ใช้มีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น ผมรู้สึกว่าทุกๆ คนในองค์กรสามารถเข้าถึงในจุดนี้ได้ เพื่อนร่วมงานของผมทุกคนเชื่อใน Mission บริษัท อีกอย่างก็คือเราเชื่อว่าทุกคนที่เข้ามาในองค์กรเป็นคนที่เก่ง เราอยากให้ทุกคนริเริ่มสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ไม่มีระบบ Hierarchy ทุกๆ คนสามารถใกล้ชิดกับซีอีโอ

ช่วงเวลาที่ Credit Karma เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตผม ผมได้มาทำงานในที่ที่ผมใฝ่ฝัน ผมได้ทำงานกับคนที่เก่งมากๆ ในองค์กรที่มีวัฒนธรรมการทำงานที่ดีมาก ผมได้สร้างสรรค์งานที่มีผลกระทบกับผู้ใช้ 60 ล้านคน และผมได้เรียนรู้เยอะมาก ผมจะจดจำเรื่องราวนี้ไว้ตลอดไป

Writer

Avatar

มาโนช พฤฒิสถาพร

มาโนชสนใจด้านสตาร์ทอัพมาก เขามีประสบการณ์ทำสตาร์ทอัพทั้งที่ไทยและอเมริกา เขาจบ MBA จาก Kellogg School of Management ที่นั่นเขาสมัครงานบริษัทเทคโนโลยีในตำแหน่งด้านธุรกิจกว่า 3,000 งาน ศึกษาบริษัทเตรียมตัวสัมภาษณ์กว่า 200 บริษัท สุดท้ายได้งานที่ Credit Karma บริษัทสตาร์ทอัพมูลค่าแสนล้านที่ SF มาโนชกลับมาทำสตาร์ทอัพด้านแฟชั่นที่ไทย Fred & Francis มาโนชยังเป็นนักเขียนตัวยง เขาเป็นเจ้าของหนังสือ A DREAM TO DIE FOR ล้ม 3,000 ครั้ง เพื่อชนะฝันเดียว